เพราะสุดโต่งตายตัวจึงตีบตันและแตกแยก เพราะแตกต่างและหลากหลายจึงคลายตัวและงดงาม



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2560

สังคมปัจจุบันมีแนวโน้มจะคิดและทำกันในลักษณะสุดโต่ง สุดขั้ว หรือสุดซอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การตัดสินว่าอะไร หรือใคร ดี-ชั่ว ถูก-ผิด อย่างรวดเร็วตามเกณฑ์ ตามมาตรฐาน ตามความคิด หรือตามความเชื่อของตนเอง และถ้าคู่กรณีต่างฝ่ายต่างก็พูด คิด และทำในลักษณะเดียวกัน โอกาสที่จะรับฟังเหตุผลหรือที่มาของการพูด การกระทำ และความคิดของกันและกันก็จะลดลง การฟังก็จะอยู่ในลักษณะของการจ้องจับผิดจากภาษาหรือท่าทาง มากกว่าที่จะเป็นการฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพราะเราได้ตัดสินเขาไปก่อนแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะตายตัวและตีบตันทางเลือก เกิดการแตกแยก แบ่งฝ่าย เอาแพ้เอาชนะ ต่างฝ่ายต่างก็อยู่ในท่าทีของการปกป้องตนเอง และโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

ยิ่งสุดโต่งตายตัว ยิ่งตีบตัน ยิ่งแตกแยก มองไม่เห็นจุดเด่น และความงดงามที่แตกต่างและหลากหลายของอีกฝ่ายหนึ่ง

หากเมื่อเราเรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพในความแตกต่างและหลากหลาย เราจึงมีโอกาสจะมองเห็นและซึมซับความงดงามของความแตกต่างและหลากหลายได้ การหลอมรวมเป็นหนึ่งบนความหลากหลายก็มีโอกาสจะเกิดขึ้น

หากเราไปนั่งอยู่ริมทะเล ไม่มีลมพัด ใบไม้ไม่ไหว คลื่นแข็งตัวไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ความงดงามคงไม่เท่ากับการได้เห็นกระแสคลื่นที่เคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ท่ามกลางสายลมที่ลูบไล้ไปบนใบหน้าและร่างกายของเรา

ประสบการณ์ชีวิตของผมทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกและผู้บริหารในแวดวงวิชาการ ในมหาวิทยาลัย มูลนิธิ สมาคม องค์กรอิสระ สื่อสาธารณะ สหกรณ์ ฯลฯ ผมได้พบ ได้เห็น ได้เผชิญ ได้อยู่ท่ามกลางความสุดโต่งมาเป็นระยะๆ

ในฐานะสมาชิก ไม่ค่อยกดดันและลำบากใจเท่าไหร่ แต่ในฐานะผู้บริหาร มีความกดดันและลำบากใจมากกว่า เพราะคู่กรณีต่างก็บอกว่ามีเจตนาดีและทำไปเพื่อองค์กร หากเราพูดหรือทำอะไรที่มีทีท่าว่าสอดรับกับฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็ระแวง เคลือบแคลงสงสัย และบางครั้งก็ถูกตำหนิ ต่อว่า หรือแม้กระทั่งถูกโจมตีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทางวาจาและภาษาท่าทาง

ปัจจุบัน ผมยังจำความกดดัน ความอึดอัดลำบากใจได้ดี เมื่อสมัยที่เป็นเลขาธิการ แล้วต่อด้วยเป็นประธานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงที่กำลังมีการรณรงค์ว่าจุฬาฯ จะออกนอกระบบ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือไม่ (บริหารจัดการแบบอิสระแยกจากระบบราชาการแต่ยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ)

ยังจำได้ดี บรรยากาศในช่วงที่มีการพิจารณาเพื่อตัดสินว่าจะปลดผู้บริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) ในขณะนั้นหรือไม่ อย่างไร

