เพาะพันธุ์ปัญญา…แปลงปลูกต้นกล้าของคนมีใจจะสอน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มกราคม 2556


เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสังคมและธนาคารกสิกรไทย ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงานวิจัยเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง (Research-based Learning) เป็นการสร้างความรู้ผ่านการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นโครงการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาให้เกิดการสร้างนักเรียนรู้ นักคิด นักค้นหา นักวิจัย นักปฏิปัติ มากกว่า “นักจดจำ” และ “นักสอบ” นับว่าเป็นความตั้งใจที่น่าชื่นชม

โครงการนี้จะอาศัยอาจารย์พี่เลี้ยงตามศูนย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน ๘ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางและศรีษะเกษ มหาวิทลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ เป็นต้น เป็นกลไกดูแล ติดตาม และสนับสนุนการทำงานของคุณครูที่กระจายตัวอยู่ตามโรงเรียนมัธยมกว่า ๘๐ แห่งทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนับว่ามีความสนใจเกินกว่าที่คาดหมายไว้ ด้วยเชื่อว่าจะช่วยให้นักเรียนเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้มากกว่าการเรียนแบบพึ่งพาตำราแบบเดิมๆ

นอกจากโครงการนี้จะอาศัยกระบวนการทำโครงงานวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้แล้ว ยังอาศัยกระบวนการ “จิตตปัญญาศึกษา” ในการช่วยให้คุณครูมีความเข้าใจในตัวเองและผู้อื่น ฟื้นฟูแรงใจและพลังชีวิตในการเป็นครู ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ได้นิยามคำศัพท์ว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เมื่อปี ๒๕๔๘ ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้ยังคงเป็นที่สนใจในสังคมและเครือข่ายทางการศึกษา โดยช่วยตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในมิติของการพัฒนาจิตใจ นอกเหนือจากการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน

เมื่อผมและทีมงานได้ไปสัมผัสชีวิตครู ๖๐ กว่าคนที่มาเรียนรู้ร่วมกันที่มหาวิทยาลัยพะเยาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รู้สึกประหลาดใจที่ได้รู้ว่าครูเหล่านี้มีใจจะสอนและเลือกมาเป็นครูด้วย ครึ่งหนึ่งของห้อง ยังมีอายุไม่ถึง ๔๐ ปี และยังมีประกายตาของความใฝ่เรียนรู้และมีไฟที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเด็กๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คุณครูเหล่านี้กำลังรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้กับอุปสรรคที่เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่มีความสนใจในการเรียนน้อยลงเรื่อยๆ คุณครูรู้สึกว่านักเรียนหลายคนได้รับผลกระทบจากความขาดพร่องของครอบครัว ไม่ว่าจะขาดแม่หรือพ่อ หรือทั้งสองคน จากการที่พวกเขาต้องเข้าไปทำงานในเมือง ครูหลายคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนจากครูด้วยกัน รวมทั้งผู้บริหาร ในการที่จะเป็นครูที่ดี ในการทุ่มเทชีวิตให้กับการสอนสั่งดูแลให้นักเรียนมีชีวิตที่ดีขึ้น

ดังนั้น หากครูเหล่านี้คือผู้ที่จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาในตัวนักเรียนได้เจริญงอกงาม พวกเขาก็ต้องการการดูแลหัวใจด้วยเช่นกัน นั่นคือต้องการแปลงเพาะที่ดีที่จะอุ้มชูและหล่อเลี้ยงดูแล จิตวิญญาณของตนเอง พวกเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า แลกเปลี่ยน และระบายความรู้สึกโดยมีคนเข้าใจ ไม่ตัดสิน การพัฒนาจิตวิญญาณครูอาจไม่ใช่การให้คำแนะนำสั่งสอนหรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่ครูเป็น แต่เริ่มต้นจากการรับฟังความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ ความสุข รวมทั้งความใฝ่ฝันของครู

