กรกฎาคม 2011

บันไดจิตวิวัฒน์ ๕ ขั้น



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2554

สมัยหนึ่ง ผมสนใจคุณ อับราฮัม มาสโลว์ มาก เพราะเขาเป็นผู้ที่พยายามอธิบายให้ผมเข้าใจในภาษาง่ายๆ ว่าทำไมมนุษย์เราจึงลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างที่พวกเราทำกันอยู่ทุกวันนี้ คุณลุงมาสโลว์บอกให้ผมเข้าใจว่าคนเรานั้นมีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตเป็นลำดับขั้น โดยมีทั้งหมดอยู่ ๕ ขั้นด้วยกัน เริ่มจากขั้นแรกคือความต้องการพื้นฐานเช่นเรื่องปากท้อง สวัสดิภาพ การยอมรับและความรักจากคนใกล้ชิด ชื่อเสียงเกียรติยศ และสุดท้ายคือความต้องการไปสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้ซึ่งเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

คุณมาสโลว์บอกว่าคนเราจะมีความต้องการสูงขึ้นไปเป็นลำดับ ก็คือเมื่อ "พอเพียง" กับลำดับขั้นนั้นแล้วก็จะขยับขึ้นไปยังลำดับขั้นต่อไป แต่คุณมาสโลว์ไม่ได้บอกผมว่าเพราะเหตุใดคนจึงไม่พอใจกับสิ่งที่ได้รับแล้ว และทำไมคนเราจึงไม่ขยับขึ้นไปสู่ระดับสุดท้ายซึ่งไปพ้นจากความต้องการทางโลก และกลับมาเรียนรู้เรื่องจิตใจของตน

ถ้าคุณมาสโลว์ยังอยู่ผมจะต้องถามเขาว่า "รวยแล้วยังโกง" "เป็นพระแล้วยังมั่วสีกา" "เป็นวัดแต่ใช้การตลาดนำ" "ผู้หญิงที่มีฐานะและการศึกษาพร้อมแต่สมัครใจจะอยู่เป็นโสด" นั้นมันจัดอยู่ตรงไหนในลำดับขั้นของทฤษฎีเรื่องแรงจูงใจของเขา

ตัวอย่างนั้นอาจจะไกลตัวไป ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเธอเป็นคนธัมมะธัมโม ชอบพิมพ์หนังสือธรรมะแจกจ่ายให้คนอื่นอยู่เสมอ แต่เมื่อผมทักเธอเรื่องครูบาอาจารย์และหลักธรรมที่เธอควรจะตอบได้ แต่เธอกลับไม่ยักตอบแถมยังเคืองหาว่าผมลบหลู่เธอ

อีกตัวอย่าง ในเฟสบุ๊กมีพระรูปหนึ่งแสดงความเห็นว่าคำถามของผมเกี่ยวกับข้อธรรมไม่สุภาพ และกล่าวเป็นเชิงว่าบุคคลซึ่งจบมาจากสถาบันอันทรงเกียรติ ไม่น่าจะกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น เช่นเดียวกันสำหรับผมท่าน "ควรจะ" มุ่งไปถึงความหลุดพ้น แต่กลับมาติดอยู่ที่มารยาททางสังคม ซึ่งเป็นเพียงลำดับที่สาม ที่สี่ของลำดับความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของมาสโลว์เท่านั้น

ผมไม่ใคร่จะพอใจกับมาสโลว์เสียแล้ว จึงขอนำเอานั่นนี่มาตัดแปะกลายเป็นทฤษฏีกระจอกงอกง่อยของผมเอง ซึ่งอาจหาญนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของคนทั้งโลก ขอเรียกมันว่าบันได ๕ ขั้นของการวิวัฒน์จิตก็แล้วกันเพื่อให้เข้ากับชื่อคอลัมน์ ลองดูกันหน่อย ผมแบ่งลำดับขั้นเป็น ๕ ขั้นเหมือนมาสโลว์ แต่เปล่าหรอก แต่ละขั้นไม่ได้แบ่งกันอย่างเด็ดขาดเหมือนกับขั้นบันได หากค่อยเป็นค่อยไป สั่งสมไปทีละน้อย เหมือนกับการขึ้นลิฟต์ หากมนุษย์เรายังไม่วิวัฒน์ไปจนถึงขั้นสุดท้าย ระดับการตื่นรู้ก็ยังไม่สมบูรณ์ และถึงแม้จะไต่ระดับขึ้นไปที่สูงขึ้นแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะไหลลงมาสู่ระดับล่างๆ กว่าได้ตลอดเวลา เพียงแต่ความถี่บ่อยจะลดลงไป และการแสดงออกในลักษณะของขั้นที่ต่ำกว่าระดับจิตตนเองจะรุนแรงน้อยลง ในทางกลับกันก็คือเราสามารถจะแสดงคุณสมบัติของระดับจิตที่สูงกว่าได้บ้าง แต่ในลักษณะหยาบและชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

บันได้ ๕ ขั้นของจิตวิวัฒน์ ที่ผมจะนำเสนอมีดังนี้

๑. I-in-Me ระดับ จิตบำเรอตน การดำรงอยู่เป็นไปเพื่อการอยู่รอดของตัวเอง ถูกปัจจัยทั้งภายนอกและภายในลากไปให้วิ่งตามอารมณ์ที่น่าพอใจ และขจัดเสียซึ่งอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ระดับนี้มีแนวโน้มจะเชื่อโดยไม่หาเหตุผล พร้อมจะเชื่อถือโชคชะตา หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ตามที่สามารถดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดเสียซึ่งการได้พบพานสิ่งที่ไม่ปรารถนา

๒. I-in-Crowd ระดับ จิตจริยธรรม ดำรงอยู่โดยการฟังเสียงสังคม ทำในสิ่งที่ควร และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ควร โดยดูจากบรรทัดฐานของสังคมมาชี้นำ จิตยังไม่ตื่นรู้ หมายความว่าถูกลากจูงไปโดยง่าย เชื่อในสิ่งที่กลุ่มเพื่อนของตนเชื่อ หรือคนในฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับเดียวกับตนเชื่อ

๓. I-in-World จิตสากล ไปพ้นจากการชี้นำของพรรคพวกและเผ่าพันธุ์ของตน จิตแผ่ออกไปเห็นความเป็นองค์รวมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เชื่อในการพึ่งพาของธรรมชาติแต่อาจจะไม่เชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ

๔. I-in-Universe ระดับ จิตจักรวาล ขยายแผ่ออกไปอีกระดับหนึ่ง เห็นว่าชีวิตไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง แต่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลสรรพชีวิตในอนันตจักรวาล เชื่อในเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า เชื่อในหลักความดีที่เป็นสากล เชื่อในอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์

๕. I-in-Transience ไม่รู้จะสรรหาคำมาอ้างถึงได้อย่างไร จะเรียกว่าเป็นระดับ จิตสักแต่ว่าจิต ก็แล้วกัน ระดับจิตนี้ได้ศึกษาค้นคว้าทั้งได้รับการบอกกล่าวจากครูบาอาจารย์มา แล้วนำมาปฏิบัติเอง จนเห็นว่าจิตว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่มีตัวตนอะไร เป็นสภาวะธรรมหนึ่ง ที่เปลี่ยนรูปแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย

จิตระดับที่หนึ่งตกอยู่ในความ หลับใหล พวกเขาวนเวียนอยู่กับการแสวงหาความสุขทางโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของตัว แต่เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของจิตใจ และไม่เคยฝึกจิตของตนให้มีกำลังจึงมักขุ่นข้องหมองใจอยู่เสมอ จิตระดับที่สองก็ไม่ต่างกับระดับหนึ่งมากนัก เพราะตกอยู่ในความ หลับใหลเช่นเดียวกัน จิตระดับนี้มักจะบอกว่าเขาไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น แต่ลึกๆ พวกเขาก็อยากให้คนรอบข้างหรือสังคมเป็นไปดั่งใจของเขา และขุ่นเคืองหากมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความสุขของเขาจึงฝากไว้กับปัจจัยภายนอกหรือคนรอบตัว ซึ่งแน่นอนว่าธรรมชาติของมนุษย์คือเอาแต่ใจตัว พวกเขาจึงมักจะพบกับความผิดหวังอยู่เสมอ

จิตระดับที่สามถึงแม้ไปพ้นจากเสียงสังคมที่มีอยู่ แต่ก็ไปติดอยู่กับเสียงของความดีที่เป็นสากลอยู่ดี พวกเขาจึงกลายเป็นพวกมาตรฐานสูง การดำรงอยู่จึงเต็มไปด้วยคำตัดสินและการวิพากษ์วิจารณ์ การเปรียบเทียบและความไม่ยอมลงเอยกับตัวเอง แต่ถ้าพัฒนาแล้วก็จะกลายเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

จิตระดับที่สี่นั้นมีเมตตาธรรม หรือความรักที่ปราศจากเงื่อนไขให้กับผู้คน พวกเขาให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีศรัทธาแรงกล้าในความเชื่อทางศาสนา หรือหลักที่ใช้ดำเนินชีวิต ผมเข้าใจว่าศาสนาทุกศาสนาที่มีพระเจ้าดำเนินมาถึงจุดนี้ รูปเคารพบางอย่างเช่นพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ชาวพุทธบางนิกายนับถือเช่น ฉือจี้ ของประเทศไต้หวัน ก็เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่มีประมาณนี้ จีซัสไครซ์ แห่งนาซาเรส ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้มนุษย์โลกจำนวนมากรู้จักความรักที่ประเสริฐบริสุทธ์ยิ่ง การเข้าถึงระดับจิตนี้ได้ต้องอาศัยศรัทธาในระดับที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ เพราะจิตใจมนุษย์เปรียบเหมือนกระแสน้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ การ "ให้" ในระดับนี้สั่นสะเทือนจิตใจมนุษย์ ดูอย่าง แม่ชีเทเรซา มหาตมาคานธี ในหลวงของเรา เป็นต้น จิตระดับนี้คือ "จิตใหญ่" ที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี มักจะกล่าวถึงอยู่เสมอ

ระดับจิตสุดท้ายก้าวถึงจุดที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการทำงานของจิต และเข้าใจถึงความเป็นไปของสรรพสิ่ง จิตระดับนี้ถูกพูดถึงโดยปรัชญาเมธีในอดีตเช่นเต๋า หรือคำสอนในบางศาสนา แต่เป็นเพราะปัญญาของผมยังไม่อาจทำความเข้าใจหรือเข้าถึงจิตระดับนี้ จึงขอสงวนความเห็นเอาไว้เพราะเกรงจะผิด

ปัญหาของโลกเรานั้นจะหมดไปถ้าหากคนเข้าถึงระดับจิตลำดับที่สี่เป็นต้นไป เหตุเพราะจิตระดับนี้ไม่มีการเบียดเบียนกัน แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในระดับจิตที่หนึ่งถึงสาม ซึ่งยังเบียดเบียนกันเพราะความ หลับใหล คนบางคนเข้าใจว่าตนเองอยู่ระดับที่สี่ ที่ห้าแต่แท้จริงแล้วยังไม่ได้ข้ามมา จึงวนเวียนอยู่ในระดับที่หนึ่ง สอง สาม แถมยังเก่งในการหลอกตัวเอง บุคคลจำพวกนี้น่ากลัว และถ้าหากเกิดไปหลอกผู้อื่นด้วย ก็ยิ่งมีอันตรายมาก

ผมจะลองใช้ลำดับขั้นของจิตวิวัฒน์มาอธิบายปรากฏการณ์ในโลกนี้สักสองสามตัวอย่าง เช่นช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดสึนามิ เราคนไทยแสดงออกถึงความชื่นชมคนญี่ปุ่นที่เขาไม่แตกตื่น แต่เข้าแถวรับความช่วยเหลืออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้วอดหดหู่ใจไม่ได้ แต่ก็ให้รู้ไว้เถิดว่าแท้จริงแล้วระดับจิตของเขาอาจจะอยู่ในระดับขั้นที่สอง คือถูกกำหนดโดยจริยธรรมอันดีของสังคมของเขาซึ่งให้คุณค่ากับระเบียบวินัยมากกว่าเราอักโขนัก ความดีแบบจริยธรรมจึงไม่อาจเทียบข้ามบริบท อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าจิตระดับนี้ยัง หลับใหลอยู่เมื่อถูกกระตุ้นเร้าก็ย่อมตกลงไปในระดับที่หนึ่งคือตอบสนองความต้องการของตนเองอย่างสุดโต่งได้เหมือนกัน ดังเราจะเห็นว่าสื่อในเรื่องเพศของญี่ปุ่นก็มีความรุนแรงทางเพศอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจเมื่อดูจากวัฒนธรรมอันแสนจะสุภาพของคนญี่ปุ่น

อย่างกรณีรวยแล้วยังโกงของอดีตผู้นำหลายประเทศ อธิบายได้ง่ายมากเพราะระดับจิตของเขายังไม่ข้ามไปสู่ระดับที่ ๔-๕ อาจจะติดอยู่ในระดับที่สามซึ่งยังไม่ได้พัฒนา พร้อมที่จะกลับไปสู่หนึ่งและสองได้ตลอดเวลา ดังนั้นถึงแม้ว่าจะถ้อยคำของพวกเขาดูเหมือนว่าแสดงให้เห็นถึงสภาวะจิตในระดับสากล แต่แท้จริงอาจเป็นการแอบแฝงของจิตระดับสอง คือเพื่อพวกพ้อง หรือระดับหนึ่งคือเพื่อตัวเองเท่านั้น

ส่วนจิตดูเหมือนว่าขึ้นระดับสูงแล้ว แต่ก็ยังมีที่กลับไหลกลับคืนลงสู่ระดับที่ต่ำกว่า เหตุเพราะเชื้อของจิตในระดับต่ำลงมายังไม่ถูกถอดถอน ตัวอย่างเช่น พระภิกษุสงฆ์ซึ่งตามปกติมีเมตตากรุณาน่าเคารพนับถือ ถูกดึงกลับสู่ที่ต่ำด้วยอำนาจของตัณหาและราคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ หรือเรื่องผู้หญิงก็มีให้เห็นได้ออกบ่อย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าท่านจะแอบแฝงเหมือนตัวอย่างที่แล้ว เพียงแต่ท่านเกิด "พลาดพลั้ง" ถูกลากกลับไปสู่ระดับจิตที่ต่ำกว่าแล้วเกิดสภาวะติดหล่มอยู่ตรงนั้น

