การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2558

“การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ”
จาก อย่าเรียนหนังสือคนเดียว
กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๕๗, หน้า ๒๒



ประสบการณ์ที่หนึ่ง

มีนาคม ๒๕๕๘ ขับรถไปประชุมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เขตอำเภอเมืองของจังหวัดหนึ่ง ไปนั่งฟังเรื่องเล่าของเจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเล่าเรื่องความสำเร็จที่เขาสามารถประสานให้เทศบาลตำบลและผู้ใหญ่บ้านพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปช่วยกันนำผู้ป่วยโรคจิตที่ขังตัวเองในบ้านนาน ๒ ปีไปรักษาตัว เขาเล่าว่าแรกๆ ไม่มีใครเข้าใจว่าจะทำไปทำไม เพราะไม่รู้ว่าจะรักษาได้จริงหรือเปล่า ด้วยความเพียร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นจึงเดินเท้าไปอธิบาย ทำหนังสือขอรถยนต์ เจรจากับทุกคนที่เกี่ยวข้องให้นำผู้ป่วยออกมารักษาจนได้ ปัจจุบันผู้ป่วยดีขึ้นมากและกำลังหางานทำ

ประเด็นของเรื่องคือ ผมทำแบบที่เจ้าหน้าที่คนนี้ไม่ได้ คือประสานงานชุมชน เวลาผมไปนั่งฟังจึงฟังด้วยความชื่นชม ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคจิตตามที่ได้เรียนมา พอจะมีประโยชน์อยู่บ้างคือ ช่วยยืนยันว่าโรคจิตเป็นโรคที่รักษาได้ พบที่ไหนก็ขอให้มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย ขอให้รู้ว่าผู้ป่วยโรคจิตเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่ง มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาและรักษาได้ด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเผยแพร่ความรู้นี้ออกไปให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเข้าใจ

มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมากคือ คนไข้โรคจิตคนหนึ่งขโมยพระพุทธรูปจากวัดไปทิ้งน้ำ ชาวบ้านโกรธผู้ป่วยมากเพราะหลังจากนั้นทุกคนเป็นหวัดเรื้อรังกันหมด และเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ช่วยประสานการแก้ปัญหาอีกเช่นกัน


ประสบการณ์ที่สอง

เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ประชากรมากกว่า ๑๐ ล้านคนใน ๙ จังหวัดภาคเหนือดำรงชีวิตใต้โดมหมอกควันวันละ ๒๔ ชั่วโมง กลางวันออกไปทำงานใต้หมอกควัน เห็นเงาตึกลางๆ เห็นเงาตะคุ่มของต้นไม้ในระยะไกล และไม่เห็นทิวเขาที่ควรจะเห็นอีกเลย กลางคืนนอนรมควันทั้งคืน เว้นเสียแต่จะมีเครื่องปรับอากาศช่วยให้สามารถปิดหน้าต่างได้

คนจำนวนหนึ่งสวมหน้ากาก หน้ากากธรรมดาที่สวมกันช่วยป้องกันมิให้เราจามใส่หน้าผู้อื่น แต่มิได้ป้องกันหมอกควันเข้าปอดเราได้นักหนา คนที่มีความรู้และมีโอกาสจะสวมใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันตนเองอย่างแท้จริง

ว่ากันว่าหมอกควันภาคเหนือปีนี้เป็นปีที่ ๑๐ ครบหนึ่งทศวรรษพอดี ก่อนหน้านี้ภาคเหนือไม่มีหมอกควัน ชาวบ้านเผาใบไม้ ชาวดอยเผาไร่ เหล่านี้เป็นวิถีชุมชน ยามบ่ายเราจะเห็นเศษขี้เถ้าเป็นแผ่นลอยลงมาช้าๆ ทั่วๆ ไป สิบปีหลังเราไม่เห็นเศษขี้เถ้าเป็นแผ่นอีกแล้ว แต่เป็นหมอกควันที่ครอบคลุมทั้งชั้นบรรยากาศ ปีแรกๆ ไม่รุนแรงนัก ปีนี้รุนแรงที่สุด

หมอกควันเป็นอนุภาคคอลลอยด์ (colloidal particles) ไม่ตกตะกอนและไม่ละลายน้ำ อนุภาคคอลลอยด์ขนาดเล็กเข้าไปได้ถึงถุงลมขนาดเล็กและไม่ละลายเข้าสู่กระแสเลือด เพราะคอลลอยด์ไม่ใช่ก๊าซ หมอกควันจึงเข้าไปติดในถุงลมของเราทุกปีๆ คนที่แก่แล้ว บ้านที่ลูกโตแล้ว จากบ้านไปเรียนหนังสือหรือทำงานจังหวัดอื่นแล้ว เหล่านี้ไม่เป็นไร แต่เด็กเล็กวันนี้สูดหมอกควันปีละ ๑-๒ เดือนจะเป็นมะเร็งปอดเมื่อไร ทั้งนี้ยังไม่นับการผ่าเหล่าของเซลล์สืบพันธุ์และถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สู่รุ่นต่อไป

