เมษายน 2004

จิตสำนึกใหม่เรียกหา เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ
New Consciousness Is Needed As The Future Catches You

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2547

ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มที่ท่านนายกทักษิณแนะนำให้อ่าน คือ As The Future Catches You เขียนโดย Juan Enriquez แห่ง Harvard Business School มานานพอควร คือได้อ่านก่อนที่นายกจะแนะนำ เพราะผมสอนด้านการศึกษาและการวิจัยอนาคตที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ต้องติดตามแนวโน้มด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในหนังสือเล่มนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องที่ผู้นำประเทศและผู้บริหารองค์กรควรนำไปพิจารณา ถ้าหากจะก้าวให้ทันตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมภายใต้วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องพันธุศาสตร์ (Genomic) เทคโนโลยีการสื่อสาร (Information Technology) และนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) ตัวเลขทางสถิติที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก และหลายเรื่องก็น่าตกใจมากจริงๆ ด้วย ถ้าจะมองในมุมอื่น ในมุมที่ไม่ถือตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นพระเจ้า เป็นเครื่องนำทางการพัฒนาประเทศ ในมุมที่ไม่เน้นการแข่งขันแบบเสรีที่ไม่เสรีจริงตามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คุณ Juan Enriquez ระบุว่า ปัจจุบัน (ปี ๑๙๙๘) ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนอยู่ที่ ๓๙๐ : ๑ เท่า และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารและการปฏิวัติทางพันธุกรรม (Genetic Revolution) โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐๐๐ : ๑ เท่าในอนาคตอันใกล้ ถ้าเป็นจริงตามนี้ คำถามก็คือ นี่เป็นทิศทางที่ควรเป็นของมวลมนุษยชาติหรือ ยิ่งมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางการบริหารธุรกิจและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการสื่อสารมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งขยายช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจนมากขึ้น

ความรู้ด้วยตัวของมันเองไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่คนที่สร้างและใช้ความรู้ในทางที่ผิดต่างหากที่เป็นพิษเป็นภัย

ความรู้ที่ขาดสติ ความรู้ที่ขาดปัญญา กลายเป็นศาสตร์ที่นำมาใช้เป็นศาสตราไล่ล่าความได้เปรียบ ภายใต้กติกา "การค้าเสรี" ที่ไม่มีความยุติธรรมและศีลธรรมเป็นฐาน

การผลิตและการใช้ความรู้ในลักษณะนี้มีคุณค่าต่อเรา ต่อประเทศ ต่อมวลมนุษยชาติและต่อสรรพสิ่งจริงหรือ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่คุณ Juan Enriquez ให้ข้อมูลไว้ คือจำนวนประชากรต่อการจดสิทธิบัตร ๑ ชิ้น เขาระบุว่าสหรัฐอเมริกามีประชากร ๒,๙๕๕ คน ต่อ หนึ่งสิทธิบัตร สิงคโปร์ ๒๕,๗๓๕ และอินโดนีเซีย ๒๑,๖๑๐,๓๔๕ คนต่อหนึ่งสิทธิบัตร (เสียดายที่ไม่มีข้อมูลของประเทศไทย) ไม่ว่าข้อมูลนี้ต้องการจะสื่ออะไรก็ตาม คำถามอีกมุมหนึ่งก็คือ สัดส่วนจำนวนประชากรต่อปริมาณการจดสิทธิบัตร มันเป็นสัดส่วนผกผันกับความเมตตากรุณาหรือไม่ หรือมันมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเห็นแก่ตัว และการเอารัดเอาเปรียบบนคำพูดที่ฟังไพเราะว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา"

ในตอนท้ายของข้อมูลนี้เขาเขียนสรุปว่า "สิ่งที่สำคัญในเศรษฐกิจยุคใหม่ คือ ความรู้" (What matters
in modern economic is knowledge) สิ่งที่น่าคิดก็คือ ความรู้ที่มุ่งสร้างความแบ่งแยก (ผู้ชนะ- ผู้แพ้, ผู้สำเร็จ-ผู้ล้มเหลว, คนรวย-คนจน…) เป็นความรู้ที่มีคุณค่ากับมวลมนุษย์และสรรพสิ่งจริงหรือ

ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง แต่เขียนเพื่อร่วมสร้างจิตสำนึกใหม่ที่ควรเป็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด ถ้าเราคิดถูกคิดดี ทำถูกทำดี สิ่งดีๆ ก็จะเกิดเพิ่มขึ้น ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด

อนาคตยังไม่เกิด อนาคตจึงไม่สามารถไล่ล่าเราได้ อนาคตเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้น เราจึงต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยการมีสติ มีปัญญา มีจิตสำนึกที่ถูกต้องว่า ไม่ว่าเราจะคิด จะทำอะไร มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอนาคต โดยนัยนี้เราจึงเป็นส่วนหนึ่งของอดีตและเป็นผลของอดีต และเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันซึ่งจะเป็นเหตุของอนาคต เพราะฉะนั้นมาร่วมกันสร้างเหตุที่ดีเพื่อให้เกิดผลดีในอนาคตอย่างมีสติ โดยใช้ปัญญา (ไม่ใช่แค่ความรู้) เป็นเครื่องนำทาง

บางทีเราอาจจะต้องหยุดคิดอย่างจริงจัง อย่างมีสติและมีปัญญาว่า เราควรจะพัฒนาประเทศตามแนวทางทุนนิยมของตะวันตกหรือไม่ และที่สำคัญต้องตอบให้ชัดว่า ทำตามเขาเพื่ออะไร และเพื่อใคร

จะคิดจะทำอะไรก็ขอให้มีสติ ใช้ปัญญา คิดแบบองค์รวม มองอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบที่ต่อเนื่อง คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ คำนึงถึงมวลมนุษยชาติและสรรพสิ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหมด อย่าคิดด้านเดียวและเป็นเส้นตรงทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกเรื่อง เพราะเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของส่วนรวมที่ใหญ่กว่ามาก ผู้นำที่ดีและเก่งจึงต้องมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์และความสำคัญขององค์รวม ไม่ใช่เห็นแค่จุดเด่นของส่วนย่อยหรือจุดด้อยของส่วนเล็ก

คนที่คิดและทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีจิตใหญ่ดังที่คุณหมอประเวศเคยเขียนไว้ โดยเฉพาะผู้นำองค์กรและผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ นักการศึกษา…จะต้องมีจิตสำนึกใหม่ เป็นจิตใหญ่ มีจิตสาธารณะ คิดและทำเพื่อส่วนรวม ทำด้วยใจ ทำด้วยจิตสำนึกที่ดี มีเมตตากรุณา มีความรักในเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง

CEO ต้นแบบจึงควรมีจิตใหญ่ ไม่ใช่จิตเล็กคับแคบ CEO จึงไม่ใช่ลดทอนจาก Chief Executive Officer มาเป็นแค่ Chief Economic Officer แต่ควรเป็นทั้ง Chief Educational Officer, Chief Ethical Officer , Chief Environmental Officer…เพราะถ้าผู้นำเก่งเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะเศรษฐกิจการเมืองที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ในท้ายที่สุดเขาก็จะกลายเป็น CCO (Criminal Capitalist Officer-อาชญากรทุนนิยม) ขององค์กร ของประเทศ และอาจติดอันดับ Top Ten CCO ของโลกได้ในเวลาต่อมา เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ…

ขวัญ - พลังงานของสองมิติ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 17 เมษายน 2547

ผมเคยได้ยิน อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู พูดถึง “ขวัญ” มาครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงที่ตั้ง “สถาบันขวัญเมือง” ที่เชียงราย ในครั้งนั้นผมรู้สึกว่าคำๆ นี้เป็นคำที่ไพเราะแต่ก็ยังรู้สึกแปลกๆ อยู่บ้างเล็กน้อย ยอมรับว่าผมรู้สึกถึง “ความเก่าแบบเชยๆ” ชอบกล อาจเป็นเพราะคำๆ นี้ทำให้รู้สึกไปถึงภาพยนตร์เรื่องขวัญกับเรียมอะไรแบบนั้น แต่ผมก็รู้สึกชอบเมื่อนำมาใช้คู่กับคำว่า “เมือง” เป็น “ขวัญเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ อ.วิศิษฐ์ บอกว่าเมืองก็ควรจะมี “ขวัญ” ด้วย ซึ่งเป็นคำอธิบายชื่อ “ขวัญเมือง” ได้อย่างสละสลวย โอ่อ่า ดูภูมิฐานมากในสายตาของผม

