มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 25 ธันวาคม 2547
ครั้งหนึ่งที่เมื่อ ท่าน ศ.ดร.สุจินต์ จินายนต์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงรายได้มีโอกาสพบปะและได้พูดคุยกับ ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ท่าน อ.สุจินต์ จึงมีความคิดที่อยากจะนำไอเดียเรื่องจิตวิวัฒน์เข้ามาลองใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดูบ้าง จึงได้มอบหมายให้ อ.อภิสม อินทรลาวัณย์ ทำการประสานงานโดยมี อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และผม เข้ามาลองช่วยทำโครงการนี้กับนักศึกษา
จิตวิวัฒน์ครั้งแรกในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงเกิดขึ้นในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียนในต้นฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ นี้ โดยรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน ๓๐ คน โดยคิดกันว่าอาจจะเริ่มจากการพูดคุยสนทนากันถึงความเป็นมาเป็นไปของจิตวิวัฒน์ และ/หรือ ลองให้ความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์คืออะไร” กับนักศึกษา
มีความเห็นกึ่งคำถามหนึ่งจากนักศึกษาที่ผมคิดว่าน่าจะถือโอกาสทำความเข้าใจประเด็นนี้ในบทความนี้เสียเลย เพราะเข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรแล้วก็อาจจะมีคำถามประมาณนี้เช่นกัน
ว่า “จิตวิวัฒน์เป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า” “เป็นพวกล้างสมองอะไรหรือเปล่า”
ผมไม่เชื่อว่าใครจะล้างสมองใครได้ มีแต่ว่าคนๆ นั้นเลือกที่จะมองโลกแบบไหนเท่านั้นเอง ผมอยากจะเรียนว่าพวกเราที่อยู่ในโครงการจิตวิวัฒน์นี้ต่างก็ได้มีโอกาสศึกษางานทดลองงานวิจัยทั้งทางสังคมและโดยเฉพาะงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก พวกเราพบและเห็นตรงกันว่าการศึกษางานเหล่านี้ในระยะหลังๆ ล้วนชี้นำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “วิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์” จะต้องเป็นการ “พัฒนาที่จิตใจและความคิด”
คำว่า “พัฒนาจิตใจและความคิด” ไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ทุกคนต้องมา “นั่งสมาธิ” ไม่ได้หมายความว่า “ทุกคนจะต้องเข้าวัด” (แต่ถ้าคุณมองเห็นและเข้าใจประเด็นนี้แล้วอยากจะเข้าวัดก็เป็นเรื่องที่ดีนะ) ยิ่งไม่ได้หมายความไปไกลถึง “การฝึกพลังจิต” ประเภทใช้จิตใจยกช้อนได้หรือ “การสร้างปาฏิหาริย์แบบเหาะเหินเดินอากาศ” อะไรแบบนั้น
แต่หมายความถึง “อะไรง่ายๆ” ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน “อะไรง่ายๆ” ที่ปรับเพียง “มุมมองและความคิด” แล้ว “เราจะมีความสุขมากขึ้น” “ทำงานได้ดีขึ้น” “มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น” และผมคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ก็คือ “คุณก็ยังคงเป็นคุณ” ใช้ชีวิตเหมือนเดิมเพียงแต่ไม่ใช่แบบเดิมเท่านั้น ถ้าคุณมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้
คุณยังสามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อคุณเข้าใจ “จิตวิวัฒน์” คุณอาจจะมีวิธีการทำมาหากินในรูปแบบที่ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อช่วงชิงกันแบบเดิมๆ อีกต่อไปเท่านั้นเอง เป็นต้น
