กันยายน 2005

ความยุ่ง คือความขี้เกียจ
(Busy-ness is Laziness)

โดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปลและเรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2548

ชีวิตที่แท้ผุดบังเกิดจากความเงียบอันเป็นพื้นฐานของการรับฟังด้านใน ส่วนชีวิตในแบบทั่วไปที่เราเข้าใจกัน มันเป็นเพียงแค่ภาพมายา สะท้อนแผนการที่ปรุงแต่งขึ้นจากส่วนเสี้ยวของเหตุปัจจัยภายนอก เสียงบอกจากคนรอบกาย หรือสิ่งที่เราเลียนเอาอย่างจากชีวิตคนอื่น อันภาพมายานั้นหาใช่ความเป็นตัวเราที่แท้จริงไม่ ชีวิตที่เต็มไปด้วยแผนล่วงหน้าเหล่านั้นเป็นชีวิตปลอมๆ อันแข็งทื่อ ไร้การเรียนรู้ตอบสนอง มันไม่ได้สะท้อนถึงชีวิตตามแบบที่มนุษย์ควรจะเป็นเลยแม้แต่น้อย

ผู้คนมากมายผ่านเข้ามาในชีวิตผม บอกผมว่า “ฉันไม่มีเวลาพอที่จะฝึกสมาธิภาวนาหรอก ชีวิตฉันยุ่งเหลือเกิน ตารางเวลาประจำวันแทบจะต้องวางแผนกันล่วงหน้าสามสี่เดือน ชีวิตฉันมันเต็มจริงๆ ยุ่งขนาดที่ว่าเช้าจรดเย็นแทบไม่มีช่องว่างให้คิดเรื่องอื่นเลยนอกจากงาน” ดูเหมือนว่าทิศทางของผู้คนในโลกสมัยใหม่ทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งเป็นไปในรูปแบบนี้กันทั้งนั้น

ลองหยุดคิดกันดูสักนิดว่า สิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” จริงน่ะหรือ “ชีวิต”ในแบบที่ว่านั้นมีคุณค่าพอ ที่จะมีชีวิตอยู่กันจริงๆ หรืออย่างไร ในฐานะมนุษย์แห่งโลกสมัยใหม่ เรากำลังวิ่งหนีตัวเราเอง เรากำลังใช้ความยุ่งของชีวิตเป็นข้อแก้ตัว เพื่อการหลีกเลี่ยงที่จะรู้จัก และสัมผัสชีวิตมนุษย์ที่แท้ ...พื้นที่ด้านในอันเป็นอิสรภาพของการรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่เราไม่เคยรู้จัก และเราต่างก็หวาดกลัวกับการเข้าไปรู้จักพื้นที่อันนั้น เป็นความจริงที่น่าเศร้า...เรากลัวที่จะเรียนรู้ เรากลัวที่จะรู้จักตัวเอง...

ผู้คนในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถทนอยู่คนเดียวได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในงานอะไรก็ตามที่ต้องอาศัยความเงียบแห่งพื้นที่ภายในของความเป็นตัวเอง และปราศจากสิ่งบันเทิงภายนอก วิถีชีวิตที่ผู้คนสมัยนี้คุ้นเคยกลับเป็นชีวิตที่ไม่มีแม้แต่เพียงวินาทีเดียว ที่คุณจะต้องอยู่คนเดียว คุณต้องมีทีวีหรือคอมพิวเตอร์อยู่หน้าตัวตลอดเวลา เรากำลังใส่ข้อมูลแห่ง “ความยุ่ง” ให้กับชีวิตจนเกือบจะถึงจุดที่มันพร้อมจะระเบิด และเมื่อใดที่คุณบอกตัวคุณเองให้นั่งลง เพื่ออยู่กับตัวเองบ้าง ก็จะมีเสียงต้านขึ้นมาทันทีว่า “ฉันทำไม่ได้ ฉันไม่มีเวลามากพอที่จะทำอย่างนั้นหรอก” คนส่วนใหญ่ต่างก็เคยชินกับความคิดเช่นนี้จนมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาอะไร เราไม่เคยหยุดที่จะเฝ้ามองชีวิตในความหมายที่แท้จริงเอาเสียเลย

จากพ่อแม่สู่ลูก วิถีชีวิตที่ไม่ถูกตั้งคำถามกำลังถูกถ่ายทอดสู่ลูกๆ ของเรา และมันกำลังทำลายพวกเขาอย่างเลวร้ายที่สุด ตารางชีวิตที่อัดแน่น ซ้อมกีฬา ซ้อมดนตรี การบ้าน สามชั่วโมงหน้าทีวี สามชั่วโมงหน้าคอมพิวเตอร์ ตารางเต็มเอี้ยดตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน พวกเขาแทบจะไม่ได้รู้จักเรียนรู้การอยู่กับความเงียบ ซึ่งหมายถึงการให้พื้นที่กับตัวเอง อยู่กับตัวเองเพื่อการค้นหา และค้นพบ

