มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550
วงจรป้อนกลับ | มาตรฐาน |
• ขึ้นต่อบริบท | • ขนาดเดียวใช้ได้กับทุกคน |
• กำหนดขึ้นเอง ระบบเลือกสิ่งที่จะเฝ้าสังเกตขึ้นมาเอง | • มาตรฐานถูกกำหนดมาจากภายนอก |
• รับข้อมูลมาได้จากทุกที่ โดยไม่กำหนดข้อจำกัดอย่างตายตัว | • ข้อมูลถูกใส่ในกล่องข้อมูลที่จัดไว้อย่างตายตัว |
• ระบบสร้างและกำหนดความหมายด้วยตัวเอง | • ความหมายถูกกำหนดมาจากภายนอกระบบ |
• สิ่งใหม่และสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง | • การทำซ้ำและการคาดการณ์ได้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดว่ามีคุณค่า |
• จุดเน้นอยู่ที่การปรับตัวและการเจริญเติบโต | • จุดเน้นอยู่ที่เสถียรภาพและการควบคุม |
• ความหมายจะวิวัฒนาการไป | • ความหมายจะอยู่คงที่ |
• ระบบจะร่วมวิวัฒนาไปกับสิ่งแวดล้อม | • ระบบปรับตัวตามมาตรฐาน |
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 10 กุมภาพันธ์ 2550
ผมพบว่า “แรงบันดาลใจ” เป็นเรื่องที่สำคัญต่อมนุษย์ทุกคนทั้งในการใช้ชีวิต ในการเรียนหนังสือ ในการทำงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
แต่หลายๆ คนก็พบว่าบางครั้ง “แรงบันดาลใจ” ของเราก็ลดน้อยถอยลงหรือหายไปไหน หลายๆ คนก็สงสัยว่า “ทำไมแรงบันดาลใจของฉันจึงไม่มากเท่ากับตอนที่เรียนจบใหม่ๆ”
แล้วก็มาถึงคำถามที่ว่าเราจะสร้าง “แรงบันดาลใจ” ขึ้นมาได้อย่างไร
ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมพบว่าการศึกษาเรื่องราวการทำงานของสมอง ทำให้ผมพอจะพบ “กายวิภาคและสรีรวิทยา” ของ “แรงบันดาลใจ” ว่าอยู่ที่ไหนและจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
จากการศึกษาเรื่องราวของสมองสามชั้นของมนุษย์ตามวิวัฒนาการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ทำโดย พอล แมคลีน และโจเซฟ ชิลตัน เพี๊ยซ ได้นำมาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการเรียนรู้” และทำให้เกิดความเข้าใจที่พุ่งทะลุได้อย่างมากมายในเรื่องของการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ได้ถูกเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเพี๊ยซเองที่ชื่อว่า The Biology of Transcendence อย่างสั้นๆ ที่สุด สมองทั้งสามชั้นตามขั้นตอนการวิวัฒนาการนั้นได้แก่
สมองชั้นต้น คือสมองสัตว์เลื้อยคลาน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตพื้นฐานของมนุษย์หรือเจตจำนงในการดำรงชีวิต (Willing) เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ในช่วงเจ็ดขวบปีแรก เป็นต้นกำเนิดของปัญญากาย วิวัฒนาการต่อมาคือสมองชั้นกลางหรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก (Feeling) ในเจ็ดขวบปีที่สอง และวิวัฒนาการต่อมาเป็นสมองชั้นนอกหรือสมองใหญ่ของมนุษย์ เป็นสมองส่วนที่ใช้คิด (Thinking) ในลักษณะของตรรกะเหตุผลในสมองซีกซ้ายและความคิดสร้างสรรค์ในสมองซีกขวา เวลาที่เขียนถึงช่วงอายุนั้นไม่ได้หมายความว่าใครที่เลยเจ็ดขวบไปแล้วจะหมดสิทธิ์พัฒนาสมองชั้นต้นนะครับ สมองมนุษย์สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอายุเท่าไร