ผมขอเล่าสั้นๆ พอสังเขปถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนถึง “การเคลื่อนไหวของแนวคิด” ของคนทั้งโลก คืองานวิจัยของ พอล เอ็ช เรย์ (Paul H. Ray, Ph.D.) ที่ทำในช่วงปี ๑๙๙๙ สรุปว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาจำนวน ๒๕% หรือประมาณ ๕๐ ล้านคน ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม” (Cultural Creatives) เป็นกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในเรื่องจิตเรื่องใจมากกว่าคุณค่าวัตถุภายนอก ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย นิยมการศึกษาทางเลือกและการแพทย์ทางเลือก ฯลฯ มีจำนวนประชากรสูงขึ้นจากเดิมที่ในช่วงทศวรรษ ๘๐ มีประชากรกลุ่มนี้เพียงไม่ถึง ๑% ของประชากรสหรัฐ พอล เรย์ พบปรากฏการณ์ทำนองนี้ในกลุ่มประชากรยุโรปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เขายังคำนวณไว้ด้วยว่า จำนวนประชากรของคนที่เป็นกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมนี้จะมีจำนวนมากขึ้นประมาณ ๑% ทุกๆ ปี นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้จำนวนประชากรชาวสหรัฐอเมริกาที่มีแนวคิดแบบนี้ได้เพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ ๓๐% แล้ว
แบบนี้จะเรียกว่าเป็นลัทธิหรือเปล่า ผมเองก็คงจะตอบไม่ได้เหมือนกัน
ในวันนั้นมีคำถามอีกหลายคำถามจากนักศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบได้ตรงๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะตอบได้ด้วย “กิจกรรม” ที่ให้ลองสัมผัสประสบการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง ผมคิดว่าเหมือนกับที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้ยกตัวอย่างอยู่เสมอถึงเรื่องการขี่จักรยาน การตอบคำถามเกี่ยวกับการขี่จักรยานว่าจะต้องใช้แรงยังไง ทรงตัวยังไง ถีบยังไง คงจะตอบได้ไม่ดีเท่ากับให้ “ลองขี่ดู” แล้วก็น่าจะได้คำตอบด้วยตัวเอง
กิจกรรมแรกที่ อ.วิศิษฐ์ ให้ลองทำในวันนั้นก็คือกิจกรรมการฟังแบบสะท้อนกลับ โดยให้จับคู่กันแบบสุ่มด้วยการเดินเป็นกลุ่มแล้วให้หันเข้าหาคนที่อยู่ใกล้ที่สุดจับคู่กัน กำหนดคนที่หนึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งคนที่สองเป็นหมายเลขสอง เริ่มจากการให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องของตัวเองสามนาที ว่าในวัยเด็กที่มีความสุขมีอะไรบ้าง มีจินตนาการที่ดีๆ อะไรบ้างให้หมายเลขสองฟัง เมื่อครบสามนาทีก็ให้หมายเลขสองทวนกลับเล่าให้หมายเลขหนึ่งฟังว่าได้ยินได้ฟังอะไรมาบ้าง จากนั้นให้ทำสลับกันโดยให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองสามนาทีให้หมายเลขหนึ่งฟัง เมื่อครบเวลาให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาบ้าง
เมื่อกิจกรรมผ่านไปก็ให้ทั้งวงสนทนา ลองสะท้อนความรู้สึกออกมาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หลายคนสะท้อนว่ารู้สึกแปลกๆ ไม่นึกและไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถเล่าเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวให้กับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนฟังได้ แต่ก็รู้สึกดีและรู้สึกสนิทสนมกับคู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกว่าการจับคู่เล่าเรื่องแบบมั่วๆ นี้กลับทำให้ได้พบกับคนที่มีส่วนคล้ายๆ กัน เช่นชีวิตในวัยเด็กที่คล้ายๆ กัน อยู่จังหวัดที่ใกล้ๆ กัน ชอบกินหรือเล่นอะไรที่เหมือนๆ กัน ฯลฯ หลายคนบอกว่าไม่เคยมาย้อนดูตัวเองในเรื่องความสุขที่เคยมีมาก่อนเลยเพราะมัวแต่ยุ่งกับการเรียนการสอบและเกิดความเครียด ไม่นึกว่าแค่การลองนึกถึงเรื่องราวที่เคยมีความสุขในวัยเด็กจะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้
