มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
ก่อนและหลังการเดินจาริก เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองอย่างไรบ้าง
ขอเริ่มต้นที่ทางกายก่อน การเดินทำให้ผมมีร่างกายที่สมบูรณ์ น้ำหนักของผมก่อนออกเดิน หนักถึง 60 – 70 กก. ซึ่งไม่ถือว่าอ้วน แต่พอเดินเสร็จ น้ำหนักตัวลดลงไปถึงสิบกว่ากิโลกรัม ภายใน 60 กว่าวัน และการลดครั้งนี้ก็เป็นการลดที่อุดมสมบูรณ์ ร่างกายของผมก็ฟิตด้วย
วันสุดท้ายที่ผมเดิน จากสวนโมกขพลารามถึงตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ผมเดินได้กว่า 50 กิโลเมตร โดยไม่ต้องหยุดพักอะไรเลย และก็เดินสบายๆ ไม่ได้มีความทุรนทุรายใดๆ
ทีนี้ ในแง่จิตใจกับการรับรู้อะไรต่างๆ เมื่อก่อน มันจะมีกลไกของการใช้ความคิด เช่น สมมติ ผมรู้ว่าความโกรธไม่ดี เวลาที่มีอะไรมากระทบ ผมก็จะคิดแล้ว คิดว่า “อย่าโกรธๆๆ”
กลไกของเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าคล้ายกับการขับรถ คือตอนที่เราฝึกขับรถใหม่ๆ เราต้องคิดว่าจะต้องทำอะไร เช่น ถ้าต้องการหยุดรถ ก็ต้องคิดว่าต้องถอนเท้าออกมาจากคันเร่ง มาเหยียบเบรกแทน ถ้าต้องการเปลี่ยนเกียร์ด้วย ก็ต้องเหยียบที่คลัช
ใหม่ๆ คงทำอะไรไม่ทันกาลบ้าง เกิดอุบัติเหตุเชี่ยวชนบ้าง จนเราอาจรู้สึกเครียด เกร็งกับการขับรถ แต่พอถึงจุดๆ หนึ่งที่เราสามารถขับรถได้อย่างชำนาญ เราก็จะไม่ใช่ความคิดเลย คือเราสามารถทำสิ่งต่างๆ ไปได้โดยอัตโนมัติ อย่างการถอนเท้าออกจากคันเร่ง มาเหยียบเบรก เหยียบครัช เปลี่ยนเกียร์ ไปจนถึงอาจฟังวิทยุไปด้วย คุยกับเพื่อนไปด้วย ถามว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบว่าเกิดขึ้นจากความชำนาญ หรือทักษะในการจัดการกับเครื่องจักรกลข้างนอก
แต่มีความชำนาญอีกชนิดที่ไม่ใช่ความคิด เป็นเรื่องของความรู้สึกในระดับจิตใจของเราเอง ผมอยากจะเรียกว่าเป็นการใช้จิตที่ไม่ต้องใช้ความคิด คือจิตรับรู้โดยไม่ต้องใช้ความคิด
คนสมัยนี้คิดมากจนติดกับดักทางความคิดมากจนเกินจำเป็น
เราควรคิด แต่คิดให้พอดี
ทีนี้ การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณที่ผมต้องการบอก คือในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันมีจิตที่เรียกว่าความสำนึกรู้ที่ยังอาจไม่ชัดเจน เช่น เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชน เราถูกปลูกฝังโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามว่า สิ่งที่เป็น “จาคะ” คือตรงกันข้ามกับความเห็นแก่ตัว หรือ “เมตตา” ที่ตรงข้ามกับความเกลียด ความโกรธ ซึ่งเป็นโทสะ หรือ “วิชชา” คือความรู้แจ้งที่ตรงข้ามกับโมหะหรืออวิชชานั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่เราเองก็มิได้มีความเพียรพยายามที่จะทำสิ่งนั้นอย่างจริงจัง คือเรารู้สึกว่ามันดี ถ้าเรามีได้ก็ดี แต่ถ้าสมมติไม่มี เราก็รู้สึกเฉยๆ
เพราะฉะนั้น ตัวจิตวิญญาณที่เรากำลังพูดถึงนี้ก็คือ เมื่อรู้สึกสำนึกว่าสิ่งนั้นดีแล้ว เราก็จำต้องทำให้ได้ด้วย อย่างตอนที่ผมนอนกับหมาขี้เรื้อนระหว่างทางได้ นั่นก็เพราะความรู้สึกสำนึกที่ผมมีต่อมันในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ รู้ว่าเกิดมาบนโลกใบนี้แล้วต้องมีเงื่อนไข ข้อจำกัด ต้องดิ้นรน ต้องแสวงหา ต้องดำรงอยู่เพื่อมีชีวิตอยู่ สัตว์เหล่านั้นล้วนร่วมชะตากรรมเดียวกับเรา เพราะฉะนั้น เราไม่ควรที่จะไปเบียดเบียนสัตว์ ทว่าเราควรมีความรู้สึกเมตตาอาทรต่อสัตว์เหล่านั้น
นี่อาจดูเหมือนเป็นความคิดที่ผมคิดได้ตั้งนานแล้ว แต่วันหนึ่ง เมื่อต้องนอนในศาลากับหมาขี้เรื้อนที่เคยกลัว เคยเกลียดผมในตอนหัวค่ำ แต่ตอนนี้ (ตอนค่ำมืด) เขามิได้รังเกลียดผมแล้ว เขามานอนกับผม เขามีความสุขที่ได้นอนกับผม เอากายของเขามาแนบกายผม มาขอไออุ่นจากผม ซึ่งในสำนึกลึกๆ ของผมขณะนั้น แทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้คิดอะไรเลย กลับเป็นความรู้สึกว่า โอ้โห! ดีจังเลยที่เรายังไม่ตาย ที่เราได้นอนอย่างมีความสุขทั้งคู่ ได้แชร์กัน ผมมีความสุขที่สามารถให้ไออุ่นแก่มันได้ สามารถเอามือไปลูบหนังของมัน บรรเทาอาการคันของมันได้บ้าง
ไอ้ความรู้สึกแบบนี้แหละ คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณของผม อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นกับผม มันดีงามได้ ถ้าเรามีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ งดงามขึ้น ซึ่งผมพบว่าถ้าเรามีจิตที่งดงามแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ล้วนเป็นสิ่งมีค่าต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะได้หรือเสีย ทุกสิ่งล้วนมีค่าหมด
อาจารย์ในสถานะของ “นักวิจัย” มองการเดินของตัวเองอย่างไรบ้าง
คือตัว “ผู้รู้” กับ “ความรู้” แยกจากกันไม่ได้ แต่ความรู้ในถูกผลิตขึ้นโลกปัจจุบันกลับเป็นความรู้แบบ Know How ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผู้เป็นต้นเค้าของความรู้นั้นเลย ฉะนั้น วันหนึ่ง ความรู้จึงซื้อขายกันได้ และก็ต้องไปจดทะเบียน สิทธิบัตร เพื่อผู้ที่เป็นต้นคิดจะได้ประโยชน์
แต่จริงๆ แล้ว “ความรู้” ที่ผมพยายามพูดอยู่นี้ เป็นความรู้อีกมิติหนึ่ง ไม่ใช่ความรู้แบบ Know How เป็นความรู้ที่ตัวผู้รู้กับความรู้แยกจากกันไม่ได้
เช่น ผมซื้อนาฬิกามาใช้ ผมไม่จำเป็นต้องรู้สำนึกหรือรู้สึกมีบุญคุณอะไรต่อผู้ผลิตนาฬิกา เพราะเมื่อผมมีเงิน ผมก็หาซื้อนาฬิกามาใช้ได้เลย ไม่เกี่ยว ไม่มีความรู้สึก
ทีนี้ ผมจะลองยกตัวอย่างเทียบกับงานศิลปะ ภาพศิลปะเทียมย่อมไม่มีค่าเท่าของจริง การสืบสวนว่าภาพชิ้นนั้นเป็นของจริงหรือเปล่า แสดงว่าเราไม่ได้ตัดผลงานภาพวาดนั้นออกมาจากตัวผู้วาด อย่างที่เคยมีข่าวภาพวาดชิ้นหนึ่งของอาจารย์ทวี นันทขว้าง ที่มีนายธนาคารใหญ่คนหนึ่งเป็นเจ้าของ ถูกวิจารณ์ว่า นี้ไม่น่าจะใช่ภาพของอาจารย์ทวี
ทันทีที่มีข้อสงสัยว่าภาพนี้ไม่น่าจะใช่ของอาจารย์ทวี ราคาตกวูบเลย ซึ่งชี้ให้เห็นเลยว่างานกับผู้สร้างงานยังสัมพันธ์กันอยู่ แต่สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็น มันยิ่งกว่างานศิลปะอีก คือตัวความรู้มันยึดโยงกับตัวผู้รู้
ผมจะขอยกตัวอย่างอันหนึ่ง เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชน และเราคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าความรู้ในพระพุทธศาสนาได้รับการค้นพบหรือตรัสรู้โดยพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า เพราะเหตุฉะนี้ เราถึงเคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญมากไปกว่านี้ ความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ถ้าหากพวกเราอ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็จะพบว่า ภายหลังที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้รำลึกว่าสิ่งที่เป็นสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์รู้แล้วนั้น มันต้องใช้เวลานานมากๆ เพราะนับจากที่พระองค์เป็นนิยกโพธิสัตว์แล้ว ต้องใช้เวลาอีกกว่า 4 อสงไขย แสนกัปป์ (อสงไขย หมายถึงนับคำนวณไม่ได้ แปลว่า นับไม่ได้ 4 หน กว่าๆ)
แต่เราต้องทำความเข้าใจให้ลึกไปกว่านั้นว่า ความรู้ที่พระองค์ได้รับนั้น ต้องเกิดจากการประสบทุกข์ เผชิญกับปัญหาของชีวิต และการเผชิญนี้ก็ไม่ใช่แค่ฐานะที่เป็นมนุษย์เท่านั้นนะ แต่ยังเคยเกิดเป็นสัตว์ด้วย
พระองค์เปรียบเทียบอย่างนี้ครับว่า ถ้าทุกครั้งที่เราร้องไห้ เสียน้ำตาออกมา ให้เอาน้ำตาที่ออกมารวมกันเข้าให้มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทร ผมพูดเพื่อให้เราเข้าใจภาพว่า พระองค์ทรงสำนึกว่าความรู้นี้เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์กับมวลมนุษย์ และกับสรรพสัตว์ ไม่ใช่ความรู้ส่วนตัวของพระองค์ แต่มาจากสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งมวลรวมกันเข้าเป็นความรู้ที่เรียกว่า “สัมมาสัมโพธิญาณ”
เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ว่านี้ จึงไม่ใช่ความรู้ที่ต้องปกปิดเป็นความลับอะไร หากเป็นความรู้ที่ต้องการจะเผยแพร่ ถ่ายทอด
ผมเอง เวลาจะทำอะไรก็ตาม ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบของศาสนาพุทธเท่านั้น ผมเข้าใจว่าในศาสนาคริสต์ เวลาที่เรารู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นภาพพระเยซูถูกตรึงไว้บนไม้กางเขน นั่นก็ทำให้เราเกิดความสำนึกได้ว่า สิ่งที่เป็นเมตตาธรรมที่อยู่ในจิตของพระองค์ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถสัมผัสกับเมตตาธรรม หรือความรักนั้นได้ นั่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก
ผมว่าท่านนบีมูฮัมหมัดก็เช่นกัน หากเราอ่านหรือสวดคัมภีร์อัลกุรอาน บรรทัดแรกๆ ก็คือการสวดสรรเสริญพระเมตตากรุณาของพระผู้เป็นเจ้า ที่มีท่านนบีเป็นศาสดา
อาจารย์อยากเดินอย่างที่ทำมาอีกไหม
อยากเดินครับ แต่ไม่ใช่ความหมายในเชิงทดสอบตัวเองที่ค่อนข้างมีลักษณะจำเพาะในเชิงจิตวิญญาณอย่างเดิมแล้ว แต่จะเดินเพื่อเรียนรู้อะไรมากขึ้น เพราะยังเชื่อว่า วิถีแห่งการเดินเป็นวิถีที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงผมได้ แต่อย่างน้อย ยังทำให้คนที่รู้เรื่องของผม เปลี่ยนความคิดใหม่ว่า มนุษย์เดินได้ ส่วนจะเดินใกล้ เดินไกลนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
ที่สำคัญมากๆ การเดินบอกให้เรารู้ว่า ความหมายที่งดงามของชีวิตไม่ได้อยู่ไกล แต่อยู่ที่ทุกย่างก้าวของเราที่ต้องมีความสุข มีจิตที่เบิกบาน ถ้าเราย่างก้าวอย่างมีความสุข เราก็จะสามารถก้าวรอบโลกอย่างมีความสุขได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอก เพียงแต่ไม่ได้บอกด้วยคำพูด เพราะผมไม่ต้องการบอกด้วยคำพูด แต่จะบอกด้วยการกระทำ ด้วยการเดินต่อไป
ผมจึงคิดว่า หลังจากนี้ไป ถ้าเรื่องของผมมีใครสนใจอยากจะฟัง ผมจะเดินไปหาเขา อย่างน้อยๆ เพื่อจะบอกว่า เขามีความสำคัญ ผมจึงเดินมา ผมอยากจะได้พบ อยากรู้จัก อย่างคนแก่ที่อุบลฯ ท่านหนึ่ง ผมอยากจะไปกราบท่านด้วยความรู้สึกเคารพ และบอกท่านว่า ท่านมีบุญที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างยาวนาน และขอให้ท่านมีความสุขกับการมีชีวิตอยู่
การเดินคือการยืนยันอะไรบางอย่างที่แสดงถึงสมรรถนะของมนุษย์ แม้หนทางยาวไกล หากมีจิตที่ตั้งมั่น เราก็ทำได้
การได้เสียสละเพื่อผู้อื่น หรือมีคุณค่าต่อผู้อื่น แม้ขณะหลับแล้วร่างกายของเราก็ยังอุ่นพอให้แก่หมาตัวหนึ่งได้ ชีวิตของเราเป็นประโยชน์ต่ออีกชีวิตหนึ่งได้ ผมก็ถือว่าเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์เราแล้ว
แสดงความคิดเห็น