เมืองทุกเมืองควรจะต้องมี “ขวัญ” ด้วย

จนกระทั่งมาได้ยิน อ.สุมน อมรวิวัฒน์ พูดถึง “ขวัญ” อีกครั้งหนึ่งในวงจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๗ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๗ นี้ ผมยอมรับว่า “กินใจ” กับคำว่า “ขวัญ” อย่างลึกซึ้งกว่าเดิม และทำให้ผมคิดแตกประเด็นไปได้อีกหลายเรื่อง

อ.สุมน พูดถึง “ขวัญ” ของคนไทยแต่ละคนซึ่งเป็นลักษณะปัจเจก (Individual) ว่าเป็นเรื่องที่คนไทยมีมาช้านานแล้ว ผมชอบใจมากที่ อ.สุมน โยงประเด็นเรื่อง “ขวัญ” ไว้ว่า “ขวัญคือความมั่นคงของชีวิต" “ขวัญ” ให้ความรู้สึกว่า อบอุ่น มีที่พึ่งพาพึ่งพิง เหมือนมีอะไรมาคุ้มครองเรา มีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิตและให้พลังในการทำงานในชีวิต

ขวัญของคนไทยสมัยก่อนขึ้นอยู่กับ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ปัจจุบันดูเหมือน “ขวัญ” ของคนไทยจะขึ้นอยู่กับ มือถือ ตลาดหุ้น เงินในกระเป๋า และอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปเสียแล้ว

เวลาเราตกใจ เสียใจ หรือมีความทุกข์เข้ามา “ขวัญจะหาย” ชาวบ้านจะมีพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” ซึ่ง สะท้อนความเป็นชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การรับฟังกัน ซึ่งตรงนี้แหละที่ “ขวัญ” ได้เพิ่มมิติของความเป็นปัจเจกไปสู่มิติที่สอง คือมิติของ “สมุหะ” (Collective) หรือ “ความเป็นชุมชน”

คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ช่วยเสริมขึ้นมาว่า ในพิธีนี้ คนในชุมชนที่เคยโกรธเคืองกัน ก็จะมาเข้าร่วม และหลายๆ ครั้งก็ให้อภัยซึ่งกันและกันได้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญของคนอื่นๆ พิธีดังกล่าวจึงกลายเป็นพิธีที่ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันในชุมชนดีขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับในปัจจุบันที่แนวโน้มของสังคมเมืองขาดมิติความเข้าใจตรงนี้ ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนในชุมชนมากขึ้น ผมไม่ได้หมายความว่าทุกชุมชนจะต้องหันกลับมานั่งทำพิธีบายศรีสู่ขวัญกันแบบเดิมๆ หรือกระทำกันแต่เพียงภายนอกเท่านั้น หากแต่น่าจะลองประยุกต์ “แก่น” ของพิธีนี้ นั่นก็คือการกลับมาสู่ “วัฒนธรรมหันหน้าเข้ากัน" “พูดคุย” และ “รับฟังกัน” ให้มากขึ้นในชุมชน

สำหรับประเด็นเรื่อง “ขวัญ” ที่โยงไปเกี่ยวข้องกับสุขภาพ คุณหมอโกมาตรก็พูดถึงได้อย่างน่าสนใจยิ่งและเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ความเป็นโรงพยาบาล” ได้ทำให้ “ขวัญ” (หรือความรู้สึกมั่นคงในชีวิต) ของคนไข้หายไปหรือไม่? บุคลากรทางสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและเคารพกับ “ขวัญ” ของคนไข้และญาติมากน้อยแค่ไหน

ทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก คือ ประเด็นเรื่อง “ขวัญ” และ “อำนาจ” ดูเหมือนว่าถ้าสถานที่ใดเวลาใดมีการใช้อำนาจ สถานที่นั้นเวลานั้นจะไม่มี “ขวัญ” หรือ “ขวัญจะหายไป” อำนาจในที่นี้ผมหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่นในแง่ของสุขภาพนั้น แพทย์ใช้อำนาจกับคนไข้โดยไม่รู้ตัวและส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนไข้ถูกทำให้เคยชินว่า เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมอบอำนาจให้แพทย์ไปทันที แทนที่จะ “ตระหนัก” ถึงความสามารถในการเยียวยาภายในตัวเองก่อน เพราะโรคส่วนใหญ่กว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นโรคที่เกิดจาก “การไม่รับรู้” ถึงความสามารถนี้ของตนเอง ไม่เข้าใจความสามารถของ “ขวัญ” ภายในตัวเองว่า ถ้า “ขวัญดี” สุขภาพก็มักจะดีไปด้วย แต่กลับ “ขวัญหนีดีฝ่อ” ไปก่อน และยิ่งเมื่อไปมอบอำนาจให้แพทย์ ก็จะยิ่งทำให้ “ขวัญหาย” ไปมากกว่าเดิม ...โดยไม่รู้ตัว

อีกตัวอย่างหนึ่งของอำนาจก็คือ คนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ “ขวัญหาย” เพราะไปมอบอำนาจให้กับ “เงิน” มากเกินไป ทุกคนถูกทำให้เชื่อว่า “เงินเป็นใหญ่” และ “เงินคืออำนาจ” การคิดแบบนี้กระมังที่ทำให้ “ขวัญ” ของคนไทยไม่ค่อยจะเหลือตามที่ อ.สุมน ได้พยายามชี้ให้เห็นในข้างต้น

พิธีบายศรีสู่ขวัญนั้น เป็นพิธีกรรมที่ทำให้สมาชิกของชุมชนรู้สึกถึงความ “เท่าเทียม” กัน และ “หันหน้าเข้าหากัน” ไปโดยปริยาย เพราะทุกคนต่างก็เข้ามาช่วย “รับขวัญ” ในพิธีนั้น แต่ละคนไม่มีการใช้อำนาจหรือพูดง่ายๆ ว่าพิธีกรรมตรงนั้นมักจะไม่มีที่ให้ใช้ “อำนาจ” ก็เลยทำให้ “ขวัญ” เริ่มกลับมาและเกิดการสร้างความเข้าใจกันได้

ในอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน อ.หมอประเวศ วะสี เคยพูดเกริ่นในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ว่า มิติการทำงานในสังคมนั้นจะต้องให้ความสำคัญของ “การเชื่อมโยง” และ “การสร้างเครือข่าย” ให้ความสำคัญกับ “คน” มากกว่า “งาน” ให้ความสำคัญกับ “การสร้างคนสร้างปัญญา” มากกว่า “การสร้างวัตถุสิ่งของ” ซึ่งประเด็นที่ อ.หมอประเวศ พูดถึงนี้ ผมคิดว่าเป็น “หัวใจหลัก” เรื่องหนึ่งของการทำงานภายใต้กรอบคิดแบบใหม่ที่ใช้หลักการของ “วิทยาศาสตร์ใหม่” เป็นพื้นฐานแทน “วิทยาศาสตร์เก่า” อ.หมอประเวศ ยังพูดถึงมิติการทำงานแบบเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ อาจารย์พูดถึง INN (Individual-Node-Network) ซึ่งถ้าเราดูดีๆ จะมองเห็นมิติของ “ความเป็นวิทยาศาสตร์ใหม่” ที่อาจารย์นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานทางสังคมได้อย่างแนบเนียนสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

การจะเชื่อมโยงได้ก็ต้องมีสองมิติ มิติแรก คือความเป็นปัจเจกเฉพาะตัวของแต่ละคนแต่ละแห่งจะต้องมีพลังงานที่ดี มีการสร้างปัญญา และจะต้องมีมิติที่สอง คือการเชื่อมเข้าหากันของหน่วยย่อยเป็น Node เล็กๆ ที่อาจจะมีเพียงคนไม่กี่คน และเชื่อมถึงกันให้ใหญ่ยิ่งขึ้นกลายเป็น Network ขึ้นมาได้

ผมรู้สึกว่า “ขวัญ” ที่อ.สุมนพูดถึงในจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๗ นั้น มีมิติทั้งสองอย่างครบถ้วนตามที่ อ.หมอประเวศ เคยพูดถึงไว้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกดังกล่าว ค่อนข้างน่าประหลาดที่ “ขวัญ” แบบคนไทยโบราณมีแนวคิดเหมือนกับวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์ และทฤษฎีอื่นๆ ที่ทันสมัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเล่าในบทความครั้งต่อๆ ไป

ในวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น หนึ่งบวกหนึ่งไม่ได้เท่ากับสอง การรวมพลังของมิติสองมิติจะเกิดพลังงานที่มากกว่านั้นหลายเท่า อาจจะเป็นเลขยกกำลังหรืออะไรที่มากกว่านั้น และที่สำคัญกว่าก็คือทั้งสองส่วนจะ “เอื้อ” และ “เสริม” ซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงกันอย่างไม่รู้จบ เช่นขวัญที่ดีของแต่ละบุคคลจะเอื้อให้เกิดขวัญที่ดีของชุมชน และในทางกลับกัน ขวัญที่ดีของชุมชนหรือขวัญเมืองก็จะช่วยให้เกิดขวัญที่ดีของแต่ละบุคคลด้วย เพียงแต่สังคมในปัจจุบันส่วนใหญ่จะขาดมิติการเชื่อมรวมตรงนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไปเชื่อวัฒนธรรมแบบวิทยาศาสตร์เก่าที่มองแยกจากกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักร ส่วนใดเสียก็เสียไปหรือต้องตัดทิ้ง และไม่เกี่ยวข้องกับส่วนที่เหลืออยู่

ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะต้องร่วมกันสร้าง “ขวัญที่ถูกต้อง” ให้กับทั้งตัวเองและชุมชน

หันหน้าเข้าหากันแบบจิตวิวัฒน์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2547

ผมชอบคนที่ผ่านกรำชีวิตมารอบด้านและเขียนบรรยายสิ่งต่างๆ เป็นตัวหนังสือน้อยลง แต่งดงามและเข้าสู่ใจกลางของประเด็น อย่างคำที่ว่า “หันหน้าเข้าหากัน” ซึ่งมากาเร็ต วีตเลย์ (Margaret J. Wheatley) ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเธอ และนี่คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอาจจะเห็นด้วยว่า เป็นกิจกรรมที่คนไทยต้องการมากที่สุดในเวลานี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็ได้มีโอกาสไปช่วยเพื่อนคนหนึ่งจัดอบรมที่เกี่ยวเนื่องในงานบริหารธุรกิจ ผมลองเอาความคิดของมากาเร็ตในหนังสืออีกเล่มหนึ่งของเธอคือ Leadership and the New Science ที่ว่าด้วยความเป็นผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ เป็นการพลิกมุมมองการบริหารจัดการโดยสิ้นเชิงจากความรู้กระแสหลักที่เราเชื่อในการบริหารจัดการอย่างทุกวันนี้ เรื่องหนึ่งก็คือเธอบอกว่า มันไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่ข้างนอก จะในมหาวิทยาลัย หรือในบรรษัทที่ประสบความสำเร็จก็ดี หากคำตอบจะมาจากการคิดค้นของคนภายในองค์กรนั้นเอง และไม่มีดีที่สุด แต่จะมีที่เรียกว่า “ใช้การได้” และจะมีอะไรได้มากมายหลายหลากที่ใช้การได้ ก็ความรู้ความเข้าใจอย่างใช้การได้นี้เอง ที่จะเป็นการเรียนรู้และวิวัฒนาขององค์ความรู้ภายในขององค์กรนั้น และนี่คือการบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

จะทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ทำให้การค้นพบแนวทางที่ใช้การได้เกิดขึ้นมากๆ ตลอดเวลา เราจะต้องเคารพและเชื่อในความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ของทั้งระดับปัจเจก ระดับกลุ่มงาน และระดับองค์กรย่อยๆ ทุกระดับ และความรู้ในระดับองค์รวมในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่กลุ่ม แผนก ฝ่าย องค์กรโดยรวมจะเกิดขึ้นได้จากการ “หันหน้าเข้ากัน” คือหันหน้าเข้าหากันพูดคุยในบรรยากาศที่ทัดเทียมกัน ถอดหัวโขนออกไป ให้เหลือแต่ความเป็นมนุษย์และความเป็นพี่เป็นน้องเท่านั้น ไม่เอาอำนาจและโครงสร้างอำนาจเข้ามา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการฟังอย่างมีคุณภาพ การฟังอย่างไม่สอดแทรกสวนกลับด้วยอำนาจหรือด้วยการเป็นผู้รู้แบบชาล้นถ้วย การฟังอย่างไม่ตัดสิน การฟังอย่างซึมซับเรื่องราว เจตนารมณ์ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดทั้งหมด ตรงนั้นจะเป็นเวทีแห่งปัญญา ที่จะก่อเกิดปัญญาของกลุ่มหรือปัญญาขององค์กร

