หันหน้าเข้าหากันแบบจิตวิวัฒน์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2547

ผมชอบคนที่ผ่านกรำชีวิตมารอบด้านและเขียนบรรยายสิ่งต่างๆ เป็นตัวหนังสือน้อยลง แต่งดงามและเข้าสู่ใจกลางของประเด็น อย่างคำที่ว่า “หันหน้าเข้าหากัน” ซึ่งมากาเร็ต วีตเลย์ (Margaret J. Wheatley) ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเธอ และนี่คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอาจจะเห็นด้วยว่า เป็นกิจกรรมที่คนไทยต้องการมากที่สุดในเวลานี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็ได้มีโอกาสไปช่วยเพื่อนคนหนึ่งจัดอบรมที่เกี่ยวเนื่องในงานบริหารธุรกิจ ผมลองเอาความคิดของมากาเร็ตในหนังสืออีกเล่มหนึ่งของเธอคือ Leadership and the New Science ที่ว่าด้วยความเป็นผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ เป็นการพลิกมุมมองการบริหารจัดการโดยสิ้นเชิงจากความรู้กระแสหลักที่เราเชื่อในการบริหารจัดการอย่างทุกวันนี้ เรื่องหนึ่งก็คือเธอบอกว่า มันไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่ข้างนอก จะในมหาวิทยาลัย หรือในบรรษัทที่ประสบความสำเร็จก็ดี หากคำตอบจะมาจากการคิดค้นของคนภายในองค์กรนั้นเอง และไม่มีดีที่สุด แต่จะมีที่เรียกว่า “ใช้การได้” และจะมีอะไรได้มากมายหลายหลากที่ใช้การได้ ก็ความรู้ความเข้าใจอย่างใช้การได้นี้เอง ที่จะเป็นการเรียนรู้และวิวัฒนาขององค์ความรู้ภายในขององค์กรนั้น และนี่คือการบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

จะทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ทำให้การค้นพบแนวทางที่ใช้การได้เกิดขึ้นมากๆ ตลอดเวลา เราจะต้องเคารพและเชื่อในความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ของทั้งระดับปัจเจก ระดับกลุ่มงาน และระดับองค์กรย่อยๆ ทุกระดับ และความรู้ในระดับองค์รวมในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่กลุ่ม แผนก ฝ่าย องค์กรโดยรวมจะเกิดขึ้นได้จากการ “หันหน้าเข้ากัน” คือหันหน้าเข้าหากันพูดคุยในบรรยากาศที่ทัดเทียมกัน ถอดหัวโขนออกไป ให้เหลือแต่ความเป็นมนุษย์และความเป็นพี่เป็นน้องเท่านั้น ไม่เอาอำนาจและโครงสร้างอำนาจเข้ามา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการฟังอย่างมีคุณภาพ การฟังอย่างไม่สอดแทรกสวนกลับด้วยอำนาจหรือด้วยการเป็นผู้รู้แบบชาล้นถ้วย การฟังอย่างไม่ตัดสิน การฟังอย่างซึมซับเรื่องราว เจตนารมณ์ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดทั้งหมด ตรงนั้นจะเป็นเวทีแห่งปัญญา ที่จะก่อเกิดปัญญาของกลุ่มหรือปัญญาขององค์กร

ถ้าแบ่งช่วงแห่งพัฒนาการของการสนทนาเป็นสี่ช่วง คือช่วงเด็ก ช่วงหนุ่มสาว ช่วงผู้ใหญ่และช่วงผู้มีภูมิปัญญา ในสังคมของเรา พัฒนาการส่วนใหญ่จะอยู่แค่ช่วงเด็ก และช่วงหนุ่มสาวเท่านั้น คือติดอยู่ที่ช่วงแรกและช่วงที่สอง ช่วงแรกเป็นการสนทนาแบบสุภาพ แบบเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่คุ้นเคยกันมา มีการประชุมตามวาระ และเรื่องที่ไม่เคยนำมาพูดคุยกันมาก่อน ก็ไม่อาจนำเข้ามาได้ สรุปการสนทนาในพัฒนาการระดับนี้ ก็คือการสนทนาที่ไม่ได้มีใครพูดอะไรที่จริงจังออกมา ทุกคนดำเนินตามกรอบกติกาเดิมที่ปลอดภัย ทุกคนเพียงเอาตัวรอด ทุกคนไม่มีใครแหลมออกมารับผิดชอบเรื่องราวอันใด

