มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มีนาคม 2550
เรื่องเล่าที่เก่าแล้วมีอยู่ว่า เหตุเกิดบนทางด่วน รถเก๋งคันงามถูกรถกระบะไล่ตามกระชั้นชิด กดแตรดังลั่นและขับปาดหน้าให้หยุด คนขับรถเก๋งโกรธสุดขีด เมื่อเห็นคนขับรถกระบะวิ่งลงมาเคาะประตูรถ เขาหยิบปืนออกมา แล้วเปิดประตูรถออกไปประจันหน้า พร้อมที่จะสั่งสอนด้วยกระสุน ต่อความไร้มารยาทของคนขับรถกระบะ แต่แล้วเขาก็ต้องยกมือไหว้ขอโทษและขอบคุณ เมื่อได้รับการบอกเล่าว่าประตูรถด้านหลังข้างขวาปิดไม่สนิท เกรงว่าตอนเลี้ยวโค้งเร็วๆ เด็กเล็กที่ยืนอยู่ที่เบาะหลังจะได้รับอันตราย ถ้าประตูรถเปิดออก
คนปรารถนาดีกลับเกือบจะถูกยิงตาย เพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ผู้ส่งสารพยายามสื่อข้อความอย่างหนึ่ง ผู้รับสารมีพื้นฐานการคิดและรับความหมายของการสื่อสารไปอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคของการสื่อความ เช่น ผู้ส่งและผู้รับสารอยู่ในรถคนละคัน ความเร็วของรถ เสียงแตรที่มักจะถูกตีความในทางลบ และประสบการณ์จากข่าววิวาทกันของคนใจร้อน ทำให้เรื่องที่ดีงามเกือบกลายเป็นเรื่องน่าสลดใจ
ความไม่เข้าใจกันนั้น ทำให้คนต่างกลุ่มต่างมีความลังเล สงสัย ยอมรับไม่ได้ ไม่เชื่อถือ หวาดระแวง จนกลายเป็นความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ที่แย่กว่านั้นก็คือ บางคนไม่เข้าใจแม้แต่ตนเอง คิดอย่างหนึ่ง แต่พูดตรงกันข้าม แล้วก็มาเสียใจภายหลังว่า เรานี้หนอ พูดอะไรออกไป ไม่ควรเลย
สังคมไทยทุกวันนี้มีแต่เรื่องร้อนใจ บางครั้งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ พอให้รู้สึกหงุดหงิด แต่บ่อยครั้งเป็นเหตุการณ์รุนแรง น่าสลดใจ น่ากลัว ผู้คนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดขึ้น ใครเป็นคนทำ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป
ความไม่เข้าใจกัน เกิดขึ้นได้ทั้งโดยธรรมชาติความสัมพันธ์ของมนุษย์ และเกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ที่สร้างเรื่อง บิดเบือน สร้างกลลวง อย่างจงใจ เพื่อเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความประสงค์ดีหรือร้าย
เมื่อคนคนหนึ่งขาดความรู้ ข้อมูล และอยู่ห่างไกลจากศูนย์ข่าวสาร แม้จะได้รับการอธิบาย บอกเล่า ได้รับแจกเอกสารท่วมท้น แต่สาระที่ส่งออกมานั้นอยู่ห่างไกลจากประสบการณ์ในชีวิตของเขา แน่นอนที่สุด เขาย่อมไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ จะให้เขายอมรับหรือตัดสินใจย่อมทำได้ยาก
แต่ละคนล้วนมีความคิด ความเชื่อ ทรรศนะ เป็นของตนเอง หลายคนยึดติดจนยากที่จะปล่อยวาง ความยึดติดเป็นสิ่งขวางกั้นจิตใจที่ต้องเปิดกว้าง ขาดการยอมรับความแตกต่างทางรูปลักษณ์และทางความคิด เกิดการแบ่งแยกว่านั่นเขานี่เรา ถ้าคิดเหมือนเราก็เป็นพวกเรา ถ้าคิดต่อต้านก็ต้องต่อสู้กัน