ถ้าแบ่งช่วงแห่งพัฒนาการของการสนทนาเป็นสี่ช่วง คือช่วงเด็ก ช่วงหนุ่มสาว ช่วงผู้ใหญ่และช่วงผู้มีภูมิปัญญา ในสังคมของเรา พัฒนาการส่วนใหญ่จะอยู่แค่ช่วงเด็ก และช่วงหนุ่มสาวเท่านั้น คือติดอยู่ที่ช่วงแรกและช่วงที่สอง ช่วงแรกเป็นการสนทนาแบบสุภาพ แบบเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่คุ้นเคยกันมา มีการประชุมตามวาระ และเรื่องที่ไม่เคยนำมาพูดคุยกันมาก่อน ก็ไม่อาจนำเข้ามาได้ สรุปการสนทนาในพัฒนาการระดับนี้ ก็คือการสนทนาที่ไม่ได้มีใครพูดอะไรที่จริงจังออกมา ทุกคนดำเนินตามกรอบกติกาเดิมที่ปลอดภัย ทุกคนเพียงเอาตัวรอด ทุกคนไม่มีใครแหลมออกมารับผิดชอบเรื่องราวอันใด

หรือไม่อย่างเก่งที่สุดในสังคมไทยเวลานี้ บางทีเราก็เข้าสู่ช่วงที่สองของการสนทนา ที่แต่ละคนเริ่มพูดเรื่องที่ตนเองคิด กล้าแหวกกรอบออกมา หลายที่ที่มีความจริงใจที่จะให้เกิดการคุยกันจริงๆ อาจจะมาได้เพียงระดับนี้ แต่ในระดับนี้หากไม่ก้าวล่วงไปสู่ช่วงแห่งพัฒนาการที่สาม ภาพปรากฏก็คือความขัดแย้ง และการเป็นคู่ตรงกันข้าม การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน การนำออกไปนินทากัน ปล่อยข่าวลือกัน ไม่มีการมองข้ามพ้นจุดยืนของตัวเองเพื่อเรียนรู้จุดยืนของคนอื่น จึงไม่เกิดการสังเคราะห์จุดยืนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่มีการก่อประกอบความคิดใหม่ร่วมกัน อันเป็นพัฒนาการช่วงที่สามและสี่ตามลำดับ พอมาถึงช่วงที่สองที่ขัดแย้งซึ่งจะทำให้องค์กรอ่อนล้าเกิดขึ้นมากๆ แล้ว ก็มักจะกลับไปสู่ช่วงที่หนึ่งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อลดดีกรีความรุนแรงที่ปะทุขึ้นให้คลายลงด้วยการประนีประนอม สุภาพ อย่างไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ ให้ลุล่วงไปได้จริง วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ จึงเกิดข้อสรุปขึ้นพูดคุยกันไปก็เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะวงสนทนาของพวกเราทั้งประเทศยังไม่ก้าวล่วงความเป็นเด็กและความเป็นหนุ่มสาวไปได้นั้นเอง

แต่ในการสนทนาแบบสุนทรีย์ หรือการสนทนาแบบหันหน้าเข้าหากัน เราจะมีการพัฒนาไปสู่ช่วงที่สาม ที่เราเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น เป็นการพัฒนาการต่อจากช่วงที่สอง ที่ทำให้การพูดความคิดของตนเองออกมาของหลายๆ คนของในช่วงที่สอง ถูกมองและได้รับการรับฟังในมุมมองใหม่ ไม่ได้มองจากมุมมองของจุดยืน แต่มองจากความมีประโยชน์และใช้การได้ของความคิดแต่ละความคิดที่ลำเลียงออกมา ถึงตอนนี้ เราไม่ได้มีเพียงความคิดนำเสนอและความคิดแย้งเท่านั้น แต่เราจะมีความคิดและมุมมองที่กว้างไกลและลึกซึ้งกว่านั้นเข้ามาเสริมด้วย ทำให้อะไรที่ดูเหมือนความขัดแย้งเดิม กลายเป็นมุมมองที่เสริมกันได้ และมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วในการขยายมุมมอง และทำให้ลุ่มลึกขึ้นในมุมมอง ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมซ้อนแห่งความคิดมากมาย ทำให้เราได้ตรึกตรองใคร่ครวญ เรื่องราวที่แต่ก่อนมาเพียงแต่คิดคร่าวๆ ในความรวดเร็วร้อนรนแห่งชีวิต มาบัดนี้ได้มีโอกาสไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ตรงนี้เองที่เราเริ่มเกิดความคิดใหม่ๆ มากมายที่มีประโยชน์

