มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2558
“ถึงตัวอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายมาอีกประมาณ ๗ กิโล ทางสะดวกราดยางทั้งสาย” คุณนันทวรรณ หาญดี หรือพี่นันกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา อธิบายเส้นทางมาบ้านยางแดงกับผู้เขียนสองข้างทางจาก อ.สนามชัยเขต ไปบ้านยางแดงมีไร่มันสำปะหลัง สวนยูคาลิปตัสสวนยางพาราสลับเป็นระยะ
สำหรับผู้เขียน บ้านยางแดงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสะสมพลังการเปลี่ยนแปลงของชุมชนฐานราก (Organization or Community Transformation) ที่โผล่ปรากฏขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทยในยุคที่เต็มไปด้วยการถกเถียงถึงสิทธิในกำหนดอนาคตตนเองว่าควรเป็นของใคร
ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาแม่บ้านยางแดงมีผู้หญิงหลายวัยกำลังนั่งคุยกันอยู่เนื่องจากวันที่ ๑๐ ของทุกเดือนเป็นวันประชุมกลุ่มออมทรัพย์ “เครื่องมือ” สำคัญในการทำงานชุมชนของบ้านยางแดงซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมากกว่า ๓๐ ปี ผู้ที่บุกเบิกงานนี้คือคุณเกษม เพชรนที หรือพี่เกษม ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำงานกับมูลนิธิบูรณะชนบท (บชท.) องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกในไทยที่ตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๐
พี่นันเล่าว่า ทศวรรษ ๒๕๒๐ พี่เกษมมาที่บ้านยางแดง สมัยนั้น “ชาวบ้านไม่มีอาหารกินพอเพียง เด็กไปโรงเรียน ครึ่งหนึ่งไม่มีข้าวกลางวันกิน บางส่วนเอาข้าวไปแต่ไม่มีกับข้าว มีไม่ถึง ๕ ครอบครัวที่เด็กๆ จะมีข้าวและกับข้าวไปพร้อม อีกครึ่งหนึ่งมาโรงเรียนไม่มีอาหารกลางวัน เด็กไปเก็บฝักกระถินยักษ์ ลูกมะม่วงหิมพานต์สุกที่นิ่มๆ กิน แล้วกินน้ำ วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนก็ไม่พอ รองเท้าเสื้อผ้าเด็กก็ไม่พอ ทุกอย่างขาดแคลน ยารักษาโรคไม่พอ เขตนี้เป็นชุมชนตั้งใหม่ อนามัยไม่มี เส้นทางเป็นทางเกวียน ทางลากซุง ชาวบ้านต้องมาถากถางปลูกพืชไร่มันสำปะหลัง ๑๐๐%”
จากการที่ชุมชนร่วมกันสร้างโรงเรียนบ้านยางแดง พี่เกษมจึงนำประเด็นโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนเป็นโจทย์ตั้งต้นชวนคนในชุมชนคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ชาวบ้านเลือกใช้ชุดประสบการณ์ที่มีคือปลูกมันสำปะหลังหาเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ผลคือขาดทุน แต่สิ่งสำคัญที่ได้คือกระบวนการเรียนรู้ เห็นถึงวงจรมันสำปะหลังที่พึ่งพาระบบตลาด ไม่สามารถควบคุมได้
ปี ๒๕๒๔ พี่เกษมชักชวนครูเก็บข้อมูลชุมชนทุกครัวเรือนทุกประเด็น เช่น เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ความรู้ชาวบ้าน นำข้อมูลมาสังเคราะห์ จัดกลุ่มปัญหา และคืนข้อมูลสู่ชุมชน เปิดเวทีชวนคนในชุมชนมาพูดคุยช่วยกันดูภาพรวม หาปัญหาร่วมของชุมชนจนได้ข้อสรุปว่า จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ ให้มีอาหารกินพอเพียงในครอบครัวนำไปสู่การทำโครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัด ที่ตั้งชื่อตามแควสองสายที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง
โครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรแตร์ เด ซอมม์ (Terre des Hommes) และโครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท หรือ WCARRD (World Conference on Agrarian Reform for Rural Development) พี่เกษมประสานหน่วยงานรัฐมาสนับสนุนงานความรู้ เช่น ปศุสัตว์อำเภออบรมการเลี้ยงสัตว์ สถานีพัฒนาที่ดินแนะนำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ รวมทั้งตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก “เถ้าแก่” และสร้างการพึ่งตนเองในระยะยาว