สมองทั้งสามชั้นจะมีการทำงานอยู่ในสองโหมด ก็คือปกติและปกป้อง ความเป็นปกติของสมองชั้นต้นก็คือการกล้าเผชิญ มีเจตจำนง และมีแรงบันดาลใจ เช่นเวลาที่เรารู้สึก “ฮึดสู้” หรือ “มีแรง” ก็เป็นเวลาที่เรากำลังใช้ความเป็นปกติของสมองชั้นต้นนี้นั่นเอง แต่ถ้าอยู่ในความเครียดหรือจะต้องป้องกันตัวเองแล้วสมองชั้นนี้จะนำพาให้เกิดความกลัว ความแหย หนี
ตัวอย่างสมองสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่กิ้งก่าหรือตุ๊กแกนั้น เมื่อมองเห็นวัตถุที่มันแปลผลว่าเป็นอาหาร มันจะกระโจนเข้าใส่ทันทีด้วย “แรงบันดาลใจ” อันเปี่ยมล้นซึ่งเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานเพื่อให้ชีวิตของมันดำรงอยู่ได้ แต่ถ้ามันแปลผลว่าวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยคุกคาม มันจะวิ่งหนีจู๊ดทันที (fight 0r flight)
ในบทความชิ้นนี้ผมจะโฟกัสอยู่เฉพาะเรื่องราวของสมองชั้นต้นที่เป็นต้นกำเนิดของ “แรงบันดาลใจ” เพราะถ้าเราอยากจะเข้าใจเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ เราคงจะต้องทำความเข้าใจกับสมองชั้นต้นหรือสมองสัตว์เลื้อยคลานนี้ให้ดีๆ คือในการเรียนรู้ของสมองชั้นต้นที่เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลานนั้น จะมีการเรียนรู้สองอย่าง หนึ่งคือ “การเลียนแบบ” ตัวอย่างเช่นเราจะเห็นเด็กเล็กๆ ในช่วงเจ็ดขวบปีแรก นอกจากจะชอบหยิบจับฉวยด้วยการลงไม้ลงมือแล้ว (ปัญญากาย) ยังชอบเลียนแบบ การเลียนแบบที่ดีหรือการมีแบบอย่างที่ดีๆ ก็จะสามารถเป็นการสร้างเสริมแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี
สองคือ “การทำซ้ำ” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การเปิดพื้นที่ให้ จะทำให้การทำซ้ำและเกิดเป็นวินัยจากด้านใน วินัยที่ดีจะต้องสร้างจากด้านใน ไม่ใช่เกิดจากกฎระเบียบจากภายนอก
ในการทำเวิร์คช็อปเป็นเวลาสามวันสองคืนด้วยสุนทรียสนทนา เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ นี้กับอาจารย์จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวนประมาณสิบกว่าท่าน นำโดยอาจารย์หมอวิชัย วิวัฒน์คุณูปการณ์ และอาจารย์หมออารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์ พวกเราพบว่าบรรดาอาจารย์ทันตแพทย์เหล่านี้ให้ความสนใจกับ “การสร้างแรงบันดาลใจ” ว่า เอ๊ะ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้นักศึกษาแพทย์เกิดแรงบันดาลใจในการเรียน ในการทำงาน? คำถามข้อนี้เกิดขึ้นมาหลังจากที่ผมได้บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นปกติกับเรื่องของสมองสามชั้นข้างต้นไปแล้ว
อาจารย์คณะทันตแพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า อาจจะต้องมี “แบบอย่าง” ตัวเธอเองก็มีอาจารย์ต้นแบบที่เธอรู้สึกว่าเป็นฮีโร่ของเธอตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ เป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับเธอที่เมื่อได้มีโอกาสมาเป็นอาจารย์ทันตแพทย์เอง เธอก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นอาจารย์ทันตแพทย์ที่ดีๆ แบบนั้น
ปัญหาที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันขาดแรงบันดาลใจจึงมีสาเหตุจากสองเรื่องใหญ่ก็คือ