จากเพียงแค่กิจกรรมง่ายๆ แบบนี้ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า ด้วยทฤษฎีทางชีววิทยาพื้นฐาน เพียงแต่เรามองย้อนกลับไปเราจะพบว่า มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาจากเซลล์ๆ เดียวกัน มีความผูกพันซึ่งกันและกันที่ซึมลึกฝังรากอยู่ในโครงสร้างดีเอ็นเอของพวกเรากันอยู่แล้ว เสมือนหนึ่งมี “ความเป็นญาติกัน” อยู่แล้ว ยิ่งเกิดมาในประเทศเดียวกัน หน้าตาผิวพรรณที่คล้ายๆ กัน ก็ยิ่งแสดงถึง “ความใกล้ชิดกัน” ของสายพันธุ์
“แล้วทำไมหรืออะไรที่ทำให้” มนุษย์ในสังคมปัจจุบันถึง “ขาดความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกัน เมื่อพบกับคนที่ไม่รู้จัก “เราจะตั้งการ์ดตั้งแง่วางฟอร์ม” “หวาดระแวงระแวดระวัง” ไว้ก่อนเสมอหรือเผลอไปตัดสินก่อนแล้วว่า “ต้องไม่มาดีแน่” อะไรแบบนั้น การทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ “ทดลองให้” เราได้มีโอกาส “หลุดไปจากเกราะกำบัง” ชั่วคราว ย่อมทำให้เรารู้สึกดีขึ้น รู้สึกคุ้นเคยกับคนที่ไม่รู้จัก มองเห็นสิ่งดีงามในเพื่อนมนุษย์และฝึกการ “ไว้ใจชีวิตได้มากขึ้น”
จิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่ายเพียงแค่ “การฝึกฟังกันธรรมดาๆ” เป็น “อะไรที่ง่ายๆ” แบบนี้นั่นเอง
โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2547
ความคิดที่ผิดๆ ความคิดที่มองแบบทางเดียว ความคิดแบบแยกส่วนลดทอน ความคิดที่ติดยึด ความคิดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเหนือสิ่งอื่น หรือระบบหนึ่งระบบใดเหนือระบบอื่น ภายใต้อิทธิพลของระบบคิดวิทยาศาสตร์แบบเก่า และเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่เน้นเรื่องการ “เอาชนะ” ธรรมชาติ และการแข่งขันเพื่อความ “เป็นหนึ่ง” เหนือผู้อื่น โดยขาดจิตสำนึกว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรดีอะไรไม่ดี ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น กำลังแผ่ขยายไปในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าเป็นห่วง
ความบกพร่องทางศีลธรรม และความแปลกแยกทางวัฒนธรรม เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ภายใต้ข้ออ้างความเป็นมืออาชีพ ความเป็นนานาชาติ ความทันสมัย…
คนที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย คนที่ทำผิดโดยที่กฎหมายลงโทษไม่ได้ เป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด
ครู อาจารย์ คือพนักงานกินเงินเดือน ต้องสร้างผลงานที่จับต้องได้จึงจะได้รางวัลตอบแทนด้วยเงิน ความเป็นอาจารย์และจิตวิญญาณของความเป็นครูถูกละเลย เพราะจับต้องไม่ได้
ถ้ามนุษย์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะล้มเลิกหรือยุติความคิดที่ผิดๆดังกล่าว ความคิดเหล่านั้นจะกลายเป็นมะเร็งทางความคิด ที่นำไปสู่ความวิปริตทางการกระทำ ทั้งทางกาย วาจา ใจ ก่อให้เกิดทุกขภาวะทางจิตวิญญาณ ที่บั่นทอนศานติสุขของคน ครอบครัว ชุมชน สังคม โลก และสรรพสิ่ง สังคมนี้จะเต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดี ชิงเด่น การแบ่งพรรคแบ่งพวก เอารัดเอาเปรียบ รังเกียจ เดียดฉันท์ คนต่างผิว ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม จะถูกมองว่าเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรู เป็นผู้ต่ำต้อย เป็นพันธุ์พิเศษ...
