มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2548
ไม่มีภัยพิบัติจากธรรมชาติครั้งใดสร้างความพินาศอย่างมหาศาลและกว้างขวางเท่าคลื่นสึนามิครั้งล่าสุด ขณะเดียวกันก็ไม่มีครั้งใดที่มนุษยชาติจะร่วมกันกอบกู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเท่ากับครั้งนี้
หลังจากคลื่นสึนามิกลับคืนสู่มหาสมุทร คลื่นน้ำใจและความช่วยเหลือก็ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทุกทางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดกับที่เมืองไทยเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาประชากรไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามกล่าวว่าได้บริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ แต่ในอังกฤษจำนวนผู้บริจาคเงินสูงถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากร เงินที่หลั่งไหลมาอย่างมหาศาลและรวดเร็วทำให้องค์กรบรรเทาทุกข์หลายแห่ง เช่น กาชาดสากล อ๊อกซ์แฟม รับมือแทบไม่ทัน และในชั่วเวลาไม่นานก็ต้องประกาศหยุดรับบริจาค เพราะเงินที่ได้รับนั้นสูงถึง ๒๐ เท่าของจำนวนที่ต้องการ ขณะเดียวกันอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศต่าง ๆ ก็มีอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมผู้คนแทบทุกสาขาอาชีพ จนหลายแห่งเกิดปัญหาคนล้นงาน
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วทั้งโลกครั้งนี้ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับหายนะภัยครั้งใหญ่ ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น ที่โซมาเลีย รวันดา เอธิโอเปีย หรือแม้แต่กัมพูชา หายนะภัยครั้งนั้นมีคนตายเป็นล้าน ๆ มากกว่ากรณีสึนามิหลายเท่า แต่เหตุใดความช่วยเหลือหรือแม้แต่ความใส่ใจจากนานาชาติจึงมีน้อยกว่ามาก เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือหายนะภัยเหล่านั้นเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางด้านสีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และอุดมการณ์ ประเด็นความขัดแย้งเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่เฉพาะในดินแดนที่เกิดเหตุเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์ในประเทศต่าง ๆ ก็แบ่งฝ่ายด้วยเช่นกัน แม้จะมีจำนวนมากที่เห็นอกเห็นใจผู้ที่ถูกฆ่า ถูกทรมาน หรือถูกกดขี่บีฑา แต่คนที่เห็นด้วยหรือเข้าข้างผู้กระทำการอันโหดร้ายดังกล่าว (ซึ่งมักมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ) ก็มีอยู่ไม่น้อย พอลพตถึงจะโหดร้ายอย่างไร ก็ยังมีรัฐบาลและประชาชนในประเทศต่าง ๆ สนับสนุนไม่น้อยเพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน
แต่กรณีสึนามินั้น “ผู้ร้าย”คือธรรมชาติ ขณะที่ “เหยื่อ” เป็นมนุษย์ ความรู้สึกว่า “เหยื่อ”ทั้งหลายเป็นพวกเดียวกับเราจึงเกิดขึ้นในความรู้สึกของคนทั้งโลก (ผิดกับหายนะภัยที่โซมาเลียหรือรวันดา คนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รู้สึกว่า “เหยื่อ”ในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “พวกเรา” ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า เหยื่อเหล่านั้นเป็น “พวกมัน” ที่สมควรได้รับโทษทัณฑ์) ด้วยเหตุนี้จึงพร้อมที่จะช่วยผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่
ภัยธรรมชาตินั้นสามารถดึงเอาความร่วมมือจากผู้คนมาได้กว้างขวางกว่า เพราะไม่มีใครที่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับคลื่นยักษ์ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด มีแต่ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับผู้ประสบเคราะห์เพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นี้แหละที่ไม่เพียงชักนำผู้คนทั้งโลกให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ประสบภัยสึนาเท่านั้น หากยังดึงเงินออกจากกระเป๋าของคนเหล่านี้ จนแทบไม่มีเงินแบ่งปันให้แก่ผู้ประสบภัยด้านอื่น ๆ ในขณะนี้ ผลก็คือช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเงินบริจาคให้แก่องค์กรบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้อดอยากหิวโหยในทวีปแอฟริกาลดลงอย่างเห็นได้ชัด มองในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะในเมื่อรัฐบาลในประเทศเหล่านี้เป็นตัวการสร้างความทุกข์แก่ผู้คน จึงไม่ค่อยมีคนไว้ใจที่จะบริจาคเงินเพราะกลัวจะไปไม่ถึงคนที่เดือดร้อน หากแต่ไปเข้ากระเป๋านักการเมืองมากกว่า
อย่างไรก็ตามมีภัยธรรมชาติหลายครั้งที่ไม่สามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเท่ากับภัยจากสึนามิครั้งนี้ เช่น แผ่นดินไหวที่อิหร่านเมื่อสองปีก่อน แน่นอนว่าจำนวนคนที่ตายถึงสามแสนคนและเดือดร้อนนับล้าน เป็นเหตุผลประการหนึ่ง แต่ที่จริงการช่วยเหลือจากนานาชาติหลั่งไหลเข้ามาก่อนที่ยอดคนตายจะพุ่งถึงแสนด้วยซ้ำ การที่คลื่นสึนามิก่อภัยพิบัติข้ามทวีปจากสุมาตราถึงโซมาเลีย เป็นมหันตภัยระดับนานาชาติ มิใช่เป็นแค่ภัยพิบัติท้องถิ่น น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่กระตุ้นความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกได้มากกว่า
เป็นไปได้ไหมว่าความตื่นตัวของผู้คนทั่วโลกเกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะประจักษ์ว่ามหันตภัยครั้งนี้ “ใกล้ตัว” อย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน แม้อยู่ยุโรปหรืออเมริกาซึ่งคลื่นสึนามิซัดมาไม่ถึง แต่ก็หนีไม่พ้นความพลัดพรากสูญเสีย เพราะญาติมิตรหรือเพื่อนของเพื่อนก็เป็น “เหยื่อ” ของสึนามิด้วยเช่นกัน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง มหันตภัยสึนามิไม่เพียงตอกย้ำว่ามนุษย์นั้นเล็กกะจิริดเมื่ออยู่ต่อหน้าธรรมชาติเท่านั้น หากยังเหมือนกับจะเตือนต่อไปอีกด้วยว่า มหันตภัยจากธรรมชาติยังจะมีมาอีกและมีอานุภาพทำลายล้างอย่างกว้างขวางจนยากที่จะหนีพ้นไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ไม่มีใครที่สามารถแน่ใจได้ว่าตนจะปลอดภัยจากมหันตภัยครั้งต่อไป
มหันตภัยจากธรรมชาติดูเหมือนกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า ไม่ว่าไข้หวัดใหญ่ชนิดร้ายแรง ซึ่งคาดว่ากำลังจะหวนกลับมา (หลังจากที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปไม่ต่ำกว่า ๒๐ ล้านคนเมื่อเกือบ ๙๐ ปีก่อน) ความผันผวนของฤดูกาลและการเพิ่มระดับของน้ำทะเลเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มหันตภัยเหล่านี้กำลังเรียกร้องจิตสำนึกใหม่จากมนุษย์ทั่วทั้งโลก ได้แก่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะเพื่อนร่วมโลกและร่วมชะตากรรมเดียวกัน
มหันตภัยสึนามิครั้งล่าสุดได้ทำให้การสู้รบระหว่างทมิฬกับสิงหลในศรีลังกา และสงครามกลางเมืองในสุมาตรา กลายเป็นสิ่งไร้ความชอบธรรม หรือถึงกับเป็นเรื่องไร้สาระไปทันที เพราะถึงที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็กลายเป็นเหยื่อของสึนามิเหมือนกัน และเมื่อกลายเป็นศพ ทุกคนก็เหมือนกันหมด ทั้งรูปร่างหน้าตา สีผิว เส้นผม และอาการ จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร หรือเคยมีหน้าตาอย่างไรมาก่อน
แท้จริงแล้วมนุษย์นั้นมีความเหมือนยิ่งกว่าความต่าง ไม่ใช่แค่ในยามสิ้นลมเท่านั้น แต่เป็นเพราะไปติดยึดในสมมติที่ต่างกัน เช่น ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม อุดมการณ์ หรือความแตกต่างเพียงพื้นผิว เช่น สีผิว หรือเชื้อชาติ เราจึงแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นเราเป็นเขา แล้วมาห้ำหั่นกัน เป็นเรื่องน่าอนาถหรือไม่ที่มนุษย์ทั้งโลกจะมารู้สึกว่าทุกคนเป็นพวกเดียวกันก็ต่อเมื่อถูกธรรมชาติทำร้าย แต่ก็ยังดีกว่าที่มาสำนึกได้ต่อเมื่อถูกโจมตีจากนอกโลก ไม่ว่าจากอุกกาบาตหรือมนุษย์ต่างดาว เพราะวันนั้นไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร
ปัญหาก็คือสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันจะอยู่ได้นานเท่าไรหลังภัยสึนามิผ่านไป โรคระบาดครั้งใหญ่หากเกิดขึ้นอาจทำให้ผู้คนรังเกียจเดียดฉันท์กันมากขึ้นเหมือนกับที่ได้กระทำกับผู้ติดเชื้อ HIV หรือซาส์มาแล้ว อย่างไรก็ตามประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาได้ชี้ว่า สมานฉันท์ของคนทั้งโลกนั้นไม่เพียงเป็นไปได้เท่านั้น หากยังสามารถกอบกู้สู้ภัยได้ดีกว่า
สมานฉันท์ในกรณีสึนามินั้นเกิดขึ้นจากประชาชนคนเล็ก ๆ ทั่วโลก มิใช่จากรัฐบาล ขณะที่ประชาชนควักเงินบริจาคทันที แต่รัฐบาลต่าง ๆ กลับให้คำมั่นสัญญา ปรากฏการณ์ดังกล่าวตอกย้ำแก่เราว่าจิตสำนึกใหม่นั้นจะยั่งยืนและเติบใหญ่ได้ก็เพราะประชาชนคนเล็ก ๆ ทั่วทั้งโลกประสานกันเป็นเครือข่ายชนิดที่ไปพ้นสมมติหรือเส้นแบ่งทั้งปวง
มนุษย์มักต้องการวิกฤตเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ แต่จิตสำนึกใหม่ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิกฤตเสมอไป ขอเพียงแต่มีคนเล็ก ๆ ที่ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายการติดต่อที่เข้มแข็งมั่นคง ก็อาจสร้างผลกระทบอันกว้างไกลได้ ใช่หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกนั้นเริ่มต้นจากคนเล็ก ๆ ที่มีเจตนารมณ์แรงกล้าเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ศาสดาของทุกศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งชัยชนะของคนเล็ก ๆ ที่มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัยและยังจะเกิดขึ้นต่อไป
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548
บ่อยครั้งที่วิกฤตการณ์ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนเรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ อุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ความเจ็บป่วยรุนแรงที่คุกคามชีวิต หรือการเผชิญกับความตายอย่างปัจจุบันทันด่วน
ยิ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในขอบเขตที่ไม่คาดฝัน ก็ยิ่งทำให้ความเป็นจริงบางอย่างของชีวิตที่เราแทบจะไม่เคยนึกถึงเพราะถูกมายาของชีวิตที่ราบรื่นเป็นปรกติปกปิดไว้ กลับปรากฏให้เราเห็นและฉุดให้เราต้องทบทวนถึงสาระสำคัญของชีวิตที่เราหลงลืมไป ในยามปรกติ
เหตุการณ์คลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดียที่ผ่านมานับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงคาบสมุทรอินเดีย และอาฟริกาใต้ หากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็มากกว่า ๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้มากถึงเกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน
มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิรวมกัน
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังความเศร้าโศกเสียใจและความทุกข์ยากแก่ผู้ประสบภัยและความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั้งโลก ภาพคนนั่งร้องไห้อยู่กับซากปรักหักพังของบ้านเรือน สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ดิ้นรนก่อร่างสร้างตัวมา บางคนเดินอย่างท้อแท้เพราะสิ้นหวังที่จะได้พบ สามี ภรรยาหรือลูกที่เพิ่งถูกคลื่นยักษ์ฉุดกระชากพรากไปจากมือซึ่งๆ หน้า บางคนสูญเสียครอบครัวเกือบทั้งหมด เด็กๆ ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ที่โชคดีรอดชีวิตมาได้จำนวนหนึ่งก็ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เป็นความทุกข์และความเจ็บปวดที่น่าเศร้าใจที่สุด
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รู้สึกและร่วมเจ็บปวดไปกับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นถึงความเปราะบางและความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตของเราเองอีกด้วย
ทั้งที่ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และความเปราะบางเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตที่ว่านี้อยู่ด้วยกับเราตลอดเวลา แต่เราก็เกือบไม่เคยนึกถึงมันเลย อาจเป็นเพราะชีวิตปรกติที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันทำให้เราลืมนึกถึงมันไป ต่อเมื่อมายาคติของความเป็นปรกติวิสัยนั้นพังครืนลงเพราะวิกฤตการณ์ เราจึงตกใจตื่นขึ้นมาเผชิญกับโลกของความเป็นจริง เป็นโลกใบที่แตกสลายที่ทำให้เราต้องสับสนและดิ้นรนหาทางปะติดปะต่อชิ้นส่วนชีวิตที่แตกหักกระจัดกระจายให้กลับคืนมาเป็นรูปเป็นร่างที่เราพอจะกัดฟันมีชีวิตต่อไปได้
ความสับสนและการดิ้นรนกอบกู้ชีวิตจากความสับสนแปลกแยกที่เกิดจากโลกใบเก่าพังลงไปนั้นมักปรากฏเป็นความพยายามที่จะตอบคำถามว่า “ทำไม”
หลังเกิดภัยพิบัติหรือโศกนาฏกรรมจึงมักมีคำถามที่เกิดขึ้นพร้อมกับความทุกข์และความเศร้าโศกเสียใจ เป็นคำถามหาเหตุผลที่ว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ได้” “ทำไมต้องเป็นฉัน หรือครอบครัวฉัน?” หรือบางครั้งก็เป็นการถามในเชิงความยุติธรรมและความถูกผิดชั่วดี เช่น “บาปกรรมอะไรของฉันหรือจึงต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมเช่นนี้” หรือ “มนุษย์ทำผิดอะไรหรือ พระเจ้าจึงลงโทษ…” “ทำไมเด็กไร้เดียงสาที่ไม่เคยก่อกรรมทำชั่วต้องมาตายไปเป็นจำนวนมาก” หรือ “มันยุติธรรมแล้วหรือที่คนดีๆ ต้องมาตายจากไป ทีคนชั่วเห็นลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม”
เพราะลึกลงไปในจิตสำนึกของมนุษย์นั้น เราใฝ่ฝันถึงโลกที่เป็นธรรมและชีวิตมีความหมายในเชิงมโนธรรม
การตั้งคำถามว่า “ทำไม” ในยามที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเช่นนี้เป็นลักษณะสากลของมนุษย์ คือพบเห็นได้ทั่วไปในทุกสังคม นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อ อีวานส์ พริตชาร์ด ได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่เรือนหลังหนึ่งพังลงทับคนพื้นเมืองชาวอะซานเดในอาฟริกาว่า สิ่งที่ชาวอะซานเดต้องการหาคำตอบเมื่อประสบอุบัติเหตุนั้น ไม่ใช่ข้อสงสัยที่ว่า เรือนไม้พังลงมาได้อย่างไร ซึ่งในกรณีที่ว่านี้ ชาวอะซานเดทุกคนก็อาจตอบได้ไม่ยากเป็นว่าเป็นเพราะเสาเรือนถูกปลวกกัดแทะและผุพังจนรองรับน้ำหนักของตัวเรือนไม่ไหว
แต่นี่ไม่ใช่คำถามหรือคำอธิบายโลกที่ชาวอะซานเดต้องการทราบ
คำถามที่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้สงสัยก็คือ “ทำไมต้องเป็นเรือนหลังนี้ ทำไมจึงพังลงตอนนั้น ทำไมต้องเป็นเวลาที่ชายคนนั้นนั่งอยู่ใต้เรือนหลังนั้นพอดี มีเรือนหลังอื่นอีกหลายหลังที่มีปลวกแทะเสาเรือนและมีเวลาอื่นอีกมากมาย”
พูดง่ายๆ คืออยากรู้ว่า ทำไมต้องเป็นตรงนี้ ตอนนี้และชายผู้เคราะห์ร้ายคนนี้
คำถามเหล่านี้สำคัญ เพราะมันเป็นคำถามที่ต้องการหา “คำอธิบาย” และ “ความหมาย” ของเหตุการณ์
การหาคำอธิบายและการทำให้เหตุการณ์มีความหมายที่มนุษย์เข้าใจได้มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตการณ์ที่ “โลกปรกติวิสัย” ถูกทำให้พังพาบลงจนชีวิตสับสน อย่างน้อยที่สุดการทำเหตุการณ์ที่ยากจะยอมรับได้ให้เป็นเรื่องที่มีคำอธิบายก็ช่วยปลอบประโลมและประสานโลกที่แตกร้าว ขาดวิ่น และกระจัดกระจายออกเป็นเสี้ยวส่วน ให้กลับมาประกอบกันเป็นโลกที่เราเข้าใจได้
การหาคำอธิบายที่เข้าใจได้และการทำให้เหตุการณ์มีความหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษาความเจ็บปวดบอบช้ำของโศกนาฏกรรมได้ทางหนึ่ง เพราะการเยียวยาคือการสมานให้ส่วนต่างๆ ของชีวิตที่ฉีกขาด ร้าวราน และเจ็บปวดให้กลับคืนมาบูรณาการกันเป็นชีวิตปรกติ
ทางหนึ่งที่จะเยียวยาโศกนาฏกรรมอันดามันได้ก็คือ ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีความหมายที่ดีงาม ให้ผู้ที่สูญเสียรู้และรู้สึกได้ว่าความทุกข์และความสูญเสียของเขานั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างสูญเปล่า
แต่เป็นความทุกข์และความสูญเสียที่เป็นไปโดยมีความดีงามก่อบังเกิดขึ้นเป็นสิ่งทดแทน
เพราะความดีมีสรรพคุณเยียวยาความทุกข์ได้
ที่สำคัญและต้องระมัดระวังไว้ให้มากก็คือ อย่าทะเลาะและทำร้ายกันเพราะอยากทำความดี
**********
เหตุผล กับข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์ในการเยียวยาความทุกข์
หลังเหตุการณ์สึนามิไม่กี่วัน มีบทความภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หัวเรื่องของบทความนั้นตั้งเป็นคำถามว่า
“How could God let this happen?”
ทำไมพระเจ้าจึงยอมให้เกิดเรื่องเช่นนี้ได้ !
คำถามลักษณะนี้ (คือการถามว่า “ทำไม”) ทำให้เห็นได้ไม่ยากว่า เมื่อเกิดโศกนาฏกรรม มนุษย์มักถามหาคำอธิบายที่มีความหมายทางจิตใจ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่ว่าคลื่นยักษ์สึนามิเป็นผลจากการเกิดแผ่นดินไหวใต้พื้นสมุทร แม้จะถูกต้องทางวิชาการ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสียในโศกนาฏกรรมอันดามันได้
เพราะหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นั้นเลือกตอบเฉพาะคำถามที่ว่า “อย่างไร” โดยไม่สนใจที่จะตอบคำถามว่า “ทำไม”
แต่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่คุกคามความมั่นคงทางสังคมและจิตใจ เช่น ในกรณีของคลื่นยักษ์สึนามิที่ฆ่าผู้คนเกือบสามแสนคนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มนุษย์ไม่ได้ต้องการแค่คำอธิบายแบบสาเหตุและผลลัพธ์ (แผ่นดินไหวคือเหตุ ผลลัพธ์คือสึนามิ) แต่ยังต้องการคำอธิบายที่มีความหมายในเชิงคุณค่าด้วย
การหาคำอธิบายเช่นนี้ ก็เพื่อให้เหตุผลที่ยอมรับได้กับสิ่งที่ยอมรับได้ยาก
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะลึกลงไปแล้วมนุษย์เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะต้องมีเหตุผลไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง ในวัฒนธรรมต่างๆ จึงมีการให้คำอธิบายหรือเหตุผลแก่ปรากฏการณ์ต่างๆ ในหลากหลายลักษณะ ซึ่งต่างก็ให้คำตอบที่จับใจผู้คนแตกต่างกันไป และความพยายามที่จะหาเหตุผลก็มีมายาวนาน
อริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีกได้แจกแจง “เหตุ” ที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ออกเป็น ๔ ประเภทคือ
ระดับแรกคือ เหตุเชิงกายภาพ เช่น หากมีบ้านพังลงทับชาวบ้านเพราะเสาเรือนถูกปลวกกัดแทะจนผุพัง นี่ถือว่าเป็นเหตุเชิงกายภาพ ระดับที่สองคือ เหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ในกรณีนี้ก็คือการที่เสาเรือนเป็นสิ่งรองรับน้ำหนักของตัวบ้าน เพราะแม้ว่าตัวเสาจะผุพังเพราะมอดปลวก แต่หากเสาเรือนไม่ได้รับน้ำหนักของบ้านก็จะไม่ปรากฏการพังของบ้านให้เห็น ส่วนสาเหตุระดับที่สามเป็นสาเหตุเชิงกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ในกรณีนี้คือ การที่ของหนักเมื่อไม่มีสิ่งมารองรับย่อมตกลงสู่พื้นดิน
ถึงตรงนี้คงเห็นได้ไม่ยากว่าการจำแนกแจกแจงสาเหตุย่อมเป็นไปได้หลากหลายวิธีและแต่ละวิธีก็อาจมีความรัดกุมหรือกำกวมแตกต่างกันไป แต่สาเหตุตามความคิดของอริสโตเติลที่น่าสนใจนั้น คือสิ่งที่เขาเรียกว่า ที่สุดแห่งเหตุ (Final cause) หรือเราจะเรียกกลับกันว่าเหตุพื้นฐานก็น่าจะได้
สำหรับอริสโตเติลแล้ว ทุกสิ่งในโลกดำรงอยู่อย่างมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในตัวเองทั้งสิ้น และสรรพสิ่งในโลกล้วนดิ้นรนไปสู่เป้าหมายอันเปรียบเสมือนภารกิจที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เช่น เหตุอันเป็นพื้นฐานที่สุดของการที่บ้านพังลงก็เพราะสิ่งของที่มีน้ำหนักนั้นมีเป้าหมายคือการกลับไปอยู่ในสถานะหรือตำแหน่งอันเป็นที่พักถาวรของมัน ในโลกทัศน์แบบอริสโตเติลทุกสิ่งในโลกจึงมีเจตจำนงของมัน
ฟังดูอาจจะแปลกๆ อยู่บ้าง แต่แกก็คิดอย่างนี้จริง ๆ
จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่อง “ที่สุดแห่งเหตุ” ของอริสโตเติลนี้ ก็เป็นไปเพื่อตอบคำถามว่า “ทำไม” นั่นเอง เพราะเมื่อเราสืบสาวหาสาเหตุของปรากฏการณ์ไปเรื่อยๆ เราจะไม่สามารถหาคำตอบที่น่าพอใจได้จนกว่าเราจะรู้ว่า “ทำไม”
อย่างเมื่อครั้งที่นิวตันพยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่ลูกแอปเปิลหล่นลงพื้นดินแทนที่จะหลุดลอยออกไปนอกโลก จนต่อมากลายเป็นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่ว่าวัตถุมีมวลย่อมดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยแรงดึงดูดมีค่าแปรผันไปตามมวลของวัตถุ แม้ว่าทฤษฎีดังกล่าวจะผ่านการทดลองและพิสูจน์ได้จนเป็นที่เชื่อถือ แต่นิวตันเองก็มีความข้องใจไม่น้อยว่า “ทำไม” มวลของสสารจึงดึงดูดกัน
พูดง่ายๆ แกยังงงและสงสัยว่า ใครทำให้มันดึงดูดกัน (วะ)
ความที่แกนับถือพระเจ้า นิวตันจึงแก้ปัญหาที่แกคิดไม่ตกนี้โดยการยกให้เป็นผลงานของพระเจ้าที่ทำให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่มันเป็น
จะว่านิวตันยกให้พระเจ้าเป็นคำตอบสุดท้ายก็ได้
และคำตอบสุดท้ายที่ว่านี้ก็คือ การตอบคำถามว่า “ทำไม”
ที่น่าสนใจก็คือว่า นักวิทยาศาสตร์ยุคต่อมานั้นกลับปฏิเสธพระเจ้ายิ่งกว่าตัวนิวตันเองเสียอีก และถือว่า “ที่สุดแห่งเหตุ” นั้นไม่มีและไม่ใช่สิ่งที่ควรใส่ใจ เพราะไม่สามารถตรวจวัดได้ในเชิงประจักษ์
เมื่อตัดคำถามถึงที่สุดแห่งเหตุ (คือคำถามว่าทำไม) นี้ออกไป วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงเหลือแต่คำถามว่า “อย่างไร” หรือ “How” ไว้ให้ตอบ คือมุ่งอธิบายว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร เช่น จักรภพเกิดได้อย่างไร วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างแรง มวล กับความเร่งเป็นอย่างไร
แต่วิทยาศาสตร์ จะไม่เคยถามและไม่อาจตอบคำถามว่า “ทำไม”
แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “อย่างไร” จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็ใช้แทนความสงสัยเรื่อง “ทำไม” ที่มักโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในยามวิกฤตไม่ได้
สึนามิเกิดได้อย่างไร เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก แต่คำถามที่ว่า “ทำไม” เช่น ทำไมต้องมาเกิดตอนรุ่งเช้าหลังวันคริสต์มาส ทำไมต้องเป็นที่นี่ หรือทำไมต้องเป็นเรา นี่สิ ยากที่จะตอบเป็นคำตอบเดียวได้
แต่ถึงตอบได้ยาก ผู้คนก็ยังต้องดิ้นรนหาคำตอบ
เพราะมันมีความหมายสำคัญสำหรับการเยียวยาความทุกข์
เมื่อวิทยาศาสตร์ปฏิเสธที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้ ผู้คนก็ไปแสวงหาคำอธิบายจากที่อื่น ๆ
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เพื่อบอกว่า คำถามว่า “ทำไม” นี้มีความสำคัญ เพราะเป็นคำถามที่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ เพราะเมื่อเข้าใจได้ก็ยอมรับได้ คล้ายกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า
If you know the WHY of your life, you can live with any what and how.
ถ้าเราเข้าใจได้ว่าทำไม เราก็พอจะกล้ำกลืนทนอยู่กับชีวิตที่มีสุขบ้างทุกข์บ้างปนกันไปได้
หรืออย่างที่ อาจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เคยบอกไว้
“ความรู้ไม่ได้มีไว้เพื่อ“ยาไส้” อย่างเดียว แต่ยังจำเป็นสำหรับใช้ “ยาใจ” ด้วย”
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2548
บอกเล่ากันในภาษาชาวบ้านที่สุดนั้น "จิตวิวัฒน์" เชื่อว่า
๑) มนุษย์ได้เดินมาถึงทาง (ที่ต้อง) เลือกแล้ว
๒) เพราะอะไร?
เหตุผลประการแรก คือ เพราะสถานการณ์ทำให้เราต้องเลือก
สถานการณ์ในโลกปัจจุบันนั้นไม่ได้ "กำลังเข้าสู่วิกฤต" เพราะเราเข้ามาอยู่ในสถานการณ์วิกฤตนานแล้ว ไม่ว่าจะมองไปด้านใดล้วนแล้วแต่มีระเบิดเวลาที่รอเวลาจะระเบิดทั้งสิ้น ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่วิกฤตระดับประเทศหรือภูมิภาค แต่เป็นวิกฤตของมนุษยชาติโดยรวมทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ปรากฏการณ์เรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย ชาวเอสกิโมจำนวนมากเสียชีวิตจากการตกทะลุลงไปในพื้นที่บางลง ธารน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาแอลป์ในยุโรปตอนกลางมีพื้นที่ลดลงถึงหนึ่งในสามและขนาดลดลงถึงครึ่งหนึ่ง น้ำแข็งที่ละลายเหล่านี้หายไปไหน? น้ำที่ละลายเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คาดการณ์กันว่าประเทศและเมืองชายทะเลจะประสบปัญหาอย่างรุนแรง บังคลาเทศจะสูญเสียพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ และต้องอพยพพลเมืองหลายล้านคน เมืองอย่างกรุงเทพจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ฤดูกาลต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ เดี๋ยวนี้เมืองไทยมีฝนตกได้เกือบทุกเดือน เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ หิมะตกที่รัฐอินเดียน่าของสหรัฐอเมริกาวันเดียวสูงกว่าสถิติหิมะทั้งปี เมื่อฤดูร้อนปี ๒๕๔๖ คลื่นความร้อนได้คร่าชีวิตชาวฝรั่งเศสที่เป็นประเทศที่เจริญทางด้านวัตถุอย่างมากถึงหนึ่งหมื่นห้าพันคน
ไม่เพียงแต่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ความรุนแรงขัดแย้งระหว่างศาสนา ระหว่างชนเผ่า ระหว่างรัฐกับประชาชน กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งระดับท้องถิ่น
โรคระบาดต่างๆ ก็มีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้น นักวิชาการหลายท่านคาดว่าไข้หวัดนกจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง อาจมีผู้เสียชีวิตถึงสามล้านคน
เหตุผลที่สอง คือ สถานการณ์เหล่านี้ ปัญหาเหล่านี้ แม้มีส่วนที่เป็นเรื่องทางเทคนิค แต่มีรากเหง้ามาจาก "วิธีคิด" การมอง และการแก้ปัญหา
เราอาจพูดว่าปัญหาความรุนแรงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและการปกครองเข้าแก้ไข เราอาจเสนอทางออกให้ลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ด้วยการพยายามใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ เราอาจพัฒนาระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันหายนะภัยจากธรรมชาติ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิค ซึ่งบ้างไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บ้างก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา
ที่มาหรือรากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ "วิธีคิด" ของเราในการมองโลกและชีวิตอย่างคับแคบแยกส่วน สังคมส่วนใหญ่ รวมถึงนักวิชาการด้วย ยังเห็นว่าโลกเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรที่ใช้ไม่มีวันหมดสิ้น เชื่อว่าการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันอย่างเสรี โลกทัศน์เหล่านี้เป็นทั้งที่มาของปัญหา ที่มาของวิธีคิดที่ใช้มองและแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งทำให้เป็นงูกินหางไม่รู้จบ
เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าความรู้วิทยาศาสตร์กระแสหลัก ที่นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุแต่อย่างเดียวนั้นไม่สามารถใช้ในการสร้างทางออกที่ยั่งยืนได้ ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวว่า "ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง"
เหตุผลที่สาม คือ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ การวิวัฒนาการทางกายนั้นช้า มันไม่ทันการณ์แล้ว ภายใต้วิกฤตต่างๆที่ก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะนี้ มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตนั้นไม่สามารถมีวิวัฒนาการทางกาย เปลี่ยนแปลงไปได้ทัน เราไม่มีเวลาที่จะรอกระบวนการวิวัฒนาการที่อาศัยเวลาเป็นหมื่นเป็นแสนปีแล้ว มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงทางแพร่งที่ต้องเลือกแล้ว
๓) เลือกอะไร?
ทางเลือกของเรา คือ เลือกที่จะเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเราตระหนักถึงปัญหาและวิกฤตตรงหน้า หรือเลือกที่จะไม่ทำอะไรและไม่พยายามจะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
หากเราเลือกที่จะทนกับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมเช่นปัจจุบันแบบนี้ต่อไป เลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก สัญญาณหายนะต่างๆนับไม่ถ้วน ที่สุดแล้วเราจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่บังคับให้เราต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี แถมยังเจ็บปวดอย่างยิ่งอีกด้วย
หรือหากเราเลือกที่จะรีบเรียนรู้ เราเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวดบ้างไม่มากนัก และเกิด "จิตวิวัฒน์" เราได้เลือกที่จะเผชิญหน้าปัญหา หาทางรอดให้กับมนุษยชาติ โดยใช้ปัญญา นอกกรอบวิธีคิดแบบเดิมๆที่ผ่านมา
๔) เกิด "จิตวิวัฒน์" หมายถึงอะไร?
การวิวัฒนาการทางกายของมนุษย์นั้นไม่ทันกับวิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว ทางออก ทางรอดของมนุษยชาติจึงอยู่ที่การเปลี่ยนจากการมองโลกแบบแยกส่วน เน้นวัตถุและความแน่นอน มาสู่การมองโลกและชีวิตอย่างเป็นองค์รวม เน้นจิตใจและความสัมพันธ์ และการที่สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
จิตวิวัฒน์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระดับขั้นพื้นฐานของจิตใจ จิตวิญญาณ จากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ หรือ จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) จากความคับแคบของตัวเองไปสู่จิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ
จิตเล็ก คือ ความรู้สึกนึกคิดที่แคบๆ เห็นอะไรแต่เพียงบางส่วน ทำให้เกิดความบีบคั้นเพราะขัดแย้งกับธรรมชาติ ส่วนจิตใหญ่ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่มีพื้นที่กว้างขวาง มองเห็นเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชีวิตและธรรมชาติ เห็นค่าของผืนดินที่เราอาศัยและเติบโต รวมถึงสายน้ำที่เราได้ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต ตลอดจนสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ล้วนส่งผลซึ่งกันและกันอย่างแยกขาดกันไม่ได้
จิตวิวัฒน์ ทำให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติมีได้อย่างสันติ ทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของคนรอบข้าง เห็นความงามของทุกสิ่งรอบตัว เมื่อนั้นเราจึงจะก้าวข้ามความคิดคับแคบที่เคยมองโลก นำไปสู่การแก้วิกฤตต่างๆที่โลกเผชิญอยู่ที่ต้นเหตุของปัญหา โดยอยู่บนพื้นฐานของความรักและความเคารพในกันและกัน ทั้งกับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ
กระบวนการในการเข้าถึงการมีจิตใหญ่นั้นมีมากมาย หลากหลาย เช่น ขยายขอบเขตของการรับรู้ผ่านกระบวนการทางศิลปะ ผ่านการเจริญสติ ผ่านงานอาสาสมัคร หรือการเข้าถึงธรรมชาติ เป็นต้น ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสความพยายามที่จะขยายขอบเขตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันออกไปอย่างกว้างขวาง
๕) ย้ำอีกทีว่า ... เราไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เจ็บปวดเลยนั้นไม่มี
๖) แล้ว คลื่นยักษ์จากอันดามัน บอกอะไรกับเรา?
สึนามิบอกเราดังข้อ ๑ ถึง ๕ ข้างต้นนั่นเอง! ๑) สึนามิบอกเราว่าพวกเราได้เดินมาถึงทางที่ต้องเลือกแล้ว ๒) สึนามิบอกเราว่าที่เราต้องเลือก เพราะ เรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤต วิกฤตทาง "วิธีคิด" ไม่ใช่ปัญหาแค่ระดับทางเทคนิค และเป็นวิกฤตที่มนุษย์รอการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไม่ทันแล้ว สึนามิชี้ให้เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ในพริบตา เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต
๓) สึนามิบอกเราว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราตั้งแต่วันนี้ หรือจะทนเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัย เสมือนเสียงไซเร็นที่อยู่เบื้องหน้า เราเลือกได้ว่าจะยังคงมองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นต่างๆด้วยชุดความคิดเดิม หรือจะเกิด "จิตวิวัฒน์"
๔) สึนามิ บอกเราว่าในท่ามกลางความทุกข์แสนสาหัสที่เกิดขึ้น โอกาสแห่งการเติบโต เรียนรู้นั้นอยู่คู่เคียงกัน สึนามิได้แสดงให้เห็นถึงโอกาสแห่งการเกิดจิตวิวัฒน์ การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวตนไปสู่การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ผ่านรูปธรรมตัวอย่างที่มากมาย เช่น การหลั่งไหลมาของคลื่นพลังน้ำใจอันมหาศาลของมนุษย์ที่หลั่งไหลมาอย่างมากมาย การแสดงตนของอาสาสมัครทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ ที่สำคัญสึนามิยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสติว่าเป็นรากฐานของสุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างยิ่ง เป็นหัวใจของการมีจิตใหญ่ มีความรักแท้ที่ยิ่งใหญ่ ที่เชื่อมโยงถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ สรรพสัตว์นานา และธรรมชาติทั้งหมด
และท้ายที่สุด ๕) นอกจากสึนามิ จะบอกเราว่าเราไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เจ็บปวดเลยจะไม่มีก็ตาม สึนามิ (และกลุ่มจิตวิวัฒน์) ก็ยังชี้ให้เราเห็นถึง ความจริง ความดี ความงาม และ ความหวังของมนุษยชาติ ที่ยังมีอยู่ด้วยเช่นกัน
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ 2548
“ขออธิษฐานจิต ส่งความรักความเมตตาให้แก่ดวงวิญญาณพี่น้องร่วมแผ่นดินแม่ จงมีแต่ความสุขสันตินิรันดร์”
ผู้เขียนคงไม่สามารถรวบรวมคำพูดใดๆ มาทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์มหันตภัยธรรมชาติสึนามิ ได้อย่างเพียงพอ หากผู้เขียนอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนร่วมทุกข์ทุกท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยสิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็น และคงเป็นสิ่งที่หลายท่านได้พบเห็นเช่นกัน นั่นคือ แสงสว่างท่ามกลางความสูญเสีย แสงสว่างที่เกิดขึ้นจาก “รักแท้” ของมนุษยชาติ ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นน้ำใจที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ และเป็นความรักความเมตตาที่มีพลังในการเยียวยาความทุกข์ สามารถแปรเปลี่ยนคลื่นร้ายให้กลายเป็นความหวัง และเพิ่มคุณค่าในการดำรงชีวิตให้แก่เพื่อนมนุษย์
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราและท่านต่างก็ประจักษ์ดีแล้วว่า ความทุกข์สามารถมาเยือนโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ ดังนั้นเวลาทุกขณะจึงมีค่ายิ่ง เราไม่ควรที่จะรอช้าต่อการฝึกฝนจิตใจให้เกิดความรักที่แท้จริง เพื่อเป็นพลังในการช่วยตนเองและคนรอบข้างให้มีความสุขยิ่งขึ้น เป็นความสุขที่ยั่งยืนและถาวร และไม่มีวันถูกทำลายด้วยความทุกข์ใดๆ ในโลก
พระคุณเจ้าติช นัท ฮันห์ พูดเสมอว่า เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความรักอยู่ในตัว เราสามารถบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ให้ปราศจากเงื่อนไข ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่าเราจะได้อะไรตอบแทน และเมื่อเราเข้าใจธรรมชาตินี้ดีพอแล้ว ถึงธรรมชาติจะทำร้ายเรา เราก็ยังสามารถรักธรรมชาติได้อย่างที่เป็น เช่นเดียวกันกับการรักเพื่อนมนุษย์อย่างที่เป็น สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน จะเป็นรักแท้ที่มีความหมายลึกล้ำต่อชีวิต และงอกงามครอบคลุมโลกทั้งมวล ให้ปราศจากความโกรธเกรี้ยว ช่วยขจัดความทุกข์โศก ที่เกิดจากความว้าวุ่นในใจของสรรพสัตว์ทั้งปวง
ท่านติช นัท ฮันห์ จะสอนลูกศิษย์ในเรื่องการบ่มเพาะความรัก ไว้อย่างละเอียดปราณีต ท่านกล่าวว่า ความรักที่แท้จริงคือ พรหมวิหารสี่ ซึ่งประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
เมตตาหรือไมตรีนั้น คือ ความตั้งใจที่จะนำความสุขมาให้แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นความตั้งใจที่เกิดจากการรับฟังเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง (deep listening) เพื่อที่จะรับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้อื่น และสามารถพิจารณาได้ว่าอะไรที่เราควรทำและไม่ควรทำ ถ้าเรามอบของบางอย่างให้แก่คนที่เรารัก ทั้งๆ ที่เขาไม่ต้องการมัน ก็ไม่นับเป็นไมตรี เราจะต้องแลเห็นถึงสภาพที่แท้จริงของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นสิ่งที่มอบให้แก่เขา จะทำให้เขากลับเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น ดังนั้นการช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยของเรา จึงต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถรับรู้ความต้องการของเขา และสามารถช่วยได้อย่างแท้จริง
ถัดจากนั้นคือ ความกรุณา เป็นความปรารถนาที่จะขจัดทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นในรูปของความคิดหรือการกระทำ ดังเช่นความกรุณาที่พี่น้องชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ร่วมแรงร่วมใจ เป็นอาสาสมัครในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่มีค่าเหนือกว่าคำปลอบประโลมทั้งปวง เมื่อเราต่างมีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณา เพียงแค่การการกระทำที่แสดงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ก็จะสามารถสลายความทุกข์ให้แก่กันและกันได้ระดับหนึ่ง หากจะต้องอาศัยสติปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรอง จึงจะทำให้ความความช่วยเหลือนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด
อีกส่วนหนึ่งของรักแท้คือ มุทิตา เป็นความยินดีที่เห็นผู้อื่นมีความสุข เห็นเขาประสบความสำเร็จมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็พลอยแช่มชื่นเบิกบานใจด้วย พร้อมที่จะสนับสนุน โดยปราศจากความริษยากีดกัน มุทิตานั้น เป็นความรู้สึกเบิกบานที่ราคาถูกที่สุดในโลกแต่มีคุณค่ามหาศาล จะทำให้สรรพสัตว์สุขสงบ และปราศจากความเย็นชาเศร้าหมอง หากความรักของเรายังไม่สามารถทำให้เกิดความเบิกบานเป็นสุขได้ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นรักแท้ ดังเช่นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้น ความยินดีจักเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทั้งเขาและเราต่างมีความสุขเบิกบานด้วยกันทั้งสองฝ่าย
สุดท้ายคือ อุเบกขา หรือการวางเฉย ที่มิใช่ความไม่ใส่ใจหรือการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่หมายถึงการวางเฉยต่อความลำเอียงของตนเองและผู้อื่น มีความสงบนิ่งในจิตใจ มีความเป็นกลาง มีสติ มีปัญญา และปราศจากอคติทั้งปวง เมื่อจิตสงบนิ่งดังน้ำที่ใสบริสุทธิ์ จะสามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ อุเบกขานั้น จะทำให้สรรพสัตว์ปราศจากความยึดติด ครอบครอง ความเกลียดชัง โทสะ และความยึดมั่นถือมั่นในจิตใจ และจะช่วยให้มนุษย์สามารถวางตัวต่อเหตุการณ์มหันตภัยในครั้งนี้ได้อย่างเหมาะสม ไม่เดือดเนื้อร้อนใจโลดแล่นไปตามความทุกข์ที่เกิดขึ้น และเมื่อเห็นสภาพของความเป็นจริงแล้ว จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างมีสมดุลย์ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
พรหมวิหารสี่ เป็นรักแท้ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษยชาติ แม้ในยามปกติ มนุษย์ควรมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อกันและกัน ไม่ควรจำกัดขอบเขตอยู่ที่ครอบครัว ญาติพี่น้อง คนรัก หรือเพื่อนร่วมชาติ ร่วมศาสนาเท่านั้น แต่ควรจะขยายขอบเขตสู่มวลมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และธรรมชาติทั้งปวง โดยปราศจากการแบ่งแยก ไม่ยึดติด จะทำให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ ความผิดหวัง ชีวิตจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความเบิกบานและความพึงพอใจ บังเกิดพลังแห่งความรักที่แท้จริง วิธีการหนึ่งที่พระคุณเจ้าติช นัท ฮันห์แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักอย่างง่ายๆ คือการแผ่เมตตาให้กับธรรมชาติและสรรพสัตว์ ด้วยการสัมผัสพื้นดิน เป็นการจรดหน้าผาก ขาและมือทั้งสองข้างแนบกับพื้น และระลึกถึงความจริงที่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของพระแม่ธรณี ไม่ได้แยกขาดจากกัน เป็นการนอบน้อม ยอมศิโรราบให้กับธรรมชาติ ละวางความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความริษยา และความยึดมั่นถือมั่นลง เพื่อเปิดหัวใจให้พบกับพลังแห่งความรัก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสรรพสัตว์ทั้งปวง
ในสถานการณ์เช่นนี้ เราสามารถแผ่เมตตาให้กับผู้ที่ประสบภัย ผู้ที่บาดเจ็บ ผู้ที่เสียชีวิตด้วยการสัมผัสพื้นดิน โดยส่งพลังความรักความเมตตาให้กับพวกเขา รวมทั้งเพื่อนมนุย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นการรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความรักของเราให้เจริญงอกงาม เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาทุกปัญหาด้วยความเบิกบาน เราสามารถปฏิบัติได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องไปไกลจากที่ๆ เราอยู่ จะทำให้เราพบกับพรหมวิหารสี่ อันจะเป็นพลังที่สามารถนำไปใช้กับสังคมที่เราเกี่ยวข้องได้ และหากเราช่วยกันพัฒนาบ่มเพาะพลังแห่งความรักที่แท้จริงนี้ เราจะไม่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ เมล็ดพันธุ์แห่งความรักจะแข็งแรงตระหง่าน ทนทานต่อคลื่นลมแล้งร้าย ไม่ว่ายุคใดสมัยใด โดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา
โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548
สึนามิ ทำให้คนจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องเจ็บปวด ระทมกับความทุกข์เศร้า ที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินและคนที่เป็นที่รักของเขา แต่สึนามิ ก็ช่วยทำให้คนไทยและคนทั่วโลกจำนวนมาก ได้มองเห็นความจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่ง
ความดีของความโหดร้ายของภัยธรรมชาติ คือการช่วยกระตุ้นจิตสำนึกแห่งความดีงาม ความเมตตาและความกรุณาของมนุษย์ ให้มีพลัง มีความเข้มแข็งมากขึ้น
เราได้เห็นคลื่นของอาสาสมัคร น้ำใจสาธารณะ พลังแห่งความดีงามซึ่งแฝงอยู่และเป็นศักยภาพฝ่ายดีของมนุษย์ ผุดปรากฏอย่างโดดเด่น ท่ามกลางความสับสน บนความสูญเสีย
คลื่นยักษ์สึนามิ สร้างความหายนะมากมายก็จริง แต่คลื่นความทุกข์ของผู้คนยิ่งใหญ่กว่าคลื่นยักษ์สึนามิ มากมายหลายเท่า เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นและหายไปในทันทีดั่งคลื่นสึนามิ แต่คลื่นความทุกข์ของคนจะคงอยู่และต่อเนื่องไปอีกนาน
คลื่นน้ำใจที่ไหลหลั่ง ยิ่งยิ่งใหญ่กว่าอีกหลายเท่า เพราะมันหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ จากผู้คนหลากเชื้อชาติ ต่างศาสนาและวัฒนธรรม ทั่วโลก
จะทำอย่างไร คลื่นน้ำใจ คลื่นความดีงาม และจิตสาธารณะที่เกิดปรากฏในเหตุการณ์เลวร้ายนี้ จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยชาติ และสรรพสิ่งจะได้ดำรงอยู่อย่างมีศานติสุข
เมื่อไหร่ความเมตตาที่ยั่งยืน (Sustainable Compassion) จึงจะเป็นวาระแห่งชาติ เป็นวาระของโลก
แต่ละประเทศน่าจะมี FCA (Free Compassion Agreement) ระหว่างกัน จะดีกว่ามี FTA (Free Trade Agreement) ใหม?
เพราะ FCA ไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned) แต่ FTA มีเงื่อนไข (Conditioned) เพราะกลัวเสียเปรียบแต่ในขณะเดียวกันอยากได้เปรียบ
FTA ตั้งอยู่บนความโลภมากกว่าความลดละ เพราะต้องการได้ (Take) มากกว่าต้องการใ ห้(Give) แต่ FCA ให้โดยไม่มีเงื่อนไข จึงไม่มีการเจรจาต่อรอง (Negotiation)
แวบแรก ผมรู้สึกโกรธ ที่รัฐบาลไทย โดยท่านนายกทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ เพราะเขาต้องการช่วยและให้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้ให้รัฐบาล แต่รัฐบาลอ้างศักดิ์ศรี และกลัวจะมีเงื่อนไขกับการเจรจาต่อรองเรื่องต่างๆ กับรัฐบาลในภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้นยังเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศยุโรปบางคนเปลี่ยนจากความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยตรง ไปเป็นขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีการค้า การนำเข้ากุ้งจากประเทศไทยสู่ยุโรป ซึ่งเป็นระดับใหญ่ (Macro) กว่าในเชิงเศรษฐกิจ
แต่พอมีสติก็คิดได้ และเข้าใจได้ว่า แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมองและคิดเหมือนกัน รัฐบาลก็อาจมีเจตนาดีเหมือนกัน แต่วิธีคิดและวิธีทำแตกต่างกัน ในเรื่องนี้รัฐบาลอาจจะคิดและทำในระดับ Macro แต่เป็นการคิดแบบแยกส่วนและเน้นโดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ ส่วนผมคิดระดับ Micro กว่า แต่เป็นการคิดแบบเชื่อมโยงสัมพันธ์ที่เน้นน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ทำนองเดียวกับที่เมื่อฟังเพลงของคุณยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) ที่ออกเสียงคำว่า "สึนามิ" เป็น "ซูนามิ" และมีคำบรรยายเชิงสัญลักษณ์ ว่าท้องฟ้า "มืดมัว" แล้วประทับใจในความสามารถที่เขาถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างยอดเยี่ยมในเวลาสั้นๆ ยิ่งรู้เบื้องหลังการถ่ายทำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกุศลจิตของคุณแอ๊ดและเพื่อนๆ ยิ่งประทับใจ ฟังแล้วได้อารมณ์ น้ำตาซึม แต่พอได้ฟังคำวิจารณ์ของบางคนที่วิจารณ์เกี่ยวกับภาษา โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงภาษาญี่ปุ่นที่ "ถูกต้อง" และ "ความเป็นจริง" ของสภาพท้องฟ้าที่ไม่ได้ "มืดมน" ในวันนั้น ก็หงุดหงิดขึ้นมาทันที
แต่เมื่อมีสติก็เข้าใจและยอมรับได้ในเจตนาที่ดีของผู้วิจารณ์
คนเราอาจจะมองเห็น รับรู้ คิดและตีความในสิ่งที่สัมผัสแตกต่างกันออกไป เพียงแต่ว่าการมองเห็นและเข้าใจสรรพสิ่งในลักษณะที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม น่าจะสมบูรณ์มากกว่าการมองแบบแยกส่วน เช่นถ้าเรามองทุกสิ่งเฉพาะแต่ในแง่ของความจริง (TheTrue-Objectivity-It) ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ไม่เห็น ไม่รับรู้ ไม่ยอมรับในแง่ของความงาม (The Beautiful - Subjectivity-I) และในแง่ของความดี(TheGood-Intersubjectivity-We) ทุกอย่างก็คงแข็งกระด้าง แห้งแล้ง หรือถ้าเรามองโลกแต่ในแง่ความงามความสุนทรีย์อย่างเดียว โดยไม่พิจารณาในแง่ของความจริง และ/หรือความดี ก็อาจจะกลายเป็นความเลื่อนลอย เป็นเรื่องอารมณ์ และความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน หาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้
ทำไมไม่มองเห็นความสวยงาม และความดีในความจริง
ทำไมไม่มองเห็นความจริง ในความสวยงามและความดี
เพราะทุกสิ่งมันมีความจริง ความดีและความงาม เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นองค์รวมและเป็นส่วนย่อยของสิ่งที่ใหม่และใหญ่กว่า ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด
เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด
สึนามิ น้ำท่วมฉับพลัน วาตภัย ภาวะแห้งแล้ง แผ่นดินถล่ม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด จะเกิดจากอะไรก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบาย (Describe) บางเรื่องทำนาย (Predict) และควบคุม (Control) ได้ แต่บางเรื่องก็ยังอธิบาย ทำนายและควบคุมไม่ได้
หรือจริงๆ แล้วปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านั้น เป็นการสื่อสาร เป็นสัญญาณจากธรรมชาติว่ากำลังจัดระบบตนเอง (Self Regulation) จากสภาวะที่ยุ่งเหยิงและสับสน (Chaos) เพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุลที่เป็นพลวัต (Dynamic Equilibrium) และไหลเลื่อนเคลื่อนไป
ธรรมชาติชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างจักรวาล โลก น้ำ ฟ้า ป่า ดิน สัตว์ คน หรือความสัมพันธ์ระหว่างฝน สึนามิ ยายหอม มิสเตอร์ที ปลา แบคทีเรีย เมล็ดทราย DNA เสียงสวดมนต์ … เมื่อไหร่ที่ความสัมพันธ์สั่นคลอน มันกระทบถึงกันหมด
สึนามิ สื่อสารว่าธรรมชาติกำลังพยายามรักษาความสัมพันธ์ให้สมดุลอยู่ใช่หรือไม่
มนุษย์มีส่วนทำให้โลกขาดสมดุลมากเกินไปใช่ไหม ด้วยการเผาไม้ ทำลายป่า ด้วยการตักตวง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั้งคิด ไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ และโดยเฉพาะกับระบบนิเวศที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเพราะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เมื่อเราทำร้ายหรือทำลายส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบ มันส่งผลกระทบถึงกันทั้งระบบ
มนุษย์กำลังเอาเปรียบธรรมชาติมากเกินไปใช่หรือไม่
มนุษย์น่าจะทำ FCA กับธรรมชาติดูบ้าง
และถ้าลองคิดต่อยอดออกไป มนุษย์กำลังคิดและเดินผิดทางอยู่หรือเปล่า เรากำลังหลงติด ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาจนถอนตัวไม่ขึ้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือวัฒนธรรมทางความคิดที่เน้นความเร็ว ความใหญ่ เหนือความช้า ความเล็ก เน้นมูลค่ามากกว่าคุณค่า เน้นการพัฒนาทางวัตถุมากกว่าจิตใจ เน้นความเป็นหนึ่งเหนือมากกว่าความเสมอภาค และไมตรีสัมพันธ์ เน้นการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายมากกว่าการทำสิ่งที่ถูกต้อง เน้นความเหมือนและมาตรฐาน มากกว่าความแตกต่างและความหลากหลาย…
เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีสติ อย่างมีปัญญา กับโลกแห่งความเป็นจริง หรือจะอยู่อย่างขาดสติ ขาดปัญญากับโลกเสมือนจริง (Virtual World) ที่เราคิดและสร้างขึ้นจากฐานความรู้ (Knowledge Based) แต่มิได้อยู่บนฐานปัญญา (Wisdom Based) ที่รู้เท่าทันความเป็นไปของธรรมชาติและผลกระทบเชิงสัมพันธ์และสร้างสรรค์ในระยะยาว