พี่นันเข้ามาบ้านยางแดงปี ๒๕๒๘ เป็นช่วงที่โครงการสรุปบทเรียน และเตรียมขยายพื้นที่ทำงาน บทเรียนหนึ่งที่พบคือ ผู้หญิงขาดการมีส่วนร่วม การทำงานพัฒนาชุมชนในระยะต่อมาจึงมีโจทย์หลักคือ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิง พี่นันเข้ามาอยู่ในชุมชนครบรอบปีเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน และตั้งข้อสังเกตว่าคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้หญิงหาอยู่หากินกับป่าใกล้บ้าน เก็บพืชผัก เช่น หน่อไม้ หน่อข่าป่า ยอดหวาย ดอกกระเจียว มาทำอาหารในครัวเรือนและขายตามงานวัด ตลาดนัด พี่นันจึงชวนเด็กๆ เก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากไผ่ป่าที่บ้านของเด็กแต่ละคน ประมวลข้อมูลให้เห็นทรัพยากรธรรมชาติ และรายได้ในชุมชน ตามไปพูดคุยกับแม่ของเด็กๆ จนกระทั่งรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาแม่บ้านยางแดง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๙ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงที่มาแลกเปลี่ยนพูดคุย และร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไข
นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ส่งผลให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุน ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าใกล้บ้านยางแดงถูกแพ้วถางพร้อมกับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เข้ามาส่งเสริมในพื้นที่คือ ยูคาลิปตัส สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางรายได้ของชุมชน กลุ่มแม่บ้านยางแดงจึงมีการพูดคุยกันและได้ข้อสรุปว่า ต้องย้ายป่ามาไว้ในบ้านคือ เอาผักพื้นบ้านในป่า เช่น แต้ว เสม็ด กระเจียวหน่อข่าป่า หวาย ไม้ไผ่ มาปลูกเป็นป่าครอบครัว ซึ่งต่อมาขยายเป็นสวนผสมผสาน ประกอบกับบ้านยางแดงมีการทำนา หลังเก็บเกี่ยวจะมีฟางเหลือ พี่นันจึงหาความรู้และทดลองเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยด้วยตนเอง แล้วมาส่งเสริมคนในชุมชนเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง
กลุ่มออมทรัพย์ ป่าครอบครัว สวนผสมผสาน และการเพาะเห็ด จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรชุมชน แนวคิดนี้ขยายผลออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง และหลังจากปี ๒๕๓๒ ได้กลายเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงชุมชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนจากหลายพื้นที่
งานเครือข่ายทำให้การทำงานของกลุ่มแม่บ้านยางแดงยกระดับไปสู่งานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ทางกลุ่มได้เข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน ขับเคลื่อนประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืนให้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ และเป็นชุมชนหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย คนในชุมชนเป็นคนบริหารจัดการผ่านกลุ่มออมทรัพย์ ในปี ๒๕๔๔ มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต เพื่อทำงานทั้งระบบ ตั้งแต่ชุดความรู้ผลิต และจัดการผลผลิตสู่ตลาดในระดับท้องถิ่นและระดับสากล โดยมีระบบมาตรฐานรองรับ