ทั้งที่จริงควรยอมรับและให้ความเคารพในความแตกต่างและความหลากหลาย มองและปฏิบัติต่อกันในลักษณะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก เพราะความแตกต่างช่วยทำให้เห็นความหลากหลายของสุนทรียภาพ ความหลากหลายคือหัวใจของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนของระบบชีวิต ระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และวัฒนธรรม
โดยนัยนี้ การวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธ เรื่อง GMO เรื่อง Cloning มนุษย์และสัตว์... ที่เน้นเพื่อความรู้ (แต่ขาดปัญญา) ที่มีเป้าหมายเพื่อการค้า แปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสินทรัพย์เป็นหลัก จึงไม่สมควรกระทำ
โดยนัยนี้สิทธิบัตร และสิทธิทางปัญญาที่มุ่งเพื่อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ เน้นเศรษฐกิจโดยขาดมนุษยธรรมและความเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่นและถิ่นกำเนิดของแหล่งปัญญา จึงสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากประชากรโลก
โดยนัยนี้ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มุ่งเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจ คอยจ้องจะเอาเปรียบ หรือหวังผลประโยชน์จากกันและกัน จึงต้องมีการทบทวนอย่างจริงจังกันใหม่
และโดยนัยนี้ การอ้างความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียว (ยกเว้นรัฐบาลแห่งชาติ) จึงสมควรถูกวิจารณ์เพ่งเล็ง เพราะความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากการมีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียว
เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศต่างๆ ในโลกจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ แต่ขาดสติปัญญาที่จะคำนึงถึงความสูญเสียของระบบอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นระบบครอบครัว ระบบนิเวศ วัฒนธรรม คุณธรรมและศีลธรรมจรรยา ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ที่ว่า ถ้าเรารวย มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ระบบอื่นๆ จะดีตามมาเอง หรือสามารถใช้เงินซื้อและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ใช้เงินซื้อและฟื้นฟูระบบนิเวศได้ ใช้เงินซื้อและทำนุบำรุงรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ได้ ใช้เงินซื้อและสร้างคุณธรรม ศีลธรรมจรรยาได้ เงินคือพระเจ้าบันดาลได้ทุกสิ่ง
ตัวอย่างมะเร็งทางความคิดในสังคมไทยก็มีหลายเรื่อง ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง “หวยบนดิน” และที่กำลังจะตามมาคือ “ซ่อง” และ “บ่อน” ถูกกฎหมาย และถ้าจะคิดเลยเถิดต่อไปก็อาจจะมีโรงยาเสพติดถูกกฎหมาย โรงอบายมุขทุกชนิดถูกกฎหมาย... โดยมีข้ออ้างเรื่องการบริหารจัดการและการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม
ดารา และนางแบบบางคนเต็มใจ และตั้งใจเปิดเผยอวัยวะและร่างกายบางส่วนหรือทั้งหมด โดยอ้างว่าเป็นงาน อ้างความเป็นมืออาชีพ รวมไปถึงความเป็นอินเตอร์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของมะเร็งทางความคิด
การมีและการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการพนัน มีซ่อง มีกิจกรรมและกิจการที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่ดีทั้งหลายอย่างถูกกฎหมาย ไม่สามารถเปลี่ยนหรือฟอกสิ่งไม่ดีให้ดีได้ ซ้ำร้ายยังเป็นการปลูกฝังและสร้างค่านิยมที่ผิดๆ ให้แก่คนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลังว่า การพนัน ซ่อง บ่อน การเปิดเผยอวัยวะและร่างกายในการประกอบอาชีพ เป็นสิ่งถูกกฎหมาย จึงทำได้และควรทำ เพราะประเทศที่เจริญแล้ว (ทางวัตถุ) เขาก็ทำกัน แถมยังมีรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือสังคมได้ด้วย
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น นี่เป็นวิธีคิดที่ผิด มันเป็นมะเร็งทางความคิด ก่อให้เกิดความวิปริตทางการกระทำ นำไปสู่ความวิปริตทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณค่ามากกว่ามูลค่าที่เป็นตัวเงินมากมาย
