โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2560
สังคมปัจจุบันมีแนวโน้มจะคิดและทำกันในลักษณะสุดโต่ง สุดขั้ว หรือสุดซอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การตัดสินว่าอะไร หรือใคร ดี-ชั่ว ถูก-ผิด อย่างรวดเร็วตามเกณฑ์ ตามมาตรฐาน ตามความคิด หรือตามความเชื่อของตนเอง และถ้าคู่กรณีต่างฝ่ายต่างก็พูด คิด และทำในลักษณะเดียวกัน โอกาสที่จะรับฟังเหตุผลหรือที่มาของการพูด การกระทำ และความคิดของกันและกันก็จะลดลง การฟังก็จะอยู่ในลักษณะของการจ้องจับผิดจากภาษาหรือท่าทาง มากกว่าที่จะเป็นการฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพราะเราได้ตัดสินเขาไปก่อนแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะตายตัวและตีบตันทางเลือก เกิดการแตกแยก แบ่งฝ่าย เอาแพ้เอาชนะ ต่างฝ่ายต่างก็อยู่ในท่าทีของการปกป้องตนเอง และโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง
ยิ่งสุดโต่งตายตัว ยิ่งตีบตัน ยิ่งแตกแยก มองไม่เห็นจุดเด่น และความงดงามที่แตกต่างและหลากหลายของอีกฝ่ายหนึ่ง
หากเมื่อเราเรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพในความแตกต่างและหลากหลาย เราจึงมีโอกาสจะมองเห็นและซึมซับความงดงามของความแตกต่างและหลากหลายได้ การหลอมรวมเป็นหนึ่งบนความหลากหลายก็มีโอกาสจะเกิดขึ้น