ในทางกลับกันคนที่อยู่ในระดับจิตที่ต่ำกว่าอาจจะสามารถสัมผัสกับประสบการณ์

ของสภาวะของจิตในระดับที่สูงกว่าได้บางโอกาส เช่นเราสามารถรู้สึกปลื้มปีติเมื่อได้เข้าพบครูบาอาจารย์ หรือบุคคลผู้ซึ่งเราเคารพนับถือในฐานะผู้ให้อย่างแท้จริง ส่วนสาธุชนบางหมู่เหล่าเมื่อสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าของเขาก็ได้เข้าถึงประสบการณ์พิเศษบางอย่าง ซึ่งทำให้ตอกย้ำความเชื่อศรัทธาในศาสนาหรือเครื่องยึดเหนี่ยวของตนให้ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นไป ประสบการณ์นี้ผู้ที่อยู่ในระดับจิตที่หนึ่งถึงสามซึ่งปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งเหนือ "ธรรมชาติ" จะไม่อาจทำความเข้าใจได้ เราจึงพบว่าเพื่อนหลายคนของผมซึ่งจบปริญญาเอกมาจากต่างประเทศ เป็นผู้ที่คิดดี พูดดี ทำดี เสียสละเพื่อสังคมซึ่งน่าจะอยู่มีระดับจิตอยู่ในลำดับที่สามคือจิตสากลแล้ว แต่กลับมีสุขภาพจิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีความขัดแย้งต่อตนเอง ต่อกลุ่มเพื่อนและสังคมตลอดเวลา การที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ละทิ้งมิติทางวิชาการดาดๆ แล้วหันเหสู่การแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณด้วยตนเอง อาจจะบอกอะไรพวกท่านเหล่านั้นได้บางอย่างกระมัง

ในโลกนี้ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึงเอาไว้ด้วย คือบุคคลพิเศษจำพวกข้ามพ้นแต่ยังปะปนอยู่ในหมู่พวกเรา เนื่องจากว่าเขาได้ผ่านการล่อลวงและการทดสอบในระดับที่ต่ำกว่ามาแล้วอย่างช่ำชอง จึงเป็นบุคคลประเภทที่ "ต้องกระแส" ของการข้ามพ้นไปยังอีกฟากฝั่ง เรื่องที่ยากสำหรับเราก็คือเขาเหล่านี้อาจจะพูดและทำอะไรที่ดูเหมือนจะ "แหก" บรรทัดฐานที่ยอมรับได้ในแต่ละระดับจิต เราจึงไม่อาจจะตัดสินคำพูดหรือการกระทำของพวกเขาด้วยบรรทัดฐานของเรา เพราะพวกเขาอาจจะเป็นคนบ้า หรือหลุดโลกในสายตาของเรา ตัวอย่างในอดีตก็คือพระเซนบางรูป หรืออาจจะมีกูรูทางจิตวิญญาณบางคนที่ดูเหมือนจะหลุดโลกอย่างสุดๆ แต่ก็มีผู้ติดตามมากมาย

ที่แย่ก็คือเราไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นคือคนบ้า หรือผู้ที่หลุดพ้นแล้ว จนกว่าจิตของเราจะเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับของท่านเหล่านั้น ได้สนทนาวิสาสะด้วยยิ่งดี ในทางกลับกันไม่ใช่คนที่ออกอาการเพี้ยนๆ หรือหลุดโลกจะเป็นผู้ที่หลุดพ้นหมดทุกคน และก็ไม่จำเป็นว่าผู้ที่อยู่ในระดับจิตสูงๆ จะต้องมีอาการหลุดโลก

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกของแท้ออกจากของเทียม ถ้าท่านยังรู้ไม่ว่าอะไรแท้ อะไรเทียม

นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว กับ ชีวิตสามมิติ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2554

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งเพิ่งสิ้นลมเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งแห่งวงการสาธารณสุขไทย ใช่แต่เท่านั้นคุณูปการของท่านยังขยายไปยังแวดวงอื่นๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นเอนกประการ ท่านเป็นแบบอย่างของ "บัณฑิต" ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เพราะท่านได้ใช้ปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่ประโยชน์ตนเท่านั้น หากยังรวมถึงประโยชน์สุขต่อเพื่อนมนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มต้นจากจุดที่ท่านได้รับการฝึกฝนและมีความถนัดมากที่สุดก็คือในทางการแพทย์ และขยายสู่งานด้านอื่นในระยะหลัง

ความที่ท่านได้ร่ำเรียนมาสูงทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ ชนิดที่น้อยคนจะมีโอกาสอย่างท่าน หากว่าท่านเลือกที่จะดำเนินชีวิตและประกอบวิชาชีพแพทย์ในกรุงเทพมหานคร ท่านย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในทางโภคทรัพย์และเกียรติยศอย่างแน่นอน แต่ท่านเลือกที่จะไปทำงานต่างจังหวัดทันทีที่เรียนจบ เริ่มจากจังหวัดสมุทรสาคร ต่อด้วยจังหวัดนครสวรรค์และในที่สุดก็ไปไกลถึงจังหวัดเชียงราย (ซึ่งเมื่อเจ็ดสิบปีก่อนนั้นถือว่าเป็นดินแดนทุรกันดารอย่างยิ่ง) ด้วยวัยเพียง ๒๖ ปีเท่านั้น

ที่นั่นท่านต้องบุกเบิกและวางรากฐานระบบสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงพยาบาล (ซึ่งอาศัยเงินบริจาคจากประชาชนล้วนๆ ) จากนั้นก็ต้องต่อสู้กับโรคนานาชนิดที่ประชาชนเป็นครึ่งค่อนจังหวัด (เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และโรคคอพอก) ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ไหนวัสดุอุปกรณ์จะขาดแคลน บุคลากรก็มีน้อย มิไยต้องเอ่ยถึงความยากจนที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง แต่ท่านได้ใช้ทั้งปัญญาและความพากเพียรอย่างเต็มที่จนสามารถเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ได้ เช่น คิดค้นวิธีการเยียวยารักษาโรคพื้นๆ ที่ชาวบ้านเป็นกันมากมาย รวมทั้งบุกเบิกงานด้านศัลยกรรม ทันตกรรม ให้ตั้งมั่นในชนบท ควบคู่ไปกับการสร้างบุคคลากรเพื่อรองรับงานดังกล่าว

ด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนมาและด้วยการเปิดใจใฝ่ศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่ง ท่านจึงขยายขอบเขตการทำงานออกไปเป็นลำดับ จากงานด้านรักษาโรคมาเป็นงานด้านป้องกันโรค จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ ตามมาด้วยการจัดตั้งสถาบันต่างๆ เพื่อช่วยให้กิจการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยดี แต่แทนที่จะหยุดเพียงเท่านั้น ท่านยังขยายขอบข่ายของงานออกไปจนพ้นแวดวงสาธารณสุข สู่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อาทิ การสนับสนุนงานด้านสาธารณประโยชน์และการส่งเสริมภาคประชาสังคม จากเดิมที่ทำงานกับหน่วยงานรัฐ ในบั้นปลายท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ทั้งนี้ด้วยตระหนักว่า ในการสร้างความผาสุกให้กับประเทศชาติ การทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเดียวย่อมไม่พอ จำต้องมีการพัฒนาด้านอื่นเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดสุขภาวะอย่างครบถ้วน ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคม โดยที่ในช่วงหนึ่งท่านยังได้มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

คุณหมอเสม เป็นผู้ที่มีชีวิตที่ยืนยาว สิริรวมอายุ ๑๐๐ ปี ๑ เดือน อันการมีอายุยืนยาวนั้น จัดว่าเป็นหนึ่งในพรสี่ประการที่ใครๆ ย่อมปรารถนา แต่การมีอายุยืนยาวนั้นไม่สำคัญเท่ากับการบำเพ็ญคุณงามความดี แม้อายุสั้นแต่ทำคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ จัดว่าประเสริฐกว่าคนที่มีชีวิตยืนยาวนับร้อยปีแต่ไม่ได้ทำความดีเลย ในแง่นี้คุณหมอเสมเป็นผู้ที่เข้าถึงประโยชน์ทั้งสองประการคือ นอกจากมีอายุยืนแล้วยังได้ทำคุณงามความดีเป็นเอนกประการ จะว่าไปแล้วการที่ท่านสามารถบำเพ็ญคุณงามความดีได้อย่างยั่งยืนเป็นเพราะท่านยังมีองค์คุณอีกประการหนึ่ง ได้แก่การมีฐานภายในที่หยั่งลึก ทำให้ท่านมีจิตใจมั่นคงในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคนานัปการ รวมทั้งไม่คลอนแคลนต่อสิ่งยั่วยวน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ อำนาจ ทั้งๆ ที่ท่านมีโอกาสที่จะครอบครองสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายมาก แต่ภูมิปัญญาที่มีพื้นฐานจากพุทธศาสนา ทำให้ท่านตระหนักถึงโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ว่า หากหลงใหลใฝ่ครอบครองสิ่งเหล่านั้นแล้วในที่สุดมันต่างหากที่จะมาครอบครองชีวิตจิตใจของท่าน ทำให้เป็นทาสยิ่งกว่าจะเป็นไท ฐานใจที่หยั่งลึกนี้เองที่ทำให้ท่านสามารถดำรงอุดมคติไว้ได้ และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อเพื่อนมนุษย์