นอกจากนั้น ปัญหาเดียวกันยังพบได้ในระบบการศึกษา ที่ทั่วโลกกำลังเอาตะวันตกเป็นแม่แบบ ระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความอัดแน่นของข้อมูลที่เรากำลังยัดเยียดเข้าสู่ชีวิตของเด็ก บวกกับค่านิยมของสังคมที่ไม่เหลือช่องว่างให้กับการค้นหาความหมายอันหลากหลายของชีวิต กำลังผลักดันให้เกิดภาพของชีวิตที่ยุ่ง เป็นการประเมินค่าความมีประสิทธิภาพและความเต็มอย่างผิวเผินจากภายนอก อีกทั้งพ่อแม่ยังผลักเอาความคาดหวังส่วนตัวอันเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างยุ่งๆ ที่ไม่เคยตั้งคำถามใดๆ ไปให้ลูก วัฏจักรอันเลวร้ายจึงถือกำเนิดขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์บนพื้นฐานของความกลัว ...ความกลัวที่ว่า คือความกลัวความว่าง ความกลัวพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ชีวิต (Fear of Space)

การฝึกฝนสมาธิภาวนา นั่งลงเงียบๆ กับตัวเอง โดยปราศจากกิจกรรมอื่นใด นอกจากการเฝ้ามองชีวิตด้านในของเรานั้น เป็นเสมือนการถอดปลั๊กของวงจรชีวิต มันเป็นกระบวนการง่ายๆ ที่ส่งผลย้อนกลับ ทำให้ชีวิตของเราเปิดกว้าง ด้วยพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ที่แท้ได้ก่อกำเนิดขึ้นอีกครั้ง เราจะต้องเข้าใจความมหัศจรรย์ของการฝึกฝนที่ว่านี้ และยินดีที่จะบอกตัวเองว่า การนั่งเฉยๆ อยู่กับตัวเอง ก็ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของชีวิต กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณของวัฒนธรรมแห่งโลกสมัยใหม่ คุณจะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า คุณมีชีวิตนี้เพียงชีวิตเดียว เมื่อคุณไม่ใส่ใจกับชีวิตที่ว่านั้น ไม่สามารถให้เวลากับมันแม้เพียงสั้นๆ ๑๕ นาที ในการสร้างความสัมพันธ์ ทำความเข้าใจชีวิต เมื่อนั้นคุณกำลังทำให้ทุกคนรอบข้างเป็นทุกข์ คุณต้องตระหนักเสียทีว่าชีวิตที่ไม่เข้าใจตัวเอง เป็นชีวิตที่ไม่มีทางเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนอื่น คุณกำลังทำร้ายคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว ด้วยการเอาความยุ่งเป็นข้อแก้ตัวที่นำไปสู่การเพิกเฉย ต่อการเรียนรู้จักตนเองและผู้อื่น

ความยุ่งบ่งบอกถึงจิตที่วุ่น เมื่อจิตวุ่นเสียแล้ว คุณก็แทบจะไม่มีความรู้สึกของการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างแท้จริง การละเลิกความคิดที่ว่า “ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ยุ่ง” “ชีวิตว่างเป็นชีวิตที่ไร้ประโยชน์” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเปิดใจเพื่อความเข้าใจชีวิตที่แท้ ชีวิตคือพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ เมื่อเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้ในทุกขณะของชีวิต เราก็จะตื่นที่จะรู้ การปล่อยวางความยุ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกลายเป็นคนเฉยๆ เฉื่อยๆ ไม่กระตือรือร้น ไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่มันหมายถึงการละเลิกความคิดปรุงแต่งที่กีดขวางการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เราต้องปล่อยวางความกลัว ปล่อยวางการยึดมั่นในแผนการทั้งหลายทั้งปวง เพื่อที่จะได้สัมผัสชีวิตที่แท้จริงกันกันเสียที

การปล่อยวางความคิด เพื่อสัมผัสชีวิตในแง่มุมที่ลึกซึ้ง คือเป้าหมายของการฝึกจิตภาวนา การปฏิบัติภาวนาไม่ใช่เรื่องนอกตัว ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่กิจกรรมของการตัดขาดจากโลก แต่มันคือกระบวนการพื้นฐานของการมองด้านใน และเข้าใจกระบวนการการรับรู้ของชีวิต เราได้เห็นจุดที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อนในตัวเรา แล้วพยายามที่จะเข้าใจมันอย่างถูกต้องมากขึ้น การภาวนาคือการที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตตัวเองในแง่มุมที่ลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างภายในของชีวิต อันเป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้อันศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียกว่า ordinary magic ก็ได้ มันเกิดขึ้นในทุกขณะที่เราได้สัมผัสถึงความธรรมดาและง่ายงามของชีวิต ได้สร้างความสัมพันธ์กับความว่างที่เป็นบ่อเกิดของปัญญาและความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ผมขอให้ทุกคนได้ให้โอกาสกับตัวเอง ในการเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ลองให้โอกาสกับการฝึกจิตภาวนาเป็นลำดับต้นๆ ในลิสต์ ให้คุณค่าของการเรียนรู้ที่จะเชื้อเชิญพื้นที่ว่าง ให้กับสิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ผุดบังเกิดขึ้นในชีวิตของคุณ เมื่อนั้นเราก็จะได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์เหนือกรอบของความคับแคบแห่งตัวตนที่เราพยายามสร้างขึ้น สู่ความหมายใหม่ของชีวิตและอิสรภาพของมนุษย์ที่แท้จริง

บทเรียนหนึ่งของการเป็นกระบวนกร
จุดสุดยอดของการเป็นกระบวนกรอยู่ที่การตั้งคำถาม?

