โดย
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560
“คุณธรรม” ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมมีลักษณะอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่นำมาชวนคิดชวนคุยในกลุ่มภาคีเครือข่ายและผู้เข้าร่วมงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และภาคีสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๑-๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการสื่อสารและสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
กระบวนการพูดคุยในงานสมัชชาครั้งนี้ มีตั้งแต่การปาฐกถา การเสวนา และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เริ่มจากปาฐกถาเรื่อง “อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนสังคมพหุวัฒนธรรม” ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสาระสำคัญ ๓ เรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความเป็นพลเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้อาจมีความต่างกันเรื่องศาสนาหรือชาติพันธุ์ แต่มีจุดร่วมกันในเรื่องของความเป็นพลเมือง
ศ.ดร.กนก ยังได้เสนอถึงการสร้างรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ว่าประกอบไปด้วย ๑. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับ ๒. การใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ปัญหา และ ๓. การสร้างความไว้วางใจ โดยมีกระบวนการสมัชชา การเสวนาสร้างสรรค์ และการศึกษาวิจัย เป็นเครื่องมือสนับสนุน
ในส่วนของการเสวนาและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เขียนเข้ารับฟังในห้องย่อยเรื่อง “แนวทางการสร้างเสริมคุณธรรม-ความพอเพียง” วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน คือ ผศ.ดร.ณฐพงษ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และอาจารย์ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
ผศ.ดร.ณฐพงษ์ กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการสมัชชาคุณธรรม ว่าเป็นความพยายามเปิดพื้นที่พูดคุย ทำให้แนวทางการส่งเสริมคุณธรรม “ที่มีชีวิต” มีคนกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันหนุนเสริม และสร้างพลังในการขับเคลื่อนในรูปแบบของนโยบายสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมมีประเด็นสำคัญ ๒ เรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือ ๑. คุณธรรมมีความเป็นนามธรรม ยากต่อการกำหนดคุณลักษณะเป็นรูปธรรม ทำให้หลายครั้งการส่งเสริมคุณธรรมกลายเป็นเรื่องของ “คนดี” บางกลุ่มที่มากำหนดบรรทัดฐานความดีของสังคม ๒. การเสริมสร้างคุณธรรม มักมองว่า ปัญหาคุณธรรมเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคล มากกว่ามองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การมองปัญหาคนจนว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่มองเชื่อมโยงกับปัญหาการถือครองที่ดินในสังคมไทย ที่พบว่าที่ดินกระจุกตัวกับคนบางกลุ่ม ขณะที่คนจนจำนวนมากยังคงไร้ที่ดินทำกิน
การขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมจึงต้องไม่มองเรื่องคุณธรรมแบบหยุดนิ่งตายตัว หรือโหยหาตัวแบบเชิงอุดมคติ แต่การสร้างสังคมคุณธรรมต้องออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ตามพลวัตของสังคม โดยต้องมองข้ามปรากฏการณ์ที่เป็นมายาคติ ค้นหาปัญหาคุณธรรมร่วมกัน เพราะการเสริมสร้างคุณธรรมไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม ถ้าทำเช่นนั้นจะกลายเป็นปรากฏการณ์ฉาบฉวย การเสริมสร้างคุณธรรมต้องเชื่อมกับการพัฒนาชุมชน เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้นำ และเสริมสร้างความรู้เท่าทันของคนในสังคม
