ตุลาคม 2008

จิตตปัญญากับวิกฤต



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551

มีเพื่อนหลายคนถามผู้เขียนว่า ทางออกของวิฤตต่างๆ ในปัจจุบันน่าจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนเรียนท่านเหล่านั้นตามตรงว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมั่นใจประการหนึ่งว่า วิกฤตต่างๆ จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่อง “จิตใจและปัญญา” กันมากขึ้น

อย่างเช่นวิกฤตคนในวันนี้ หลายท่านเห็นแล้วว่าสังคมไทยกำลังมาถึงทางตัน เนื่องจากฝ่ายที่ขัดแย้งกันในบ้านเมืองต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน และความไม่มีสติ ก็เป็นส่วนที่เร่งกระบวนการให้ถึงทางตันเร็วๆ ความสูญเสียจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จนไม่ต้องคาดเดาว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แก่ใจ และเหตุการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ มาแล้วหลายครั้งหลายครา ที่จะต้องมีคนตายเพราะเรียกร้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะในบ้านเมืองเรา แต่ในต่างประเทศก็เกิดความขัดแย้งและสูญเสียอย่างมากมายให้เราได้เห็นกันมาแล้ว ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบหยิบยกขึ้นมา คือ สงคราม ๓๐ ปี ในยุโรป ก่อนการเข้าสู่ยุคแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง (Enlightenment) ในช่วงทศวรรษที่ ๑๘

สงครามครั้งนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างความเชื่อในเรื่องคุณงามความดีที่ต่างฝ่ายมีต่อพระเจ้า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้กัน สุดท้ายเมื่อคนตายไปมากเหลือเกิน ประชากรหายไป ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี ผู้ชายเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่งของประเทศ คนก็เริ่มได้ “สติ” หันมามองสิ่งที่แตกต่างอย่างเป็นมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะความรู้และความเชื่อที่แตกต่างกัน แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งรู้แจ้งเห็นจริง ที่คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยใจอย่างใคร่ครวญมากขึ้น ยกระดับจิตใจและปัญญาโดยรวม และมีความสุข

ที่ผู้เขียนหยิบยกเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้นมา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเดินตามเส้นทางที่มนุษย์เคยผิดพลาดมาแล้ว เพราะเราประจักษ์แล้วว่า ความคิดความเชื่อที่ต่างกันอย่างรุนแรง อาจจะทำให้สติปัญญาของมนุษย์มืดบอดไปได้ด้วยความคิดที่คอยบงการให้ทำลายล้างกันตลอดเวลา จิตใจและสมองไม่เคยปลอดโปร่งพอที่จะมองเห็นมนุษย์คนอื่นอย่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ หรือมีวิธีสื่อสารให้เข้าใจกันอย่างสร้างสรรค์ที่จะไม่ทำร้ายคนอื่นๆ ในสังคมไปด้วย โดยเฉพาะการทำให้คนทั่วไปขาดสติ มีแต่อารมณ์ครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดความกลัว ความโกรธ และความเกลียดชังทั่วไปหมด ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแปรเปลี่ยนความกลัว ความโกรธ ความเกลียดของกันและกันในวันนี้ ให้ปรองดองกันและคุยกันได้ แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคนไทย ที่มีรากทางวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องความสงบสันติ มีความรักความเมตตา ที่จะชักจูงคนทั้งหลายให้ช่วยกันนำพาสังคมให้ก้าวข้ามวิกฤตหลุมเดิมนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยแนะนำพาคนที่ยังไม่เข้าใจ ให้เข้าสู่กระแสของการเรียนรู้ไปสู่จิตตปัญญา คือเรียนรู้ที่จะมีสติ มีปัญญา มีชีวิตอยู่อย่างเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดครอบครัว องค์กรและสังคม มีที่ความสุข

สถานศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยไม่ควรรอช้าที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีจุดหมายปลายทางสู่ความสุขที่แท้ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เพราะหายนะได้ก่อตัวขึ้นแล้ว ดังเช่นทั่วโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญและหันมาสนใจการศึกษาในระดับจิตวิญญาณอย่างจริงจัง มีหลักสูตรในลักษณะนี้มากมายทั่วโลกแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา หรือ สถาบัน Contemplative Mind in Society ที่นักวิชาการจากหลากหลายสาขามาร่วมกันก่อตั้งและทำงานวิจัยในเรื่องการพัฒนามนุษย์จากด้านใน เพราะเห็นแล้วว่า หากมนุษย์ไม่มีความรู้ความฉลาดในเรื่องจิตใจและปัญญา จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับมนุษย์ด้วยกันเองหรือธรรมชาติรอบตัวได้

ผู้เขียนเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำในศาสตร์ด้านนี้ได้ ในการที่จะทำให้คนเกิดจิตสำนึกใหม่ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์ องค์กรใหญ่ๆ ทุกองค์กรเริ่มจะส่งเสริมกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD; Human Resource Development) ให้บุคลากรมีคุณภาพทั้งทางด้านจิตใจและปัญญา เชื่อว่าคนจะรักองค์กรและทำงานด้วยหัวใจ และจะบริการผู้อื่นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีจิตอาสา และจิตใจที่เบิกบาน

มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรระดับปริญญาโท จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Contemplative Education and Transformative Learning) ซึ่งเน้นการศึกษาและการวิจัยว่า ทำอย่างไรจะทำให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงศักยภาพและความสุขที่แท้ในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ และมีความสมดุลกับธรรมชาติ นักศึกษาที่จบออกมาจะเป็นกระบวนกร (Facilitator) เป็นผู้ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน องค์กร สังคม ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรที่มีชีวิต และพร้อมที่จะศึกษาหัวใจขององค์กรร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่มีความสุข ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมศิลปะบำบัด สุนทรียสนทนา (Dialogue) นพลักษณ์ (Enneagram) วิชาทัศนะต่อโลกและปัญญาในการใช้ชีวิต ฯลฯ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอีกหลายๆ แห่งในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะเปิดหลักสูตรดังกล่าวในเร็ววันนี้ ท่านผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรควรที่จะเรียนรู้ศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกนี้ เพราะจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางที่ดีงามได้ในคราวเดียวกัน และหากมีผู้คนในระดับจำนวนวิกฤต (Critical mass) ที่เข้าใจเรื่องจิตตปัญญา จะสามารถยกระดับสังคมไปสู่ความเข้าใจใหม่โดยสิ้นเชิง และนำพาสังคมสู่ความสุขได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะวิกฤตคน ผู้เขียนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงวิกฤตคนให้ไปสู่วิถีแห่งความดีงาม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประชาชน ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ต้องตั้งสติให้ดี ช่วยผู้อื่นเปลี่ยนแปลงความทุกข์ให้เป็นความสุขที่แท้ด้วยจิตใจและปัญญา ส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนรู้ และเป็นผู้นำในเรื่องจิตตปัญญา แม้จะเป็นเรื่องที่ยากในวันนี้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์เราจะไม่พ่ายแพ้ต่อความยากลำบาก ถึงกับจะต้องหันหน้าเข้าสู่ความมักง่าย ที่จะแก้ปัญหาด้วยการด่าทอกัน ทำร้ายกัน และทำให้ผู้อื่นขาดสติกันไปทั้งหมด

สุดท้ายวิกฤตน่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังแห่งปัญญาได้เสียที โดยช่วยกันมีจิตตปัญญา ที่หมายถึงการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญต่อสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ในสังคมเรา และเปลี่ยนความท้อแท้สิ้นหวังมาเป็นพลังในการเรียนรู้ที่จะออกจากวิกฤตด้วยกันเสียตั้งแต่วันนี้ ทำให้เป็นเรื่องสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยสติปัญญาของคนในยุคสมัยของเรา

จิตตปัญญาศึกษา: รุ่งอรุณแห่งจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2551

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม วิกฤติการณ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหามลภาวะ ปัญหาโลกร้อน... สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางลบของการพัฒนาในกระแสหลักที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในยุคอุตสาหกรรมมาจนถึงยุคปัจจุบัน หากเรายังคงแนวคิดและพัฒนาตามกระแสในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบไม่ยั้งคิดและขาดสติ โลกและมนุษย์ก็คงจะถึงกาลวิบัติที่เร็วมากขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์เอง

ลองมาจินตนาการสร้างภาพอนาคตดูเป็นตัวอย่าง โดยเริ่มจากสิ่งที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาในปัจจุบัน แล้วคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี เวชภัณฑ์ การขนส่ง อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของตนเองเพิ่มขึ้น การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะเพิ่มเป็นทวีคูณตามพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำไปสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและธุรกิจเพิ่มขึ้น ช่วยให้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก ๑ พันล้านในปี ค.ศ. ๑๘๒๐ เป็น ๕ พัน ๕ ร้อยล้าน ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และประมาณ ๖ พันล้านคนในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของประชากรจะมีผลก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและทุกขภาวะในหลายลักษณะ กระทบต่อระบบสวัสดิการที่ต้องพิจารณาใหม่ คนรุ่นใหม่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเลี้ยงดูคนสูงวัย คนแก่คนจนถูกทอดทิ้ง ปัญหาสิ่งเสพย์ติด...

ความก้าวหน้าด้านระบบขนส่ง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น มีการเคลื่อนย้ายประชากรกระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เกิดการกลืนทางวัฒนธรรม

พัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ การแผ่ขยายของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ประชาธิปไตยที่ไร้จิตวิญญาณ ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นลดถอย หายไป นอกจากนั้นยังเกิดปัญหามลภาวะ ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลง อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ฉกฉวยและนำทรัพยากรทางธรรมชาติไปใช้อย่างไร้ขีดจำกัดภายใต้การกระตุ้นของระบบการค้าเสรี และข้อตกลงระหว่างประเทศรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงสุด นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายบนทิศทางการ “พัฒนา” ตามแบบอย่างของตะวันตก

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วมนุษย์ และโดยเฉพาะประเทศไทย จะมีทิศทางการพัฒนาไปในรูปแบบใด มนุษย์และโดยเฉพาะคนไทยจึงจะมีความสุข วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยจึงจะยังคงดำรงอยู่เป็นมรดกของคนไทยและมวลมนุษยชาติ

การพัฒนาที่ดำเนินไป ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น และดูเหมือนมนุษย์จะ มีการ “พัฒนา” แบบก้าวกระโดดมากขึ้น

แต่โลกก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เต็มไปด้วยสงครามในรูปแบบต่างๆ เต็มไปด้วยวิกฤติ

ทำไมยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งมีความขัดแย้ง ยิ่งมีความเครียด อยู่ร้อนนอนทุกข์

ทำไมการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงไม่สามารถทำให้คนมีความสุข มีความรัก ความเมตตา ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อม และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้น และที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้โลกมีสันติภาพได้

