มกราคม 2013

เพาะพันธุ์ปัญญา…แปลงปลูกต้นกล้าของคนมีใจจะสอน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มกราคม 2556


เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสังคมและธนาคารกสิกรไทย ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงานวิจัยเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง (Research-based Learning) เป็นการสร้างความรู้ผ่านการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นโครงการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาให้เกิดการสร้างนักเรียนรู้ นักคิด นักค้นหา นักวิจัย นักปฏิปัติ มากกว่า “นักจดจำ” และ “นักสอบ” นับว่าเป็นความตั้งใจที่น่าชื่นชม

โครงการนี้จะอาศัยอาจารย์พี่เลี้ยงตามศูนย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน ๘ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางและศรีษะเกษ มหาวิทลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ เป็นต้น เป็นกลไกดูแล ติดตาม และสนับสนุนการทำงานของคุณครูที่กระจายตัวอยู่ตามโรงเรียนมัธยมกว่า ๘๐ แห่งทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนับว่ามีความสนใจเกินกว่าที่คาดหมายไว้ ด้วยเชื่อว่าจะช่วยให้นักเรียนเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้มากกว่าการเรียนแบบพึ่งพาตำราแบบเดิมๆ

นอกจากโครงการนี้จะอาศัยกระบวนการทำโครงงานวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้แล้ว ยังอาศัยกระบวนการ “จิตตปัญญาศึกษา” ในการช่วยให้คุณครูมีความเข้าใจในตัวเองและผู้อื่น ฟื้นฟูแรงใจและพลังชีวิตในการเป็นครู ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ได้นิยามคำศัพท์ว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เมื่อปี ๒๕๔๘ ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้ยังคงเป็นที่สนใจในสังคมและเครือข่ายทางการศึกษา โดยช่วยตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในมิติของการพัฒนาจิตใจ นอกเหนือจากการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน

เมื่อผมและทีมงานได้ไปสัมผัสชีวิตครู ๖๐ กว่าคนที่มาเรียนรู้ร่วมกันที่มหาวิทยาลัยพะเยาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รู้สึกประหลาดใจที่ได้รู้ว่าครูเหล่านี้มีใจจะสอนและเลือกมาเป็นครูด้วย ครึ่งหนึ่งของห้อง ยังมีอายุไม่ถึง ๔๐ ปี และยังมีประกายตาของความใฝ่เรียนรู้และมีไฟที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเด็กๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คุณครูเหล่านี้กำลังรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้กับอุปสรรคที่เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่มีความสนใจในการเรียนน้อยลงเรื่อยๆ คุณครูรู้สึกว่านักเรียนหลายคนได้รับผลกระทบจากความขาดพร่องของครอบครัว ไม่ว่าจะขาดแม่หรือพ่อ หรือทั้งสองคน จากการที่พวกเขาต้องเข้าไปทำงานในเมือง ครูหลายคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนจากครูด้วยกัน รวมทั้งผู้บริหาร ในการที่จะเป็นครูที่ดี ในการทุ่มเทชีวิตให้กับการสอนสั่งดูแลให้นักเรียนมีชีวิตที่ดีขึ้น

ดังนั้น หากครูเหล่านี้คือผู้ที่จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาในตัวนักเรียนได้เจริญงอกงาม พวกเขาก็ต้องการการดูแลหัวใจด้วยเช่นกัน นั่นคือต้องการแปลงเพาะที่ดีที่จะอุ้มชูและหล่อเลี้ยงดูแล จิตวิญญาณของตนเอง พวกเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า แลกเปลี่ยน และระบายความรู้สึกโดยมีคนเข้าใจ ไม่ตัดสิน การพัฒนาจิตวิญญาณครูอาจไม่ใช่การให้คำแนะนำสั่งสอนหรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่ครูเป็น แต่เริ่มต้นจากการรับฟังความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ ความสุข รวมทั้งความใฝ่ฝันของครู

การได้ใช้เวลาในการสำรวจและแบ่งปันชีวิตของคุณครู ทำให้เกิดมิตรภาพที่งดงามในกลุ่มครูด้วยกันที่มาจากต่างโรงเรียน และยังได้แลกเปลี่ยนวิธีการจัดการชั้นเรียน เช่น การจัดการกับกลุ่มเด็กเรียนอ่อน หรือกลุ่มที่ไม่สนใจเรียน การสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยระหว่างครูกับนักเรียนเพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากความเป็นเด็กเกเรมาเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองราวพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

นอกจากนี้ ในงานจิตตปัญญา พวกเขายังได้เรียนรู้การเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ให้คุณค่า ความรู้สึก และความต้องการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ด้วยกัน และเด็กนักเรียนที่พวกเขาต้องพบเจอทุกวัน กระบวนการจิตตปัญญาจึงเป็นพื้นที่หรือแปลงเพาะสำหรับการบ่มเพาะหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณครูให้ฟื้นคืนพลัง และพร้อมที่จะกลับไปดูแลเมล็ดพันธุ์ปัญญาของเด็กๆ ให้เติบใหญ่ขึ้นอีกต่อหนึ่ง

