ดูความคิด


บทสนทนาของอาจารย์เขมานันทะกับลูกศิษย์
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2557

ชีวิตคือการไหลของความคิด มโนภาพ จินตภาพเป็นความคิด ภาพในความฝันก็เป็นความคิด เพราะมันสัมผัสได้ ถ้าสัมผัสไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความคิด (หาก)เราเห็นความคิด สัมผัสความคิดได้ นั่นเป็นปากประตูไปสู่อิสรภาพ

ความคิดก็เป็นวัตถุ เป็นอาการลักษณะหนึ่ง เราเห็นความคิดไม่ได้ แต่เราจับอาการมันได้ ต้องใช้ปัญญาความเข้าใจที่เกิดภายในแต่ละคน การจับความคิดเหมือนเราเอาปลายไม้วาดวนน้ำ มีภาพ แต่ตั้งอยู่ไม่ได้ รู้ตัวอีกทีก็หายไปแล้ว ปัญญาคือความเข้าใจ วิธีที่จะเข้าใจเป็นเทคนิค หลวงพ่อเทียนท่านใช้ยกมือสร้างจังหวะ

ความไม่เข้าใจเป็นรากของอวิชชาและปัญหาต่างๆ (ใน)ทางกลับกัน ความเข้าใจเป็นปัญญา จะเข้าใจได้ต้องสัมผัสของจริง สิ่งมีอยู่จริง ถึงจะเกิดปัญญาชนิดหยั่งรู้ (insight) ไม่ใช่พุทธิปัญญา (intellect) การหยั่งรู้เกิดเองภายใน แล้วความภูมิใจ ความเป็นตัวของตัวเอง(จะ)มาจากความเข้าใจนี้ รู้เช่นนี้แล้ว(ก็)โยนตำราทิ้งได้เลย ผมโยนไปเลย ไม่แสวงหาความรู้ของภายนอกอีกเกือบ ๒๐ ปี พิสูจน์ได้ว่าปัญญาที่ได้จากความรู้ภายนอกไม่มีผลต่อการภาวนา มีผลต่อเรื่องราวทางสังคม (social affair) มากกว่า สติปัญญาจากภายนอก จากการเรียน ความทรงจำ นั่นไม่ใช่ปัญญาแท้ เป็นปัจจัยแวดล้อม ปัญญา(ภายนอก)กับความเข้าใจแตกต่างเหมือนฟ้ากับดิน เฉลียวฉลาดมีปัญญาก็ดี แต่สู้ความเข้าใจจริงที่เกิดจากการสัมผัสความคิดไม่ได้

ความเข้าใจความคิดนั่นแหละเรียกว่าปัญญา(ที่แท้) ท่านผู้รู้จึงเริ่มสอนว่า จงเฝ้าดูความคิดโดยไม่ทำลายพลังของมัน “ดูความคิด” ถ้านำไปปฏิบัติ อานิสงส์สูง ความคิดเกิดขึ้นครั้งเดียว กำแพงเมืองทะลาย ถ้าเป็นจักรพรรดิ ความคิดเกิดขึ้นครั้งเดียว สังสารจักรหักเลย เพราะความคิดซับซ้อน ต้องดูเป็น ดูแบบนักฝึกสิงโต อย่าลืมตัวเป็นอันขาด ไม่ว่าเราจะเรียกว่าความรู้สึกตัวหรือความคิด ความจริงมีอันเดียว ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแบบแผนของสำนักไหม ลงเมื่อตั้งลำดูความคิด โลกถูกเขย่าแล้ว

อย่าเข้าใจว่าความคิดเป็นสิ่งเลวร้าย ความคิดเหมือนม้าป่าที่ทรงพลัง เราจับม้ามัสแตงค์มาฝึก แต่ความเถื่อนเราไม่ต้องการ ภาวนาคือการฝึก ถึงวันมันเปลี่ยนนิสัย มันรักเจ้านาย มัน(ก็)เชื่อฟังเรา ถ้าเราไม่เข้าใจ ไปทำลายชีวิตม้าป่า ทำลายพลัง หยุดความคิด เราจะเสียพลัง

แต่พลังโดยปราศจากความเข้าใจ อันตรายมาก ความคิดอันตรายยิ่งกว่าปรมาณู เป็นที่มาของปรมาณู เป็นที่มาของบรรดาเทคโนโลยี อาศัยความคิดที่ฉลาดแหลมคม สร้างสรรค์สิ่งวิจิตร (ใน)ทางกลับกันถ้ามีอุปาทาน ยึดถือของเรา(ว่า)จริง คนอื่นไม่จริง เป็นสิ่งที่ต้องสังวร เพราะพลังของความคิดมักทำลายตัวเองก่อน ก่อนไปทำลายผู้อื่น

คนที่เข้าใจความคิดมีน้อยมากในโลก หลวงพ่อเทียนว่า คนเข้าใจความคิดมีน้อยมาก แต่คนถูกใช้จากความคิดมีมาก เรากำลังทำความเข้าใจความคิด เรากำลังใช้ความคิดเพื่อเข้าใจความคิด เราคิดจะหยุดความคิด เหมือนความคิดรายล้อมตัวเราอยู่ วันหนึ่งที่วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนบอกลูกศิษย์(ว่า) เดินหนีหลวงพ่อสิ ลูกศิษย์เดิน หลวงพ่อก็กอดลูกศิษย์ไว้ นี่ความคิดมันกอดเราอย่างนี้

ในเบื้องต้น ความคิดจะน้อยลงก่อน เรามักจะใช้วิธีเพ่งจ้องไปสกัดกั้นกระแสความคิดอย่างตรงไปตรงมา ทื่อๆ ต่อมาเราก็ผ่อนปรน เมื่อความคิดน้อยลง จะรู้สึกเป็นสุขขึ้น เหมือนเราอยู่เขตร้อน เข้าไปเขตหนาวก็สบาย

ต่อมาเมื่อมีนิสัยชอบดูความคิด สติปัญญาชอบความเข้าใจชีวิต ก็ง่ายเข้า ความคิดตัดรอนสภาพพะรุงพะรังที่คิดว่าเป็นเพชรนิลจินดา แต่(ที่จริง)เป็นขยะมูลฝอย ความคิดน้อยลงในเบื้องต้น ต้องระวัง ไม่ใช่เราทำ มันจะน้อยลงเอง เมื่อเราดูถี่เข้าๆ ความคิดก็ถูกตัดกระแสลง

ความคิดเหมือนนักเลง ครองครองอาณาบริเวณหนึ่ง หนุ่มคนหนึ่งเพิ่งมาใหม่ เขาต้องรู้จักนักเลง ปรองดองกับความคิดดีกว่า หักโหม(แล้ว)อันตราย อันตรายหมายความว่า จิตใจจะเตลิดเปิดเปิงไปในทิฐิทัศนะที่ผิด ปรองดองกับความคิด ชีวิตก็ราบรื่นขึ้น เมื่อรวบรวมพลังใช้สมาธิก็ทำได้ดี เมื่อถึงเวลาก็พักผ่อน จิตใจก็เหมือนกรรมกร ถ้าใช้งานหนักเกินไปก็เอาเปรียบ ส่วนใหญ่เราไม่ใส่ใจว่าเราเอาเปรียบไปหรือเปล่า ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็น เราควรทะนุถนอมความคิด อย่าโกรธง่ายเวลาไม่ได้ดั่งใจ เรียกว่าปรองดอง เป็นศิลปะอย่างยิ่งในการเจริญภาวนา

ความรู้สึกตัวก็เป็นรูปของความคิด คือเราคิดถึงความรู้สึกตัว เมื่อเรากลับมาที่ความรู้สึกตัว ความคิดก็จบลงแล้ว ดังนั้นต้องทำเบาๆ อย่าหักโหม อย่าเอาแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่งั้นจิตใจจะเหนื่อย การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องธรรมดาๆ

ความคิดมันเป็นชั้นเป็นเชิง มันยั้วเยี้ยไปหมด ที่เราเห็นเป็นชั้นเดียว เห็นแว้บๆ ผ่านไป แต่พอแก่กล้า เห็น(เป็น)ชั้นๆ มีชั้นลึกอีก จนจิตเงียบเชียบ ถ้าเกิดจากวิปัสสนาจะดีมาก (แต่)ถ้าเกิดจากสมถะไปสะกดข่มมัน มันให้ปัญญาอีกแบบ ทั้งหมดเป็นปัญญาที่เป็นการหยั่งรู้ ไม่ได้ปฏิเสธ มันมีประโยชน์ในบางแง่ ปัญญาแห่งความเข้าใจที่เกิดขึ้นเอง เกิดจากการเฝ้าดูและแจ่มแจ้งขึ้นเอง พูดง่ายๆ คือ ปัญญาแห่งความเข้าใจโดยธรรมชาตินั่นเอง

ผมรู้สึกเหนื่อย เป็นปัญญาที่เกิดเอง รับรู้ว่าร่างกายอ่อนเปลี้ย แล้วมีวิธีผ่อนปรน โดยขยับเนื้อขยับตัว นี่เป็นความเข้าใจชีวิตทั้งนั้นเลย

Back to Top