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กันยายน 2548

คืนวันหนึ่งหลังเลิกงานแล้ว พักผ่อนแล้ว ทานอาหารเย็นแล้ว กระบวนกรในเชียงรายได้มารวมตัวคุยกัน ณ บ้านเปี่ยมรัก เรื่องการจัดกระบวนการ "เขียนโลกใบใหม่" สี่วันสามคืนให้กับองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง เป็นการนั่งล้อมวงเพื่อทบทวนบทเรียน

อาจารย์ฌานเดช พ่วงจีน กล่าวถึงประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งเอาไว้ในการก้าวเข้าสู่จุดสุดยอดของการเป็นกระบวนกร อาจารย์เฝ้าดูการโยนประเด็น โยนคำถามที่พลิกสถานการณ์ คำถามที่จะเป็นชนวนที่ทำให้การเรียนรู้แตกประเด็น ระเบิดออก ปะทุและเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ดังเช่นระเบิดนิวเคลียร์ อะไรคือชั่วขณะดังกล่าว เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าอะไรคือประเด็น ช่วงเวลาไหนคือช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจารย์คิดว่า ถ้าอาจารย์เข้าถึงสัมผัสอันพิเศษยิ่งนี้ อาจารย์จะเข้าถึงจุดสุดยอดของการเป็นกระบวนกร

คำถาม

ในกระบวนการเรียนรู้อย่างที่เราทำกัน เราจะให้ความสำคัญกับ “คำถาม” ไม่แพ้ “คำตอบ” หรือบางทีอาจจะมากกว่า

คำตอบหนึ่งเดียว หรือคำตอบที่ตายตัวคงไม่ใช่วิถีแห่งการเรียนรู้ในวิทยาศาสตร์ใหม่ คำตอบที่ดีที่สุดคำตอบเดียวไม่มีอยู่ หากมีแต่คำตอบที่ใช้การได้หลายๆ คำตอบ และความหลากหลายนั้นจะช่วยบ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นอีกไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือชีวิต นี่คือรูปแบบ กระบวนการและโครงสร้างของชีวิตที่สร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา

คำถามกับปัญหา

ปัญหาไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นกลางๆ ที่เราจะเข้าไปดู เข้าไปแก้ไขกับมันได้อย่างสบายใจกระมัง แต่มันมักเป็นหลุมดำดึงดูดความรู้สึกด้านลบของผู้คน และบางทีแทนที่จะแก้ปัญหา เรากลับเข้าไปทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก คือการแก้ปัญหากลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหา

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาได้เข้ามาครอบงำทัศนะมุมมองของเรา และบางทีเราก็อาจจะติดข้องอยู่ในนั้น ไม่สามารถถอยหลังออกมาเพื่อจะมองเห็นภาพกว้างได้ พลังงานของเราและความคิดของเรากลับไปติดแหงกอยู่ตรงนั้น จมปลักอยู่กับปัญหานั้นๆ เอง

เราจะมีทางปลดปล่อยตัวเองออกมาจากการครอบงำนั้นได้หรือไม่? อย่างไร?

คำถามกับการสืบค้นด้านบวก

แทนที่จะจมปลักอยู่กับปัญหา เราลองมาปรับเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการปรับเปลี่ยนคำถาม แทนที่จะถามถึงการแก้ปัญหา เรามาถามถึงสิ่งที่เราปรารถนา หรือสิ่งที่เราใฝ่ฝันแทน เราจะทำอย่างไร จึงจะไปถึงฝันของเราได้ แทนที่จะถามว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหา เรากลับถามว่าทำอย่างไรจึงจะไปถึงฝัน? พลังของคำถามมันต่างกันไหม? ความอยากจะตอบมันต่างกันไหม?

คำถามกับแรงบันดาลใจ

ทำอย่างไร? เราจึงจะปลุกเร้าแรงบันดาลใจของผู้คนขึ้นมาได้ ในองค์กรที่ปฏิบัติกับผู้คนดุจดั่งเป็นเครื่องจักร มนุษย์กลายมาเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักร ที่เบื้อใบ้ ไร้คุณค่า ไม่มีบทบาทในความคิดริเริ่มใดๆ ไม่สามารถมีความคิดเห็นดัดแปลงสภาพแวดล้อมและการงานของตัวเองได้