ดังที่ พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ นักการศึกษาชาวอเมริกันได้เสนอไว้เมื่อเขาได้สร้างโปรแกรมการ “ฟื้นฟูพลังชีวิตครู” หลังจากที่เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง กล้าสอน (Courage to Teach) ออกมา โดยจัดอบรมให้ครูกลุ่มละ ๓๐ คนเป็นจำนวน ๘ ครั้งในช่วงเวลา ๒ ปี เพราะเขาเห็นว่าในขณะที่สังคม อเมริกันมุ่งแต่การพยายามปรับปรุงเนื้อหา และพัฒนาหลักสูตรในระบบการศึกษาให้สามารถเตรียม ความพร้อมแก่เด็กในการเผชิญหน้าและรับมือกับโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ได้ด้วยความรู้และทักษะที่เหมาะสม สิ่งที่ขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัด คือการดูแลจิตวิญญาณของครู ซึ่งพาล์มเมอร์หมายถึงการรับฟัง รับรู้ชีวิตของครูอย่างไม่พยายามวิเคราะห์ ตัดสิน พยายามแก้ไข หรือปรับปรุงสิ่งที่ครูเป็น ส่วนเรื่องทักษะ ความรู้และวิธีการสอนนั้น เป็นเรื่องภายนอกที่แม้จะมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่หาได้เป็นแหล่งกำเนิดของพลังชีวิตไม่

มีครูท่านหนึ่งได้กล่าวกับผมว่า “หลังจากได้มาเข้าร่วมเรียนรู้ในกระบวนการจิตตปัญญาแล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีความสงบสุขในใจมากขึ้น กลับไปบ้านก็รู้สึกว่าไม่อารมณ์ร้อนกับลูกๆ รู้สึกยอมรับ และเข้าใจพวกเขาอย่างที่เป็น รวมทั้งได้นำเอาพลังชีวิตนี้ไปแบ่งปันให้กับนักเรียนได้รู้จักตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่เพื่อนๆ เป็น รู้สึกว่าตัวเองรับฟังเรื่องราวของเด็กๆ ได้ดีขึ้น ไม่เคยได้ทำกิจกรรมในลักษณะนี้มาก่อน เหมือนกับเป็นช่วงเวลาที่ได้มาให้สิ่งดีๆ กับชีวิตตัวเองอย่างไม่ต้องกังวลกับเรื่องงานหรือการสอน แต่ผลลัพธ์กลับเป็นประโยชน์กับความเป็นครูอย่างยิ่ง”

หากแปลงเพาะต้นกล้าของหัวใจครูในลักษณะคล้ายกันนี้ได้ขยายอาณาเขตออกไป เราคงจะคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า เด็กๆ อีกจำนวนไม่น้อยคงจะได้รับการดูแลตั้งแต่จิตใจไปจนถึงกระบวนการคิด จนสามารถคิดเป็น เห็นใจผู้อื่น ตื่นรู้ในหนทางแห่งปัญญาได้อย่างไม่ต้องสงสัย

จิตตปัญญาหน้าห้องเรียน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มกราคม 2556

เมื่อไม่นานมานี้ มีครูคนหนึ่งที่เคยเข้าร่วมการอบรมของผมไถ่ถามมาว่า "อาจารย์คะ น้ำมีปัญหาเรื่องการสอนจะเรียนปรึกษาอาจารย์ค่ะ น้ำสอนหนังสือมาปีนี้ครบยี่สิบปี นักศึกษาเปลี่ยนไปมาก จากที่มีความสนใจใส่ใจตนเอง กลับมาเรียนแบบไร้ความรู้สึก น้ำพยายามสอดแทรกหรือปรับเทคนิคการสอนให้มีความน่าสนใจ ในช่วงแรกๆ ก็ดีค่ะ แต่ช่วงหลังๆ ก็กลับไปเหมือนเดิม มีกระบวนการใดที่จะพัฒนาจิตใต้สำนึกของนักศึกษาก่อนที่จะเริ่มเรียนได้ ให้เขาสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง มาเรียนด้วยความรู้สึกสดชื่น และเห็นคุณค่าของตนเองได้บ้างคะ"

จะว่าไปแล้ว ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ หากเป็นไปด้วยดี จะเหมือนความสัมพันธ์กับคนรัก คือมีความอบอุ่น มีพลังงานอุ่นๆ ของความใส่ใจมอบให้กันและกัน เป็นเหมือนการต่อท่อพลัง การเชื่อมต่อสนามพลัง ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ดีมากๆ และเป็นสภาวะของสมองที่เรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)

การต่อท่อพลังดังกล่าว มีเทคนิคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศโดยรวมของห้อง เช่น สี แสง เสียง การนำเพลงที่เอื้อให้เกิดคลื่นสมองแบบอัลฟา (เกิดจากสภาพจิตใจที่สงบ) มาเปิดสักห้านาทีสิบนาทีก่อนการเรียนทุกครั้งจะช่วยได้มาก หรือให้นักศึกษาพูดอะไรก็ได้ที่อยากจะพูดสักสิบห้านาที แต่ไม่ต้องให้พูดทุกคน เป็นต้น

