มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549
การคุกเข่าของ วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ถือได้ว่าเป็นการขอโทษที่มีความหมายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและถูกจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
วิลลี บรันดท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ ของเยอรมันช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันคนแรกที่เดินทางไปเยือนโปแลนด์ ประเทศที่เคยถูกเยอรมันและรัสเซียเข้ายึดครอง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชาวโปแลนด์ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือนาซีจำนวน ๖ ล้านคน
ขณะที่ไปเยือนอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี โดยไม่มีใครคาดคิด วิลลี บรันดท์ ได้คุกเข่าลงทั้งสองข้าง ภาพนี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีผู้ถามบรันดท์ในภายหลังว่า เขาได้วางแผนหรือทำไปด้วยความรู้สึกโดยอัตโนมัติ เขาตอบแต่เพียงว่า ขณะนั้น เวลานั้น ต้องมีผู้ทำอะไรสักอย่าง
ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขอโทษครั้งนี้ ก็คือการขอโทษในฐานะตัวแทนของชาวเยอรมันทั้งหมด วิลลี บรันดท์ มิใช่ผู้นำเยอรมันในการทำสงคราม ชาวเยอรมันรุ่นเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลยก็ว่าได้ เขาเป็นเพียงลูกหลานของบรรพบุรุษผู้เคยกระทำผิด ในฐานะผู้นำของประเทศที่เคยกระทำผิดทางประวัติศาสตร์กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง และในภาวะที่คำพูดไร้ซึ่งความหมาย – เขาได้คุกเข่าลง
เยอรมันเป็นประเทศที่ก่อสงครามโลกทั้งสองครั้ง และตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามทั้งสองครั้ง ภารกิจของผู้นำเยอรมันภายหลังสงครามนอกจากการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายแล้ว ยังต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเกียรติยศของประเทศเพื่อจะกลับเข้าร่วมวงษ์ไพบูลย์กับนานาประเทศดังเดิม
วิลลี บรันดท์ เดินทางไปโปแลนด์เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงวอร์ซอ ผลของสนธิสัญญา เยอรมันสูญเสียดินแดน ๑ ใน ๔ ของอาณาจักรไรซ์เดิมให้กับโปแลนด์ ชาวเยอรมันที่ตกค้างในโปแลนด์จำต้องอพยพกลับสู่เยอรมัน ชาวเยอรมันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ แต่บรันดท์ชี้แจงว่า เยอรมันจำต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้คืนให้กับความสูญเสียจากสงครามเพื่อที่จะตัดห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่เป็นผู้ก่อขึ้น
ส่วนกรณีที่เขาคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์นั้น จากผลของแบบสอบถาม ชาวเยอรมันกว่าครึ่งนั้นไม่เห็นด้วย แต่ผู้ที่เห็นด้วยกับเขาล้วนเป็นหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ ตัว วิลลี บรันดท์ เองก็ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูง เขาได้คลี่คลายปัญหาเขตแดนเยอรมันและโปแลนด์ สลายภาวะตึงเครียดช่วงสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ และสมานบาดแผลที่นาซีเยอรมันเคยกระทำไว้กับเพื่อนบ้าน ปีถัดมาเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล เขาได้นำเยอรมันก้าวออกมาจากความมืดมิดเข้ามาสู่แสงสว่างแห่งการยอมรับของประชาคมโลกอย่างสง่าผ่าเผย และแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน วิลลี บรันดท์ ก็ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รักของชาวเยอรมันมากที่สุด
