มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 17 เมษายน 2547
ผมเคยได้ยิน อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู พูดถึง “ขวัญ” มาครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงที่ตั้ง “สถาบันขวัญเมือง” ที่เชียงราย ในครั้งนั้นผมรู้สึกว่าคำๆ นี้เป็นคำที่ไพเราะแต่ก็ยังรู้สึกแปลกๆ อยู่บ้างเล็กน้อย ยอมรับว่าผมรู้สึกถึง “ความเก่าแบบเชยๆ” ชอบกล อาจเป็นเพราะคำๆ นี้ทำให้รู้สึกไปถึงภาพยนตร์เรื่องขวัญกับเรียมอะไรแบบนั้น แต่ผมก็รู้สึกชอบเมื่อนำมาใช้คู่กับคำว่า “เมือง” เป็น “ขวัญเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ อ.วิศิษฐ์ บอกว่าเมืองก็ควรจะมี “ขวัญ” ด้วย ซึ่งเป็นคำอธิบายชื่อ “ขวัญเมือง” ได้อย่างสละสลวย โอ่อ่า ดูภูมิฐานมากในสายตาของผม
เมืองทุกเมืองควรจะต้องมี “ขวัญ” ด้วย
จนกระทั่งมาได้ยิน อ.สุมน อมรวิวัฒน์ พูดถึง “ขวัญ” อีกครั้งหนึ่งในวงจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๗ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๗ นี้ ผมยอมรับว่า “กินใจ” กับคำว่า “ขวัญ” อย่างลึกซึ้งกว่าเดิม และทำให้ผมคิดแตกประเด็นไปได้อีกหลายเรื่อง
อ.สุมน พูดถึง “ขวัญ” ของคนไทยแต่ละคนซึ่งเป็นลักษณะปัจเจก (Individual) ว่าเป็นเรื่องที่คนไทยมีมาช้านานแล้ว ผมชอบใจมากที่ อ.สุมน โยงประเด็นเรื่อง “ขวัญ” ไว้ว่า “ขวัญคือความมั่นคงของชีวิต" “ขวัญ” ให้ความรู้สึกว่า อบอุ่น มีที่พึ่งพาพึ่งพิง เหมือนมีอะไรมาคุ้มครองเรา มีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิตและให้พลังในการทำงานในชีวิต
ขวัญของคนไทยสมัยก่อนขึ้นอยู่กับ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ปัจจุบันดูเหมือน “ขวัญ” ของคนไทยจะขึ้นอยู่กับ มือถือ ตลาดหุ้น เงินในกระเป๋า และอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปเสียแล้ว
เวลาเราตกใจ เสียใจ หรือมีความทุกข์เข้ามา “ขวัญจะหาย” ชาวบ้านจะมีพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” ซึ่ง สะท้อนความเป็นชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การรับฟังกัน ซึ่งตรงนี้แหละที่ “ขวัญ” ได้เพิ่มมิติของความเป็นปัจเจกไปสู่มิติที่สอง คือมิติของ “สมุหะ” (Collective) หรือ “ความเป็นชุมชน”
คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ช่วยเสริมขึ้นมาว่า ในพิธีนี้ คนในชุมชนที่เคยโกรธเคืองกัน ก็จะมาเข้าร่วม และหลายๆ ครั้งก็ให้อภัยซึ่งกันและกันได้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญของคนอื่นๆ พิธีดังกล่าวจึงกลายเป็นพิธีที่ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันในชุมชนดีขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับในปัจจุบันที่แนวโน้มของสังคมเมืองขาดมิติความเข้าใจตรงนี้ ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนในชุมชนมากขึ้น ผมไม่ได้หมายความว่าทุกชุมชนจะต้องหันกลับมานั่งทำพิธีบายศรีสู่ขวัญกันแบบเดิมๆ หรือกระทำกันแต่เพียงภายนอกเท่านั้น หากแต่น่าจะลองประยุกต์ “แก่น” ของพิธีนี้ นั่นก็คือการกลับมาสู่ “วัฒนธรรมหันหน้าเข้ากัน" “พูดคุย” และ “รับฟังกัน” ให้มากขึ้นในชุมชน
สำหรับประเด็นเรื่อง “ขวัญ” ที่โยงไปเกี่ยวข้องกับสุขภาพ คุณหมอโกมาตรก็พูดถึงได้อย่างน่าสนใจยิ่งและเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ความเป็นโรงพยาบาล” ได้ทำให้ “ขวัญ” (หรือความรู้สึกมั่นคงในชีวิต) ของคนไข้หายไปหรือไม่? บุคลากรทางสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและเคารพกับ “ขวัญ” ของคนไข้และญาติมากน้อยแค่ไหน
ทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก คือ ประเด็นเรื่อง “ขวัญ” และ “อำนาจ” ดูเหมือนว่าถ้าสถานที่ใดเวลาใดมีการใช้อำนาจ สถานที่นั้นเวลานั้นจะไม่มี “ขวัญ” หรือ “ขวัญจะหายไป” อำนาจในที่นี้ผมหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่นในแง่ของสุขภาพนั้น แพทย์ใช้อำนาจกับคนไข้โดยไม่รู้ตัวและส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนไข้ถูกทำให้เคยชินว่า เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมอบอำนาจให้แพทย์ไปทันที แทนที่จะ “ตระหนัก” ถึงความสามารถในการเยียวยาภายในตัวเองก่อน เพราะโรคส่วนใหญ่กว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นโรคที่เกิดจาก “การไม่รับรู้” ถึงความสามารถนี้ของตนเอง ไม่เข้าใจความสามารถของ “ขวัญ” ภายในตัวเองว่า ถ้า “ขวัญดี” สุขภาพก็มักจะดีไปด้วย แต่กลับ “ขวัญหนีดีฝ่อ” ไปก่อน และยิ่งเมื่อไปมอบอำนาจให้แพทย์ ก็จะยิ่งทำให้ “ขวัญหาย” ไปมากกว่าเดิม ...โดยไม่รู้ตัว