แต่ในบรรดาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ครูที่ยืนอยู่ข้างหน้านักเรียนนักศึกษานั่นแหละเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่สุด จิตวิญญาณของครู ความเป็นตัวเป็นตนของครู จะกำหนดบรรยากาศความเป็นไปของห้องเรียนอย่างแน่นอน



การใช้เสียงแบบกระบวนกร กับตัวตนครู

ในทีมกระบวนกรของอาศรมหิ่งห้อย พอทำงานกระบวนการไปได้หลายๆ ปี แต่ละคนจะมีวิถีการพูดเป็นจังหวะจะโคน ซึ่งผมเคยเทียบเคียงว่าเป็นการทอดจังหวะแบบเดียวกับการสะกดจิตเลยทีเดียว คือการนำพานักศึกษาหรือผู้เข้าร่วมเข้าสู่คลื่นสมองแบบอัลฟา ซึ่งมีทางที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดรูปแบบคลื่นสมองที่เรียกว่า "จิตตื่นรู้" ที่จะทำให้นักเรียนเข้าสู่บทเรียนได้ดีที่สุด สามารถเรียนรู้ได้อย่างแจ่มใสชาญฉลาดที่สุด

แน่นอนว่า เสียงดังกล่าวจะต้องออกมาจากตัวตน หรือความเป็นตัวเรา (being) ไม่ใช่เฉพาะหน้าฉากที่เราอยากให้คนอื่นรับรู้ ไม่ใช่อาการดัดจริตติดดี เพราะหากเราสามารถเข้าหาแก่นจริงแท้กับตัวเอง เราย่อมสามารถจริงแท้กับคนอื่น กับนักศึกษาของเราได้ ซึ่งความจริงแท้นี้มีพลังมหาศาลที่จะนำพาห้องเรียนไปได้อย่างมหัศจรรย์

หากเราบ่มคุณค่าแห่งความเป็นครู อดทน สม่ำเสมอ รอคอย อ่อนโยน เปิดใจรับรู้ เชื่อมต่อ สนใจใคร่รู้ในตัวศิษย์อย่างสม่ำเสมอ นั่นจะเป็นพลังพายุหมุนมหาศาลที่จะนำพาศิษย์ไปเรียนรู้อะไรต่างๆ ได้อย่างสนุกสนาน



เรียนรู้จากคู่แข่งของครู

ผมเคยดูรายการเท็ดทอล์ค (Ted Talks) มีปาฐกคนหนึ่งมาพูดเรื่อง “เราจะเรียนรู้จากเกมคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง?” เขาสาธยายว่า สิ่งที่เกมมีและทำให้เด็กติด เช่นการให้รางวัลบ่อยๆ ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยเพียงใด คือการกระทำของเราในเกมมีผลตอบสนอง คือมีคะแนนตลอดเวลา ทำให้อยากทำต่อไป เป็นต้น

คราวหนึ่งในขณะที่คุยกับพ่อแม่ที่อยากพาลูกมาเข้าร่วมในอาศรมหิ่งห้อย มีใครคนหนึ่งในทีมของเราโพล่งออกมาว่า หรือว่าเกมเป็นเพื่อนที่ดีกว่าพ่อแม่ เป็นครูที่ดีกว่าครู ผมคิดว่าเป็นถ้อยคำที่น่าสนใจ

ต่อมา เมื่อพ่อแม่พาลูกอายุเก้าขวบมาทดลองเรียนรู้กับพวกเรา เขาติดเกมมากและนำมือถือรุ่นล่าสุดมาด้วย พวกเราบางคนบอกว่า อย่าให้เขาเอามาจากบ้านดีไหม? ผมบอกว่าให้เอามาเลย ไม่มีปัญหา เมื่อเขามาอยู่กับเราจริงๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาเริ่มสนุกกับการอยู่ร่วมเป็นชุมชน การผูกสัมพันธ์กับสมาชิกบางคน ทำให้เขาหันมาติดคนมากกว่าติดเครื่อง และสนุกกับกิจกรรมจริงๆ มากกว่ากิจกรรมในเครื่อง แต่ตอนเขาอยู่บ้าน เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถสื่อสารในระดับสติปัญญาของเขา ระดับเรื่องราวที่เขาจะสนใจได้ เขาจึงอยู่กับเครื่องมากกว่าคนนั่นเอง



มีบางอย่างที่ดึงดูดคนมากกว่าเครื่องหรือ?

พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า โยงใยความสัมพันธ์ ความผูกพัน (bonding) ซึ่งเขาเขียนในหนังสือ กล้าสอน (Courage to Teach) ว่า เมื่อคนเราเปิดใจ และหลอมรวม ผูกโยงเข้าด้วยกัน ในความผูกพันดังกล่าว เราจะรู้สึกอุ่นๆ สบายและมีความสุข คลื่นสมองจะเข้าสู่ความเป็นปกติ และอาจกลายเป็นคลื่นสมองแบบจิตตื่นรู้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ครูจะต้องเชื่อมโยงผูกพันกับสนามของความรู้ คือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์ความรู้ที่ตนเองจะสอนด้วย

เมื่อด้านหนึ่งเชื่อมโยงผูกพันกับเด็กนักศึกษา อีกด้านหนึ่งเชื่อมโยงผูกพันกับสนามขององค์ความรู้ แล้วน้อมนำนักศึกษากับองค์ความรู้เข้าหากันจนเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือครูได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ครูได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว



เส้นทางแห่งปาฏิหาริย์ กับมิติของเวลา

มนุษย์ทุกคนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และมีปัญญาอันยิ่งใหญ่ (นอกจากจะมีความผิดปกติหนึ่งใด) แต่ด้วยความเข้าใจผิด ระบบการศึกษา การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ และค่านิยมของสังคม ได้ก่อกำแพงขวางกั้นกระบวนการเรียนรู้อันวิเศษที่เป็นไปตามธรรมชาตินี้ การเข้าไปดูแลเด็ก ก็คือการเข้าไปบำบัดเยียวยา หรือถอดสลักของอุปสรรคขวางกั้นเหล่านี้ออก

แต่เราจะต้องลงทุนในเรื่องเวลา โดยเฉพาะในช่วงแรกซึ่งเป็นช่วงของการเยียวยา ช่วงของการถอดสลักออก ต่อเมื่อประตูการเรียนรู้เปิดออกแล้ว เราจะพบกับความอัศจรรย์ของประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ

เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมเคยมีโอกาสสอนนักศึกษาราชภัฏ คณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย ประมาณ ๔๐ คน และสามารถนำพาพวกเขาออกมาจากกำแพงแห่งความไม่สามารถเรียนรู้นี้ได้ ผมมีเวลาอยู่กับนักศึกษา ๘ สัปดาห์ สัปดาห์ละสองชั่วโมงติดกัน โดยใช้เวลาสามสัปดาห์แรกในการต่อท่อพลัง (connect) กับเด็กๆ พูดคุย ตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อฟังเสียงของพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเอง

อีกสามสัปดาห์ให้เขาสัมผัสการเขียนอย่างไม่สนใจการสะกดคำว่าถูกหรือผิด เขียนแบบธาราลิขิต เขียนแบบให้ไหลๆ ไป อะไรก็ได้ เขียนไปเถอะ ซึ่งพวกเขาก็เขียนกันออกมาได้

สองสัปดาห์สุดท้าย จึงเริ่มเขียนเรื่องใกล้ตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น บอกเล่าเหตุการณ์ที่พวกเขามีความสุขที่สุด รู้ไหมครับ เกือบร้อยเปอร์เซนต์ พวกเขาเขียนถึงโอกาสที่พ่อแม่พี่น้องนั่งอยู่ด้วยกันครบ กินข้าวด้วยกัน นั่นแหละคือสิ่งที่เด็กๆ มีความสุขที่สุด

ในที่สุดเขาก็เขียนกันได้ และได้อะไรมากกว่าการเขียน อาจารย์จากภาควิชาที่ชวนผมไปสอนได้บอกให้ผมทราบภายหลังว่า เด็กรุ่นนี้กลายเป็นเด็กที่สนใจเรียนมากกว่ารุ่นอื่นๆ ส่งรายงานมากกว่าเด็กทั่วไป และแน่นอนผลการเรียนดีกว่า อาจารย์เขายกความดีความชอบให้กับการสอนของผม นี่ไงครับสิ่งที่ผมเรียกว่าปาฏิหาริย์



เราเรียนอะไรกัน

เวลาผมไปพบครูอาจารย์ตามที่ต่างๆ และมีโอกาสแนะนำวิธีการสอน อาจารย์มักจะบอกว่า วิธีการของผมดี แต่กลัวว่าจะไม่มีเวลา เพราะเนื้อหาวิชาเยอะมาก ต้องตะลุยสอนไป ไม่มีเวลามาต่อท่อกับเด็กๆ

ผมบอกอาจารย์ว่า มีโรงเรียนแพทย์ในเยอรมันที่ตัดเนื้อหาทิ้งไปครึ่งหนึ่งเลย เพราะไม่มีใครจดจำเนื้อหามากขนาดนั้นได้ เราจะเรียนเนื้อหาซึ่งค้นคว้าอ่านจากที่ไหน เมื่อไรก็ได้ไปทำไม? หรือเราจะเรียนวิธีการเรียน (Learn how to learn) ว่าจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไร หากเป็นการเรียนเพื่อจะได้เรียนเองเป็น เราไม่ต้องขนเนื้อหามามากมายหรอกครับ เพียงใช้เนื้อหาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนเท่านั้น

ที่จริงมนุษย์มีวิธีการเรียนรู้อยู่แล้วภายใน ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เป็นศิลปินอยู่แล้ว เป็นนักจัดการอยู่แล้ว แล้วแต่ว่าใครจะโน้มเอียงไปทางไหน เราเพียงกระตุ้นให้เขาค้นพบตัวเอง และหาหนทางให้พวกเขานำศักยภาพที่ีมีอยู่ออกมา