การได้ใช้เวลาในการสำรวจและแบ่งปันชีวิตของคุณครู ทำให้เกิดมิตรภาพที่งดงามในกลุ่มครูด้วยกันที่มาจากต่างโรงเรียน และยังได้แลกเปลี่ยนวิธีการจัดการชั้นเรียน เช่น การจัดการกับกลุ่มเด็กเรียนอ่อน หรือกลุ่มที่ไม่สนใจเรียน การสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยระหว่างครูกับนักเรียนเพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากความเป็นเด็กเกเรมาเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองราวพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

นอกจากนี้ ในงานจิตตปัญญา พวกเขายังได้เรียนรู้การเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ให้คุณค่า ความรู้สึก และความต้องการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ด้วยกัน และเด็กนักเรียนที่พวกเขาต้องพบเจอทุกวัน กระบวนการจิตตปัญญาจึงเป็นพื้นที่หรือแปลงเพาะสำหรับการบ่มเพาะหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณครูให้ฟื้นคืนพลัง และพร้อมที่จะกลับไปดูแลเมล็ดพันธุ์ปัญญาของเด็กๆ ให้เติบใหญ่ขึ้นอีกต่อหนึ่ง

ดังที่ พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ นักการศึกษาชาวอเมริกันได้เสนอไว้เมื่อเขาได้สร้างโปรแกรมการ “ฟื้นฟูพลังชีวิตครู” หลังจากที่เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง กล้าสอน (Courage to Teach) ออกมา โดยจัดอบรมให้ครูกลุ่มละ ๓๐ คนเป็นจำนวน ๘ ครั้งในช่วงเวลา ๒ ปี เพราะเขาเห็นว่าในขณะที่สังคม อเมริกันมุ่งแต่การพยายามปรับปรุงเนื้อหา และพัฒนาหลักสูตรในระบบการศึกษาให้สามารถเตรียม ความพร้อมแก่เด็กในการเผชิญหน้าและรับมือกับโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ได้ด้วยความรู้และทักษะที่เหมาะสม สิ่งที่ขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัด คือการดูแลจิตวิญญาณของครู ซึ่งพาล์มเมอร์หมายถึงการรับฟัง รับรู้ชีวิตของครูอย่างไม่พยายามวิเคราะห์ ตัดสิน พยายามแก้ไข หรือปรับปรุงสิ่งที่ครูเป็น ส่วนเรื่องทักษะ ความรู้และวิธีการสอนนั้น เป็นเรื่องภายนอกที่แม้จะมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่หาได้เป็นแหล่งกำเนิดของพลังชีวิตไม่

มีครูท่านหนึ่งได้กล่าวกับผมว่า “หลังจากได้มาเข้าร่วมเรียนรู้ในกระบวนการจิตตปัญญาแล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีความสงบสุขในใจมากขึ้น กลับไปบ้านก็รู้สึกว่าไม่อารมณ์ร้อนกับลูกๆ รู้สึกยอมรับ และเข้าใจพวกเขาอย่างที่เป็น รวมทั้งได้นำเอาพลังชีวิตนี้ไปแบ่งปันให้กับนักเรียนได้รู้จักตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่เพื่อนๆ เป็น รู้สึกว่าตัวเองรับฟังเรื่องราวของเด็กๆ ได้ดีขึ้น ไม่เคยได้ทำกิจกรรมในลักษณะนี้มาก่อน เหมือนกับเป็นช่วงเวลาที่ได้มาให้สิ่งดีๆ กับชีวิตตัวเองอย่างไม่ต้องกังวลกับเรื่องงานหรือการสอน แต่ผลลัพธ์กลับเป็นประโยชน์กับความเป็นครูอย่างยิ่ง”

หากแปลงเพาะต้นกล้าของหัวใจครูในลักษณะคล้ายกันนี้ได้ขยายอาณาเขตออกไป เราคงจะคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า เด็กๆ อีกจำนวนไม่น้อยคงจะได้รับการดูแลตั้งแต่จิตใจไปจนถึงกระบวนการคิด จนสามารถคิดเป็น เห็นใจผู้อื่น ตื่นรู้ในหนทางแห่งปัญญาได้อย่างไม่ต้องสงสัย

Back to Top