การขอโทษย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้จากการบิณฑบาตร้องขอ และคำขอโทษอันยิ่งใหญ่นี้จักเกิดขึ้นมิได้เลยหากปราศจากหัวใจและปัญญา หัวใจนั้นทำให้มองเห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่นเป็นเช่นเดียวกับของตน ส่วนปัญญานั้นทำให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่พึงกระทำบนพื้นฐานของจริยธรรม การก้าวข้ามผ่านด่านแห่งศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นอัตตาความหลงทะนงตน ความภาคภูมิใจในพวกพ้อง บรรพบุรุษ ชาติ ไปสู่ประตูแห่งเกียรติยศ คือการกระทำในสิ่งที่พึงกระทำ หยามทำลายศักดิ์ศรีตนด้วยวีระกล้าหาญที่นำพาไปสู่ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ประวัติศาสตร์ย่อมไม่บันทึกการกระทำที่ง่ายดาย
ในกรณีของปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้น หากชนชั้นนำของสังคมไทยได้ตระหนักรู้พลังอันยิ่งใหญ่ของการขอโทษ กระบวนการขอโทษที่แม้จะปราศจากคำพูด ดังเช่น การสอบสวนและลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดในการประกอบอาชญากรรมต่อประชาชนมุสลิม การให้อิสระต่อสังคมไทยในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางภาคใต้ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เหล่านี้ ย่อมเป็นคำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ ล้ำค่า และมีความหนักแน่นจริงใจเสียยิ่งกว่าวาทกรรมแห่งความเสียใจ ชนชั้นทางปัญญาของไทยควรจะผลักดันให้เกิดกระบวนการขอโทษนี้ให้มาก เพราะเราพึงเห็นใจว่าปุถุชนย่อมมีความอาลัยอาวรณ์ศักดิ์ศรีตน หากติดกับดักชนิดนี้เข้าเสียแล้ว ย่อมก้าวล่วงเข้าสู่แดนเกียรติยศได้ยาก
ประเทศไทยไม่เคยก่อสงครามโลกก็จริง แต่รัฐไทยเคยก่ออาชญากรรมต่อพลเมืองของตนมาแล้ว กลางหัวใจเมืองข้างกำแพงพระบรมมหาราชวังอย่างน้อยก็สองหนภายในเวลาสามปี ในถิ่นไกลปืนเที่ยงนับอีกไม่ถ้วน เฉพาะภาคใต้เอง นับจากกรณีอุ้มฮะหยีสุหรงไปถ่วงทะเลสาบสงขลา มาจนถึงอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ หากแผลเป็นทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ถูกเยียวยา ก็จักกำเริบเกิดเป็นแผลใหม่ให้ได้รับความทุกข์ร้อนอยู่ไม่สิ้นสุด
คำขอโทษที่มีความหมายยิ่งใหญ่ กำลังรอให้หัวใจและสติปัญญาในสังคมไทย มาร่วมกันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวันพรุ่ง
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 11 พฤศจิกายน 2549
เวลาที่เราเขียนถึงเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวที่เป็น “นามธรรม” หรืออาจจะ “ไม่มีรูปธรรมชัดเจน” เรามักจะต้องใส่คำว่า “ในความหมายของผม” หรือ “ในความเห็นของผม” เช่นเวลาที่เราจะถามว่า “ใครสักคนสวยหรือไม่?” เราก็มักจะตอบว่า “อืมม..ผมว่าก็สวยดีนะ” อะไรทำนองนี้
ผมคิดว่า “ความหมายของจิตวิวัฒน์” เองก็เช่นกัน ค่อนข้างเป็น “นามธรรม” ที่หลายๆ คนก็สงสัยว่ามันคืออะไรและ “รูปธรรม” ที่ออกมาเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นการปฏิบัติการหลายๆ อย่างก็อาจจะเป็นเพียง “การให้ความหมายของ” คนบางกลุ่มคนบางคนเท่านั้นกระมัง??