หนึ่ง คือเราไม่ได้เข้าใจเรื่องความสมดุลของสมองสามชั้น ระบบการศึกษาทั้งหมดไปเน้นการพัฒนาสมองชั้นนอกเท่านั้น และก็มักจะเน้นจะเฉพาะเพียงสมองซีกซ้ายของสมองชั้นนอกเท่านั้นเองด้วย เราขาดการเรียนรู้ปัญญาของสมองชั้นต้น เราขาดการเรียนรู้ปัญญาของสมองชั้นกลาง
สอง เรายังไม่ได้ใช้ “ความเป็นปกติ” ของสมองชั้นต้น แต่ด้วยความเครียด เรากลับไปนำพาให้สมองชั้นต้นต้องใช้ “การปกป้องตัวเอง” แทน
“บริโภคนิยม” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความพยายามในการใช้ “ด้านมืดหรือด้านลบ” ของสมองชั้นต้น เพราะ “บริโภคนิยม” นั้นมากระตุ้นให้คนเกิดความอยากแบบไม่มีที่สิ้นสุด ต้องการอาณาเขตแบบสัตว์เลื้อยคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด และในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่ง สมองชั้นต้นถูกทำให้กลายเป็นด้านลบทั้งหมด สิ่งที่พัฒนาไปพร้อมกับ “ด้านมืด” ของสมองสัตว์เลื้อยคลานก็คือความกลัว ความแหย และการหนีปัญหาในระยะยาว “บริโภคนิยม” จึงกลายไปเป็นตัวทำลายแรงบันดาลใจของมนุษย์ เหมือนกับที่อนาคินในภาพยนตร์เรื่อง สตาร์วอร์ เลือกที่จะใช้ “ด้านมืด” ของพลัง จึงทำให้เขาต้องกลายเป็นไปเป็น ดาร์ท เวเดอร์ ที่มีพลัง แต่อยู่ในด้านมืดตลอดชีวิต
“ความกลัว” จะกลับกลายเป็นการไป “ทำลาย” แรงบันดาลใจของมนุษย์ไปทั้งหมดทั้งสิ้น
ดังนั้น ถ้าเราจะลองนำ “องค์ความรู้” เรื่องสมองสามชั้นนี้มาใช้ เราก็จะพบว่าโดยหลักๆ แล้ว “การสร้างแรงบันดาลใจ” ก็คือ “การสร้างสมองชั้นต้นให้แข็งแรงและให้เป็นปกติ” เพราะถ้าสมองชั้นต้นไม่แข็งแรงและไม่เป็นปกติ สมองชั้นต้นก็จะนำพาเราไปสู่ด้านมืดหรือด้านลบของมัน ก็คือ “ความกลัว” และ “การไม่กล้าเผชิญ” ดังกล่าว
กิจกรรมอย่างเช่น ไท้ฉีฉวน โยคะ การฝึกลมหายใจที่รับรู้กับกาย (กายาวิปัสนา) หรือแม้แต่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการเสริมสร้างสมองชั้นต้นได้เป็นอย่างดี เพราะได้มีการกระทำลงไม้ลงมือ เป็นการกระทำที่ซ้ำๆ เป็นรูปแบบที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ
ถ้าสมองชั้นต้นสามารถกลับมา “เป็นปกติ” ได้เราจึงจะสามารถสร้าง “แรงบันดาลใจ” ที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้และเมื่อนั้น “บริโภคนิยม” ก็จะไม่สามารถทำอะไรพวกเราได้อีกต่อไป
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550
การประชุมจิตวิวัฒน์เดือนมกราคมเปิดศักราชใหม่ปี ๒๕๕๐ นี้ เป็นครั้งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดครั้งหนึ่ง พวกเราได้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรสองกลุ่ม คือ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมกันผลักดันโครงการจัดตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และอีกท่านหนึ่งคือ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ทั้งสองโครงการต่างมุ่งสู่การยกระดับจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน หากงานแรกเน้นที่ระบบอุดมศึกษา ส่วนอีกงานนั้นเน้นสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นในระบบบริการทางการแพทย์