คุณหมอเสมจึงเป็นแบบอย่างของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งถึงพร้อมด้วยองค์คุณสามประการ เปรียบเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ที่มีทั้งความยาว ความกว้าง และความลึก นับเป็นทิฏฐานุคติอย่างดีสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่มักใฝ่ฝันถึงการมีชีวิตอันยืนยาวสถานเดียว ราวกับว่าชีวิตนี้เป็นพียงแค่เส้นตรงที่วัดกันที่ความยาวเท่านั้น แท้จริงแล้วความยาวของชีวิตไม่สำคัญเท่ากับความกว้างและความลึก ความกว้างนั้นหมายถึงความมีน้ำใจโอบอ้อมอารี จิตใจกว้างขวาง ไม่คับแคบ เพราะนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ พร้อมที่จะใช้สติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ดังนั้นจึงมีคุณูปการกว้างไกล ขณะเดียวกันแม้คนที่อยู่ใกล้ก็สัมผัสได้ถึงเมตตากรุณา ดังที่หลายคนย่อมรู้สึกได้เมื่อได้อยู่ใกล้หรือทำงานร่วมกับคุณหมอเสม

นอกจากความกว้างแล้ว ชีวิตควรมีมิติด้านลึกด้วย คือความลุ่มลึกทางจิตใจจนสามารถพบความสุขความสงบเย็นจากภายในและไม่เป็นทาสของสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นโภคทรัพย์ ชื่อเสียงอำนาจ ความสงบเย็นจากภายในทำให้เรามีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่าย และดังนั้นจึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้โดยมีข้อจำกัดน้อยมาก ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่มีความสุขภายใน จิตใจย่อมโหยหาความสุขจากภายนอก เช่น จากทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ และอำนาจ ปรารถนาการสรรเสริญยอมรับจากผู้คนรอบข้าง เมื่อจิตใจคิดถึงแต่การแสวงหาประโยชน์เหล่านั้นใส่ตัว ก็ยากที่จะทำการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้อย่างเต็มที่หรือด้วยใจบริสุทธิ์ หาไม่ก็ทำด้วยความทุกข์เพราะขาดความสุขภายในเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ชีวิตจึงแห้งผากและในที่สุดก็อดไม่ได้ที่จะทิ้งภารกิจดังกล่าวกลางคันเพื่อหวนหาลาภ ยศ อำนาจมาปรนเปรอตน

คนที่ทำความดีจำนวนไม่น้อยเมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีความหวั่นไหวท้อใจว่า ทำไมฉันทำดีแล้วถึงลำบากยากจน ไม่มั่งคั่งร่ำรวยเหมือนคนอื่น ทำไมถึงไม่มีคนยกย่องสรรเสริญ หรือเห็นความดีของฉัน นั่นเป็นเพราะว่าเขาขาดฐานใจที่หยั่งลึกถึงความสุขภายใน ในทางตรงข้ามคนที่เข้าถึงความสุขจากภายใน จะไม่กังวล วิตก อนาทร หรือหวั่นไหวกับโลกธรรมอันได้แก่ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เพราะว่ามีความสงบเย็นทางใจเป็นรางวัล มีปีติบำรุงใจเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข รวมทั้งมีความสุขจากสมาธิภาวนาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ยิ่งมีปัญญาแลเห็นว่า โลกธรรมเหล่านั้นยังหาใช่ความสุขที่แท้ แปรปรวนเป็นนิจ นอกจากไม่อาจพึ่งพาได้แล้ว ยังสามารถครอบงำใจให้เป็นทาสได้ ดังนั้นจึงพอใจที่จะอยู่อย่างเรียบง่าย และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า รวมถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ตามกำลังที่มี

ถ้าหากว่าคนเรามีทั้งสามมิติ คือมีชีวิตที่ยืนยาว มีน้ำใจกว้างขวางและมีฐานใจที่หยั่งลึก เราย่อมสามารถบำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ทำให้ได้พบกับชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์พร้อม อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้นิยามสั้นๆ ว่า “ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์”

ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์นั้นไม่ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานก็ได้ แม้อายุจะไม่ยืนยาว แต่เราก็สามารถทำชีวิตนี้ให้เป็นชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ได้ทุกเวลานาที แต่หากมีชีวิตยืนยาวก็ยิ่งช่วยให้มีโอกาสทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากมาย ขณะเดียวประสบการณ์ที่ได้สั่งสมก็ช่วยบ่มเพาะจิตใจให้เกิดปัญญาและเสริมฐานใจให้หยั่งลึกจนสามารถพบกับความสงบเย็นและเป็นอิสระอย่างแท้จริง นับเป็นประโยชน์ตนที่เราทุกคนควรได้รับจากการเกิดมาเป็นมนุษย์

คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ได้จากไปอย่างสงบเหมือนใบไม้ที่ปลิดจากขั้ว แต่อุดมคติของท่านยังดังกังวานในหัวใจของ​ผู้คนจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับคุณูปการของท่านยัง​ส่งผลสะเทือนอยู่จนทุกวันนี้ ขณะเดียวกันชีวิตและงานของท่าน หากศึกษาอย่างใคร่ครวญ ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เราในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและความสุข ก่อทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้อย่างยั่งยืน

ความจริงทางโลก-แยกส่วน
ความจริงทางธรรม-เชื่อมโยง



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554

ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะเราเองที่ชอบแต่สิ่งที่หนัก สิ่งที่หยาบใหญ่ และสิ่งที่มองเห็น เราถึงต้องการให้อะไรที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมักจะเป็นเช่นนั้น เราจึงได้สร้างคฤหาสน์ใหญ่ๆ เรือเดินสมุทรใหญ่ๆ รถใหญ่ๆ เร็วๆ และเราก็ชอบกลางวันเพื่อที่จะได้มองเห็น ทั้งๆ ที่เรารู้ว่ากลางวันนั้นแยกออกมาจากกลางคืนที่มืดสนิทและว่างเปล่า เราจึงชอบรูปกายภาพที่มองเห็น จะได้ขัดแย้งหมั่นไส้แตกแยกกัน

เมื่อเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ เท่าที่จัดไว้ในมหาวิทยาลัยเพื่อความสะดวกกับเพื่อให้เราเลือกเรียน วิทยาศาสตร์มีสามรูปแบบ ซึ่งชี้บ่งความแตกแยกของความรู้ ในสายตาของผู้เขียน วิทยาศาสตร์จริงๆ น่าจะมีอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น คือ ฟิสิกส์ และควรเรียกเสียใหม่เพื่อขจัดการเข้าใจผิด ที่คิดว่าจักรวาลมีแต่กายภาพอย่างเดียว และเราต้องรู้ว่าในโลกนี้จักรวาลนี้ไม่มีอะไรคงที่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกๆ ปรากฏการณ์จะต้องไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงดังที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นอนิจตา ซึ่งรวมทั้งความรู้แม้แต่ฟิสิกส์เองที่คลี่ขยายตลอดเวลา เราอยู่กับฟิสิกส์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์ที่แสนจะหยาบกระด้างมานานถึงสี่ร้อยปี กว่าจะพบความจริงใหม่ฟิสิกส์ใหม่ ทั้งทฤษฏีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และควอนตัมเมคคานิกส์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นความจริงทางธรรม ตรงกันข้ามกับความจริงทางโลกที่มองเห็นของฟิสิกส์เก่า

ผู้เขียนชอบและปรารถนาการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน และคิดว่านั่นคือธรรมชาติ กับไม่ชอบ – กลัวความแตกแยก จึงพลอยไม่ไว้ใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อนุรักษ์นิยม และชาตินิยมไปด้วย เพราะคิดเอาเองว่าเป็นสาเหตุของความแตกแยกนั่นเอง โดยที่ดูเฉยๆ คล้ายๆ กับว่าวินัยทั้งหมดคือการรวมกันหรือสามัคคีกันแต่ไม่ใช่ อดีตเมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ยังมีอายุน้อยๆ ผู้เขียนเคยมีอุดมการณ์ทุกอย่างที่กล่าวมานั้นรุนแรงมาก แต่ทั้งหมดได้เติบโตผ่านพ้นไปแล้ว อย่างที่ เคน วิลเบอร์ ว่า “ทั้งหมดได้ผ่านพ้นและรวมไว้” (transcend and include) คือกลายเป็นความรู้ เป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกันของชีวิต รวมทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือธรรมชาติทั้งหมด ความรู้สึกเช่นนี้มีมานานมากๆ แล้วจนเคยชินกับมัน กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ที่สำคัญคือในช่วงนั้น แม้กระทั่งวิ่งไปถือธงชาติไทยนำขบวนไปเรียกร้องเอาดินแดนจากฝรั่งเศส ก็มีความรู้สึกลึกๆ ที่บอกไม่ถูก ความรู้หรือความรู้สึกที่ฝังลึกในจิตใจมานานแสนนานนี้ ตีแผ่ออกไปไม่จำเพาะแต่โลกนี้และโลกไหนๆ ในจักรวาลนี้เท่านั้น

ขณะนี้มีข้อพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ (ทฤษฎีซุปเปอร์สตริง) จนหมดสิ้นข้อสงสัยกังขา เพียงยังขาดการทำซ้ำในห้องทดลองซึ่งไม่สามารถจะทำได้ด้วยเทคโนโลยีในขณะนี้ หรือเท่าที่เรามีความรู้ในปัจจุบัน นั่นคือหนึ่งในสองส่วนของจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งพ้องจองกับศาสนาพุทธและวัฒนธรรมพระเวท (Vedic Culture) ที่บอกว่าจักรวาลมีจำนวนที่ไม่มีสิ้นสุด (pluriverses)

พุทธศาสนาบอกว่าจิตมาก่อนเพื่อน (B. Alan Wallace: Hidden Dimensions, 2007) มาก่อนจักรวาลอันมีจำนวนไม่สิ้นสุด เรียกว่าจิตปฐมภูมิซึ่งแยกจากพลังงานปฐมภูมิไม่ได้ ส่วนวัตถุที่มองเห็นนั้นมาทีหลัง แต่เพราะว่ามันมองเห็นและส่วนมากสัมผัสได้ พวกกรีกโดยเฉพาะอริสโตเติลจึงคิดว่ามันมาก่อน และที่สำคัญที่สุด จึงถือว่ามันคือความจริงชนิดเดียวที่เราเห็นได้ ได้ยินได้ สัมผัสได้ ฯลฯ แต่พุทธศาสนาบอกว่ามันเป็นมายาหรือความเป็นสองที่อาจทำให้เรามีอุปาทาน “พอใจ” หรือ “ไม่พอใจ” จึงไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง จึงเรียกความจริงแบบนี้ว่าความจริงทางโลก เพื่อจะให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่รอดได้ในโลกนี้จักรวาลนี้เท่านั้น

ตรงกันข้ามกับความจริงทางธรรมซึ่งเป็นความจริงที่แท้จริง และความรู้ที่สำคัญที่สุด คือจิตวิทยา (น่าจะไม่ใช่วิชาจิตวิทยาที่มีการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งค่อนข้างจะหนักไปในทางพฤติกรรมศาสตร์ อันเป็นเรื่องกายภาพชัดๆ ไม่เกี่ยวอะไรแม้แต่นิดเดียวกับจิต) ที่จะต้องขยายไปให้ครอบคลุมเรื่องของจิตทั้งหมดหมายความว่าถึงนิพพานเลย

ซึ่งการศึกษาค้นคว้าเรื่องของจิตวิทยาทั้งหมดนี้ อาร์โนล์ด มินเดล นักจิตวิทยาที่เป็นนักฟิสิกส์ด้วย ที่ลูกสาวบุญธรรมคนหนึ่งของผู้เขียนได้บอกกับผู้เขียนว่า สามีของเธอ - คุณวิศิษฐ์ วังวิญญู - กำลังใช้สอนมวลชนที่สนใจการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (transform) ทางจิต เป็นแบบจำลองกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างหนึ่ง แต่ผู้เขียนคิดว่า อาร์โนลด์ มินเดล น่าจะลองใช้พุทธศาสนาที่ไล่สูงขึ้นไปจนบรรลุนิพพาน นั่นคือเราจะต้องรวมเรื่องของทุกๆ ศาสนาทั้งที่มีเหตุผล และไม่มีเหตุผล ที่คนทั่วๆ ไปคิดว่างมงาย และจะต้องรวมฟิสิกส์ซึ่งในที่นี้หมายถึงหัวใจของวิทยาศาสตร์ ที่ธรรมชาติคือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงของโลกและจักรวาล รวมทั้งชีวิตสัตว์โลกต่างๆ “ที่ตามองเห็น” นั่นคือการรวมของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ทั้งปวง รวมทั้งความรู้ เป็นต้นว่า จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา ฟิสิกส์ ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างที่ คาร์ล ซี. จุง เรียกว่าจิตไร้สำนึกร่วมโดยรวมของจักรวาล (universal collective unconscious continuum)

อาร์โนลด์ มินเดล พูดถึงนิพพาน การตรัสรู้ในพุทธศาสนาว่าเป็นการเข้าถึงสนามการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวของสนามพลังนั้น ซึ่งก็คือความจริงที่แท้จริงนั่นเอง เขาบอกว่า น่าแปลกใจยิ่งนักที่คณิตศาสตร์สามารถค่อยๆ บอกความจริงเหล่านี้ได้เมื่อถึงเวลา (เวลาไหน?) ก่อนหน้าที่เราจะสังเกตเสียอีก พูดอย่างนี้แล้วทำให้นึกถึงทฤษฏีจักรวาลวิทยาใหม่ ที่ทฤษฎีซุปเปอร์สตริงพิสูจน์ได้แล้วในทางคณิตศาสตร์ แต่ทว่าเราไม่ยังสามารถสังเกตเห็นได้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์

