ความคืบหน้าของจิตตปัญญาศึกษา

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 10 มีนาคม 2550

ตามที่ท่านผู้อ่านก็คงพอจะได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ “จิตตปัญญาศึกษา” หรือ “การศึกษาด้วยใจที่ใคร่ครวญ” ไปบ้างแล้วว่าจะเป็นเรื่องที่ “มีความสำคัญมาก” ต่อ “ระบบการศึกษาในอนาคตอันใกล้” นี้เพราะ “ความเข้าใจตัวตนด้านใน” ของผู้เรียนนั้นเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาทั่วๆ ไปที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทุกระดับตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงปริญญาเอกยังขาดแคลนเป็นอย่างมาก

ความคืบหน้าที่เป็น “รูปธรรม” หนึ่งที่ได้เกิดขึ้นมา “จากการคิดร่วมกัน” ของผู้ใหญ่หลายๆ ท่านโดยเฉพาะท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ท่าน ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ก็คือได้เกิด “ทีมงาน” ที่ร่วมกันทำงาน ร่วมกันศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน โดยทีมงานทั้งหมดร่วมสามสิบกว่าท่านนั้นได้ “ลงไม้ลงมือศึกษา” ด้วยตัวเอง นำพาตัวของพวกเขาไปศึกษาร่วมกันในศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึง “ความเป็นจิตตปัญญาศึกษา” ในขณะเดียวกันก็มีทีมที่จะทำวิจัยร่วมประกบกับการลงมือศึกษาจริงของทีมงานเหล่านี้ไปด้วย

“ทีมงาน” เหล่านี้ประกอบด้วยการ “ร่วมมือกัน” ของพันธมิตรหลายส่วนได้แก่ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี, ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์, ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา, ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ และคนอื่นๆ จากมหาวิทยาลัยมหิดล อ.ประภาภัทร นิยม จากอาศรมศิลป์ คุณปรีดา เรืองวิชาธร จากเสมสิกขาลัย ณัฐฬส วังวิญญู จากสถาบันขวัญเมือง คุณจิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร จากสัตยาไส รวมไปถึงอีกหลายท่านจากศูนย์คุณธรรม จากเสถียรธรรมสถาน จากหาดใหญ่และคนอื่นๆ

ทีมงานเหล่านี้ได้ตกลงกันที่จะทำการศึกษาร่วมกันโดยจัดให้มี “กระบวนการเรียนรู้” ในเรื่องราวต่างๆ ที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับ “จิตตปัญญาศึกษา” ทั้งหมดสิบครั้งโดยเริ่มตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา และเมื่อถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ก็จะประชุมร่วมกันเพื่อ “หาแกนหลัก” หรือ “แก่นแท้ของความเป็นจิตตปัญญาศึกษา” เท่าที่เป็นไปได้ที่คงจะไม่ใช่ “ข้อสรุปตายตัว” ว่าจิตตปัญญาศึกษาจะต้องเป็นแบบนี้แบบนั้นเท่านั้น
และเรื่องราวที่เป็น “รูปธรรมสำคัญ” ที่คาบเกี่ยวไปด้วยกันก็คือ “การร่างหลักสูตร” เพื่อใช้จริงกับนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่คิดว่าจะตั้งเป็นหลักสูตรสำหรับนักศึกษาปริญญาโทในเบื้องต้น

ในช่วงวันที่ ๒๑ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมาก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทีมงานจิตตปัญญาศึกษาได้มาร่วมเรียนรู้กับทางสถาบันขวัญเมืองที่เชียงรายเป็นเวลา ๕ วัน

สิ่งที่ผมได้สัมผัสกับทีมจิตตปัญญาศึกษาทีมนี้ ก็คือ

เป็นทีมที่ “มีความพร้อมมาก” ในเรื่องการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่แต่ละคนมีความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ในแวดวงของการเรียนรู้ด้านใน แต่ก็มีความตั้งใจเปิดใจเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมมาก ทำให้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของพวกเราที่เชียงรายในครั้งนั้นเกิดผลขึ้นในเวลาที่รวดเร็วมาก

ทีมนี้ได้รวม “ยังเติร์ก” ของระบบการศึกษาเป็นอย่างดี ดังที่ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ได้พูดเปรียบเทียบไว้ว่าเสมือนหนึ่งเป็นการ “ส่งมอบคบไฟ” ของคนในรุ่นที่อาวุโสกว่าอย่างท่าน อ.หมอประเวศ อ.สุมน อ.ประภาภัทร ฯลฯ เพื่อมอบหมายให้ “คนรุ่นใหม่” เหล่านี้ได้ทำหน้าที่ “ถือคบไฟ” ต่อไปอย่างก้าวหน้าถูกทิศถูกทางและหนักแน่นมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ผมพบ “ปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลง” บางอย่างที่เกิดขึ้นกับทีมจิตตปัญญาศึกษานี้ในช่วงเวลา ๕ วันที่พวกเราเรียนรู้ร่วมกันอยู่สองสามประการคือ

หนึ่ง ไม่มากก็น้อย ผู้คนในทีมนี้รู้สึกว่าตัวเองและทีม “ถูกคาดหวัง” จากผู้ใหญ่ (บางท่าน) หรือจากผู้ให้ทุนจากสังคมหรือใครก็ตาม “ค่อนข้างมาก” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะคิดไปเองก็ได้นะครับ แต่ที่แน่ๆ คือ “ผู้คนในทีมนี้” ได้ “รับรู้ภาระนี้” ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก คือถ้าผู้คนในทีมได้รับรู้ “ความคาดหวัง” ที่ไม่ว่าจะมาจากอะไรก็ตาม แล้วเขา “แปลผล” ให้เป็น “สิ่งที่ให้คุณค่า” หรือ “สิ่งที่ให้ความสำคัญกับการทำงานในชีวิต” เรื่องราวก็จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และมีพลัง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาเหล่านี้ “แปลผล” ไปเป็น “สิ่งที่กดทับหรือภารกิจที่หนักอึ้ง” มันก็อาจจะเหมือนกับเวลาที่นักกีฬาไทยถูกคาดหวังว่าจะได้กี่เหรียญๆ อะไรแบบนั้นกระมัง

ประการที่สอง ทีมนี้เป็นทีมที่มีการพัฒนาการเรื่อง “ความคิด” ที่เป็นไปอย่างล้ำลึกมาก แต่ความสมดุลเรื่องฐานกายหรือปัญญากายอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิด “พลังชีวิต” ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิด “แรงบันดาลใจ” และ “ความมุ่งมั่น” ที่ “สม่ำเสมอเพียงพอ” ในการทำงานและดำเนินชีวิต กิจกรรมที่เพิ่มและเสริมสร้างปัญญากายเพื่อ “เพิ่มพลังชีวิต” จึงมีความหมาย และผมพบว่าหลายๆ คนได้เริ่มเห็นความสำคัญ และหลายๆ คนเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองในเรื่อง “พลังชีวิต”

สาม ผมต้องขอพูดอย่างไม่เกรงใจแต่ด้วยความปรารถนาดีว่า ความเป็นทีมของทีมจิตตปัญญาศึกษาในช่วงเวลาที่พบนั้น ยังเป็นแค่คนมาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้เฉพาะในงานอบรมหรือประชุมกันเพื่อทำงานเท่านั้น แต่ “ความเป็นชุมชน” ยังไม่ได้ก่อเกิด “มากพอ” ที่จะทำให้เกิด “การเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ตาม ในวันสุดท้ายของเวิร์คชอปที่พวกเราเรียนรู้ร่วมกัน ผมพบว่าการมาเชียงรายของทีมจิตตปัญญาศึกษาในช่วงนี้ได้ทำให้ “ภาระทางใจ” เรื่อง “ความคาดหวัง” จากหลายๆ ส่วนของทีมนี้ “ลดน้อยลง” และ “แปรสภาพ” เป็นพลังด้านบวก “ไม่น้อยเลย” หลายๆ ท่านเห็นความสำคัญของ “ปัญญากาย” และผมยังพบว่าทีมนี้กำลังมีการก่อเกิด “ความเป็นชุมชน” หรือกำลังก่อเกิด “ความเป็นชนเผ่าจิตตปัญญาศึกษา” เพราะเรื่องนี้จะเป็น “หัวใจที่สำคัญที่สุด” ที่จะทำให้ “ทีมจิตตปัญญาศึกษา” นี้อยู่ด้วยกันได้ ทำ “งานที่แท้จริง” ร่วมกันได้สำเร็จ

คำว่า “งานที่แท้จริง” นั้นอาจจะไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่า “ทำงานเสร็จ” ไปตามโครงการที่วางไว้กับผู้ให้ทุนเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึง “การทำงานร่วมกันได้แบบร่วมกันจริงๆ” “อยู่ร่วมกันได้” และสามารถ “สร้างคนใหม่ๆ” หรือ “คนรุ่นใหม่” ให้เกิดขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ

ให้สมดั่งความตั้งใจของเหล่าผู้อาวุโสที่ได้ “มอบหมายคบไฟ” มาให้กับคนรุ่นนี้ เพื่อจะได้ฉายแสงและส่องทางที่ถูกต้องให้แก่สังคมไทยต่อไป โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็น “ภาระที่หนักอึ้ง” แต่เป็น “ภารกิจที่เต็มใจรับมอบ”

ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะที่ได้เกิดมาในโลกใบนี้

Back to Top