โดย
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2557
รายงานข่าวว่าแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเวลาประมาณหกโมงเย็นของวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา
แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากที่สุดเท่าที่คนรุ่นนี้ของจังหวัดเชียงรายเคยประสบ ครั้งที่สร้างความเสียหายให้พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน เมื่อหลายปีก่อน หรือสร้างความเสียหายให้แก่ยอดเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสนเมื่อไม่นานมานี้ ไม่รุนแรงเท่า
แผ่นดินไหวที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่อำเภอเชียงแสนมักจะเกิดจากรอยเลื่อนแม่จัน ว่ากันว่ารอยเลื่อนแม่จันทำให้เกิดเวียงหนองหล่มมาก่อนแล้วในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสนเมื่อพันปีก่อน
ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนแม่จันหรือรอยเลื่อนพะเยา รวมทั้งรอยเลื่อนในทะเลอันดามันที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เมื่อสิบปีก่อนซึ่งเป็นเหตุให้มีคนตาย ๒๓๐,๐๐๐ คน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนขนาดใหญ่กว่าที่ซ่อนอยู่ข้างใต้
เป็นรอยเลื่อนที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอินโดออสเตรเลียนเพลทและยูเรเซียนเพลท
อินโดออสเตรเลียนเพลท (Indo-Australian Plate) เป็นเทคโทนิคเพลท (tectonic plate) คือแผ่นดินของผิวโลกขนาดยักษ์ที่กินอาณาบริเวณตั้งแต่ทวีปออสเตรเลียและพื้นสมุทรโดยรอบขึ้นมาทางตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงอนุทวีปอินเดียและพื้นสมุทรโดยรอบเช่นกัน ที่ขอบขวาแผ่นดินแผ่นนี้คือบริเวณพรมแดนตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่เหนือสุดลงถึงใต้สุด
ยูเรเซียนเพลท (Eurasian Plate) เป็นเทคโทนิคเพลทขนาดมโหฬารอีกแผ่นหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของทวีปเอเชียและยุโรปเกือบทั้งหมด นั่นคือรวมเอาประเทศจีนไว้ด้วย โดยมีประเทศไทยอยู่ทางตอนล่างของแผ่นดินแผ่นนี้
นึกภาพโลกที่เป็นก้อนลาวาเหลวปกคลุมด้วยแผ่นดินที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ลอยไปมาตามกระแสลาวา แผ่นดินบางส่วนโผล่พ้นน้ำ แต่แผ่นดิน ๒ ใน ๓ ส่วนอยู่ใต้สมุทร เวลาแผ่นดินเหล่านี้ขยับตัวเข้าหากันจึงเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์
อินโดออสเตรเลียนเพลทกำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกด้วยความเร็ว ๗๐ มิลลิเมตรต่อปี ปะทะกับยูเรเซียนเพลท แผ่นดินทั้งสองบดกันเกิดเป็นรอยเลื่อนแม่จัน พะเยา ศรีสวัสดิ์ ฯลฯ รวม ๑๔ รอยเลื่อนในประเทศไทย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ดูเบาว่าไม่น่าจะร้ายแรงตลอดมา
เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๕ เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าอินโดออสเตรเลียนเพลทกำลังแตกออกเป็นสองแผ่น คือแผ่นอินเดียที่เคลื่อนขึ้นเหนือช้าๆ เข้าหาภูเขาหิมาลัยด้วยความเร็ว ๓๕ มิลลิเมตรต่อปี และแผ่นออสเตรเลียที่เคลื่อนตัวขึ้นเหนือด้วยความเร็วสูงกว่าคือ ๕๖ มิลลิเมตรต่อปี เหล่านี้กระทบกับกับรอยเลื่อนในประเทศไทย
เย็นวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คนเชียงรายพบการสั่นสะเทือนของแผ่นดินรุนแรงและยาวนานอย่างที่ไม่เคยพบ คืนนั้นมีอาฟเตอร์ช็อคอีกนับไม่ถ้วนตลอดทั้งคืนและยังคงมีอยู่ทุกคืนอีกสามคืนถัดมา เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะหลับได้สนิทในคืนที่หนึ่ง
เพียงตอนเย็นของวันที่หนึ่งเราก็ได้เห็นภาพเศียรพระขาดที่วัดอุดมวารี อำเภอพาน วัดร่องขุ่นแตกเสียหายหลายจุด ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่แยกเป็นสองเสี่ยง ภาพอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่ได้เห็นมีสาเหตุมาจากความแตกแยกและรอยร้าวที่ใหญ่กว่าลึกลงไปหลายสิบกิโลเมตรข้างใต้