ผมมีความรู้สึกว่า อยากจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนนี้ก็ด้วยเหตุผลบางประการ
หนึ่ง คือเรามีกลุ่มจิตวิวัฒน์มาร่วมสามปีเต็มๆ แล้วนับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๖ มีการพูดคุยกันเดือนละหนึ่งครั้งๆ ละหนึ่งวันเต็มๆ
สอง ข้อนี้อาจจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผม คือผมมีความเข้าใจว่า “รูปธรรม” หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาจากคำว่า “จิตวิวัฒน์” อาจจะไม่ได้ตรงกับ “รูปธรรม” ที่ตัวผมเองนึกคิดเอาไว้และก็อาจจะไม่ได้ตรงกับรูปธรรมกับที่หลายๆ ท่านนึกคิดเอาไว้
บางคนถามว่า จิตวิวัฒน์หมายถึงจะต้องเข้าวัดใช่มั๊ย? หมายถึงจะต้องไปนั่งสมาธิกันใช่มั๊ย? หมายถึงว่าจะต้องคุยกันเรื่องปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ยากๆ ใช่มั๊ย? หมายถึงว่าจะต้องเป็นคนดีเท่านั้นใช่มั๊ย?
หรือแม้แต่ว่าเมื่อนำ “แบรนด์เนมจิตวิวัฒน์” ไปใช้แล้วเหมือนกับการ “ตีตราแบบเชลล์ชวนชิม” เลยว่า “คุณจะต้องเป็นคนดี” ตรงนี้น่าเป็นห่วงครับ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรา “ตีตรา” อะไรก็อาจจะมีความหมายไปว่า “คนอื่นๆ แย่กว่าคุณ” หรือ “คนอื่นๆ ไม่ได้เป็นคนดีเหมือนกับคุณ”
นอกจากนั้นยังอาจจะเป็นเรื่องที่ “น่าชวนหมั่นไส้” ให้กับหลายๆ คนอีกด้วย
ผมเชื่อว่าพวกเราที่ทำงานในกลุ่มจิตวิวัฒน์ไม่ได้ต้องการ “ตีตรา” แบบนั้น อาจารย์หมอประเวศ วะสี ต้องการให้พวกเรารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะ “เป็นหลัก” ในการ “สร้างสรรค์สังเคราะห์” องค์ความรู้ที่สำคัญๆ และจะเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์กับคนไทยต่างหาก
และผมก็รู้สึกว่าพวกเราทำหน้าที่ได้ “ดีในระดับหนึ่ง” แต่โดยส่วนตัวผมไม่ต้องการรับ “การตีตรา” ว่าเป็นคนดี ผมรู้สึกไม่อิสระ ผมรู้สึกว่าการเป็นคนดีก็เป็นกับดักอย่างหนึ่งเหมือนกันเป็น “กับดักของอัตตา” ที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้คำว่า “อัตตาหยดสุดท้าย” เพราะหลายคนที่เป็นคนดีจะรู้สึกว่า “อัตตาของตัวเอง” นั้นเหลือน้อยมากเต็มที น้อยจนกลายเป็น “อัตตาหยดสุดท้าย” แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าเราไม่เท่าทันมันจริงๆ เจ้าอัตตาหยดสุดท้ายนี่แหละที่ “แสบชะมัด” เพราะมันพร้อมจะขยายตัวไปเป็น “อัตตาตัวโต” ได้อย่างรวดเร็วทันทีภายในเสี้ยววินาที
ผมรู้สึกว่าผมเพียงทำหน้าที่ที่อยากจะทำ เพราะเมื่อเวลาที่อาจารย์ประเวศชวนผมนั้น ผมปิ๊งทันทีและตอบรับด้วยความเต็มใจทันทีเลย เพราะเป็นงานที่ผมทำอยู่แล้วกับกลุ่มที่เชียงรายถึงแม้จะไม่มีกลุ่มจิตวิวัฒน์
ผมเชื่อว่าคนหลายคนที่หลากหลายมากขึ้นทำงานร่วมด้วยกันจะมีพลังมากกว่าทำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว
ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะต้องรู้สึกไม่ดีอะไรหรือจะเป็นการคิดขัดแย้งหรือตัดพ้อแต่อย่างไรนะครับ ผมเพียงรู้สึกว่าในฐานะที่ตัวผมเองมีส่วนร่วมกระทำอยู่ในความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์” ผมน่าจะใช้เวลาที่ครบรอบสามปีเต็มของกลุ่มจิตวิวัฒน์นี้ได้ใคร่ครวญถึง “ความหมาย” ตามที่ผมเข้าใจและบอกกล่าวกับเพื่อนๆ ที่ร่วมคิด เหมือนกับว่าเวลาที่เราเดินทางไกลไปด้วยกัน เมื่อเดินทางถึงจุดพักจุดหนึ่งเราก็ควรจะต้องเช็คแผนที่ของเรา เช็คเป้าหมายของเราว่าเราเดินทางมาอย่างไร ถูกเส้นทางแล้วหรือยัง แน่นอนว่าเส้นทางอาจจะมีได้หลายเส้นทางและหลายๆ ท่านที่ร่วมเดินทางก็อาจจะอยากแวะไปเที่ยวน้ำตกก่อน บางท่านอาจจะขอแวะชมนกชมไม้กันก่อน หรือแม้แต่หลายท่านอาจจะไม่อยากพักเลย อยากจะขับรถทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ถึงเป้าหมายโดยเร็ววันที่สุด