เมื่อเข้าถึงช่วงที่สี่ ความคิดต่างๆ เริ่มปลดตัวของจากความเป็นเขาเป็นเรา บางทีเราได้ยินความคิดของเราเอ่ยขึ้นมาในเสียงของผู้อื่น และบางทีผู้อื่นก็ได้ยินความคิดของพวกเขาสะท้อนอยู่ในเสียงของเรา ในความไม่เป็นตัวตนแห่งการคิดร่วมกัน การหันหน้าเข้าหากันนี้ เราสัมผัสได้ถึงไมตรีจิตอันอบอุ่น เราเริ่มสัมผัสได้ว่า กลุ่มมีชีวิตขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมา เหนือตัวตนของทุกๆ คน เราเริ่มเห็นคุณค่าของคนอื่นอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แม้คนที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับว่าฉลาดหลักแหลม แต่คำพูดของเขาในวันนี้ ไฉนจึงเต็มไปด้วยภูมิปัญญา ตรงนี้นี่เองที่เราตระหนักรู้ว่ากลุ่มคิดได้ และความคิดของกลุ่มลุ่มลึกกว่าความคิดของปัจเจกมาก หากเพียงแต่ว่าจะมีโอกาสแห่งการหันหน้าเข้าหากันหรือไม่? ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าทำอย่างไร? การสนทนาแบบนี้ จะได้เข้ามาเป็นหลักชัยในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ที่ทำให้เราสามารถประสานประโยชน์อันแตกต่างกันได้ด้วยภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

เรียกหาประภาคารทางวัฒนธรรม

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 เมษายน 2547

การประชุมกรรมการนโยบายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ครั้งหนึ่ง ได้มีการพูดถึงการเฝ้าระวังความเสี่ยงของสวัสดิภาพสาธารณะ สาระจากวงอภิปรายทำให้คิดต่อไปหลังการประชุม ถึงเรื่องเกี่ยวกับการเฝ้าระวังความเสี่ยงทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกันอย่างยิ่งกับความเจริญมั่นคงและภัยพิบัติของสังคมไทย

วัฒนธรรมมิใช่สภาวะที่คงตัวหยุดนิ่งเป็นสูตรสำเร็จ หากแต่เป็นกระแสชีวิตที่ไหลเลื่อนเคลื่อนตัวไปตามสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประเพณีพิธีกรรม ความคิดความเชื่อ วิธีทำมาหากิน และวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกันในชุมชนไทย ได้หยั่งรากฝังลึกเป็น "ชีวิตวัฒนธรรม" ในเวลาเดียวกัน ภูมิปัญญาไทย สุนทรียภาพ จินตนาการ และฝีมืออันเชี่ยวชาญ ก็ได้สร้างสรรค์ "ศิลปวัฒนธรรม" ไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่ำที่บรรพบุรุษถ่ายทอดแก่คนไทยรุ่นหลัง

ชีวิตวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรมไทย เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วิถีชีวิตไทยยังมีแก่นแท้ให้มอง ศิลปวัฒนธรรมไทยแท้ๆ ยังคงทรงคุณค่าให้ขุดค้นมาเชิดชู

ที่น่าเศร้าใจก็คือ คนไทยกำลังคลั่งไคล้ในวิถีชีวิตจอมปลอมและฉกฉวยเอาศิลปวัฒนธรรมที่ผิวเผินมาเติมแต่งอย่างหยาบกระด้าง ไร้รสนิยม เพียงเพื่อเป็นทุน และขายเอากำไรเป็นเงิน เงิน เงิน