ใจคนเป็นเช่นเดียวกัน
นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ ซิกมันด์ ฟรอยด์ได้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เพื่ออธิบายใจคนและยังคงเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ใช้อธิบายใจคนได้ดีที่สุดนับจากศตวรรษที่ ๒๐ มาถึงศตวรรษที่ ๒๑ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยประสาทวิทยาของสมอง (Neuroscience) ได้รวมตัวกันวิจัยสมองในสาขาใหม่คือประสาทวิทยาของจิตวิเคราะห์ (Neuropsychoanalysis)
บทความเรื่อง “The Second Coming of Sigmund Freud” เขียนโดย Kat McGowan ตีพิมพ์ในนิตยสาร
Discover ฉบับเดือนเมษายน ๒๐๑๔ ให้ข้อมูลว่าการแพทย์สาขาใหม่คือประสาทวิทยาของจิตวิเคราะห์นี้กำลังก้าวข้ามไปสู่พรมแดนใหม่ นั่นคือพยายามศึกษาจิตวิเคราะห์ด้วยกรอบความรู้ทางชีววิทยาและประสาทวิทยา แม้ว่าความก้าวหน้ายังไม่มากแต่ดูเหมือนจะไม่เกินความจริงหากจะทำนายว่าวันหนึ่งพวกเขาคงได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ตรวจจิตใต้สำนึก หรือเครื่องมือที่ใช้ดูเนื้อเรื่องที่ผู้ป่วยฝัน หรือเครื่องมือที่ใช้ตรวจเนื้อหาของอาการประสาทหลอน ไม่ว่าจะเป็นหูแว่วหรือภาพหลอนของผู้ป่วยได้เป็นแน่
คล้ายนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจพบแผ่นดินขนาดใหญ่ที่ประกอบกันเป็นเปลือกโลกฉะนั้น
จิตวิเคราะห์อย่างสั้นที่สุดอธิบายว่าคนเราไม่รู้จักตัวเอง ใจคนเราประกอบด้วยจิตใต้สำนึก (unconscious) เป็นส่วนสำคัญ คนเราเก็บกดความปรารถนาไว้ในจิตใต้สำนึก ความปรารถนาหรือแรงผลัก (impulse) ที่สำคัญมี ๒ อย่าง หนึ่งคือแรงผลักดันทางเพศ สองคือแรงผลักดันที่จะกระทำรุนแรง เรื่องนี้เข้าใจได้เพราะที่แท้มนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง หากมิได้ขัดเกลาด้วยกติกาสังคมที่ดีหรือศีลธรรมที่เหมาะสมย่อมกลายเป็นสัตว์กันได้ง่ายๆ
อะไรในจิตใต้สำนึกมักผุดขึ้นมาบางเวลา ส่วนหนึ่งผุดขึ้นเป็นความฝัน (dream) ส่วนหนึ่งผุดขึ้นมาเป็นอาการพลั้งปากหรือพลั้งเผลอ (slip) อีกส่วนหนึ่งจะต่อสู้กับแรงเก็บกดอย่างเอาเป็นเอาตายจนกระทั่งได้รับชัยชนะแล้วผุดขึ้นมาในสภาพที่ชำรุดเสียหาย เกิดเป็นอาการทางจิต กลายเป็นผู้ป่วยโรคประสาทหรือโรคจิต
ประเด็นคืออะไรที่เราทำๆ กันทุกวันนี้ เราทำไปเพราะอะไรบางอย่างที่เก็บไว้ข้างใต้ในจิตใต้สำนึก หากเราไม่เก็บกดอะไรไว้มากเกินไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ในทางตรงข้ามหากเราเก็บกดอะไรไว้มากเกินไป อะไรนั้นก็พร้อมจะต่อสู้ ดิ้นรน แล้วผุดขึ้นมาเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่นได้มาก
เหมือนรอยเลื่อนที่เคยเงียบสงบอยู่ใต้ดินมาช้านานกำลังสะสมพลังอยู่ทุกวันรอเวลาที่จะขยับตัวอีก
การกระทำของกลุ่มบุคคลและเครือข่ายที่สถาปนาตนเองเป็นคนดีได้ปลูกฝังความเกลียดชังและแค้นเคืองให้แก่ประชาชนไทยจำนวนหลายล้านคนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องมาหลายปี จำนวนหลายล้านคนนี้จะเป็นจำนวนส่วนใหญ่หรือเป็นจำนวนมากหรือเปล่านั้นเถียงกันได้ แต่ที่แน่ๆ คือจำนวนนี้มากพอที่จะทำให้เกิดแรงปะทุครั้งใหญ่ของจิตใต้สำนึกรวมหมู่ (collective unconscious) แล้วสร้างความแตกแยก ความเสียหาย และความสูญเสียแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มได้มาก
กลุ่มบุคคลและเครือข่ายที่สถาปนาตนเองเป็นคนดี มักชูประเด็นการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากปฏิรูปการเมืองแล้วยังพูดถึงปฏิรูปความเหลื่อมล้ำอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็น่าแปลกใจที่ไม่ยินยอมฟังเสียงประชาชนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำมานานแสนนานเลย
แผ่นดินเหลื่อมล้ำข้างใต้จึงเกิดแผ่นดินไหวข้างบน