โดย
ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2556
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีการเดินเท้าเพื่อความเป็นธรรมร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คนในอินเดีย เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียหลังประกาศเอกราช และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันก็ว่าได้
การเดินเท้าดังกล่าวตั้งต้นที่เมืองกวาลิเออร์และมีเป้าหมายที่นครนิวเดลี – เมืองหลวงและที่ตั้งของรัฐสภาอินเดีย – รวมระยะทาง ๓๕๐ กิโลเมตร ผู้คนที่มาร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและดาลิต (จัณฑาล) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน
สาเหตุน่ะหรือ? - อินเดียประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรที่ดินอย่างหนัก ในช่วง ๖๕ ปีที่ผ่านมา ผู้คน ๑๔ ล้านคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากชาวนา โดยมีคนราว ๒๑.๓ ล้านคนต้องย้ายที่อยู่เพราะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ สถิติในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ พบว่าชาวนา ๒๖๐,๐๐๐ คนฆ่าตัวตาย กล่าวโดยสรุป ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและยังต้องรอการชดเชยจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสลัมอินเดียจึงมีมากมายและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก
เป้าหมายของการเดินที่เรียกว่า ชนะเดช ๒๐๑๒ (Janadesh) – คำพิพากษาของปวงชน – ก็คือ การเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินระดับชาติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลุ่มคนยากจนที่ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มประชากรชายขอบทั้งหลายเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพ
ผลก็คือ หลังจากเริ่มเดินได้ ๗ วัน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับผู้นำภาคประชาชนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ขบวนทั้งหมดจึงหยุดที่เมืองอัครา
ผู้คนที่ยากไร้ ๑๐๐,๐๐๐ คนออกมาเดินพร้อมกันได้อย่างไร? – กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของ
เอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) แปลว่า สภาสมานฉันท์ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ประกอบด้วยองค์กรชุมชนราว ๑๑,๐๐๐ แห่ง เป็นเครือข่ายครอบคลุมกว่า ๑๑ รัฐ ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยราชโคปาล (Rajagopal) นักปฏิบัติการทางสังคมที่สมาทานสันติวิธีตามแนวทางของคานธี
เอ็กตา ปาริฉัด มีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมผ่านการเสริมพลังอำนาจการต่อรองของกลุ่มคนในสังคมและเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตนเอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนยึดแนวทางสันติวิธีของคานธีที่ปฏิเสธความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร หากหมายถึง
เมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งก็คือความรุนแรงทางโครงสร้าง ก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของอินเดีย หากยังเพื่อประโยชน์ของโลกอีกด้วย
การเดินทางสู่ความฝันของเอ็กตา ปาริฉัด มุ่งเน้นการทำงานกับ “คน” โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ในชุมชน ทั้งกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกขับไล่ออกมาจากป่าหลังจากรัฐประกาศให้เป็นป่า
สงวนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มดาลิตที่อยู่นอกระบบวรรณะของฮินดู และเป็นการทำงานที่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก
ด้วยเหตุนี้เอง ก่อนการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คน เพื่อเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน จึงมีการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๒๕,๐๐๐ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ การเตรียมการก่อนเดินแต่ละครั้งประกอบด้วยการเดินเท้าย่อยๆ ในแต่ละรัฐ บุคลากรของเอ็กตา ปาริฉัด จะลงไปในแต่ละหมู่บ้านเพื่อจัดเตรียมความพร้อมของผู้คนและชุมชน ตั้งแต่สนับสนุนให้มีองค์กรระดับหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เก็บเงินวันละ ๑ รูปี หรือข้าว ๑ กำมือจากแต่ละครอบครัว และข้าววันละ ๕ กิโลกรัมจากแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นเสบียงกรังระหว่างการเดินเท้า มีการเขียนคำขวัญของขบวนการไว้บนกำแพงบ้าน ติดธงสีเขียวพร้อมสัญลักษณ์ที่หน้าบ้าน มีการประชุมหมู่บ้านและจัดทำบันทึก ตลอดจนสวดมนต์ ร้องเพลงประจำขบวนการ และเปล่งคำขวัญอย่างสม่ำเสมอ นี้ยังไม่นับการพัฒนาศักยภาพผู้นำและภาวะการนำ ที่มีหลักสูตรและกระบวนการคัดเลือกคนโดยชุมชนอย่างชัดเจน – กระบวนการตระเตรียมเหล่านี้ใช้เวลาสองปีบ้าง ห้าปีบ้าง ไม่ใช้เงินเป็นหลักในการขับเคลื่อน แต่มุ่งที่การเสริมพลังอำนาจภายในของผู้คน เป็นการจัดตั้งมวลชนอย่างละเอียดประณีตมากทีเดียว
เอ็กตา ปาริฉัด ให้ความสำคัญต่อสันติวิธีตามแนวทางคานธีมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านตั้งแต่ระดับฐานล่าง การนำพาผู้คนเข้าสู่ปฏิบัติการเดินเท้าอย่างสันติวิธีในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็คือการฝึกฝนเตรียมความพร้อมของผู้คนนั่นเอง สำหรับชาวบ้านผู้ยากไร้และขาดทักษะในการอ่านเขียน การนำพาตัวเองเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการจริงจึงเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ในปฏิบัติการแต่ละครั้งจึงไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย
เมื่อสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อยจากปฏิบัติการจากระดับเล็กมาสู่ใหญ่ คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ก็เกิดความมั่นใจ เกิดเป็น
อำนาจภายในที่มีพลังในตัวของแต่ละบุคคล และเมื่อก่อตัวขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน/ขบวน ที่มีกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันและตัดสินใจร่วมกัน ก็นำไปสู่
อำนาจร่วมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทั่งสามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าอย่างเช่นอำนาจรัฐได้ – และทั้งหมดก็คือการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นเอง
ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก ต้องลงทุนลงแรงสูง และใช้เวลามาก การสร้างการเปลี่ยนแปลงกระแสหลักจึงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วัดผลสำเร็จที่การปรับแก้หรือออกกลไก/นโยบาย/มาตรการใหม่ ซึ่งหลายครั้งพบว่ากลไกไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง กฎหมายหรือนโยบายไม่ถูกนำไปบังคับใช้ หรือมีการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ จะว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นเพราะได้ละเลยการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกนั่นเอง นั่นคือ แม้ว่าจะเกิดแนวนโยบายใหม่และอาจกล่าวได้ว่า สังคมมีการพัฒนาขึ้นแต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะประสบผลหรือทรงพลังก็ต่อเมื่อผู้ที่ประสบความทุกข์หรือเจ้าของปัญหาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ผู้ประสบความทุกข์โดยมากมักเป็นคนยากไร้ คนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ ไร้ตัวตน ไร้เสียง ไร้พื้นที่แสดงตัว ซึ่งนอกจากจะเกิดจากโครงสร้างอยุติธรรมที่กดทับแล้ว ยังเกิดจากจิตสำนึกที่กดทับตัวเองด้วย การสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกจึงต้องมุ่งเน้นเจ้าของปัญหาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งนี้ ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ หรือปัญญาชน ก็ต้องมีหน้าที่ในการเป็นผู้สนับสนุนให้เกิด
กระบวนการที่นำไปสู่การฟื้นฟูพลังอำนาจภายในของกลุ่มคนชายขอบ และช่วยกันสร้าง
ระบบที่เอื้อต่อการใช้อำนาจหรือการตัดสินใจร่วมกันให้มากที่สุด
หากถามว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ไหมในเมืองไทย? - ก็คงต้องชวนให้หันไปดูอินเดีย ประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ยากไร้ แต่ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งอย่างเอ็กตา ปาริฉัด ประเทศที่เต็มไปด้วยความทุกข์ของผู้คนจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังมุ่งหวังถึงสังคมที่เป็นธรรมอย่างไม่ท้อถอย ประเทศที่ดูงมงายไปด้วยลัทธิความเชื่อทางศาสนามากมายแถมไม่มีศาสนาประจำชาติ กลับมีศรัทธาอย่างเข้มแข็งในเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดศาสดาและผู้นำทางศาสนาจำนวนมากนี้ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการเดินไปด้วยกันของเพื่อนมนุษย์อันสามัญธรรมดานี้เอง