ฟิสิกส์ไม่ใช่กายภาพอย่างเดียว จริงๆ แล้วควอนตัมเมคคานิกส์เป็นเรื่องของจิตโดยแท้ แถมบางส่วนยังเป็นจิตไร้สำนึกที่ทำหน้าที่เป็นจิตรู้หรือจิตสำนึกอีกต่างหาก วิทยาศาสตร์แท้ๆ มีอยู่สามแขนงหรือสามวิชาที่ไล่เรียงจากที่เล็กละเอียดที่สุดจากอะตอมที่เดโมคริตัสเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาลบอกว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดไม่สามารถแยกย่อยต่อไปได้ แต่ที่แยกเป็นอนุภาคได้ในปัจจุบันเพราะว่าเราใช้ให้อะตอมชนกระแทกกันด้วยความเร็วสูง วิชาถัดไปแยกย่อยให้ละเอียดน้อยกว่านั้น คือระดับโมเลกุลที่จริงๆ คือฟิสิกส์ในระดับหยาบขึ้นมา แต่ส่วนมากยังมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เรียกว่าเคมี วิชาที่สามหยาบที่สุด เป็นวิชาที่ว่าด้วยเซลล์หรือชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตสองอย่าง คือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ได้แก่สัตว์โลกที่มีความรู้สึกทั้งหลาย เรียกว่าชีววิทยา ที่รวมถึงมนุษย์ด้วย และอะไรๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์แล้ว เราจะต้องทำให้มันยิ่งใหญ่ที่สุดทุกที โดยตัววิชาชีววิทยาหรือความรู้ของมันเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์โดยหลักการเลย หลักการของชีววิทยาขึ้นกับความบังเอิญมากกว่ามาก

ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น จะประกอบด้วยหลักการคร่าวๆ คือ เราสร้างทฤษฏีขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าธรรมชาตินั้นๆ คืออะไร? และทำงานอย่างไร? แล้วเราจะต้องพิสูจน์ทฤษฏีนั้นๆ ด้วย หนึ่ง คณิตศาสตร์ สอง ทำซ้ำในห้องทดลองโดยใครก็ได้ แล้วเราก็สร้างทฤษฏีขึ้นมาใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่เรากลับลืมเลือนไปว่าการกระทำเพื่อพิสูจน์ความ “เป็นเช่นนั้นจริง” ตามที่เราคิดนั้น เราได้กระทำการทั้งหมดทั้งสิ้น - ยกเว้นด้วยคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นไปด้วยความคิดจิตรู้ หรือจิตสำนึก หรือพุทธศาสนาเรียกว่าวิญญาณขันธ์ - บนอวัยวะประสาทสัมผัสภายนอกทั้งห้า เพื่อยืนยันการพิสูจน์ความจริงทางโลกหรือความเป็นสองของความจริงที่แท้จริง

ฝรั่งตะวันตกถึงได้จัดการสัมผัสภายนอกไว้เพียงห้าอย่างเท่านั้น ถึงได้เรียกการรู้ของวิญญาณขันธ์ซึ่งไม่มีในศาสนาอื่นว่าเป็นจิตรู้ (Consciousness) ทำความยากลำบากให้กับชาวตะวันออกโดยเฉพาะผู้ช่ำชองในพุทธศาสนาที่สนใจศึกษาหาความรู้ด้านจิตวิทยาตะวันตกที่มักจะมีความสับสนพอแรง จริงๆ แล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาลระหว่างจิตวิทยาของฝรั่งตะวันตกกับความรู้ของพุทธศาสนา ผู้เขียนเชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากปรัชญาตะวันออก (อินเดีย) ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นจิตวิทยาหรือการศึกษาเรื่องจิตซึ่งลงไปถึงความคิดที่มีเหตุผล ปรัชญาที่เป็นวิชาที่ป่วยหนักเพราะไม่มีใครเรียน เหมือนแพทยศาสตร์สมัยเก่าก่อนเมื่อนานมาแล้วที่ต้องจ้างให้คนมาเรียน

คิดและไตร่ตรองให้ดีแล้วจะเห็นเองว่า นอกจากเราจะเชื่ออย่างมีเหตุมีผลตามพุทธศาสนาและวัฒนธรรมพระเวท เรื่องของกรรมที่ทำให้มีการเกิดใหม่ที่ว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสารจนกว่าจะเข้าถึงนิพพานหรืออภิมหาปัญญาการรู้แจ้งเห็นจริง – โดยเชื่อว่านอกจากการกระทำของเราเองหรือกรรมแล้ว การรู้ความจริงที่แท้จริงทั้งหมดของธรรมชาติของจักรวาล ของจิต หรือการรู้ทางธรรมหรือนิพพานคือเป้าหมายหรือจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเรา - เราจะต้องรู้ว่าความจริงทางโลกมีเพื่อให้เราอยู่รอดในโลกนี่ที่มีสามมิติ (บวกหนึ่ง) เท่านั้น แต่ไม่เป็นความจริงที่แท้จริงเลย

ความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ และแนวปฏิบัติ กับ ความเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และปัญญา กับ ความสำเร็จและความพึงพอใจของคนในองค์กร



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2554

บทความนี้ ตั้งชื่อไว้ยาวมาก และอาจเป็นชื่อบทความที่ยาวที่สุดในโลกก็เป็นได้ ด้วยเจตนาที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเกี่ยวกับคำ และวาทกรรมที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในการสื่อสารของมนุษย์ และโดยเฉพาะคนทำงานในองค์กร เพราะบางครั้งมีการโต้แย้งโต้เถียงกัน เพื่อจะสรุปว่าใครผิดใครถูก บนความสับสนและความไม่ชัดเจนของคำเหล่านั้น มีการแยกเน้นการโต้แย้งเป็นคำๆ เป็นเรื่องๆ แบบแยกส่วน ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงแบบองค์รวม ด้วยการพยายามสร้างวาทกรรมขึ้นมาจากความสับสนและความไม่ชัดเจนของคำเหล่านั้น โดยขาดการพิจารณาอย่างถ่องแท้ และรอบด้านมากพอ ว่าที่โต้แย้งโต้เถียงกันอยู่นั้น เป็นเรื่องของความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ หรือแนวปฏิบัติ เหตุผลที่ให้ประกอบการโต้แย้งนั้น เป็นความเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือปัญญา และที่สำคัญไม่ได้พิจารณาอย่างมีสติว่า การโต้แย้งนั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ หรือแนวปฏิบัติของใคร องค์กรใด ในสังคมใด และเป็นความเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือปัญญาของใคร ขององค์กรใด ของสังคมใด

ในการโต้แย้งโต้เถียง ฝ่ายหนึ่งจะให้ความสำคัญกับความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อ หรือความคุ้นชินของตนเอง โดยมีข้อมูลบางอย่างและความเห็นบางประการประกอบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ให้ความสำคัญกับความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อตามหลักการ และภาพพจน์ของหน่วยงาน โดยมีข้อมูลบางอย่างและความเห็นประกอบการโต้แย้งเช่นกัน

จึงมีฝ่ายผิด ฝ่ายถูกตามความเชื่อ ความคุ้นชิน ตามหลักการและแนวปฏิบัติของฝ่ายตน

นำไปสู่การแบ่งแยกทางความเชื่อ ความคุ้นชิน การแบ่งแยกทางหลักการ และแนวปฏิบัติ

ที่จริงเรื่องของความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ และแนวปฏิบัติ เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะความเชื่อและความคุ้นชิน หากไม่พิจารณาอย่างมีสติพอ ก็จะเผลอใช้แทนกันไปเลยในหลายๆ กรณี หรือใช้ไปโดยไม่ได้เชื่อ แต่คุ้นชิน และบางครั้งก็พูดทีเล่นทีจริงในทำนอง “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” และ “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือ “ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหาย ใครๆ ก็ทำกัน”

ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ดู...

ในการกรอกประวัติส่วนตัว เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา คนไทยส่วนใหญ่จะตอบว่านับถือศาสนาพุทธ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วผู้ตอบส่วนใหญ่เหล่านั้น มีความเชื่อ และปฏิบัติตามความเชื่อนั้นจริงหรือเปล่า

เพราะเราเห็นพวกเขาไหว้ผี ไหว้เจ้า ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก...