สุดท้ายคือศรัทธา ศรัทธาเหมือนอย่างมืดบอดเลยก็ว่าได้ ว่าทุกคนมีศักยภาพอยู่เต็มเปี่ยม หากเราให้ความศรัทธาต่อผู้เรียน ศรัทธาในศักยภาพของพวกเขา เราจะได้เห็นการคลี่ออกมา การสำแดงออกมาซึ่งศักยภาพเหล่านั้นอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ แล้วเราจะมีปีติสุข ปลาบปลื้มใจ อย่างไม่รู้ลืม

ทดลองดูไหมครับ

นิสัยรักการเปลี่ยนของจิต: เห็นทั้งระบบ


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มกราคม 2556

ทุกๆ ปีใหม่ ผู้คนมักจะตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยมีแนวโน้มมุ่งเน้นไปในเรื่องการแก้ปัญหานิสัยเสียๆ ของตัวเอง เช่น นิสัยการกิน นิสัยการดื่ม นิสัยการเที่ยว นิสัยการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต่างรู้ดีหลังจากลงมือเปลี่ยนแปลงคือ นิสัยเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก หลายคนอาจเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการวาดฝันไว้อย่างสวยหรู แต่แล้วก็พบว่าตัวเองแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น

นักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientists) อธิบายว่า นิสัยคือ รอยเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่แข็งแรง เมื่อเราเข้าใจนิสัยในแง่ของสมองด้วย เราจะพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งของสมองคือ มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำลายรอยเชื่อมเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นไปได้ง่ายกว่าคือ การสร้างรอยเชื่อมต่อใหม่ในสมอง [Quiet Leadership (2009) by David Rock] กล่าวคือ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพยายามเลิกนิสัยเสียๆ แต่มันง่ายกว่ามากที่จะสร้างนิสัยใหม่ให้เป็นทางออกกับการเริ่มต้นปีใหม่ ความเข้าใจนี้ดูจะมีความหวังมากกว่า

นิสัยรักการเปลี่ยนของจิต (transformational habits of mind) เป็นนิสัยกลุ่มหนึ่งที่มนุษย์สามารถสร้างรอยเชื่อมต่อที่ต่างไปจากเดิมได้ ดร.เจนนิเฟอร์ การ์วี เบอร์เกอร์ (Jennifer Garvey Berger) ศิษย์เอกของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน (Robert Kegan) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Changing On the Job (2012) ว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องปลูกนิสัยรักการเปลี่ยนของจิตสามประการ ได้แก่ นิสัยถามต่าง นิสัยมองหลายมุม และนิสัยเห็นทั้งระบบ ด้วยเนื้อที่จำกัดสำหรับบทความนี้ ผมจะขอเลือกอธิบายลงลึกเฉพาะเรื่องของนิสัยเห็นทั้งระบบ เพื่อนำเสนอแนวทางหนึ่งในการทำตามความตั้งใจเปลี่ยนของตัวเองได้อย่างมั่นคง

การเห็นทั้งระบบคืออะไร คำตอบอย่างกระชับสั้นคือ “การมองเห็นแบบแผนของสิ่งต่างๆ ” หรือ “การมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ” ซึ่งสามารถอธิบายขยายความเพิ่มเติมได้ว่า “แบบแผน” และ “ภาพรวม” นี้ ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติในฐานะสสารหรือพลังงาน แต่เป็นการสร้างขึ้นเองของจิตมนุษย์ เพื่อเอาไว้ใช้ในการอธิบาย วิเคราะห์ และให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ ในโลกและจักรวาลนี้ และเมื่อคนสามารถ “เห็นทั้งระบบ” ได้ซับซ้อนมากขึ้น หมายความว่า คนนั้นๆ สามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปของโลกและจักรวาลนี้ได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างการเห็นทั้งระบบ จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานช่วยให้คนเปลี่ยนแปลงตนเองมาตลอดสามปี ผ่านกระบวนการเอกซ์เรย์จิตตามแนวทางของศาสตราจารย์คีแกน ที่เผยให้เห็นถึง “ระบบจัดการความกังวล” (anxiety management) อันเป็นการทำงานอัตโนมัติของจิต มันคือแบบแผนการทำงานของจิตใจเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่ทำหน้าที่ปกป้องความกลัวและจัดการความกังวล ให้อยู่ในระดับที่คนคนนั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ในแต่ละวัน เมื่อระบบนี้ทำงานได้ดี ในแต่ละวันเราจะแทบไม่รับรู้ถึง “ความกังวลนอนเนื่อง” ที่มีอยู่ตลอดเวลา เช่น กังวลว่าจะไม่ทันสมัยกับคนอื่นเขา ก็เลยเข้าไปอัพเดตเฟซบุ๊คทุกๆ ห้านาที เป็นต้น เมื่อได้อัพเดตแล้ว ความกังวลนั้นก็จะหายไป แต่จริงๆ มันแค่หายไปจากการรับรู้ของจิตสำนึกเท่านั้น แล้วเข้าไปนอนเนื่องอยู่ในจิตไร้สำนึกต่อไป พร้อมที่จะโผล่ออกมาเมื่อมีสิ่งกระตุ้นเร้าใหม่ ดังนั้นจิตมนุษย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาเพื่อจัดการกับความกังวลนอนเนื่อง ทั้งหมดเป็นกระบวนการอัตโนมัติของจิต ไม่ต้องจงใจสร้างขึ้น ระบบนี้ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเองอยู่แล้ว

