กุมภาพันธ์ 2017

ปฏิรูปการศึกษาไทย: การสะท้อนการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

ในฐานะที่เป็นคนไทย รู้สึกเจ็บปวดลึกๆ ทุกครั้งที่ได้ยินคนไทยด้วยกันพูดว่า ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา และยิ่งรู้สึกสะเทือนใจมากขึ้นเมื่อได้ยินชาวต่างชาติที่รู้จักและรักประเทศไทย พูดว่าประเทศไทยมีของดีมีคุณค่ามากมาย แต่คนไทยไม่เห็นคุณค่าและรักษาของดีเหล่านั้น แต่กลับไปไล่ล่าเลียนแบบฝรั่ง ไปติดกับดักความคิดและมาตรฐานภายนอกแบบตะวันตก

ทำไมเราต้องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบต่างๆ ตามเกณฑ์ ตามมาตรฐานของต่างชาติ ที่เรียกว่ามาตรฐานสากล? ทำไมต้องตามเขา? ทำไมไม่ทำของเราให้แตกต่าง ดี และมีคุณค่ามากพอที่ต่างชาติจะมาเทียบเคียงกับเราบ้าง? ประเทศฟินแลนด์พัฒนาระบบและจัดการศึกษาของเขาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่เลียนแบบใคร แต่กลับได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง ประเทศไทยควรเรียนรู้จากเขา ไม่ต้องเลียนแบบฟินแลนด์ เพราะบริบทของไทยไม่เหมือนเขา

เท่าที่ผมสังเกตจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความคิด ทฤษฎี หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีการดำเนินชีวิต เราก็มีความคิดจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ทันสิ่งใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

หรือเมื่อไรที่มีผลการจัดอันดับที่ไม่ดี เราก็คิดจะปฏิรูปเพื่อหวังจะให้มีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้น

อ่านต่อ »

“คุณธรรม” ในสังคมพหุวัฒนธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560

“คุณธรรม” ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมมีลักษณะอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่นำมาชวนคิดชวนคุยในกลุ่มภาคีเครือข่ายและผู้เข้าร่วมงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และภาคีสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๑-๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการสื่อสารและสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กระบวนการพูดคุยในงานสมัชชาครั้งนี้ มีตั้งแต่การปาฐกถา การเสวนา และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เริ่มจากปาฐกถาเรื่อง “อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนสังคมพหุวัฒนธรรม” ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสาระสำคัญ ๓ เรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความเป็นพลเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้อาจมีความต่างกันเรื่องศาสนาหรือชาติพันธุ์ แต่มีจุดร่วมกันในเรื่องของความเป็นพลเมือง

ศ.ดร.กนก ยังได้เสนอถึงการสร้างรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ว่าประกอบไปด้วย ๑. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับ ๒. การใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ปัญหา และ ๓. การสร้างความไว้วางใจ โดยมีกระบวนการสมัชชา การเสวนาสร้างสรรค์ และการศึกษาวิจัย เป็นเครื่องมือสนับสนุน

อ่านต่อ »

ชีวิตแห่งการตื่นรู้ ทำอย่างไรการตื่นรู้จึงจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน?



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560

ชีวิตช่วงนี้ของผู้เขียน เป็นช่วงของการปรับตัว เนื่องจากมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังใจ เพราะหากไม่ตื่นรู้มากพอ เวลาก็อาจจะไหลไปอย่างไม่รู้ตัว จนชีวิตเป็นไปอย่างหลับใหลดุจเดียวกับการละเมอเดิน

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงต้องภาวนา โดยมีเป้าหมายคือ การกลับมาอยู่กับความตื่นรู้ทุกครั้งที่ระลึกรู้ตัว สั่งสมวงจรสมองแห่งความตื่นรู้ ออกจากความหลับใหล จากการละเมอเดิน ออกจากยถากรรมความเคยชินเดิมๆ เพราะทุกครั้งที่ระลึกรู้ขึ้นมาได้ จะทำให้วงจรสมองแห่งการตื่นรู้เข้มแข็งขึ้นอีกหนึ่งหน่วยเสมอ เมื่อถึงวันหนึ่งที่บรรลุถึงจำนวนวิกฤตหนึ่ง (critical number) จะเกิดกระบวนการ Myelination กับวงจรสมอง คือการสร้างฉนวนหุ้ม ซึ่งทำให้สมองยกระดับการทำงานสูงขึ้นเป็นสามพันเท่าตัว กลายเป็นความสามารถพิเศษของความรู้ตัว ของการตื่นรู้อย่างยิ่งยวด อย่างไม่ธรรมดา หรืออย่างเซียน คือไปถึงระดับที่ว่า แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ยังตื่นรู้อยู่ คือการตื่นรู้ได้กลายมาเป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิตเราไปแล้ว

ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Practicing Mind โดย โธมัส สเตอเนอร์ (Thomas M. Sterner) เขานำเรื่องการปฏิบัติธรรมของโลกตะวันออกมาเขียนให้ชาวตะวันตกได้อย่างน่าอ่านมาก น่าจะมีใครนำมาแปลให้คนไทยได้อ่านกันด้วย เขามีวิธีอธิบายให้เห็นว่า เราสามารถฝึกฝนวงจรสมองแห่งการตื่นรู้ได้ในทุกๆ เรื่องที่เราทำ อย่างมีความสุข อย่างได้ความสำเร็จ ไปถึงระดับที่ชีวิตเราจะมีแต่ความสำเร็จและความสุขได้ในทุกๆ เรื่องราวที่เรากระทำ

อ่านต่อ »

Back to Top