หรือเราต้องหยุดคิด เพื่อพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างมีสติและปัญญา เกี่ยวกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาที่ไหลไปตามกระแสอย่างขาดสติกันใหม่

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) และการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่เน้นการเรียนรู้และการพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศตะวันตกและทั่วโลก ที่ประเทศไทยก็มีกลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน นำแนวคิด แนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาเผยแพร่ ปฏิบัติ จัดอบรมมากขึ้น

มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มเปิดหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในปีการศึกษา ๒๕๕๑ คือ หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มีนักศึกษารุ่นแรก ๑๔ คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่จบปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรีมาเรียนร่วมกัน

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ และในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ๒๕๕๑ ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดอบรมด้านจิตตปัญญาศึกษาให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน ๒ รุ่นๆ ละประมาณ ๔๐ คน แต่ละรุ่นมี ๔ หลักสูตรๆ ละ ๓ วัน และในตอนท้ายได้นำผู้เข้าอบรมทั้ง ๒ รุ่นมาประชุมร่วมกันสรุปบทเรียนและแนวทางการขยายผลร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มโกศล กลุ่มจิตวิวัฒน์ ศูนย์คุณธรรม และตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายคุณธรรมในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา: การอบรมภาวะผู้นำทางจิตตปัญญาศึกษาสู่มหาวิทยาลัย”

ความพยายามเริ่มต้นของการนำแนวคิดและวิธีการทางจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในการพัฒนามนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการอบรมที่จัดโดยบุคคลและองค์กรต่างๆ การจัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็นการศึกษาทางเลือก เช่นที่โรงเรียนสัตยาใส และที่สถาบันอาศรมศิลป์ รวมถึงการจัดการศึกษาในระบบปกติ เช่นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างล้วนอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และพัฒนา จึงถือเป็นรุ่งอรุณของการสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษาที่สมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการพัฒนามนุษย์

และเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับความหมาย แนวคิด และการปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา ผู้เขียนขอนำเสนอภาพรวมความเข้าใจกว้างๆ ที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา เพื่อให้ผู้สนใจนำไปพิจารณาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันดังนี้

จิตตปัญญาศึกษาเป็นการศึกษาที่เน้นและให้คุณค่าในเรื่อง “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” เพื่อเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา (รู้เท่าทัน) มิติ/ปรากฏการณ์ด้านในของมนุษย์ (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ...) ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง (ได้รับผลกระทบจากและมีผลกระทบต่อ) กับมิติ/ปรากฏการณ์ภายนอก (คนอื่น สังคม เทคโนโลยี ระบบนิเวศ...) ผ่านกิจกรรมและกระบวนการที่หลากหลาย มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางความคิดและจิตสำนึกใหม่ เกี่ยวกับตนเองและสรรพสิ่ง ส่งผลสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อเองและสรรพสิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ

ในระบบมีคน



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2551

จากบทความที่มีเพื่อนผู้หวังดีส่งมาให้ผู้เขียนชื่อ “Democracy on the wane” (http://www.boston.com/bostonglobe/ideas/articles/2008/09/14/democracy_on_the_wane) ซึ่งแปลได้ประมาณว่า ประชาธิปไตยข้างแรม หรือ แสงสว่างของประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง แสดงให้เห็นว่าชาวโลกกำลังมองเหตุการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ไม่ต่างไปจากเรา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คาดเดาได้ การย้อนถามและตรวจสอบระบบประชาธิปไตย เป็นคลื่นระลอกที่สามที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ แต่ในรายละเอียดมีความอ่อนแอในทุกๆ จุด และไม่แปลกหากคนจะย้อนถามหาระบบที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีระบบใดดีที่สุดในโลก หากลืมเห็น คน ที่อยู่ในระบบ

ระบบคนขนาดใหญ่โดยทั่วไปประกอบด้วย ผู้นำ ผู้ตาม เนื้อหาสาระ และการสื่อสาร นั้น หากผู้นำดี ผู้ตามดี เนื้อหาสาระดี การสื่อสารดี ระบบก็ย่อมดี ซึ่งถ้าผู้นำคือผู้ปกครองประเทศ ผู้ตามคือประชาชน เนื้อหาสาระคือรัฐธรรมนูญ และการสื่อสารคือการสื่อสารทุกภาคส่วน ทั้งปัจเจกและองค์รวม เมื่อผู้นำดี ประชาชนมีคุณภาพ รัฐธรรมนูญสอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การสื่อสารเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ประเทศก็น่าจะดี

แต่ในขณะนี้ประเทศเรากำลังพุ่งประเด็นไปที่ ผู้นำ เสียส่วนใหญ่ เราวุ่นวายอยู่กับการสรรหาผู้นำ ส่วน เนื้อหาสาระ ก็มองกันแต่เพียงหลักการและกรอบกติกา ในทางปฏิบัติ ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร ไม่ได้พูดคุยกันสักเท่าไร ส่วน ผู้ตาม คือประชาชน แทบจะไม่มีการมอง กระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจ ที่จะสามารถพัฒนาตนให้มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีในระบอบประชาธิปไตยถูกลืมไปเลย และ การสื่อสาร ระหว่างกันอยู่ในระดับสอบตก