ผศ.ดร.ณฐพงษ์ นำเสนอตัวอย่างรูปธรรมของการทำงานร่วมกับชุมชน คือเครือข่ายชุมชนศรัทธา หรือ “กัมปงตักวา” ที่ใช้หลักศาสนาเป็นกลไกเชื่อมร้อยคนในชุมชนผ่าน ๔ เสาหลัก คือ ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม สมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และแกนนำชุมชน ในชุมชนจะมีการออกแบบกฎกติกา และตัวชี้วัดร่วมกัน เช่น การกำหนดร่วมกันว่าร้านค้าชุมชนจะปิดในวันศุกร์ช่วงบ่าย เพื่อเอื้อให้คนในชุมชนไปประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิด หรือการกำหนดร่วมกันให้ร้านค้าชุมชนงดจำหน่ายสุรา โดยผลที่เกิดขึ้น คือปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในชุมชนลดลง การไปละหมาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การให้ความสำคัญกับกลไกชุมชนจึงสำคัญมาก เพราะเป็นการผนึกกำลังเสริมสร้างคุณธรรมจากฐานล่าง เกิดเป็นคุณธรรมระดับชุมชน
อาจารย์ซอและห์ กล่าวถึงพหุวัฒนธรรมกับศาสนาอิสลามว่า พหุวัฒนธรรมคือความหลากหลาย อิสลามยอมรับว่าโลกมีความหลากหลาย และความหลากหลายคือความเป็นจริง และเป็นความสวยงาม ความหลากหลายยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดการรู้จักกัน
หลักการของคุณธรรม เกิดจากความเชื่อและความหวัง อิสลามให้ความสำคัญกับความเชื่อ ความศรัทธาที่โยงกับพระผู้เป็นเจ้าและโลกหน้า ความเชื่อต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นพลังมหาศาล ขณะที่ความเชื่อในนรก-สวรรค์ ทำให้เกิดการบริจาคโดยหวังว่าจะขึ้นสวรรค์ พลังเหล่านี้ทำให้เกิดทั้งความกลัวและความหวัง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นพลังควบคุมคุณธรรมที่ต้องมีความสมดุลกัน
ในประเด็นความพอเพียง ผศ.ดร.ณฐพงษ์ มีข้อเสนอว่า ๑. ต้องพิจารณาเรื่องความพอเพียง เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น เช่น การทำเรื่องชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” ที่เชื่อมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่ชุมชนคุณธรรมได้ในที่สุด ๒. ทำให้เรื่องความพอเพียงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นได้ที่ตนเอง ๓. รื้อมายาคติของโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม ๔. ขจัดความแย้งย้อนของสังคม เช่น การยกย่องเชิดชูเศรษฐี อดีตข้าราชการระดับสูงที่ไปทำนา โดยหลงลืมชาวนาทั่วไปที่ทำนาอยู่อีกมากมาย ๕. สร้างสภาวะและออกแบบสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการส่งเสริมความพอเพียงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม จนถึงระดับประเทศ ๖. แปลงความพอเพียงให้เป็นเรื่องรูปธรรม สู่ปฏิบัติการจริง ไม่ใช่การท่องจำ
ขณะที่อาจารย์ซอและห์ เสนอว่าเจ้าของทรัพย์สินต้องแบ่งปัน เชื่อมความมั่นคั่งกับความยากจน ทรัพย์สินของคนรวยต้องแบ่งปันให้คนยากจน เพื่อสร้างความสมดุล ความพอเพียง คือคุณธรรมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐต้องร่วมกันสร้าง
ช่วงเวทีแลกเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมได้เสนอความคิดเห็นถึงทิศทางการขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมว่าต้องทำให้เรื่องคุณธรรมอยู่ในวิถีชีวิต “ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมต้อง “ทำแบบรากหญ้า อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง” คือให้ชุมชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งนำเอามิติทางสังคมและวัฒนธรรมมาใช้ในการดำเนินงาน
เมื่อย้อนกลับไปคำถามที่ตั้งไว้ตอนต้นว่า “คุณธรรม” ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมมีลักษณะอย่างไร จะพบว่าข้อเสนอที่เกิดจากการปาฐกถา การเสวนา และเวทีแลกเปลี่ยน ไปในทิศทางเดียวกันว่า คุณธรรมที่ยึดโยงผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้ได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่หลักคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่ง แต่อยู่ที่กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การนิยามความหมาย และการกำหนดกติการ่วมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมได้จริงและมีความยั่งยืน
แสดงความคิดเห็น