สมาชิกจิตวิวัฒน์ล้วนแสดงความชื่นชมและให้ความเชื่อมั่นต่อโครงการทั้งสองว่าเป็นงานที่ดี เป็นงานที่งาม จะช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งดีงามและการปฏิวัติทางจิตวิญญาณขึ้นในสังคมได้
หลายท่านยังแสดงความห่วงใยและให้ข้อแนะนำต่อกิจกรรมที่โครงการวางแผนไว้ว่าจะเคลื่อนให้บังเกิดผลต่อสังคมวงกว้าง หรืองานใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลากำหนด ดังเช่นการจัดทำหลักสูตรและเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท
ทว่าทัศนะการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ นพ.ประสาน ต่างใจ ดูจะแตกต่างจากทัศนะของ อ.เอกวิทย์ ณ ถลาง ราวกับยืนอยู่กันคนละมุม
อ.เอกวิทย์ ท่านเน้นย้ำหลายครั้งว่า สำหรับงานที่ว่าด้วยการพัฒนาและบ่มเพาะชีวิตด้านในแล้วนั้น ทางคณะผู้ทำงานต้อง “คิดนอกกรอบ” เนื่องจากกรอบวิธีคิดทั่วไปที่เราใช้ในการเรียนการสอนและการบริหารงานนั้นอยู่บนคนละฐานกัน ที่สำคัญท่านได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่า “ระวังอย่าให้ขยายตัวเร็วเกินไป” พึงระแวดระวังจะเกิดเป็นเพียงปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง เหมือนเรื่องดีๆ อื่นๆ ในประเทศไทย ที่ถูกจุดประกายขึ้นชั่ววูบและดับลับหายไปในโครงสร้างอำนาจและระบบราชการ
อาจารย์ท่านเปรียบเปรยไว้อย่างน่าฟังว่า “อย่าโตเร็วนัก” คือการรู้จักจำกัดตัวเอง เหมือนดั่งของดีหรือไม้แก่น ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ต้องผ่านการเคี่ยวกรำตนเองจนได้แก่นที่แข็งแรง ต่างจากไม้ที่โตเร็วแต่เปราะและหักโค่นง่าย การทำงานก็เช่นกัน เมื่อไม้ลงรากฝังลึกและมีแก่นแกนเข้มแข็งแล้วจึงขยายดอกออกผลไปสู่บ้านเมืองต่อไป
ส่วนท่านอาจารย์ประสานนั้น ท่านเห็นด้วยกับการผลักดันเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างยิ่ง แต่ท่านยืนยันว่าสิ่งที่เราได้เริ่มไว้นั้นคงไม่ทันเสียแล้ว ดังที่เห็นกันว่าวิกฤตสารพัดอุบัติขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม นักวิชาการระดับโลกหลายคน เช่น เจมส์ เลิฟล็อค (ในหนังสือ The Revenge of Gaia) ต่างออกมายอมรับและทำนายถึงความเสียหายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตอันใกล้ การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมายาวนานเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในเวลาสั้นๆ ดังนั้น งานที่ทำนี้ต้องเร็ว สิ่งที่ต้องเร่งทำเป็นการด่วนคือ ต้องจิตวิวัฒน์อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่เพียงการบรรยายการสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียน
ผมได้เรียนรู้อย่างมากจากการแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้เอง
ในวงสนทนาดูราวกับการพูดคุยเกิดความแตกต่างระหว่างความคิดของอาจารย์ทั้งสองขึ้น หนึ่งนั้นบอกว่าให้ “ช้า” ทว่าอีกหนึ่งขอให้ “เร็ว” สมาชิกท่านอื่นๆ บ้างแสดงความเห็นคล้อยตาม บ้างก็เห็นค้านแย้ง บางท่านเห็นด้วยว่าควร “เร็ว” บางท่านเห็นด้วยว่าควร “ช้า”
