ทำความเข้าใจเรื่องไอคิว
เมื่อเด็กชายไอน์สไตน์ไม่ใช้บัตรคำ

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2547

ไม่จำเป็นเสมอไปที่อัจฉริยะจะมีไอคิวสูง และหลายกรณีก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างเช่น วัตสัน (James Dewey Watson) ที่ได้รางวัลโนเบลในการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอ ก็มีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับเด็กส่วนใหญ่ (๖๘ % ของเด็กร่วมสมัยกับเขา) เท่านั้น

นอกจากนี้ ไอคิวก็วัดได้เฉพาะปัญญาที่ใช้ในการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น หนังสือได้ยกตัวอย่างว่า เด็กคนหนึ่งมีผลการเรียนในโรงเรียนแย่มาก พ่อแม่จึงพาไปวัดไอคิว ปรากฏว่าไอคิวของเด็กสูงพอสมควร วิธีนี้ช่วยให้พ่อแม่ได้รู้ว่าลูกของตัวเองปกติ บางทีโรงเรียนอาจจะมีปัญหาในการดูแลและให้การศึกษาเด็ก บางทีการย้ายโรงเรียนอาจจะเป็นคำตอบ หรือบางทีการที่พ่อแม่เพิ่งจะหย่าร้างกันอาจมีผลกระทบต่อเด็ก การให้เวลาและความใส่ใจที่จะเยียวยาบาดแผลในเรื่องเหล่านั้นแก่เด็ก อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าก็เป็นได้

“ปัญญาของเด็ก เกิดจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเด็ก” ประโยคง่ายๆ นี้เป็นข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์สามคนที่ศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กและได้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา

บางทีกิจกรรมง่ายๆ เช่นเด็กอายุสี่ขวบที่ตามแม่เข้าไปในร้านอาหารแดกด่วนอย่างแมคโดนัลด์ จะยืนไปต่อแถว นั่นหมายถึงเธอเรียนรู้ว่า ร้านอาหารนี้หรือร้านอาหารอย่างนี้ เขาไม่ได้บริการอาหารตามโต๊ะ แต่ลูกค้าต้องไปเข้าแถวบริการตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมายที่เด็กได้เรียนรู้ แต่เราไม่ได้ทันสังเกตว่านั่นคือการเรียนรู้แล้ว!

เปียเจ เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการที่ช่างสังเกตอย่างยิ่งคนหนึ่ง เขาแบ่งกิจกรรมการทำซ้ำของเด็กเล็กๆ ออกเป็นสามช่วงตอน ตอนแรกเป็น sensory-motor หรือการเคลื่อนไหวกายกับสัมผัส หรือประสาทรับรู้ อย่างเช่นเด็กสามเดือนจะเอานิ้วเข้าปากครั้งหนึ่ง อาจจะโดยบังเอิญคือเข้าได้ตรงปาก เพราะหลายครั้งที่เขาทำเช่นนั้น มันไม่ได้เข้าปากเสมอไป แต่เขาหรือเธอก็พยายามจะเอานิ้วเข้าปากอีก ลองผิดลองถูก จนสามารถเอานิ้วเข้าปากได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการเรียนรู้แล้ว!

ตอนที่สองของการทำซ้ำ เป็นขั้นตอนเมื่อเด็กเคลื่อนกาย คือเขาได้สังเกตเห็นผลกระทบที่การเคลื่อนไหวของเขาไปมีผลกับสิ่งอื่นๆ รอบตัว เช่นถ้าสั่นขา เก้าอี้ก็อาจจะสั่นตาม เป็นต้น ส่วนในการทำซ้ำขั้นที่สามนั้น เด็กจะทำกิจกรรมซ้ำๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมนั้นไปบ้างเล็กน้อยในแต่ละครั้ง เช่นการขว้างช้อนลงพื้นก็อาจจะทำแรงไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง เป็นต้น และทั้งหมดนี้ก็คือการเรียนรู้โลกของเด็ก การทำซ้ำเหล่านี้เป็นอิฐพื้นฐานในการก่อสร้างปัญญาของเด็ก

อีกเรื่องหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง และให้ความสำคัญว่าเป็น “เรื่องราวปกติในชีวิต” ที่จะพัฒนาปัญญาของเด็ก ก็คือการพูดคุยกับเด็กธรรมดาๆ นี้เอง ซึ่งอาจจะรวมการเล่านิทานเอาไว้ด้วยก็ได้ พวกเขากล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า แบบทดสอบไอคิว ส่วนใหญ่แล้วก็คือการตรวจสอบความร่ำรวยมากน้อยของคำศัพท์ที่เด็กมีใช้อยู่นั้นเอง คำศัพท์ทำให้โลกของเด็กกว้างใหญ่ขึ้นและร่ำรวยขึ้น และหนทางที่จะเพิ่มพูนคำศัพท์นั้นมา ก็โดยผ่านการพูดคุยระหว่างเด็กกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ตรงนี้เองที่เด็กชายไอน์สไตน์ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาด้วยบัตรคำ (แผ่นกระดาษแข็งที่มีภาพหรือคำต่างๆ ที่ใช้ในการสอน) ไอน์สไตน์บอกว่า ถ้าต้องการให้เด็กฉลาด ให้เล่านิทานให้เด็กฟัง และถ้าต้องการให้ฉลาดกว่านั้นขึ้นไปอีก ก็เล่านิทานให้เด็กฟังมากขึ้น แค่นั้นเอง

มีนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้คิดแบบทดสอบสำหรับวัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศภายในบ้านว่าเกื้อกูลต่อการก่อเกิดปัญญาของเด็กเพียงใดหรือไม่ โดยเรียกแบบทดสอบนี้ว่า HOME ชื่อเต็มว่า Home Observation for the Measurement of Environment แบบทดสอบนี้ ถ้าได้คะแนนต่ำ แสดงว่าสิ่งแวดล้อมภายในบ้านหลังนั้น อาจจะมีส่วนลดทอนไอคิวเด็กได้ถึง ๑๕-๒๐ แต้ม ส่วนคะแนนสูงย่อมมีส่วนเสริมสร้างปัญญาให้แก่เด็กอย่างแน่นอน แบบทดสอบนี้จะรวบรวมข้อมูลจากคุณภาพชีวิตของเด็กภายในบ้าน โดยวิธีสังเกตการณ์และสัมภาษณ์พ่อแม่ คะแนนที่ได้จะเกี่ยวกับว่า มีความเอาใจใส่ดูแล การให้กำลังใจ และการเข้าร่วมกับเด็กจากผู้ใหญ่ขนาดไหน? พวกเขายอมรับเด็ก ไว้วางใจเด็กขนาดไหน? เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างปัญญาของเด็ก ไม่ใช่วิธีการให้ข้อมูลโดยตรงกับชุดเสริมปัญญาต่างๆ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด!

Back to Top