ฟังกันเถิด จะค่อยได้ยิน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2557

ในห้องที่เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยเซ็งแซ่ของผู้คน ดูเหมือนว่ายิ่งอยากให้คนอื่นได้ยินสิ่งที่เราพูดมากขึ้นเท่าไหร่เราก็จะยิ่งพูดเสียงดังมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งแทบกลายเป็นการตะโกนพูดใส่กัน กลายเป็นว่าเสียงทั้งหมดในห้องก็ยิ่งดังขึ้นและดังขึ้น แต่เรากลับคุยกันแทบไม่รู้เรื่อง

ยิ่งในขณะที่เราพูดอยู่ มีคนพยายามพูดแทรก ไม่ยอมรอให้เราพูดจนจบประโยคหรือเนื้อความ ก็ยิ่งน่าหงุดหงิดโมโห และที่น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าคือ ฟังเราไม่เข้าใจ ตีความไปเอง โกรธไปเอง โมโหไปเอง แล้วการสนทนาก็กลายเป็นการเสียดสีเหยียดเย้ยและด่าประนามกัน

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราควรทำอย่างไร?

หลายคนตอบว่า ก็เลิกคุย – น่าเสียดายที่การเลิกคุย มีความหมายเดียวกับการเลิกฟัง

มนุษย์เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่สำคัญยิ่งก็คือ การมองเห็น และการได้ยิน

เมื่อปฏิเสธการพูดคุยและปฏิเสธการฟัง การรับรู้ก็ไม่สมบูรณ์ วงจรเรียนรู้ก็ถูกตัดตอน ภาวะอารมณ์ก็ตกร่องเดิม ผูกติดกับความทรงจำเก่า แม้ว่าปัจจุบันตรงหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ยังมีข้อสรุปเดิม-เดิม ตัดสินคุณค่าแบบเดิม-เดิม ปราศจากการทบทวนความรู้ ความเชื่อ ความคิด ของตนเอง อัตตาตัวตนก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ถ้าไม่ไปกดทับคนอื่น ก็ดิ้นพล่านเมื่อคนอื่นคิดเห็นหรือปฏิบัติต่างไปจากตนเอง เพราะเข้าใจไปว่าตนเองกลายเป็นสัจจะพจน์ (Axiom) ที่พิสูจน์ไม่ได้ไปเสียแล้ว

การฟังจึงยังสำคัญอยู่แม้จะไม่อยากพูดคุย และอาจจะช่วยให้เริ่มพูดคุยกันไปในทิศทางสร้างสรรค์และหาทางออกร่วมกันได้มากขึ้นในอนาคต

หากอีกฝ่ายมีความโกรธโมโห หรือกระทั่งโศกเศร้าเสียใจ การฟังที่ดีก็เป็นการให้ในรูปแบบหนึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นการเยียวยาก็ว่าได้ การฟังที่ดีคือการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ ฟังโดยไม่ตีความ ฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องมีความคิดเห็นเสนอแนะ และดีที่สุดคือการได้ยินเสียงของตนเองไปพร้อมกับการได้ยินเสียงของคนอื่น

เสียงของความรู้สึกเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เสียงของความไม่เชื่อใจไม่ไว้ใจ เสียงของความรักศรัทธา เสียงของการตัดสินถูกผิด เสียงของความเห็นอกเห็นใจหรือสะใจ ฯลฯ – เหล่านี้แหละคือเสียงภายในที่ปรากฏ ถ้าเราฟังเป็นก็จะได้ยิน

หลายครั้งที่เสียงภายในเหล่านี้ส่งเสียงดังมากจนกลบหัวใจเรา และทำให้เราไม่ได้ยินคนอื่น เพราะเสียงของเราที่เป็นเสียงของการตีความ การตัดสินผิดถูก ความรู้สึกรักชอบชังเกลียดริษยา ฯลฯ จะผลักให้เราพูดออกไป แม้ไม่พูดออกมา แต่ก็เป็นเสียงในใจ เซ็งแซ่แกล่กลบเสียงคนอื่น ทำให้เราไม่ได้ยินคู่สนทนาอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดถึง “ประชาธิปไตย” เสียงในใจก็ตีความไปว่าเป็นพวกมุ่ง “ล้มเจ้า” หรือเมื่อฝ่ายหนึ่งพูดถึง “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เสียงในใจก็ตีความไปว่าเป็นพวกเห็น “คนไม่เท่ากัน”

ในการฟังให้ได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริงนั้น นอกจากเสียงภายในจะเงียบพอและเงี่ยหูฟังเป็น ยังอาจจะต้องได้ยินสิ่งที่ไม่ได้พูดด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก คุณค่าที่ผู้พูดยึดถือหรือให้ความสำคัญ และความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด ไม่ว่าจะเป็น “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ก็ล้วนแล้วแต่มาจากความต้องการพื้นฐานที่อยากให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่ฝ่ายแรกอาจจะรู้สึกไม่เชื่อถือหรือไว้วางใจกติกาเดิมของผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายหลังอาจจะรู้สึกไม่เชื่อถือหรือไว้วางใจกลุ่มคนที่เสนอตัวเข้ามาปฏิรูป ดังนั้น โจทย์ปัญหาพื้นฐานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายจึงอาจจะอยู่ที่การมีศรัทธาและความไว้วางใจต่อกันและกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญและจำเป็นในระบบนิเวศประชาธิปไตย

ในภาวะวิกฤตที่เต็มไปด้วยเสียงตะโกนเซ็งแซ่ การหยุดฟังกันบ้างจึงเป็นเรื่องจำเป็น แน่ล่ะ – อาจจะมีใครบางคนเริ่มโมโหหรือโกรธ และพร้อมจะต่อยตี ถ้าคนรอบข้างไม่ห้ามปราม ก็คงต่อยตีจนหัวร้างข้างแตก และถ้าใช้อาวุธที่รุนแรงขึ้น คนรอบข้างก็อาจจะถูกลูกหลง และ – บางครั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือความสงบเรียบร้อยก็จะต้องออกมาป้องปราม

คนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจแนวดิ่ง มักจะเคยชินกับวัฒนธรรมพูดออกคำสั่ง ซึ่งถ้าเขาหรือเธอรำคาญเสียงเซ็งแซ่ ก็อาจจะออกกฎหมายให้ผู้คนปิดปากเงียบ หรือคิดภาษีการพูดให้แพงลิบลิ่วที่สุดในโลก แต่การห้ามพูด – ย่อมไม่อาจหยุดเสียงความคิดความรู้สึกของผู้คนได้เลย ความคิดต่อต้าน ความรู้สึกไม่สยบยอม เมื่อขยายตัวมากขึ้น รวมตัวมากขึ้น ต่อให้มีอำนาจมากเพียงใด ก็ไม่อาจปกครองได้ ผู้มีอำนาจที่มีสติปัญญามักจะมีความกรุณาเป็นฐาน เขาหรือเธอย่อมเปิดพื้นที่ให้กับการฟัง เสริมสร้างบรรยากาศของความเคารพกันและกัน บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความรู้สึกปลอดภัยได้กว้างขวางขึ้น ผู้คนที่ไม่หวาดกลัว ย่อมแสดงสติปัญญาที่นำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่หวาดกลัวและก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในปิรามิดอำนาจ ย่อมรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ โกรธและโมโหต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจที่ปรากฏอยู่ แต่การแสดงอารมณ์ตอบสนองในท่วงทำนองเย้ยหยันเสียดสีประชดประชันต่อปรากฏการณ์รายวันย่อมไม่นำไปสู่หนทางของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน การพยายามทำความเข้าใจปัญหาอย่างเป็นองค์รวม เข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเสนอทางออกจากปัญหานั้นอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่ามาก

ในภาวะวิกฤต สถานการณ์สับสนซับซ้อนวุ่นวาย ความสงบรำงับภายในเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง การฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องจำเป็น หากเรายังเศร้าหมองโกรธเกรี้ยว ก็ย่อมชำระทุกข์และนำพาความสงบสุขมาสู่สังคมไม่ได้ ตราบที่เราไม่เข้าใจที่มาของความเศร้าหมองโกรธเกรี้ยวภายในตัวเรา เราก็ย่อมปฏิเสธและไม่เข้าใจคุณค่าที่ผู้อื่นยึดถือ สังคมของเราก็จะเต็มไปด้วยศัตรูมากกว่ามิตร เราก็จะกลายเป็นเผด็จการคนหูหนวกผู้กล้าหาญที่ถือดาบแห่งคุณธรรมเที่ยวไล่ฟาดฟันผู้อื่น แล้วก็พร่ำบูชาถึงความรักต่อเพื่อนมนุษย์และหรือศรัทธาต่อประชาธิปไตย

Back to Top