ผู้นำที่ดีที่จะเป็นผู้นำของระบบคนขนาดใหญ่ได้นั้น ต้องเข้าใจและเข้าถึงธรรมชาติของคนเป็นอันดับแรก ผู้เขียนต้องการเห็นผู้นำที่เข้าใจและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง อย่างน้อยผู้นำต้องสามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตนเองว่า มนุษย์ผิดพลาดได้ เรียนรู้สื่อสารกันได้และให้อภัยกันได้ และที่สำคัญเห็นความเป็นมนุษย์ในผู้อื่น เห็นความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ และชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าทุกปัญหามีทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางวาจาและการกระทำ สามารถหาทางออกร่วมกันอย่างผู้เจริญแล้วทางสติปัญญา สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างตรงจุด คือ การแก้ที่คน เชื่อว่าคนสามารถพัฒนาได้ทั้งจิตใจและปัญญา หากเวลานี้ คนในประเทศเราไม่มีความสามารถที่จะคุยกันอย่างสันติ ต้องเรียกสติคน ให้ความเชื่อมั่นกับคนในประเทศว่า เราต้องคุยกันได้ ไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายเป็นปัญหาปลายเปิด และกลายเป็นบาดแผลที่เยียวยาไม่ได้

ในส่วนของเนื้อหาสาระหรือรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าจะร่างกรอบกติการัดกุมอย่างไร หากมองไม่เห็นคนปฏิบัติ ว่าจะเข้าใจได้หรือไม่ จะปฏิบัติอย่างไร ก็รังแต่จะเป็นการสร้างกติกาที่ทำให้เกิดความแตกแยกทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะปฏิบัติอย่างไรก็ผิดไปหมด คนชั่วก็เต็มเมือง คุกก็ไม่มีพอที่จะขังคนทั้งเมือง นั่นเป็นเพราะมองแต่กติกาแต่มองไม่เห็นคน ยิ่งร่างกติกา ยิ่งทำให้คนคุยกันได้น้อยลง สื่อสารกันได้น้อยลง คนเกลียดกันมากขึ้น เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับศักยภาพและการพัฒนาคุณภาพของคนในระบอบประชาธิปไตยไม่มีการกล่าวถึงเลย ทำอย่างไรจะให้คนคุยกันได้มากขึ้น เห็นความแตกต่างหลากหลายอย่างเป็นมิตรในระบอบประชาธิปไตย เข้าใจหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรที่จะมีการยกระดับและให้คุณค่าการพัฒนามนุษย์ที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของประเทศร่วมกันทุกภาคส่วน

ส่วนผู้ตามหรือประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบ แต่ละคนต้องมีสติ ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ด้วยตัวของท่านเอง ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทั้งทางวาจาและการกระทำ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในสังคม ท่านสมควรแสดงตัวอย่างการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า ผู้ใหญ่นั้นคุยกันอย่างมนุษย์กับมนุษย์ได้ เรียนรู้ร่วมกันได้ และให้อภัยกันได้ ความผิดพลาดเป็นบทเรียน และการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เริ่มจากความผิดพลาด ที่พึงแก้ไขร่วมกันไป ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม หากประชาชนเชื่อมั่นในการช่วยกันทำนุบำรุงบ้านหลังใหญ่ ย่อมไม่ท้อแท้ที่จะช่วยกันสื่อสารอย่างสันติในระดับตัวต่อตัว เริ่มจากครอบครัว โรงเรียน ฯลฯ ว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกอย่างสันติ หากหันหน้าคุยกัน ลดการพูดคุยในปมในประเด็นที่เป็นเรื่องคลุมเครือ เพราะไม่มีประโยชน์อันใดต่อคนทั้งหมด แสดงให้เห็นศักยภาพของคนไทยว่าเป็นผู้ที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยปัญญา และสามารถเป็นผู้นำของชาวโลกได้ในเรื่อง สันติวิธี

สุดท้าย ไม่มีระบบที่ดีที่สุดในโลก หากปราศจากการมองเห็นคนในระบบว่า คนพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ ทั้งจิตใจและปัญญา ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี จากการมีพื้นฐานจิตใจที่ละเอียดอ่อน หากเพียงตั้งสติ และเป็นสติให้แก่กันและกัน จะสามารถมองเห็นทางออกจากวิกฤตได้ทะลุปรุโปร่งอย่างแน่นอน

การเมืองใหม่กับจิตใหม่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2551

ระยะนี้มีการพูดเรื่องการเมืองใหม่กันมาก สื่อมวลชนกลายเป็นสภามหาชนที่ดีในการเปิดพื้นที่ให้มีการนำความคิดของแต่ละฝ่ายออกมานำเสนอและถกอภิปรายแลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดเผยและในวงที่กว้างขวาง ลักษณะนี้แลที่เรียกว่า การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) และหากมีตัวละครมากกว่าผู้ชำนาญการในนามของนักวิชาการ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)

แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรใหม่-ใหม่นั้น ย่อมต้องการจิตใหม่-ใหม่เช่นกัน

การเมืองใหม่ไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญหรือกติกาใหม่ ภายใต้ตัวละครหรือผู้เล่นหน้าเก่า จิตเก่า-เก่า

การปฏิรูปศาสนาในยุโรป (ค.ศ. ๑๕๑๗ – ๑๖๔๘) ก็ดี การปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๙) ก็ดี การปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จากจิตวิญญาณแบบเก่า การเรียกร้องอิสรภาพของประเทศอาณานิคมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา อินโดนีเซีย (ค.ศ. ๑๙๔๕) อินเดีย (ค.ศ. ๑๙๔๗) ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จากจิตวิญญาณแบบเก่า

และจะเห็นได้ว่า กระบวนการปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งสิ้น

การปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเมืองไทยจะใช้เวลากี่นาน?