หลักการพื้นฐานก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าคนหนึ่งแสดงความคิดในการแก้ปัญหาตามหลักการหนึ่ง (ถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นหลักการที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม) แต่อีกคนหนึ่งแก้ปัญหาอย่างมีนัยแอบแฝง ไม่ตรงไปตรงมา จึงเกิดข้อมูลที่เปิดเผย และข้อมูลที่ซ่อนเร้น บิดเบือน การทำความเข้าใจกันระหว่างคน ๒ ประเภทนี้ จึงทำได้ยากยิ่ง พูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ ในที่สุดก็วงแตก แยกย้ายกันไป ทิ้งปัญหาค้างไว้ ไม่มีการแก้ไข
ย้อนคิดถึงเรื่องมโนธรรมสำนึก คนที่มีจิตเล็กแต่อัตตาตัวตนใหญ่ ย่อมแสวงหาความเด่นและความดังอยู่ตลอดเวลา จิตที่ติดอยู่กับปมเด่นนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่งเรียกว่ามานะ ซึ่งปัจจุบันมีความหมายเพี้ยนไปว่าหมายถึงความเพียร ท่านเน้นว่า มานะไม่ใช่ตัวความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้เพียร ซึ่งถ้านำมาใช้ประกอบกับฉันทะ ก็ส่งเสริมไปในทางดี แต่ถ้านำมาประกอบกับตัณหา ก็กลายเป็นการปลุกเร้าให้ทะยานอยาก คืออยากได้ อยากเด่น อยากเป็น อยากโก้ อยากยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น
คนที่มีปมเด่นเช่นนี้ ย่อมประเมินตนเองสูงกว่าที่เป็นจริง เขาจึงมีความทุกข์ ไม่สมหวังอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมตนจึงไม่ได้รับการยกย่อง ขาดการยอมรับ คนที่ถือดีจึงดื้อดึง เข้าใจยาก จำเป็นต้องฝึกคิดวิเคราะห์ตนเอง เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่น รู้จักละวางและเปิดใจกว้าง เพื่อว่าจะได้อยู่ร่วมกับคนธรรมดาอื่นๆ อย่างเข้าใจกัน
ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นบ่อยมาก เมื่อต่างคนก็ยึดประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ สำนวนหนึ่งที่เราใช้พูดกันอยู่เสมอคือ “เมื่อผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย”
เมื่อมีเงินงบประมาณการศึกษาอยู่ก้อนหนึ่ง รัฐมีนโยบายว่าคนมั่งมีต้องจ่าย คนยากไร้เรียนฟรี แค่คิดก็ยุ่งแล้ว เพราะครอบครัวที่มีบ้างไม่มีบ้างก็ต้องการเรียนฟรีเช่นกัน ส่วนมากเชื่อว่าครอบครัวไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก การอธิบายเรื่องนี้ยากมาก ยากที่จะเข้าใจกันว่าใครต้องรับผิดชอบ ต้องจ่าย และทุกคนก็ไม่อยากจ่าย
คนมั่งมีกับคนจนเป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเอาเรื่องการได้และการเสียประโยชน์มาถกเถียง ยากมากที่จะเข้าใจกัน
กุญแจไขปัญหานี้คือความเมตตา เสียสละ จิตใจที่มุ่งช่วยเหลือเกื้อกูล และคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม
จิตเมตตาต่อกันย่อมทำให้การยื้อแย่งอ่อนโยนลง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายน่าจะ “ฟัง” เหตุผลของกันและกัน
ความไม่เข้าใจกันนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากในบ้านเมืองของเรา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงานเทศกิจกับหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า
ครูมัธยมศึกษาไม่เข้าใจวิธีคิดของครูประถมศึกษา