หลังจากเฝ้ามองความคิดตนเองอย่างเนิ่นนาน ได้เกิดคำถามขึ้นในใจ “แต่เอ ... เป็นไปได้ไหมว่า ‘ช้า’ ของคนหนึ่งจะเร็วกว่า ‘เร็ว’ ของอีกคนหนึ่ง หรือ ว่า ‘ช้า’ ของคนหนึ่งก็เท่ากับ ‘เร็ว’ ของอีกคนหนึ่ง?” คำว่าช้ากับคำว่าเร็วในที่นี้นั้นแท้ที่จริงมีความต่างกันสักเพียงไหน จะว่าไปแล้วทั้งสองคำต่างเป็นเพียงภาษาเพื่อใช้สื่อความคิดของอาจารย์ทั้งสอง “ช้า” แค่ไหนของอาจารย์เอกวิทย์จึงจะเท่ากับคำว่า “ช้า” ของอาจารย์ประสานได้ เราผู้ฟังไม่อาจรู้ได้เลย
แน่นอนว่าแม้ภาษาจะช่วยให้เราสื่อสารกันได้ แต่ในขณะเดียวกันภาษายังเป็นข้อจำกัดในการสื่อสารเช่นกัน อาทิ การพูดถึงสภาพหรือภาวะบางอย่างที่ยังไม่มีคำเรียกขานที่เป็นที่เข้าใจหรือยอมรับกัน
การใช้คำว่า “ช้า” หรือ “เร็ว” ที่จัดว่าเป็นคำคู่ตรงข้ามนี้ก็เช่นกัน หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้วย่อมเข้าใจไปได้ว่าคนที่เสนอให้ “ช้า” นั้นย่อมคิดต่างจากคนที่เสนอให้ “เร็ว” เป็นแน่
แต่สิ่งที่ผมได้รับรู้จากอาจารย์ทั้งสอง คือ ทั้งคู่ต่างมีความเห็นคล้ายคลึงกัน แทบจะไม่แตกต่างกันเลย สำหรับอาจารย์เอกวิทย์แล้ว การ “ไม่โตเร็วนัก” นั้นคือวิธีที่ “เร็วที่สุด” แล้ว หาก “ขยายตัวเร็วเกินไป” ก็จะพาลไม่เกิด ยิ่งแย่ ยิ่งช้าไปใหญ่ ส่วนท่านอาจารย์ประสานก็ไม่ได้ขัดต่อเรื่องการใช้เวลาอย่างเหมาะสม เท่าที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงของคน และสำหรับการเติบโตของงาน เพียงแต่พอท่านหนึ่งใช้คำว่า “ช้า” อีกท่านใช้คำว่า “เร็ว” เราก็อาจรีบกระโดดไปตัดสินว่าอยู่คนละมุม ยืนคนละฝั่งกัน
สิ่งที่จะช่วยให้เราไม่ตกร่องของความคิดแบ่งขั้ว แยกถูก-ผิด ขาว-ดำ ไม่ด่วนจำแนกคุณค่าของเรื่องราวเหตุการณ์ คือ การเฝ้ามองอย่างเนิบช้าและเนิ่นนาน ชวนตัวเองให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า ถือทุกอย่างเป็นสมมติฐาน ห้อยแขวนการตัดสินเอาไว้ก่อน
นอกจากนี้ ในบรรยากาศของการประชุมจิตวิวัฒน์ที่ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้ละเลียดกับคำพูดของกันและกัน ช่วยให้เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยง สามารถสร้างพื้นที่ที่รองรับความคิดที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้
กระบวนการคิดใคร่ครวญและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ตรงหน้า และการใช้เวลากับการเฝ้ามองดูอย่างเนิ่นนาน โดยไม่ตัดสินนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ เป็นภารกิจร่วมกันของมวลมนุษยชาติอันจำต้องเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมกับเนิบช้าเพียงพอต่อการได้ใคร่ครวญและหยั่งรากให้ลงลึกในสังคม
โดย เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
ก่อนและหลังการเดินจาริก เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองอย่างไรบ้าง
ขอเริ่มต้นที่ทางกายก่อน การเดินทำให้ผมมีร่างกายที่สมบูรณ์ น้ำหนักของผมก่อนออกเดิน หนักถึง 60 – 70 กก. ซึ่งไม่ถือว่าอ้วน แต่พอเดินเสร็จ น้ำหนักตัวลดลงไปถึงสิบกว่ากิโลกรัม ภายใน 60 กว่าวัน และการลดครั้งนี้ก็เป็นการลดที่อุดมสมบูรณ์ ร่างกายของผมก็ฟิตด้วย
วันสุดท้ายที่ผมเดิน จากสวนโมกขพลารามถึงตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ผมเดินได้กว่า 50 กิโลเมตร โดยไม่ต้องหยุดพักอะไรเลย และก็เดินสบายๆ ไม่ได้มีความทุรนทุรายใดๆ