เราต้องใช้จิตวิญญาณแบบไหนในการปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเมืองไทย?

หากเราจะตอบคำถามข้างต้นให้ได้ การนั่งคุยกันเรื่องการเมืองใหม่ในห้องเสวนาสองสามชั่วโมงคงจะไม่มีทางได้คำตอบที่สำเร็จรูป การเขียนบทความสองสามหน้ากระดาษเอสี่ก็คงจะไม่ได้คำตอบแบบมาม่าเช่นกัน เช่นเดียวกับการเชิญผู้ชำนาญการไปออกโทรทัศน์เพื่อให้คนรับรู้เรื่องการเมืองใหม่ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเสนอเพื่อชักจูงมากกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็น

เราอาจจะต้องให้เวลากับการแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการเมืองใหม่มากกว่าปรกติธรรมดา – เรื่องของบ้านเมือง คิดหรือทำเพียงชั่วคืนได้ล่ะหรือ? แล้วเราจะพูดกันว่าเบื่อ เบื่อ เบื่อ กับความไม่คืบหน้าของการเมืองไปได้อย่างไร

นี่ยังไม่ผ่านช่วงชีวิตของเราไปด้วยซ้ำ คนรุ่นลูกหลานเราเขาจะพูดถึงเรากันอย่างไรบ้างหนอ?

ปัญหาของมนุษย์อีกร้อยปีข้างหน้าจะยังเหมือนเดิมไหม?

หากใครเคยดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์โลกอนาคตอย่าง สตาร์วอร์ส หรือ สตาร์เทร็ก ก็จะเห็นว่า แม้เสื้อผ้าจะเปลี่ยน แม้ที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยน แม้ยานพาหนะจะเปลี่ยน แต่ปัญหาของมนุษย์ก็ยังเป็นเรื่องเดิม-เดิม ยังรบกัน ขัดแย้งกัน และไม่ลงรอยกันในเรื่องเดิม-เดิม

นั่นคืออนาคตของเราล่ะหรือ?

เนลสัน แมนเดลา ถูกจำคุกนานถึง ๒๗ ปี แต่หากว่าจิตของเขาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เขาจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองในอาฟริกาใต้ได้ล่ะหรือ?

การเมืองใหม่และเดิมล้วนแล้วแต่ต้องยอมรับว่า (หนึ่ง) ในสังคมล้วนเต็มไปด้วยความแตกต่าง (สอง) หากปรารถนาความสุขสงบในสังคมจะต้องมีกระบวนการจัดการความแตกต่าง

จิตที่จะยอมรับความแตกต่างได้ต้องเป็นจิตอย่างไร? และทำอย่างไรจึงจะมีจิตเช่นนั้นได้?

การพูดยอมรับความแตกต่างนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การยอมรับความเห็นทางการเมืองของ “อีกฝ่าย” นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย – นี่ว่าด้วยการเมืองภายในจิตใจของเราโดยเฉพาะ

ส่วนระบบ กระบวนการ หรือกระบวนวิธีที่นำไปสู่การจัดการความแตกต่างที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน นักทฤษฎีทั้งหลายในโลกตะวันตกต่างมีความเห็นที่หลากหลาย - สิ่งที่เราต้องระวังมากที่สุดในยามนี้น่าจะเป็นการผูกขาดอธิบายความหมายของการเมืองและประชาธิปไตยโดยคนบางกลุ่มบางพวก

ธรรมาธิปไตยที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) นำเสนอเมื่อหลายปีก่อนจะกลายเป็นเนื้อในของการเมืองการปกครองบ้านเราได้อย่างไร หากเราไม่มองเห็นเรื่องการพัฒนาคุณค่าของมนุษย์

วิทยาศาสตร์ใหม่ยืนยันว่าเซลล์สมองยังเจริญเติบโตอยู่ตลอดช่วงอายุขัยของมนุษย์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องกระตุ้น แต่อย่างที่เราเห็นว่า นักการเมืองหรือองค์กรการเมืองที่มีอำนาจมากมักจะไม่เรียนรู้ แล้วเราจะปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างสังคมกับนักการเมืองหรือองค์กรการเมืองได้อย่างไร – นี่น่าจะเป็นโจทย์ให้ช่วยกันคิดมากกว่าการรื้อสร้างบ้านทั้งหลัง เพื่อให้คนหน้าเดิมๆ เข้าไปอยู่

หลายคนกล่าวว่าบ้านเมืองวิกฤติแล้ว – ใช่แล้ว แต่ว่าวิกฤติที่แท้อยู่ภายในใจมนุษย์ต่างหาก หากภายในของเราไม่เน่ากลวง ผู้คนเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีธรรมาธิปไตยเป็นที่ตั้ง วิกฤติคงไม่มานั่งอยู่กลางบ้านเราเช่นนี้

ในทางการแพทย์ หากแก้ที่สาเหตุของโรคได้เลย ก็ไม่ต้องไปพะวงกับอาการของโรค วิกฤติที่คน กลับไพล่ไปแก้ที่ระบบ โรคอันเกิดจากจิตแบบเดิม-เดิมย่อมไม่มีทางหายขาด

ระบบคุณค่าของสังคมกำลังประสบกับปัญหา หากมีงานวิจัยหรือแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณค่าร่วมสมัย เราน่าจะมองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น หนุ่มสาวร่วมสมัยให้คุณค่ากับการมีเงินเสียยิ่งกว่าการเป็นผู้มีคุณธรรม หลายคนเข้าใจว่าเงินเป็นสิ่งเดียวกับความสุข ยกย่องและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจมากกว่าผู้มีธรรม ไม่เข้าใจว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม และจะตายอย่างไร ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงผู้ขายความรู้สำหรับไปต่อเงิน ไม่อาจจะเป็นผู้นำทางทางจิตวิญญาณได้เลย ผู้ชำนาญการทั้งหลายแหล่ก็ชำนาญอยู่เรื่องเดียว แต่โง่เขลาไปเสียทุกเรื่อง – เหล่านี้เป็นวิกฤติสำคัญที่นำไปสู่อาการระคายเคืองทางการเมืองทั้งหลายนั่นเอง

ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องการเมืองใหม่ เราจำต้องลงรากลึกให้ถึงปัญหามากกว่านี้ เพราะเราจะหาทางออกได้อย่างไรในเมื่อเรายังเข้าใจปัญหาไม่ดีพอ

เรามักจะพูดถึงระบบระเบียบใหม่ แต่ในภาวะโกลาหลเช่นนี้ เรานิ่งพอที่จะตกผลึกทางความคิดแล้วล่ะหรือ การที่ทุกวันต้องคิดถึงวิธีการเอาตัวรอดในเวทีต่อสู้ทางการเมืองไปแบบวันต่อวัน คุณภาพของความคิดนั้นจะเป็นอย่างไร – เราอาจจะต้องยอมเจ็บปวดมากกว่านี้ ปอกเปลือกตัวเองให้มากกว่านี้ เพื่อยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง

การเมืองใหม่ต้องการจิตแบบใหม่ หากไม่พูดเรื่องคุณภาพจิตแบบใหม่ คุณภาพแบบใหม่ ก็ยังเป็นการเมืองแบบเก่าอยู่นั่นเอง

พร้อมตายจึงพ้นตาย



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2551

ในการธุดงค์คราวหนึ่งพระอาจารย์ลี ธัมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ได้พบผู้เฒ่าสองสามีภรรยา ซึ่งมีอาชีพหาของป่า ทั้งสองได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายให้ท่านฟังว่า ขณะที่กำลังเก็บน้ำมันยางกลางดงใหญ่ ทั้งสองได้ประจันหน้ากับหมีกลางป่า แม่เฒ่าวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนพ่อเฒ่าหนีไม่ทันจึงถูกหมีทำร้าย เขาพยายามต่อสู้แต่สู้ไม่ไหว ทำท่าว่าจะไม่รอด เพราะหมีตัวใหญ่และดุร้ายมาก ขณะนั้นเองก็ได้ยินแม่เฒ่าตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก พ่อเฒ่าจึงล้มตัวลงนอนแผ่ ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นเช่นนั้นก็หยุดตะปบ แล้วสำรวจร่างพ่อเฒ่า ทั้งดึงขาและหัวของเขา กับเอาปากดุนตัว พ่อเฒ่าก็ทำตัวอ่อนไปมา ขณะเดียวกันก็คุมสติให้มั่นด้วยการบริกรรม “พุทโธ”

หมีเห็นพ่อเฒ่าไม่กระดุกกระดิก นึกว่าตายจริงจึงเดินจากไป ด้วยอุบายดังกล่าวพ่อเฒ่าจึงรอดตาย เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าดังกล่าว พระอาจารย์ลีจึงได้ข้อคิดว่า “คนที่จะพ้นตายต้องทำตนเหมือนคนตาย”

หลายคนมีประสบการณ์คล้ายพ่อเฒ่าผู้นี้ คือรอดตายเพราะทำตัวแน่นิ่งเหมือนคนตาย โจรหรือผู้ร้ายจึงตายใจและเดินจากไป อย่างไรก็ตามการ “ทำตนเหมือนคนตาย”นั้น ไม่ได้หมายความถึงการแกล้งตายหรือทำตัวแน่นิ่งอย่างเดียว แม้คนที่ทำใจสงบนิ่งเมื่อภัยมาถึงตัว พร้อมรับความตายเต็มที่ ก็สามารถ “พ้นตาย”ได้เหมือนกัน

หญิงผู้หนึ่งขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง สักพักก็เห็นรถติดเป็นแพยาวเหยียดอยู่ข้างหน้า เธอจึงชะลอรถแต่ไกล แต่เมื่อรถใกล้ต่อท้ายคันหน้า เธอเหลือบมองกระจกหลัง ก็เห็นรถคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ไม่มีทีท่าชะลอเลยทั้ง ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากรถของเธอ ชั่วขณะนั้นเองเธอรู้ว่ารถของเธอต้องถูกชนแน่ ซึ่งหมายความว่าเธอต้องถูกอัดกระแทกทั้งจากคันหน้าและคันหลัง และเธออาจไม่รอด

วินาทีที่รู้ว่าเธอจะต้องตาย เธอก้มดูมือทั้งสองซึ่งกำพวงมาลัยไว้แน่น เห็นได้ชัดว่าใจของเธอกำลังเครียดเกร็ง เธอเพิ่งรู้ว่านี้คือสิ่งที่เธอเป็นมาตลอดชีวิต เธอตั้งใจว่าถ้าจะต้องตายก็ต้องไม่ตายในอาการแบบนี้ เธอจึงหลับตา หายใจเข้าลึก ๆ และปล่อยมือลงข้างตัว ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น วินาทีต่อมารถคันหลังก็พุ่งชนรถของเธออย่างแรง ส่งเสียงดังสนั่น

รถทั้งสองคันพังยับเยิน แต่เธอกลับไม่เป็นอะไรเลย ตำรวจบอกว่าเธอโชคดีที่ปล่อยตัวตามสบาย ถ้าเธอเกร็งตัว ก็อาจบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับคอหักตายได้เพราะแรงกระแทก

อีกรายหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้ไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็สังเกตว่ากระแสน้ำพัดเธอออกห่างจากฝั่งไกลขึ้นเรื่อย ๆ เธอพยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพราะไม่อาจทานกระแสน้ำที่พัดออกจากฝั่งได้ เพื่อน ๆ พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอรู้ว่าสู้กระแสน้ำไม่ได้ ก็ว่ายกลับเข้าฝั่ง เธอตกใจมากพยายามรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่งแต่ไม่เป็นผล จนใกล้จะหมดแรง เธอรู้ว่าเธออาจจะไม่รอด ชั่ววินาทีนั้นเธอรวบรวมสติ คุมใจให้หายตื่นตระหนก พร้อมรับความตายที่จะมาถึง แทนที่จะว่ายต่อ เธอเลือกที่จะลอยตัวอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ เธอพบว่าช่วงนั้นจิตใจสงบเป็นอย่างมาก ไม่มีความอาลัยหรือห่วงใยสิ่งใดทั้งสิ้น

เวลาผ่านไปครู่ใหญ่เธอก็สังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดตัวเธอเข้าหาฝั่ง ถึงตอนนี้เพื่อน ๆ ก็ว่ายมาช่วยพาเธอเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าที่รอดตายได้ก็เพราะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ในทะเล จนมาถึงบริเวณที่ปลอดกระแสน้ำดังกล่าว หากเธอกระเสือกกระสนว่ายเข้าฝั่งตั้งแต่ทีแรก ก็คงหมดแรงและจมน้ำในที่สุด

ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของคนที่รอดตายเพราะทำใจพร้อมรับความตาย โดยไม่ขัดขืนดิ้นรน เพราะรู้ว่าภัยมาถึงตัวแน่แล้ว ป่วยการที่จะต่อสู้ มีอย่างเดียวที่จะทำได้คือทำใจนิ่ง ยอมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อใจนิ่ง กายก็นิ่งและผ่อนคลาย และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองรอดตายได้

เป็นธรรมชาติของคนเรา เมื่อมีภัยมาประชิดตัว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีคือ “สู้” หรือ “หนี”

ปฏิกิริยาทั้งสองประการจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีกำลังสู้ไหว หรือหนีได้ แต่หากสู้ไม่ได้หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันโดยดุษณี อย่างน้อยก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ ดีกว่าทุกข์ทั้งกายและใจ และหาก “โชคดี” ก็อาจรอดพ้นจากอันตรายได้ ดังตัวอย่างทั้งสามกรณี

การยอมรับความจริงด้วยใจสงบ มีประโยชน์ไม่เฉพาะในยามที่อันตรายจากภายนอกมาประชิดตัวเท่านั้น แม้ในยามที่เจ็บป่วย ใจที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนก็ช่วยได้มากเช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยกายไม่มาก แต่เนื่องจากใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ยิ่งปรุงแต่งไปในทางร้าย ใจก็ยิ่งยอมรับความป่วยไม่ได้ ผลก็คือร่างกายทรุดหนัก นับประสาอะไรกับคนที่ป่วยหนักด้วยโรคร้าย ถ้าใจยอมรับความจริงไม่ได้ อาจตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์ไว้เสียอีก ตรงข้ามกับคนที่ทำใจได้ พร้อมรับความตายทุกขณะ กลับมีชีวิตยืนยาวมากกว่า และบางคนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ด้วยซ้ำ

ใจที่ดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้าย อาจทำให้ความทุกข์ทางกายเพิ่มพูนขึ้นสองหรือสามเท่าตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับเร่งความตายให้มาถึงเร็วเข้า ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ใจดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืน คำตอบก็คือ ความกลัว เช่น กลัวตาย กลัวสูญเสีย กลัวเจ็บปวด ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่าโลกเล่นตลกก็คือ ยิ่งกลัวเจ็บปวด ก็กลับเจ็บปวดมากขึ้น มีคนทำวิจัยพบว่า คนที่กลัวเจ็บจากเข็มฉีดยา เมื่อถูกเข็มแทงเข้าจะรู้สึกเจ็บมากกว่าปกติถึงสามเท่า ส่วนคนที่ไม่กลัว ยอมให้ฉีดยาโดยดุษณี จะรู้สึกเจ็บน้อยมาก เรียกว่าความเจ็บหารสองหรือหารสามก็น่าจะได้

สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายก็คือความกลัวตายต่างหาก คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ เช่น กลัวพลัดพรากจากคนรัก ห่วงใยลูกเมียที่ยังอยู่ มีงานการที่ยังสะสางไม่เสร็จ กล่าวโดยสรุป ใจที่ยังยึดติดผูกพัน ปล่อยวางไม่ได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวตาย ดังนั้นจึงต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้ายและความตาย ยิ่งต่อสู้ขัดขืนใจก็ยิ่งทุกข์ เพราะโรคไม่ยอมหาย และยิ่งใจทุกข์ โรคก็ยิ่งกำเริบ ซึ่งก็ทำให้ทุกข์ใจมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกายและใจทรุดหนักเกินกว่าที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