เราต้องใช้เวลาเยียวยาผู้คนเหล่านี้ เปิดเวทีให้เสียงของพวกเขาได้ปรากฏ ให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของงาน คิดค้น ออกแบบ เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม กระบวนการในการทำงานของตัวเองได้ และรู้สึกปลอดภัยที่จะทำเช่นนั้น โดยได้รับการเสริมย้ำในทางปฏิบัติว่าปลอดภัยจริง และสิ่งที่พวกเขาคิดริเริ่มมีผลในทางปฏิบัติจริง เมื่อนั้น พวกเขาจะได้กลับมามีแรงบันดาลใจอีกครั้ง อันเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมในความเป็นมนุษย์ของพวกเขาตั้งแต่เกิดมา

คำถามกับปัญญาร่วม

ปัญญาร่วมหรือ คอลเลคทีฟ อินเทลลิเจนซ์ (collective intelligence) หรือ คอลเลคทีฟ วิสดอม (collective wisdom) นั้นไม่ใช่ปัญญาอันเกิดจากการคิดด้วยเหตุและผล ปัญญาอันเกิดจากการคิดด้วยเหตุและผลก็เป็นของดี แต่มันมีข้อจำกัด มันตอบได้ดีเฉพาะปัญหาที่ลงตัว ที่ยังอยู่ในกรอบของคณิตศาสตร์ที่เป็นสมการเชิงเส้น

ในธรรมชาติของความเป็นจริงอันสลับซับซ้อน เราต้องการปัญญาที่เหนือชั้นกว่าปัญญาที่ว่าด้วยเหตุและผล เหนือกว่า อินเทลเลค (intellect) หรือพุทธิปัญญา แต่ต้องมาจากการภาวนา หรือการเฝ้าดูอย่างเนิ่นนาน เป็นปัญญาระดับญาณทัศนะ ที่เราไม่ได้คิดในจิตสำนึก หากบ่มอยู่ในจิตไร้สำนึกและโผล่ปรากฏขึ้นมาแบบปิ๊งแว้บ

ปัญญาภาวนาที่กล่าวถึงนี้ ทำงานอยู่เหนือระดับเหตุผลออกไป เมื่อได้มา มันจะมีความสมเหตุสมผลอยู่ในที่นั้นเอง หากแต่ว่า มันจะเป็นคำตอบที่เหนือชั้นกว่า คือจะมีความพอดิบพอดีลงตัวได้อย่างประหลาด! เราจึงเรียกมันว่า “ญาณทัศนะ” หรือ “ปิ๊งแว้บ”

เกาะติดนัวเนียก่อนตั้งคำถาม

ในวิทยาศาสตร์เก่า การสังเกตเรื่องราว ผู้สังเกตตั้งระยะห่างจากสิ่งสังเกต ผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตแยกขาดออกจากกัน วิทยาศาสตร์เก่าเอาอารมณ์ไปผูกพันไม่ได้ อารมณ์ถูกตีตราว่าเป็นสิ่งไม่ดี เหตุผลดี อารมณ์ไม่ดี

วิทยาศาสตร์ใหม่ เรารู้ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ และอารมณ์ก็คือปัญญา ไม่ใช่อุปสรรค แต่หากเรารู้ว่าในความเป็นปกติ อารมณ์คือปัญญา ในยามปกป้อง อารมณ์คืออุปสรรค เราก็จะเรียนรู้ปัญญาอารมณ์คือการรักษาความเป็นปกติในชีวิต ในวิทยาศาสตร์เก่าผู้คนยังไม่ได้เรียนรู้ความข้อนี้ จึงมีปัญหาได้มาก แต่ไม่รู้ตัว

เราจะเรียนรู้การเกาะติดนัวเนียจาก ไท ชี ฉวน หรือวิชากำลังภายในที่ว่าด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้มาก คือ เมื่อเกาะติดนัวเนีย เราจึงอ่านแรงคู่ปฏิปักษ์ได้ เมื่ออ่านแรงได้ก็ควบคุมกำกับทิศทางแรงของปฏิปักษ์ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปฏิปักษ์ก็ไม่สามารถทำร้ายเราได้เลย เราจึงสามารถสลายความเป็นปฏิปักษ์ด้วยประการฉะนี้

ในการเป็นกระบวนกร เราต้องพร้อมจะเริ่มต้นใหม่เสมอ เริ่มต้นใหม่อย่างไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา ไม่เอาประสบการณ์ในอดีตมาเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ หรือความเข้าใจต่อเรื่องราวหนึ่งใด จึงสามารถเกาะติดนัวเนียกับกลุ่มคนได้อย่างล้ำลึก รอคอยจังหวะที่จะเข้าไปหันเหทิศทางเพียงหน่อยหนึ่งด้วยการตั้งคำถาม หันเหหรือกำกับหรือเร่งรัดอัตราการเรียนรู้ด้วยคำถาม

ในวงสุนทรียสนทนานั้น เมื่อทุกคนนิ่งฟังได้ เมื่อทุกคนเปิดพื้นที่ ห้อยแขวนการตัดสิน ช่องว่างแห่งความเงียบคือความเป็นไปได้ของญาณทัศนะ ที่จะไปปรากฏบนริมฝีปากใคร ผู้ใดก็ได้ ไม่มีข้อยกเว้นจริงๆ เมื่อนั้นการเกาะติดนัวเนียจึงเป็นการเปิดโอกาสแห่งการเก็บเกี่ยว ญาณทัศนะ ที่กำลังจะโผล่ปรากฏ และจังหวะโอกาสของการป้อนคำถาม ตลอดจนคำถามที่เหมาะสม ก็จะผุดพรายขึ้นในใจของกระบวนกรเอง

จะตื่น(รู้)ทันไหม?! : คำตอบของอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน(ขณะ)

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2548

งานประชุมสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์ จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักคิด นักปฏิบัติ นักวิจัย และผู้สนใจพันกว่าคนที่มาพบกันเพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติจิตสำนึก (consciousness revolution) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และกระบวนทัศน์ใหม่ บรรยากาศในงานเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง เพราะมากไปด้วยความคิดปรารถนาดีต่อโลก

ความรู้สึกที่ดูเหมือนเป็นเอกฉันท์ คือ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง โดยในขณะเดียวกันก็มีความพยายาม ความสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในการแสวงหาทางออก แต่สิ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นต่างกันคือคำตอบที่ว่า "โลกจะรอดวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?"

ความรู้สึกของที่ประชุมคล้ายคลึงกับแนวของหนังสือ Waking Up in Time ที่ปีเตอร์ รัสเซลล์ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติทั้งหมดจะตื่นขึ้นทันกับสถานการณ์ไหม? (สวนเงินมีมา โดยการสนับสนุนของกลุ่มจิตวิวัฒน์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้)

รัสเซลล์ที่มีดีกรีทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมองโลกในแง่มุมใหม่ๆ ดังนี้ ๑) วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่นับวันจะดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นไปๆ ทุกที ส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาในทุกระบบของสังคมและสิ่งแวดล้อม ๒) วิเคราะห์ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือ การมีจิตสำนึกไม่ถูกต้อง ๓) ทางออกของวิกฤตเบื้องหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เครื่องยนต์กลไกภายนอก หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นการเปลี่ยนจิตสำนึกอย่างลุ่มลึก โดยท้ายสุด ๔) นำเสนอแนวทางรูปธรรมของการขยายจิตสำนึก จากจิตอันคับแคบส่วนตัวไปมีจิตใหญ่ มีจิตวิวัฒน์

ลำดับการเล่าเรื่องชวนให้นึกถึงนักคิด นักปฏิบัติคนสำคัญของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว คือ พระสมณโคดม ท่านก็กล่าวไว้ทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ ถึงเหตุที่มาคือสมุทัย ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นคือนิโรธ และหนทางประเสริฐอันมีองค์แปดคือมรรค

ประเทศไทยนับถือคุ้นเคยกับพุทธแบบหีนยาน บางครั้งอาจมองการปฏิบัติ การบรรลุธรรม การแก้ปัญหาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางครั้งก็เข้าใจผิดเห็นความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ว่าเป็นอุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง) หนังสือของรัสเซลล์ชวนให้เรามองเรื่องอริยสัจสี่ในระดับมนุษยชาติหรือในระดับโลก เห็นทุกข์ของโลก สมุทัยของโลก นิโรธของโลก และมรรคของโลก

เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ที่พูดถึงโลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีจิตของโลกด้วย โดยเราอาจเปรียบเทียบว่าถ้าตัวเราประกอบด้วยเซลต่างๆจำนวนมาก โลกก็อาจเป็นเหมือนอย่างเราคือประกอบด้วยมนุษย์เป็นจำนวนมาก

สุขภาพที่ดีของเราต้องมาจากสุขภาพที่ดีของเซลต่างๆ สุขภาพที่ดีของโลกก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในโลก

การที่ในประเทศไทยและทั่วโลกเราพบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้น เซลของเราเติบโตขยายขนาดมากเกินไปและแบ่งตัวไม่รู้จักหยุดกลายเป็นมะเร็ง ชวนให้ตั้งคำถามว่านี่เป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เพิ่มประชากรไม่หยุด แถมแต่ละคนยังทั้งบริโภค ทั้งสะสมอย่างไม่รู้จักพอหรือไม่?

เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ทุกวันนี้ กำลังทำให้เราแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าการศึกษาที่เรียนแต่เรื่องนอกตัว แถมยังเป็นรายวิชา เป็นชิ้นๆ กล่องๆ ขัดกับโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เราไม่รู้จักตัวเองและไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

หากเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ที่เป็นเหมือนเซลมะเร็งจะเรียนรู้ที่จะกลับมาสื่อสารกับโลกได้ไหม?

ตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด เป็นความหวังว่ามนุษย์น่าจะยังมีศักยภาพในการเรียนรู้นี้อยู่

น่าสังเกตที่นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำทั่วโลก อย่างปีเตอร์ รัสเซลล์ (การปฏิวัติทางจิตสำนึก Consciousness Revolution) เคน วิลเบอร์ (ทฤษฎีบูรณภาพ Integral Theory) แดเนียล โกลด์แมน (ปัญญาทางอารมณ์ Emotional Intelligence-EQ) หรือ ฟราสซิสโก วาเรลา (ทฤษฎีซานติอาโก Santiago Theory) กำลังหันมาเห็นสมบัติล้ำค่าที่คนไทยมีอยู่แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับมันมานาน หลายคนเดินทางมาฝึกถึงภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย หรือจีน

คนเหล่านี้ รวมถึงสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เชื่อว่ามนุษยชาติมีศักยภาพในการสื่อสารกับโลกได้ มนุษยชาติทั้งหมดพ้นทุกข์ร่วมกันได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน (Collective Transformative Learning) โดยประตูนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนจิตสำนึก จากจิตเล็กอันคับแคบ แยกส่วน และบีบคั้น ไปสู่จิตใหญ่อันกว้างขวาง เชื่อมโยง และมีอิสรภาพ

ช่องทางหรือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีได้หลากหลาย เช่น การทำงานอาสาสมัคร กระบวนการทางศิลปะ-สุนทรียภาพ การบริหารการบริหารจิต เช่น โยคะ การเรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับความตาย องค์ความรู้ทางศาสนา รวมไปถึงการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ

แม้ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกจะมีช่องทางที่หลากหลายมากมาย แต่ล้วนมีหัวใจหรือแก่นร่วมกัน คือ การตื่นรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยวาง ลดการยึดติดในอดีตและอนาคต

กลุ่มเซลมะเร็งมีศักยภาพที่จะกลับมาสื่อสารกับร่างกายอีกครั้ง

มนุษยชาติก็มีศักยภาพในการที่จะสื่อสารกับโลกอีกเช่นกัน

เพียงแต่พวกเราแต่ละคน และมนุษยชาติโดยรวม จะตื่น(รู้)ทันไหม?!

สู่ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิญญาณ (Spirituality)

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2548

ต้องขอยอมรับด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นเบื้องต้นว่า ไม่ง่ายเลยที่จะเขียนอธิบาย หรือแม้กระทั่งจะนั่งพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจว่าจิตวิญญาณคืออะไร เพราะ “จิตวิญญาณ” ไม่ใช่ “ข้อมูล” ไม่ใช่ “ทฤษฎี” และโดยเฉพาะไม่ใช่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ที่เราจะเข้าไปศึกษาและค้นคว้าหรือแม้กระทั่งวิจัย ด้วยระเบียบวิธีวิจัยอย่างเป็นระบบตามรูปแบบทางวิชาการที่เราเรียนรู้กันมา

ถึงแม้จะมีข้อมูลหรือทฤษฎี “เกี่ยวกับ” จิตวิญญาณ ที่เราสามารถจะค้นคว้า ศึกษาได้อย่างเป็นระบบพอควร มันก็เป็นเพียงข้อมูลหรือทฤษฎี “เกี่ยวกับ” จิตวิญญาณ ไม่ใช่จิตวิญญาณโดยตรง

ถึงแม้จะมีแนวทาง (Approaches) หรือวิธีปฏิบัติ (Practices) หรือแบบฝึกหัด (Exercises) เพื่อจะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” (Spiritual well- being) มันก็เป็นเพียงแนวทางหรือวิธีซึ่งเปรียบเสมือนถนนหรือสะพานไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” หรือไปสู่สภาวะที่เรียกว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่จิตวิญญาณหรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วยตัวของมันเอง

มีหลายคนที่กำลังเดินทางไปบนถนน “สายจิตวิญญาณ” หรือเดินไปบนสะพานเพื่อจะข้ามจากมิติของโลกวัตถุไปสู่อีกมิติหนึ่งที่เรียกว่ามิติของจิตวิญญาณ แต่ก็ไปไม่ถึง เพราะยึดติดหรือเกาะเกี่ยวอยู่กับสะพาน (แนวทาง วิธีปฏิบัติ แบบฝึกหัด) เลยไม่ได้ก้าวข้ามสู่มิติของจิตวิญญาณ

เพียงอยู่ระหว่างทางของสองโลก (ทวิภพ – Dualism) หันกลับไปข้างหลังก็มองเห็นโลกที่เดินจากมา มองไปข้างหน้าก็คล้ายจะแลเห็นโลกที่กำลังจะก้าวไปถึง

บนสะพานหรือถนนสายนี้ บางคนมองเห็นโลกสองโลกเป็นคู่ขนาน (Parallelism) บางคนเห็นโลกสองโลกเสมือนเหรียญสองด้าน (Dualism)

บางคนตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นแล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้า บางคนตัดสินใจถอยกลับไปสู่โลกเดิม

และมีบางคนที่ใช้เคล็ดลับวิชา “ตัวเบา” สะบัดปลายเท้า (สลัดความไม่รู้) ด้วยกำลังภายในขั้นสุดยอด (ปัญญา) เข้าสู่มิติจิตวิญญาณ

มิติ
ที่ไม่มีการแบ่งแยก (Non-Seperative) หรือแบ่งฝ่าย (แบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งเพศ แบ่งประเภท แบ่งความเชื่อ . . .) มิติที่ปราศจากรอยตะเข็บ (Seamless) ไม่ลดทอน (Non – Reductionist)