ประสิทธิภาพทางการบริหารจัดการ ความเป็นมืออาชีพ รวมไปถึงความเป็นสากล ควรเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และมีความหมายไปในทางที่ดี ไม่ใช่นำมาเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม
การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่ขาดจิตสำนึกแห่งความดีความงามทางคุณธรรมและจริยธรรม ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ไม่สมควรคิด เพราะกฎหมายโดยสาระสำคัญ ควรมีขึ้นเพื่อรักษาความเป็นระเบียบ ความดีงาม ความถูกต้อง และความสมานฉันท์ของคนในสังคม ไม่ใช่การรับรองความไม่ถูกต้อง ความไม่ดีไม่งาม ของคนบางคนในสังคม
การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ให้ถูกกฎหมาย เป็นการพยายามแยกความดี ความงาม และความถูกต้องทางจริยธรรม คุณธรรม รวมถึงวัฒนธรรม ออกจากความถูกต้องทางกฎหมาย ทั้งที่ทั้งหมดนี้ควรจะไปด้วยกัน ไม่แยกออกจากกัน กฏหมายควรเป็นส่วนหนึ่งของความดีความงา ที่สะท้อนวัฒนธรรมของสังคม
ผู้บริหารที่ดีและเก่ง จึงควรทำและส่งเสริมในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the right things) ไม่ใช่เก่งเฉพาะ Doing things right. (ทำสิ่งต่างๆ (ที่อาจไม่ถูกต้อง) ให้กลายเป็นเรื่องถูกต้อง)
ขอให้เราเริ่มต้นด้วยความคิดที่ถูกต้อง จะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มะเร็งทางความคิดก็จะไม่เกิด ความวิปริตทางการกระทำก็จะไม่มี สังคมนี้ก็จะมีศานติสุข มีสันติวัฒนธรรม
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2547
ไม่จำเป็นเสมอไปที่อัจฉริยะจะมีไอคิวสูง และหลายกรณีก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างเช่น วัตสัน (James Dewey Watson) ที่ได้รางวัลโนเบลในการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอ ก็มีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับเด็กส่วนใหญ่ (๖๘ % ของเด็กร่วมสมัยกับเขา) เท่านั้น
นอกจากนี้ ไอคิวก็วัดได้เฉพาะปัญญาที่ใช้ในการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น หนังสือได้ยกตัวอย่างว่า เด็กคนหนึ่งมีผลการเรียนในโรงเรียนแย่มาก พ่อแม่จึงพาไปวัดไอคิว ปรากฏว่าไอคิวของเด็กสูงพอสมควร วิธีนี้ช่วยให้พ่อแม่ได้รู้ว่าลูกของตัวเองปกติ บางทีโรงเรียนอาจจะมีปัญหาในการดูแลและให้การศึกษาเด็ก บางทีการย้ายโรงเรียนอาจจะเป็นคำตอบ หรือบางทีการที่พ่อแม่เพิ่งจะหย่าร้างกันอาจมีผลกระทบต่อเด็ก การให้เวลาและความใส่ใจที่จะเยียวยาบาดแผลในเรื่องเหล่านั้นแก่เด็ก อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าก็เป็นได้
“ปัญญาของเด็ก เกิดจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเด็ก” ประโยคง่ายๆ นี้เป็นข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์สามคนที่ศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กและได้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา
บางทีกิจกรรมง่ายๆ เช่นเด็กอายุสี่ขวบที่ตามแม่เข้าไปในร้านอาหารแดกด่วนอย่างแมคโดนัลด์ จะยืนไปต่อแถว นั่นหมายถึงเธอเรียนรู้ว่า ร้านอาหารนี้หรือร้านอาหารอย่างนี้ เขาไม่ได้บริการอาหารตามโต๊ะ แต่ลูกค้าต้องไปเข้าแถวบริการตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมายที่เด็กได้เรียนรู้ แต่เราไม่ได้ทันสังเกตว่านั่นคือการเรียนรู้แล้ว!
เปียเจ เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการที่ช่างสังเกตอย่างยิ่งคนหนึ่ง เขาแบ่งกิจกรรมการทำซ้ำของเด็กเล็กๆ ออกเป็นสามช่วงตอน ตอนแรกเป็น sensory-motor หรือการเคลื่อนไหวกายกับสัมผัส หรือประสาทรับรู้ อย่างเช่นเด็กสามเดือนจะเอานิ้วเข้าปากครั้งหนึ่ง อาจจะโดยบังเอิญคือเข้าได้ตรงปาก เพราะหลายครั้งที่เขาทำเช่นนั้น มันไม่ได้เข้าปากเสมอไป แต่เขาหรือเธอก็พยายามจะเอานิ้วเข้าปากอีก ลองผิดลองถูก จนสามารถเอานิ้วเข้าปากได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการเรียนรู้แล้ว!
