พร้อมตายจึงพ้นตาย



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2551

ในการธุดงค์คราวหนึ่งพระอาจารย์ลี ธัมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ได้พบผู้เฒ่าสองสามีภรรยา ซึ่งมีอาชีพหาของป่า ทั้งสองได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายให้ท่านฟังว่า ขณะที่กำลังเก็บน้ำมันยางกลางดงใหญ่ ทั้งสองได้ประจันหน้ากับหมีกลางป่า แม่เฒ่าวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนพ่อเฒ่าหนีไม่ทันจึงถูกหมีทำร้าย เขาพยายามต่อสู้แต่สู้ไม่ไหว ทำท่าว่าจะไม่รอด เพราะหมีตัวใหญ่และดุร้ายมาก ขณะนั้นเองก็ได้ยินแม่เฒ่าตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก พ่อเฒ่าจึงล้มตัวลงนอนแผ่ ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นเช่นนั้นก็หยุดตะปบ แล้วสำรวจร่างพ่อเฒ่า ทั้งดึงขาและหัวของเขา กับเอาปากดุนตัว พ่อเฒ่าก็ทำตัวอ่อนไปมา ขณะเดียวกันก็คุมสติให้มั่นด้วยการบริกรรม “พุทโธ”

หมีเห็นพ่อเฒ่าไม่กระดุกกระดิก นึกว่าตายจริงจึงเดินจากไป ด้วยอุบายดังกล่าวพ่อเฒ่าจึงรอดตาย เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าดังกล่าว พระอาจารย์ลีจึงได้ข้อคิดว่า “คนที่จะพ้นตายต้องทำตนเหมือนคนตาย”

หลายคนมีประสบการณ์คล้ายพ่อเฒ่าผู้นี้ คือรอดตายเพราะทำตัวแน่นิ่งเหมือนคนตาย โจรหรือผู้ร้ายจึงตายใจและเดินจากไป อย่างไรก็ตามการ “ทำตนเหมือนคนตาย”นั้น ไม่ได้หมายความถึงการแกล้งตายหรือทำตัวแน่นิ่งอย่างเดียว แม้คนที่ทำใจสงบนิ่งเมื่อภัยมาถึงตัว พร้อมรับความตายเต็มที่ ก็สามารถ “พ้นตาย”ได้เหมือนกัน

หญิงผู้หนึ่งขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง สักพักก็เห็นรถติดเป็นแพยาวเหยียดอยู่ข้างหน้า เธอจึงชะลอรถแต่ไกล แต่เมื่อรถใกล้ต่อท้ายคันหน้า เธอเหลือบมองกระจกหลัง ก็เห็นรถคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ไม่มีทีท่าชะลอเลยทั้ง ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากรถของเธอ ชั่วขณะนั้นเองเธอรู้ว่ารถของเธอต้องถูกชนแน่ ซึ่งหมายความว่าเธอต้องถูกอัดกระแทกทั้งจากคันหน้าและคันหลัง และเธออาจไม่รอด

วินาทีที่รู้ว่าเธอจะต้องตาย เธอก้มดูมือทั้งสองซึ่งกำพวงมาลัยไว้แน่น เห็นได้ชัดว่าใจของเธอกำลังเครียดเกร็ง เธอเพิ่งรู้ว่านี้คือสิ่งที่เธอเป็นมาตลอดชีวิต เธอตั้งใจว่าถ้าจะต้องตายก็ต้องไม่ตายในอาการแบบนี้ เธอจึงหลับตา หายใจเข้าลึก ๆ และปล่อยมือลงข้างตัว ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น วินาทีต่อมารถคันหลังก็พุ่งชนรถของเธออย่างแรง ส่งเสียงดังสนั่น

รถทั้งสองคันพังยับเยิน แต่เธอกลับไม่เป็นอะไรเลย ตำรวจบอกว่าเธอโชคดีที่ปล่อยตัวตามสบาย ถ้าเธอเกร็งตัว ก็อาจบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับคอหักตายได้เพราะแรงกระแทก

อีกรายหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้ไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็สังเกตว่ากระแสน้ำพัดเธอออกห่างจากฝั่งไกลขึ้นเรื่อย ๆ เธอพยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพราะไม่อาจทานกระแสน้ำที่พัดออกจากฝั่งได้ เพื่อน ๆ พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอรู้ว่าสู้กระแสน้ำไม่ได้ ก็ว่ายกลับเข้าฝั่ง เธอตกใจมากพยายามรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่งแต่ไม่เป็นผล จนใกล้จะหมดแรง เธอรู้ว่าเธออาจจะไม่รอด ชั่ววินาทีนั้นเธอรวบรวมสติ คุมใจให้หายตื่นตระหนก พร้อมรับความตายที่จะมาถึง แทนที่จะว่ายต่อ เธอเลือกที่จะลอยตัวอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ เธอพบว่าช่วงนั้นจิตใจสงบเป็นอย่างมาก ไม่มีความอาลัยหรือห่วงใยสิ่งใดทั้งสิ้น