ทีนี้ ในแง่จิตใจกับการรับรู้อะไรต่างๆ เมื่อก่อน มันจะมีกลไกของการใช้ความคิด เช่น สมมติ ผมรู้ว่าความโกรธไม่ดี เวลาที่มีอะไรมากระทบ ผมก็จะคิดแล้ว คิดว่า “อย่าโกรธๆๆ”
กลไกของเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าคล้ายกับการขับรถ คือตอนที่เราฝึกขับรถใหม่ๆ เราต้องคิดว่าจะต้องทำอะไร เช่น ถ้าต้องการหยุดรถ ก็ต้องคิดว่าต้องถอนเท้าออกมาจากคันเร่ง มาเหยียบเบรกแทน ถ้าต้องการเปลี่ยนเกียร์ด้วย ก็ต้องเหยียบที่คลัช
ใหม่ๆ คงทำอะไรไม่ทันกาลบ้าง เกิดอุบัติเหตุเชี่ยวชนบ้าง จนเราอาจรู้สึกเครียด เกร็งกับการขับรถ แต่พอถึงจุดๆ หนึ่งที่เราสามารถขับรถได้อย่างชำนาญ เราก็จะไม่ใช่ความคิดเลย คือเราสามารถทำสิ่งต่างๆ ไปได้โดยอัตโนมัติ อย่างการถอนเท้าออกจากคันเร่ง มาเหยียบเบรก เหยียบครัช เปลี่ยนเกียร์ ไปจนถึงอาจฟังวิทยุไปด้วย คุยกับเพื่อนไปด้วย ถามว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบว่าเกิดขึ้นจากความชำนาญ หรือทักษะในการจัดการกับเครื่องจักรกลข้างนอก
แต่มีความชำนาญอีกชนิดที่ไม่ใช่ความคิด เป็นเรื่องของความรู้สึกในระดับจิตใจของเราเอง ผมอยากจะเรียกว่าเป็นการใช้จิตที่ไม่ต้องใช้ความคิด คือจิตรับรู้โดยไม่ต้องใช้ความคิด
คนสมัยนี้คิดมากจนติดกับดักทางความคิดมากจนเกินจำเป็น
เราควรคิด แต่คิดให้พอดี
ทีนี้ การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณที่ผมต้องการบอก คือในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันมีจิตที่เรียกว่าความสำนึกรู้ที่ยังอาจไม่ชัดเจน เช่น เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชน เราถูกปลูกฝังโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามว่า สิ่งที่เป็น “จาคะ” คือตรงกันข้ามกับความเห็นแก่ตัว หรือ “เมตตา” ที่ตรงข้ามกับความเกลียด ความโกรธ ซึ่งเป็นโทสะ หรือ “วิชชา” คือความรู้แจ้งที่ตรงข้ามกับโมหะหรืออวิชชานั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่เราเองก็มิได้มีความเพียรพยายามที่จะทำสิ่งนั้นอย่างจริงจัง คือเรารู้สึกว่ามันดี ถ้าเรามีได้ก็ดี แต่ถ้าสมมติไม่มี เราก็รู้สึกเฉยๆ
เพราะฉะนั้น ตัวจิตวิญญาณที่เรากำลังพูดถึงนี้ก็คือ เมื่อรู้สึกสำนึกว่าสิ่งนั้นดีแล้ว เราก็จำต้องทำให้ได้ด้วย อย่างตอนที่ผมนอนกับหมาขี้เรื้อนระหว่างทางได้ นั่นก็เพราะความรู้สึกสำนึกที่ผมมีต่อมันในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ รู้ว่าเกิดมาบนโลกใบนี้แล้วต้องมีเงื่อนไข ข้อจำกัด ต้องดิ้นรน ต้องแสวงหา ต้องดำรงอยู่เพื่อมีชีวิตอยู่ สัตว์เหล่านั้นล้วนร่วมชะตากรรมเดียวกับเรา เพราะฉะนั้น เราไม่ควรที่จะไปเบียดเบียนสัตว์ ทว่าเราควรมีความรู้สึกเมตตาอาทรต่อสัตว์เหล่านั้น
นี่อาจดูเหมือนเป็นความคิดที่ผมคิดได้ตั้งนานแล้ว แต่วันหนึ่ง เมื่อต้องนอนในศาลากับหมาขี้เรื้อนที่เคยกลัว เคยเกลียดผมในตอนหัวค่ำ แต่ตอนนี้ (ตอนค่ำมืด) เขามิได้รังเกลียดผมแล้ว เขามานอนกับผม เขามีความสุขที่ได้นอนกับผม เอากายของเขามาแนบกายผม มาขอไออุ่นจากผม ซึ่งในสำนึกลึกๆ ของผมขณะนั้น แทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้คิดอะไรเลย กลับเป็นความรู้สึกว่า โอ้โห! ดีจังเลยที่เรายังไม่ตาย ที่เราได้นอนอย่างมีความสุขทั้งคู่ ได้แชร์กัน ผมมีความสุขที่สามารถให้ไออุ่นแก่มันได้ สามารถเอามือไปลูบหนังของมัน บรรเทาอาการคันของมันได้บ้าง