ตำรวจจราจรกับคนขับรถแท็กซี่เป็นคู่ปรับกัน
คนสร้างเขื่อนกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตกลงกันไม่ได้
หรือที่น่าวิตก เป็นเรื่องใหญ่ก็คือความไม่เข้าใจกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม คนต่างสถานะทางเศรษฐกิจ คนล้นโอกาสกับคนด้อยโอกาส
ถ้าใช้เงินและอำนาจเป็นหลักคิด ตัวตนย่อมเป็นใหญ่ จิตใจเป็นเรื่องเล็ก พูดกันอย่างไรก็ไม่เข้าใจ
เราจึงไม่ต้องไปค้นหาความเข้าใจจากที่ไหน มันอยู่ที่ใจของเราเอง
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงอธิบายวิธีอบรมใจ ไว้ตอนหนึ่งว่า
“... อยู่ด้วยกันมาก ก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง ผิดใจกันบ้าง เมื่อเขาไม่ทำตามใจเรา เราก็โกรธ ทำไมไม่คิดว่าเพราะเราไม่ทำตามใจเขาต่างหาก จะให้เขาเอาใจเราข้างเดียว อย่างนี้ไม่ยุติธรรม ควรหาทางกลางเพื่อปรองดองกัน คือเขาหย่อนใจมาให้เราบ้าง เราก็หย่อนใจไปให้เขาบ้าง ทุกฝ่ายไม่เอาแต่ใจของตนข้างเดียว ก็จะไม่โกรธกัน และควรคิดตั้งปรารถนาดีต่อกันด้วยเมตตาจิต...”
การฝึกเข้าใจคนอื่นนี้เป็นแบบฝึกหัดที่ยากนักหนา เพราะต้องค้นหาให้ได้ว่าความจริงในตัวเขาและตัวเราเป็นอย่างไร บริบทสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด
แบบฝึกที่หนึ่ง คือการฝึกสติ ควบคุมกิริยาให้รู้จักนิ่ง ดูอย่างพิจารณา ฟังอย่างใคร่ครวญรอบด้าน และพูดด้วยปิยวาจา
แบบฝึกที่สอง คือการฝึกคิดอย่างถูกต้องแยบคาย เพื่อค้นหาเหตุผล เงื่อนไข และแนวปฏิบัติตามความเป็นจริง
แบบฝึกที่สาม คือการแสวงหาและการกลั่นกรองใช้ข้อมูล ความรู้ หลักการ มาประกอบการคิดวินิจฉัย เพื่อจิตใจของเราจะได้อ่อนน้อมยอมรับผู้อื่น
ท่ามกลางข่าวสารที่สับสนในสังคมไทยขณะนี้ ผู้เขียนรู้สึกกังวลและห่วงใยอยู่ลึกๆ มองเห็นภาพฝูงชน ๒ กลุ่ม ซึ่งภายในแต่ละกลุ่มก็ยังแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ทุ่มเถียงทุบถองกันอยู่
คน ๒ กลุ่มใหญ่นี้ กำลังเดินมาจากฟากฝั่งความคิดที่ตรงกันข้าม มาพบกันที่กลางสะพาน
เบื้องล่างคือแม่น้ำกว้างใหญ่ไหลเชี่ยวกราก คลื่นใต้น้ำปั่นป่วนอย่างบ้าคลั่ง
เบื้องบนนั้นเล่าก็กำลังมีพายุพัดกระหน่ำรุนแรง ฝนตกหนัก มีเสียงฟ้าผ่าเป็นระยะๆ
คนทั้ง ๒ กลุ่มก็หาได้รู้สึกอะไรไม่ ต่างฝ่ายก็ด่าทอขับไล่อีกฝ่ายหนึ่งให้ถอยออกไป หักล้างกันด้วยอารมณ์
คิดบ้างหรือไม่ว่า เมื่อสะพานพังครืนลงมา ทุกคนก็จะตกจมล้มตายกันหมด ก่อนตายก็คงจะซัดทอดกันว่าใครทำสะพานพัง
ร้องเพลงรักกันไว้เถิดสักร้อยเที่ยวก็ไม่ช่วยอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจกัน
ได้โปรดเถิด กรุณาตั้งสติฟังกันสักนิด ใช้ปัญญาตรองสักหน่อย อย่าปล่อยให้บ้านเมืองล่มจมไปต่อหน้าเลย
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มีนาคม 2550