ทุกปีจะมีอธิบดีสักหลายกรมของ ๒-๓ กระทรวงออกมาให้ความรู้ซึ่งได้จากเอกสารและเพาเวอร์พอยต์ที่มีคนเตรียมให้ ท่านอธิบดีพูดเสร็จก็ไป เก้าอี้อธิบดีนั้นหมุนเร็ว หมอกควันไม่มีความหมายอะไรกับท่านและครอบครัวของท่าน ข้อมูลจากเอ็นจีโอท้องถิ่นบอกว่ารัฐไทยดูแลผืนป่าภาคเหนือได้ไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ยังไม่นับผืนป่าในพม่าอีกมหาศาล แต่กลับคุมอำนาจสั่งการและงบประมาณไว้มากมาย ผลลัพธ์ของการทำงานประเมินได้จากปริมาณหมอกควันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แล้ววันหนึ่งฝนก็มา หมอกควันหายไป ฝนมาของเขาเอง ไม่มีใครสามารถอ้างผลงานได้ แล้วทุกคนก็ลืม ปีหน้าพวกเราก็มาอยู่ใต้หมอกควันกันใหม่ มีคำกล่าวว่า “มนุษย์เลือกทางที่ง่ายกว่าเสมอ” คนเมืองฝันหวานว่ารัฐไทยจะช่วยได้ ง่ายกว่าลุกขึ้นเรียกคืนอำนาจและงบประมาณในการจัดการตนเอง


ประสบการณ์ที่สาม

ฟินแลนด์ประกาศยกเลิกการสอนหนังสือรวมทั้งการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ หลังจากเคยประกาศยกเลิกการคัดหนังสือมาก่อนแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เด็กฟินแลนด์ได้ “เรียนรู้” จากโจทย์ปัญหาที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้นและใช้เครื่องมือไอทีสมัยใหม่อย่างเต็มศักยภาพ

ในศตวรรษที่ ๒๑ กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ การทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เรื่อยๆ มีความสำคัญกว่าทำให้เด็กรู้มาก สอบชนะ และเป็นคนรวยกว่าแล้วกดขี่เพื่อนร่วมโลก โลกมนุษย์ไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวสำหรับปัญหาใดๆ อีกแล้ว กระบวนการหาคำตอบจะสำคัญกว่าตัวคำตอบเอง


สรุป

เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย (ซึ่งฟังไพเราะมากกว่าชื่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นอันมาก)เรียนรู้จากการทำงานจริงของตนเองได้เรื่อยๆ เป็นประโยชน์มากกว่าการเข้าอบรมหาความรู้ตายตัวจากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลาง พวกเขาอยู่ในชนบทที่มีบริบทของตนเองซึ่งนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญไม่มีวันทำความเข้าใจได้

หมอกควันเกิดจากอะไรกันแน่ ใครเผา เผาทำไม และเราควรทำอย่างไร เรื่องนี้รัฐไทยและส่วนกลางไม่มีปัญญาทำอะไรได้อย่างแน่นอน หากทำได้ปัญหาคงหายไปนานแล้ว เป็นหน้าที่ของคน ๑๐ ล้านคนที่จะเรียนรู้เองและค้นหาหนทางช่วยเหลือตนเอง

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ควรเสียเวลากับการเรียนวิชาต่างๆ เพราะไม่มีใครมีปัญญามากพอจะกำหนดหลักสูตรได้อีกแล้วว่า เด็กคนหนึ่งควรเรียนอะไร เด็กภาคใต้ควรเรียนเรื่องหมอกควัน ส่วนเด็กภาคเหนือควรเรียนเรื่องสึนามิเช่นนั้นหรือ

หากเราปฏิวัติการศึกษาได้ เราจะได้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่เก่งยิ่งกว่า และได้ประชากรคุณภาพที่รู้จักรักษาท้องถิ่นของตนเองมากกว่า

อย่ากังวลว่าเด็กไทยจะรู้อะไรไม่มาก การรู้มากไม่สำคัญ ความสามารถในการเรียนรู้ตลอดเวลาต่างหากที่สำคัญ

Back to Top