โศกนาฏกรรมอันดามัน: ความทุกข์ ความหมาย กับการเยียวยา

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548

บ่อยครั้งที่วิกฤตการณ์ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนเรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ อุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ความเจ็บป่วยรุนแรงที่คุกคามชีวิต หรือการเผชิญกับความตายอย่างปัจจุบันทันด่วน

ยิ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในขอบเขตที่ไม่คาดฝัน ก็ยิ่งทำให้ความเป็นจริงบางอย่างของชีวิตที่เราแทบจะไม่เคยนึกถึงเพราะถูกมายาของชีวิตที่ราบรื่นเป็นปรกติปกปิดไว้ กลับปรากฏให้เราเห็นและฉุดให้เราต้องทบทวนถึงสาระสำคัญของชีวิตที่เราหลงลืมไป ในยามปรกติ

เหตุการณ์คลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดียที่ผ่านมานับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงคาบสมุทรอินเดีย และอาฟริกาใต้ หากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็มากกว่า ๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้มากถึงเกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน

มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิรวมกัน

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังความเศร้าโศกเสียใจและความทุกข์ยากแก่ผู้ประสบภัยและความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั้งโลก ภาพคนนั่งร้องไห้อยู่กับซากปรักหักพังของบ้านเรือน สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ดิ้นรนก่อร่างสร้างตัวมา บางคนเดินอย่างท้อแท้เพราะสิ้นหวังที่จะได้พบ สามี ภรรยาหรือลูกที่เพิ่งถูกคลื่นยักษ์ฉุดกระชากพรากไปจากมือซึ่งๆ หน้า บางคนสูญเสียครอบครัวเกือบทั้งหมด เด็กๆ ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ที่โชคดีรอดชีวิตมาได้จำนวนหนึ่งก็ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เป็นความทุกข์และความเจ็บปวดที่น่าเศร้าใจที่สุด

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รู้สึกและร่วมเจ็บปวดไปกับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นถึงความเปราะบางและความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตของเราเองอีกด้วย

ทั้งที่ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และความเปราะบางเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตที่ว่านี้อยู่ด้วยกับเราตลอดเวลา แต่เราก็เกือบไม่เคยนึกถึงมันเลย อาจเป็นเพราะชีวิตปรกติที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันทำให้เราลืมนึกถึงมันไป ต่อเมื่อมายาคติของความเป็นปรกติวิสัยนั้นพังครืนลงเพราะวิกฤตการณ์ เราจึงตกใจตื่นขึ้นมาเผชิญกับโลกของความเป็นจริง เป็นโลกใบที่แตกสลายที่ทำให้เราต้องสับสนและดิ้นรนหาทางปะติดปะต่อชิ้นส่วนชีวิตที่แตกหักกระจัดกระจายให้กลับคืนมาเป็นรูปเป็นร่างที่เราพอจะกัดฟันมีชีวิตต่อไปได้

ความสับสนและการดิ้นรนกอบกู้ชีวิตจากความสับสนแปลกแยกที่เกิดจากโลกใบเก่าพังลงไปนั้นมักปรากฏเป็นความพยายามที่จะตอบคำถามว่า “ทำไม”

หลังเกิดภัยพิบัติหรือโศกนาฏกรรมจึงมักมีคำถามที่เกิดขึ้นพร้อมกับความทุกข์และความเศร้าโศกเสียใจ เป็นคำถามหาเหตุผลที่ว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ได้” “ทำไมต้องเป็นฉัน หรือครอบครัวฉัน?” หรือบางครั้งก็เป็นการถามในเชิงความยุติธรรมและความถูกผิดชั่วดี เช่น “บาปกรรมอะไรของฉันหรือจึงต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมเช่นนี้” หรือ “มนุษย์ทำผิดอะไรหรือ พระเจ้าจึงลงโทษ…” “ทำไมเด็กไร้เดียงสาที่ไม่เคยก่อกรรมทำชั่วต้องมาตายไปเป็นจำนวนมาก” หรือ “มันยุติธรรมแล้วหรือที่คนดีๆ ต้องมาตายจากไป ทีคนชั่วเห็นลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม”

เพราะลึกลงไปในจิตสำนึกของมนุษย์นั้น เราใฝ่ฝันถึงโลกที่เป็นธรรมและชีวิตมีความหมายในเชิงมโนธรรม

การตั้งคำถามว่า “ทำไม” ในยามที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเช่นนี้เป็นลักษณะสากลของมนุษย์ คือพบเห็นได้ทั่วไปในทุกสังคม นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อ อีวานส์ พริตชาร์ด ได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่เรือนหลังหนึ่งพังลงทับคนพื้นเมืองชาวอะซานเดในอาฟริกาว่า สิ่งที่ชาวอะซานเดต้องการหาคำตอบเมื่อประสบอุบัติเหตุนั้น ไม่ใช่ข้อสงสัยที่ว่า เรือนไม้พังลงมาได้อย่างไร ซึ่งในกรณีที่ว่านี้ ชาวอะซานเดทุกคนก็อาจตอบได้ไม่ยากเป็นว่าเป็นเพราะเสาเรือนถูกปลวกกัดแทะและผุพังจนรองรับน้ำหนักของตัวเรือนไม่ไหว

แต่นี่ไม่ใช่คำถามหรือคำอธิบายโลกที่ชาวอะซานเดต้องการทราบ

คำถามที่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้สงสัยก็คือ “ทำไมต้องเป็นเรือนหลังนี้ ทำไมจึงพังลงตอนนั้น ทำไมต้องเป็นเวลาที่ชายคนนั้นนั่งอยู่ใต้เรือนหลังนั้นพอดี มีเรือนหลังอื่นอีกหลายหลังที่มีปลวกแทะเสาเรือนและมีเวลาอื่นอีกมากมาย”

พูดง่ายๆ คืออยากรู้ว่า ทำไมต้องเป็นตรงนี้ ตอนนี้และชายผู้เคราะห์ร้ายคนนี้

คำถามเหล่านี้สำคัญ เพราะมันเป็นคำถามที่ต้องการหา “คำอธิบาย” และ “ความหมาย” ของเหตุการณ์

การหาคำอธิบายและการทำให้เหตุการณ์มีความหมายที่มนุษย์เข้าใจได้มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตการณ์ที่ “โลกปรกติวิสัย” ถูกทำให้พังพาบลงจนชีวิตสับสน อย่างน้อยที่สุดการทำเหตุการณ์ที่ยากจะยอมรับได้ให้เป็นเรื่องที่มีคำอธิบายก็ช่วยปลอบประโลมและประสานโลกที่แตกร้าว ขาดวิ่น และกระจัดกระจายออกเป็นเสี้ยวส่วน ให้กลับมาประกอบกันเป็นโลกที่เราเข้าใจได้

การหาคำอธิบายที่เข้าใจได้และการทำให้เหตุการณ์มีความหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษาความเจ็บปวดบอบช้ำของโศกนาฏกรรมได้ทางหนึ่ง เพราะการเยียวยาคือการสมานให้ส่วนต่างๆ ของชีวิตที่ฉีกขาด ร้าวราน และเจ็บปวดให้กลับคืนมาบูรณาการกันเป็นชีวิตปรกติ

ทางหนึ่งที่จะเยียวยาโศกนาฏกรรมอันดามันได้ก็คือ ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีความหมายที่ดีงาม ให้ผู้ที่สูญเสียรู้และรู้สึกได้ว่าความทุกข์และความสูญเสียของเขานั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างสูญเปล่า

แต่เป็นความทุกข์และความสูญเสียที่เป็นไปโดยมีความดีงามก่อบังเกิดขึ้นเป็นสิ่งทดแทน

เพราะความดีมีสรรพคุณเยียวยาความทุกข์ได้

ที่สำคัญและต้องระมัดระวังไว้ให้มากก็คือ อย่าทะเลาะและทำร้ายกันเพราะอยากทำความดี

**********
เหตุผล กับข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์ในการเยียวยาความทุกข์

หลังเหตุการณ์สึนามิไม่กี่วัน มีบทความภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หัวเรื่องของบทความนั้นตั้งเป็นคำถามว่า

“How could God let this happen?”

ทำไมพระเจ้าจึงยอมให้เกิดเรื่องเช่นนี้ได้ !

คำถามลักษณะนี้ (คือการถามว่า “ทำไม”) ทำให้เห็นได้ไม่ยากว่า เมื่อเกิดโศกนาฏกรรม มนุษย์มักถามหาคำอธิบายที่มีความหมายทางจิตใจ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่ว่าคลื่นยักษ์สึนามิเป็นผลจากการเกิดแผ่นดินไหวใต้พื้นสมุทร แม้จะถูกต้องทางวิชาการ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสียในโศกนาฏกรรมอันดามันได้

เพราะหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นั้นเลือกตอบเฉพาะคำถามที่ว่า “อย่างไร” โดยไม่สนใจที่จะตอบคำถามว่า “ทำไม”

แต่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่คุกคามความมั่นคงทางสังคมและจิตใจ เช่น ในกรณีของคลื่นยักษ์สึนามิที่ฆ่าผู้คนเกือบสามแสนคนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มนุษย์ไม่ได้ต้องการแค่คำอธิบายแบบสาเหตุและผลลัพธ์ (แผ่นดินไหวคือเหตุ ผลลัพธ์คือสึนามิ) แต่ยังต้องการคำอธิบายที่มีความหมายในเชิงคุณค่าด้วย

การหาคำอธิบายเช่นนี้ ก็เพื่อให้เหตุผลที่ยอมรับได้กับสิ่งที่ยอมรับได้ยาก

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะลึกลงไปแล้วมนุษย์เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะต้องมีเหตุผลไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง ในวัฒนธรรมต่างๆ จึงมีการให้คำอธิบายหรือเหตุผลแก่ปรากฏการณ์ต่างๆ ในหลากหลายลักษณะ ซึ่งต่างก็ให้คำตอบที่จับใจผู้คนแตกต่างกันไป และความพยายามที่จะหาเหตุผลก็มีมายาวนาน

อริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีกได้แจกแจง “เหตุ” ที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ออกเป็น ๔ ประเภทคือ

ระดับแรกคือ เหตุเชิงกายภาพ เช่น หากมีบ้านพังลงทับชาวบ้านเพราะเสาเรือนถูกปลวกกัดแทะจนผุพัง นี่ถือว่าเป็นเหตุเชิงกายภาพ ระดับที่สองคือ เหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ในกรณีนี้ก็คือการที่เสาเรือนเป็นสิ่งรองรับน้ำหนักของตัวบ้าน เพราะแม้ว่าตัวเสาจะผุพังเพราะมอดปลวก แต่หากเสาเรือนไม่ได้รับน้ำหนักของบ้านก็จะไม่ปรากฏการพังของบ้านให้เห็น ส่วนสาเหตุระดับที่สามเป็นสาเหตุเชิงกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ในกรณีนี้คือ การที่ของหนักเมื่อไม่มีสิ่งมารองรับย่อมตกลงสู่พื้นดิน

ถึงตรงนี้คงเห็นได้ไม่ยากว่าการจำแนกแจกแจงสาเหตุย่อมเป็นไปได้หลากหลายวิธีและแต่ละวิธีก็อาจมีความรัดกุมหรือกำกวมแตกต่างกันไป แต่สาเหตุตามความคิดของอริสโตเติลที่น่าสนใจนั้น คือสิ่งที่เขาเรียกว่า ที่สุดแห่งเหตุ (Final cause) หรือเราจะเรียกกลับกันว่าเหตุพื้นฐานก็น่าจะได้

สำหรับอริสโตเติลแล้ว ทุกสิ่งในโลกดำรงอยู่อย่างมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในตัวเองทั้งสิ้น และสรรพสิ่งในโลกล้วนดิ้นรนไปสู่เป้าหมายอันเปรียบเสมือนภารกิจที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เช่น เหตุอันเป็นพื้นฐานที่สุดของการที่บ้านพังลงก็เพราะสิ่งของที่มีน้ำหนักนั้นมีเป้าหมายคือการกลับไปอยู่ในสถานะหรือตำแหน่งอันเป็นที่พักถาวรของมัน ในโลกทัศน์แบบอริสโตเติลทุกสิ่งในโลกจึงมีเจตจำนงของมัน