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยตั้งโจทย์ให้กับนักศึกษาและตนเองว่า ในยุคสมัยของเรานี้ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร หากลองจินตนาการถึงสังคมสันติภาพ จะเป็นไปได้ไหม และภาพของสังคมสันติภาพเป็นอย่างไร นักศึกษาบางคนบอกว่า นึกไม่ออก บางคนบอกว่า นึกออก ผู้เขียนลองชวนให้จินตนาการต่อไปว่า แล้วจะทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นได้อย่างไร บางคนบอกว่า ยาก บางคนบอกว่า ง่ายนิดเดียว
หากมนุษย์ร่วมกันใคร่ครวญสักประเดี๋ยวว่า สังคมเรา ประเทศเรา โลกเรา และจักรวาลของเรานั้น มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าร้อยล้านปี มีกระบวนการจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีวาระและเจตจำนงที่ซ่อนเร้น น่าพิศวงอย่างยิ่ง จักรวาลเป็นแหล่งรวมข้อมูล ที่เต็มอิ่มไปด้วยจิตวิญญาณและความคิดเช่นนั้น อยู่อย่างนั้น สาเหตุในอาการป่วยของมนุษย์และโลกอยู่ตรงนั้น ยารักษาและทางแก้ก็อยู่ตรงนั้น โลกป่วย เราจึงป่วย ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราป่วย โลกก็ย่อมป่วยไปด้วย เพียงแต่มนุษย์ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น จึงจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบ เพราะหากไม่เรียนรู้ ก็จะทุกข์ทรมานร่วมกันอย่างนั้นร่ำไป
บางคนบอกว่าเป็นเรื่องยาก ไม่เข้าใจ นึกไม่ออก อาจารย์ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ย่อมจะกล่าวว่า การรู้สึกว่าไม่เข้าใจนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้เมื่อไม่เข้าใจและนึกไม่ออก ทางแก้ไขคือ การเรียนรู้ให้เข้าใจ ซึ่งก็จะเกิดคำถามอีกว่า แล้วจำเป็นด้วยหรือ? นักคิดนักปราชญ์ทั้งหลายย่อมจะตอบว่า จำเป็น เพราะความรู้ที่มีอยู่บนโลกทั้งหมด ยังไม่สามารถแก้ไขวิกฤตต่างๆ ได้ มนุษย์ทุกคนจึงต้องเรียนรู้ต่อไป ค้นคว้าร่วมกันต่อไป
ดังนั้น คนเราจึงมีสิทธิ์ในการเรียนรู้อยู่ทุกขณะ โดยเริ่มจากการเรียนรู้ในความผิดพลาด ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้นจะไม่รังเกียจความผิดพลาดแต่อย่างใด เมื่อเห็นความผิดพลาดโตๆ แล้วจะต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป เพื่อทำให้ความผิดพลาดลดน้อยลง ในทางพุทธ พระท่านบอกให้เรียนรู้ทุกข์ ชาวพุทธเป็นนักสู้ ความทุกข์อยู่ที่ไหน ต้องเข้าไปเรียนรู้ที่นั่น แล้วจดจำสภาวะไว้ เมื่อนั้นสติจะเกิดขึ้นเอง ความทุกข์และความผิดพลาดจึงเป็นครู มีอยู่ เกิดขึ้น แล้วดับไป เมื่อเรียนรู้ทุกข์ก็จะพบความจริง แล้วบังเกิดอิสรภาพ
ในหนังสือของอาจารย์ประสาน ต่างใจ เรื่อง เอกภาพของชีวิตกับจักรวาล กล่าวว่า “มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งหลายในรูปแบบที่เป็นปัจเจกลักษณะ ล้วนอุบัติขึ้นมาจากผลรวมของการโผล่ปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับด้วยกันเช่นนั้น” หมายความว่า ไม่มีสิ่งใดแยกขาดจากกันเลยแม้สักวินาทีเดียว ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งทางนิเวศน์ สังคม การเมือง และอารยธรรม ไม่ได้แยกขาดออกจากกันเลย ดังนั้น ก็ย่อมจะมีนักการเมืองที่เราชอบหรือไม่ชอบปะปนกันไป