บันไดบ้านของ “คนไทย” ต้องเป็นเลขคี่ บันไดผี “คนไทย” เป็นเลขคู่?

ลองกลับไปนับบันไดบ้านดูนะครับ ยกเว้นที่บ้านใช้ลิฟท์ ไม่มีบันไดให้นับ

คนไทยบางคน อยู่เมืองไทยกลัวผีไทยมาก แต่ไปอยู่อเมริกา ไม่กลัวผีอเมริกา

โอ้มายก๊อด พระเจ้าช่วย กล้วยทอด

สังคมไทยและสังคนอื่นๆ ตามความเห็นของผม ต่างก็เป็นสังคมที่มีความผูกพันและคุ้นชินกับขนบธรรมเนียม รวมถึงจารึตประเพณีหลายอย่างที่แตกต่างกันออกไป

บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เช่นไมโครซอฟต์ ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีศาลเจ้า ศาลพระภูมิ หรือพระพุทธรูปตั้งอยู่ในบริเวณบริษัท และมีคนต่างชาติ ต่างความเชื่อทางศาสนาทำงานอยู่กับบริษัทจำนวนมาก ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติที่ขยายสาขาเข้ามาในเมืองไทยก็ประสบความสำเร็จอย่างดีในการดำเนินกิจการของเขา โดยที่บางสาขามีการสร้างศาลพระพรหม และศาลพระภูมิ แต่บางแห่งก็ไม่มี

ในทางตรงกันข้าม บางบริษัทมีทุกอย่างตามความเชื่อ และความคุ้นชิน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องล้มเลิกกิจการไป

ตกลงความสำเร็จ หรือความล้มเหลวขององค์กรเกิดจากอะไร?

และความสุข ความพึงพอใจของคนทำงานเกิดจากอะไร?

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า คนทำงานที่ได้รับความสำเร็จในการทำงาน จะมีความพึงพอใจ แต่คนทำงานที่มีความพึงพอใจในงาน ไม่จำเป็นต้องได้รับความสำเร็จในการทำงาน

ถ้าเราเป็นบุคลากรขององค์กร เราควรจะมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามความเชื่อตามหลักการและแนวปฏิบัติขององค์กร หรือควรทำตามความเชื่อ หรือความคุ้นชินของตนเอง?

แน่นอนว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ถ้าถูกถามโดยผู้บริหารขององค์กร และมีแค่สองทางเลือก คงตอบตามทางเลือกแรก ยกเว้นผู้ที่ไม่คิดจะอยู่กับองค์กรต่อไป และจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตอบว่าถ้าได้ตอบสนองความเชื่อส่วนตัวด้วย ก็จะมีโอกาสทำงานตามหน้าที่ได้รับความสำเร็จมากขึ้น ความสบายใจที่ได้ปฏิบัติตามความเชื่อหรือความคุ้นชิน ช่วยให้เกิดความพึงพอใจ นำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น คือโดยส่วนตัวแล้วอยากได้ทั้งสองอย่าง แต่หากต้องตอบโดยยึดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นหลัก ก็คงต้องตอบตามทางเลือกแรก แต่ก็ยังมีความไม่สบายใจอยู่

ในทางจิตวิทยาการบริหาร เป้าหมายสูงสุดที่พึงประสงค์ของการบริหารทุกระดับคือการมีความสำเร็จในงานหรือการมีผลงาน และการมีความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ของเราเพียงฝ่ายเดียว

การได้รับผลสำเร็จทั้งผลงานและความพึงพอใจเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะแต่ละคนมีความเชื่อ ความคุ้นชิน แต่ละองค์กรมีธรรมชาติ มีหลักการ และแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป

ผู้บริหาร และบุคลากรทุกคน ทุกระดับ จึงต้องทำความเข้าใจความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ และแนวปฏิบัติของกันและกัน และขององค์กรที่ทำงานร่วนกันอย่างลุ่มลึกรอบด้าน

ที่จริงเรื่องเหล่านี้ หากมีการพูดคุยกันอย่างสุนทรีย์ มีการฟังกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง ไม่จ้องจับผิดระหว่างกัน ไม่ตัดสินกันและกัน แต่พยายามเข้าใจกัน บนฐานของการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของทุกคน ยอมรับและเคารพในความแตกต่างของกันและกันอย่างแท้จริง ก็จะมีทางออกที่เป็นทางเลือกที่ยอมรับและเคารพร่วมกัน ภายใต้บริบท และวัตถุประสงค์เดียวกันได้

ในองค์กรจึงน่าจะมีสุนทรียสนทนา (Dialogue) กัน มากกว่าการเอาชนะคะคานกัน ไม่ว่าจะด้วยการเอาเสียง (ความเชื่อ) ของคนส่วนใหญ่ในองค์กร หรือการยึดหลักการขององค์กรโดยไม่คำนึงถึงความเชื่อของคนในองค์กร

ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า พุทธธรรม พระพรหม ศาลพระภูมิ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนเคารพนับถือ หรือแม้กระทั่งความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิด อยู่ในใจของคนแต่ละคน ไม่มีใครไปหักล้างหรือโต้แย้งได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เราควรให้การยอมรับและเคารพอย่างแท้จริง ตราบใดที่ไม่มีใครนำความเชื่อส่วนบุคคลไปก้าวล่วงความเชื่อส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และโดยเฉพาะไม่ก้าวล่วงความเป็นองค์กรที่คนต่างความเชื่อ ต่างความคุ้นชินมาทำงานร่วมกัน

หรือกล่าวอีกลักษณะหนึ่งก็คือ แต่ละคนควรจะต้องพยายามก้าวข้ามความเชื่อส่วนบุคคลสู่ส่วนรวมที่ใหญ่กว่า การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความให้แต่ละคนละทิ้งความเชื่อส่วนบุคคล แต่การมาทำงานร่วมกันภายใต้องค์กรเดียวกัน จำเป็นต้องมีความเป็นส่วนรวม ในขณะที่ยังคงให้การยอมรับและเคารพความเชื่อ และไม่ก้าวล่วงความเชื่อของกันและกัน ด้วยการมีส่วนร่วมในการสร้างส่วนรวม ไม่แบ่งแยกแตกพวกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อย แต่เป็นการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างส่วนรวม จึงควรต้องมีการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดขึ้น ดังที่คุณหมอประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า การสร้างจิตสำนึกใหม่คือการพัฒนาจากการมีจิตเล็กที่คับแคบ ยึดตัวเองเป็นหลัก ไปสู่การมีจิตใหญ่ หรือจิตสาธารณะที่คำนึงถึงส่วนรวมที่ใหญ่กว่า

ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ หากไม่มีการนำมาร้อยเรียงสัมพันธ์เชื่อมโยง และเรียนรู้อย่างมีสติ ปัญญาก็คงเกิดยาก เพราะติดกับอยู่กับข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ที่เฉพาะ ไม่คงที่ และเปลี่ยนแปลงตลอด

ต้องมีสติ และรู้เท่าทันความเชื่อ ความคุ้นชินของตัวเอง ผู้อื่น และขององค์กร

มีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันภายใต้บรรยากาศที่มั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาร่วม (Collective Wisdom)” ภายในองค์กร และขยายออกไปสู่สังคมโดยรวม

ช้าเป็น…ได้เปรียบ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2554

ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ พยายามแก้ปัญหาคนทำงานขาดความกระตืนรือล้น ขาดการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง ขาดการทำงานเป็นทีม ขาดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ความขัดแย้ง และการแบ่งฝักฝ่าย ขาดความร่วมมือและความสามัคคี ทั้งๆ ที่มีคนเก่งและความตั้งใจที่ดี แต่ยังแยกส่วนไม่เชื่อมประสานกัน

ผู้บริหารมีนโยบายจัดอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวผ่านวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่เชิญวิทยากรมาบรรยายเรื่องการพัฒนาองค์กร หรือการเพิ่มพลังชีวิตให้เป็นสุข และสร้างความมุ่งมั่นในการทำงาน หรือไม่ก็ทำกิจกรรม สร้างความเป็นทีม เพื่อคลี่คลายปัญหาขุ่นข้องหมองใจและการแบ่งแยกห่างเหิน หรือเป็นปฏิปักษ์ภายใน ไปจนถึงการพาพนักงานไปปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาสติและความสุขให้เกิดขึ้น

ในการทำงาน โดยส่วนใหญ่เป้าหมายสุดท้ายของความพยายามเหล่านี้ก็เพื่อการสร้างผลงานที่มากขึ้นหรือมีประสิทธิภาพงานดีขึ้น เพราะองค์กรโดยมาก ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือธุรกิจหรือแม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้คนในองค์กรมีความสุข แต่มีเป้าหมายจำเพาะที่ต้องบรรลุ ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นไปเพื่อนำไปผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายอีกทีหนึ่ง

ไม่แปลกที่หลายองค์กรได้พัฒนาความรู้และทักษะในการทำงาน หรือแม้แต่ปรับปรุงคุณภาพและระบบงานได้อย่างครบถ้วนก้าวหน้า แต่ยังขาดสิ่งที่จะขับเคลื่อนระบบ หรือความรู้เหล่านี้ คือระบบสัมพันธ์ของผู้คนในองค์กรที่ยังง่อนแง่นพิกลพิการ

วิธีการหนึ่งที่เห็นกันอย่างแพร่หลาย คือการนำเอาทีมบริหารมาร่วมกันปรับแนวทางการบริหารแบบ “ดูแลหล่อเลี้ยง” ให้มากขึ้น เช่น พูดจาดีๆ และรับฟังพนักงานมากขึ้น แทนที่จะด่า ติ ตรวจสอบ หรือบี้งานเพื่อผลลัพธ์เท่านั้น แล้วเอาพนักงานระดับล่างลงไปมาอบรมเช่นกันเพื่อตอบรับกับการปรับวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามภายในภาวะกดดันและภาระงานเดิมๆ หรือบางทีก็มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พฤติกรรมการปกป้องตัวเองเพื่อให้ทั้งงานและตัว “อยู่รอด” นั้นสร้างพฤติกรรมการสื่อสารเชิงลบยังคงวนเวียน ซ้ำๆ และย้ำที่เดิม ยิ่งทำให้เกิดความคิดเห็นว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยน”

จากประสบการณ์การช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ในการนำ ไดอะล็อก (Dialogue) หรือกระบวนกรสื่อสารเชิงลึก ไปใช้ในการพัฒนาบรรยากาศและประสิทธิภาพภายในองค์กร ผมพบว่าปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่อความยั่งยืนในการพัฒนาความสัมพันธ์ในองค์กรให้เกิดผลที่ดีคือ ความสม่ำเสมอ ของการเรียนรู้และการฝึกฝน นั่นเป็นเพราะว่าในภาวะบีบคั้น สิ่งที่เราจะนำมาใช้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติคือสิ่งที่เรา “ฝึก” หรือคุ้นเคยมาตลอด การสร้างวงจรสมองหรือพฤติกรรมใหม่จึงต้อง “ฝึก” ใหม่จนสามารถเป็นทางเลือกให้กับเราในการตอบสนองต่อสถานการณ์ในการทำงานที่มีความตึงเครียดและท้าทายสูง

องค์กรไหนที่เอาจริงเอาจังกับการสร้างวงจรสมองใหม่ของตัวเองนี้ ก็จะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อพัฒนางานนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อชักชวนพนักงานให้เข้าสู่ “มณฑลแห่งการรับฟัง” ที่ๆ พนักงานจะได้มีโอกาสหยุด ช้าลง ผ่อนคลายเพื่อทบทวนตัวเอง และกลับมาเห็นทางเลือกในการแก้ปัญหาที่แตกต่างจากแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้สร้างผลลัพธ์ใหม่ จังหวะใครนี้ใครช้าลงเป็นอาจได้เปรียบ อีกทั้งเป็นพื้นที่ของการเชื่อมสัมพันธ์ และเรียนรู้จากพนักงานคนอื่นๆ อย่างรู้สึกปลอดภัยวางใจ ลูกน้องก็รู้สึกกล้าพูดจากับหัวหน้าอย่างเปิดเผยและได้รับการรับฟังไปจนถึงการช่วยเหลือ สนับสนุนได้มากขึ้น

การพัฒนาจิตและการสื่อสารนั้นไม่สามารถทำได้หากขาดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในพื้นที่ของการทำงานจริง เพราะสิ่งที่เรากำลังต่อสู้คือวงจรปกป้องตัวเองที่สั่งสมและเรื้อรังมายาวนาน ยิ่งความสัมพันธ์ในองค์กรส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง อำนาจการสั่งการและตัดสินใจมาจากข้างบนลงล่าง การสร้างภาวะ “ผู้นำร่วม” ที่ทุกคนตระหนักถึง “อำนาจแห่งการสร้างสรรค์ภายใน” ของตนเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

นักฝึกอบรมท่านหนึ่งในบริษัททรูที่ได้นำกระบวนการไดอะล็อกไปใช้ในองค์กรได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมว่า “เคยเข้าอบรมมามากมาย ส่วนใหญ่ก็ฝึกคิดฝึกวิเคราะห์ ฝึกทำ แต่มาแบบนี้เป็นการฝึกที่เข้าไปในใจ ไม่ใช่แค่เข้าไปในหัว” การช่วยให้สร้างพื้นที่การเรียนรู้เช่นนี้ ช่วยให้ผู้คนเลือกเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ไม่น้อย และสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น เธอดูมีแรงบันดาลใจที่ได้มีส่วนในการทำงานอย่างนี้ เพราะช่วยให้ผู้คนได้ค้นพบตัวเอง และดูแลวาระชีวิตของตัวเอง

การพัฒนาภาวะ “ผู้นำร่วม” ที่ให้คุณค่าและใส่ใจรับฟังทุกคนจริงๆ กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าวัฒนธรรมองค์กรให้หันมาใส่ใจให้คุณค่าของผู้คนไปพร้อมๆ กับการสร้างผลลัพธ์ในหน้าที่การงาน เพราะระบบ “ผู้นำเดี่ยว” แบบควบคุมสั่งการนั้นเป็นวิถีที่ดูเหมือนจะไปไม่ถึงไหนนัก เพราะมนุษย์ย่อมมีขีดจำกัดในภาวะของความตึงเครียด เคร่งครัด จริงจังและกดดัน บางคนเลือกลาออก บางคนเข้าสู่ภาวะเก็บกดและซึมเศร้า แรงบันดาลใจของมนุษย์กลายเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าที่ไม่สามารถสร้างได้ด้วยวัตถุหรือแรงกระตุ้นจากภายนอก แต่ได้มาด้วยการได้รับ “มองเห็นคุณค่าของมนุษย์” ไม่เกี่ยวกับ “ผลงาน” ของพวกเขา

หากองค์กรจะช่วยให้พนักงานตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองที่มีต่อโลกและการอยู่ร่วมกันได้ โดยผ่านการปฏิบัติจริงที่มิใช่เพียงคำหวานจากผู้บริหาร เชื่อว่าแรงบันดาลใจในการพัฒนาไปข้างหน้าจะทะลักทลายอย่างไร้ขีดจำกัดทีเดียว

Back to Top