การปลูกนิสัย “เห็นทั้งระบบ” เริ่มจากการเห็นถึงแบบแผนอันเป็นปกติวิสัยของจิตมนุษย์ที่มักเลือกข้าง เช่น เลือกความสุข ปฏิเสธความทุกข์ เลือกความดี ปฏิเสธความชั่ว เลือกความเร็ว ปฏิเสธความช้า เป็นต้น ถ้าแทนขั้วตรงข้ามด้วยสีขาว-ดำ จะอธิบายได้ว่า จิตเลือก “ขาว” และปฏิเสธ “ดำ” สมมุติว่าคนคนหนึ่งมีจิตเลือกข้าง “ขาว” เขาจะมีความกังวลนอนเนื่องว่า “ดำ” จะออกมาเมื่อไร และเมื่อ “ดำ” ออกมา ระบบนี้จะทำงานทันทีเพื่อจัดการกับ “ดำ” ให้หายไปจากการรับรู้ จนเกิดเป็นนิสัยเสียๆ บางอย่าง และถ้าปีใหม่ปีนี้เขาเริ่มคิดได้ ก็จะมีแนวโน้มที่จะจัดการกับนิสัยเสียๆ แต่แก้ไปได้ไม่นาน ก็จะกลับไปมีนิสัยเสียๆ เหมือนเดิม เพราะแท้จริงแล้วระบบจัดการความกังวลยังคงทำงานอยู่ตามปกติ

แต่เมื่อคนๆ นี้เริ่ม “เห็นทั้งระบบ” เป็นครั้งแรก เขาจะเริ่มเห็นภาพรวมว่า ที่ผ่านมาเขาทึกทักไปว่าโลกที่ควรจะเป็น คือมีแต่ “ขาว” จริงๆ แล้วมีโลกที่กว้างกว่าคือ โลกนี้มีทั้งขาวและดำ

เมื่อเขาเริ่มมีสติเท่าทันการทำงานอัตโนมัติของ “ระบบจัดการความกังวล” ได้อยู่เรื่อยๆ เขาจะเริ่มเห็นโลกที่มีทั้งขาวและดำบ่อยขึ้น จนเริ่มเห็นว่าโลกนี้มี “สีเทา” อยู่ระหว่างกลางระหว่าง “ขาว” กับ “ดำ” จิตไม่คิดนึกทึกทักแบบสุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่ง เริ่มเปิดพื้นที่สีเทาให้กับความเข้าใจโลกและชีวิต

เมื่อเริ่มมีสติยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ช่วยให้เขาสามารถถอยออกมา “เห็นทั้งระบบ” จนเป็นนิสัย ก็จะเริ่มเห็นว่ามี “เทาขาว” กับ “เทาดำ” อยู่ขั้นกลางแตกย่อยลงไปอีก เขาจะเริ่มเห็นว่าใน “เทาขาว” ก็มีดำ และใน “เทาดำ” ก็มีขาวอยู่ ดังนั้น “ความเป็นดำ” กับ “ความเป็นขาว” จึงเป็น “ขั้วธรรมชาติ” ที่จำเป็นต้องดำรงอยู่ร่วมกัน เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโต เมื่อเราเริ่มเข้าใจ “ความเป็นขาว” “ความเป็นดำ” มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะ “บริหารจัดการขั้วตรงข้าม” (polarity management) ระหว่างความเป็นขาว-ความเป็นดำอย่างไรให้ลงตัวกับสถานการณ์หนึ่งๆ (ไม่ใช่สลายความเป็นขั้วไปเสียจนหมด) บางสถานการณ์ต้องการเทาขาวมาก หรือเทาขาวน้อย หรือบางสถานการณ์ต้องการเทาดำมาก หรือเทาดำน้อย

เมื่อหมั่นปลูกนิสัยเห็นทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นการสร้างรอยเชื่อมต่อใหม่ของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ “บริหารจัดการขั้วตรงข้าม” เพิ่มเติมขึ้นมาจาก “ระบบจัดการความกังวล” ซึ่งเป็นรอยเชื่อมต่อเก่าของเซลล์ประสาท เมื่อรอยเชื่อมต่อทั้งเก่าและใหม่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ความเข้าใจโลกและชีวิตจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง สามารถเห็นว่าจากขาวไปสู่ดำเป็นความต่อเนื่องของเฉดสีเทาจากขาวสุดไปจนถึงดำสุด ไร้รอยต่อ และเกิดความเข้าใจว่าไม่ว่าจะเป็นจุดไหนก็เกิดจากการร่วมกันสร้างขึ้นของความเป็นขาวความเป็นดำ มากไปกว่านั้น ความเป็นขาวก็สร้างความเป็นดำ ความเป็นดำก็สร้างความเป็นขาว ทั้งสองขั้วต่างพึ่งพิงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน



ตัวอย่างการบริหารจัดการขั้วตรงข้ามข้างต้นนี้ เป็นหนึ่งในแนวทาง “การเห็นทั้งระบบ” ที่ผมใช้ในการทำงานกับตนเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับคน องค์กร และสังคม เมื่อคุณภาพการเห็นทั้งระบบมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น หมายถึงความเป็นไปได้ที่เราจะมีทางออกให้กับการเปลี่ยนแปลงตนเอง ยิ่งมีเฉดสีเทาเพิ่มมากเท่าไร ก็เท่ากับเพิ่มทางออกมากเท่านั้น ความสำเร็จที่ปรารถนาที่วาดฝันไว้ ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม เริ่มต้นจากเราทำหน้าที่เพียงสร้างรอยเชื่อมต่อใหม่ของเซลล์ประสาท ผ่านนิสัยรักการเปลี่ยนของจิต ที่เรียกว่า “เห็นทั้งระบบ”

สุดท้ายนี้ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยพรให้ผู้อ่านทุกท่าน ประสบผลสำเร็จได้ดังมุ่งหวังตั้งใจ มีแนวทางเติบโตที่เหมาะสมกับตนเองทุกท่านเทอญ

โลกใหม่ที่เราอยู่ร่วมกัน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 มกราคม 2556

สมมุตินะ สมมุติ

ว่าพวกเราอยู่ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดนี้มีหน้าที่ช่วยกันออกแบบกฎกติกาใหม่ของสังคม เมื่อร่างเสร็จแล้ว ทุกคนทั้งหมดในที่ประชุมก็จะตายในทันที แต่หลังจากนั้นก็จะเกิดใหม่ทันที และใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ได้ร่างไว้

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมไม่อาจรู้ได้ว่า ตนเองจะไปเกิดใหม่เป็นใคร เป็นเด็กหรือคนแก่ เป็นคนพิการหรือไม่ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มีเชื้อชาติอะไร นับถือศาสนาอะไร มีรสนิยมทางเพศแบบไหน เป็นคนรวยหรือคนจน บ้านอยู่ไหน เรียนอะไร ทำงานอะไร ฯลฯ – เหล่านี้ จะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย

กฎกติกาใหม่ที่จะเขียนขึ้นในที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปเกิดใหม่เป็นใครนี้จะมีหน้าตาอย่างไร?

แน่ล่ะ ก็ต้องเป็นกฎกติกาที่เขียนเผื่อไว้ในกรณีที่ตัวเราเองอาจจะต้องไปเกิดเป็นคนที่มีสถานะทางสังคมด้อยที่สุดหรือต่ำที่สุด - ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสังคมไทยก็คือ เป็นคนจน เป็นคนต่างจังหวัด ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือจบอาชีวศึกษา ทำงานรับจ้างรายวัน เป็นคนไร้รัฐหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน เป็นผู้หญิง เป็นคนพิการ เป็นโฮโมเซ็กชวล เป็นต้น - เพื่อที่ว่า เราจะได้มีหลักประกันว่า ในสังคมใหม่นี้ แม้จะเกิดมามีสถานะทางสังคมต่ำต้อย ก็ยังมีโอกาสเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมคนอื่นได้ และป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติด้วยสถานะดังกล่าว

เจ้าของการทดลองทางความคิดนี้ก็คือ จอห์น รอว์ลส์ นักปรัชญาอเมริกัน ผู้เขียน A Theory of Justice หมุดหมายสำคัญของงานด้านปรัชญาการเมืองที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางยาวนานตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ซึ่งได้เสนอหลักการสำคัญของความยุติธรรมที่เป็นธรรมไว้ ๒ ข้อ คือ (๑) หลักเสรีภาพ นั่นคือ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (๒) หลักความแตกต่าง นั่นคือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจะดำรงอยู่ได้ หากว่าการดำรงอยู่นั้นก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดในสังคม โดยย้ำว่าทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เหล่านั้น

ในโลกนี้ยังมีหลักทฤษฎีเรื่องความเป็นธรรม/ความยุติธรรมอีกหลายทฤษฎี ในทางปรัชญานั้นได้ถกเถียงต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปีแล้ว และก็คงถกเถียงต่อกันไปได้อีกหลายร้อยปี อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก็คือ ในทางปฏิบัติ แต่ละสังคมได้สร้างเจตจำนงร่วมกันต่อการสร้างความเป็นธรรมไว้อย่างไร นั่นหมายถึงว่า พวกเราแต่ละคนในฐานะปัจเจกและองค์ประกอบหนึ่งของสังคมมีจินตภาพร่วมกันต่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างไร?

หลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จำนวนมากมุ่งเปิดเผยให้เห็นมิติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ เราทราบแล้วว่าคนรวยที่สุดในเมืองไทยรวยกว่าคนจนที่สุดกี่เท่าตัว คนรวยและคนจนเหลื่อมล้ำต่างกันเพราะครอบครองทรัพย์สินทั้งที่เป็นยอดเงินในบัญชีธนาคารและที่ดินจำนวนต่างกันมากเท่าไหร่ คนที่มีเชื้อชาติต่างกัน เพศต่างกัน อายุต่างกัน รสนิยมทางเพศต่างกัน ฯลฯ เข้าถึงสุขภาพ การศึกษา อาชีพการงาน รายได้ คุณภาพ และความก้าวหน้าของชีวิต แตกต่างกันเพียงไรเราก็ทราบ แต่ดูเหมือนยังมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย

ที่น่าสนใจก็คือ งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ซึ่งสำรวจสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมทั่วประเทศจากพื้นที่กรณีศึกษา ๓๑ แห่ง ภายใต้ความเชื่อพื้นฐานที่ว่า เราจะตรวจจับชีพจรความไม่เป็นธรรมของสังคมได้ก็จากสถานการณ์ของกลุ่มคนชายขอบและหรือกลุ่มคนด้อยโอกาสที่สุดในสังคมนั้น ข้อค้นพบก็คือ
  • กลุ่มชายขอบและหรือคนด้อยโอกาสหลายกลุ่มในสังคมไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ด้านความไม่เป็นธรรมที่ค่อนข้างหนักหน่วง แม้ว่านโยบายส่วนใหญ่มุ่งไปที่การสร้างสังคมสวัสดิการ และพยายามสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ แล้ว แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่า “ถูกเลือกปฏิบัติ”
  • คนส่วนใหญ่ในสังคม รวมทั้งกลุ่มคนชายขอบและ/หรือคนด้อยโอกาส มองเห็นความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่เป็นเรื่องปรกติธรรมดา เช่น เชื่อแบบพุทธพราหมณ์ ว่าเป็นกรรมเก่า จึงเกิดมาจน ทำความไม่ดีในอดีตชาติจึงเกิดมาเป็นผู้หญิง โฮโมเซ็กชวล คนพิการ ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมเป็นธรรม ย่อมไม่อาจเป็นไปได้เลย หากผู้คนในสังคมยังมีจิตสำนึกสยบยอม และยอมรับสิ่งที่ดำรงอยู่เหล่านี้ว่าถูกต้องแล้ว ชอบธรรมแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้ามองไม่เห็นหรือไม่ยอมรับปัญหาที่ดำรงอยู่ และที่สำคัญ หากยังมองด้วยกระบวนทัศน์แยกส่วน นั่นคือ คิด/รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เกี่ยวกับเรา

โลกแห่งอนาคตเป็นโลกแห่งความเป็นไปได้ สังคมมีธรรมชาติของความเป็นอนิจจังและการเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมดา สังคมใหม่ที่เท่าเทียม มีความเป็นธรรม มีความรู้สึกเกื้อกูลต่อกัน – อย่างน้อยในฐานะของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน - จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

ความรู้ทางชีววิทยาพฤติกรรมสัตว์ยืนยันว่า ความรู้สึกต่อความยุติธรรม/ความเป็นธรรม เป็นความรู้สึกร่วมกันโดยธรรมชาติ ดังการทดลองในสัตว์ ที่กระทั่งลิงก็ยังปฏิเสธการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม มนุษย์ก็ไม่ต่างกัน สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมย่อมเป็นสังคมที่ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นปรกติ

โลกที่เหลื่อมล้ำ กดขี่เบียดเบียนบีฑาต่อกัน จะมีความบีบคั้นมาก ต่อให้โลกไม่แตกในเชิงกายภาพ ก็อาจจะแตกและแหลกสลายได้เช่นกัน การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมร่วมกัน จึงเป็นเรื่องของการยกระดับจิตสำนึกขึ้น เช่นเดียวกับเนื้อหาและชื่อหนังสือ Spirit Level: Why Equality is Better for Everyone ที่เขียนโดยริชาร์ด วิลคินสัน และเคท พิคเค็ต ซึ่งแปลเป็นไทยในชื่อ ความ(ไม่)เท่าเทียม โดย สฤณี อาชวานันทกุล – เล่มนั้น

สำหรับหลายคน ปีใหม่แต่ละครั้ง เป็นช่วงเวลาแห่งการหยุดพักทบทวนอดีต และวางเข็มทิศการเดินทางครั้งใหม่ เราไม่อาจยกระดับจิตหรือคิดเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและบรรลุธรรมเฉพาะตัวเฉพาะตนได้อีกต่อไป เพราะเรายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกใบนี้ ความท้าทายของเราก็คือ เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลง “ร่วมกัน” อย่างไร

โลกใหม่ที่เราอยู่ร่วมกันได้นั้นไม่เหมือนเดิม และการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมเกิดจากความรัก ไม่ใช่ความจงเกลียดจงชัง

Back to Top