หรือมีข้อมูลที่เราชอบและไม่ชอบในแต่ละวันให้ได้รับรู้รับฟัง เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้มากมาย ก็ต้องแก้ไขกันไป กระทั่งภัยธรรมชาติ โรคระบาด มหันตภัยไฟป่า ไข้หวัดนก สึนามิ เอลนิลโญ สงครามและความรุนแรง ล้วนเป็นรูปธรรมของความน่ารันทดอดสูใจ ที่มนุษย์ควรเรียนรู้ และมีความละอายใจร่วมกัน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเดียวกัน ในขณะนั้นเอง ที่ความหวัง ความรู้สึก และจินตนาการไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้าย่อมจะบังเกิดขึ้นได้ ความทุกข์-ความสุขเกิดขึ้นเป็นจังหวะ เล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไป ตามลำดับของระบบตั้งแต่เล็กๆ ไปถึงระบบใหญ่ๆ เช่น ระบบจุลินทรีย์ไปถึงระบบจักรวาล หากมนุษย์เรียนรู้และเข้าใจได้ จะเกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ และความสุขอันใหญ่หลวง เมื่อนั้นการตระหนักรู้ถึงหน้าที่ที่พึงกระทำ จะปรากฏขึ้นมาเองในมโนสำนึกของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม
ในยุคสมัยของเรานี้ การจินตนาการถึงแผ่นดินอันอุดมชุ่มชื้น ไม่แห้งแล้ง ไม่แร้นแค้น และมีสันติภาพนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โลกทั้งใบที่เขียวขจีจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรใคร่ครวญและศึกษา เพราะในไม่ช้าโลกภายในจิตใจของเราจะนำพาออกไปสู่โลกภายนอก ผ่านมือของเรา กายของเรา ที่รับหน้าที่ไปได้อย่างเข้าใจ อย่างมีคุณภาพ อย่างเข้าถึงความจริง ที่ทุกสิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มั่นอกมั่นใจในการประกอบอาชีพอันสุจริต ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในฐานะที่ต่างก็เป็นทรัพยากรของจักรวาลเท่าๆ กัน
หลายสิ่งหลายอย่างในความเป็นมนุษย์นั้น น่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะแม้มนุษย์จะเป็นระบบเล็ก ๆ ระบบหนึ่ง แต่ก็เป็นตัวแทนของจักรวาลพอๆ กับสิ่งอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่บนโลก ภายในจิตใจมนุษย์นั้นมีธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ยากแท้หยั่งถึง มีทั้งสิ่งที่รู้ได้และไม่สามารถรู้ได้ โผล่ปรากฏสลับกันตลอดเวลา เขามี เราก็มี ซึ่งจะทำให้เกิดความละอายต่อกัน สงสารกัน เท่าๆ กับศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของกันและกันจริงๆ ตลอดจนเชื่อมั่นได้ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ แม้จะเป็นมิตรหรือศัตรู ย่อมจะให้อภัยกัน เมื่อนั้นสันติภาพจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