ไอ้ความรู้สึกแบบนี้แหละ คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณของผม อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นกับผม มันดีงามได้ ถ้าเรามีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ งดงามขึ้น ซึ่งผมพบว่าถ้าเรามีจิตที่งดงามแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ล้วนเป็นสิ่งมีค่าต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะได้หรือเสีย ทุกสิ่งล้วนมีค่าหมด
อาจารย์ในสถานะของ “นักวิจัย” มองการเดินของตัวเองอย่างไรบ้าง
คือตัว “ผู้รู้” กับ “ความรู้” แยกจากกันไม่ได้ แต่ความรู้ในถูกผลิตขึ้นโลกปัจจุบันกลับเป็นความรู้แบบ Know How ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผู้เป็นต้นเค้าของความรู้นั้นเลย ฉะนั้น วันหนึ่ง ความรู้จึงซื้อขายกันได้ และก็ต้องไปจดทะเบียน สิทธิบัตร เพื่อผู้ที่เป็นต้นคิดจะได้ประโยชน์
แต่จริงๆ แล้ว “ความรู้” ที่ผมพยายามพูดอยู่นี้ เป็นความรู้อีกมิติหนึ่ง ไม่ใช่ความรู้แบบ Know How เป็นความรู้ที่ตัวผู้รู้กับความรู้แยกจากกันไม่ได้
เช่น ผมซื้อนาฬิกามาใช้ ผมไม่จำเป็นต้องรู้สำนึกหรือรู้สึกมีบุญคุณอะไรต่อผู้ผลิตนาฬิกา เพราะเมื่อผมมีเงิน ผมก็หาซื้อนาฬิกามาใช้ได้เลย ไม่เกี่ยว ไม่มีความรู้สึก
ทีนี้ ผมจะลองยกตัวอย่างเทียบกับงานศิลปะ ภาพศิลปะเทียมย่อมไม่มีค่าเท่าของจริง การสืบสวนว่าภาพชิ้นนั้นเป็นของจริงหรือเปล่า แสดงว่าเราไม่ได้ตัดผลงานภาพวาดนั้นออกมาจากตัวผู้วาด อย่างที่เคยมีข่าวภาพวาดชิ้นหนึ่งของอาจารย์ทวี นันทขว้าง ที่มีนายธนาคารใหญ่คนหนึ่งเป็นเจ้าของ ถูกวิจารณ์ว่า นี้ไม่น่าจะใช่ภาพของอาจารย์ทวี
ทันทีที่มีข้อสงสัยว่าภาพนี้ไม่น่าจะใช่ของอาจารย์ทวี ราคาตกวูบเลย ซึ่งชี้ให้เห็นเลยว่างานกับผู้สร้างงานยังสัมพันธ์กันอยู่ แต่สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็น มันยิ่งกว่างานศิลปะอีก คือตัวความรู้มันยึดโยงกับตัวผู้รู้
ผมจะขอยกตัวอย่างอันหนึ่ง เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชน และเราคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าความรู้ในพระพุทธศาสนาได้รับการค้นพบหรือตรัสรู้โดยพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า เพราะเหตุฉะนี้ เราถึงเคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญมากไปกว่านี้ ความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ถ้าหากพวกเราอ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็จะพบว่า ภายหลังที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้รำลึกว่าสิ่งที่เป็นสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์รู้แล้วนั้น มันต้องใช้เวลานานมากๆ เพราะนับจากที่พระองค์เป็นนิยกโพธิสัตว์แล้ว ต้องใช้เวลาอีกกว่า 4 อสงไขย แสนกัปป์ (อสงไขย หมายถึงนับคำนวณไม่ได้ แปลว่า นับไม่ได้ 4 หน กว่าๆ)
แต่เราต้องทำความเข้าใจให้ลึกไปกว่านั้นว่า ความรู้ที่พระองค์ได้รับนั้น ต้องเกิดจากการประสบทุกข์ เผชิญกับปัญหาของชีวิต และการเผชิญนี้ก็ไม่ใช่แค่ฐานะที่เป็นมนุษย์เท่านั้นนะ แต่ยังเคยเกิดเป็นสัตว์ด้วย