ผมเคารพทุกความเห็น เพราะผมเชื่อว่าทุกเส้นทางสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้
ที่อยากจะบอกเล่าในบทความชิ้นนี้จึงเป็นหรือหมายถึงเฉพาะ “เส้นทางของผม” ที่อยากจะแลกเปลี่ยนเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางของผมจะดีที่สุดเลิศที่สุดประเสริฐสุด
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยกับคำว่า “จิตวิวัฒน์” ผมคิดว่า “เป้าหมายนี้” สำคัญมากและสำคัญที่สุดจริงๆ และผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ศึกษาเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคมต่างก็จะมองเห็นความจริงข้อนี้กันทุกคน
สำหรับผมแล้วผมเชื่อว่าการเดินทางสู่ “จิตวิวัฒน์” เป็นเส้นทางที่ธรรมดาๆ ธรรมดาและสามัญเหลือเกิน เป็นเส้นทางที่อาจจะไม่ต้องทำอะไรมากมาย เพียงแต่เรา “ใช้ชีวิตให้เต็ม” ใช้ชีวิตให้พอเหมาะพอดี สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวโดยไม่ต้องแยกมันออกไปแบบที่ฝรั่งเคยสอนไว้
เพียงแต่ “ขอเวลา” หรือ “มีเวลา” ให้กับการดูแล “เรื่องราวภายในตัวเอง” ให้มากขึ้นกว่าที่เดิมคนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาในการดูแลเรื่องราวภายนอกตัวเรา และคำว่า “มากขึ้นกว่าเดิม” จะเป็นสัดส่วนเท่าไรที่แม้จะเพียงสิบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมดของคุณ ก็เป็นที่ยอมรับได้สำหรับผมแล้ว
ขอเพียงให้เรา “มีเวลา” ที่จะพูดคุยกันให้มากขึ้น พูดคุยกันให้ลึกซึ้งขึ้น และมีความเป็นชุมชนที่ไม่ใช่พูดคุยกันแต่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น แต่ “ดูแลกันและกัน” เพราะบางทีเพียงแค่การได้มาพบกันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ไม่ต้องมาถามว่าคุยกันแล้วได้งานอะไรซึ่งดูเป็นนิวตันเสียเหลือเกิน
ผมเห็นด้วยกับ วิจักขณ์ พานิช ที่เคยบอกไว้ว่า บางทีถ้าเราพยายามอธิบายเรื่องราวมากจนเกินไปก็จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสน ผมเองก็พบว่าบางทีเรื่องราวก็ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพียงแต่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจของตัวเองและของกลุ่มชุมชนเล็กๆ ที่ดำรงอยู่
ผมรู้สึกว่าบางทีพวกเราหลายคนไปแบกโลกไว้มากเกินไป บางทีโลกอาจจะไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือหรอกนะ เพราะยังไงๆ เสียโลกก็ไม่แตกหรอก อย่างมากก็แค่เกิด 6th Extinction (การสูญพันธุ์ครั้งที่ ๖)
ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสบอกเล่า แม้ว่าจิตวิวัฒน์ในความหมายของผมอาจจะไม่ได้ตรงกับหลายๆ ท่านคิดหรืออยากให้เป็นเสียทีเดียว
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549
เราได้ยินผู้บริหารไม่ว่าจะภายในประเทศหรือต่างประเทศ ต่างก็พูดถึงการทำองค์กรของตนให้เป็นองค์กรอัจฉริยะเพื่อให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจของตนอยู่บ่อยๆ
มีการประชุมชี้แจงภายในองค์กรเพื่อให้พนักงานทุกคนทุกระดับได้รู้ถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่จะนำพาองค์กรของตนไปสู่ความเป็นเลิศ
