“อะไรง่ายๆ” กับจิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 25 ธันวาคม 2547

ครั้งหนึ่งที่เมื่อ ท่าน ศ.ดร.สุจินต์ จินายนต์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงรายได้มีโอกาสพบปะและได้พูดคุยกับ ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ท่าน อ.สุจินต์ จึงมีความคิดที่อยากจะนำไอเดียเรื่องจิตวิวัฒน์เข้ามาลองใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดูบ้าง จึงได้มอบหมายให้ อ.อภิสม อินทรลาวัณย์ ทำการประสานงานโดยมี อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และผม เข้ามาลองช่วยทำโครงการนี้กับนักศึกษา

จิตวิวัฒน์ครั้งแรกในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงเกิดขึ้นในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียนในต้นฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ นี้ โดยรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน ๓๐ คน โดยคิดกันว่าอาจจะเริ่มจากการพูดคุยสนทนากันถึงความเป็นมาเป็นไปของจิตวิวัฒน์ และ/หรือ ลองให้ความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์คืออะไร” กับนักศึกษา

มีความเห็นกึ่งคำถามหนึ่งจากนักศึกษาที่ผมคิดว่าน่าจะถือโอกาสทำความเข้าใจประเด็นนี้ในบทความนี้เสียเลย เพราะเข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรแล้วก็อาจจะมีคำถามประมาณนี้เช่นกัน

ว่า “จิตวิวัฒน์เป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า” “เป็นพวกล้างสมองอะไรหรือเปล่า”

ผมไม่เชื่อว่าใครจะล้างสมองใครได้ มีแต่ว่าคนๆ นั้นเลือกที่จะมองโลกแบบไหนเท่านั้นเอง ผมอยากจะเรียนว่าพวกเราที่อยู่ในโครงการจิตวิวัฒน์นี้ต่างก็ได้มีโอกาสศึกษางานทดลองงานวิจัยทั้งทางสังคมและโดยเฉพาะงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก พวกเราพบและเห็นตรงกันว่าการศึกษางานเหล่านี้ในระยะหลังๆ ล้วนชี้นำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “วิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์” จะต้องเป็นการ “พัฒนาที่จิตใจและความคิด”

คำว่า “พัฒนาจิตใจและความคิด” ไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ทุกคนต้องมา “นั่งสมาธิ” ไม่ได้หมายความว่า “ทุกคนจะต้องเข้าวัด” (แต่ถ้าคุณมองเห็นและเข้าใจประเด็นนี้แล้วอยากจะเข้าวัดก็เป็นเรื่องที่ดีนะ) ยิ่งไม่ได้หมายความไปไกลถึง “การฝึกพลังจิต” ประเภทใช้จิตใจยกช้อนได้หรือ “การสร้างปาฏิหาริย์แบบเหาะเหินเดินอากาศ” อะไรแบบนั้น

แต่หมายความถึง “อะไรง่ายๆ” ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน “อะไรง่ายๆ” ที่ปรับเพียง “มุมมองและความคิด” แล้ว “เราจะมีความสุขมากขึ้น” “ทำงานได้ดีขึ้น” “มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น” และผมคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ก็คือ “คุณก็ยังคงเป็นคุณ” ใช้ชีวิตเหมือนเดิมเพียงแต่ไม่ใช่แบบเดิมเท่านั้น ถ้าคุณมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

คุณยังสามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อคุณเข้าใจ “จิตวิวัฒน์” คุณอาจจะมีวิธีการทำมาหากินในรูปแบบที่ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อช่วงชิงกันแบบเดิมๆ อีกต่อไปเท่านั้นเอง เป็นต้น

ผมขอเล่าสั้นๆ พอสังเขปถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนถึง “การเคลื่อนไหวของแนวคิด” ของคนทั้งโลก คืองานวิจัยของ พอล เอ็ช เรย์ (Paul H. Ray, Ph.D.) ที่ทำในช่วงปี ๑๙๙๙ สรุปว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาจำนวน ๒๕% หรือประมาณ ๕๐ ล้านคน ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม” (Cultural Creatives) เป็นกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในเรื่องจิตเรื่องใจมากกว่าคุณค่าวัตถุภายนอก ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย นิยมการศึกษาทางเลือกและการแพทย์ทางเลือก ฯลฯ มีจำนวนประชากรสูงขึ้นจากเดิมที่ในช่วงทศวรรษ ๘๐ มีประชากรกลุ่มนี้เพียงไม่ถึง ๑% ของประชากรสหรัฐ พอล เรย์ พบปรากฏการณ์ทำนองนี้ในกลุ่มประชากรยุโรปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เขายังคำนวณไว้ด้วยว่า จำนวนประชากรของคนที่เป็นกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมนี้จะมีจำนวนมากขึ้นประมาณ ๑% ทุกๆ ปี นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้จำนวนประชากรชาวสหรัฐอเมริกาที่มีแนวคิดแบบนี้ได้เพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ ๓๐% แล้ว