บางคนบอกว่า ยาก ผู้เขียนเองนั้นมีความรู้น้อย ได้แต่อ้างครูบาอาจารย์ ซึ่งท่านแนะนำว่า ให้ใช้ความเพียรในการศึกษา มีจินตนาการเป็นอาหารหล่อเลี้ยง มีสติเป็นเครื่องคุ้มกัน ค่อยๆ เรียนรู้ไป และท่านเน้นย้ำว่าอย่าละความเพียร โดยท่านเหล่านั้นคนแล้วคนเล่า ได้เตรียมเครื่องมือในการเรียนรู้ไว้ให้คนรุ่นเราอย่างมากมายอยู่แล้ว เช่น การเจริญสติ ภาวนา สุนทรียสนทนา และการฟังอย่างลึกซึ้ง เหล่านี้จะทำให้มนุษย์น้อมตัวน้อมใจมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไขสังคมกันต่อไป จากที่มันไม่ดี ก็ทำให้มันดีได้โดยไม่ต้องทำร้ายหรือฆ่าฟันกัน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องใช้จินตนาการให้เกิดภาพใหญ่ร่วมกัน ไม่ใช่ภาพของคนใดคนหนึ่งที่เสกสรรปั้นแต่งออกมาอยู่คนเดียว และเมื่อมนุษย์สามารถวางใจให้เกิดจินตภาพร่วมกับผู้อื่นได้ ก็จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมลดทอนภาพใหญ่ของตนเอง และไม่เหนื่อยหน่ายกับการเริ่มทำอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากความเคยชินเดิมๆ
จากไม่ดีก็ทำให้ดีได้ ดังหนังสือ เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ท่านกล่าวว่า “ทำโต๊ะทำเตียง... เหมือนกับไม้ กว่าจะเอามาทำโต๊ะทำเตียงได้มันยากลำบากก็ช่างมัน มันต้องผ่านตรงนั้น จะเป็นโต๊ะเป็นเตียงได้ก็ต้องผ่านของหยาบๆ มาก่อน เราทั้งหลายก็เช่นกัน เอาแต่ของที่ยังไม่เป็นมาทำให้เป็น ที่ยังไม่งามมาทำให้งาม ที่ยังใช้ไม่ได้มาทำให้ใช้ได้” โลกแห้งแล้งก็ทำให้ชุ่มชื้นได้ สังคมที่ใช้ไม่ได้ก็ทำให้ใช้ได้ แต่จะทำให้งดงามได้อย่างไร ก็คงเหมือนกับงานออกแบบบ้านของสถาปนิก ที่ย่อมต้องใช้จินตนาการ...
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 10 มีนาคม 2550
ตามที่ท่านผู้อ่านก็คงพอจะได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ “จิตตปัญญาศึกษา” หรือ “การศึกษาด้วยใจที่ใคร่ครวญ” ไปบ้างแล้วว่าจะเป็นเรื่องที่ “มีความสำคัญมาก” ต่อ “ระบบการศึกษาในอนาคตอันใกล้” นี้เพราะ “ความเข้าใจตัวตนด้านใน” ของผู้เรียนนั้นเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาทั่วๆ ไปที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทุกระดับตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงปริญญาเอกยังขาดแคลนเป็นอย่างมาก
ความคืบหน้าที่เป็น “รูปธรรม” หนึ่งที่ได้เกิดขึ้นมา “จากการคิดร่วมกัน” ของผู้ใหญ่หลายๆ ท่านโดยเฉพาะท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ท่าน ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ก็คือได้เกิด “ทีมงาน” ที่ร่วมกันทำงาน ร่วมกันศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน โดยทีมงานทั้งหมดร่วมสามสิบกว่าท่านนั้นได้ “ลงไม้ลงมือศึกษา” ด้วยตัวเอง นำพาตัวของพวกเขาไปศึกษาร่วมกันในศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึง “ความเป็นจิตตปัญญาศึกษา” ในขณะเดียวกันก็มีทีมที่จะทำวิจัยร่วมประกบกับการลงมือศึกษาจริงของทีมงานเหล่านี้ไปด้วย
“ทีมงาน” เหล่านี้ประกอบด้วยการ “ร่วมมือกัน” ของพันธมิตรหลายส่วนได้แก่ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี, ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์, ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา, ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ และคนอื่นๆ จากมหาวิทยาลัยมหิดล อ.ประภาภัทร นิยม จากอาศรมศิลป์ คุณปรีดา เรืองวิชาธร จากเสมสิกขาลัย ณัฐฬส วังวิญญู จากสถาบันขวัญเมือง คุณจิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร จากสัตยาไส รวมไปถึงอีกหลายท่านจากศูนย์คุณธรรม จากเสถียรธรรมสถาน จากหาดใหญ่และคนอื่นๆ
ทีมงานเหล่านี้ได้ตกลงกันที่จะทำการศึกษาร่วมกันโดยจัดให้มี “กระบวนการเรียนรู้” ในเรื่องราวต่างๆ ที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับ “จิตตปัญญาศึกษา” ทั้งหมดสิบครั้งโดยเริ่มตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา และเมื่อถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ก็จะประชุมร่วมกันเพื่อ “หาแกนหลัก” หรือ “แก่นแท้ของความเป็นจิตตปัญญาศึกษา” เท่าที่เป็นไปได้ที่คงจะไม่ใช่ “ข้อสรุปตายตัว” ว่าจิตตปัญญาศึกษาจะต้องเป็นแบบนี้แบบนั้นเท่านั้น
และเรื่องราวที่เป็น “รูปธรรมสำคัญ” ที่คาบเกี่ยวไปด้วยกันก็คือ “การร่างหลักสูตร” เพื่อใช้จริงกับนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่คิดว่าจะตั้งเป็นหลักสูตรสำหรับนักศึกษาปริญญาโทในเบื้องต้น
ในช่วงวันที่ ๒๑ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมาก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทีมงานจิตตปัญญาศึกษาได้มาร่วมเรียนรู้กับทางสถาบันขวัญเมืองที่เชียงรายเป็นเวลา ๕ วัน
สิ่งที่ผมได้สัมผัสกับทีมจิตตปัญญาศึกษาทีมนี้ ก็คือ
เป็นทีมที่ “มีความพร้อมมาก” ในเรื่องการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่แต่ละคนมีความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ในแวดวงของการเรียนรู้ด้านใน แต่ก็มีความตั้งใจเปิดใจเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมมาก ทำให้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของพวกเราที่เชียงรายในครั้งนั้นเกิดผลขึ้นในเวลาที่รวดเร็วมาก
ทีมนี้ได้รวม “ยังเติร์ก” ของระบบการศึกษาเป็นอย่างดี ดังที่ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ได้พูดเปรียบเทียบไว้ว่าเสมือนหนึ่งเป็นการ “ส่งมอบคบไฟ” ของคนในรุ่นที่อาวุโสกว่าอย่างท่าน อ.หมอประเวศ อ.สุมน อ.ประภาภัทร ฯลฯ เพื่อมอบหมายให้ “คนรุ่นใหม่” เหล่านี้ได้ทำหน้าที่ “ถือคบไฟ” ต่อไปอย่างก้าวหน้าถูกทิศถูกทางและหนักแน่นมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ผมพบ “ปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลง” บางอย่างที่เกิดขึ้นกับทีมจิตตปัญญาศึกษานี้ในช่วงเวลา ๕ วันที่พวกเราเรียนรู้ร่วมกันอยู่สองสามประการคือ