มีการจัดอบรมทั้งภายในและมีการส่งบุคลากรไปอบรมภายนอก เพื่อนำความรู้และทักษะทั้งหมดที่ได้รับมาพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด
บางแห่งมีการปรับรื้อระบบใหม่ทั้งระบบที่เรียกว่า Reengineering บางแห่งมุ่งพัฒนาคุณภาพผ่านระบบ QC, TQC, TQM และอื่นๆ ที่มาใหม่อยู่เรื่อย เช่น Balance Score Card, JIT, Futuristic Management
มีการเชิญกูรูทางการบริหารชาวต่างชาติมาพูดให้ฟังในราคาที่แพงอย่างไม่น่าเชื่อ
แนวความคิดทางการบริหารและการจัดการใหม่ๆ ที่บรรดากูรูหรือผู้รู้ทางการบริหารเสนอแนะ ถูกนำมาเรียนรู้ เลียนแบบ เพื่อจะได้ “ทันสมัย” หรือ “ทัน”กับความก้าวหน้า
ทั้งหมดที่ทำไปเพียงเพื่อตามให้ทัน ไหลไปตามกระแส เพียงเพื่อจะรู้เท่า แต่ไม่รู้ทันหรือไม่รู้เท่าทันเขา
เครื่องจักรใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับลิขสิทธิ์ราคาแพง มาตรการและมาตรฐานใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาและนำเสนอแกมบังคับให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน “สากล” ระดับ”นานาชาติ” ทยอยออกมาเรื่อยๆ
ผู้นำและผู้บริหารประเทศและบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ทั่วโลก ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ระบบการบริหารจัดการ วิธีคิด วิธีทำงานถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองทิศทาง “การค้าเสรี” ของ “ทุนนิยม”ทั้งสิ้น
หนังสือประเภท Know How และวิธีเรียนลัดแบบสำเร็จรูปสำหรับการเป็นผู้บริหารชั้นยอด และการเป็นเศรษฐีในเวลาอันสั้นมีออกมาขายมากมาย เสมือนหนึ่งมีคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด
สิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินและขาดอย่างมากจากองค์กรธุรกิจ คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมขององค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร การคืนและการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ให้กับโลก
ภายนอกมีแต่โฆษณาชวนเชื่อ การสร้างภาพพจน์ที่หลอกลวง และเลือนรางจากความดีความมีคุณธรรม
ภายในเน้นระบบบริหารและจัดการที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ขององค์กร เช่นกำไร การขยายกิจการ ความมั่นคงขององค์กรเป็นหลัก โดยมิได้มีเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) อยู่ในระบบและกระบวนการบริหาร ไม่ว่าจะในส่วนของปัจจัยป้อนเข้าของระบบ (Inputs) ในส่วนของกระบวนการบริหาร (Processes) ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การจัดโครงสร้างองค์กร การจัดคนเข้าระบบ...และในส่วนของผลผลิต (Outputs) มิต้องพูดถึงเรื่องของ Outcomes และ Impacts
ที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ระบบการศึกษาก็ถูกอิทธิพลของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเข้ามาครอบงำด้วย ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลทุนนิยม
ความสำเร็จและความร่ำรวยของคนส่วนน้อย บนซากที่เสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ มลภาวะทางศีลธรรม จริยธรรม สังคมที่เสื่อมทรามลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ทั่วไป ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้นำและผู้บริหารองค์กรธุรกิจทั้งหลายจะเริ่มคิดและทำอย่างจริงจังที่จะพัฒนาองค์กรของตนให้เป็นองค์กรจริยะ แทนที่จะมุ่งเน้นการเป็นองค์กรอัจฉริยะตามแบบอย่างองค์กรกระแสหลักทุนนิยมแต่อย่างเดียว