แต่สำหรับบางคน สาเหตุที่ต่อสู้ขัดขืนกับโรคภัยและความตายก็เพราะเป็นห่วงคนที่อยู่รอบตัว มีพระรูปหนึ่งป่วยเรื้อรังโดยหมอไม่พบสาเหตุ ระยะหลังท่านมีอาการอ่อนเพลียมากจนต้องนอนซมอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทางวัดพยายามช่วยท่านทุกวิถีทาง ทั้งด้วยการรักษาแผนใหม่และการรักษาแบบทางเลือก แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น เพื่อนพระจากวัดต่าง ๆ พากันมาให้กำลังใจ ท่านจึงพยายามรักษาตัวให้ดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด อาการของท่านมีแต่จะทรุดลง หลายคนเป็นห่วงว่าท่านจะไม่รอด แต่ท่านก็พยายามฝืนสู้โรคภัยไข้เจ็บ แต่ดูจะไม่ค่อยมีหวังเท่าใด

แล้ววันหนึ่งพระอาจารย์ของท่านซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งได้มาเยี่ยมท่าน ท่านเรียกชื่อของพระรูปนั้น แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “ถ้าท่านจะตายก็ตายได้นะ ท่านไม่ต้องพยายามหายหรอก” ทันทีที่ได้ยิน ท่านถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่ด้วยความเสียใจ แต่เพราะซาบซึ้งใจที่พระอาจารย์ได้ช่วยปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งออกไปจากจิตใจของท่าน ที่ผ่านมาท่านรู้สึกผิดที่ทำให้เพื่อนผิดหวัง แต่ละคนอยากให้ท่านหาย แต่เมื่อท่านไม่หาย ท่านจึงมีความทุกข์ใจมาก และพยายามที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บเต็มที่ แต่ยิ่งปฏิเสธความเจ็บป่วย ใจก็ยิ่งทุกข์และซ้ำเติมความเจ็บป่วยให้หนักขึ้น แต่เมื่อพระอาจารย์อนุญาตให้ท่านตาย ท่านก็รู้สึกว่าท่านตายได้แล้วโดยไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป ใจจึงพร้อมที่จะตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืน ปรากฏว่านับแต่วันนั้นอาการของท่านดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติ เป็นที่อัศจรรย์ใจของผู้ติดตามอาการของท่าน กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเมื่อใจพร้อมตายก็กลับรอดตายได้

ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ นกุลบิดาเป็นอุบาสกผู้ใฝ่ธรรม ต่อมาท่านป่วยหนักเจียนตาย นกุลมารดาซึ่งเป็นภรรยาเห็นสีหน้าของสามีก็รู้ว่าเป็นทุกข์มาก ไม่อยากให้สามีสิ้นลมด้วยใจที่ยังห่วงใย จึงพูดให้นกุลบิดาปล่อยวางด้วยการให้ความมั่นใจทีละอย่าง ๆ ว่า ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะเลี้ยงลูกและดูแลบ้านเรือนไม่ได้ ขอให้มั่นใจว่าเราจะดูแลลูกและบ้านเรือนได้ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไปหาชายอื่น ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่มีชายอื่นแน่นอน ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่ต้องการเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าเราปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์อยู่เนือง ๆ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ขอให้มั่นใจว่าเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่มีความสงบใจ ขอให้มั่นใจว่าเราจะมีความสงบใจ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย ขอให้มั่นใจว่าเราจะพ้นจากความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย

พระไตรปิฎกกล่าวว่าเมื่อได้ฟังคำของภรรยาเช่นนี้ นกุลบิดาก็หายป่วยทันที ทั้งสองกรณีหลัง หากอธิบายอย่างสมัยใหม่ก็คือ ใจที่ปล่อยวาง ไร้ความวิตกกังวล ย่อมรู้สึกผ่อนคลาย นิ่งสงบ และเป็นสุข นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทางกายแล้ว ยังกระตุ้นกระบวนการเยียวยาตนเองจนร่างกายหายจากความเจ็บป่วยได้

เมื่อใจพร้อมตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืนความตาย ก็ไม่ต่างจากการ “ทำตนเหมือนคนตาย” และดังนั้นจึงอาจ “พ้นตาย” ดังคำของพระอาจารย์ลีได้ อย่างไรก็ตามประโยคข้างต้นของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่าการอยู่นิ่ง ๆ ทำตัวเสมือนตายหรือทำใจนิ่งสงบพร้อมตาย ความหมายที่ลึกกว่านั้นก็คือ การอยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยในชีวิต อีกทั้งไร้ความทะยานอยาก ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม จะอยู่หรือตายก็มีความรู้สึกเท่ากัน ผู้ที่วางใจได้เช่นนี้ความตายย่อมทำอะไรไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ทำใจพร้อมตาย ก็อาจหนีความตายไม่พ้น แต่หากใครก็ตามสามารถทำใจถึงขั้นว่าไม่อาลัยในชีวิต และปล่อยวางทุกสิ่งแม้กระทั่งความยึดถือในตัวตน จน “ตัวกู” ไม่มีที่ตั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส บุคคลเช่นนี้ย่อมอยู่เหนือความตาย เมื่อความตายมาถึงก็มีแต่นามรูปเท่านั้นที่แตกดับไป แต่หามี “ผู้ตาย” ไม่ นี้ใช่ไหมที่เป็นการ “พ้นตาย” อย่างแท้จริง

Back to Top