จิตวิญญาณเป็นมิติที่มีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic) ที่มีธรรมชาติของการรวม (Inclusiveness) ความหลากหลาย (Diversity) ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน (The Same Oneness) ที่มากกว่าความหลากหลายของแต่ละส่วนย่อย เพราะความเป็นองค์รวม (Holism) เป็นการก้าวข้ามหรือก้าวพ้น (Transcend) สิ่งเก่า แล้ววิวัฒน์ (Evolve) หรือผุดบังเกิด (Emerge) เป็นสิ่งใหม่ อันเป็นผลมาจากการผนวกหรือควบรวม (Include) สิ่งเก่าที่มีอยู่

มาถึงตรงนี้ขออนุญาตอุปมาอุปไมยด้วยการยกตัวอย่าง และมีข้อเสนอแนะในการนำไปใช้พอสังเขป เพราะโลกยุคใหม่มักจะเรียกร้อง (แต่เลี่ยงที่จะทำ) ความชัดเจน (Clarity) ความโปร่งใส (Transparency) โดยเฉพาะความโปร่งใสทางกฎหมาย (เอาผิดไม่ได้ทางกฎหมาย) และการนำไปใช้ได้จริง (Practicality)

ขอยกตัวอย่างเป็นเชิงอุปมาอาหารไทยชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือ “ต้มยำกุ้ง”

“ต้มยำกุ้ง” มีความเป็นองค์รวมที่ใหม่และใหญ่กว่าเครื่องปรุงแต่ละชนิด และเทคนิคหรือวิธีในการปรุง เพราะต้มยำกุ้งเป็น “องค์รวม” ของทั้งเครื่องปรุง วิธีปรุง และอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการปรุง

หากเรานำความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิญญาณในลักษณะดังกล่าวเป็นหลักคิด ในการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ เราน่าจะได้แนวทาง (Approaches) และวิธีการปฏิบัติ (Practices) ที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน และน่าจะเป็นที่พึงประสงค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยสมานฉันท์จะเป็นทั้งวิธี (Means) และจุดหมาย (End) ที่ต้องการ

ไม่ใช่ไม่อยากได้สมานฉันท์ แต่ใช้วิธีแบ่งแยก สกัดออกหรือทำลาย

ไม่ใช่อยากได้สันติภาพ แต่ใช้วิธีทำสงคราม

เราน่าจะลองพิจารณาแนวทางจิตวิญญาณ (Spiritual Approach) เป็นอีกแนวทางหนึ่งนอกเหนือไปจากแนวทางรัฐศาสตร์ (Political Approach) แนวทางกฎหมาย (Legal Approach) และ/หรือแนวทางเศรษฐกิจ (Economic Approach)

ลองตั้งสติ และใช้ปัญญาในการ “เข้าถึง” “เข้าใจ” และ “พัฒนา” มิติทางจิตวิญญาณของตนเอง ของคนอื่นที่แตกต่างทางความเชื่อ (Belief) ถิ่นที่อยู่ (Space) และอายุ (Time) หรือก้าวไกลไปกว่านั้น ของมนุษยชาติ และสรรพสิ่งดูบ้าง เราอาจจะเข้าใจถึง “ความพอเพียง” ที่พอดี ไม่สุดโต่ง ไม่แบ่งแยก เราอาจจะเห็น “ความสมดุล” อย่างเป็นองค์รวมที่เกิดจากการความหลากหลาย เราอาจจะเห็น “ความดี” และ “ความงาม” ของ “ความจริง” ที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลง

ถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดที่ถูก (Right Thought) ก็มีโอกาสจะกระทำในสิ่งที่ถูก (Right Action)

ถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดที่ดี (Good Thought) ก็มีโอกาสจะกระทำในสิ่งที่ดี (Good Action)

ถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดที่งาม (Beautiful Thought) ก็มีโอกาสจะกระทำในสิ่งที่งาม (Beautiful Action)

การกระทำที่ถูก ที่ดี ที่งาม ที่มีฐานมาจากความคิดที่ถูก ที่ดี ที่งาม เปรียบเหมือนสะพานสู่โลกใหม่ที่เป็นองค์รวมของโลกแห่งความจริง (The True) โลกแห่งความดี (The Good) และโลกแห่งความงาม (The Beautiful) ที่ไม่มีรอยตะเข็บหรือเส้นแดนแบ่งกั้นระหว่างสามโลกนั้น

นี่คือความหมายกว้างๆ หลวมๆ และยืดหยุ่นไม่แข็งตัวของจิตวิญญาณที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องจิตวิญญาณ แต่ไม่สามารถให้ความจำกัดความ (Definition) ตายตัวลงไปได้ และโดยธรรมชาติของจิตวิญญาณตามลักษณะที่เสนอไว้ ไม่ควรจะ “จำกัด” ความ (Define) เพราะไม่สามารถจำกัดความได้

เพราะธรรมชาติของจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ไม่จำกัด (Unlimited) ทั้งในแง่ของพื้นที่ (Space, Non- Local) หรือเวลา (Time)

มิติของจิตวิญญาณไม่มีการแบ่งแยก (Non- Seperative) ไม่เป็นสอง (Non-Dual) แต่เป็นองค์รวม (Inclusive/Holistic) โดยธรรมชาติ