ระยะนี้ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้กับองค์กรต่างๆ ค่อนข้างบ่อย หัวข้อที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายก็น่าสนใจและท้าทาย เช่นการสร้างและการพัฒนาจริยธรรมในองค์กร การบริหารตามแนวอนาคตนิยม การสอนงานการพัฒนาบุคลากร... ในทุกหลักสูตรที่ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นวิทยากร จะมีการสอดแทรกเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารและการดำเนินธุรกิจเสมอ ด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า หากผู้บริหารมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นฐานและเป็นแกนในการบริหาร จะทำให้คนในองค์กรมีความภาคภูมิใจ เต็มใจ และมีความสุขที่จะทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ นำให้เกิดผลงานที่ดี (Productivity) และมีความพึงพอใจ (Satisfaction) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คุณธรรมและจริยธรรมจะเป็นแกนกลางและตัวเชื่อมประสานคนในองค์กรให้เป็นหนึงเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบันเริ่มมีองค์กรทางธุรกิจหลายแห่งในโลกประกาศตัวเป็นจริยองค์กรทางธุรกิจหรือที่ผู้เขียนเรียกว่าองค์กรจริยะ เพื่อให้แตกต่างไปจากแนวคิดกระแสหลักที่มุ่งเน้นสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มีฐานของแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเป็นกลไกผลักดัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระบบตลาดเสรี มีการพัฒนาระบบการบริหาร การผลิต การบริการ...ด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยราคาแพง เพื่อที่จะได้เป็นองค์กรอัจฉริยะ แต่ละเลยเรื่องความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะละเลยเรื่องคุณธรรมจริยธรรม
ในต่างประเทศมีคำใหม่ที่เรียกองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมว่า Corporate Social Responsibility (CSR) ในเมืองไทยก็เริ่มมีกลุ่ม CSR เกิดขึ้น
นับเป็นนิมิตหมายที่ดี
CSR คืออะไร
CSR คือองค์ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารการจัดการเพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยภาพรวม มีการดำเนินการกิจกรรมทุกอย่าง อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงจิตสำนึกต่อโลก (Global Consciousness)
CSR เป็นองค์กรที่จะต้องตั้งคำถามหลักสองประการเป็นอย่างน้อยในการดำเนินธุรกิจ
๑. คุณภาพของการบริหารจัดการในแง่ของคนและกระบวนการบริหารภายในองค์กร
๒. ธรรมชาติและปริมาณของผลกระทบที่มีหรือที่จะเกิดต่อสังคมในด้านต่างๆ อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร
โดยนัยนี้ความรับผิดชอบต่อสังคม(Social Responsibility) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างความอุดมสมบูรณ์ (Wealth Creation Process) ขององค์กร และถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้ องค์กรก็สามารถที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็เพิ่มคุณค่าด้าน Wealthให้กับคนในองค์กรและสังคมได้
CSR จะยึดถือแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้อย่างมีความรับผิดชอบ