แบบนี้จะเรียกว่าเป็นลัทธิหรือเปล่า ผมเองก็คงจะตอบไม่ได้เหมือนกัน

ในวันนั้นมีคำถามอีกหลายคำถามจากนักศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบได้ตรงๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะตอบได้ด้วย “กิจกรรม” ที่ให้ลองสัมผัสประสบการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง ผมคิดว่าเหมือนกับที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้ยกตัวอย่างอยู่เสมอถึงเรื่องการขี่จักรยาน การตอบคำถามเกี่ยวกับการขี่จักรยานว่าจะต้องใช้แรงยังไง ทรงตัวยังไง ถีบยังไง คงจะตอบได้ไม่ดีเท่ากับให้ “ลองขี่ดู” แล้วก็น่าจะได้คำตอบด้วยตัวเอง

กิจกรรมแรกที่ อ.วิศิษฐ์ ให้ลองทำในวันนั้นก็คือกิจกรรมการฟังแบบสะท้อนกลับ โดยให้จับคู่กันแบบสุ่มด้วยการเดินเป็นกลุ่มแล้วให้หันเข้าหาคนที่อยู่ใกล้ที่สุดจับคู่กัน กำหนดคนที่หนึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งคนที่สองเป็นหมายเลขสอง เริ่มจากการให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องของตัวเองสามนาที ว่าในวัยเด็กที่มีความสุขมีอะไรบ้าง มีจินตนาการที่ดีๆ อะไรบ้างให้หมายเลขสองฟัง เมื่อครบสามนาทีก็ให้หมายเลขสองทวนกลับเล่าให้หมายเลขหนึ่งฟังว่าได้ยินได้ฟังอะไรมาบ้าง จากนั้นให้ทำสลับกันโดยให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองสามนาทีให้หมายเลขหนึ่งฟัง เมื่อครบเวลาให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาบ้าง

เมื่อกิจกรรมผ่านไปก็ให้ทั้งวงสนทนา ลองสะท้อนความรู้สึกออกมาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หลายคนสะท้อนว่ารู้สึกแปลกๆ ไม่นึกและไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถเล่าเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวให้กับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนฟังได้ แต่ก็รู้สึกดีและรู้สึกสนิทสนมกับคู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกว่าการจับคู่เล่าเรื่องแบบมั่วๆ นี้กลับทำให้ได้พบกับคนที่มีส่วนคล้ายๆ กัน เช่นชีวิตในวัยเด็กที่คล้ายๆ กัน อยู่จังหวัดที่ใกล้ๆ กัน ชอบกินหรือเล่นอะไรที่เหมือนๆ กัน ฯลฯ หลายคนบอกว่าไม่เคยมาย้อนดูตัวเองในเรื่องความสุขที่เคยมีมาก่อนเลยเพราะมัวแต่ยุ่งกับการเรียนการสอบและเกิดความเครียด ไม่นึกว่าแค่การลองนึกถึงเรื่องราวที่เคยมีความสุขในวัยเด็กจะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้

จากเพียงแค่กิจกรรมง่ายๆ แบบนี้ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า ด้วยทฤษฎีทางชีววิทยาพื้นฐาน เพียงแต่เรามองย้อนกลับไปเราจะพบว่า มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาจากเซลล์ๆ เดียวกัน มีความผูกพันซึ่งกันและกันที่ซึมลึกฝังรากอยู่ในโครงสร้างดีเอ็นเอของพวกเรากันอยู่แล้ว เสมือนหนึ่งมี “ความเป็นญาติกัน” อยู่แล้ว ยิ่งเกิดมาในประเทศเดียวกัน หน้าตาผิวพรรณที่คล้ายๆ กัน ก็ยิ่งแสดงถึง “ความใกล้ชิดกัน” ของสายพันธุ์

“แล้วทำไมหรืออะไรที่ทำให้” มนุษย์ในสังคมปัจจุบันถึง “ขาดความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกัน เมื่อพบกับคนที่ไม่รู้จัก “เราจะตั้งการ์ดตั้งแง่วางฟอร์ม” “หวาดระแวงระแวดระวัง” ไว้ก่อนเสมอหรือเผลอไปตัดสินก่อนแล้วว่า “ต้องไม่มาดีแน่” อะไรแบบนั้น การทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ “ทดลองให้” เราได้มีโอกาส “หลุดไปจากเกราะกำบัง” ชั่วคราว ย่อมทำให้เรารู้สึกดีขึ้น รู้สึกคุ้นเคยกับคนที่ไม่รู้จัก มองเห็นสิ่งดีงามในเพื่อนมนุษย์และฝึกการ “ไว้ใจชีวิตได้มากขึ้น

จิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่ายเพียงแค่ “การฝึกฟังกันธรรมดาๆ” เป็น “อะไรที่ง่ายๆ” แบบนี้นั่นเอง

Back to Top