ตอนที่สองของการทำซ้ำ เป็นขั้นตอนเมื่อเด็กเคลื่อนกาย คือเขาได้สังเกตเห็นผลกระทบที่การเคลื่อนไหวของเขาไปมีผลกับสิ่งอื่นๆ รอบตัว เช่นถ้าสั่นขา เก้าอี้ก็อาจจะสั่นตาม เป็นต้น ส่วนในการทำซ้ำขั้นที่สามนั้น เด็กจะทำกิจกรรมซ้ำๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมนั้นไปบ้างเล็กน้อยในแต่ละครั้ง เช่นการขว้างช้อนลงพื้นก็อาจจะทำแรงไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง เป็นต้น และทั้งหมดนี้ก็คือการเรียนรู้โลกของเด็ก การทำซ้ำเหล่านี้เป็นอิฐพื้นฐานในการก่อสร้างปัญญาของเด็ก
อีกเรื่องหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง และให้ความสำคัญว่าเป็น “เรื่องราวปกติในชีวิต” ที่จะพัฒนาปัญญาของเด็ก ก็คือการพูดคุยกับเด็กธรรมดาๆ นี้เอง ซึ่งอาจจะรวมการเล่านิทานเอาไว้ด้วยก็ได้ พวกเขากล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า แบบทดสอบไอคิว ส่วนใหญ่แล้วก็คือการตรวจสอบความร่ำรวยมากน้อยของคำศัพท์ที่เด็กมีใช้อยู่นั้นเอง คำศัพท์ทำให้โลกของเด็กกว้างใหญ่ขึ้นและร่ำรวยขึ้น และหนทางที่จะเพิ่มพูนคำศัพท์นั้นมา ก็โดยผ่านการพูดคุยระหว่างเด็กกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ตรงนี้เองที่เด็กชายไอน์สไตน์ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาด้วยบัตรคำ (แผ่นกระดาษแข็งที่มีภาพหรือคำต่างๆ ที่ใช้ในการสอน) ไอน์สไตน์บอกว่า ถ้าต้องการให้เด็กฉลาด ให้เล่านิทานให้เด็กฟัง และถ้าต้องการให้ฉลาดกว่านั้นขึ้นไปอีก ก็เล่านิทานให้เด็กฟังมากขึ้น แค่นั้นเอง
มีนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้คิดแบบทดสอบสำหรับวัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศภายในบ้านว่าเกื้อกูลต่อการก่อเกิดปัญญาของเด็กเพียงใดหรือไม่ โดยเรียกแบบทดสอบนี้ว่า HOME ชื่อเต็มว่า Home Observation for the Measurement of Environment แบบทดสอบนี้ ถ้าได้คะแนนต่ำ แสดงว่าสิ่งแวดล้อมภายในบ้านหลังนั้น อาจจะมีส่วนลดทอนไอคิวเด็กได้ถึง ๑๕-๒๐ แต้ม ส่วนคะแนนสูงย่อมมีส่วนเสริมสร้างปัญญาให้แก่เด็กอย่างแน่นอน แบบทดสอบนี้จะรวบรวมข้อมูลจากคุณภาพชีวิตของเด็กภายในบ้าน โดยวิธีสังเกตการณ์และสัมภาษณ์พ่อแม่ คะแนนที่ได้จะเกี่ยวกับว่า มีความเอาใจใส่ดูแล การให้กำลังใจ และการเข้าร่วมกับเด็กจากผู้ใหญ่ขนาดไหน? พวกเขายอมรับเด็ก ไว้วางใจเด็กขนาดไหน? เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างปัญญาของเด็ก ไม่ใช่วิธีการให้ข้อมูลโดยตรงกับชุดเสริมปัญญาต่างๆ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด!