มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 28 กุมภาพันธ์ 2552
ในการสัมมนาหรืออบรมทั่วๆ ไปนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะคิดว่า เพียงเข้าไปนั่งฟังผู้บรรยายก็จะได้รับความรู้จากการสัมมนาครั้งนั้นๆ แล้ว หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดก็เข้าไปเซ็นชื่อรับเอกสารประกอบคำบรรยาย แล้วบางท่านก็อาจจะ “กระโดด” การประชุมไปเที่ยวเล่นหรือไปทำธุระอย่างอื่น ประชุมกันประมาณนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการได้มาซึ่ง “ความรู้”
ผมชอบใจที่ ออตโต ชาร์มเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ “ทฤษฎีตัวยู” ได้พูดถึงเรื่องราวของ “ความรู้” ไว้อย่างน่าสนใจมาก ชาร์มเมอร์ได้แบ่งความรู้ออกเป็นสองแบบเท่านั้น คือ “ความรู้ที่มาจากอดีต” กับ “ความรู้ที่มาจากอนาคต”
“ความรู้” ที่ได้มาจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากการบรรยายหรือจากการอ่านหนังสือ รวมถึงท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้ของผมก็ตาม กำลังอยู่กับ “ความรู้ในอดีต” ทั้งสิ้น อาจจะเรียกว่าเป็น “ความรู้มือสอง” หรือ “ความรู้มือสามมือสี่มือห้ามือหก” ก็ได้
ส่วนความรู้อีกแบบนั้น เป็นความรู้แบบที่เราปิ๊งขึ้นมาเอง เป็นความรู้ “ที่ก่อเกิดขึ้นมาใหม่” ชาร์มเมอร์เรียกว่า เป็น “ความรู้ที่มาจากอนาคต” เพราะจะต้องถึงเวลานั้นจริงๆ เราถึงจะคิดขึ้นมาได้ เป็น “ความรู้มือหนึ่ง” หรือผมอยากจะเรียกว่าเป็น “ความรู้ไพรมารี่” (Primary Knowledge)
ความรู้ชนิดนี้จะเป็นความรู้ที่มีความยั่งยืน คนที่คิดจะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมาได้อย่างแท้จริง และไม่มีวันลืมความรู้ชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์ชื่อเสียงโด่งดังทั้งหลายที่คิดค้นทฤษฎีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมาเอื้อประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ ต่างก็ใช้ “ความรู้ที่มาจากอนาคต” นี้เองทั้งสิ้น
แต่คนส่วนใหญ่มักจะ “ไม่ได้ไว้วางใจตัวเอง” มากเพียงพอที่จะเชื่อว่า “ตัวเองมีความรู้ชนิดนี้” ได้ และประเด็นสำคัญของบทความชิ้นนี้ก็คือ ผมอยากจะเรียนว่า “ความรู้ที่มาจากอนาคต” นี้ สามารถสร้างขึ้นมาได้เสมอๆ และต่อเนื่องไม่รู้จบ
วิธีการแรก คือการสร้างจากความรู้ในอดีต หรือเรียนรู้จากความรู้มือสอง ซึ่งเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ชอบใช้ ตัวอย่างเช่น การไปนั่งฟังบรรยาย ถ้าเราสนใจกับการรับฟังและเรียนรู้อย่างแท้จริง เราก็ “อาจจะ” ก่อเกิดความคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาในตัวเรา เช่น คำพูดบางคำของผู้บรรยาย “อาจจะ” มาโดนใจเรา ทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ
ถ้าเรามั่นใจและลองเชื่อ “ความรู้ที่เกิดใหม่” นี้ ก็นับได้ว่าความรู้มือสองที่ได้ยินได้ฟังมานั้นได้กลับมา “ก่อรูป” ในตัวเรากลายมาเป็นความรู้แบบไพรมารี่ได้ ตัวอย่างเช่น พยาบาลคนหนึ่งเมื่อเรียนวิชาแทงน้ำเกลือไปสักพักหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอาศัยความรู้แบบมือสองมือสามจากอาจารย์ของเธอก่อน ในจังหวะนี้เธอมีทางเลือกสองทางคือ เลือกที่จะเลียนแบบความรู้มือสองมือสามที่ได้รับมาไปตลอดชีวิต หรือเมื่อเธอฝึกฝนไปเรื่อยๆ หรือให้ความสนใจในเรื่องการแทงน้ำเกลืออย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเธอก็จะ “ก่อเกิดทักษะ” การแทงน้ำเกลือบางอย่างที่เป็น “วิธีการของเธอเอง” เป็นสไตล์ของเธอเองที่ไม่เหมือนใคร
สิ่งที่เกิดใหม่นี้ก็นับได้ว่าเป็น “ความรู้แบบไพรมารี่” หรือ “ความรู้ที่มาจากอนาคต” ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม วิธีการแรกที่เรียนรู้การสร้างความรู้จากความรู้มือสองมือสามนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามีความตั้งอกตั้งใจสนใจกับเรื่องราวนั้นๆ จริงๆ ออกจะต้องใช้ “ความพยายามสูง” ในการเข้าไปได้มาซึ่ง “ความรู้ไพรมารี่” จาก “ความรู้มือสอง” เหล่านั้น คนส่วนใหญ่จึงเลือกเพียงแค่ “เลียนแบบความรู้เก่าๆ เหล่านั้น”
ออตโต ชาร์มเมอร์ เสนอวิธีการ “สร้างความรู้ไพรมารี่” ในอีกรูปแบบที่น่าสนใจมากในทฤษฎีตัวยูของเขา ชาร์มเมอร์เชื่อว่า “ความรู้แบบไพรมารี่หรือความรู้ที่มาจากอนาคต” นั้น สามารถสร้างขึ้นด้วยการเริ่มฝึกฝน “ทักษะ” ง่ายๆ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เราอยู่แล้ว ด้วยการ “ช้าลง” และลองกล้าที่จะหยุดการใช้ความรู้เก่า
ชุดความรู้เก่าแบบเดิมๆ ก็เปรียบเหมือนกับการเดินทางจากจุด ก. ไปยังจุด ข. ระยะทางที่รวดเร็วที่สุดก็คือ “เส้นตรง” จาก ก. ไปยัง ข. ความรู้ที่รวดเร็วแบบนี้เป็นความรู้เก่าๆ ที่เก็บเอาไว้ในสมองของเรา และออกมาเป็นอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรใหม่
หากว่าเราจะลองยืดระยะระหว่าง ก. ถึง ข. ให้ยาวขึ้น เราอาจจะได้ “อะไรใหม่ๆ” เพราะเป็นเส้นทางใหม่ และเมื่อหน่วงระยะ ก. ถึง ข. ให้ยาวขึ้นเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ กลายเป็น “ตัวยู” ในภาษาอังกฤษ
ซึ่งถ้าเราดูตัวอักษรยู ในภาษาอังกฤษ เราจะเห็นได้ว่า ตัวยูจะประกอบด้วย “ขาลง” “ก้นตัวยู” และ “ขาขึ้น” ของตัวยู ที่ “ก้นตัวยู” หรือ ที่ซึ่ง “ความรู้ในอนาคตจะปรากฏ” เราต้องนำพาตัวเราลงไปตาม “ขาลง” ของตัวยู เพื่อที่จะเดินทางไปถึง “ก้นตัวยู”
น่าสนใจมากครับว่า ขาลงของตัวยูจะเริ่มต้นด้วย “การฝึกทักษะการสังเกต” และ “รับรู้” สิ่งที่เห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง โดยที่ยังไม่ด่วนตัดสินว่าเรื่องราวจะดีจะเลวจะถูกจะผิด
เมื่อใจของเรา “นิ่งพอ” และ “เริ่มเปิดหัวใจออก” เราจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้อย่างเป็นเนื้อเนียนเนื้อเดียวกัน เรากับสรรพสิ่งรอบตัวนั้นเชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกัน “การรับรู้” ของเราแจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ความรู้สึกที่ใสกระจ่าง” ต่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเรา
และเมื่อสภาวะดำเนินไปถึง “ก้นตัวยู” ได้ ณ ที่ตรงนั้น ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กรุณาช่วยแปลความหมายว่าเป็น “มหาสติแห่งการดำรงอยู่” ของเราก็จะค่อยๆ เผยให้เห็นถึง “สิ่งที่เป็นไปได้” ในอนาคตอันใกล้นั้นได้เอง ณ ตรงก้นตัวยูนี้เองที่ “ความรู้แบบไพรมารี่” สามารถ “ก่อเกิดขึ้นได้เอง” จากอนาคตที่อยู่ตรงข้างหน้าของเรานั่นเอง
ในวงจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เคยนำคลิบวิดีโอเรื่อง “Shift” ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขององค์ความรู้ต่างๆ ในโลกปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้ความสำคัญของ “วิธีการ” หา “ความรู้ที่มาจากอนาคต” จะไปรอความรู้มือสองมือสาม ย่อมไม่ทันการณ์แล้ว
“การช้าลงบ้าง” เพื่อมองหา “ความรู้มือหนึ่ง” แบบนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถช่วยให้เราสามารถก้าวทัน “การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว” เหล่านั้นได้กระมังครับ
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552
ผู้ฝึกหัดสมาธิภาวนาใหม่ๆ มักจะได้เรียนรู้ถึงการทำความรู้สึกตัวผ่านการเฝ้าสังเกตลมหายใจ หรือการเดินจงกรม หรือถ้าให้ร่วมสมัยก็ต้องเรียกว่าฝึกเดิน 'วิถีแห่งสติ' แต่ถึงกระนั้นการฝึกภาวนาด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ก็ยังสร้างปัญหาให้กับบรรดามือใหม่หัดภาวนาทั้งหลายอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ตั้งแต่เล็กจนโต เราไม่ได้ถูกฝึกให้สังเกตร่างกายของเราอย่างประณีตลึกซึ้งมาก่อน การอบรมบ่มเพาะในหลักสูตรการศึกษาก็ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก การบริหารออกกำลังกายก็เต็มไปด้วยท่วงท่าที่สะท้อนถึงระบบการฝึกระเบียบวินัยแบบทหาร มากกว่าที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการค้นหาท่าทาง และการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระเสรี เรามักจะคุ้นชินกับทำท่ากายบริหารแบบกระโดดตบและนับตัวเลข ๑-๒-๓-๔ หรือเต้นตามเพลง แอโรบิคที่มีเพลงตูมตามเสียงดังสนั่น โดยไม่รู้เท่าทันว่านั่นเท่ากับเป็นการไปสร้างเงื่อนไขให้ร่างกายคุ้นชินกับการทำไปอย่างอัตโนมัติ ราวกับเครื่องจักร จะมีน้อยคนที่จะปรับคลื่นจูนหัวใจให้เข้าถึงจิตวิญญาณของแต่ละท่วงท่าจนสามารถออกท่าออกทางได้อย่างสวยงาม
หากการเคลื่อนไหวในโหมดตึงตังโครมครามเป็นวิธีเดียวที่เรารู้จัก ความลึกซึ้งอ่อนโยนต่อการเคลื่อนไหวย่อมเกิดได้ยาก ด้วยเหตุนี้การฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบเนิบช้า เช่น การรำมวยจีนไทฉีฉวน ไทเก๊ก หรือการฝึกโยคะ จึงทำให้ผู้ฝึกสามารถสัมผัสสัมพันธ์เชื่อมโยงกายและจิตเข้ามาหากันได้มากกว่า แต่อุปสรรคสำคัญก็คือ การฝึกศาสตร์และศิลป์เก่าแก่เหล่านี้มีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมตามสอยห้อยติดมาด้วย ท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆจึงถูกกำหนดมาไว้ล่วงหน้าอย่างมีแบบแผน หากผู้ใดผู้หนึ่งไปยึดติดกับแบบแผนเหล่านี้อย่างมืดบอดแทนที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือนำพาสู่อิสรภาพของการเคลื่อนไหวร่างกาย ก็เหมือนกับการไปสร้างกรงขังให้กับตัวเอง การไปสู่อิสรภาพของการเคลื่อนไหวร่างกายย่อมเป็นไปไม่ได้
ในการฝึกทักษะการละคร (ในที่นี้หมายถึงทักษะการละครสมัยใหม่โดยทั่วๆ ไป) ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด สิ่งที่ผู้ฝึกสอนมักจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ก็คือการให้ความสำคัญกับ 'ร่างกาย' นักแสดงจะถูกบอกกล่าวให้เห็นถึงความจำเป็นที่ตนจะต้องค้นหาและทำความเข้าใจกับร่างกายของตนเอง ในฐานะเครื่องมือสื่อสารความคิดและความรู้สึก แบบฝึกหัดหลายหลากจะถูกนำมาใช้เพื่อฝึกฝนทักษะในการ 'ทำความรู้จักกับร่างกายตัวเอง' ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเรื่องผัสสะและการรับรู้ให้เฉียบคม คล่องแคล่วว่องไว เช่น ให้รู้สึกในสิ่งที่กำลังสัมผัส ฟังในสิ่งที่ได้ยิน เห็นในสิ่งที่มองดูอยู่ ที่เรียกว่า Sensory Exercises ฯลฯ ฝึกความจำได้หมายรู้ (สัญญา) อารมณ์ความรู้สึก (เวทนา) และจินตนาการ จากนั้นจึงให้นำทุกสิ่งทุกอย่างมาเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างประณีตเนียน ถ้ามองเพียงเท่านี้ จะเห็นว่าการฝึกละครย่อมเป็นหนทางที่จะทำให้ผู้ฝึกเดินเข้าสู่ประตู่ของภาวนาได้ดียิ่งทางหนึ่งไม่แพ้ทางใด หากนักปฏิบัติธรรม หรือผู้ใฝ่ในการวิวัฒนาจิตวิญญาณยังตั้งแง่รังเกียจละครว่าเป็นเรื่องทางโลก และโยนทิ้งไปเสียเฉยๆ ก็นับว่าน่าเสียดาย
จากประสบการณ์ตรงของการเป็นนักการละคร และกระบวนกรสอนภาวนา ผมพบว่าเมื่อได้สอนผู้เข้าร่วมอบรมในเรื่องการภาวนา ผู้ที่ไม่เคยฝึกละครมาก่อนจะยังไม่เข้าใจเรื่องการผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ด้วยเพราะไม่เคยถูกฝึกให้สังเกตการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายอย่างละเอียดประณีต พอฝึกให้รู้สึกตัว หลายคนพบว่าผัสสะของตนเฉื่อยชาไม่ตื่นตัว ความรู้สึกตัวจึงไม่ชัดเจน หลงง่าย มัวง่าย หรือบางคนก็เพ่งจ้องเกินไปโดยไม่รู้ตัว เหตุเพราะไม่รู้จักวิธีผ่อนคลายร่างกาย ส่วนบางคนเมื่อเริ่มทำอานาปานสติ กลับรู้สึกว่าเห็นท้องพองยุบไม่ชัด แต่หากฝึกการละครมาก่อนเรื่องการหายใจจะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะนักแสดงที่เอาจริงเอาจังทุกคนจะถูกฝึก ถูกเน้นในเรื่องการหายใจอย่างเคี่ยวข้น
ทักษะนี้เป็นคุณูปการอย่างสูงเมื่อมาฝึกภาวนา ซึ่งได้ทั้งสมถภาวนา หรือข้ามไปสู่กายานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ เลยก็ย่อมได้ ส่วนการฝึกเรื่องอารมณ์ความรู้สึกนั้น ก็จะช่วยเวลามาทำ จิตตานุปัสสนา และเวทนานุปัสสนา จะเห็นความเกิดดับง่ายไม่เตลิดไปตามการปรุงของอารมณ์ ด้วยเหตุที่นักแสดงถูกฝึกให้แยกจิตแยกประสาทออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก แต่อีกส่วนหนึ่งจะต้องถอยออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เพราะถ้าหากในสถานการณ์ของเรื่องกำหนดให้ต้องแสดงอารมณ์โศกเศร้า นักแสดงก็ต้องแสดงไปตามนั้น แต่ในใจต้องแยกการรับรู้ออกมาเห็นความเป็นไปของสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วย ถ้าหากเอาแต่เศร้าโศกจนเมคอัพที่หน้าเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หรือเศร้าเสียใจจนไม่รู้ว่าบทพูดที่จะต้องพูดต่อไปเป็นเรื่องอะไร หรือไม่ได้ยินไม่ได้ฟังนักแสดงท่านอื่นเสียแล้ว แสดงว่านักแสดงผู้นั้นตกเป็นทาสอารมณ์ ไม่รู้เท่าทัน หรือไม่เป็นผู้รู้ผู้ดู นักแสดงจึงถูกฝึกหัดให้กล้าเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกของตนไม่ถอยหนี ปฏิเสธ หรือกดทับเอาไว้
หากมองในแง่นี้ผลดีที่เกิดก็คือ หากไปฝึกดูจิต ทำวิปัสสนาย่อมเห็นได้ชัด ไม่เชื่องช้าเหมือนกับผู้ที่ทำสมถะกดข่มอารมณ์เอาไว้เป็นปีๆ แต่ผลเสียก็มีหากนักแสดงผู้นั้นไม่มีปัญญามากำกับ ก็จะปล่อยเลยตามการปรุงแต่งของอารมณ์ และหลงเข้าไปติดอยู่กับ โลภะ โมหะ โทสะ แทนที่จะทำให้น้อยกลับไปเพิ่มพละกำลังให้ตัวตัณหาอัตตาเสียนี่ เป็นที่น่าเสียดายที่ละครที่ทำๆ กันอยู่ทั่วไปไม่กระตุ้นให้เกิดปัญญาทั้งผู้เล่นและผู้ชม ก็จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร หากผู้จัดทำนั้นทำด้วยเจตนารมณ์ที่เจือด้วยอกุศลจิต เจตนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ การไปเหมารวมว่าละครทั้งหมดเป็นของมัวเมาย่อมมิควรได้ เพราะหากผู้จัดทำและนักปฏิบัติมีเจตนาที่เป็นกุศลก็น่าอนุโมทนา และยิ่งดีไปกว่านั้นหากว่าละครนั้นถึงพร้อมด้วยกุศลเจตนาและโน้มนำให้เกิดสัมมาปัญญา
เพราะเจตนาหากไม่ดีเสียแล้ว ต่อให้เปลือกนอกดูเป็นการทำบุญสุนทาน ภายในกลับเป็นปลากระป๋องเน่า แต่ละครที่ดูเผินผาดคล้ายจะมัวเมา แต่หากมีกุศลเจตนาตั้งมั่นอยู่ ย่อมไปกระตุ้นให้คนดูฉุกคิดได้รับ 'ทานทางปัญญา' อันชุ่มชื่นและเบิกบานในที่สุด
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552
เมื่อมองไปที่ท้องฟ้า ฝูงดาวกำลังลาจาก พระอาทิตย์กำลังฉายแสงแห่งอรุณรุ่ง วิกเตอร์ อี แฟรงเคิล จิตแพทย์หนุ่มออสเตรียเชื้อสายยิว ขณะที่เดินกลับที่พักในค่ายกักกัน ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ หลังจากทำงานจนหมดเรี่ยวหมดแรง และมีอาหารตกถึงท้องเพียงน้อยนิด ก็ปล่อยตัวดื่มด่ำกับทัศนียภาพอันงามนั้นพร้อมกับหวนรำลึกถึงภรรยาผู้เป็นที่รัก เขาสนทนากับเธอ โต้ตอบกับเธอในห้วงคำนึง และลืมเลือนความทุกข์ทรมานขณะนั้นไปได้ในบัดดล
เขากล่าวในภายหลังว่า หากทราบว่าขณะนั้นภรรยาได้เสียชีวิตไปแล้วในค่ายกักกันอีกแห่ง เขาก็คงไม่ใส่ใจในข้อเท็จจริงนี้อยู่ดี โดยเหตุที่ภาวะความเป็นจริงในค่ายกักกันอันเหลือที่จะทนทานนั้น ย่อมผลักเขาเข้าสู่โลกภายในอีกแห่ง อันเป็นที่ดำรงอยู่ของจิตวิญญาณเบื้องลึก ที่ซึ่งทหารนาซีไม่อาจทำร้ายทำลาย และได้เพิ่มโอกาสที่จะรอดชีวิตให้กับเขา
ในค่ายกักกันอันแสนโหดร้ายทารุณนั้น ความทุกข์ทรมานผลักดันให้มีการฆ่าตัวตายสูงมาก จิตแพทย์หนุ่มเล่าว่า เวลาที่เขาเห็นคนใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เหลืออยู่ไปแลกเป็นบุหรี่ซึ่งมีราคาแพงมากในค่ายกักกัน และสูบจนหมดในคราวเดียว เขาทราบได้ในทันทีชายผู้นั้นกำลังจะฆ่าตัวตาย และตัวเขาเองก็ไม่อาจทำอะไรได้
แฟรงเคิลตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงใช่ว่าจะเป็นผู้มีโอกาสรอดชีวิต ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่กลับกลายเป็นพวกปัญญาชนกล้องแกล้ง ที่มีศรัทธากับอะไรบางอย่าง รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร และผู้คนเหล่านี้ก็ดำรงชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น ไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะทุกข์ทรมานเพียงใด
ขณะเดียวกัน ก็ใช่ว่าผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันทุกคนจะเป็นคนดีที่ปราศจากรอยด่างพร้อย เพราะโดยมากแล้ว ความโหดร้ายของทหารนาซียังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ผู้คุมชาวยิวกระทำกับนักโทษชาวยิวด้วยกันเอง
ตัวของแฟรงเคิลเองนั้น มีเพียงความปรารถนาสองประการคือ การกลับไปหาครอบครัว และการเขียนตำราทางจิตบำบัดขึ้นมาใหม่แทนต้นฉบับที่ถูกทำลายไปหลังจากถูกจับ ที่ผลักดันให้เขามีชีวิตอยู่
หลังจากรอดชีวิตจากค่ายกักกัน เขากลับมาเป็นอาจารย์และจิตแพทย์ที่รักษาด้วยวิธี Logotherapy ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามสำนักจิตบำบัดอันโด่งดังของเวียนนา โดยช่วยให้ผู้ป่วยที่ประสบกับความทุกข์ในชีวิต ค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่ด้วยตัวของผู้ป่วยเอง เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ค้นพบความหมายของชีวิต ไม่ว่าจะประสบความทุกข์ยากลำบากอย่างไร มนุษย์ก็จะทำทุกวิถีทางที่จะฝ่าฝันอุปสรรคขวากหนามเหล่านั้น เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ดังที่ ฟรีดดริก นิตเช่ กล่าวไว้ว่า "He who has a why for life can put with any how."
เทนซิน โชดรัก แพทย์ชาวทิเบต เคยเป็นแพทย์หลวงให้กับทะไล ลามะ ก่อนที่จีนจะบุกเข้ามายึดครองทิเบต ท่านกลายเป็นหนึ่งในสามคน จากนักโทษฉกรรจ์ ๗๒ คนของจีน ที่รอดชีวิตอยู่หลังจากถูกกักขังและทรมานเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๑ ปี
ระหว่างที่อยู่ในคุกและได้รับ “การศึกษา” ทั้งจากผู้คุมชาวจีนและนักโทษชาวทิเบตด้วยกันเอง ท่านยึดถืออุดมคติของพระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง โดยมองว่าเคราะห์ร้ายที่ท่านประสบเป็นดังเครื่องส่งเสริมให้ได้ปฏิบัติธรรม มองเห็นความทุกข์ที่คนทิเบตได้รับเป็นเช่นเดียวกับความทุกข์ของนักโทษชาวจีน และนักโทษอื่นๆ และไม่มุ่งร้ายต่อผู้ที่สร้างความทุกข์ให้ท่าน ดังที่ท่านก็ทำหน้าที่แพทย์อย่างเต็มกำลังในการรักษาต่อผู้คุมชาวจีนเมื่อเขาเหล่านั้นเจ็บป่วย
เมื่อมีความโกรธไม่พอใจต่อผู้กระทำทัณฑ์ทรมาน ท่านก็นั่งสมาธิ ภาวนา สวดมนต์ เพื่อถอดถอนความโกรธ การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทำให้ท่านมีขันติธรรมเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และท่านเองก็สังเกตว่า ผู้หญิงคาทอลิกและชาวมุสลิมก็เผชิญกับความทุกข์ในคุกได้อย่างทรหดอดทนพอๆ กับลามะบางรูป
และเช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันของนาซี ไม่ใช่ว่าผู้รอดชีวิตทุกคนจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปรกติ หลายคนเสียสติ และ/หรือมีปัญหาทางจิต ทั้งผู้คุมชาวจีนและนักโทษทิเบตที่ละทิ้งหนทางธรรม ท่านมองว่าในช่วงที่ต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมที่ผ่านมา ผู้มีศาสนธรรมเป็นที่พึ่งย่อมโชคดีกว่ามาก ทั้งในเวลาประสบกับเคราะห์และหลังจากผ่านพ้นเคราะห์นั้นมาได้แล้ว
เด็กชายชาวไต้หวันอายุ ๙ ขวบ อย่างโจวต้ากวนจะรู้จักทฤษฎีของแฟรงเคิลหรือได้ยินเรื่องราวของ เทนซิน โชดรัก หรือไม่ก็ไม่รู้ได้ หากแต่เมื่อเขาถูกแพทย์พิพากษาว่าเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อ ภายในเวลา ๑ ปี เขาต้องรับมือกับการจู่โจมของมือสังหารในการทำเคมีบำบัด ๗ ครั้ง มารน้อยรังสีบำบัด ๓๐ ครั้ง ผีดูดเลือดในการผ่าตัด ๓ ครั้ง กินยา ฉีดยา เจาะเลือดนับครั้งไม่ถ้วน และตัดขาออกไปข้างหนึ่ง แต่สิ่งที่ปรากฏในบทกวีของเขาก็คือ
“ฉันยังมีขาอีกข้างหนึ่ง
ฉันจะเดินไปทั่วโลกที่งดงามนี้”
แปลโดย เรืองรอง รุ่งรัศมี
ท่ามกลางมหาทะเลแห่งความรู้สึกอันหลากหลาย โจวต้ากวน เด็กอายุ ๙ ขวบ ได้เลือกความสงบ ความมั่นคง และความอยู่รอดเป็นเพื่อน บทกวีของเขาที่พ่อและแม่รวบรวมมาตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตบ่งบอกถึงสภาวะจิตอันกล้าหาญของเด็กชายตัวน้อยผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวของโจวต้ากวน เทนซิน โชดรัก และ วิกเตอร์ อี แฟรงเคิล ยืนยันว่า ในท่ามกลางความทุกข์นั้น มนุษย์มีทางเลือกเสมอ มนุษย์ย่อมมีอิสรภาพในการเลือกทัศนคติและสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เมื่อมนุษย์ค้นพบความหมายของชีวิต เขาหรือเธอย่อมพบที่พักพิงแห่งจิตวิญญาณ และไม่มีมะเร็งร้ายหรือผู้คุมที่โหดร้ายคนใดสามารถแย่งชิงหรือควบคุมจิตวิญญาณภายในนั้นได้
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552
การชุมนุมของชาวดีโอ หรือ Dialogue Oasis ครั้งที่ ๓ ที่บ้านพักคริสเตียน ถ.คอนแวนต์ ซ.ศาลาแดง ๒ เกิดขึ้นด้วยผู้คน ๒๑ ชีวิตที่พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากกันและกัน ทำให้ตาน้ำแห่งมิตรภาพในเมืองกรุงนี้ผุดเผยเติมเต็มช่วงเวลาดีๆ ให้กับชีวิต โดยส่วนมากเป็นผู้คนที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Dialogue มา หรือไม่ก็สนใจที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการบอกเล่าบอกต่อ หรือผ่านเว็บไซต์วงน้ำชา (www.wongnamcha.com) หลายคนอยู่ในแวดวงของการเรียนรู้ด้านในที่เป็นการแสวงหาพื้นที่เปิดแบบนี้ในการตอกย้ำการฝึกฝน บางคนได้เข้าเรียนรู้กับเสมสิกขาลัยเป็นช่วงๆ ในหลักสูตรต่างๆ ที่หลากหลาย บ้างก็ได้เข้าปฏิบัติการฝึกตนกับคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่าง วิจักขณ์ พานิช ครึ่งหนึ่งเป็นคนทำงานประจำที่แสวงหาชีวิตที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงสัมพันธ์และเกิดการเรียนรู้จากกันและกัน บ้างก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ของพวกเขาได้ช่วยให้เขาได้สัมผัสและเกิดแรงบันดาลใจผ่านกระบวนการสนทนาแนวลึก จนได้มาเดินอยู่บนเส้นทางของการเรียนรู้และชีวิตที่มีความหมาย
พวกเราเริ่มต้นจากการแนะนำตัวให้ได้รู้จักที่ไปที่มาของกันและกัน เพียงแค่การได้รับฟังเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันก็เป็นความอิ่มใจอย่างหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งพูดถึงความรู้สึกถึง "ความแปลกแยก" (Alienation) ที่เกิดขึ้น ทั้งในเวลาที่อยู่ในองค์กรของตัวเองที่ยังคงเป็นไปตามวิถีของการแข่งขันกับเวลาและเป้าหมาย จนไม่มีเวลาให้ชีวิต และมองพวกที่พยายามแสวงหาคุณค่าว่าเป็นพวกแปลกๆ เป็นเหมือน "มะนาวต่างดุ๊ด"(กรุณาผวน) และแม้แต่เวลาที่อยู่ท่ามกลางผู้คนที่แสวงหา ที่อาจไม่ได้ทำงานให้กับองค์กรธุรกิจที่ใช้ชีวิตไปกับการแสวงหากำไร ก็รู้สึกว่าอยู่นอกเหล่านอกกอไปอีกแบบ ทั้งนี้ การที่ต้องเดินระหว่างโลก ๒ ใบนี้เองที่บางครั้งก็รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าคนจำนวนมากคงมีความรู้สึกถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยที่แปลกแยก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจเป็นว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งความแปลกแยก ดังนั้นกระบวนการหรือเครื่องมือต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจ ก็คือเครื่องมือที่ช่วยลดความแปลกแยกเหล่านี้ลง ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการสร้างสรรค์ชุมชน การสร้างจิตร่วมในทีมงาน การสื่อสารอย่างสันติ การเป็นคนกลาง สานเสวนา การรับฟังอย่างลึกซึ้ง และกระบวนการภาวนาในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนได้ลดความรู้สึกแปลกแยกกับ "ตัวเอง" ลงไปบ้าง เพื่อยอมรับตนเองอย่างที่เป็น ล้วนสะท้อนความปรารถนาที่จะ “อยู่ร่วม” ในความรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชีวิต
เพื่อนวัยเยาว์ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์สรยุทธ รัตนพจนารถ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมอยู่ในกระบวนการสร้างความหลากหลาย ความเป็นตัวของตัวเองที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างนี้เองอาจทำให้ความรู้สึกแปลกแยกกลายเป็นท่วงทำนองร่วมของสังคมยุคนี้ ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ความ “แปลก” นี้ไม่ “แยก” ออกจากกัน แต่กลับมาเชื่อมโยงและเรียนรู้จากกันและกันได้
และแล้วเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ตั้งคำถามอย่างเปิดกว้างและจริงใจว่า ในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หรือ facilitator (ที่บางคนเรียกสั้นๆ ว่า ฟา) หรือการเป็นกระบวนกรนั้น มีเป้าหมายหนึ่งคือทำให้ผู้คนในองค์กรเข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ ดังนั้น ฟาจำต้องสามารถทำการ โน้มน้าว (convince) อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? คำถามนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างตื่นตัวในวงสนทนา
สิ่งที่เราค้นพบกันหนึ่งคือ หลายคนได้ค้นพบบางอย่างที่มีคุณค่ากับชีวิตและอยากแบ่งปันให้คนรอบข้าง ครอบครัวหรือองค์กรได้รับรู้และ "ได้" อย่างที่ตัวเองได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการได้เข้าใจแง่มุมชีวิตของตัวเองมากขึ้น การมีสุขภาพดีขึ้น หรือการได้มีแวดวงที่มีการพูดคุยกันอย่างรับฟังและเข้าใจกันและกันได้ บ้างก็แบ่งปันว่า ภาษาหรือแม้แต่ชุดที่สวมใส่ก็อาจทำให้เกิดการรับรู้และตัดสินไปเองที่นำไปสู่ความแปลกแยกได้เช่นกัน บ้างก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรับฟังวาระที่แท้จริงของผู้คน แทนที่จะพยายามทำให้เขาเข้าใจวาระของเรา เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เกิดการได้ยินและเข้าใจแล้ว ความเป็นเพื่อนที่ปลอดภัยโดยไม่ตัดสินนี้จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง คล้ายกับที่อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ กล่าวว่า "รักแล้วจึงรู้" นั่นคือความสัมพันธ์ที่ดี ปลอดภัย วางใจ ไมตรีนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ และที่สำคัญการสร้างสัมพันธภาพที่ดีนี้ต้องเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่ซ่อนเร้น ไม่ทำให้เป็นเครื่องมือรับใช้ความอยากของเราเองที่ต้องการให้เขาทำอะไรสักอย่างตามความคิดของเรา แต่เป็นความปรารถนาดีจริงๆ ที่อยากให้เขาได้พบเจอกับสิ่งดีๆ แม้ว่าสิ่งดีๆ นั้นเราอาจไม่เคยรู้จักพบพานเลยก็ตาม เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นกระบวนกรด้านนพลักษณ์ ศาสตร์เพื่อการเข้าใจตัวเอง ได้แบ่งปันว่า “คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่ท่านสันติกโรแนะนำว่า เราต้องเป็นเวลา ไม่ใช่มีเวลา คือการดำรงอยู่อย่างใส่ใจกับปัจจุบันของชีวิต”
ในความเห็นของผม การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงคือการทำงานกับการดำรงอยู่ของตัวเอง เป็นการทำงานอยู่กับปัจจุบัน เดี๋ยวนี้และที่นี่เท่านั้น อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ดังที่มหาตมะ คานธี กล่าวว่า "จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในโลกนั้นเถิด" (Be the change you want to see in the world) หากเราไม่ปรารถนาความรุนแรง ก็จงเป็นสันติภาพ หากเราไม่ต้องการความมืด และได้แต่เพียงก่นด่าความมืด เราก็จะเป็นเพียงเสียงก่นด่าและความคับข้องหมองใจ และแล้วความมืดก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าเราจุดเทียนไขสักเล่ม ความมืดมิดก็จะมลายหายไป เราเลือกได้ว่าจะก่นด่า หรือจุดเทียน
การมีชีวิตอยู่อย่างเปิดรับ อย่างมีแรงบันดาลใจที่ไม่คาดหวัง คือการดำรงอยู่ในแรงบันดาลใจ อย่างไม่ต้องมีชื่อหรือสถานะอะไร แม้แต่การใช้คำว่า "กระบวนกร" หรือ “ฟา” แทนคำว่า “วิทยากร” นอกจากเพื่อให้เห็นความต่างของวิธีการจัดการกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังต้องการสื่อสารความเป็นธรรมดา ที่ไม่ต้อง "พิเศษ" หรือ "วิเศษ" กว่าใครๆ แต่เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้มีโอกาสให้หรือแบ่งปันสิ่งที่มีค่าแก่กันและกัน เพราะเราทุกคนต่างมีของขวัญล้ำค่าที่จะเป็นผู้ให้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
ผู้เขียนได้แบ่งปันในวงว่า ไม่ว่าจะยุคไหนๆ มนุษย์ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะกับผู้คนด้วยกัน หรือกับโลกแห่งธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรม ประเพณี หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิต สมัยนี้ก็เช่นกัน เราต้องการการเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างรู้สึกปลอดภัย ไร้วาระซ่อนเร้นหรือกดทับ เพื่อให้เราได้ยินเสียงของตัวเองและของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของการยอมรับ และมากไปกว่านั้นเรายังมีสัญชาติญาณที่โหยหาความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลที่มีชีวิตนี้ แนวปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาและความเชื่อต่างๆ จึงได้บังเกิดขึ้น ในโลกปัจจุบันก็เช่นกัน การค้นหาจิตอันเป็นหนึ่งเดียวนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป
ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์ของความแปลกแยกมาเพียงใดก็ตาม เมื่อได้แบ่งปัน "ความแปลกแยก" ก็จะทำให้พื้นที่วันเสาร์กลางกรุงกลายเป็นพื้นที่ของการได้ยินและเป็นพื้นที่ที่ "แปลก...แต่ไม่แยก"