หรือไม่อย่างเก่งที่สุดในสังคมไทยเวลานี้ บางทีเราก็เข้าสู่ช่วงที่สองของการสนทนา ที่แต่ละคนเริ่มพูดเรื่องที่ตนเองคิด กล้าแหวกกรอบออกมา หลายที่ที่มีความจริงใจที่จะให้เกิดการคุยกันจริงๆ อาจจะมาได้เพียงระดับนี้ แต่ในระดับนี้หากไม่ก้าวล่วงไปสู่ช่วงแห่งพัฒนาการที่สาม ภาพปรากฏก็คือความขัดแย้ง และการเป็นคู่ตรงกันข้าม การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน การนำออกไปนินทากัน ปล่อยข่าวลือกัน ไม่มีการมองข้ามพ้นจุดยืนของตัวเองเพื่อเรียนรู้จุดยืนของคนอื่น จึงไม่เกิดการสังเคราะห์จุดยืนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่มีการก่อประกอบความคิดใหม่ร่วมกัน อันเป็นพัฒนาการช่วงที่สามและสี่ตามลำดับ พอมาถึงช่วงที่สองที่ขัดแย้งซึ่งจะทำให้องค์กรอ่อนล้าเกิดขึ้นมากๆ แล้ว ก็มักจะกลับไปสู่ช่วงที่หนึ่งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อลดดีกรีความรุนแรงที่ปะทุขึ้นให้คลายลงด้วยการประนีประนอม สุภาพ อย่างไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ ให้ลุล่วงไปได้จริง วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ จึงเกิดข้อสรุปขึ้นพูดคุยกันไปก็เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะวงสนทนาของพวกเราทั้งประเทศยังไม่ก้าวล่วงความเป็นเด็กและความเป็นหนุ่มสาวไปได้นั้นเอง

แต่ในการสนทนาแบบสุนทรีย์ หรือการสนทนาแบบหันหน้าเข้าหากัน เราจะมีการพัฒนาไปสู่ช่วงที่สาม ที่เราเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น เป็นการพัฒนาการต่อจากช่วงที่สอง ที่ทำให้การพูดความคิดของตนเองออกมาของหลายๆ คนของในช่วงที่สอง ถูกมองและได้รับการรับฟังในมุมมองใหม่ ไม่ได้มองจากมุมมองของจุดยืน แต่มองจากความมีประโยชน์และใช้การได้ของความคิดแต่ละความคิดที่ลำเลียงออกมา ถึงตอนนี้ เราไม่ได้มีเพียงความคิดนำเสนอและความคิดแย้งเท่านั้น แต่เราจะมีความคิดและมุมมองที่กว้างไกลและลึกซึ้งกว่านั้นเข้ามาเสริมด้วย ทำให้อะไรที่ดูเหมือนความขัดแย้งเดิม กลายเป็นมุมมองที่เสริมกันได้ และมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วในการขยายมุมมอง และทำให้ลุ่มลึกขึ้นในมุมมอง ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมซ้อนแห่งความคิดมากมาย ทำให้เราได้ตรึกตรองใคร่ครวญ เรื่องราวที่แต่ก่อนมาเพียงแต่คิดคร่าวๆ ในความรวดเร็วร้อนรนแห่งชีวิต มาบัดนี้ได้มีโอกาสไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ตรงนี้เองที่เราเริ่มเกิดความคิดใหม่ๆ มากมายที่มีประโยชน์

เมื่อเข้าถึงช่วงที่สี่ ความคิดต่างๆ เริ่มปลดตัวของจากความเป็นเขาเป็นเรา บางทีเราได้ยินความคิดของเราเอ่ยขึ้นมาในเสียงของผู้อื่น และบางทีผู้อื่นก็ได้ยินความคิดของพวกเขาสะท้อนอยู่ในเสียงของเรา ในความไม่เป็นตัวตนแห่งการคิดร่วมกัน การหันหน้าเข้าหากันนี้ เราสัมผัสได้ถึงไมตรีจิตอันอบอุ่น เราเริ่มสัมผัสได้ว่า กลุ่มมีชีวิตขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมา เหนือตัวตนของทุกๆ คน เราเริ่มเห็นคุณค่าของคนอื่นอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แม้คนที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับว่าฉลาดหลักแหลม แต่คำพูดของเขาในวันนี้ ไฉนจึงเต็มไปด้วยภูมิปัญญา ตรงนี้นี่เองที่เราตระหนักรู้ว่ากลุ่มคิดได้ และความคิดของกลุ่มลุ่มลึกกว่าความคิดของปัจเจกมาก หากเพียงแต่ว่าจะมีโอกาสแห่งการหันหน้าเข้าหากันหรือไม่? ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าทำอย่างไร? การสนทนาแบบนี้ จะได้เข้ามาเป็นหลักชัยในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ที่ทำให้เราสามารถประสานประโยชน์อันแตกต่างกันได้ด้วยภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

Back to Top