ถึงเวลาหรือยังที่การเฝ้าระวังความเสี่ยงทางวัฒนธรรมจะต้องได้รับความสนใจและความร่วมมือกันทั้ง รัฐ เอกชน ชุมชน และสื่อมวลชน และร่วมกันสร้างจิตสำนึกใหม่ทางวัฒนธรรม

ปัจจุบัน ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานเล็กๆ ในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเจียมตัวว่าเป็นกระทรวงชายขอบอยู่แถวห้วยขวาง

แท้จริงแล้ว ถ้าทบทวนให้ดี บทบาทและภารกิจของศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมนั้น สามารถสร้างความรู้และจิตสำนึกในรากเหง้าของความเป็นไทย แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม และป้องกันหายนะทางสังคมอันเกิดจากแรงฉุดกระชากของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

กระทรวงวัฒนธรรมต้องตีโจทย์ต่อไปนี้ให้แตก และได้คำตอบเชิงนโยบาย ตลอดจนการปฏิบัติ

ท่ามกลางความเสี่ยงทางวัฒนธรรมขณะนี้ ศูนย์เฝ้าระวังฯ ทำหน้าที่เป็นเพียง ยามเฝ้าระวัง (watch man) คอยบอกกล่าวเล่าปัญหาเท่านั้นหรือ เราทำอะไรได้ เมื่อบริษัทบันเทิงธุรกิจผลิตหนังแผ่นโป๊เปลือยออกขายทำกำไรมหาศาล คนรุ่นใหม่สื่อสารชวนสัมพันธ์ทางเพศผ่านโทรศัพท์มือถือ และเด็กหนุ่มวัยรุ่นนับร้อยชวนกันซิ่งรถแข่งในถนนโดยมีผู้หญิงที่ซ้อนท้ายเป็นรางวัลเดิมพัน

ศูนย์เฝ้าระวังฯ ทำหน้าที่มากกว่าการเป็นยามได้หรือไม่ คือมีบทบาทเป็น หอเตือนภัย (watch tower) หน่วยงานนี้สามารถมองไกลและมองลึกถึงสาเหตุ องค์ประกอบ ปัจจัย ของความเสี่ยงทางวัฒนธรรม แล้วประสานงานไปยังองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการประสานทั้งทางนโยบาย และการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการติดตามประเมินตลอดกระบวนการ เป็นหอเรดาร์ทางวัฒนธรรมที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวทุกทิศทาง

ศูนย์เฝ้าระวังฯ ทำหน้าที่มากกว่าเป็นหอเตือนภัยได้หรือไม่ คือมีบทบาทเป็น ประภาคารวัฒนธรรม (lighthouse) หน่วยงานนี้ นอกจากจะส่งสัญญาณเตือนภัยแล้ว ยังช่วยบอกทิศทางขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมให้หลบพ้นหินโสโครกและคลื่นอันบ้าคลั่งของความมอมเมาทั้งหลายอีกด้วย

กระทรวงวัฒนธรรมมีฐานข้อมูลทางภูมิปัญญาไทยสมบูรณ์หรือยัง เป็นคลังความรู้ของคุณค่าความเป็นชาติให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นคลังของความดีงามที่รวบรวมคนมีฝีมือเปี่ยมด้วยคุณธรรม เช่นศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน อีกทั้งเป็นผู้นำความสันติสุขมาสู่สังคมไทยโดยทำงานประสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยวิธีคิดจากฐานความรู้และสติปัญญา คลังปัญญาดังกล่าวนี้ กระทรวงวัฒนธรรมมีอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นหน่วยงานและบุคคล ข้อสำคัญคือกระทรวงวัฒนธรรมได้เร่งสร้างกลไกให้เกิดการสร้างสรรค์เพียงใด เพื่อปลุกเร้าให้คนไทยเกิดจิตสำนึกใหม่

ศูนย์เฝ้าระวังความเสี่ยงทางวัฒนธรรม จึงเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องวางนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติสัมพันธ์กับองค์กรอื่นมากมาย เป็นงานเชิงรุกที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง

ถ้าตีโจทย์ดังกล่าวข้างต้นไม่แตก กระทรวงวัฒนธรรมก็จะเป็นเพียงยามรักษาความปลอดภัย โจรแอบย่องมาขโมยสมบัติของชาติจนจะหมดตัว แล้วยังไม่รู้สึกตัว

Back to Top