กุมภาพันธ์ 2015

อานุภาพของการรู้เฉยๆ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับมารที่มาก่อกวนผู้ประพฤติธรรม ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระอรหันต์ ภิกษุ ภิกษุณี มารมาก่อกวนหลายรูปแบบ บางทีก็ปลอมตัวมาพูดจาชักจูงให้คลายความเพียร เช่น มาพูดกับภิกษุณีที่ทำความเพียรอยู่ว่าท่านยังสาวอยู่ ไปหาความสุขทางโลกก่อนเถอะ แก่แล้วก็ค่อยมาปฏิบัติธรรม เป็นการได้ประโยชน์จากโลกทั้งสอง คือโลกของฆราวาสและโลกของบรรพชิต ตอนสาวก็หาความสุขจากโลกฆราวาสด้วยการเสพกาม พอแก่แล้วค่อยมาหาความสุขจากโลกแห่งบรรพชิต ฟังดูก็มีเหตุผลดี น่าคล้อยตาม บางทีมารก็มาหลอกให้กลัว เช่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหว หรือปลอมตัวเป็นพญาช้างเป็นงูใหญ่ มาขู่ให้กลัวจะได้เลิกปฏิบัติ

แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งบำเพ็ญความเพียร ก็ยังมีมารมารังควาน เช่น ชวนให้พระองค์กลับไปบำเพ็ญทุกรกิริยา มีคราวหนึ่งมากล่าวกับพระองค์ว่า ท่านสั่งสมบุญกุศลมามากแล้ว จะทำความเพียรไปทำไม พระองค์ก็ตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย แต่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แต่ก็มีหลายกรณีที่เมื่อมารมาหลอกพระองค์ พระองค์ก็บอกให้มารรู้ว่าพระองค์รู้ทันแล้ว โดยกล่าวทักแค่ว่า “มารผู้มีบาป” เพียงเท่านี้มารก็ตกใจ อุทานว่า “พระพุทธเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา” เมื่อรู้ว่าหลอกไม่สำเร็จ มารก็ยอมแพ้ หายตัวไป จะเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้ใช้ฤทธิ์เดชอะไรกับมาร เพียงแค่บอกให้รู้ว่าพระองค์รู้ทันมารแล้วเท่านั้น มารก็ยอมแพ้

คราวหนึ่งพระสมิทธิบำเพ็ญเพียรอยู่ มารก็มาหลอกให้กลัวด้วยการทำให้แผ่นดินไหว พระสมิทธิตกใจจนเลิกปฏิบัติ กลับไปยังเชตวัน แล้วทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ฟังก็รู้ว่าเป็นอุบายของมาร จึงแนะนำพระสมิทธิว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็ให้พูดไปเลยว่า “มารผู้มีบาป เรารู้จักท่าน” พระสมิทธิก็เชื่อ กลับไปบำเพ็ญเพียรที่เดิม มารเห็นก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีก คราวนี้พระสมิทธิก็บอกกับมารตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ พอมารรู้ว่าพระสมิทธิรู้ทันแล้วก็เสียใจ อุทานว่า “พระสมิทธิรู้จักเราแล้ว” จากนั้นก็ล่าถอยกลับไป

จะเห็นได้ว่าเพียงแค่การรู้ทันก็มีอานุภาพมากพอที่จะทำให้มารล่าถอยกลับไปได้ ไม่ต้องใช้ฤทธิ์เดช ไม่ต้องต่อสู้หรือโรมรันพันตูกับมาร แค่บอกให้มารรู้ว่าเรารู้ทันเท่านี้ก็พอแล้ว มารในที่นี้ก็หมายถึงกิเลสที่ปรุงความคิดและอารมณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความท้อ ความกลัว คลายความเพียร หรืออาจจะรวมถึงอารมณ์อกุศลต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์ เครื่องมือสำคัญที่จะเอามารับมือกับสิ่งเหล่านี้ก็คือ สติ ได้แก่การรู้เฉยๆ แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้นที่ใจก็พอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ว่ามันจะมาก่อกวนอย่างไรก็ตาม ขนาดพระโมคคัลลานะ มารก็เคยมาก่อกวนทำให้ปั่นป่วนที่ท้อง ทีแรกท่านไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ครั้นหยั่งจิตดูก็รู้ว่าเป็นฝีมือของมาร ท่านก็พูดกับมารอย่างเดียวกันว่า “มาร เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” พอมารรู้ว่าพระโมคคัลลานะรู้ทันก็เสียใจ หนีจากไป ความโกรธ ความโลภ ความหงุดหงิด ความรู้สึกผิดต่างๆ ก็เช่นกัน ทันทีที่เรารู้ว่ามันมา มันก็ล่าถอยไปไม่ต่างจากมาร

เวลามีความคิดและอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น แค่รู้ทันเฉยๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การดูก็ดี การเห็นก็ดี การรู้ทันก็ดี อันนี้เป็นงานของสติ คนส่วนใหญ่เวลาเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมามักจะอยู่เฉยไม่ได้ พยายามกดข่มมัน ยิ่งกดข่ม มันก็ยิ่งต้าน ยิ่งสู้ หรือไม่ก็หลบไประบายออกทางอื่น ผู้ชายคนหนึ่งพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมแปลกๆ คือเวลาเจอศาลพระภูมิทีไร มีความรู้สึกอยากไปทำลาย เขาไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ความโกรธเกลียดศาลพระภูมิเกิดขึ้นโดยไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ให้เขาเล่าประวัติให้ฟัง

ตอนหนึ่งเขาเล่าว่าเขาเป็นคนที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพ่อ ถูกพ่อดุด่าว่ากล่าวเป็นประจำ มีคราวหนึ่งพ่อด่าเขาอย่างรุนแรง ดูเหมือนจะลงไม้ลงมือด้วย เขาโกรธมากอยากจะตอบโต้ด้วยการต่อยพ่อแต่ก็ห้ามใจเอาไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกผิดมาก เพราะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ คนดีไม่ควรเกลียดพ่อหรืออยากทำร้ายพ่อ เขาจึงพยายามกดข่มความโกรธเกลียดพ่อเอาไว้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้กับพ่อ ปรากฏว่าความโกรธเกลียดพ่อไม่ได้หายไปไหน มันถูกกดอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วไประบายออกที่ศาลพระภูมิแทน เพราะศาลพระภูมิเป็นเหมือนตัวแทนของพ่อ คือเป็นที่เคารพและดูมีอำนาจ ในเมื่อโกรธเกลียดพ่อหรือทำร้ายพ่อไม่ได้ ก็ไปออกที่ศาลพระภูมิแทน

กรณีนี้แก้ได้ด้วยการที่เจ้าตัวยอมรับว่ามีความโกรธเกลียดพ่อ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส และไม่ต้องกดข่มความรู้สึกดังกล่าว แค่ยอมรับและดูมันเฉยๆ แค่เห็นมันเฉยๆ เรียกว่าไม่ต้องสนใจมันเลยก็ได้ มันเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็จะพบว่าในที่สุดมันก็จะดับไปเอง ในทางตรงข้ามยิ่งไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งรังควานหรือผลักดันให้เรามีอาการประหลาดวิปริตพิศดาร

สิ่งที่จิตแพทย์แนะนำก็คือให้มีสติ สติเหมือนตาใน ทำให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจแต่ไม่ทำอะไรกับมัน ไม่สนใจ แม้มันจะเป็นความคิดที่วิเศษ มีเสน่ห์ เราก็ไม่สนใจ ไม่เออออกับมัน แค่เห็นมันก็พอ ในทำนองเดียวกัน มันจะเป็นความคิดที่น่ารังเกียจแค่ไหน ก็แค่รู้เฉยๆ หลายคนพอเจริญสติมากๆ จะเจอความคิดและอารมณ์ที่น่าเกลียด เช่น ความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ความพยาบาท พอมันเกิดขึ้นในใจก็รู้สึกผิด รู้สึกแย่ว่าทำไมฉันมีความคิดแบบนั้น ยอมรับมันไม่ได้ ก็พยายามกดข่มอารมณ์เหล่านั้นไว้ ที่จริงมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่อารมณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา เพราะเรายังเป็นปุถุชนอยู่ มองอีกแง่หนึ่งมันเป็นอุบายของกิเลสที่อยากจะล่อหลอกให้เราเข้าไปพันตูกับมัน ขืนเราทำเช่นนั้นเราก็หลงกลมัน เจอแบบนี้เราก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจมันก็พอแล้ว

มีหลายคนมาปรึกษาอาตมาว่ากลุ้มใจมากเพราะมักจะมีคำพูดจ้วงจาบพระรัตนตรัยดังขึ้นในใจ บางทีก็จ้วงจาบพ่อแม่ ด่าท่านอย่างรุนแรงในใจ บางคนสวดมนต์ไปได้สักพักก็มีเสียงตำหนิด่าทอ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ว่าทำไมถึงมีความคิดที่ชั่วร้ายแบบนี้ พยายามกดข่มเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อาตมาจึงแนะนำไปว่าไม่ต้องทำอะไรกับความคิดหรือเสียงเหล่านั้น แค่รู้ว่ามันมีอยู่ก็พอ ไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปคิดกดข่ม อย่าไปทำอะไรกับมัน หากกดข่มมันมันก็ยิ่งได้ใจ รังควานหนักขึ้น

คนที่มีปัญหาแบบนี้มักคิดว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่คิดแบบนี้ จึงรู้สึกว่าตัวเองชั่วร้ายเหลือเกิน แต่ที่จริงมีคนคิดแบบนี้เยอะมาก เพียงแต่เขาไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เพราะรู้สึกอับอาย พออาตมาเอาคำถามแบบนี้ขึ้นเฟ๊ซบุ๊ค หลายคนก็เขียนมาเล่าว่า ฉันก็เป็น หนูก็เป็น ผมก็เป็น มีเยอะทีเดียว แสดงว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษพิสดารของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ติดดี ยิ่งอยากเป็นคนดี อยากทำตัวให้เรียบร้อย ความคิดแบบนี้ก็ยิ่งโผล่ออกมา จะว่ามันเป็นมารที่จะมาชวนให้หลงทางก็ได้ เป็นอุบายของมารที่ไม่อยากให้เราเจริญก้าวหน้าในทางธรรม หรืออาจจะเป็นเพราะความติดดีทำให้มีความรู้สึกลบต่อความคิดที่ไม่ดี พอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจก็พยายามกดข่มมัน ยอมรับไม่ได้ว่าฉันมีความคิดแบบนี้อยู่ ทั้งที่มันเป็นธรรมดา พอกดข่ม มันก็มีแรงต้าน อย่าลืมว่าแรงกดเท่ากับแรงสะท้อน

สิ่งที่ต้องทำในกรณีอย่างนี้ก็คือไม่ทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรกับความคิดเหล่านั้น ปล่อยมันไป ไม่โมโหโกรธามัน ไม่เกลียดมัน และไม่รู้สึกผิดกับตัวเองด้วย แค่รู้เฉยๆ มันก็จะค่อยๆ เลือนหายไป นี่เป็นพลานุภาพของการรู้เฉยๆ รู้โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไร มันสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ หรือความคิดที่เป็นอกุศลได้

นี้เป็นการกระทำโดยไม่กระทำที่เรามักจะมองข้ามไป

ขี้อายอย่างมีพลัง



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558

มีครั้งหนึ่งผมต้องไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่งจำนวนกว่า ๑๕๐ คน พูดตามตรงด้วยประสบการณ์หลายปีก่อน งานอบรมขนาดกว่าร้อยคนนี้ ถือว่าเป็นงานที่ผมไม่ถนัดเอาซะเลย เพราะปกติมักจะจัดแต่กลุ่มเล็กๆ ประมาณ ๓๐ คน รวมถึงมีความท้าทายด้วยว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมที่มากทั้งอายุและประสบการณ์ ทำให้ผมรู้สึกกังวลและประหม่าอยู่ไม่น้อย

ผมรู้สึกกับตัวเองบ่อยครั้งว่า ถึงจะทำอาชีพวิทยากรหรือกระบวนกร (Facilitator) จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนนับพันมานานหลายปี แต่ผมกลับรู้สึกลึกๆ ว่า ตัวเองยังมีความขี้อายอยู่ไม่น้อย เมื่อต้องยืนหน้าเวทีต่อหน้าผู้คนจำนวนมากๆ หลายครั้ง ผมตั้งคำถามและสงสัยว่าผมจะต้องทำอย่างไรกับด้านนี้ของตัวเอง

ส่วนใหญ่การพูดต่อหน้าชุมชน พูดบนเวที หรือแม้กระทั่งการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เรามักจะถูกสอนว่าต้องทำตัวให้มั่นใจ อย่าแสดงความตื่นเต้นหรือประหม่าออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ เรียกได้ว่า เราถูกสอนตั้งแต่เด็กให้ปฏิเสธความขี้อายของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจพูดได้ว่า ความขี้อายนั้นเป็นสัญชาตญาณและธรรมชาติที่งดงามอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อเราต้องเข้าไปในโลกที่ไม่คุ้นชิน และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก บางครั้งเราก็อาจมีบางด้านที่ไม่ต่างจากสัตว์ป่า เพียงเมื่อพบเจอผู้คน เขาก็อาจวิ่งหนีหายลับไป

อ่านต่อ »

สังคมที่ “แคร์” สังคมที่ “แฟร์”



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558

สังคมกระแสหลักมักให้คุณค่าต่อเหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก ในการสนทนาอย่างเป็นทางการอารมณ์ความรู้สึกจะถูกผลักออกไปจากพื้นที่บนโต๊ะประชุม

การให้คุณค่าต่อเหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึกนี้ปรากฏตัวอย่างชัดแจ้งในภาพยนตร์ร่วมสมัยอย่างเรื่อง ลูซี (Lucy) ซึ่งพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์สามารถดึงศักยภาพทางสมองของตนเองมาใช้อย่างเต็มที่ มนุษย์จะกลายเป็นมนุษย์สมบูรณ์ซึ่งเหตุผลและปราศจากอารมณ์ความรู้สึกในที่สุด นี้แสดงให้เห็นว่า กระทั่งศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ก็คือความมีตรรกะเหตุผล และ - อารมณ์ความรู้สึกเป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ดี เมื่ออันโตนิโอ ดามาสิโอ นักประสาทวิทยา ได้ศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก นั่นคือ ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ก็พบว่า แม้ผู้คนเหล่านี้จะมีความสามารถในการคิดคำนวณเชิงตรรกะเหตุผลได้ดี แต่มีการตัดสินใจที่แย่มาก-มาก ทั้งในชีวิตครอบครัวและการงาน ความแปลกแยกกับผู้คนในครอบครัวและที่ทำงานนี้ทำให้ชีวิตล่มสลาย

อ่านต่อ »

Back to Top