จิตสำนึกใหม่หลังภัยสึนามิ

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2548

ไม่มีภัยพิบัติจากธรรมชาติครั้งใดสร้างความพินาศอย่างมหาศาลและกว้างขวางเท่าคลื่นสึนามิครั้งล่าสุด ขณะเดียวกันก็ไม่มีครั้งใดที่มนุษยชาติจะร่วมกันกอบกู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเท่ากับครั้งนี้

หลังจากคลื่นสึนามิกลับคืนสู่มหาสมุทร คลื่นน้ำใจและความช่วยเหลือก็ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทุกทางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดกับที่เมืองไทยเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาประชากรไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามกล่าวว่าได้บริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ แต่ในอังกฤษจำนวนผู้บริจาคเงินสูงถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากร เงินที่หลั่งไหลมาอย่างมหาศาลและรวดเร็วทำให้องค์กรบรรเทาทุกข์หลายแห่ง เช่น กาชาดสากล อ๊อกซ์แฟม รับมือแทบไม่ทัน และในชั่วเวลาไม่นานก็ต้องประกาศหยุดรับบริจาค เพราะเงินที่ได้รับนั้นสูงถึง ๒๐ เท่าของจำนวนที่ต้องการ ขณะเดียวกันอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศต่าง ๆ ก็มีอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมผู้คนแทบทุกสาขาอาชีพ จนหลายแห่งเกิดปัญหาคนล้นงาน

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วทั้งโลกครั้งนี้ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับหายนะภัยครั้งใหญ่ ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น ที่โซมาเลีย รวันดา เอธิโอเปีย หรือแม้แต่กัมพูชา หายนะภัยครั้งนั้นมีคนตายเป็นล้าน ๆ มากกว่ากรณีสึนามิหลายเท่า แต่เหตุใดความช่วยเหลือหรือแม้แต่ความใส่ใจจากนานาชาติจึงมีน้อยกว่ามาก เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือหายนะภัยเหล่านั้นเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางด้านสีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และอุดมการณ์ ประเด็นความขัดแย้งเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่เฉพาะในดินแดนที่เกิดเหตุเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์ในประเทศต่าง ๆ ก็แบ่งฝ่ายด้วยเช่นกัน แม้จะมีจำนวนมากที่เห็นอกเห็นใจผู้ที่ถูกฆ่า ถูกทรมาน หรือถูกกดขี่บีฑา แต่คนที่เห็นด้วยหรือเข้าข้างผู้กระทำการอันโหดร้ายดังกล่าว (ซึ่งมักมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ) ก็มีอยู่ไม่น้อย พอลพตถึงจะโหดร้ายอย่างไร ก็ยังมีรัฐบาลและประชาชนในประเทศต่าง ๆ สนับสนุนไม่น้อยเพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน

แต่กรณีสึนามินั้น “ผู้ร้าย”คือธรรมชาติ ขณะที่ “เหยื่อ” เป็นมนุษย์ ความรู้สึกว่า “เหยื่อ”ทั้งหลายเป็นพวกเดียวกับเราจึงเกิดขึ้นในความรู้สึกของคนทั้งโลก (ผิดกับหายนะภัยที่โซมาเลียหรือรวันดา คนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รู้สึกว่า “เหยื่อ”ในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “พวกเรา” ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า เหยื่อเหล่านั้นเป็น “พวกมัน” ที่สมควรได้รับโทษทัณฑ์) ด้วยเหตุนี้จึงพร้อมที่จะช่วยผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

ภัยธรรมชาตินั้นสามารถดึงเอาความร่วมมือจากผู้คนมาได้กว้างขวางกว่า เพราะไม่มีใครที่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับคลื่นยักษ์ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด มีแต่ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับผู้ประสบเคราะห์เพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นี้แหละที่ไม่เพียงชักนำผู้คนทั้งโลกให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ประสบภัยสึนาเท่านั้น หากยังดึงเงินออกจากกระเป๋าของคนเหล่านี้ จนแทบไม่มีเงินแบ่งปันให้แก่ผู้ประสบภัยด้านอื่น ๆ ในขณะนี้ ผลก็คือช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเงินบริจาคให้แก่องค์กรบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้อดอยากหิวโหยในทวีปแอฟริกาลดลงอย่างเห็นได้ชัด มองในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะในเมื่อรัฐบาลในประเทศเหล่านี้เป็นตัวการสร้างความทุกข์แก่ผู้คน จึงไม่ค่อยมีคนไว้ใจที่จะบริจาคเงินเพราะกลัวจะไปไม่ถึงคนที่เดือดร้อน หากแต่ไปเข้ากระเป๋านักการเมืองมากกว่า

อย่างไรก็ตามมีภัยธรรมชาติหลายครั้งที่ไม่สามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเท่ากับภัยจากสึนามิครั้งนี้ เช่น แผ่นดินไหวที่อิหร่านเมื่อสองปีก่อน แน่นอนว่าจำนวนคนที่ตายถึงสามแสนคนและเดือดร้อนนับล้าน เป็นเหตุผลประการหนึ่ง แต่ที่จริงการช่วยเหลือจากนานาชาติหลั่งไหลเข้ามาก่อนที่ยอดคนตายจะพุ่งถึงแสนด้วยซ้ำ การที่คลื่นสึนามิก่อภัยพิบัติข้ามทวีปจากสุมาตราถึงโซมาเลีย เป็นมหันตภัยระดับนานาชาติ มิใช่เป็นแค่ภัยพิบัติท้องถิ่น น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่กระตุ้นความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกได้มากกว่า

