ความเข้าใจเรื่องสมองกับการสร้างแรงบันดาลใจ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 10 กุมภาพันธ์ 2550

ผมพบว่า “แรงบันดาลใจ” เป็นเรื่องที่สำคัญต่อมนุษย์ทุกคนทั้งในการใช้ชีวิต ในการเรียนหนังสือ ในการทำงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

แต่หลายๆ คนก็พบว่าบางครั้ง “แรงบันดาลใจ” ของเราก็ลดน้อยถอยลงหรือหายไปไหน หลายๆ คนก็สงสัยว่า “ทำไมแรงบันดาลใจของฉันจึงไม่มากเท่ากับตอนที่เรียนจบใหม่ๆ”

แล้วก็มาถึงคำถามที่ว่าเราจะสร้าง “แรงบันดาลใจ” ขึ้นมาได้อย่างไร

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมพบว่าการศึกษาเรื่องราวการทำงานของสมอง ทำให้ผมพอจะพบ “กายวิภาคและสรีรวิทยา” ของ “แรงบันดาลใจ” ว่าอยู่ที่ไหนและจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

จากการศึกษาเรื่องราวของสมองสามชั้นของมนุษย์ตามวิวัฒนาการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ทำโดย พอล แมคลีน และโจเซฟ ชิลตัน เพี๊ยซ ได้นำมาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการเรียนรู้” และทำให้เกิดความเข้าใจที่พุ่งทะลุได้อย่างมากมายในเรื่องของการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ได้ถูกเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเพี๊ยซเองที่ชื่อว่า The Biology of Transcendence อย่างสั้นๆ ที่สุด สมองทั้งสามชั้นตามขั้นตอนการวิวัฒนาการนั้นได้แก่

สมองชั้นต้น คือสมองสัตว์เลื้อยคลาน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตพื้นฐานของมนุษย์หรือเจตจำนงในการดำรงชีวิต (Willing) เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ในช่วงเจ็ดขวบปีแรก เป็นต้นกำเนิดของปัญญากาย วิวัฒนาการต่อมาคือสมองชั้นกลางหรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก (Feeling) ในเจ็ดขวบปีที่สอง และวิวัฒนาการต่อมาเป็นสมองชั้นนอกหรือสมองใหญ่ของมนุษย์ เป็นสมองส่วนที่ใช้คิด (Thinking) ในลักษณะของตรรกะเหตุผลในสมองซีกซ้ายและความคิดสร้างสรรค์ในสมองซีกขวา เวลาที่เขียนถึงช่วงอายุนั้นไม่ได้หมายความว่าใครที่เลยเจ็ดขวบไปแล้วจะหมดสิทธิ์พัฒนาสมองชั้นต้นนะครับ สมองมนุษย์สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอายุเท่าไร

สมองทั้งสามชั้นจะมีการทำงานอยู่ในสองโหมด ก็คือปกติและปกป้อง ความเป็นปกติของสมองชั้นต้นก็คือการกล้าเผชิญ มีเจตจำนง และมีแรงบันดาลใจ เช่นเวลาที่เรารู้สึก “ฮึดสู้” หรือ “มีแรง” ก็เป็นเวลาที่เรากำลังใช้ความเป็นปกติของสมองชั้นต้นนี้นั่นเอง แต่ถ้าอยู่ในความเครียดหรือจะต้องป้องกันตัวเองแล้วสมองชั้นนี้จะนำพาให้เกิดความกลัว ความแหย หนี

ตัวอย่างสมองสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่กิ้งก่าหรือตุ๊กแกนั้น เมื่อมองเห็นวัตถุที่มันแปลผลว่าเป็นอาหาร มันจะกระโจนเข้าใส่ทันทีด้วย “แรงบันดาลใจ” อันเปี่ยมล้นซึ่งเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานเพื่อให้ชีวิตของมันดำรงอยู่ได้ แต่ถ้ามันแปลผลว่าวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยคุกคาม มันจะวิ่งหนีจู๊ดทันที (fight 0r flight)

ในบทความชิ้นนี้ผมจะโฟกัสอยู่เฉพาะเรื่องราวของสมองชั้นต้นที่เป็นต้นกำเนิดของ “แรงบันดาลใจ” เพราะถ้าเราอยากจะเข้าใจเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ เราคงจะต้องทำความเข้าใจกับสมองชั้นต้นหรือสมองสัตว์เลื้อยคลานนี้ให้ดีๆ คือในการเรียนรู้ของสมองชั้นต้นที่เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลานนั้น จะมีการเรียนรู้สองอย่าง หนึ่งคือ “การเลียนแบบ” ตัวอย่างเช่นเราจะเห็นเด็กเล็กๆ ในช่วงเจ็ดขวบปีแรก นอกจากจะชอบหยิบจับฉวยด้วยการลงไม้ลงมือแล้ว (ปัญญากาย) ยังชอบเลียนแบบ การเลียนแบบที่ดีหรือการมีแบบอย่างที่ดีๆ ก็จะสามารถเป็นการสร้างเสริมแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี

สองคือ “การทำซ้ำ” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การเปิดพื้นที่ให้ จะทำให้การทำซ้ำและเกิดเป็นวินัยจากด้านใน วินัยที่ดีจะต้องสร้างจากด้านใน ไม่ใช่เกิดจากกฎระเบียบจากภายนอก

ในการทำเวิร์คช็อปเป็นเวลาสามวันสองคืนด้วยสุนทรียสนทนา เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ นี้กับอาจารย์จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวนประมาณสิบกว่าท่าน นำโดยอาจารย์หมอวิชัย วิวัฒน์คุณูปการณ์ และอาจารย์หมออารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์ พวกเราพบว่าบรรดาอาจารย์ทันตแพทย์เหล่านี้ให้ความสนใจกับ “การสร้างแรงบันดาลใจ” ว่า เอ๊ะ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้นักศึกษาแพทย์เกิดแรงบันดาลใจในการเรียน ในการทำงาน? คำถามข้อนี้เกิดขึ้นมาหลังจากที่ผมได้บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นปกติกับเรื่องของสมองสามชั้นข้างต้นไปแล้ว

อาจารย์คณะทันตแพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า อาจจะต้องมี “แบบอย่าง” ตัวเธอเองก็มีอาจารย์ต้นแบบที่เธอรู้สึกว่าเป็นฮีโร่ของเธอตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ เป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับเธอที่เมื่อได้มีโอกาสมาเป็นอาจารย์ทันตแพทย์เอง เธอก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นอาจารย์ทันตแพทย์ที่ดีๆ แบบนั้น

ปัญหาที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันขาดแรงบันดาลใจจึงมีสาเหตุจากสองเรื่องใหญ่ก็คือ

หนึ่ง คือเราไม่ได้เข้าใจเรื่องความสมดุลของสมองสามชั้น ระบบการศึกษาทั้งหมดไปเน้นการพัฒนาสมองชั้นนอกเท่านั้น และก็มักจะเน้นจะเฉพาะเพียงสมองซีกซ้ายของสมองชั้นนอกเท่านั้นเองด้วย เราขาดการเรียนรู้ปัญญาของสมองชั้นต้น เราขาดการเรียนรู้ปัญญาของสมองชั้นกลาง

สอง เรายังไม่ได้ใช้ “ความเป็นปกติ” ของสมองชั้นต้น แต่ด้วยความเครียด เรากลับไปนำพาให้สมองชั้นต้นต้องใช้ “การปกป้องตัวเอง” แทน

“บริโภคนิยม” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความพยายามในการใช้ “ด้านมืดหรือด้านลบ” ของสมองชั้นต้น เพราะ “บริโภคนิยม” นั้นมากระตุ้นให้คนเกิดความอยากแบบไม่มีที่สิ้นสุด ต้องการอาณาเขตแบบสัตว์เลื้อยคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด และในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่ง สมองชั้นต้นถูกทำให้กลายเป็นด้านลบทั้งหมด สิ่งที่พัฒนาไปพร้อมกับ “ด้านมืด” ของสมองสัตว์เลื้อยคลานก็คือความกลัว ความแหย และการหนีปัญหาในระยะยาว “บริโภคนิยม” จึงกลายไปเป็นตัวทำลายแรงบันดาลใจของมนุษย์ เหมือนกับที่อนาคินในภาพยนตร์เรื่อง สตาร์วอร์ เลือกที่จะใช้ “ด้านมืด” ของพลัง จึงทำให้เขาต้องกลายเป็นไปเป็น ดาร์ท เวเดอร์ ที่มีพลัง แต่อยู่ในด้านมืดตลอดชีวิต

“ความกลัว” จะกลับกลายเป็นการไป “ทำลาย” แรงบันดาลใจของมนุษย์ไปทั้งหมดทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าเราจะลองนำ “องค์ความรู้” เรื่องสมองสามชั้นนี้มาใช้ เราก็จะพบว่าโดยหลักๆ แล้ว “การสร้างแรงบันดาลใจ” ก็คือ “การสร้างสมองชั้นต้นให้แข็งแรงและให้เป็นปกติ” เพราะถ้าสมองชั้นต้นไม่แข็งแรงและไม่เป็นปกติ สมองชั้นต้นก็จะนำพาเราไปสู่ด้านมืดหรือด้านลบของมัน ก็คือ “ความกลัว” และ “การไม่กล้าเผชิญ” ดังกล่าว

กิจกรรมอย่างเช่น ไท้ฉีฉวน โยคะ การฝึกลมหายใจที่รับรู้กับกาย (กายาวิปัสนา) หรือแม้แต่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการเสริมสร้างสมองชั้นต้นได้เป็นอย่างดี เพราะได้มีการกระทำลงไม้ลงมือ เป็นการกระทำที่ซ้ำๆ เป็นรูปแบบที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ

ถ้าสมองชั้นต้นสามารถกลับมา “เป็นปกติ” ได้เราจึงจะสามารถสร้าง “แรงบันดาลใจ” ที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้และเมื่อนั้น “บริโภคนิยม” ก็จะไม่สามารถทำอะไรพวกเราได้อีกต่อไป

Back to Top