โดยนัยนี้ คุณธรรม (Morality) จริยธรรม (Ethics) จึงไม่ใช่จิตวิญญาณ (Spirituality) ถ้าคุณธรรมและจริยธรรมหมายถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนก แยกคนหนึ่งออกจากอีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ว่าใครเป็นคนดีมีคุณธรรม ใครเป็นคนไม่ดีไม่มีคุณธรรม ใครควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

โดยนัยนี้ ศาสนาก็ไม่ใช่จิตวิญญาณ ถ้าศาสนาหมายถึงหรือเป็นกลุ่มความเชื่อ (A Set of Beliefs) และกลุ่มของการปฏิบัติ (A Set of Practices) ที่เกิดขึ้นหรือพัฒนามาจากลุ่มความเชื่อนั้น เพราะในโลกนี้มีศาสนาที่หลากหลาย จึงมีความเชื่อและการปฏิบัติที่หลากหลาย บางศาสนาก็มีความเชื่อและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้งที่ต่างก็เชื่อว่าความเชื่อและวิธีปฏิบัติของตน จะนำไปสู่ความสุขสงบทางจิตวิญญาณ

โดยนัยนี้ ศาสนา ศิลปะ ดนตรี กีฬา การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ . . . ก็ไม่ใช่จิตวิญญาณ แต่เป็นวิธีหรือสะพานไปสู่จิตวิญญาณ เพราะจิตวิญญาณเป็นองค์รวมไม่แยก จิตวิญญาณจึงอยู่เหนือ (Beyond) หรือก้าวพ้น (Transcend) แต่ได้ผนวกรวม (Include) ศาสนา ศิลปะ ดนตรี . . . รวมไปถึงวิธีปรุงต้มยำกุ้ง
จิตวิญญาณเปรียบได้ดั่ง “ความเป็นครอบครัว” ซึ่งมีความหมายมากกว่าสามี+ภรรยา+ลูก+หลาน. . .

ความเป็นครอบครัวมีความหมายมากกว่าการที่มีคนมาอยู่รวมกัน การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนในบ้านอาจจะไม่ทำให้ความเป็นครอบครัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการลดลงของคนในครอบครัวเช่นการจากไปของคนหนึ่งคนใดในครอบครัวก็อาจจะทำให้ความเป็นครอบครัวของคนที่เหลืออยู่ผูกพันกันมากขึ้นก็ได้ ความเป็นครอบครัวจึงเป็นองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่เกิดขึ้น

บทกลอนหรือเพลง ไม่ใช่เป็นเพียงการเอาคำหรือตัวโน้ตมารวมกัน แต่การร้อยเรียงคำหรือตัวโน้ตที่สัมพันธ์เชื่อมโยงลักษณะหนึ่งลักษณะใดอย่างมีเป้าหมาย ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ความหมายใหม่ที่งดงามแตกต่างไปจากเดิม

กำลังเพลินอยู่กับการคิดและการเขียน ภรรยาก็เดินเข้ามาแล้วถามว่า

“จะทานอาหารกลางวันหรือยังคะ กำลังเขียนบทความอยู่เหรอ เออ มีเพื่อนบางคนเขาบอกว่า เขาติดตามอ่านบทความของพี่ เขาชอบอ่าน เขาบอกว่าเขียนได้ดีมาก แต่บางทีก็อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจยาก ต้องอ่านหลายรอบ เดี๋ยวจะเอาอาหารกลางวันมาให้นะคะ”

ผู้เขียนยิ้มแล้วพูดแบบติดตลกอยู่ในใจว่า

“ถ้างั้นบทความนี้ สงสัยจะอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเลย”

เพราะบทความนี้เป็นองค์รวมที่เป็นผลจากการฟัง อ่าน พูด เขียน พบปะผู้คุยกับผู้รู้ทางจิตวิญญาณตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมาของผู้เขียน แล้วพยายามจะสื่อความเข้าใจของผู้เขียนในเรื่องของจิตวิญญาณผ่านตัวหนังสือและคำศัพท์เฉพาะหลายคำที่ไม่ง่ายที่จะเข้าใจ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภรรยาพูด เตือนสติผู้เขียนว่ากำลังจะสุดโต่ง (ทางวิชาการ) เกินไปหรือไม่ นี่เรากำลังเขียน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการเขียน ในสิ่งที่ตนเองคิดว่ารู้ คิดว่าเข้าใจ หรือเราควรจะเขียนเพื่อให้คนอื่นทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ หรือควรจะหาแนวทางการเขียนใหม่ที่ผนวกควบรวมความต้องการของตนเอง และประโยชน์ของผู้อ่านทั่วไป

ก็หวังว่าการเขียนครั้งต่อๆ ไปจะวิวัฒน์ความสามารถทางการเขียนไปสู่รูปแบบใหม่

แต่ตอนนี้ต้องขออภัย ทำได้แค่นี้จริงๆ และอาหารกลางวันมารออยู่บนโต๊ะแล้ว

Back to Top