เป็นไปได้ไหมว่าความตื่นตัวของผู้คนทั่วโลกเกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะประจักษ์ว่ามหันตภัยครั้งนี้ “ใกล้ตัว” อย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน แม้อยู่ยุโรปหรืออเมริกาซึ่งคลื่นสึนามิซัดมาไม่ถึง แต่ก็หนีไม่พ้นความพลัดพรากสูญเสีย เพราะญาติมิตรหรือเพื่อนของเพื่อนก็เป็น “เหยื่อ” ของสึนามิด้วยเช่นกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง มหันตภัยสึนามิไม่เพียงตอกย้ำว่ามนุษย์นั้นเล็กกะจิริดเมื่ออยู่ต่อหน้าธรรมชาติเท่านั้น หากยังเหมือนกับจะเตือนต่อไปอีกด้วยว่า มหันตภัยจากธรรมชาติยังจะมีมาอีกและมีอานุภาพทำลายล้างอย่างกว้างขวางจนยากที่จะหนีพ้นไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ไม่มีใครที่สามารถแน่ใจได้ว่าตนจะปลอดภัยจากมหันตภัยครั้งต่อไป

มหันตภัยจากธรรมชาติดูเหมือนกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า ไม่ว่าไข้หวัดใหญ่ชนิดร้ายแรง ซึ่งคาดว่ากำลังจะหวนกลับมา (หลังจากที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปไม่ต่ำกว่า ๒๐ ล้านคนเมื่อเกือบ ๙๐ ปีก่อน) ความผันผวนของฤดูกาลและการเพิ่มระดับของน้ำทะเลเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มหันตภัยเหล่านี้กำลังเรียกร้องจิตสำนึกใหม่จากมนุษย์ทั่วทั้งโลก ได้แก่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะเพื่อนร่วมโลกและร่วมชะตากรรมเดียวกัน

มหันตภัยสึนามิครั้งล่าสุดได้ทำให้การสู้รบระหว่างทมิฬกับสิงหลในศรีลังกา และสงครามกลางเมืองในสุมาตรา กลายเป็นสิ่งไร้ความชอบธรรม หรือถึงกับเป็นเรื่องไร้สาระไปทันที เพราะถึงที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็กลายเป็นเหยื่อของสึนามิเหมือนกัน และเมื่อกลายเป็นศพ ทุกคนก็เหมือนกันหมด ทั้งรูปร่างหน้าตา สีผิว เส้นผม และอาการ จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร หรือเคยมีหน้าตาอย่างไรมาก่อน

แท้จริงแล้วมนุษย์นั้นมีความเหมือนยิ่งกว่าความต่าง ไม่ใช่แค่ในยามสิ้นลมเท่านั้น แต่เป็นเพราะไปติดยึดในสมมติที่ต่างกัน เช่น ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม อุดมการณ์ หรือความแตกต่างเพียงพื้นผิว เช่น สีผิว หรือเชื้อชาติ เราจึงแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นเราเป็นเขา แล้วมาห้ำหั่นกัน เป็นเรื่องน่าอนาถหรือไม่ที่มนุษย์ทั้งโลกจะมารู้สึกว่าทุกคนเป็นพวกเดียวกันก็ต่อเมื่อถูกธรรมชาติทำร้าย แต่ก็ยังดีกว่าที่มาสำนึกได้ต่อเมื่อถูกโจมตีจากนอกโลก ไม่ว่าจากอุกกาบาตหรือมนุษย์ต่างดาว เพราะวันนั้นไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร

ปัญหาก็คือสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันจะอยู่ได้นานเท่าไรหลังภัยสึนามิผ่านไป โรคระบาดครั้งใหญ่หากเกิดขึ้นอาจทำให้ผู้คนรังเกียจเดียดฉันท์กันมากขึ้นเหมือนกับที่ได้กระทำกับผู้ติดเชื้อ HIV หรือซาส์มาแล้ว อย่างไรก็ตามประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาได้ชี้ว่า สมานฉันท์ของคนทั้งโลกนั้นไม่เพียงเป็นไปได้เท่านั้น หากยังสามารถกอบกู้สู้ภัยได้ดีกว่า

สมานฉันท์ในกรณีสึนามินั้นเกิดขึ้นจากประชาชนคนเล็ก ๆ ทั่วโลก มิใช่จากรัฐบาล ขณะที่ประชาชนควักเงินบริจาคทันที แต่รัฐบาลต่าง ๆ กลับให้คำมั่นสัญญา ปรากฏการณ์ดังกล่าวตอกย้ำแก่เราว่าจิตสำนึกใหม่นั้นจะยั่งยืนและเติบใหญ่ได้ก็เพราะประชาชนคนเล็ก ๆ ทั่วทั้งโลกประสานกันเป็นเครือข่ายชนิดที่ไปพ้นสมมติหรือเส้นแบ่งทั้งปวง

มนุษย์มักต้องการวิกฤตเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ แต่จิตสำนึกใหม่ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิกฤตเสมอไป ขอเพียงแต่มีคนเล็ก ๆ ที่ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายการติดต่อที่เข้มแข็งมั่นคง ก็อาจสร้างผลกระทบอันกว้างไกลได้ ใช่หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกนั้นเริ่มต้นจากคนเล็ก ๆ ที่มีเจตนารมณ์แรงกล้าเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ศาสดาของทุกศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งชัยชนะของคนเล็ก ๆ ที่มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัยและยังจะเกิดขึ้นต่อไป

Back to Top