ทั้งสองเหตุการณ์มีบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ทั้งสองเหตุการณ์สำหรับผมมีความท้าทายมาก แต่ไม่สนุก

ทั้งสองเหตุการณ์ เมื่อผ่านไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็ยังคงทำงานอยู่ที่เดียวกัน องค์กรก็ยังคงดำรงอยู่ แต่ดำรงอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างออกไปจากเดิม

ผมเองถึงจะเกษียณไปแล้ว ก็ยังกลับมาช่วยทำงานที่จุฬาฯ และไทยพีบีเอสอยู่ ที่สำคัญผมมีความสุขที่ได้กลับมาช่วยงานทั้งสองแห่งแม้เป็นงานเล็กๆ น้อยๆ

บทเรียนเหล่านี้ช่วยให้ผมมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น มีสติมากขึ้น นิ่งมากขึ้น เมื่อเผชิญกับสภาวะเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่มีความคิด ความเชื่อแตกต่างกัน

ความนิ่ง ความมีสติ และการไม่รีบด่วนสรุปตัดสินใจของผม ก็ส่งผลกระทบในด้านลบกับผมด้วย คือได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่เป็นมืออาชีพ และแม้กระทั่งไม่รู้เรื่อง อ่อนหัด ไม่ทันผู้อื่น ไปจนถึงเป็นนอมินีของคนอื่น

ซึ่งผมก็เข้าใจ และรับได้กับคำวิจารณ์เหล่านั้น เพราะเราไม่สามารถไปควบคุมการรับรู้และความคิดของคนอื่นได้

ทุกเรื่อง มิใช่มีแค่สองด้าน แต่มีได้หลายด้าน ขึ้นอยู่กับการรับรู้และการตีความของแต่ละคน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป

ในทางจิตวิทยา การรับรู้ (Perception) ของมนุษย์จะถูกต้อง บิดเบือน หรือผิดพลาดไป ขึ้นอยู่กับ
  1. ประสบการณ์เดิมของแต่ละคน ที่แตกต่างกันออกไป
  2. ข้อมูลที่ได้รับและวิธีการให้ข้อมูล


ในส่วนของประสบการณ์เดิมของแต่ละคน มีอิทธิพลต่อการรับรู้และการตีความต่อสิ่งที่เขารับรู้ว่าจะเป็นอย่างไร ดี-ไม่ดี ชอบ-ไม่ชอบ...ประสบการณ์เดิมของแต่ละคนเราคงไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ต้องพยายามเข้าใจ

พฤติกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูด วิธีการพูด การกระทำ วิธีและทีท่าของการกระทำ ในขณะที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับเขา จะเป็นข้อมูลที่เขารับรู้และตีความจากประสบการณ์ของเขา และกลับกัน ดังนั้น หากเราต้องการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับตัวเราให้เกิดขึ้นในตัวเขา เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา พูดสั้นๆ ก็คือถ้าจะให้เขาเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนก่อน ไม่เช่นนั้นเขาก็มีโอกาสจะรับรู้เราเหมือนที่เขาเคยรับรู้หากเรามีพฤติกรรมแบบเดิมๆ

หากเราขาดสติ ด่วนตัดสินผู้อื่น เราก็จะเดินทางเข้าสู่ความสุดโต่งตายตัว

หากเรามีสติรู้เท่าทัน ไม่ติดกับดักการรับรู้ของตนเอง ไม่รีบด่วนตัดสินเขา ตั้งใจฟังเขาอย่างลึกซึ้ง เราก็จะคลายตัว มีโอกาสที่จะเข้าใจผู้อื่นได้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น มีโอกาสที่จะสัมผัสความงดงามที่เกิดจากความแตกต่างของผู้อื่นได้มากขึ้น

เราพร้อมที่จะให้โอกาสตนเองสัมผัสความงดงามที่เกิดจากความแตกต่างของผู้อื่นหรือไม่?

Back to Top