ฟังดูอาจจะแปลกๆ อยู่บ้าง แต่แกก็คิดอย่างนี้จริง ๆ

จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่อง “ที่สุดแห่งเหตุ” ของอริสโตเติลนี้ ก็เป็นไปเพื่อตอบคำถามว่า “ทำไม” นั่นเอง เพราะเมื่อเราสืบสาวหาสาเหตุของปรากฏการณ์ไปเรื่อยๆ เราจะไม่สามารถหาคำตอบที่น่าพอใจได้จนกว่าเราจะรู้ว่า “ทำไม”

อย่างเมื่อครั้งที่นิวตันพยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่ลูกแอปเปิลหล่นลงพื้นดินแทนที่จะหลุดลอยออกไปนอกโลก จนต่อมากลายเป็นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่ว่าวัตถุมีมวลย่อมดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยแรงดึงดูดมีค่าแปรผันไปตามมวลของวัตถุ แม้ว่าทฤษฎีดังกล่าวจะผ่านการทดลองและพิสูจน์ได้จนเป็นที่เชื่อถือ แต่นิวตันเองก็มีความข้องใจไม่น้อยว่า “ทำไม” มวลของสสารจึงดึงดูดกัน

พูดง่ายๆ แกยังงงและสงสัยว่า ใครทำให้มันดึงดูดกัน (วะ)

ความที่แกนับถือพระเจ้า นิวตันจึงแก้ปัญหาที่แกคิดไม่ตกนี้โดยการยกให้เป็นผลงานของพระเจ้าที่ทำให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่มันเป็น

จะว่านิวตันยกให้พระเจ้าเป็นคำตอบสุดท้ายก็ได้

และคำตอบสุดท้ายที่ว่านี้ก็คือ การตอบคำถามว่า “ทำไม”

ที่น่าสนใจก็คือว่า นักวิทยาศาสตร์ยุคต่อมานั้นกลับปฏิเสธพระเจ้ายิ่งกว่าตัวนิวตันเองเสียอีก และถือว่า “ที่สุดแห่งเหตุ” นั้นไม่มีและไม่ใช่สิ่งที่ควรใส่ใจ เพราะไม่สามารถตรวจวัดได้ในเชิงประจักษ์

เมื่อตัดคำถามถึงที่สุดแห่งเหตุ (คือคำถามว่าทำไม) นี้ออกไป วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงเหลือแต่คำถามว่า “อย่างไร” หรือ “How” ไว้ให้ตอบ คือมุ่งอธิบายว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร เช่น จักรภพเกิดได้อย่างไร วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างแรง มวล กับความเร่งเป็นอย่างไร

แต่วิทยาศาสตร์ จะไม่เคยถามและไม่อาจตอบคำถามว่า “ทำไม”

แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “อย่างไร” จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็ใช้แทนความสงสัยเรื่อง “ทำไม” ที่มักโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในยามวิกฤตไม่ได้

สึนามิเกิดได้อย่างไร เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก แต่คำถามที่ว่า “ทำไม” เช่น ทำไมต้องมาเกิดตอนรุ่งเช้าหลังวันคริสต์มาส ทำไมต้องเป็นที่นี่ หรือทำไมต้องเป็นเรา นี่สิ ยากที่จะตอบเป็นคำตอบเดียวได้

แต่ถึงตอบได้ยาก ผู้คนก็ยังต้องดิ้นรนหาคำตอบ

เพราะมันมีความหมายสำคัญสำหรับการเยียวยาความทุกข์

เมื่อวิทยาศาสตร์ปฏิเสธที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้ ผู้คนก็ไปแสวงหาคำอธิบายจากที่อื่น ๆ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เพื่อบอกว่า คำถามว่า “ทำไม” นี้มีความสำคัญ เพราะเป็นคำถามที่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ เพราะเมื่อเข้าใจได้ก็ยอมรับได้ คล้ายกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า

If you know the WHY of your life, you can live with any what and how.

ถ้าเราเข้าใจได้ว่าทำไม เราก็พอจะกล้ำกลืนทนอยู่กับชีวิตที่มีสุขบ้างทุกข์บ้างปนกันไปได้

หรืออย่างที่ อาจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เคยบอกไว้

“ความรู้ไม่ได้มีไว้เพื่อ“ยาไส้” อย่างเดียว แต่ยังจำเป็นสำหรับใช้ “ยาใจ” ด้วย”

Back to Top