หนึ่ง ไม่มากก็น้อย ผู้คนในทีมนี้รู้สึกว่าตัวเองและทีม “ถูกคาดหวัง” จากผู้ใหญ่ (บางท่าน) หรือจากผู้ให้ทุนจากสังคมหรือใครก็ตาม “ค่อนข้างมาก” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะคิดไปเองก็ได้นะครับ แต่ที่แน่ๆ คือ “ผู้คนในทีมนี้” ได้ “รับรู้ภาระนี้” ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก คือถ้าผู้คนในทีมได้รับรู้ “ความคาดหวัง” ที่ไม่ว่าจะมาจากอะไรก็ตาม แล้วเขา “แปลผล” ให้เป็น “สิ่งที่ให้คุณค่า” หรือ “สิ่งที่ให้ความสำคัญกับการทำงานในชีวิต” เรื่องราวก็จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และมีพลัง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาเหล่านี้ “แปลผล” ไปเป็น “สิ่งที่กดทับหรือภารกิจที่หนักอึ้ง” มันก็อาจจะเหมือนกับเวลาที่นักกีฬาไทยถูกคาดหวังว่าจะได้กี่เหรียญๆ อะไรแบบนั้นกระมัง
ประการที่สอง ทีมนี้เป็นทีมที่มีการพัฒนาการเรื่อง “ความคิด” ที่เป็นไปอย่างล้ำลึกมาก แต่ความสมดุลเรื่องฐานกายหรือปัญญากายอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิด “พลังชีวิต” ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิด “แรงบันดาลใจ” และ “ความมุ่งมั่น” ที่ “สม่ำเสมอเพียงพอ” ในการทำงานและดำเนินชีวิต กิจกรรมที่เพิ่มและเสริมสร้างปัญญากายเพื่อ “เพิ่มพลังชีวิต” จึงมีความหมาย และผมพบว่าหลายๆ คนได้เริ่มเห็นความสำคัญ และหลายๆ คนเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองในเรื่อง “พลังชีวิต”
สาม ผมต้องขอพูดอย่างไม่เกรงใจแต่ด้วยความปรารถนาดีว่า ความเป็นทีมของทีมจิตตปัญญาศึกษาในช่วงเวลาที่พบนั้น ยังเป็นแค่คนมาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้เฉพาะในงานอบรมหรือประชุมกันเพื่อทำงานเท่านั้น แต่ “ความเป็นชุมชน” ยังไม่ได้ก่อเกิด “มากพอ” ที่จะทำให้เกิด “การเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง”
อย่างไรก็ตาม ในวันสุดท้ายของเวิร์คชอปที่พวกเราเรียนรู้ร่วมกัน ผมพบว่าการมาเชียงรายของทีมจิตตปัญญาศึกษาในช่วงนี้ได้ทำให้ “ภาระทางใจ” เรื่อง “ความคาดหวัง” จากหลายๆ ส่วนของทีมนี้ “ลดน้อยลง” และ “แปรสภาพ” เป็นพลังด้านบวก “ไม่น้อยเลย” หลายๆ ท่านเห็นความสำคัญของ “ปัญญากาย” และผมยังพบว่าทีมนี้กำลังมีการก่อเกิด “ความเป็นชุมชน” หรือกำลังก่อเกิด “ความเป็นชนเผ่าจิตตปัญญาศึกษา” เพราะเรื่องนี้จะเป็น “หัวใจที่สำคัญที่สุด” ที่จะทำให้ “ทีมจิตตปัญญาศึกษา” นี้อยู่ด้วยกันได้ ทำ “งานที่แท้จริง” ร่วมกันได้สำเร็จ
คำว่า “งานที่แท้จริง” นั้นอาจจะไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่า “ทำงานเสร็จ” ไปตามโครงการที่วางไว้กับผู้ให้ทุนเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึง “การทำงานร่วมกันได้แบบร่วมกันจริงๆ” “อยู่ร่วมกันได้” และสามารถ “สร้างคนใหม่ๆ” หรือ “คนรุ่นใหม่” ให้เกิดขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ
ให้สมดั่งความตั้งใจของเหล่าผู้อาวุโสที่ได้ “มอบหมายคบไฟ” มาให้กับคนรุ่นนี้ เพื่อจะได้ฉายแสงและส่องทางที่ถูกต้องให้แก่สังคมไทยต่อไป โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็น “ภาระที่หนักอึ้ง” แต่เป็น “ภารกิจที่เต็มใจรับมอบ”
ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะที่ได้เกิดมาในโลกใบนี้