เวลาผ่านไปครู่ใหญ่เธอก็สังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดตัวเธอเข้าหาฝั่ง ถึงตอนนี้เพื่อน ๆ ก็ว่ายมาช่วยพาเธอเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าที่รอดตายได้ก็เพราะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ในทะเล จนมาถึงบริเวณที่ปลอดกระแสน้ำดังกล่าว หากเธอกระเสือกกระสนว่ายเข้าฝั่งตั้งแต่ทีแรก ก็คงหมดแรงและจมน้ำในที่สุด

ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของคนที่รอดตายเพราะทำใจพร้อมรับความตาย โดยไม่ขัดขืนดิ้นรน เพราะรู้ว่าภัยมาถึงตัวแน่แล้ว ป่วยการที่จะต่อสู้ มีอย่างเดียวที่จะทำได้คือทำใจนิ่ง ยอมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อใจนิ่ง กายก็นิ่งและผ่อนคลาย และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองรอดตายได้

เป็นธรรมชาติของคนเรา เมื่อมีภัยมาประชิดตัว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีคือ “สู้” หรือ “หนี”

ปฏิกิริยาทั้งสองประการจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีกำลังสู้ไหว หรือหนีได้ แต่หากสู้ไม่ได้หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันโดยดุษณี อย่างน้อยก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ ดีกว่าทุกข์ทั้งกายและใจ และหาก “โชคดี” ก็อาจรอดพ้นจากอันตรายได้ ดังตัวอย่างทั้งสามกรณี

การยอมรับความจริงด้วยใจสงบ มีประโยชน์ไม่เฉพาะในยามที่อันตรายจากภายนอกมาประชิดตัวเท่านั้น แม้ในยามที่เจ็บป่วย ใจที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนก็ช่วยได้มากเช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยกายไม่มาก แต่เนื่องจากใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ยิ่งปรุงแต่งไปในทางร้าย ใจก็ยิ่งยอมรับความป่วยไม่ได้ ผลก็คือร่างกายทรุดหนัก นับประสาอะไรกับคนที่ป่วยหนักด้วยโรคร้าย ถ้าใจยอมรับความจริงไม่ได้ อาจตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์ไว้เสียอีก ตรงข้ามกับคนที่ทำใจได้ พร้อมรับความตายทุกขณะ กลับมีชีวิตยืนยาวมากกว่า และบางคนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ด้วยซ้ำ

ใจที่ดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้าย อาจทำให้ความทุกข์ทางกายเพิ่มพูนขึ้นสองหรือสามเท่าตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับเร่งความตายให้มาถึงเร็วเข้า ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ใจดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืน คำตอบก็คือ ความกลัว เช่น กลัวตาย กลัวสูญเสีย กลัวเจ็บปวด ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่าโลกเล่นตลกก็คือ ยิ่งกลัวเจ็บปวด ก็กลับเจ็บปวดมากขึ้น มีคนทำวิจัยพบว่า คนที่กลัวเจ็บจากเข็มฉีดยา เมื่อถูกเข็มแทงเข้าจะรู้สึกเจ็บมากกว่าปกติถึงสามเท่า ส่วนคนที่ไม่กลัว ยอมให้ฉีดยาโดยดุษณี จะรู้สึกเจ็บน้อยมาก เรียกว่าความเจ็บหารสองหรือหารสามก็น่าจะได้

สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายก็คือความกลัวตายต่างหาก คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ เช่น กลัวพลัดพรากจากคนรัก ห่วงใยลูกเมียที่ยังอยู่ มีงานการที่ยังสะสางไม่เสร็จ กล่าวโดยสรุป ใจที่ยังยึดติดผูกพัน ปล่อยวางไม่ได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวตาย ดังนั้นจึงต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้ายและความตาย ยิ่งต่อสู้ขัดขืนใจก็ยิ่งทุกข์ เพราะโรคไม่ยอมหาย และยิ่งใจทุกข์ โรคก็ยิ่งกำเริบ ซึ่งก็ทำให้ทุกข์ใจมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกายและใจทรุดหนักเกินกว่าที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

แต่สำหรับบางคน สาเหตุที่ต่อสู้ขัดขืนกับโรคภัยและความตายก็เพราะเป็นห่วงคนที่อยู่รอบตัว มีพระรูปหนึ่งป่วยเรื้อรังโดยหมอไม่พบสาเหตุ ระยะหลังท่านมีอาการอ่อนเพลียมากจนต้องนอนซมอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทางวัดพยายามช่วยท่านทุกวิถีทาง ทั้งด้วยการรักษาแผนใหม่และการรักษาแบบทางเลือก แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น เพื่อนพระจากวัดต่าง ๆ พากันมาให้กำลังใจ ท่านจึงพยายามรักษาตัวให้ดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด อาการของท่านมีแต่จะทรุดลง หลายคนเป็นห่วงว่าท่านจะไม่รอด แต่ท่านก็พยายามฝืนสู้โรคภัยไข้เจ็บ แต่ดูจะไม่ค่อยมีหวังเท่าใด

แล้ววันหนึ่งพระอาจารย์ของท่านซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งได้มาเยี่ยมท่าน ท่านเรียกชื่อของพระรูปนั้น แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “ถ้าท่านจะตายก็ตายได้นะ ท่านไม่ต้องพยายามหายหรอก” ทันทีที่ได้ยิน ท่านถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่ด้วยความเสียใจ แต่เพราะซาบซึ้งใจที่พระอาจารย์ได้ช่วยปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งออกไปจากจิตใจของท่าน ที่ผ่านมาท่านรู้สึกผิดที่ทำให้เพื่อนผิดหวัง แต่ละคนอยากให้ท่านหาย แต่เมื่อท่านไม่หาย ท่านจึงมีความทุกข์ใจมาก และพยายามที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บเต็มที่ แต่ยิ่งปฏิเสธความเจ็บป่วย ใจก็ยิ่งทุกข์และซ้ำเติมความเจ็บป่วยให้หนักขึ้น แต่เมื่อพระอาจารย์อนุญาตให้ท่านตาย ท่านก็รู้สึกว่าท่านตายได้แล้วโดยไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป ใจจึงพร้อมที่จะตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืน ปรากฏว่านับแต่วันนั้นอาการของท่านดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติ เป็นที่อัศจรรย์ใจของผู้ติดตามอาการของท่าน กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเมื่อใจพร้อมตายก็กลับรอดตายได้

ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ นกุลบิดาเป็นอุบาสกผู้ใฝ่ธรรม ต่อมาท่านป่วยหนักเจียนตาย นกุลมารดาซึ่งเป็นภรรยาเห็นสีหน้าของสามีก็รู้ว่าเป็นทุกข์มาก ไม่อยากให้สามีสิ้นลมด้วยใจที่ยังห่วงใย จึงพูดให้นกุลบิดาปล่อยวางด้วยการให้ความมั่นใจทีละอย่าง ๆ ว่า ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะเลี้ยงลูกและดูแลบ้านเรือนไม่ได้ ขอให้มั่นใจว่าเราจะดูแลลูกและบ้านเรือนได้ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไปหาชายอื่น ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่มีชายอื่นแน่นอน ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่ต้องการเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าเราปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์อยู่เนือง ๆ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ขอให้มั่นใจว่าเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่มีความสงบใจ ขอให้มั่นใจว่าเราจะมีความสงบใจ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย ขอให้มั่นใจว่าเราจะพ้นจากความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย

พระไตรปิฎกกล่าวว่าเมื่อได้ฟังคำของภรรยาเช่นนี้ นกุลบิดาก็หายป่วยทันที ทั้งสองกรณีหลัง หากอธิบายอย่างสมัยใหม่ก็คือ ใจที่ปล่อยวาง ไร้ความวิตกกังวล ย่อมรู้สึกผ่อนคลาย นิ่งสงบ และเป็นสุข นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทางกายแล้ว ยังกระตุ้นกระบวนการเยียวยาตนเองจนร่างกายหายจากความเจ็บป่วยได้

เมื่อใจพร้อมตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืนความตาย ก็ไม่ต่างจากการ “ทำตนเหมือนคนตาย” และดังนั้นจึงอาจ “พ้นตาย” ดังคำของพระอาจารย์ลีได้ อย่างไรก็ตามประโยคข้างต้นของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่าการอยู่นิ่ง ๆ ทำตัวเสมือนตายหรือทำใจนิ่งสงบพร้อมตาย ความหมายที่ลึกกว่านั้นก็คือ การอยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยในชีวิต อีกทั้งไร้ความทะยานอยาก ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม จะอยู่หรือตายก็มีความรู้สึกเท่ากัน ผู้ที่วางใจได้เช่นนี้ความตายย่อมทำอะไรไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ทำใจพร้อมตาย ก็อาจหนีความตายไม่พ้น แต่หากใครก็ตามสามารถทำใจถึงขั้นว่าไม่อาลัยในชีวิต และปล่อยวางทุกสิ่งแม้กระทั่งความยึดถือในตัวตน จน “ตัวกู” ไม่มีที่ตั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส บุคคลเช่นนี้ย่อมอยู่เหนือความตาย เมื่อความตายมาถึงก็มีแต่นามรูปเท่านั้นที่แตกดับไป แต่หามี “ผู้ตาย” ไม่ นี้ใช่ไหมที่เป็นการ “พ้นตาย” อย่างแท้จริง

Back to Top