อีกตัวอย่างหนึ่งของอำนาจก็คือ คนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ “ขวัญหาย” เพราะไปมอบอำนาจให้กับ “เงิน” มากเกินไป ทุกคนถูกทำให้เชื่อว่า “เงินเป็นใหญ่” และ “เงินคืออำนาจ” การคิดแบบนี้กระมังที่ทำให้ “ขวัญ” ของคนไทยไม่ค่อยจะเหลือตามที่ อ.สุมน ได้พยายามชี้ให้เห็นในข้างต้น
พิธีบายศรีสู่ขวัญนั้น เป็นพิธีกรรมที่ทำให้สมาชิกของชุมชนรู้สึกถึงความ “เท่าเทียม” กัน และ “หันหน้าเข้าหากัน” ไปโดยปริยาย เพราะทุกคนต่างก็เข้ามาช่วย “รับขวัญ” ในพิธีนั้น แต่ละคนไม่มีการใช้อำนาจหรือพูดง่ายๆ ว่าพิธีกรรมตรงนั้นมักจะไม่มีที่ให้ใช้ “อำนาจ” ก็เลยทำให้ “ขวัญ” เริ่มกลับมาและเกิดการสร้างความเข้าใจกันได้
ในอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน อ.หมอประเวศ วะสี เคยพูดเกริ่นในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ว่า มิติการทำงานในสังคมนั้นจะต้องให้ความสำคัญของ “การเชื่อมโยง” และ “การสร้างเครือข่าย” ให้ความสำคัญกับ “คน” มากกว่า “งาน” ให้ความสำคัญกับ “การสร้างคนสร้างปัญญา” มากกว่า “การสร้างวัตถุสิ่งของ” ซึ่งประเด็นที่ อ.หมอประเวศ พูดถึงนี้ ผมคิดว่าเป็น “หัวใจหลัก” เรื่องหนึ่งของการทำงานภายใต้กรอบคิดแบบใหม่ที่ใช้หลักการของ “วิทยาศาสตร์ใหม่” เป็นพื้นฐานแทน “วิทยาศาสตร์เก่า” อ.หมอประเวศ ยังพูดถึงมิติการทำงานแบบเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ อาจารย์พูดถึง INN (Individual-Node-Network) ซึ่งถ้าเราดูดีๆ จะมองเห็นมิติของ “ความเป็นวิทยาศาสตร์ใหม่” ที่อาจารย์นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานทางสังคมได้อย่างแนบเนียนสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
การจะเชื่อมโยงได้ก็ต้องมีสองมิติ มิติแรก คือความเป็นปัจเจกเฉพาะตัวของแต่ละคนแต่ละแห่งจะต้องมีพลังงานที่ดี มีการสร้างปัญญา และจะต้องมีมิติที่สอง คือการเชื่อมเข้าหากันของหน่วยย่อยเป็น Node เล็กๆ ที่อาจจะมีเพียงคนไม่กี่คน และเชื่อมถึงกันให้ใหญ่ยิ่งขึ้นกลายเป็น Network ขึ้นมาได้
ผมรู้สึกว่า “ขวัญ” ที่อ.สุมนพูดถึงในจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๗ นั้น มีมิติทั้งสองอย่างครบถ้วนตามที่ อ.หมอประเวศ เคยพูดถึงไว้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกดังกล่าว ค่อนข้างน่าประหลาดที่ “ขวัญ” แบบคนไทยโบราณมีแนวคิดเหมือนกับวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์ และทฤษฎีอื่นๆ ที่ทันสมัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเล่าในบทความครั้งต่อๆ ไป
ในวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น หนึ่งบวกหนึ่งไม่ได้เท่ากับสอง การรวมพลังของมิติสองมิติจะเกิดพลังงานที่มากกว่านั้นหลายเท่า อาจจะเป็นเลขยกกำลังหรืออะไรที่มากกว่านั้น และที่สำคัญกว่าก็คือทั้งสองส่วนจะ “เอื้อ” และ “เสริม” ซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงกันอย่างไม่รู้จบ เช่นขวัญที่ดีของแต่ละบุคคลจะเอื้อให้เกิดขวัญที่ดีของชุมชน และในทางกลับกัน ขวัญที่ดีของชุมชนหรือขวัญเมืองก็จะช่วยให้เกิดขวัญที่ดีของแต่ละบุคคลด้วย เพียงแต่สังคมในปัจจุบันส่วนใหญ่จะขาดมิติการเชื่อมรวมตรงนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไปเชื่อวัฒนธรรมแบบวิทยาศาสตร์เก่าที่มองแยกจากกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักร ส่วนใดเสียก็เสียไปหรือต้องตัดทิ้ง และไม่เกี่ยวข้องกับส่วนที่เหลืออยู่
ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะต้องร่วมกันสร้าง “ขวัญที่ถูกต้อง” ให้กับทั้งตัวเองและชุมชน
แสดงความคิดเห็น