ต้องเข้าใจว่าทำไมไม่เข้าใจกัน

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มีนาคม 2550

เรื่องเล่าที่เก่าแล้วมีอยู่ว่า เหตุเกิดบนทางด่วน รถเก๋งคันงามถูกรถกระบะไล่ตามกระชั้นชิด กดแตรดังลั่นและขับปาดหน้าให้หยุด คนขับรถเก๋งโกรธสุดขีด เมื่อเห็นคนขับรถกระบะวิ่งลงมาเคาะประตูรถ เขาหยิบปืนออกมา แล้วเปิดประตูรถออกไปประจันหน้า พร้อมที่จะสั่งสอนด้วยกระสุน ต่อความไร้มารยาทของคนขับรถกระบะ แต่แล้วเขาก็ต้องยกมือไหว้ขอโทษและขอบคุณ เมื่อได้รับการบอกเล่าว่าประตูรถด้านหลังข้างขวาปิดไม่สนิท เกรงว่าตอนเลี้ยวโค้งเร็วๆ เด็กเล็กที่ยืนอยู่ที่เบาะหลังจะได้รับอันตราย ถ้าประตูรถเปิดออก

คนปรารถนาดีกลับเกือบจะถูกยิงตาย เพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ผู้ส่งสารพยายามสื่อข้อความอย่างหนึ่ง ผู้รับสารมีพื้นฐานการคิดและรับความหมายของการสื่อสารไปอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคของการสื่อความ เช่น ผู้ส่งและผู้รับสารอยู่ในรถคนละคัน ความเร็วของรถ เสียงแตรที่มักจะถูกตีความในทางลบ และประสบการณ์จากข่าววิวาทกันของคนใจร้อน ทำให้เรื่องที่ดีงามเกือบกลายเป็นเรื่องน่าสลดใจ

ความไม่เข้าใจกันนั้น ทำให้คนต่างกลุ่มต่างมีความลังเล สงสัย ยอมรับไม่ได้ ไม่เชื่อถือ หวาดระแวง จนกลายเป็นความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ที่แย่กว่านั้นก็คือ บางคนไม่เข้าใจแม้แต่ตนเอง คิดอย่างหนึ่ง แต่พูดตรงกันข้าม แล้วก็มาเสียใจภายหลังว่า เรานี้หนอ พูดอะไรออกไป ไม่ควรเลย

สังคมไทยทุกวันนี้มีแต่เรื่องร้อนใจ บางครั้งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ พอให้รู้สึกหงุดหงิด แต่บ่อยครั้งเป็นเหตุการณ์รุนแรง น่าสลดใจ น่ากลัว ผู้คนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดขึ้น ใครเป็นคนทำ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป

ความไม่เข้าใจกัน เกิดขึ้นได้ทั้งโดยธรรมชาติความสัมพันธ์ของมนุษย์ และเกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ที่สร้างเรื่อง บิดเบือน สร้างกลลวง อย่างจงใจ เพื่อเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความประสงค์ดีหรือร้าย

เมื่อคนคนหนึ่งขาดความรู้ ข้อมูล และอยู่ห่างไกลจากศูนย์ข่าวสาร แม้จะได้รับการอธิบาย บอกเล่า ได้รับแจกเอกสารท่วมท้น แต่สาระที่ส่งออกมานั้นอยู่ห่างไกลจากประสบการณ์ในชีวิตของเขา แน่นอนที่สุด เขาย่อมไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ จะให้เขายอมรับหรือตัดสินใจย่อมทำได้ยาก

แต่ละคนล้วนมีความคิด ความเชื่อ ทรรศนะ เป็นของตนเอง หลายคนยึดติดจนยากที่จะปล่อยวาง ความยึดติดเป็นสิ่งขวางกั้นจิตใจที่ต้องเปิดกว้าง ขาดการยอมรับความแตกต่างทางรูปลักษณ์และทางความคิด เกิดการแบ่งแยกว่านั่นเขานี่เรา ถ้าคิดเหมือนเราก็เป็นพวกเรา ถ้าคิดต่อต้านก็ต้องต่อสู้กัน

หลักการพื้นฐานก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าคนหนึ่งแสดงความคิดในการแก้ปัญหาตามหลักการหนึ่ง (ถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นหลักการที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม) แต่อีกคนหนึ่งแก้ปัญหาอย่างมีนัยแอบแฝง ไม่ตรงไปตรงมา จึงเกิดข้อมูลที่เปิดเผย และข้อมูลที่ซ่อนเร้น บิดเบือน การทำความเข้าใจกันระหว่างคน ๒ ประเภทนี้ จึงทำได้ยากยิ่ง พูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ ในที่สุดก็วงแตก แยกย้ายกันไป ทิ้งปัญหาค้างไว้ ไม่มีการแก้ไข

ย้อนคิดถึงเรื่องมโนธรรมสำนึก คนที่มีจิตเล็กแต่อัตตาตัวตนใหญ่ ย่อมแสวงหาความเด่นและความดังอยู่ตลอดเวลา จิตที่ติดอยู่กับปมเด่นนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่งเรียกว่ามานะ ซึ่งปัจจุบันมีความหมายเพี้ยนไปว่าหมายถึงความเพียร ท่านเน้นว่า มานะไม่ใช่ตัวความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้เพียร ซึ่งถ้านำมาใช้ประกอบกับฉันทะ ก็ส่งเสริมไปในทางดี แต่ถ้านำมาประกอบกับตัณหา ก็กลายเป็นการปลุกเร้าให้ทะยานอยาก คืออยากได้ อยากเด่น อยากเป็น อยากโก้ อยากยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น

คนที่มีปมเด่นเช่นนี้ ย่อมประเมินตนเองสูงกว่าที่เป็นจริง เขาจึงมีความทุกข์ ไม่สมหวังอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมตนจึงไม่ได้รับการยกย่อง ขาดการยอมรับ คนที่ถือดีจึงดื้อดึง เข้าใจยาก จำเป็นต้องฝึกคิดวิเคราะห์ตนเอง เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่น รู้จักละวางและเปิดใจกว้าง เพื่อว่าจะได้อยู่ร่วมกับคนธรรมดาอื่นๆ อย่างเข้าใจกัน

ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นบ่อยมาก เมื่อต่างคนก็ยึดประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ สำนวนหนึ่งที่เราใช้พูดกันอยู่เสมอคือ “เมื่อผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย”

เมื่อมีเงินงบประมาณการศึกษาอยู่ก้อนหนึ่ง รัฐมีนโยบายว่าคนมั่งมีต้องจ่าย คนยากไร้เรียนฟรี แค่คิดก็ยุ่งแล้ว เพราะครอบครัวที่มีบ้างไม่มีบ้างก็ต้องการเรียนฟรีเช่นกัน ส่วนมากเชื่อว่าครอบครัวไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก การอธิบายเรื่องนี้ยากมาก ยากที่จะเข้าใจกันว่าใครต้องรับผิดชอบ ต้องจ่าย และทุกคนก็ไม่อยากจ่าย

คนมั่งมีกับคนจนเป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเอาเรื่องการได้และการเสียประโยชน์มาถกเถียง ยากมากที่จะเข้าใจกัน

กุญแจไขปัญหานี้คือความเมตตา เสียสละ จิตใจที่มุ่งช่วยเหลือเกื้อกูล และคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม

จิตเมตตาต่อกันย่อมทำให้การยื้อแย่งอ่อนโยนลง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายน่าจะ “ฟัง” เหตุผลของกันและกัน

ความไม่เข้าใจกันนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากในบ้านเมืองของเรา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงานเทศกิจกับหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า

ครูมัธยมศึกษาไม่เข้าใจวิธีคิดของครูประถมศึกษา

ตำรวจจราจรกับคนขับรถแท็กซี่เป็นคู่ปรับกัน

คนสร้างเขื่อนกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตกลงกันไม่ได้

หรือที่น่าวิตก เป็นเรื่องใหญ่ก็คือความไม่เข้าใจกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม คนต่างสถานะทางเศรษฐกิจ คนล้นโอกาสกับคนด้อยโอกาส

ถ้าใช้เงินและอำนาจเป็นหลักคิด ตัวตนย่อมเป็นใหญ่ จิตใจเป็นเรื่องเล็ก พูดกันอย่างไรก็ไม่เข้าใจ

เราจึงไม่ต้องไปค้นหาความเข้าใจจากที่ไหน มันอยู่ที่ใจของเราเอง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงอธิบายวิธีอบรมใจ ไว้ตอนหนึ่งว่า

“... อยู่ด้วยกันมาก ก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง ผิดใจกันบ้าง เมื่อเขาไม่ทำตามใจเรา เราก็โกรธ ทำไมไม่คิดว่าเพราะเราไม่ทำตามใจเขาต่างหาก จะให้เขาเอาใจเราข้างเดียว อย่างนี้ไม่ยุติธรรม ควรหาทางกลางเพื่อปรองดองกัน คือเขาหย่อนใจมาให้เราบ้าง เราก็หย่อนใจไปให้เขาบ้าง ทุกฝ่ายไม่เอาแต่ใจของตนข้างเดียว ก็จะไม่โกรธกัน และควรคิดตั้งปรารถนาดีต่อกันด้วยเมตตาจิต...”

การฝึกเข้าใจคนอื่นนี้เป็นแบบฝึกหัดที่ยากนักหนา เพราะต้องค้นหาให้ได้ว่าความจริงในตัวเขาและตัวเราเป็นอย่างไร บริบทสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด

แบบฝึกที่หนึ่ง คือการฝึกสติ ควบคุมกิริยาให้รู้จักนิ่ง ดูอย่างพิจารณา ฟังอย่างใคร่ครวญรอบด้าน และพูดด้วยปิยวาจา

แบบฝึกที่สอง คือการฝึกคิดอย่างถูกต้องแยบคาย เพื่อค้นหาเหตุผล เงื่อนไข และแนวปฏิบัติตามความเป็นจริง

แบบฝึกที่สาม คือการแสวงหาและการกลั่นกรองใช้ข้อมูล ความรู้ หลักการ มาประกอบการคิดวินิจฉัย เพื่อจิตใจของเราจะได้อ่อนน้อมยอมรับผู้อื่น

ท่ามกลางข่าวสารที่สับสนในสังคมไทยขณะนี้ ผู้เขียนรู้สึกกังวลและห่วงใยอยู่ลึกๆ มองเห็นภาพฝูงชน ๒ กลุ่ม ซึ่งภายในแต่ละกลุ่มก็ยังแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ทุ่มเถียงทุบถองกันอยู่

คน ๒ กลุ่มใหญ่นี้ กำลังเดินมาจากฟากฝั่งความคิดที่ตรงกันข้าม มาพบกันที่กลางสะพาน

เบื้องล่างคือแม่น้ำกว้างใหญ่ไหลเชี่ยวกราก คลื่นใต้น้ำปั่นป่วนอย่างบ้าคลั่ง

เบื้องบนนั้นเล่าก็กำลังมีพายุพัดกระหน่ำรุนแรง ฝนตกหนัก มีเสียงฟ้าผ่าเป็นระยะๆ

คนทั้ง ๒ กลุ่มก็หาได้รู้สึกอะไรไม่ ต่างฝ่ายก็ด่าทอขับไล่อีกฝ่ายหนึ่งให้ถอยออกไป หักล้างกันด้วยอารมณ์

คิดบ้างหรือไม่ว่า เมื่อสะพานพังครืนลงมา ทุกคนก็จะตกจมล้มตายกันหมด ก่อนตายก็คงจะซัดทอดกันว่าใครทำสะพานพัง

ร้องเพลงรักกันไว้เถิดสักร้อยเที่ยวก็ไม่ช่วยอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจกัน

ได้โปรดเถิด กรุณาตั้งสติฟังกันสักนิด ใช้ปัญญาตรองสักหน่อย อย่าปล่อยให้บ้านเมืองล่มจมไปต่อหน้าเลย

One Comment

ภูไทแลนด์ MAMEE กล่าวว่า...

สวัสดีคะ
อ่านบทความแล้ว ได้ประโยชน์มากเลยคะ ถ้าทำได้ สักครึ่งนึงก็ยังดี พยายามอย่างมาก มันก็ยังทำไม่ได้คะ ในเรื่องการพัฒนาจิต สรุปว่าค่อยเป็นค่อยไปแล้วกันเน๊อะ
ความคิดเห็นคะ
ก็ต่างฝ่ายต่างมีทิฐิ ไงคะ คิดว่าตัวเองถูกต้อง

Back to Top