จิตตปัญญากับวิกฤต



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551

มีเพื่อนหลายคนถามผู้เขียนว่า ทางออกของวิฤตต่างๆ ในปัจจุบันน่าจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนเรียนท่านเหล่านั้นตามตรงว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมั่นใจประการหนึ่งว่า วิกฤตต่างๆ จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่อง “จิตใจและปัญญา” กันมากขึ้น

อย่างเช่นวิกฤตคนในวันนี้ หลายท่านเห็นแล้วว่าสังคมไทยกำลังมาถึงทางตัน เนื่องจากฝ่ายที่ขัดแย้งกันในบ้านเมืองต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน และความไม่มีสติ ก็เป็นส่วนที่เร่งกระบวนการให้ถึงทางตันเร็วๆ ความสูญเสียจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จนไม่ต้องคาดเดาว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แก่ใจ และเหตุการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ มาแล้วหลายครั้งหลายครา ที่จะต้องมีคนตายเพราะเรียกร้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะในบ้านเมืองเรา แต่ในต่างประเทศก็เกิดความขัดแย้งและสูญเสียอย่างมากมายให้เราได้เห็นกันมาแล้ว ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบหยิบยกขึ้นมา คือ สงคราม ๓๐ ปี ในยุโรป ก่อนการเข้าสู่ยุคแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง (Enlightenment) ในช่วงทศวรรษที่ ๑๘

สงครามครั้งนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างความเชื่อในเรื่องคุณงามความดีที่ต่างฝ่ายมีต่อพระเจ้า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้กัน สุดท้ายเมื่อคนตายไปมากเหลือเกิน ประชากรหายไป ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี ผู้ชายเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่งของประเทศ คนก็เริ่มได้ “สติ” หันมามองสิ่งที่แตกต่างอย่างเป็นมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะความรู้และความเชื่อที่แตกต่างกัน แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งรู้แจ้งเห็นจริง ที่คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยใจอย่างใคร่ครวญมากขึ้น ยกระดับจิตใจและปัญญาโดยรวม และมีความสุข

ที่ผู้เขียนหยิบยกเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้นมา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเดินตามเส้นทางที่มนุษย์เคยผิดพลาดมาแล้ว เพราะเราประจักษ์แล้วว่า ความคิดความเชื่อที่ต่างกันอย่างรุนแรง อาจจะทำให้สติปัญญาของมนุษย์มืดบอดไปได้ด้วยความคิดที่คอยบงการให้ทำลายล้างกันตลอดเวลา จิตใจและสมองไม่เคยปลอดโปร่งพอที่จะมองเห็นมนุษย์คนอื่นอย่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ หรือมีวิธีสื่อสารให้เข้าใจกันอย่างสร้างสรรค์ที่จะไม่ทำร้ายคนอื่นๆ ในสังคมไปด้วย โดยเฉพาะการทำให้คนทั่วไปขาดสติ มีแต่อารมณ์ครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดความกลัว ความโกรธ และความเกลียดชังทั่วไปหมด ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแปรเปลี่ยนความกลัว ความโกรธ ความเกลียดของกันและกันในวันนี้ ให้ปรองดองกันและคุยกันได้ แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคนไทย ที่มีรากทางวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องความสงบสันติ มีความรักความเมตตา ที่จะชักจูงคนทั้งหลายให้ช่วยกันนำพาสังคมให้ก้าวข้ามวิกฤตหลุมเดิมนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยแนะนำพาคนที่ยังไม่เข้าใจ ให้เข้าสู่กระแสของการเรียนรู้ไปสู่จิตตปัญญา คือเรียนรู้ที่จะมีสติ มีปัญญา มีชีวิตอยู่อย่างเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดครอบครัว องค์กรและสังคม มีที่ความสุข

สถานศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยไม่ควรรอช้าที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีจุดหมายปลายทางสู่ความสุขที่แท้ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เพราะหายนะได้ก่อตัวขึ้นแล้ว ดังเช่นทั่วโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญและหันมาสนใจการศึกษาในระดับจิตวิญญาณอย่างจริงจัง มีหลักสูตรในลักษณะนี้มากมายทั่วโลกแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา หรือ สถาบัน Contemplative Mind in Society ที่นักวิชาการจากหลากหลายสาขามาร่วมกันก่อตั้งและทำงานวิจัยในเรื่องการพัฒนามนุษย์จากด้านใน เพราะเห็นแล้วว่า หากมนุษย์ไม่มีความรู้ความฉลาดในเรื่องจิตใจและปัญญา จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับมนุษย์ด้วยกันเองหรือธรรมชาติรอบตัวได้

ผู้เขียนเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำในศาสตร์ด้านนี้ได้ ในการที่จะทำให้คนเกิดจิตสำนึกใหม่ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์ องค์กรใหญ่ๆ ทุกองค์กรเริ่มจะส่งเสริมกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD; Human Resource Development) ให้บุคลากรมีคุณภาพทั้งทางด้านจิตใจและปัญญา เชื่อว่าคนจะรักองค์กรและทำงานด้วยหัวใจ และจะบริการผู้อื่นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีจิตอาสา และจิตใจที่เบิกบาน

มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรระดับปริญญาโท จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Contemplative Education and Transformative Learning) ซึ่งเน้นการศึกษาและการวิจัยว่า ทำอย่างไรจะทำให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงศักยภาพและความสุขที่แท้ในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ และมีความสมดุลกับธรรมชาติ นักศึกษาที่จบออกมาจะเป็นกระบวนกร (Facilitator) เป็นผู้ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน องค์กร สังคม ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรที่มีชีวิต และพร้อมที่จะศึกษาหัวใจขององค์กรร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่มีความสุข ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมศิลปะบำบัด สุนทรียสนทนา (Dialogue) นพลักษณ์ (Enneagram) วิชาทัศนะต่อโลกและปัญญาในการใช้ชีวิต ฯลฯ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอีกหลายๆ แห่งในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะเปิดหลักสูตรดังกล่าวในเร็ววันนี้ ท่านผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรควรที่จะเรียนรู้ศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกนี้ เพราะจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางที่ดีงามได้ในคราวเดียวกัน และหากมีผู้คนในระดับจำนวนวิกฤต (Critical mass) ที่เข้าใจเรื่องจิตตปัญญา จะสามารถยกระดับสังคมไปสู่ความเข้าใจใหม่โดยสิ้นเชิง และนำพาสังคมสู่ความสุขได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะวิกฤตคน ผู้เขียนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงวิกฤตคนให้ไปสู่วิถีแห่งความดีงาม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประชาชน ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ต้องตั้งสติให้ดี ช่วยผู้อื่นเปลี่ยนแปลงความทุกข์ให้เป็นความสุขที่แท้ด้วยจิตใจและปัญญา ส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนรู้ และเป็นผู้นำในเรื่องจิตตปัญญา แม้จะเป็นเรื่องที่ยากในวันนี้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์เราจะไม่พ่ายแพ้ต่อความยากลำบาก ถึงกับจะต้องหันหน้าเข้าสู่ความมักง่าย ที่จะแก้ปัญหาด้วยการด่าทอกัน ทำร้ายกัน และทำให้ผู้อื่นขาดสติกันไปทั้งหมด

สุดท้ายวิกฤตน่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังแห่งปัญญาได้เสียที โดยช่วยกันมีจิตตปัญญา ที่หมายถึงการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญต่อสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ในสังคมเรา และเปลี่ยนความท้อแท้สิ้นหวังมาเป็นพลังในการเรียนรู้ที่จะออกจากวิกฤตด้วยกันเสียตั้งแต่วันนี้ ทำให้เป็นเรื่องสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยสติปัญญาของคนในยุคสมัยของเรา

Back to Top