พระองค์เปรียบเทียบอย่างนี้ครับว่า ถ้าทุกครั้งที่เราร้องไห้ เสียน้ำตาออกมา ให้เอาน้ำตาที่ออกมารวมกันเข้าให้มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทร ผมพูดเพื่อให้เราเข้าใจภาพว่า พระองค์ทรงสำนึกว่าความรู้นี้เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์กับมวลมนุษย์ และกับสรรพสัตว์ ไม่ใช่ความรู้ส่วนตัวของพระองค์ แต่มาจากสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งมวลรวมกันเข้าเป็นความรู้ที่เรียกว่า “สัมมาสัมโพธิญาณ”
เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ว่านี้ จึงไม่ใช่ความรู้ที่ต้องปกปิดเป็นความลับอะไร หากเป็นความรู้ที่ต้องการจะเผยแพร่ ถ่ายทอด
ผมเอง เวลาจะทำอะไรก็ตาม ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบของศาสนาพุทธเท่านั้น ผมเข้าใจว่าในศาสนาคริสต์ เวลาที่เรารู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นภาพพระเยซูถูกตรึงไว้บนไม้กางเขน นั่นก็ทำให้เราเกิดความสำนึกได้ว่า สิ่งที่เป็นเมตตาธรรมที่อยู่ในจิตของพระองค์ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถสัมผัสกับเมตตาธรรม หรือความรักนั้นได้ นั่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก
ผมว่าท่านนบีมูฮัมหมัดก็เช่นกัน หากเราอ่านหรือสวดคัมภีร์อัลกุรอาน บรรทัดแรกๆ ก็คือการสวดสรรเสริญพระเมตตากรุณาของพระผู้เป็นเจ้า ที่มีท่านนบีเป็นศาสดา
อาจารย์อยากเดินอย่างที่ทำมาอีกไหม
อยากเดินครับ แต่ไม่ใช่ความหมายในเชิงทดสอบตัวเองที่ค่อนข้างมีลักษณะจำเพาะในเชิงจิตวิญญาณอย่างเดิมแล้ว แต่จะเดินเพื่อเรียนรู้อะไรมากขึ้น เพราะยังเชื่อว่า วิถีแห่งการเดินเป็นวิถีที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงผมได้ แต่อย่างน้อย ยังทำให้คนที่รู้เรื่องของผม เปลี่ยนความคิดใหม่ว่า มนุษย์เดินได้ ส่วนจะเดินใกล้ เดินไกลนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
ที่สำคัญมากๆ การเดินบอกให้เรารู้ว่า ความหมายที่งดงามของชีวิตไม่ได้อยู่ไกล แต่อยู่ที่ทุกย่างก้าวของเราที่ต้องมีความสุข มีจิตที่เบิกบาน ถ้าเราย่างก้าวอย่างมีความสุข เราก็จะสามารถก้าวรอบโลกอย่างมีความสุขได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอก เพียงแต่ไม่ได้บอกด้วยคำพูด เพราะผมไม่ต้องการบอกด้วยคำพูด แต่จะบอกด้วยการกระทำ ด้วยการเดินต่อไป
ผมจึงคิดว่า หลังจากนี้ไป ถ้าเรื่องของผมมีใครสนใจอยากจะฟัง ผมจะเดินไปหาเขา อย่างน้อยๆ เพื่อจะบอกว่า เขามีความสำคัญ ผมจึงเดินมา ผมอยากจะได้พบ อยากรู้จัก อย่างคนแก่ที่อุบลฯ ท่านหนึ่ง ผมอยากจะไปกราบท่านด้วยความรู้สึกเคารพ และบอกท่านว่า ท่านมีบุญที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างยาวนาน และขอให้ท่านมีความสุขกับการมีชีวิตอยู่
การเดินคือการยืนยันอะไรบางอย่างที่แสดงถึงสมรรถนะของมนุษย์ แม้หนทางยาวไกล หากมีจิตที่ตั้งมั่น เราก็ทำได้
การได้เสียสละเพื่อผู้อื่น หรือมีคุณค่าต่อผู้อื่น แม้ขณะหลับแล้วร่างกายของเราก็ยังอุ่นพอให้แก่หมาตัวหนึ่งได้ ชีวิตของเราเป็นประโยชน์ต่ออีกชีวิตหนึ่งได้ ผมก็ถือว่าเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์เราแล้ว