ทศวรรษ ๒๕๕๐รัฐมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จึงทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายสมัชชาแปดริ้วยั่งยืนและเครือข่ายนักวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของการสร้างโรงงานไฟฟ้าด้วยการทำ CHIA (Community Health Impact Assessment) คือประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตนเอง ชูประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญทั้งระดับประเทศและระดับโลก และนำข้อมูลชุดนี้นำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งชะลอการก่อสร้าง โดยให้กลับไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
ประสบการณ์การเคลื่อนไหวทำให้เกิดเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน มีการเสนอ “วาระเปลี่ยนตะวันออก” ที่ประกาศเจตนาว่า คนภาคตะวันออกต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวเอง และประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของวาระเปลี่ยนตะวันออก มีการริเริ่มโครงการ “๓๐๔ กินได้” ซึ่งเป็นการสร้างความหมายใหม่กับพื้นที่ที่ถนนหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตัดผ่านว่า เป็นพื้นที่ผลิตอาหารใกล้เมืองที่สำคัญ
ประสบการณ์กว่า ๓๐ ปีของบ้านยางแดงจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ความรู้มาพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาภายในชุมชน จนนำไปสู่การขับเคลื่อนงานนโยบายของสังคม ซึ่งเคล็ดลับสำคัญของการขับเคลื่อนขบวน คือทำให้ความรู้เป็น “ความรู้ที่กินได้” เห็นและเข้าใจได้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของขบวนการทางสังคมตามแนวทางนี้ คือการเพิ่มอำนาจการมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตตนเองของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ที่เป็นฐานรากที่กว้างใหญ่ที่สุดของสังคมไทย เป็นขบวนการทางสังคมที่กินได้สำหรับคนทั้งหมด
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2558
ปีนี้เป็นปีดีแน่ๆ สำหรับชีวิตผม เป็นปีที่เพื่อนเก่าๆ กลับมาคืนดี ถึงวันนี้ก็นับได้สองราย ที่จริงจะว่าให้เป็นปริมาณก็หาไม่ หากเลขสองก็มากกว่าเลขหนึ่ง และสองก็อาจก่อประกอบเป็นแบบแผนเล็กๆ ได้ เช่นอาจจะกล่าวได้ว่า ปี ๒๕๕๘ เป็นปีแห่งการคืนดี ทำให้ผมอยากพูดถึงเรื่องไดอะล็อคด้านมืด (dark side) หรือถอดบทเรียนไดอะล็อคด้านมืดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวสักหน่อย ที่จริงอาจจะเป็นเพียงการตั้งต้น และจะไม่สมบูรณ์หากคนที่นิยมไดอะล็อคด้านมืดไม่ได้มาถอดบทเรียนเองหรือมาร่วมกันถอดบทเรียนด้วยกัน
การตัดสิน
เรื่องหนึ่งที่ผมจะนำเสนอไดอะล็อคด้านมืดก็คือ การตัดสินผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่ง การพูดความจริง (อาจจะเป็นคำเรียบง่ายเกินไปในไดอะล็อคด้านมืด) แล้วลองเอามาเทียบเคียงกับคำว่า “การโยนตัวกวน” ของงานกระบวนการว่า จริงๆ แล้วคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ไดอะล็อคเป็นการพูดคุยที่มีวินัยเข้ามากำกับ จะสำเร็จเป็นผลดีต้องเป็นวินัยที่มาจากภายใน และจะยิ่งดียิ่งขึ้น ถ้าวินัยนั้นได้ซึมซับเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของผู้พูดแล้ว และวินัยที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการห้อยแขวนการตัดสิน พูดภาษาชาวบ้านคือการไม่ตัดสินเพื่อนๆ ในวง และไม่เพียงแต่ไม่ตัดสินโดยการกล่าวออกมา หากไม่ตัดสินแม้ในใจเลยทีเดียว เพราะหากเราตัดสินในใจแล้ว การฟังของเราจะไม่สมบูรณ์ หรือไม่ได้ฟังเอาเลย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ แม้เป็นเพียงการพยายามไม่ตัดสินคนอื่นในใจของเรา ความเป็นไดอะล็อคก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว