มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2553
มีคำกล่าวที่คุ้นหูว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” น่าตั้งคำถามว่า “จริงหรือ?”
เราอาจตีความคำกล่าวนี้ได้ว่า เราควบคุมร่างกายและอารมณ์ของเราเองได้หากเรา “ควบคุม” จิตใจหรือความคิดความรู้สึกเราได้ แต่เคยสังเกตไหมครับว่า ความคิดเห็นของเราได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และสภาวะของร่างกายมากน้อยเพียงใด จริงๆ แล้วกายและจิตเป็นคู่แฝดที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างเท่าเทียม และในทางประสบการณ์นั้น กายเป็นนายจิตเสียเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ว่า “เรา” หรือการรับรู้ถึงการมีอยู่ของ “ตัวเรา” นั้นดำรงอยู่ใน “จิต” ดังนั้น คำกล่าวนี้เป็น เสียงที่มาจากฝั่งของ “จิต” ที่อยากเป็นนายที่เป็นอิสระจาก “กาย” และอยากเป็นฝ่ายที่สามารถ ควบคุมทิศทางของชีวิตมากกว่า ทัศนะแบ่งแยกทางความคิดอย่างนี้มีมานานทั้งในโลกของศาสนาและวิทยาศาสตร์ที่ ประกาศอำนาจของฝั่งจิตเหนือกาย มนุษย์เหนือธรณีและธรรมชาติ บ้างก็ถึงกับมองร่างกายว่าเป็นความสกปรกและมีความเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วย ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด
ในบรรดาวิชาความรู้เพื่อการเข้าใจตัวเองและธรรมชาติของชีวิต (Contemplative Education) ที่บ้านเรามีคำเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษานั้น การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของร่างกายและอารมณ์นั้นกำลังเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ด้วยสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยทางกายและจิตที่เป็นผลมาจากสภาพ ชีวิตที่เร่งรีบบีบคั้น และความไม่สามารถจัดการภาวะภายในของตนเองได้ แนวทางออกที่หลอมรวมวิถีแห่งสติและจิตวิทยาสมัยใหม่ หรือแม้แต่กระบวนการเยียวยากายจิตแบบดั้งเดิมของชนเผ่าก็ดูเหมือนจะกลับมาสม สมัยอีกครั้ง
สถาบันสตราสซี่ (Strazzi Institute) เพื่อการแปลงศักยภาพความเป็นผู้นำลงสู่ฐานกายจิต กล่าวไว้ว่า ทุกวันนี้วิธีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมภายนอกนั้น ยังขาดการบูรณาการทุกๆ มิติของความเป็นมนุษย์ในมุมมองของกายสำนึก (Somatic) ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และการแสดงออก รวมถึงเรื่องเล่า เรื่องราว และพลังภายในกายที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แนวปฏิบัติหลายแนวอาจถือเอาร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ในแนวคิดของกายสำนึกถือว่าร่างกายของเราเป็นรากฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะร่างกายเป็นที่ๆ เราสัมผัสถึงพลังแห่งความเชื่อ โลกทัศน์ เรื่องราว แบบแผนพฤติกรรม ชีพจร ปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติทางกาย แรงขับดันภายใน แรงปรารถนาหรือความต้องการของชีวิต สิ่งเหล่านี้ ประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวตน” ในแบบต่างๆ และแสดงออกผ่านรูปร่างและท่าทางที่หลากหลาย เราจะเห็นได้ชัดว่า แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบแบบอัตโนมัตินั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ เนื้อรู้ตัว ซ้ำๆ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อเมื่อเราได้รู้ และเห็นสิ่งเหล่านี้ เราจึงจะเริ่มแยกแยะจากความยึดมั่นว่า "เป็นเรา" และทำความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยเบื้องหลังการเกิดขึ้นของ "ร่าง"ต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นดังเงาสะท้อนทางจิต เราจึงจะเริ่มเป็นอิสระจากการถูกยึดกุมของตัวตนเหล่านี้ได้
เดวิด เวนสต็อค ครูฝึกด้านกายสำนึก (Somatic Coach) ผู้สอนด้านการสื่อสารอย่างสันติ ทั้งยังเป็นผู้ดำรงวิถีชีวิตตามแนวทางปฏิบัติของไอคิโดที่หมายถึง วิถีแห่งรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง ซึ่งมาสอนเรื่อง “กายกรุณา” ในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์เดิม (Old Strategies) ที่ แสดงออกเพื่อรักษาและพิทักษ์ความมั่นคงปลอดภัยของตัวตนเอาไว้ โดยมักขัดแย้งกับความตั้งใจหรือความคิดของเจ้าตัว เช่น บางคนไม่รู้จะแสดงความรักทางกายอย่างไร เพราะไม่คุ้นเคยกับการแสดงออก การเรียนรู้ในแนวทางนี้ไม่ใช่การปรับกายให้แสดงออกอย่างสอดคล้องกับจิตใจ หากเป็นการเข้าถึงโลกแห่งจิตไร้สำนึกที่จะแสดงออกผ่านกายได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการฝึกฝนเพื่อทำความเข้าใจกับทั้งกายและจิตและสร้างแนวทางของการหลอม รวมระหว่างสองฐานของชีวิตอย่างเป็นเอกฉันท์ (Somatic Consensus)
ผมเข้าใจว่าแนวทางดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพัฒนาการล่าสุดทางจิตวิทยาของ อาร์โนล มินเดล นักจิตบำบัดสายคาร์ล จุง ที่มีกระบวนการทำงานภายใน เรียกว่างานกระบวนการ (Process Work) ที่ค้นพบว่าจิตไร้สำนึกที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตเรานั้น นอกจากไม่ได้น่ากลัวจนควบคุมไม่ได้ดังที่คิดแล้ว ยังแสดงออกมาผ่านทั้งความฝันและร่างกายของเราตลอดเวลา ร่างกายและพลังละเอียดของชีวิตเหล่านี้คือรูปปรากฏแห่งจิตนั่นเอง ดังนั้นในทางกลับกัน เราจึงสามารถมีปฏิสัมพันธ์ และจัดการกับจิตไร้สำนึกที่มักควบคุมได้ยาก เช่น ความกลัว ความโกรธ ได้อย่างเป็นมิตรและกรุณา
หรือแม้แต่ศาสตร์ที่มาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน แต่มีพัฒนาการที่แตกต่างอย่าง Voice Dialogue ที่ดอกเตอร์สโตน สามีภรรยาได้ใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาและทำความเข้าใจตัวตนต่างๆ ภายในตัวเราที่ดำรงอยู่ใน “เสียงภายใน”และใน “แบบแผนพลัง” ต่างๆ ในกาย ที่ต่างมีระบบคุณค่า มาตรฐาน การตัดสิน และศักยภาพของตัวเอง บางพวกได้รับความเป็นใหญ่ อีกหลายพวกถูกกดทับไว้ไม่ให้มีปากเสียง แต่ก็มิวายจะเล็ดลอดหาช่องออกอย่างไม่ให้เจ้าตัวควบคุมหรือรู้ตัวได้ ผมคิดว่าความหลากหลายในแนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้เรามีทาง เลือกในการหลอมรวมเอาฐานสำคัญของชีวิต นั่นคือ “กาย” มาเป็นรากฐาน ของการเข้าใจตัวเองและชีวิตได้
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2553
หากเปรียบเทียบองค์กรเป็นดั่งชีวิต การไหลของข้อมูลก็เปรียบเสมือนการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย องค์กรคงจะเติบโตและปรับตัวได้ยาก หากข้อมูลข่าวสารไหลอย่างติดขัดและบิดเบี้ยวอยู่ภายในองค์กร ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน และลิซ่า ลาเฮ เขียนถึงประเด็นนี้ใน ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง (Immunity to Change) โดยอธิบายว่า เส้นทางการไหลของข้อมูลจะเป็นไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าคนในองค์กรมีการ “รับ” และ “ส่ง” ข้อมูลกันอย่างไร
จากทฤษฎีจิตวิทยาของคีแกนซึ่งศึกษา “ระดับความซับซ้อนของจิต” (level of mental complexity) ในคนว่ามีความแตกต่างกันไปตามการวิวัฒน์จิต คีแกนอธิบายระดับความซับซ้อนของจิตไว้ ๕ ระดับ ซึ่งระดับที่ ๑-๒ คือความซับซ้อนของจิตในเด็กและวัยรุ่น ในขณะที่ระดับที่ ๓-๕ เป็นความซับซ้อนของจิตในผู้ใหญ่ ในบริบทขององค์กรจึงยกตัวอย่างเฉพาะระดับที่ ๓-๕ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร อันประกอบไปด้วย จิตตามสังคม (Socialized Mind) จิตประพันธ์ตน (Self-Authoring Mind) และจิตวิวัฒน์ตน (Self-Transforming Mind) ตามลำดับ โดยจะอธิบายว่า แต่ละระดับจิตจะมีการรับและส่งข้อมูลอย่างไร ความรู้นี้จะช่วยให้เราเข้าใจชีวิตขององค์กรจำนวนมาก ว่ามีการไหลของข่าวสารข้อมูลกันอย่างไร โดยดูจากคนในองค์กรซึ่งมีแตกต่างกันไปตามระดับความซับซ้อนของจิต
เราลองมาดูกันสักหน่อยว่า ลักษณะการไหลของข้อมูลภายในองค์กร ที่ประกอบไปด้วยคนที่มีจิตซับซ้อนต่างกันจะเป็นอย่างไร
จิตตามสังคม (Socialized Mind) จิตที่ซับซ้อนในระดับนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการรับและส่งข้อมูลในระหว่างการทำงาน ถ้าฉันมองโลกจากระดับนี้ ฉันมักจะส่งข้อมูลตามที่ฉันเชื่อว่าคนอื่นอยากได้ยินอะไร ในการส่งข้อมูลของจิตตามสังคม ข้อมูลสำคัญๆ บางทีก็ถูกเก็บเอาไว้ ไม่ให้ใครรู้ กลัวว่าคนจะเครียดกัน และอยากทำให้ทุกคนในองค์กรสบายใจ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง อยากให้ยังรักกันอยู่เหมือนเดิม หรือบางทีข้อมูลบางอย่างอาจถูกดัดแปลงไป เพื่อ “รักษาหน้า” ให้กับเจ้านาย
ในขณะที่การรับข้อมูล จิตตามสังคมจะมีภาครับที่ถูกแทรกแซงโดยความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกัน เพราะความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกันนั้น คือความเป็นความตายของจิตตามสังคมเลยทีเดียว หลายต่อหลายครั้งเราอาจจะได้ยินเสียงบ่นจากลูกน้องว่า “นายอยากได้อะไร ก็บอกสิ จะได้ทำให้” ในขณะที่เจ้านายเองก็บ่นว่า “เธอไปเข้าใจอย่างนั้นได้ยังไง ทั้งๆ ที่ฉันก็บอกไปอย่างนี้” กล่าวคือข้อมูลที่รับไปช่างไกลกันกับความตั้งใจของผู้ส่งข้อมูล ช่องว่างระหว่างการรับส่งข้อมูลนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความซับซ้อนของจิตนี้เอง
จิตประพันธ์ตน (Self-Authoring Mind) จิตนี้มองโลกต่างจากจิตข้างต้น ถ้าฉันมองโลกจากระดับความซับซ้อนของจิตนี้ ฉันมักจะส่งเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เท่าที่จำเป็นและเพียงพอจะทำให้คนอื่นรับไปทำงานต่อได้ เพื่อให้งานเดินไปอย่างดีที่สุด ตามวาระหรือการออกแบบที่ฉันวางไว้ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนส่งข้อมูลจะคิดวางแผน วิเคราะห์ วางกลยุทธ์ไว้แล้วว่าอะไรจำเป็นบ้าง ไม่ว่าความคิดนั้นจะยอดเยี่ยม หรือเต็มไปด้วยจุดบอด หรือเขาจะพูดจาโน้มน้าวใจคนเป็นหรือไม่ก็ตาม ไม่สำคัญ ประเด็นอยู่ที่ว่า คนที่มีจิตประพันธ์ตนจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะส่งข้อมูล เพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งผู้ขับเคลื่อนองค์กร ในขณะที่จิตตามสังคมจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ถูกขับเคลื่อนไป
ในภาครับข้อมูล จิตประพันธ์ตนก็จะทำงานคล้ายๆ กันกับภาคส่งข้อมูล กล่าวคือ เขาจะสร้างเครื่องกรองข้อมูลเอาไว้ เพื่อให้ตนรับเอาเฉพาะข้อมูลที่ไล่ความสำคัญตามลำดับจากมากไปน้อย ข้อมูลของใครก็ตามที่สอดรับกับแผนก็จะผ่านการกรองของฉันได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือสอดรับกับแผนที่ฉันวางไว้ก็จะต้องใช้เวลาและความพยายามมากขึ้นที่จะผ่านการกรองนี้ได้ จิตประพันธ์ตนจะใช้ได้ดีในยามที่งานมีเวลาจำกัดและเร่งด่วน ที่กล่าวเช่นนี้ได้ ก็เพียงเฉพาะกรณีเปรียบเทียบกับจิตตามสังคมเท่านั้น เพราะมีอีกหลายกรณีที่กรอบความคิดที่ฉันเคยใช้ได้ดีในอดีต มาวันนี้อาจเก่าไปแล้ว หรือกรอบนั้นอาจกรองคุณค่าบางอย่างที่สำคัญทิ้งไป ทำให้แทนที่งานจะดำเนินการไปได้ด้วยดี กลับสะดุดและแสดงผลงานด้อยลงไป
จิตวิวัฒน์ตน (Self-Transforming Mind) โดยเปรียบเทียบกับจิตประพันธ์ตน จิตวิวัฒน์ตนก็มีกรอบการคิดกลั่นกรองข้อมูลเช่นกัน ต่างกันตรงที่เขาจะไม่ติดกรอบคิดนั้น จิตวิวัฒน์ตนจะสามารถถอยออกมา แล้วมองกลับไปที่กรอบคิดนั้นได้ เพราะอะไรจิตนี้จึงมองโลกเช่นนี้? ก็เพราะว่าจิตวิวัฒน์ตนให้คุณค่ากับจุดยืนที่มีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ระมัดระวังว่าจุดยืนนั้นๆ หรือการวิเคราะห์นั้นๆ หรือวาระนั้นๆ อาจกลายเป็นอุปสรรคโดยตัวเอง เพราะจุดยืนหนึ่งๆ เกิดขึ้นตามกาลเทศะ แต่โลกของเราหมุนเวียนเปลี่ยนไป อะไรที่เป็นเหตุเป็นผลในวันนี้ อาจไม่เป็นเหตุเป็นผลในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ดังนั้นคนที่มีจิตวิวัฒน์ตนจะสื่อสารเพื่อไม่ใช่เพียงเพื่อให้แผนที่ได้วางไว้สามารถดำเนินการไปได้เท่านั้น แต่จะสร้างพื้นที่ว่างเผื่อไว้ให้สำหรับการปรับหรือขยายแผนด้วย
ดังนั้นเวลาจิตวิวัฒน์ตนจะส่งข้อมูล ก็จะส่งข้อมูลคล้ายๆ กับจิตประพันธ์ตนส่ง คือเพื่อให้คนอื่นรับไปดำเนินการตามแผน ที่ต่างกันคือ จิตวิวัฒน์ตนจะไม่จำกัดวงอยู่ภายในกรอบการดำเนินการตามแผนเท่านั้น แต่จะเพิ่มการส่งข้อมูลให้คนอื่นรับรู้ว่า เขาก็สามารถร่วมสร้างและร่วมออกแบบแผน ระหว่างทางที่ทำงานด้วยกันได้ เขาจะมองหาข้อมูลที่จะช่วยทีมงานสามารถขยายกรอบให้กว้างขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าหากันมากขึ้น หากจิตประพันธ์ตนจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป็นหลัก จิตวิวัฒน์ตนจะใส่ใจมากขึ้นกับการสร้างแผนที่ใหม่หรือตั้งเข็มทิศใหม่ในการเดินทาง ในขณะที่ภาครับข้อมูลก็มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน คือรวมเอาคุณสมบัติที่ดีคือ กรอบการคิดกลั่นกรองของจิตประพันธ์ตนไว้ แต่ไม่ถูกจองจำอยู่ในกรอบคิดนั้น เขาเปิดออกจากกรอบเพื่อรับข้อมูลที่จะบ่งบอกถึงข้อจำกัดของกรอบความคิด หรือแผนที่ออกแบบไว้ เพราะกรอบนั้นอาจกรองเอาสิ่งดีที่มีคุณค่าออกไป และเป็นไปได้ว่าสิ่งที่กรองออกไปอาจเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่จะเปลี่ยนแปลงระบบทั้งระบบ ให้ก้าวขึ้นสู่ศักยภาพใหม่ได้
ปีเตอร์ เซงเก้ เขียน วินัยที่ห้า (The Fifth Discipline) เพื่อตอบโจทย์การยกระดับระบบการบริหารจัดการที่เป็นอยู่ใหม่ทั้งระบบ โดยเน้นไปที่การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เมื่อหันกลับมามองการสื่อสารในองค์กร การเปลี่ยนระบบการสื่อสารในองค์กรทั้งระบบจะเกิดขึ้นได้ ก็โดยอาศัยการวิวัฒน์จิตของคนในองค์กรทั้งยวง คือลูกน้อง/พนักงานเปลี่ยนจากจิตระดับที่ ๓ เป็นจิตระดับที่ ๔ คือการเปลี่ยนจากการสื่อสารที่แปลงข้อมูลเพื่อเอาใจนายหรือตามใจกลุ่ม มาเป็นการสื่อสารที่ขับเคลื่อนได้ในทุกระดับงาน และเจ้านาย/ผู้บริหารเปลี่ยนจากจิตระดับที่ ๔ เป็นจิตระดับที่ ๕ คือการเปลี่ยนจากการสื่อสารที่มุ่งขับเคลื่อนงานโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มาเป็นการสื่อสารที่สนับสนุนการเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่น เรียนรู้ และปรับตัว เท่าทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของโลก
ภาพการไหลของข้อมูลดังกล่าวเป็นอาจเป็นภาพภายนอกของการวิวัฒน์จิต ที่มองเข้าไปยังคนที่มีระดับจิตต่างๆ กันในองค์กร และภาพดังกล่าวอาจสร้างความมุ่งหวังตั้งใจดี และทิศทางที่ชัดว่าองค์กรจะปรับตัวไปอย่างไร แต่ความสามารถทำให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลได้จริง อาจต้องกลับมาวิวัฒน์จิตกันจากภายใน คือกระบวนการทำงานกับภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการเอกซ์เรย์จิต ไปจนพบกับกรอบคิดที่ปิดกั้นตัวเองอยู่ในความซับซ้อนเดิม และทำงานต่อไปจนเกิดการปรับตัวสามารถก้าวข้ามกรอบคิดยกระดับขึ้นสู่ความซับซ้อนที่มากขึ้น ตามแนวทางที่ศาสตราจารย์คีแกนและลาเฮได้คิดค้นและทดลองใช้จริงมาแล้วกับองค์กรทั่วโลก ท่านผู้อ่านที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม อาจหาบทความที่ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้มาอ่านประกอบกันได้ อาทิ “เหตุผลที่คนไม่เปลี่ยน” และ “Inception ปลูกความคิด ให้ตรงกับความจริง”
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2553
หากเราเชื่อเรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือแนวคิดที่ว่า สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงกัน ดังที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เคยเสนอไว้แล้ว ชีวิตเราทุกคนคงได้รับผลกระทบระดับสึนามิหลายพันระลอกจากเว็บไซต์ยอดนิยม: เฟซบุ๊ก (facebook)
เฟซบุ๊ก หรือที่คนไทยนิยมเรียกมันสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเว็บสุดฮิต ผู้คนในทั่วโลกกว่า ๕๐๐ ล้านคน เมื่อเขาหายแว้บเข้าไปในโลกเสมือน ไซเบอร์สเปซ หรือ อินเทอร์เน็ต เขาก็มักจะไปชุมนุมอยู่ที่นี่กันมากและนานที่สุด ใช้เวลากับที่นี่มากยิ่งกว่าที่เว็บอื่นๆ
คนไทย ๖๖ ล้านคนที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สูงนักก็ยังเป็นมีบัญชีสมาชิกเฟซบุ๊กถึง ๔ ล้านกว่าราย ทั้งเด็กวัยรุ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ใหญ่วัยทำงาน ครูอาจารย์ นักวิชาการ ดารานักร้อง แม้กระทั่งนักการเมือง รัฐมนตรีต่างๆ ก็เป็นสมาชิกเช่นกัน เพราะองค์กรเชื่อมโยงงาน ชั้นเรียนเชื่อมโยงบทเรียน การบ้านเข้ากับเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ จะติดต่อกัน หรือส่งงาน ก็ดำเนินการกันผ่านเฟซบุ๊ก นักศึกษาจำนวนไม่น้อยรีบเปิดเว็บไซต์นี้เป็นเว็บแรกเมื่อตื่นนอน คอยเช็คเว็บไซต์นี้บ่อยๆ แม้ในระหว่างเรียน และเปิดเป็นเว็บสุดท้ายก่อนเข้านอน เรียกว่าติดงอมแงมเลยทีเดียว
ประเมินจากจำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้งานจำนวนล้นหลามถึงระดับนี้แล้ว เราจะถือได้ว่าเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จตามพันธกิจหรือความตั้งใจที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ใช่หรือไม่?
ข้อมูลในหน้าเว็บระบุพันธกิจของเฟซบุ๊กไว้ว่า คือ การให้อำนาจในการแบ่งปันแก่ผู้คนและสร้างโลกที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ในเฟซบุ๊กเราเชื่อมโยงผ่านการเป็น “เพื่อน” โดยการขอเป็นเพื่อนกัน และอีกฝ่ายต้องตอบรับ เราสามารถเป็นเพื่อนกัน เลิกเป็นเพื่อน และกลับมาเป็นเพื่อนกันใหม่ ได้โดยผ่านการคลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งเท่านั้น
รูปแบบวิธีการเชื่อมโยงอันแสนสะดวกง่ายดายนี้ ทำให้เฟซบุ๊กเป็นสินค้าบริการที่ขายดีมาก ติดตลาดอย่างรวดเร็ว คนซื้อแล้วติดใจ ซื้อแล้วกลับมาซื้ออีกบ่อยๆ มีขาประจำอย่างรวดเร็วและเหนียวแน่น แต่ละคนต่างไปชักชวนเพื่อนๆ ญาติๆ ให้มาใช้ร่วมกัน เหตุผลที่คนมักพูดถึงเฟซบุ๊กและชักชวนกันเข้าไปก็คือ ใครๆ เขาก็ย้ายไปนั่นหมดแล้ว เหมือนสถานบันเทิงที่คนมักย้ายไปใช้เวลาสังสรรค์กันในแห่งที่กำลังฮิตที่สุด กิจกรรมในเฟซบุ๊กก็แทบจะเทียบได้กับสถานที่จริง อย่างสถานบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงห้องแสดงงานศิลปะ ผู้คนพากันเข้าเฟซบุ๊กไปเล่นเกม ไปสนทนากัน พบปะเพื่อนใหม่ จับจ่ายใช้สอย แม้กระทั่งเข้าไปชมผลงานภาพถ่าย
เว็บไซต์นี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนมันเป็นเหตุผลในตัวเสร็จสรรพว่าต้องขยายขึ้นเรื่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ดูไปก็คล้ายระบบเศรษฐกิจของโลกที่ดูเหมือนไม่ต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องขยายขึ้น โตขึ้น
ในปัจจุบัน เราได้ยินคำโฆษณา ทั้งปากต่อปาก และผ่านสื่อต่างๆ ว่าสินค้าและบริการแต่ละอย่างดีอย่างไร มันทำอะไรได้บ้าง ทำไมคุณควรจะมีมัน และเสพมันมากๆ แต่ว่าเราแทบจะไม่รู้เลยว่า เราควรจะบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เท่าใดจึงจะเหมาะสม
รูปธรรมของการเสพสินค้าบางอย่างมากเกินไปอาจเห็นได้ชัดเจน (เช่น รอบเอวที่เพิ่มขึ้น) แต่บางอย่างก็ไม่ชัดเจน หรือต้องใช้เวลานาน แล้วรูปธรรมของการเสพเครือข่ายสังคมออนไลน์มากเกินไปเล่า มีหรือไม่
แล้วจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนของเราแปรผกผันกับคุณภาพ ความแน่นแฟ้น ความลุ่มลึกของความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างในโลกความเป็นจริงเท่าใด ยิ่งมีเพื่อนในเฟซบุ๊กมาก เรายิ่งต้องใช้เวลาในการอ่านและเขียนข้อความ (post) เขียนแสดงความคิดเห็น (comment) อัพโหลดและดาวน์โหลดรูป รวมถึงกดปุ่ม “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (Like) มากขึ้นหรือไม่
สมาชิกเฟซบุ๊กหลายคนไปเพื่อเชื่อมโยง เพื่อหาเพื่อนออนไลน์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะยิ่งทำให้เราห่างเหินกับเพื่อนออฟไลน์ของเรา ทำเพื่อนของเราหายหรือตกหล่นหรือไม่
ค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการของเฟซบุ๊กอาจเป็นเวลาที่เราสามารถใช้ในการทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านในชุมชน โอกาสในการทำนุบำรุงสายใยของครอบครัวขยาย ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ของเรา หรือความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูดูแลความสัมพันธ์ของเรากับที่ทำงานที่บางครั้งเราใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของวันเสียด้วยซ้ำ
มนุษย์เราล้วนต้องการความสุข เรามักจะคิดว่าจะได้มันผ่านการเสพ เมื่อเราเริ่มเสพไปเรื่อยๆ เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับที่ระบบสินค้าและบริการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา นานๆ เข้าเราอาจลืมไป นึกไม่ออกว่าสาเหตุในการเริ่มต้นเสพของเราคืออะไร
เฟซบุ๊กก็เป็นเช่นนั้น เป็นรูปแบบและระบบใหม่ของการจัดการความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นสินค้าและบริการยอดนิยมที่แพร่หลาย เป็นปรากฏการณ์ของความสำเร็จที่เราชื่นชม จนเราอาจละเลยไม่ได้เห็นว่าสาเหตุที่แท้ในการมีมันและการใช้มันนั้น คืออะไร?
ลืมไปว่าพันธกิจที่แท้ของอำนาจในการแบ่งปัน การสร้างโลกที่เปิดกว้าง และการเชื่อมโยงกัน คืออะไร?
เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสือและภาพยนตร์ที่บอกเล่ากำเนิดของเฟซบุ๊ก และยิ่งไปกว่านั้น มันยังสะท้อนชวนให้ตั้งคำถามต่อพันธกิจของเฟซบุ๊กนี้ด้วย
หนังสือมีชื่อว่า The Accidental Billionaires: The Founding Of Facebook, A Tale of Sex, Money, Genius, and Betrayal และภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก The Social Network สื่อทั้งสองบอกเล่าประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจของเว็บไซต์ และประวัติของผู้ก่อตั้ง คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน (คูณสามสิบเพราะเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ) ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก
เรื่องราวในหนังสือและภาพยนตร์บอกเราว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นคนเรียนเก่ง สอบข้อสอบที่เทียบเท่ากับข้อสอบโอเน็ต เอเน็ตของไทยได้คะแนนเต็ม แต่เขาเป็นคนขี้อาย ดูอึดอัดเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น จริงอยู่ที่สุดท้ายเขาก็ได้ประสบความสำเร็จ แต่บนความสำเร็จนั้นกลับไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ร่วมเดินทางชีวิตด้วยกันมาก่อน มหาเศรษฐีพันล้านผู้สร้างเฟซบุ๊กซึ่งมีพันธกิจเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันกลับถูกเพื่อนเลิกคบ
ไม่แน่ใจว่าควรเรียกว่าน่าขัน ตลกร้าย หรืออย่างไร ที่คนล้มเหลวในเรื่องเพื่อน กลับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการเป็นเพื่อนกันของคนร่วมห้าร้อยล้านคนบนโลก ที่มีผู้เปรียบว่าเหมือนกับการผลิต “ความใกล้ชิดสนิทสนม” ให้กับผู้คนผ่านการสร้างชีวิตที่สองในหมู่บ้านจัดสรรของโลกเสมือน
เราอาจตีความได้ว่าแรงผลักดันหนึ่งของการสร้างเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เริ่มจากความอยากเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ แต่เลือกที่จะเดินทางอ้อม ผ่านการมีชื่อเสียงโด่งดังและมีทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อเฟซบุ๊กเกิดขึ้น เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ สุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกหรือไม่
ผู้คิดค้นและสร้างเฟซบุ๊กก็พยายามใช้มันเพื่อชดเชยช่องว่าง ทดแทนส่วนที่หายไปของชีวิต แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเติมเต็ม หรือจะยิ่งขยายทำให้ช่องว่างมันใหญ่ขึ้น
เฟซบุ๊กดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือหรือบริการที่ช่วยเราในมีปฏิสัมพันธ์ มีการเชื่อมโยงกับเพื่อนได้ง่ายๆ แต่บางทีสิ่งที่มนุษยชาติต้องการจริงๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของความง่าย แต่เป็นพันธกิจความสุนทรียภาพ ความประณีตบรรจงที่จะคิด พูด และทำ สิ่งที่เราต้องการคือการนำเอาความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติกลับเข้ามาอยู่ในทุกๆ ความสัมพันธ์ของเรา
พันธกิจที่แท้ของมวลมนุษยชาตินั้นคล้ายกับสิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาก ทว่าก็แตกต่างมากเช่นกัน เพราะเป็นพันธกิจการให้อำนาจในการแบ่งปัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูล รูปภาพ แต่แบ่งปันความรักความเมตตา ความเอาใจใส่ในความรู้สึกของกัน พันธกิจของการสร้างโลกที่เปิดกว้าง ไม่ใช่แค่การเข้าถึงคนจำนวนมาก แต่คือการเปิดใจเราให้กว้างขึ้น มีความรักอันไพศาล มีอิสรภาพไปพ้นจากอัตตาและความคิดอันคับแคบ พันธกิจของการเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสาร แต่เป็นความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดอย่างเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2553
ในทุก ๆ ศิลปะว่าด้วยตัวตนกับการภาวนา ทุกสำนักจะพูดถึงจิตประภัสสรหรือจิตทั้งหมดอันเป็นองค์รวมกับจิตเสี้ยว จิตเสี้ยวเป็นเพียงบางเสี้ยวส่วนของจิตทั้งหมด บางทีมันอาจจะหดตัวด้วยอาการถูกกระทำมาในอดีต มันตกไปอยู่ในโหมดปกป้องในยามที่ยังปกป้องตัวเองไม่ได้ในวัยเด็ก มันกลายมาเป็นประวัติบุคคล ที่ดอนฮวน พ่อมดเม็กซิกันแนะนำให้เราลบออกไป รวมถึง ดร.ฮิว เลน แห่ง ฮูปโปโนโปโน ที่นำเสนอวิธีการชะล้างความขุ่นมัวเช่นนี้ออกไปเช่นกัน เหมือนว่าเรามีธรรมชาติเดิมแท้ หรือในพุทธศาสนานิกายเซนใช้คำว่าจิตเดิมแท้อยู่แล้วในส่วนในลึกของเรา ใสสะอาด พร้อมมูลด้วยศักยภาพทั้งหมดทั้งมวล เพียงเราลบความขุ่นมัวออกไป เราก็สามารถเข้าถึงจิตที่ใสพิสุทธิ์นี้
ใน วอยซ์ไดอะล็อค ของ ดร.ฮัล กับ ดร.ซิดรา สโตน สามีภรรยา (คำว่าวอยซ์ไดอะล็อคนี้ เพื่อนผมคนหนึ่ง คือ สมพล ชัยสิริโรจน์ แปลว่า การสนทนากับตัวตนภายใน สมพลเป็นผู้นำองค์ความรู้นี้มาให้ผมได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย) กล่าวว่า จิตทั้งหมดคือตัวเรา จิตเสี้ยวได้แบ่งออกไปเป็นตัวตนต่างๆ หลายๆ ตัว และหลายตัวอาจจะก่อเกิดขึ้นมาจากบาดแผลหรือปมในอดีต สโตนสามีภรรยากล่าวว่าตัวตนแต่และตัวมีคู่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับหยินหยาง (ที่จริง คาร์ล จุง ครูของพวกเขาก็เริ่มศึกษาตะวันออก และหลอมรวมองค์ความรู้ตะวันออกเข้ามาในจิตวิทยาบ้างแล้ว) เมื่อเราเข้าไปโอบกอดตัวตนใดตัวตนหนึ่งด้วยความรุนแรง เราก็มักจะเหวี่ยงทิ้งคู่ของมันไป ด้วยอาการเช่นนี้แหละที่เราเริ่มลดทอนจิตของเราให้เหลือเป็นเสี้ยวส่วน และสูญเสียความเป็นองค์รวมไป
ตัวตน อัตลักษณ์หรือความรู้เท่าทัน
อดัม เคิล เขียนไว้ใน Education for Liberation หรือ การศึกษาเพื่อความเป็นไท ว่า ตัวตนมีสามระดับ โดยร้อยเรียงเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ความรู้เท่าทัน ขั้นแรกคือระดับความรู้เท่าทันที่อ่อนที่สุด (ความรู้เท่าทันนี้ เขาใช้คำว่า awareness และใช้ identity สำหรับคำว่าอัตลักษณ์) ในระดับแรกนี้ อัตลักษณ์ไม่ปรากฏชัดเจน คือมีพฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยนไปมาอย่างไม่รู้เท่าทันตัวเอง อีกนัยหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมแบบมีชีวิตเป็นไปอย่างเป็นปฏิกิริยา (reactionary) มากกว่าจะเป็นตัวของตัวเอง คนพวกนี้มีมากในผู้ไร้การศึกษา โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาในความหมายที่แท้ คำว่าเปลี่ยนไปมา อาจจะหมายถึงการมีตัวตนหลายตัว ที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกัน และตัวตนเหล่านั้น ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นปฏิกิริยากับเหตุการณ์มากกว่าที่จะมีมาจากความรู้ความเข้าใจความเป็นตัวตนของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีความรู้เท่าทันน้อย
อัตลักษณ์แบบครอบครอง
ตัวตนระดับที่สองในทัศนะของ อดัม เคิล คืออัตลักษณ์แบบครอบครอง ในระดับนี้ คนจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังกัดและสิ่งที่ตัวเองครอบครอง สังกัดอย่างเช่นจบจากโรงเรียนเตรียมอุดม จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ และทำงานในองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนสิ่งที่ตัวเองครอบครองอย่างเช่น นั่งรถหรูยี่ห้อดัง มีบ้านใหญ่โต มีลูกชายหญิงที่เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในชั้นนี้จะมีความรู้เท่าทันสูงขึ้น อย่างน้อยมากกว่าระดับแรก แต่ยังยึดติดในภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่ตัวเองสังกัดหรือครอบครองนั้นๆ และหากประสบเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจจะหล่นไปอยู่ในระดับแรกได้เช่นกัน คือเสียศูนย์ไปเลย ในห้วงเวลาเช่นนั้น โกรธ โลภ หลง อาจจะเป็นยักษ์มารที่มาปรากฏให้เห็นก็เป็นได้
ที่จริงอัตลักษณ์ระดับที่สองนี้ คนเรามักจะใช้ชีวิตเป็นไปตามเสียงของสังคม หากไม่ได้รับฟังเสียงด้านในที่อยู่ลึกลงไป เขาหรือเธออาจจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามเสียงของสังคม แต่ก็ปราศจากแรงบันดาลใจ และแรงขับส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปกป้องสถานภาพที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปด้วยปัญญาและแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง ชีวิตจึงมักจะเป็นไปอย่างแห้งแล้งน่าเบื่อหน่าย ความคิดก็มักจะย่ำซ้ำซากอยู่ในกรอบเดิมๆ อยู่กับตำรับตำราที่เรียนมาเมื่อหลายปีหรือหลายสิบปีที่แล้ว
อัตลักษณ์แบบนี้ จะมีบุคลิกภาพมั่นคงกว่าแบบที่หนึ่งซึ่งความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ยังเป็นวุ้นอยู่ แต่แบบที่สองจะมีวินัยมากกว่า เพราะต้องฝึกฝืนตัวเองให้สามารถทำตามความสำเร็จที่สังคมวางกรอบไว้ให้ แต่กระนั้นก็ยังเป็นผู้เลือกใช้คู่ของตัวตนแต่เพียงบางด้าน และอาจเลือกขึ้นมาเพราะถูกกระทำในวัยเด็กจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ได้เช่นกัน การเลือกส่วนใหญ่ก็มาจากปมทางจิตวิทยาที่ถ่ายทอดมาในตระกูลในวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกัน การเลือกใช้เพียงหนึ่งในตัวตนที่มีมาเป็นคู่ของมันนั้น ทำให้จิตลดทอนลงเป็นเสี้ยว และพอมีตัวตนหลักๆ ที่เป็นเสี้ยวเหล่านี้ พวกเขาก็นำพาตัวเองไปสู่สิ่งที่คิดว่าสำเร็จได้ แล้วติดแหง็กอยู่ในความเป็นเสี้ยวของจิตเท่านั้นเอง ยังไม่มีโอกาสประสบพบพานจิตอันบริบูรณ์
อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทัน
อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทันนั้นเป็นเป้าหมายที่ อดัม เคิล ตั้งไว้เป็นอุดมคติ แต่ใช้คำว่าอัตลักษณ์เป็นบาทฐาน ที่จริงอัตลักษณ์แบบนี้เริ่มหลุดออกจากอัตลักษณ์ไปแล้ว น่าจะเป็นมนุษย์พันหน้าอย่างที่เคยได้ยินมาจากที่ไหนสักแห่ง แต่จำไม่ได้แล้ว มีคนเคยถาม เจมมี่ แพนกายา ศิษย์ของ ดร.สโตน สามีภรรยาว่า ในวอยซ์ไดอะล็อคมีตัวตนทั้งหมดอยู่กี่ตัว เจมมี่ตอบว่ามีอยู่พันล้านตัว คือเราเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ในโลกนี้ หรือว่าเราเป็นจักรวาล เราคือความเป็นไปได้ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดด้วยอะไรเลย ในวอยซ์ไดอะล็อคนั้น ความรู้เท่าทันที่พัฒนาขึ้นมาตามลำดับนั้นได้ทำให้เราหลุดออกจากกรงขังของอดีต ความคุ้นชิน ความเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เป็นเพียงเสี้ยวของจิต แล้วออกไปสู่อิสรภาพ สู่ความเป็นไปได้ เราสามารถปลดตัวเองจากประวัติส่วนตัว ปลดตัวเองจากปัญญาแห่งความรู้ เข้าสู่สายธารแห่งความไม่รู้ เข้าสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้ที่จางจื้อพูดไว้ในหนังสือ มนุษย์ที่แท้
ญาณทัศนะ นิพพาน และปัญญาแห่งความไม่รู้
"ต้อง" เด็กหนุ่มที่มาเรียนปริญญาตรีทางเลือกกับอาศรมหิ่งห้อย กำลังอ่าน เต๋าแห่งฟิสิกส์ ของ ฟริตจอป คราปา ฉบับแปล (ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีการตีพิมพ์มานานแล้ว) เขาสนุกมากกับบทหลังๆ เขาบอกว่าเข้าใจคำว่าญาณทัศนะมากขึ้นจากคำอธิบายของคราปา แล้วเขาถามว่าจะมีท่าทีอย่างไรดีกับคำว่านิพพาน ผมว่าเมืองไทยนี้โชคดี ที่เรามีคนอย่างท่านพุทธทาส ให้เรียนรู้จากท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า นิพพานแปลว่าดับ เย็น เวลาไฟที่ลุกโชนดับลง มันก็เย็น จิตที่มันดับและเย็นลงมันสบาย มันไม่ต้องเรื่องมาก ดับเมื่อไรก็เย็นเมื่อนั้น ดับเย็นเล็กๆ ในชีวิตประจำวันนี้แหละใช้ได้ ท่านกล่าวถึงคำว่านิพพานน้อยๆ เราดับเย็นน้อยๆ ได้ตลอดเวลา ที่นี่เดี๋ยวนี้เอง
ทุกครั้งที่มีญาณทัศนะ มันจะหลุดไปเปลาะหนึ่งๆ มันจะดับเย็นไปครั้งหนึ่งๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เข้าถึงจิตอันบริบูรณ์ทุกทีไป เป็นสุดยอดฆราวาสธรรมแล้ว มันหลุดออกจากกรงขังแห่งจิตเสี้ยว จากตัวตนหรือบุคลิกที่จิตสร้างขึ้นมาเป็นกลไกปกป้องตัวเอง เป็นโหมดปกป้อง เป็นปม เป็นบาดแผล แล้วไปยึดเอาปัญญาแห่งความรู้มาเป็นพวก ทำให้ปัญญาไปรับใช้เป้าหมายอันต่ำทราม และความรู้ก็เป็นเสี้ยวส่วน เหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ แค่คลาดไปก็เป็นอวิชชาแล้ว เราต้องก้าวล่วงไปสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้
ดังกฤษณมูรติมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Freedom from the Known คือเราต้องเป็นอิสระมาจากสิ่งที่รู้หรือปัญญาแห่งความรู้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553
อยากจะบอกท่านผู้อ่านที่ได้อ่านบทความของผู้เขียนในระยะหลังๆ ราวสี่ห้าปีมานี้ ผู้เขียนที่คงจะเขียนได้อีกไม่นาน จะเขียนหนักไปในเรื่องของจิตทั้งด้านปัจเจกบุคคล และด้านสังคมวัฒนธรรมโดยรวม และแน่นอนรวมไปถึงธรรมชาติสองระดับ ทั้งธรรมชาติที่ตาเห็น เช่น ภูเขา ต้นไม้ และป่าไม้ ฯลฯ และธรรมชาติที่ไม่มีทางเห็น เช่น จิต-พระจิต จิตวิญญาณหรือวิญญาณระดับสูงจนถึงระดับสูงสุดหรือนิพพาน ที่อยากบอกกับผู้อ่านคือ ขอให้อ่านไปอย่างช้าๆ และคิดไตร่ตรองลึกๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย หากไม่เข้าใจ ขอให้อ่านซ้ำๆ ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้อะไรติดตัวไปด้วยไม่มากก็น้อย
เมื่อกลางปี ๒๐๐๗ มีการประชุมใหญ่ของนักวิชาการสำคัญๆ ของอเมริกา อังกฤษ และแคนาดาจำนวนมาก เป็นเวลาสองวันที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา จุดมุ่งหมายของการประชุมคือ ต้องการให้นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนต่อหลักฐานและทฤษฏีต่างๆ ในการอธิบายเรื่องหรือปรากฏการณ์ทางจิตที่นักวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยนักฟิสิกส์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาการทดลอง ฯลฯ ได้วิจัยและนำเสนอในที่ประชุม พร้อมกับเปิดโอกาสให้นักวิชาการทั้งหลายได้ถกเถียงกัน
สถาบันและมูลนิธิผู้จัดการประชุมต้องการให้นักวิชาการเหล่านี้ได้พิจารณาข้อนำเสนอของนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และตั้งคำถามเพื่อโต้เถียงกันอย่างจริงๆ จังๆ อย่าให้เป็นเช่นอดีตศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียที่อุทิศทั้งชีวิตร่วมเจ็ดสิบปีทำวิจัยเรื่องการระลึกชาติ (reincarnation) มาตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๓๐ และเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ คือ ศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสัน ที่ได้เดินทางไปรอบโลกเพื่อการวิจัยนี้ รวมทั้งประเทศไทย (สองครั้ง) และมีส่วนทำให้สมาคมการค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทยเกิดขึ้น เอียน สตีเวนสัน กล่าวถึงความเสียใจอย่างที่สุดของเขาต่อนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการ “สายหลัก” ถึงการวิจัยที่เขาได้อุตส่าห์เสียเวลาค้นคว้าอย่างตั้งใจและยาวนานว่า “นักวิชาการเหล่านี้แทบทั้งหมดไม่เชื่อเรื่องการระลึกชาติก็ไม่ว่า แต่นี่ – ดันไม่เชื่อ - ทั้งๆ ที่ไม่ได้อ่านหลักฐานจากผลของการวิจัยเลย” (อย่าลืมว่าการวิจัยของศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสัน นั้นขัดกับทั้งวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม - ทางด้านของศาสนา - ของชาวตะวันตกอย่างรุนแรง)
ในช่วงนั้น “ชีววิทยาดาร์วินิซึ่ม” ในฐานะทฤษฏีที่อธิบายการกำเนิดของชีวิต และทั้งเป็นการกำเนิดของชีวิตมนุษย์เสียด้วย ซึ่ง - ในฐานะมนุษย์ที่สนใจเป็นพิเศษในอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ (anthropocentric) ทฤษฏีดังกล่าวจึงน่าเชื่อกว่าศาสนา นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์จึงหันไปยอมรับชีววิทยาดาร์วินิซึ่มกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งของเหมือนกับสสารวัตถุทั้งหลายทั้งปวง ทั้ง - วิวัฒนาการก็เป็นเรื่องของกายภาพสถานเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งชีวิตต่างล้วนแล้วแต่ก่อประกอบขึ้นมาจากวัตถุและความบังเอิญและบังเอิญๆๆ เหมือนนาฬิกาหรือเครื่องจักรเครื่องยนต์ที่ทำนายผลได้ และธรรมชาติจัดการควบคุมสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เช่น น้ำ ลม อุณหภูมิ หิน ฯลฯ ด้วยความจำเป็นอีกที
นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่า - ดังคำถามที่ตั้งเป็นหัวข้อบทความ นั่นคือ ถามว่าอะไรหรือ? คือธรรมชาติของความรู้ การรู้ ความจริงของมนุษย์เรา (ซึ่งแตกต่างกันมากยิ่งนัก) - สำหรับเรื่องความรู้นั้น คำตอบของนักวิทยาศาสตร์กายภาพ นักวิชาการ นักวัตถุนิยม นักชีววิทยา และแพทย์ส่วนใหญ่ ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยเราหรือประเทศเพิ่งจะพัฒนาใหม่ๆ ของเอเชีย ก็คือ ความรู้ที่มนุษย์เรามีแทบจะทั้งหมดเป็นการคลี่ขยายมาจากตัวของมนุษย์เอง นั่นคือมาจากธรรมชาติมาจากวิวัฒนาการทางกายภาพเพียงอย่างเดียว หรือพูดได้ว่า ความรู้ทั้งหลายของเรานั้น ส่วนใหญ่มากๆ ตั้งอยู่บนวิทยาศาสตร์ – ในราวๆ หนึ่งร้อยกว่าปีมานี้เท่านั้น – ทั้งหมด ซึ่งเมื่อไล่ต่อไปแล้ว ล้วนตั้งอยู่บนความบังเอิญๆๆ ที่ว่านั้น
แต่อีกประการหนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วว่าความคิดของ เอียน สตีเวนสัน เรื่องการระลึกชาติ (reincarnation) ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีความขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ (กายภาพ - ที่ในตอนนั้นเรียกว่าวิทยาศาสตร์เฉยๆ) และยังขัดกับศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง ได้ทำให้สาธารณชนคนทั่วไปรวมทั้งผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนความเชื่อ เพราะว่าตั้งแต่เริ่มมีศาสนาคริสต์มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ห้า ศาสนาคริสต์ก็เชื่อในเรื่องการระลึกชาติมาตลอด (G. McGregor: Reincarnation and the Christianity, 1978; Christopher Bache: Life Cycles, 1994) จนกระทั่งโป๊ปวิสิลิอุส (โดยการเมืองบีบบังคับ) บอกให้เลิกเชื่อเพราะว่าไม่ใช่คริสต์ศาสนา คนในศาสนาคริสต์ที่เชื่อโป๊ปยิ่งกว่าใครๆ จึงมีข้อห้ามไม่ให้พูดถึงการระลึกชาติมาตั้งแต่นั้น ส่งผลให้ชาวคริสเตียนค่อยๆ ลืมเรื่องดังกล่าวไป
เพราะฉะนั้นเรื่องความรู้ของมนุษย์ เป็นเพราะวิทยาศาสตร์บวกกับความเชื่อทางศาสนาที่กลายเป็นความรู้ไป เพราะเชื่อมั่นอย่างเคยชินมาเป็นเวลาที่ยาวนานมาก สำหรับวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ คือวิทยาศาสตร์กายภาพที่มีชีววิทยาดาร์วินิซึ่ม หรือ นีโอ-ดาร์วินิซึ่ม เป็นหัวหอก ส่วนการรู้ (ซึ่งไม่ใช่การมีสติที่รู้ตัวของตัวเอง หรือ primary awareness) คือการแยกตัวเองเป็นครั้งแรกของ “รูปธรรม กับ นามธรรม” นั่นคือความเป็นสอง ระหว่างการรู้ของจิตไร้สำนึก กับการรู้ของจิตสำนึก หรือจิตรู้ หรือจิตใจหรือใจ เช่น การตื่นขึ้นมาจากการหลับลึก การฟื้นตื่นขึ้นมาจากการหมดสติอย่างลึกหรือประสบการณ์ใกล้ตายนั่นเอง ซึ่งการรู้ของจิตรู้ หรือของจิตสำนึก (cognition) คือการรู้เพียงอย่างเดียวที่นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักการศึกษา นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ฯลฯ ส่วนใหญ่มากๆ คิดว่าการรู้มีเพียง “หนึ่ง” เดียวเท่านั้น (Ken Wilber: Cognitive Development)
แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับ คาร์ล ซี. จุง ที่พูดว่าการรู้มีสองอย่าง คือการรู้ของจิตจักรวาลซึ่งเป็นจิตไร้สำนึก กับการรู้ของจิตสำนึกที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนยังคิดต่อไปว่า การรู้ของจิตไร้สำนึก หรือการรู้ของจิตจักรวาลเป็นการรู้ที่สำคัญกว่า กว้างกว่า ลึกซึ้งกว่า และนั่นคือความจริงที่แท้ซึ่งเราอาจพบการรู้แบบนี้ได้ในเวลาที่เราหลับลึกจริงๆ อันเป็นช่วงสั้นๆ ของการหลับลึก หรือการหมดสติอย่างลึกจริงๆ ก่อนที่จะตายไปจริง (หากว่าช่วยไม่ทัน) เช่น ระหว่างมีการตายทางคลินิกในผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย (clinically dead in NDEs) เพียงร้อยละ ๗ – ๑๘ ของผู้รอดชีวิตที่ได้รับการสัมภาษณ์ทั้งหมด สองหรือสามวันหลังจากการช่วยชีวิตไว้ - จากรายงานของแพทย์ทางหัวใจที่อเมริกาคนหนึ่ง (Michael Sabom ที่มี ๑๖๐ ราย) กับแพทย์ที่เนเธอร์แลนด์อีกคนหนึ่ง (Pim van Lommel ที่มี ๓๔๔ ราย) - ซึ่งแสดงว่าคนที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย “อาจจะ” ได้สภาวะจิตวิญญาณหรือขึ้นสวรรค์ก็ได้
การรู้ที่ คาร์ล ซี. จุง กับผู้เขียนแบ่งเป็นสอง คือ การรู้ของจิตไร้สำนึก และการรู้ของจิตสำนึกหรือจิตรู้ ก่อนจะมีการแยกออกเป็นสองนั้น จริงๆ แล้วเราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร? เพราะสิ่งที่เราและสัตว์มองเห็นเป็นเพียง “มายา” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราอยู่รอดในโลกและจักรวาล (สามมิติบวกหนึ่ง) นั่นคือ ความจริงแท้ที่อาจเหมือนความจริงที่จิตไร้สำนึกเห็น เพราะจิตไร้สำนึกหรือจิตจักรวาลโยงใยติดต่อกันเป็นหนึ่งเดียว คนที่นอนหลับลึกแล้วฝันไป หรือคนที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย หรือคนที่ตายไปแล้วใหม่ๆ จิตไร้สำนึกจะทำหน้าที่เป็นจิตสำนึก คนที่อยู่ในสภาวะเหล่านี้ รวมทั้งคนที่ตายไปแล้วจึงอาจเห็นจิตคนอื่น รู้ว่ามีอะไร ที่ไหนและอย่างไรทั่วทั้งจักรวาล เพราะว่ามีการโยงใยติดต่อกันเป็นหนึ่งเดียวของจิตไร้สำนึกของจักรวาล ดังหนังสือที่ ดีน ราดิน เขียนมา (Dean Radin : Entangled Mind, 2007)
จริงๆ แล้ว เราไม่รู้ว่าจิตไร้สำนึกของจักรวาล (หรือพระเจ้า) มีลักษณะเช่นไร? อาจจะเหมือนกับสภาพของควอนตัม สตัฟฟ์ (quiff) ที่นักควอนตัมฟิสิกส์ว่าไว้ก็ได้ หรือจะเป็นเช่นเดียวที่พระพุทธเจ้า และ ศรี อรพินโธ อธิบายไว้ก็ได้ คือเป็นเหมือนแสงชนิดหนึ่งที่กระจ่างใส และไม่มีที่มา (ไม่ใช่ดาว เดือน หรืออาทิตย์) ที่ลัทธิพระเวทเรียกว่า เสาวภาวิขะกายา
ท่านที่อ่านบทความนี้จบคงพอจะรู้แล้วว่า ผู้เขียนมีความเห็นอย่างไร? ในเรื่องของความรู้ (knowledge) และการรู้ (cognition) ของมนุษย์ที่เรามีอยู่ทั้งหมด และการรู้ของเรานั้นพุทธศาสนาบอกว่าจะเกี่ยวข้องกับจิตไร้สำนึกหรือจิตจักรวาล – ในฐานะที่มันคือสาเหตุ - เพียงอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นจิตร่วมโดยรวมหรือจิตของมนุษย์แต่ละคนและทุกคนเป็นปัจเจก จิตไร้สำนึกจักรวาลที่มาจากจิตปฐมภูมิ (primordial unconsciousness) ซึ่งมีมาก่อนจักรวาล ก่อนบิ๊กแบง และแยกจากพลังงานปฐมภูมิ (primordial energy) ไม่ได้และไม่มีทางได้ และที่ถูกเรียกว่าจิตจักรวาลเพราะซึมแทรกอยู่ในทุกที่ว่างของจักรวาล จิตไร้สำนึกของจักรวาลนี่เองที่เข้ามาอยู่ในสมองของทุกๆ คน – โดยเป็นชั้นๆ เช่นหัวหอมหรือไข่มุก – และชั้นนอกเท่านั้นที่ถูกบริหารเป็นจิตสำนึกใหม่ๆ ตลอดเวลา ส่วนชั้นในสุดๆ ก็คือจิตหนึ่ง หรือนิพพานหรือพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า
ในตอนท้ายนี้ ผู้เขียนใคร่ขอบอกความจริงที่สุด และใคร่ขอเตือนมนุษย์ทุกๆ คนว่า ทุกๆ ศาสนาสอนแต่สัจธรรมความจริงของธรรมชาติทั้งนั้น พุทธศาสนาในมุมมองของผู้เขียนมีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับควอนตัมฟิสิกส์ กับจักรวาลวิทยาใหม่ที่เพิ่งมีไม่เกินเจ็ดปี จงอย่ากลัวตายเพราะเรา “ต้อง” เกิดใหม่เสมอในสังสารวัฏ ถ้ายังไม่รู้แจ้งซึ่งพิสูจน์ได้ ขอบอกว่า จงทำดี มีคุณธรรมไว้เสมอ และจงเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม!
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
ประมาณทุกๆ สิบปี หาดใหญ่จะมีน้ำท่วมเมืองไม่ถึงกับสม่ำเสมอตรงเวลา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดบทสนทนาประจำปีในช่วงน้ำเยอะน้ำหลากได้เสมอ ปีนี้ก็ต้องเรียกว่าถึงเวลา (ที่ไม่มีใครอยากให้ถึง) อีกครั้งหนึ่ง ทุกครั้งที่มีอุทกภัยจะเกิดเรื่องราวมากมาย ความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของสังคมที่มีการสะท้อนทั้งในด้านดีด้านบวกและด้านไม่ (ค่อยจะ) ดีด้านลบอยู่เสมอ
น้ำท่วมคราวนี้ต้องประเมินว่าน้ำเยอะกว่าครั้งก่อนๆ ก็จริง แต่ปรากฏว่าลงเร็วซึ่งไม่ใช่เรื่องโชคดี แต่เป็นเรื่องของการตระเตรียมผังเมือง ระบบป้องกัน ระบบระบายน้ำ แล้วสุดท้ายอาจจะเรียกว่าโชคก็ได้ คือฝนหยุดตกในเวลาอันสั้นเพียงพอ เว้นที่ไว้ให้หายใจและให้ผู้คนเรียกสติกลับมาหาหนทางแก้ไขต่อสู้กันต่อไป เมื่อเดินทางเข้าไปในตัวเมืองหาดใหญ่ จะพบร่องรอยในลักษณะต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีรถที่จมคราบโคลนเต็มเมืองเหมือนอย่างปี ๒๕๓๑ ซึ่งทำให้เมืองดูน่ากลัวเหมือนหลังสงครามอยู่พักใหญ่ ปีนั้นท่วมอยู่นานหลายวัน สภาวะจิตสภาวะใจของผู้คนก็สึกกร่อนมากไปตามเวลาแห่งความทุกข์
ปีนี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ร.พ. ม.อ.) ได้มีส่วนประสานงานบรรเทาทุกข์ โดยการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อแจกจ่ายยาและให้การตรวจรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยเดือดร้อนจากน้ำท่วม ที่ผมรู้สึกดีมากคือได้เห็นน้องๆ นักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุนแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์แพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากออกไปให้บริการกัน เนื่องจากพวกเราที่ ม.อ. โชคดีที่มีพื้นที่ตั้งอยู่เชิงเขาคอหงส์ซึ่งเป็นที่สูง จึงไม่ถูกกระทบมากอย่างในเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ได้ผันบทบาทของผู้ไม่ถูกกระทบไปในด้านการช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ ทำให้โรงพยาบาลรอบๆ ข้างที่โดนน้ำท่วมเข้าจังๆ พอจะได้มีที่ระบายคนไข้ทั้งคนไข้ประจำและเฉพาะกิจเข้ามากันเต็มไปหมด
เมื่อวานนี้ผมทำหน้าที่สอบนักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่ง ได้เกิดข้อสังเกตว่างานของเรานั้นสามารถขยายไปได้มากขึ้นถ้าเรารับฟังคนไข้ทุกเรื่องราวจริงๆ คนไข้ที่น้องนักศึกษาเป็นคนเลือกมาเองนั้นได้รับอุบัติเหตุตอนพายุเข้า หลังคาถล่มมาทับทั้งตัวคนไข้เองและสามีบาดเจ็บทั้งคู่ แต่สามีอาการเบากว่าและได้กลับบ้านไปก่อน ส่วนภรรยามีกระดูกสันหลังท่อนหนึ่งแตก ทำให้ตอนนี้มีอาการอัมพาตไปครึ่งตัว เมื่อน้องนักศึกษาได้สัมภาษณ์ตรวจร่างกายคนไข้รายนี้เสร็จแล้ว เราก็ไปนั่งคุยกัน
สิ่งที่น้องนักศึกษาเลือกมานำเสนอ เน้นที่อาการอัมพาตอาการปวดของคนไข้เป็นหลัก มีข้อสังเกตที่น้องพูดว่า “คุณป้าดูจะเศร้าๆ” พอถามว่าเศร้าเรื่องอะไร น้องตอบว่า “น่าจะเป็นเรื่องที่เดินไม่ได้ค่ะ” เราจึงลองไปสัมภาษณ์ต่อ ปรากฏว่าตอนนี้ที่บ้าน สามีที่บาดเจ็บได้รับการดูแลโดยลูกชายซึ่งก็มีครอบครัวคือภรรยาและลูกเล็กอีกสองคน คนที่มาเฝ้าคุณป้าคือลูกชายอีกคนที่ทำงานและมีบ่อปลาดุก บ้านคุณลุงคุณป้าเดิมมีสวนยางอยู่สองไร่ ปลูกมาได้ ๕ ปียังไม่ได้เริ่มกรีดยางเต็มที่เลย (ยางต้องปลูกประมาณ ๕-๗ ปีกว่าจะเริ่มกรีดเอาน้ำยางมาขายได้) แต่ตอนที่พายุเข้า สวนยางก็ล่มหมด บ่อปลาดุกก็ถูกท่วมปลาหายไปหมดทั้งบ่อ มานอนโรงพยาบาล แม้ว่าจะใช้บัตรทองไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายประจำวันเกิดขึ้น
ถึงตอนนี้น้องนักศึกษาแพทย์เริ่มมองเห็นว่า “ทุกข์” ของคนไข้รายนี้อาจจะไม่ได้มาจากกายอย่างเดียวเสียแล้ว เราจึงลองให้ข้อมูลเพิ่มเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทะเบียนผู้พิการ เรื่องรายได้เสริมที่ทางโรงพยาบาลจะจัดให้แก่ผู้เฝ้าสิทธิต่างๆ ที่คนไข้น่าจะได้รับการช่วยเหลือทั้งจากทางการและทางเอกชน ทำให้คุณป้าเริ่มมีสีหน้าดีขึ้น ลูกชายที่มาเฝ้าก็ดูจะมีหน้าตาแช่มชื่นขึ้น
และน้องนักศึกษาแพทย์ก็ดูจะเข้าใจมากขึ้นว่า “งานเยียวยา” นั้นเป็นเรื่องของอะไร
บางทีบทเรียนเรื่องของความทุกข์นั้น แตกต่างจากโรคภัยไข้เจ็บที่คนไข้มาหาหมอ เพราะเขาทุกข์ที่ไม่สามารถจะทำอะไรๆ ที่เคยมีความหมายมีค่าที่เรียกว่าเป็น “ชีวิตปกติ” อย่างแต่ก่อนได้ ซึ่งถ้าผู้เป็นแพทย์ไม่เข้าใจเรื่อง “ความทุกข์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่ซับซ้อน อาจจะหลงทิศทางหรือไม่เข้าใจว่า “หน้าตาทุกข์” นั้นจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรบ้าง
การไปออกหน่วยแจกจ่ายยานั้น จากที่ผู้เขียนได้ไปเห็นเองบ้าง จากรูปถ่ายกิจกรรมบ้าง รูปที่สวยงามคือรูปแห่งการให้และการรับ แม้ว่าจะมีเบื้องหลังมาจากภัยธรรมชาติและมีเรื่องราวข่าวร้ายความเจ็บปวดทรมานแฝงอยู่ในรูปเหล่านี้ แต่ภาพที่นักศึกษาแพทย์ตั้งใจฟังคนไข้ ทำแผลบาดแผลเปื่อยที่เท้าที่ขาคนไข้อย่างมีสมาธิ ภาพที่พยาบาลทำความสะอาดร่างกายของผู้เจ็บป่วยอย่างตั้งใจ เป็นการสะท้อนความเป็นมนุษย์ สะท้อนความแข็งแกร่งของพวกเราได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน ภาพเหล่านี้ไม่ต้องการจัดฉาก หรือเป็น photo opportunity แต่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นการหล่อหลอมสรรค์สร้างสังคม สีหน้าแววตาที่จริงจังอย่างมืออาชีพ การฟังเรื่องราวอย่างตั้งใจมุ่งมั่นของผู้ให้บริการ นำมาซึ่งการเยียวยาเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี
ตอนเย็นเมื่อวาน ผู้เขียนได้เดินทางเข้าไปในเมืองอีกครั้ง ทำให้ได้เห็นภาพชีวิตอีกหลายๆ มุม มีภาพกองขยะสูงกว่าศีรษะ รวมกันบ้างกระจัดกระจายบ้าง แต่ก็มีภาพที่ชุมชนช่วยกันกวาดเก็บทำความสะอาดพื้นถนนหนทาง มีข่าวคนขโมยมิเตอร์น้ำบ้าง ขโมยป้ายโลหะบอกชื่อถนนชื่อซอย แต่ก็มีข่าวกลุ่มอาสาสมัครมากมายหลายกลุ่มรวบรวมข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์ของกินของแห้งเพื่อนำไปบริจาคแก่ผู้ต้องการ ฟังวิทยุมีข่าวผู้เดือดร้อนจากการไม่มีน้ำไม่มีไฟใช้ แต่ก็มีข่าวที่เจ้าหน้าที่การประปาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอด ๒๔ ชั่วโมงเพื่อทำให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด
เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของคนแต่ละคนในแต่ละโอกาส พบว่าการมีชีวิตเพื่อชีวิตอื่นนั้น เป็นวิธีที่ทำให้เราสวยงามจากภายใน ภาพยิ้มแย้มแจ่มใสบางทีก็ไม่สื่อเรื่องราวได้ดีเท่าภาพน้ำตาและสีหน้าอันมุ่งมั่นของมนุษย์ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553
เมื่อไม่นานมานี้ “หมอนุ้ย” ลูกศิษย์ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งบทความ “ส่งต่อ (ด้วย) หัวใจ” ที่เขียนโดยคุณวรรณวนัช มาให้อ่าน เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของคุณพ่อท่านหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกชายที่กำลังจะจบเป็นเภสัชกรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ผมอ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจ เห็นใจ เข้าใจ และภูมิใจในตัวคุณพ่อท่านนี้มาก เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์ความสูญเสียที่คล้ายคลึงกัน
เรื่องย่อๆ คือ คุณพ่อต้องพาลูกชายเข้าโรงพยาบาลหลังจากเกิดได้เพียงสองวัน เพราะมีอาการตัวเขียวมากเวลาร้องไห้และหายใจคล้ายหอบ จากการตรวจของแพทย์พบว่าลิ้นหัวใจของลูกปิดไม่สนิท ทำให้หัวใจบีบตัวผิดปกติ จังหวะการเต้นของหัวใจจึงผิดปกติไปด้วย แพทย์อธิบายว่า ถ้ารักษาโดยการผ่าตัด จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ที่สำคัญคือโอกาสรอดน้อยมาก คุณพ่อตอนนั้นอายุแค่ยี่สิบเอ็ด ฐานะยังไม่มั่นคง จึงต้องรักษาด้วยการใช้ยา ลูกต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณห้าเดือน และต้องรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องอีกห้าปี ตามด้วยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โชคดีที่ผลการตรวจสุขภาพพบว่าปกติดี ลูกจึงดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปหลังจากนั้นอีกสิบกว่าปี
ที่น่าสนใจคือคุณพ่อต้องเลี้ยงลูกชายคนนี้ตั้งแต่อายุหกขวบกับลูกชายคนที่สองอีกหนึ่งคน เพราะภรรยาเสียชีวิต คุณพ่อเล่าว่าลูกชายเป็นคนขยัน ตอนเรียนอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ปี ๕ เขาจะศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลทำรายงาน และมีความตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์
เมื่อประมาณปี ๒๕๕๐ ตอนนั้นลูกชายอายุ ๒๐ ปี มาบอกให้ทราบว่าเขาได้ทำบัตรบริจาคอวัยวะและขอให้คุณพ่อเซ็นชื่อหลังบัตรเพื่อรับทราบ
คุณพ่อเล่าให้คุณวรรณวนัชฟังว่า “ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ลูกเริ่มมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติครั้งละห้านาทีบ้าง สิบนาทีบ้าง ซึ่งแต่ละครั้งค่อนข้างน่ากลัว เพราะมันเต้นแรงเหมือนกับจะทะลุออกมา วางมือลงไปนี่รู้สึกว่าหัวใจมันกระแทกมือเลย แต่ลูกดูแลตัวเองดี กินยาสม่ำแสมอ ไปหาหมอตรงตามนัด จึงคิดกันว่าไม่เป็นไร”
แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณพ่อต้องไปเยี่ยมลูกชายที่โรงพยาบาลกลาง ลูกชายอยู่ในห้องฉุกเฉิน ไม่หายใจ ต้องปั๊มหัวใจมาประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว คุณพ่อต้องขอร้องให้แพทย์ปั๊มหัวใจต่อจนเกือบสองชั่วโมง ชีพจรจึงกลับขึ้นมา แต่เป็นได้แค่ให้รู้ว่าลูกยังอยู่เท่านั้น
สองวันหลังจากลูกชายถูกย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ คุณพ่อก็ตัดสินใจนำบัตรบริจาคร่างกายไปยื่นให้โรงพยาบาล ในตอนนี้ คุณวรรณวนัชบันทึกไว้ว่า
“วันนั้นผมทำอะไรให้ลูกไม่ได้อีกแล้วนอกจากทำในสิ่งที่เขาตั้งใจ แต่กว่าจะผ่านเกณฑ์ผู้บริจาคซึ่งมีกฎว่าต้องรอเวลาอย่างน้อยที่สุดหกชั่วโมงเพื่อยืนยันภาวะสมองตายได้นั้นยากมาก เนื่องจากภาวะสมองตายมาหลายวันแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ยาเยอะมากเพื่อพยุงอวัยวะให้ผ่านเกณฑ์ผู้บริจาคได้ ผมผ่านช่วงเวลานั้นโดยคิดถึงสิ่งที่ลูกสอนผมเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย คิดว่ามีอีกหลายคนและหลายครอบครัวจะได้มีความสุขจากความตั้งใจดีของลูก และผมไม่อยากให้สิ่งสุดท้ายที่ลูกฝากไว้สูญเปล่า”
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทราบว่า ดวงตาสองข้าง ลิ้นหัวใจสองลิ้น ปอด ตับ และไตที่ลูกบริจาค สามารถนำไปช่วยผู้ป่วยซึ่งรอความหวังจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอยู่ได้ถึง ๗ คน
คุณพ่อท่านนี้ได้พูดถึงลูกชายด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ผมอยากบอกลูกว่าชาตินี้ที่อยู่กับพ่อ แม้จะสั้น แต่เราก็มีความสุขด้วยกันอย่างเต็มเปี่ยม ความภูมิใจที่ลูกทิ้งไว้ให้ พ่อจะเก็บไว้ตลอดไป และดีใจที่ลูกเกิดมาเป็นลูกพ่อ”
ขอขอบคุณคุณวรรณวนัชที่นำเรื่องดีๆ มาถ่ายทอด ขอบคุณคุณพ่อ (คุณโสมนัส แซ่ลิ้ม) และลูกชาย (คุณอรรถพล) ที่ให้แง่คิดและให้สติกับผมและผู้อ่านอีกหลายท่าน
เราควรจะไปบริจาคอวัยวะ ดวงตา และร่างกายของเรากับโรงพยาบาลให้มากๆ นะครับ จะได้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตและรอความหวังอยู่
มาร่วมกันเปลี่ยนความสูญเสียที่ปวดร้าวเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่
อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้ผมคิดถึงการสูญเสียที่ปวดร้าวของครอบครัวผมเอง ผมต้องสูญเสีย "ลูกดร๊อบ (Drop)" ลูกชายที่น่ารักไป ด้วยความเสียใจและภูมิใจในการเกิดมาของลูก ลูกชายตัวน้อยเกิดมาพร้อมกับรูรั่วที่หัวใจสามรู แถมมีปัญหาที่ลิ้นหัวใจด้วย ผมจำคำศัพท์ทางการแพทย์ที่เพื่อนหมอที่ทำคลอดให้บอกไม่ได้ แต่รู้ว่าลูกมีความผิดปกติที่มีความเสี่ยงสูง ผมรับรู้ว่าลูกต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ในลักษณะที่เห็นความพ่ายแพ้อยู่ข้างหน้า นอกจากจะช่วยตัวเองไม่ได้เพราะเพิ่งเกิด ยังต้องพึ่งผู้อื่น พึ่งความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไม่ต้องห่วงเรื่องความช่วยเหลือของพ่อแม่เพราะทุ่มเทเกินร้อย หมอที่เป็นเพื่อนบอกว่า ความรู้และเทคโนโลยี ณ ขณะนั้น (เมื่อประมาณเกือบ ๒๐ ปีก่อน) ยังไม่ดีพอ ถ้าจะผ่าตัดรักษาเลย มีโอกาสรอดสูงสุดแค่ร้อยละ ๑๕ - ๒๐ ถ้ารอไปอีกสิบ ยี่สิบปี จะมีโอกาสรอดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ ๕๐
ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นหวัง เสียใจ และความหวังของครอบครัวของผม คงคล้ายๆ กับครอบครัวของคุณโสมนัส ผมก็ไม่รู้จะบรรยายความสูญเสียครั้งนั้นให้ชัดเจนได้อย่างไร รู้แต่ว่าคนที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยตนเอง จะอธิบายอย่างไรก็คงไม่เข้าใจสภาวะและความรู้สึกโดยรวมได้ทั้งหมด ลูกที่น่ารักน่าสงสารอยู่กับเราได้ไม่กี่เดือนก็จากเราไป แต่เด็กชายตัวน้อยที่ชื่อว่า "คุรุรัฐ พูลภัทรชีวิน" ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่สมกับชื่อ ทำสิ่งที่ดีให้กับวงการแพทย์ (นํ้าตาผมซึมออกมา ตอนที่เขียน) เพราะพ่อแม่ตัดสินใจมอบร่างกายของลูกน้อยที่น่ารัก รวมถึงชีวิตจิตใจของครอบครัวให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกได้เป็นครู เป็นอาจารย์แพทย์โดยที่ไม่ได้จบแพทย์ ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ ลูกมีเพียงประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ปกติ เพียงไม่กี่เดือน แต่ลูกก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูเต็มรูปแบบทุกอณูของร่างกาย ลูกสอนโดยไม่ต้องพูด ไม่ต้องบรรยาย ไม่มีอุปกรณ์ประกอบการสอน เพราะร่างกายของลูกคืออุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด ลูกสอนโดยไม่มีการเตรียมตัวหรือวางแผนล่วงหน้า แต่ลูกสอนด้วยความสงบนิ่ง มอบร่างกายและอวัยวะให้กับลูกศิษย์ได้ศึกษา ลูกทำหน้าที่ครู (โดยมิได้เป็นผู้กระทำ) ได้ดีกว่า อาจารย์ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ผู้เป็นพ่อหลายเท่านัก พ่อภูมิใจในตัวลูกมากจริงๆ ลูกรักของพ่อ...
บ่อยครั้งที่ผมนั่งอยู่คนเดียวคิดถึงลูก และสิ่งที่ลูกสอนผม...มีอยู่วันหนึ่งที่ผมแต่งกลอน คุยกับลูก สองต่อสอง กลอนนี้ชื่อว่า "เพื่อลูกรัก...ด้วยความคิดถึงและขอบคุณ"
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง บรรเลงแว่ว
อุแว้แล้ว ขวัญตา ขวัญใจพ่อ
ช่างน่ารัก น่าถนอม น่าเคลียคลอ
พ่อสุดหล่อ พ่อสุดปลื้ม จนลืมนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง วังเวงแว่ว
เจ็บป่วยแล้ว ลูกรัก จงพักผ่อน
กินยานะ ลูกรัก แล้วพักนอน
นอนเถิดนอน ลูกนอน นอนเถิดนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง วังเวงแว่ว
สิ้นเสียแล้ว ลูกพ่อ รอพ่อก่อน
ลูกหนีพ่อ พ่อทุกข์ และอาทร
รอพ่อก่อน ลูกพ่อ พ่ออยากนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง บรรเลงแว่ว
เข้าถึงแล้ว สัจธรรม ซึ่งคำสอน
อนิจจัง ทุกขัง นั้นแน่นอน
ศพลูกสอน เตือนพ่อ กงล้อชีวิต...
I'll be right here waiting for you, my dear son.
ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านบริจาคอวัยวะ ดวงตา เลือดและร่างกายให้กับสภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลนะครับ
มาร่วมมือ รวมใจกัน ก้าวข้ามความสูญเสียที่ปวดร้าวสู่การให้ที่ยิ่งใหญ่...
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553
ถ้ามีฟักทองลูกหนึ่ง คุณกับเพื่อนอีกสองคนจะแบ่งกันอย่างไร?
คำตอบทั่วไปก็มักจะเป็นว่า ก็ตัดแบ่งสามส่วนให้เท่า-เท่ากัน
คำถามที่น่าสนใจก็คือ – มีวิธีแบ่งแบบอื่นอีกไหม?
ลองนึกภาพการพูดคุยของผู้คนสามคน พวกเขาหรือเธออาจจะถามไถ่กันว่า ใครอยากได้ส่วนไหนของฟักทองไป บางคนอาจจะอยากได้เนื้อไปทำฟักทองแกงบวด อีกคนอยากได้เปลือกฟักทองไปทำปุ๋ยชีวภาพ อีกคนอยากได้เมล็ดฟักทองเพื่อเอาไปอบแห้งหรือเพาะเมล็ดขาย – นี่ก็ได้วิธีแบ่งอย่างหนึ่งล่ะ
แล้วเป็นไปได้ไหม ที่คนหนึ่งอาจจะบอกว่า ยังไม่อยากใช้ฟักทองในตอนนี้ เพื่อนสองคนเอาไปแบ่งกันเองก่อน ไว้คราวหน้าถ้ามีฟักทองมา ก็ค่อยขอใช้ หรือถ้าใครอยากใช้ทั้งลูกก็เอาไปใช้ก่อน ถ้ามีฟักทองหรือของอย่างอื่นมาก็ค่อยให้เพื่อนอีกสองคนไป – นี่ก็เป็นอีกวิธี
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่โคราชที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมโคราชขนข้าวปลาอาหารและสิ่งของเข้าไปบริจาคในพื้นที่น้ำท่วม แล้วก็พบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดแบ่งข้าวของเหล่านั้นลงในถุงยังชีพเพื่อแจกให้ผู้ประสบภัยคนละถุง เนื่องจากสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มีความแตกต่างกันมาก ผู้หญิงอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย เด็กอ่อนอาจจะต้องการผ้าอ้อม นม และขวดนม คนแก่อาจจะต้องการอาหารเคี้ยวง่าย ในขณะที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้เลย – การแบ่งของบริจาคก็เลยกลายเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เพราะแม้น้ำจะลดลงไปแล้ว แต่ยังต้องมีกระบวนการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย ทั้งยังต้องวางแผนรับมือภัยหนาว ที่คาดว่าน่าจะร้ายกาจไม่แพ้กัน
กลุ่มประชาสังคมโคราชที่ประกอบไปด้วยนักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ และเอ็นจีโอ เห็นตรงกันว่าการนำของส่งไปถึงมือของผู้ประสบภัยโดยเร็วเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน แต่กระบวนการแบ่งข้าวของในภาวะวิกฤติให้กับปัจเจกชนเป็นรายคนนั้นเป็นอุปสรรคอย่างมาก และผู้ให้ความช่วยเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีใครหรือครอบครัวไหนประสบภัยบ้างในพื้นที่นั้น – คำถามก็คือ มีวิธีการแบ่งของบริจาคในแบบอื่นอีกไหม?
นักธุรกิจคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมที่จะจัดแบ่งข้าวของให้เป็นรายกลุ่มหรือรายชุมชน โดยให้ผู้คนในพื้นที่ที่ประสบภัยรวมตัวกันและขอความช่วยเหลือเข้ามา โดยให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น ข้าวสารกี่กิโล นมกี่กระป๋อง ผ้าอนามัยกี่กล่อง ฯลฯ ผู้บริจาคเพียงแต่นำสิ่งของเข้าไป และให้ทางชุมชนไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ตรวจสอบกันเอง
หากทำเช่นนี้ได้ กระบวนการช่วยเหลือก็จะรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลากับการแบ่งของเป็นรายหัว แบ่งของลงถุงเหมือนใส่บาตร ทั้งยังเป็นการผลักดันให้มีการรวมตัวกันของภาคประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น และน่าที่จะเป็นรูปแบบของกระบวนการเยียวยาและการเตรียมการในภาวะปรกติเพื่อรับมือวิกฤติครั้งต่อไปได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า รูปแบบของการแบ่งทรัพยากร สามารถนำไปใช้ในฐานะของกลไกในการขับเคลื่อนหรือผลักดันกระบวนการทางสังคมได้ พูดโดยง่าย การแบ่งก็เป็นอุบายวิธีเชิงบวกได้ ไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาหารให้ลงตัว
รูปแบบคล้ายกันนี้ ประชาคมยุโรปก็ใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน ดังที่โครงการ FP7 บังคับให้บรรดาสถาบันวิจัยต้องจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกันไม่ต่ำกว่าสามแห่ง โดยบังคับให้เป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างกัน และยิ่งทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยต่างทวีป ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนในขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยวิธีการนี้เอง เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันวิจัยในยุโรปจึงขยายได้มาก และมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีไปยังประเทศโลกที่สามได้เร็วขึ้น
สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอง ในปัจจุบันก็ได้ริเริ่มนำวิธีการที่คล้ายคลึงกันมาใช้ ด้วยการผลักดันให้มีการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกันระหว่าง ๕ องค์กร ในฐานะเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet – Social Inequity Reduction Network) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานลดความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตัวเร่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับนโยบายและประชาสังคม ในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น สนับสนุนการดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ผ่านปัญญากลุ่มในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น
ความขัดแย้งในสังคมไทย มีสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งในเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ คลื่นในอากาศ งบประมาณแผ่นดิน อำนาจหน้าที่ ฯลฯ การแบ่งสรรทรัพยากรที่ไม่ฉลาด ย่อมก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ความไม่เสมอภาค กลายเป็นความทุกข์ความบีบคั้น และความขัดแย้งในที่สุด
แล้วแบ่งอย่างไรจึงจะเรียกว่าฉลาดและเกิดปัญญา? – คำถามนี้ก็คงต้องเชื้อชวนให้ช่วยกันตอบ แต่ที่เป็นของแน่ก็คือ การปล่อยให้คนไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มครอบครองอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องดี
ยุคสมัยนี้ มีผู้คนที่กล่าวถึงความศรัทธาในประชาธิปไตย รักมนุษยชาติ และห่วงใยโลก มากที่สุด แต่การแบ่งปันพื้นที่ให้กับความแตกต่างเชิงปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน คนในเฟซบุ๊ก ทั้งในเรื่องของความรู้ มุมมอง ความเชื่อ ทัศนะ ท่าที ฯลฯ น่าจะเป็นเรื่องท้าทายความเป็นมนุษย์ของเรามากที่สุดเช่นกัน
การนำพาผู้คนจำนวนมากเข้ามาสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาข้อตกลงหรือกติกาทางสังคมร่วมกันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ซึ่งนั่นก็หมายถึงราคาที่แท้จริงที่เราต้องจ่าย ถ้าไม่จ่ายในชั่วคนนี้ก็ต้องทบไปจ่ายในชั่วคนต่อไป หนี้ทางสังคมเป็นหนี้ที่สืบเนื่องไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จะแบ่งจ่ายกันอย่างไร คงต้องอาศัยปัญญาและกรุณาช่วยกันตอบ
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2553
คริสปี้ครีม คือชื่อของโดนัท หรือแป้งที่เอาไปทอดกับน้ำมัน เป็นของกินเล่นยอดฮิตชนิด “สุโค่ย” ที่สุดของคนกรุงใน พ.ศ.นี้ (คำสุโค่ยนี้ไม่รู้จักต้องถามวัยรุ่น) บ่ายวันหนึ่งระหว่างมองหาร้านกาแฟเพื่อนั่งจ่อม ผมเหลือบไปเห็นคนจำนวนมากเข้าคิวเพื่อซื้อขนมยี่ห้อนี้ เป็นแถวยาวเหมือนงูพันทบสัก ๓-๔ รอบ ส่วนปลายแถวทิ่มทะลุออกไปนอกห้างสรรพสินค้าชื่อดัง งานนี้น้องสาวแฟนที่เรียนอยู่ชั้นปีหนึ่งที่ ม.อ. สุราษฎร์ธานี ถึงกับอุทานแบบไม่เชื่อสายตาว่า
“บ้าไปแล้ว”
“บ้า” คือ ถ้อยคำที่สะท้อนตรงออกจากใจ สำหรับผมอยากจะใช้คำว่า “หลงเสน่ห์” มากกว่า การหลงเสน่ห์คือการที่คนเรายอมเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เพื่อที่จะได้แลกมาซึ่งประสบการณ์ของการได้บริโภค ครอบครอง หรือเป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคริสปี้ครีม มันอร่อยหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ามัน “สุโค่ย” แค่ไหน มันเท่ห์ที่ได้กินก่อนเพื่อน จะได้เอาไปคุยกับเขาได้ เมื่อฟังเพื่อนคุยแล้ว คนที่ยังไม่ลองก็เกิดความอยากลองบ้าง ผมรู้จักคนที่รอแถวเพื่อซื้อขนมรวยเสน่ห์นี้เป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ไม่มีเวลารอก็ไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวนี้คิวมอเตอร์ไซค์แถวนั้นเขารับจ้างเข้าคิวแล้วนำส่งถึงบ้าน ก่อนหน้านี้กับขนมชื่อดังโรตีบอย ก็ฮิตวูบเดียวแล้วเลิกไป ไม่นานกระแสคริสปี้ครีมก็คงจะสร่างซาไปเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือธรรมชาติของคนไทยที่ “ตื่นตูม” ได้ทุกยุคทุกสมัย มิไยที่คุณหมอประเวศ วะสี จะพูดจนจวนหมดแรงให้พวกเรา “ตื่นรู้” แต่ในอนาคตอันใกล้ ผมก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เหตุที่เรายังไปไหนไม่ได้ไกลในการวิวัฒน์จิต ผมสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเราละทิ้งรากทางวัฒนธรรมของเรา เพราะไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งถึงแก่นศาสนาของตน เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบ เราจึงสั่นไหวไหลเทไปตามกระแสได้ง่าย เหมือนผักตบชวาที่ลอยไปเรื่อยตามกระแสน้ำ
“คริสปี้” ในภาษาไทยแปลว่า “กรอบ” ในกระแสของการวิวัฒน์จิตในปัจจุบันใช้คำว่า “ความเปราะบาง” กันบ่อย คำว่าเปราะบางมีนัยว่าแตกหักง่าย หากใครมีจิตใจที่เปราะบาง เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบก็ย่อมจะหวั่นไหวง่าย ถ้าโดนแรง ๆ ก็ย่อมจะแตกละเอียด ถ้าอยากจะเป็นวัยรุ่นใจสะออน คงใช้คำว่าเปราะบางได้ แต่หากอยากจะเรียนรู้เพื่อเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ความเปราะบางหรอกที่ควรจะฝึกฝน แต่ควรฝึกจิตฝึกใจให้คู่ควรกับการงาน จนมีความฉับไวรู้เรื่องที่ควรรู้ในเวลาที่ควรรู้ คือนักสู้ที่ไร้กระบวนท่าแต่รับได้ทุกท่วงท่า
“ครีม” คือ ไส้ในหวาน ๆ ที่บีบใส่ไว้ในโดนัท เพื่อเพิ่มรสชาติ การศึกษาทางจิตตปัญญาทุกวันนี้ไปติดที่ความหวานกันมาก เพลงหวาน ๆ ถ้อยคำหวาน ๆ รื่นหู คนจำนวนมากตื่นเต้นที่เห็นพระมหายานออกมาร้องเพลง แต่เวลาเห็นพระสวดในทีวีเราเปลี่ยนช่องแทบไม่ทัน เราตื่นตูมกับอะไรที่แปะป้ายว่าเกี่ยวกับความรักและความสุข อาจเพราะจิตใจเราโหยหาความสุขและความรัก แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้แสวงหาความสุข เช่นเดียวกับคริสต์ศาสนาที่ไม่ได้สอนให้รักแบบครอบครอง ส่วนอิสลามมีรากศัพท์มาจากคำว่าสันติ สันติภาพภายในใจย่อมจะเกิดไม่ได้หากผู้เรียนรู้ไม่เข้าใจ สับสนกันระหว่างเปลือกกับแก่น
ที่จั่วหัวเรื่องไว้ว่า “จิตวิญญาณ คริสปี้ครีม” จึงหมายถึงอาการของคนยุคนี้ ที่เปราะบางต่อสิ่งเร้าและโหยหาคำมั่นสัญญาของความสุข แม้สุขชั่วคราวก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะชีวิตของตนที่แสนจะแปลกแยกและว้าเหว่ บางจำพวกก็อยากจะแสวงหาแต่โลกสวยงาม แต่ความเป็นจริงไม่ได้สวยงามอย่างนั้น มีความโลภไม่สิ้นสุด มีสงคราม ความรุนแรง จะผลักไสสิ่งเหล่านี้ไปจากความรู้สึกนึกคิดได้อย่างไรถ้ายังไม่รู้จักจัดการความรุนแรงในใจของตัวเอง จะมีเมตตาธรรมได้อย่างไรถ้าในใจยังแยกเขาแยกเราอยู่เป็นนิจ จะเป็นที่พึ่งให้ตนเองได้อย่างไรถ้ายังแสวงหาฮีโร่คนใหม่ไปเรื่อย จะวิวัฒน์จิตได้อย่างไรถ้าทุกวันนี้สิ่งที่เราทำคือการนั่งมองหรืออ่าน “จุดพลิกผัน” ของชีวิตผู้อื่น หรือหลอกตัวเองว่าเรากำลังช่วยเหลือผู้อื่น แท้จริงแล้วเรากลับทำเพื่อสนองความต้องการลึก ๆ ของเราเอง
ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่ผมนิยมให้ไปอีกโต่งหนึ่ง คือกลายไปเป็นผู้เย้ยหยันโลก ผู้วิวัฒน์จิตบางจำพวกแสวงหาความสะใจที่ได้ประณามทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถาบันศาสนา ด้วยสำคัญว่าตนรู้ความจริงที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่ไม่ได้เฉลียวใจว่าความรู้ที่ตนนำมาวิเคราะห์สังคมนั้นก็คืออีกกรอบกรงหนึ่งที่มาครอบครองพื้นที่ของใจไม่ให้เป็นอิสระจากความคิดเหล่านั้น การแสวงหาความรู้ด้วยการเข้ามาดูความจริงในใจที่เรียกว่าการ “ภาวนา” เท่านั้นจึงจะข้ามพ้นกรอบของความคิดเหล่านั้นได้ แต่ไม่ใช่การภาวนาทุกแบบทุกประเภทจะนำไปสู่อิสรภาพอย่างแท้จริงได้ หาไม่เช่นนั้นแล้วอินเดียสมัยโบราณก็คงจะมีผู้บรรลุธรรมกันเป็นว่าเล่น หรือผู้ที่สวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าทุกคนก็ต้องได้ไปอยู่กับพระเจ้า การภาวนาจึงต้องมีหนทางที่ถูกและทางที่ผิด ไม่ใช่อะไรก็ได้อย่างที่กูรูด้านการพัฒนาจิตร่วมสมัยบางท่านพยายามทำให้เราเข้าใจไปแบบนั้น การขัดเกลาตนเองต้องไปในทางที่ “ถูกต้อง” ไม่ใช่จะเอาแต่ “ถูกใจ” แล้วเมื่อไหร่จะไปถึง หนทางที่ว่าไปทางไหนก็ต้องไปแสวงหาเอาจากครูบาอาจารย์ที่ได้เรียนรู้ปฏิบัติมาก่อนจนรู้จริง และมีความประพฤติที่สมควรแก่การบูชากราบไหว้ ส่วนใครจะไปได้ไกลแค่ไหนก็สุดวิสัยที่จะบอกได้ สำคัญอยู่ที่ได้เริ่มลงมือทำเสียก่อน เพราะ “ทำเพื่อให้ได้ทำ ก่อนที่ไม่มีเวลาจะทำ”
ถ้าทั้งหมดนี้ฟังดูแล้วเข้าท่าก็ไม่ต้องแปลกใจ หรือไม่เข้าท่าก็ไม่ต้องแปลกใจอีก เพราะอีกสองสามวินาทีหลังจากที่อ่านบทความนี้จบ คุณก็จะล่องลอยไปในความคิดที่เข้ามากระทบไปเรื่อย เหมือนสวะที่ลอยไปตามกระแสน้ำ ไหลไปอย่างไร้จุดหมาย แต่ชั่วแล่นหนึ่งคุณอาจจะคิดถึงคริสปี้ครีม คุณอาจจะนึกถึงความนุ่มของเนื้อสัมผัสของโดนัทที่เต็มไปด้วยไส้ครีมหวานหอม แต่ช้าก่อนคุณคงไม่อยากจะเข้าคิวรอหลายชั่วโมง คุณอาจพยายามหาเบอร์โทรศัพท์ของวินมอเตอร์ไซค์แถวนั้น แต่ไม่นานก็รู้สึกผิดเพราะพยายามลดแป้งกับน้ำตาล แต่เชื่อเถอะภาพของโดนัทน่ากินมันจะผุดขึ้นมาวนเวียนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดคุณจะห้ามใจไม่ไหว ไม่ใช่เพราะ “ความหิว” แต่เป็นเพราะคุณ “อยากกิน”
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2553
สัญชาตญาณการอยู่รอดยังคงทำงานในชีวิตมนุษย์ เราเรียนรู้ที่จะจดจำความผิดพลาด และป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องประสบกับความยากลำบากนั้นอีก เราจึงฝึกให้ตัวเองคิดล่วงหน้า และเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อม จนการคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนกลายเป็นโหมดอัตโนมัติที่ทำงานทุกครั้งเมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคง ซึ่งสำหรับในบางคน มันทำงานมากจนเกินความต้องการของเจ้าตัว บางทีดูเหมือนว่าเขาห่วงหรือวิตกกังวลเรื่องงาน แต่พอค้นเข้ามาในตัวเองจริงๆ แล้ว สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการห่วงว่าเขาจะได้รับการยอมรับ ในฐานะคนทำงานสำเร็จ คู่ควรแก่การยกย่อง และได้รับความรักจากเพื่อนร่วมงานหรือไม่ เขาผูกยึดคุณค่าของตัวเองไว้กับผลสำเร็จของงาน ที่อาจส่งผลต่อการมีอาชีพที่มั่นคงอีกด้วย
บางครั้งเราเป็นห่วงตัวเองมาก จนบางทีแทบจะนอนไม่หลับเพราะโหมดปกป้องได้คาดการณ์ และวางแผนล่วงหน้า ด้วยความวิตกกังวล กระบวนการซักซ้อมความคิดเชิงปกป้อง (Defensive Mental Rehearsal) ดังกล่าว ทำงานได้เพราะมนุษย์เรามีความทรงจำ เมื่อเคยพลาด เคยเจ็บ หรือเคยประสบภัยที่เสี่ยงต่อการสูญเสีย เราจะอาศัยความทรงจำเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนและพัฒนายุทธศาสตร์ หรือวิธีการรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
ในงานที่ผมทำ คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้และช่วยเหลือให้กลุ่มคนหรือองค์กรเกิดการเรียนรู้ เนื่องจากมีเหตุปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ผมจำต้องใส่ใจกับรายละเอียดของงานทุกขั้นตอน แต่ยังไม่วายหลวมตัวยอมให้ตัวเองทำงานอยู่ในโหมดปกป้องมานานนับสิบปี แม้ความระแวดระวังและการตระเตรียมให้เกิดความพร้อมจะช่วยทำให้พัฒนาตัวเองอย่างรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น แต่ไม่สามารถรับประกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือควบคุมผลลัพธ์ปลายทางให้ได้ดังที่คิดไว้ล่วงหน้า อีกทั้งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นก่อนการเริ่มต้นของงาน ก็ดึงพลังและความสุขสันติออกไปจากชีวิตไม่น้อย จนบางครั้งคิดจะเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างนี้ เช่น งานแปลหรือเขียนหนังสือ เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบในช่วงของการตระเตรียมงานทางความคิดในใจตัวเองคือ เราจะสร้างภาพล่วงหน้าว่ากลุ่มคนที่เราจะได้พบเจอนั้นจะเป็นแบบไหน เราควรจะพูดเรื่องอะไร หรือต้องทำกิจกรรมอะไรให้เหมาะสมกับพวกเขา เพื่อให้เขายอมรับและอื่นๆ อีกมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ การณ์มักกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เราต้องเริ่มใหม่ มองใหม่ทุกครั้ง ต้องลืมสิ่งที่ตระเตรียมไว้ก่อน แต่นำสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเป็นครู ทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการที่อยู่ตรงหน้า ปรับตัวเข้ากับมันแล้วจึงจะสามารถนำพาสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปได้ในทิศทางที่จะตอบสนองความต้องการของเขาและของเราด้วย
บังเอิญผมอ่านพบถ้อยความที่น่าสนใจในหนังสือ The Three Laws of Performance: Rewriting the Future of Your Organization and Your Life โดย Steve Zaffron & Dave Logan ที่ออกมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ ความว่า "หัวใจสำคัญของการเป็นเซียนในแขนงวิชาหรือแนวคิดอะไรก็ตาม คือการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นอย่างไร้ข้อคิดเห็นล่วงหน้า หากมองสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น แล้วสร้างผลลัพธ์จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้น" ความเห็นนี้ช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกือบทุกๆ การอบรมที่ทำมาได้อย่างดี นั่นคือสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดังคิด เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้
ผมชอบประโยคนี้เพราะมันทำให้คิดอะไรออกอีกหลายอย่าง ในการทบทวนบทเรียนจากการทำงานอบรมที่ผ่านมา บ่อยครั้งเราตระเตรียมงานมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ สิ่งที่เราต้องพึ่งพิงอย่างยิ่งคือ ปัญญาญาณภายใน ที่เชื่อมเข้าหาสถานการณ์ตรงหน้า ที่เรียกร้องความเข้าใจจากเรา เราจำต้องสร้างจากสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ใช่จากความคิดของเรา เหมือนกับการทำอาหาร ถ้าเราเตรียมความคิดว่าจะทำนั่นทำนี่ แต่เอาเข้าจริง วัสดุที่มีมาให้ตรงหน้า มันต้องทำอย่างอื่น เราก็ไม่ควรขัดขืนจะทำตามความคิดล่วงหน้าของเรา เพราะอาหารก็จะจืดชืดหรือไม่เป็นรสเอาเสียเลย เหมือนกับการเริ่มต้นจากศูนย์ทุกครั้ง แล้วสังเกตว่าพลังของอะไรหนอที่ต้องการการปลดเปลื้องออกมา
เราอาจทำกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เตรียมไว้ แต่นั่นก็เพื่อจะได้สังเกตดูอย่างใกล้ชิดว่า วาระที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนกลุ่มที่เรากำลังทำงานด้วยแท้จริงแล้วคืออะไร
นอกจากนี้ ระยะหลัง นอกจากการจัดงาน Dialogue แล้ว ผมยังจัดงานการถอดองค์ความรู้ขององค์กร หรือ Knowledge Sharing ที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ (KM) บทเรียนจากการทำงานด้านการจัดการความรู้ ทำให้เห็นว่า เวลาเราทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถอดบทเรียนขององค์กรในเรื่องวิธีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสังเกตเห็นเนื้อหาบางอย่างสดแทรกเข้ามา นั่นคือประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงาน ผมเลยได้บทเรียนอย่างหนึ่งว่า การจัดการความรู้จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากมีการจัดการความสัมพันธ์ไปด้วย ความสัมพันธ์ที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจและมีไมตรีต่อกันเป็นหัวใจสำคัญต่อการแบ่งปันและสร้างความรู้ใหม่ในองค์กร
แต่ในองค์กรที่สนใจแต่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ของงาน อาจละเลยเรื่องการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ไปอย่างไม่ตั้งใจ บ้างก็อาจพยายามหลีกเลี่ยงการต้องเผชิญหน้ากับความไม่ลงตัวของขั้วขัดแย้งต่างๆ แล้วมุ่งไปในเรื่องการทำงาน เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาคาราคาซังหรือเลวร้ายลงไปอีกด้วยการ "เปิดประเด็น" จนเกิดอาการ "งานเข้า" ได้ในภายหลัง ด้วยขาดทักษะในการสื่อสารหรือความสามารถในการคลี่คลายความขัดแย้งเหล่านี้ด้วยตัวเอง การไม่พูดถึงปัญหาความสัมพันธ์จึงเป็นการหมักปัญหาไว้จนอาจเรื้อรัง และนับวันยากจะเยียวยา
ดังนั้น “ความรู้แล้ว” ที่มาจากการตีความหรือการคาดคะเนล่วงหน้าอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าใจ ความรู้ที่มีชีวิตที่อาจแฝงเร้นอยู่ในจิตใจของผู้คนปัจจุบัน โดยเฉพาะความรู้หรือประสบการณ์ที่ถูกกีดกันหรือกดทับเอาไว้ด้วยอำนาจที่เหนือกว่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากการมีตำแหน่งหน้าที่เหนือกว่า สถานภาพทางสังคมหรือทางวิชาการ หากองค์กรที่ต้องการสร้างความรู้ร่วมสามารถปลดเปลื้องพันธนาการที่ยึดกุมความรู้จากความกลัวผิด ความกลัวเสียหน้า หรือไม่ได้รับการยอมรับ ที่ถูกละเลย เช่น ประสบการณ์ของคนทำงานเข็นเปล เหล่านี้ออกมาได้ ศักยภาพในการเรียนรู้ร่วมกันขององค์กรหรือสังคมจะเพิ่มขึ้นได้มหาศาล แต่นั่นอาจหมายถึงผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า จำต้องจัดการกับความรู้แล้วของตัวเองให้ไม่ไปกดข่มความรู้หรือ ความรู้สึกอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2553
คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่เคยทำกระเป๋าเงินหาย จำได้หรือไม่ว่ากี่ครั้งที่คุณได้กระเป๋าเงินคืน สำหรับคนที่อยากได้คืนมาก ๆ มีวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณมีโอกาสได้คืนมากกว่าเดิม นั่นคือใส่ภาพทารกกำลังยิ้มน่ารักไว้ในกระเป๋านั้นด้วย เห็นชัดมากเท่าไรก็ยิ่งดีมากเท่านั้น ในบางประเทศพบว่า หากทำเช่นนั้น เจ้าของมีโอกาสได้กระเป๋าคืนเพิ่มขึ้นถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนว่ายังไม่เคยมีการทดลองดังกล่าวในประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าภาพทารกยิ้มหวานจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้คืนมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน (แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อติดต่อหรือส่งคืนได้ด้วย)
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่เก็บกระเป๋าเงินได้ เมื่อเห็นภาพเด็กทารกน่ารัก ก็อดคิดไม่ได้ว่า เจ้าของกระเป๋าเป็นคนรักลูกรักครอบครัว ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกดีต่อเจ้าของกระเป๋า ทำให้เกิดความเห็นใจ และอยากช่วยเหลือเจ้าของกระเป๋า แม้จะต้องเสียเวลาหาทางส่งกระเป๋าคืนให้แก่เจ้าของก็ยอมทำ
แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นเพราะว่า ภาพนั้นมีผลโดยตรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้พบกระเป๋า โดยไม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของเจ้าของกระเป๋าเลย ภาพทารกน่ารักและยิ้มหวานนั้น ใครเห็นก็รู้สึกดี เพราะมันได้กระตุ้นหรือดึงเอาความรู้สึกเอื้ออาทรออกมาจากจิตใจของเขา สำหรับหลายคน ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นนั้นมีพลังมากพอที่จะบดบังหรือเอาชนะความเห็นแก่ตัวในใจเขาได้ ความคิดที่จะเก็บเป็นสมบัติของตัว จึงเปลี่ยนเป็นความปรารถนาที่จะส่งคืนเจ้าของ
คนเรานั้นไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังมีความเอื้ออาทร ปรารถนาดี และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย จะเรียกว่าเรามีทั้งความเห็นแก่ตัวและคุณธรรมอยู่เคียงคู่กันก็ได้ การที่ใครสักคนทำความดีนั้น ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความเห็นแก่ตัว แต่เป็นเพราะคุณธรรมในใจเขามีพลังมากกว่า ในทางตรงข้ามคนที่ทำความชั่ว ก็ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความดีอยู่ในตัวเลย หากเป็นเพราะความดีนั้นไม่มีพลังมากจึงถูกความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ อย่างน้อยก็ในชั่วขณะนั้น มองในแง่นี้เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะทำสิ่งดีงามหรือความเลวร้ายได้เสมอ อยู่ที่ว่าขณะนั้นอะไรมีพลังมากกว่ากันระหว่างความเห็นแก่ตัวกับคุณธรรม
ความเห็นแก่ตัว กับ คุณธรรม อะไรมีพลังมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่า เราบ่มเพาะหรือหล่อเลี้ยงอะไรมากกว่า หากเรานึกถึงแต่ตัวเอง จะทำอะไรก็คิดแต่ว่า “ทำแล้วฉันจะได้อะไร” ความเห็นแก่ตัวย่อมเติบใหญ่และครอบงำจิตจนกลายเป็นนิสัย แต่หากนึกถึงผู้อื่นหรือส่วนรวมอยู่เป็นนิจ จะทำอะไรก็ใคร่ครวญก่อนว่า “ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไรต่อส่วนรวม” คุณธรรมโดยเฉพาะความเสียสละและความรับผิดชอบส่วนรวมก็เจริญงอกงามในใจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแวดล้อมก็มีส่วนไม่น้อยในการกระตุ้นเร้าความเห็นแก่ตัวและคุณธรรม ในบางขณะแม้เราจะถูกความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ แต่การกระทำของผู้อื่นก็สามารถปลุกเร้าคุณธรรมในใจเราจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางดีงามได้
นักศึกษาไทยผู้หนึ่งเล่าว่า เธอเคยถูกคนผิวดำล็อกคอขณะรอสัญญาณไฟเขียวบนเกาะกลางถนนในเมืองบอสตัน เขาเอามีดจี้เอวและสั่งให้เธอส่งกระเป๋าเงินให้ วันนั้นเป็นเช้าวันเสาร์จึงมีคนเดินถนนไม่มากทั้ง ๆ ที่เหตุเกิดหน้ามหาวิทยาลัย
โจรไม่พอใจเมื่อพบว่าในกระเป๋าของเธอมีเงินแค่ ๒๐ ดอลลาร์ ไม่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มเลย เขาจึงถามหานาฬิกาและสร้อยคอ เธอก็ไม่มีสักอย่าง เนื่องจากช่วงนั้นจนกรอบมาก
โจรถามเธอว่าเป็นนักเรียนไม่ใช่หรือ คนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ต้องรวย เธอตอบว่า เธอไม่ได้ร่ำรวย แต่มาเรียนได้เพราะได้ทุน
เขาถามเธอว่าจะไปไหน เมื่อได้คำตอบว่า กำลังจะไปซื้ออาหาร เขาแปลกใจ ถามว่าเงิน ๒๐ ดอลลาร์พอหรือ เธอตอบว่าเหลือเฟือเพราะตั้งใจซื้อไข่อย่างเดียว โหลละ ๒ ดอลลาร์เท่านั้น
เขาถามต่อว่า เอาไข่ไปทำอะไร เธอตอบว่า เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์
ระหว่างนั้นเอง เธอสังเกตเห็นยามมหาวิทยาลัยกำลังเรียกตำรวจ เธอจึงรีบโบกมือ พร้อมกับบอกว่า ไม่ต้องเพราะเราเป็นเพื่อนกัน
โจรพอได้ยินเช่นนั้นก็ทำท่างง แล้วถามเธอว่า รู้จักกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เธอตอบว่าเมื่อกี้ไง
จากนั้นเธอก็แนะนำตัวว่ามาจากประเทศไทย ซึ่งกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก จนต้องยอมเป็นเบี้ยล่างให้ไอเอ็มเอฟ สภาพของเธอจึงย่ำแย่กว่าเขาเสียอีก
หลังจากสนทนาพักหนึ่ง เหตุการณ์นี้ก็ลงเอยแบบกลับตาลปัตร โจรแทนที่จะปล้นเอาเงินเธอ กลับพาเธอไปร้านค้า แล้วซื้ออาหารกับขนมให้เธอ ๓ ถุงใหญ่ พร้อมกับหิ้วมาส่งที่หน้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งยังแถมเงินให้อีก ๕๐ ดอลลาร์
คนผิวดำคิดจะปล้นเอาเงินจากนักศึกษาไทย แต่เปลี่ยนใจเมื่อได้เห็นน้ำใจของเธอที่นอกจากห้ามยามไม่ให้เรียกตำรวจแล้ว ยังเห็นเขาเป็นเพื่อน ยิ่งมารู้ว่าเธอมีฐานะการเงินไม่สู้ดีนัก ก็รู้สึกเห็นใจ และยอมควักเงินช่วยเหลือเธอแทน
เวลานึกถึงโจรหรือขโมย เรามักคิดว่าเขาเป็นคนเลวที่เห็นแก่ตัวสถานเดียว แต่เขาก็เช่นเดียวกับเรา คือมีคุณธรรมอยู่ในจิตใจ แต่บางขณะความเห็นแก่ตัวได้ครอบงำจิตใจของเขา จึงลงมือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้กระนั้นความดีในใจของเขาก็สามารถมีพลังเหนือความเห็นแก่ตัว และทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามแทน ในกรณีของคนผิวดำคนนี้ ความดีในใจของเขาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ได้รับการกระตุ้นจากน้ำใจไมตรีของนักศึกษาไทย
ความดีนั้นมีพลัง มันสามารถเชิญชวนหรือดึงดูดความดีที่ซุกซ่อนในใจของอีกฝ่ายหนึ่งให้แสดงตัวออกมา จนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลในใจของเขาได้ ใครก็ตามที่ได้รับการปฏิบัติด้วยดี อย่างมีน้ำใจไมตรี พลังแห่งความดีในใจเขาจะถูกกระตุ้นจนอยากทำดีกับอีกฝ่ายด้วย
บ่อยครั้งเพียงแค่แสดงความชื่นชมในตัวเขาหรือในการกระทำของเขา ก็สามารถปลุกพลังแห่งความดีขึ้นได้ในใจเขา วัยรุ่นซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ป่วนเมืองกลุ่มหนึ่งถูกรุ่นพี่ชวนให้ไปเข้าค่าย “สุขแท้ด้วยปัญญา” เขาไม่อยากไปแต่เกรงใจรุ่นพี่ ในค่ายนั้นเขาพกพาระเบิดและปืนไปด้วยเพราะรู้ว่าจะต้องเจอแก๊งคู่อริที่นั่น ห้าวันในค่ายเกือบจะเหตุปะทะกันหลายครั้ง แต่ผู้นำค่ายสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ค่ายนั้นจึงสำเร็จด้วยดี ชาวบ้านซึ่งรู้จักวัยรุ่นกลุ่มนี้ประหลาดใจที่ไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น ต่างออกปากชมเขาและเพื่อน ๆ ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจมาก เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เขารู้สึกอยากทำความดี ดังนั้นเมื่อถึงวันปีใหม่ เขากับเพื่อน ๆ จึงอาสาไปช่วยตำรวจตั้งด่านป้องกันอุบัติเหตุ ผู้คนต่างชื่นชมการกระทำดังกล่าว เขาจึงรู้สึกประทับใจมาก เกิดความเชื่อมั่นว่าเขาเองก็สามารถทำความดีได้ หลังจากนั้นเขาได้เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ก่อกวนชาวบ้านอีกต่อไป
ในช่วงใกล้ ๆ กัน นักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งอยากจัดงานวันเด็กให้แก่โรงเรียนบนดอยที่ห่างไกล แต่เนื่องจากมีทุนจำกัด ทุกคนจึงไปเล่นดนตรีเปิดหมวก หาเงินได้ถึงสามหมื่นบาท ช่วงที่ไปสำรวจพื้นที่นั้น เป็นช่วงหน้าฝน ทางลื่นไถลลำบากมาก อีกทั้งอันตราย นักเรียนกลุ่มนี้จึงไปขอความช่วยเหลือจากนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเด็กเกเรประจำโรงเรียน ขอให้ช่วยขี่มอเตอร์ไซค์วิบากพาไปส่งที่โรงเรียน ฝ่าย “เด็กแว๊ง” นั้นก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ จนทุกคนถึงที่หมายโดยปลอดภัย ทุกคนชื่นชมนักเรียนกลุ่มนี้มาก ยกย่องให้เป็น “พระเอก” ทำให้พวกเขาเกิดกำลังใจที่จะทำความดี หลังจากนั้นพวกเขาได้เป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ แม้จะเรียนจบแล้ว
สองกรณีข้างต้นยังชี้ว่า นอกจากคำชื่นชมจากผู้อื่นแล้ว การมีโอกาสได้ทำความดี สร้างสรรค์ประโยชน์ ล้วนมีผลในการหนุนเสริมพลังแห่งความดีในใจเราให้งอกงาม จนอยากทำความดีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะปรารถนาคำชื่นชมเท่านั้น หากยังเพราะมีความสุขที่ได้ทำความดี เป็นความสุขที่เกิดจากความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนมีคุณค่า รวมทั้งมีความสุขที่เห็นผู้อื่นได้รับความสุขจากการกระทำของตน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนนั้น ที่ผ่านมามักเน้นมาตรการเชิงลบ เช่น ตำหนิ เพ่งโทษ หรือใช้อำนาจ แต่สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือการใช้มาตรการเชิงบวก ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะการให้รางวัลเป็นแรงจูงใจเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การเสริมสร้างพลังแห่งความดีในใจของผู้คน ด้วยการมีน้ำใจไมตรี ปฏิบัติต่อกันด้วยความปรารถนาดี มองเห็นด้านดีของเขา รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้เขามีโอกาสทำความดีได้มากขึ้น
การใช้มาตรการเชิงลบนั้นแม้จะมีประโยชน์ แต่บ่อยครั้งก็กลับกระตุ้นความรู้สึกฝ่ายลบขึ้นมาในใจของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น เมื่อตำหนิว่ากล่าวเขา ก็ทำให้เขาโกรธและตอบโต้กลับคืน ซึ่งก็เท่ากับกระตุ้นให้อีกฝ่ายว่ากล่าวรุนแรงขึ้น หาไม่ก็ทำให้เขาปกป้องตนเองจนไม่คิดที่จะปรับปรุงตนเอง ส่วนการใช้อำนาจนั้นแม้ทำให้อีกฝ่ายกลัว แต่ก็เกิดความรู้สึกต่อต้านเป็นปฏิปักษ์ จนคิดแต่จะทำสิ่งที่เป็นการบั่นทอนบ่อนทำลายมากกว่าที่จะทำสิ่งสร้างสรรค์
พลังฝ่ายลบนั้นย่อมดึงพลังฝ่ายลบของอีกฝ่ายออกมา ในทำนองเดียวกัน พลังฝ่ายบวกย่อมกระตุ้นพลังฝ่ายบวกของอีกฝ่ายให้แสดงตัวออกมา หากเราปรารถนาที่จะสัมผัสหรือได้รับความดีงามจากอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีทางอื่นนอกจากเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำดีกับเขาก่อน
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กันยายน 2553
ตุลาคมเป็นเดือนแห่งการระลึกถึงความตายของเพื่อนคนไทยในความขัดแย้งทางการเมือง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ และก็ควรรวมถึงการเสียชีวิตกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ และเมษายน – พฤษภาคม ๒๕๕๓ ด้วย ชีวิตเป็นของมีค่า ไม่ควรทำให้ตกไปเพราะเหตุใดๆ หรือเพื่อผลใดๆ คนไทยทั้งมวลควรคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งว่าในการอยู่ร่วมกันต่อไป ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ต้องมาฆ่ากันอีก แม้เพราะเหตุใดๆ หรือเพื่อผลใดๆ การฆ่าเป็นบาปมหันต์ คนไทยจะฆ่ากันไม่ได้อีกต่อไป
เราลองมาทบทวนใคร่ครวญจากง่ายไปหายาก ในครอบครัวทุกคนคิดถึงการอยู่ร่วมกัน ในการอยู่ร่วมกันไม่มีการคิดเชิงกำไรขาดทุน ไม่คิดเชิงการแข่งขัน ลูกคนไหนอ่อนแอหรือพิการ แม่กลับดูแลใส่ใจมากขึ้น ไม่มีการทอดทิ้งกัน อาจมีบางคนทำผิดก็มีการให้อภัยกัน ไม่ใช่ขับไล่หรือฆ่าให้ตาย เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน คิดถึงการอยู่ร่วมกันของทั้งหมด นั่นคือมีการเห็นความเป็นทั้งหมด คิดเพื่อทั้งมวล และทำเพื่อทั้งหมด ของครอบครัว
ไม่ได้คิดแยกส่วนเฉพาะตัว ถ้าคิดแยกส่วนเฉพาะตัว ทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเราคิดถึงความเป็นทั้งหมดของครอบครัว ครอบครัวจึงเข้มแข็ง ครอบครัวจึงเป็นฐานที่ให้ความอบอุ่น ความปลอดภัย และความสุขแก่เรา
แต่การคิดถึงความเป็นทั้งหมดของเราจำกัดอยู่เฉพาะในครอบครัวและในชุมชนครั้งโบราณ แต่ในสังคมใหญ่ใจเรายังไปไม่ถึง สังคมใหญ่แต่จิตของคนในสังคมยังเล็ก จิตเล็กทำให้ไม่เห็นว่าเราเป็นทั้งหมด ทั้งหมดคือเรา ไม่เห็นว่าสังคมคือครอบครัวของเรา เราคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน เฉพาะตัวเราและพวกของเรา เมื่อคิดแบบแยกส่วนเฉพาะตัวเราและพวกเรา ไม่คิดถึงทั้งหมด ทั้งหมดก็ขาดความเป็นปรกติ นั่นคือระส่ำระสาย แตกแยก และรุนแรง
ในระบบใดๆ สมาชิกจะต้องเห็นทั้งหมด คิดเพื่อทั้งหมด และทำเพื่อทั้งหมด ระบบนั้นจึงจะเป็นปรกติและราบรื่น เมื่อทั้งหมดเป็นปรกติและราบรื่น ทำให้แต่ละสมาชิกเป็นปรกติและราบรื่น ถ้าทั้งหมดไม่ปรกติและราบรื่น สมาชิกก็ปรกติและราบรื่นไม่ได้ ความเป็นปรกติและราบรื่น ด้วยกันทั้งหมดทำให้หลุดพ้นจากความบีบคั้น นั่นคือเป็นอิสรเสรี
เป็นอิสรภาพและเสรีภาพของทั้งหมด
ธรรมะแห่งความเป็นทั้งหมด จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมการคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน จึงนำไปสู่การติดขัด บีบคั้น แตกแยก และรุนแรง
เพราะจิตเล็ก มนุษย์จึงเห็นแบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วน และทำแบบแยกส่วน ทั้งหมดทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องดีๆ ถ้าคิดอย่างแยกส่วนก็จะไปไม่ได้ทั้งสิ้น เช่น ธรรมะแบบแยกส่วน เสรีภาพแบบแยกส่วน สิทธิมนุษยชนแบบแยกส่วน การพัฒนาแบบแยกส่วน การศึกษาแบบแบบแยกส่วน ฯลฯ
แม้เพราะเหตุนี้ โลกจึงวิกฤต ประเทศจึงวิกฤต
ตัวอย่างระบบที่ดีที่สุดคือร่างกายของเรา เซลล์ทุกเซลล์ อวัยวะทุกอวัยวะจะต้องรู้และทำเพื่อความเป็นทั้งหมด ร่างกายของเราจึงจะมีความเป็นปรกติและราบรื่น ถ้าจะมีเซลล์ใดเซลล์หนึ่ง “คิด” แบบแยกส่วน ทำเป็นเอกเทศเฉพาะตัว ไม่คำนึงถึงความเป็นทั้งหมด เซลล์นั้นคือเซลล์มะเร็ง เมื่อกลุ่มเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็รบกวนความเป็นปรกติสุขของร่างกายทั้งหมด ทำให้ชีวิตร่างกายดำเนินต่อไปไม่ได้
มนุษย์และธรรมชาติทั้งหมดจะเป็นระบบเดียวกัน แต่เพราะมนุษย์มีจิตเล็กไม่เห็นความเป็นทั้งหมด คิดแบบแยกส่วนทำแบบแยกส่วน จึงเหมือนสังคมมีเซลล์มะเร็งเต็มไปหมด จึงไม่แปลกใจว่าทำไมสังคมจึงป่วย และโลกจึงป่วยรุนแรง เพราะเต็มไปด้วยคนจิตเล็กที่คิดแยกส่วนเฉพาะตัว
ไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง” ลาสโล โกรฟ และรัสเซลล์ จึงกล่าวว่า มีทางเดียวเท่านั้นที่โลกจะหลุดพ้นจากวิกฤตคือ ปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution)
ปฏิวัติจิตสำนึกคือการเปลี่ยนแปลงจากจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่
จิตเล็กเห็นแบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน นำไปสู่ความติดขัด จิตใหญ่เห็นทั้งหมด คิดเพื่อทั้งหมด และทำเพื่อทั้งหมด นำไปสู่ความเป็นปรกติและราบรื่นของทั้งหมด
เมื่อมนุษย์อวกาศชื่อ เอ็ดการ์ มิตเชลล์ มองจากอวกาศเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของโลกทั้งหมด จิตเขาเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง หลุดพ้นจากความบีบคั้นของความคับแคบ เกิดความเป็นอิสระ มีความสุขอย่างล้นเหลือ รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด เอ็ดการ์ มิตเชลล์ เกิดจิตสำนึกใหม่ ไปพ้นจากความมีจิตเล็กที่กักขังตัวเองอยู่ในความคับแคบ สู่ความมีจิตใหญ่ที่เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งหมด
ขณะนี้กระแสใหญ่ (Mega Trend) ของโลก คือกระแสสร้างจิตสำนึกใหม่ หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกคือ หนังสือในตระกูลจิตสำนึกใหม่ ซึ่งมีวิธีการและชื่อที่หลากหลายต่างๆ นานา เพราะมนุษย์ตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า จิตสำนึกใหม่หรือจิตสำนึกใหญ่ คือทางรอดของมนุษยชาติ
ประเทศไทยวิกฤตสุดๆ จนขัดแย้งรุนแรงและปริ่มๆ จะเกิดมิคสัญญีกลียุค ทำให้คนไทยจำนวนมากเกิดสำนึกว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ประเทศไทย เพื่อไปพ้นวิกฤต จะเรียกว่าปฏิรูปประเทศไทย ปฏิวัติ อภิวัติ ยกเครื่อง สังคายนา หรืออะไรก็ตามที เราแก้ปัญหาประเทศด้วยการรักษาตามอาการ ทำนองกินยาแก้ไขแก้ปวดกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้รักษาที่สาเหตุพื้นฐานของโรค โรคประเทศไทยจึงไม่หาย แต่กำเริบและรุนแรง
การปฏิรูปประเทศไทยจึงเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเรามีโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องหลายเรื่อง อันนำไปสู่การขาดความเป็นธรรม เช่นโครงสร้างทางการปกครอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการจัดสรรทรัพยากร โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางการศึกษา เป็นต้น
แต่ลึกที่สุดคือการปฏิรูปจิตสำนึก การปฏิรูปจิตสำนึก – การปฏิรูปโครงสร้าง จะต้องควบคู่กันไป คนไทยจะต้องออกจากการมีจิตเล็ก หรือจิตมะเร็งที่คิดแบบแยกส่วนเฉพาะตัวเอง ไปสู่จิตใหญ่หรือจิตสำนึกใหม่ ที่เข้าถึงความเป็นทั้งหมด ว่าเราคือส่วนรวม - ส่วนรวมคือเรา หรือเราคือทั้งหมด – ทั้งหมดคือเรา
จิตสำนึกใหญ่จะทำให้หลุดพ้นจากความบีบคั้น เป็นอิสระ เกิดความสุขอันล้ำลึก รักเพื่อนมนุษย์และรักธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใหม่จากมุ่งกำไรสูงสุด ไปสู่การอยู่ร่วมกันกันอย่างสูงสุด วัตถุประสงค์ใหม่ทำให้จิตใหญ่ และจิตใหญ่ทำให้เกิดวัตถุประสงค์ใหม่ การปฏิวัติจิตสำนึกจะทำให้เราไปพ้นโศกนาฏกรรมแบบตุลาคม
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2553
“Your mind is the scene of the crime”
จิตพิฆาตโลก (Inception) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แนวแอ็คชัน-ไซไฟ จากผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ได้สร้างภาพยนตร์ชั้นยอดมาแล้วอย่าง The Dark Knight เขายังคงรักษาแนวทางการกำกับภาพยนตร์ที่สื่อถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างลงตัว Inception ได้สร้างความฮือฮากับในวงนักคิด นักจิตวิทยา ว่าเขาสามารถสะท้อนแนวคิดทางจิตวิทยาออกมาได้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงได้ง่าย และเป็นรูปธรรม
เพื่อนหลายคนเชียร์ให้ผมเขียนเรื่องนี้ออกมา แล้วช่วยวิเคราะห์ให้หน่อยว่าประเด็นในเรื่องมันเชื่อมโยงอย่างไรบ้างกับจิตใจของเรา บางคนบอกว่า มันคล้ายกับงานจัดอบรมที่ผมทำมาก จึงคิดว่าได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมพอดีกับภาพยนตร์ลาโรงไปสักระยะ เขียนบทความสักชิ้นที่เชื่อมโยงเนื้อเรื่องจากภาพยนตร์เข้ากับประเด็นการทำงานกับจิตใต้สำนึก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับลึกของบุคคล และนี่เป็นเพียงการตีความแค่มุมมองหนึ่งเท่านั้น เนื้อหาต่อจากนี้ จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบยกเนื้อหาสำคัญของเรื่องมาวิเคราะห์ (Spoil Alert!!!)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพโลกในอนาคตที่การก่ออาชญากรรม สามารถใช้เทคโนโลยีเจาะเข้าไปในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เพื่อล้วงข้อมูลความนึกคิดที่เก็บซ่อนไว้ในส่วนลึกของจิตใจ อาชญากรจะอาศัยช่วงเวลาที่คนหลับ เข้าไปจารกรรมข้อมูลในโลกความฝัน อันเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เปราะบาง ไม่รู้ตัว และจิตสำนึกใช้กลไกการป้องกันตัวลดลง การก่ออาชญากรรมเช่นนี้สร้างความกังวลใจแก่บรรดานักธุรกิจและผู้มีอิทธิพลอย่างมาก จึงเกิดคอร์สฝึกอบรมต่อต้านการจารกรรมในความฝัน เพื่อสามารถปกป้องการบุกรุกจากการจารกรรมในขณะที่เจ้าตัวหลับอยู่
ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้ผู้ชมเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ความฝันมีหลายชั้น ยิ่งความฝันชั้นลึกเข้าไปเท่าไหร่มนุษย์ก็จะยิ่งเปราะบางมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการถูกจารกรรมข้อมูลมากขึ้น แต่การดำเนินเรื่องกลับพลิกผันว่า ภารกิจที่ดอม หัวขโมยระดับพระกาฬ (แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ได้รับครั้งนี้ ไม่ใช่การขโมยความคิด เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นการปลูกความคิด (Inception) ให้กับฟิสเชอร์ ทายาทนักธุรกิจค้าพลังงานที่ครองตลาดครึ่งค่อนโลก ให้เลิกล้มความคิดสานต่อการครอบครองตลาดจากพ่อของเขาที่กำลังจะตาย และภารกิจนี้ก็เป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เขาได้กลับไปหาลูก และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ลบล้างประวัติอาชญากรของตน
ภารกิจปลูกความคิดได้เริ่มขึ้นโดยการรวบรวมทีมงานและวางแผน หาจุดเปราะบางของฟิสเชอร์ คือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับตัวเขา พวกเขาต้องการเจาะเข้าไปถึงความฝันชั้นที่สาม ซึ่งเป็นชั้นที่ลึกที่สุด และยากมากที่อาชญากรทั่วไปจะเข้าถึงได้ เพื่อให้แน่ใจว่า การปลูกความคิดนั้นจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากที่สุด
แนวทางนี้มีความละม้ายคล้ายกันอย่างมากกับกระบวนการเอกซ์เรย์จิต ที่ผมใช้ทำงานเพื่อวิวัฒน์จิตคน กล่าวคือ การเข้าไปทำงานกับจิตในระดับลึก เพื่อปลูกความคิดให้ตรงกับความจริง การเอกซ์เรย์จิตจะพาเราเข้าไปสำรวจและสะท้อนตนเอง ผ่านไปทีละชั้นๆ จนถึงชั้นที่ลึกที่สุด นั่นคือ ความเชื่อใหญ่ หรือสมมติฐานใหญ่ (Big Assumption) ที่แต่ละคนมีไว้เป็นข้อกำกับหรือธรรมนูญชีวิตของแต่ละคน การเอกซ์เรย์จิตเข้าไปในแต่ละชั้นจะเป็นการเปิดเผยและเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่า เมื่ออยู่ในการจัดอบรมที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยและไว้วางใจร่วมกัน การเปิดเผยและเปราะบางเป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นไปทีละชั้น แตกต่างอย่างมากกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ที่เป็นการบุกรุกเข้าไปสู่โลกภายในจิตใจของตัวละคร ฟิสเชอร์เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ผ่านคอร์สฝึกอบรมต่อต้านการจารกรรมในความฝันมาแล้วอย่างดี ทำให้การเจาะเข้าไปในแต่ละชั้นที่ลึกขึ้นไป ยิ่งมีความยากลำบากในการฝ่าฟันกลไกการป้องกันตนเองที่หนาแน่นตามไปด้วย ผมอยากชวนให้ผู้อ่านใช้โอกาสนี้ ลองทบทวนตนเองดูว่า เรามีกำแพงปกป้องความเปราะบางกี่ชั้น หนาแน่นเพียงไร
สมมติว่า เราเอกซ์เรย์จิตผ่านกันมาได้ทุกชั้น จนเจอกับความเชื่อใหญ่ เราจะพบว่า ความเชื่อใหญ่นั้นทำหน้าที่กำกับทิศทางชีวิตเรามาโดยตลอด ลักษณะสำคัญของความเชื่อใหญ่ประการหนึ่งคือ ความเชื่อนี้หลอกให้เราคิดว่าเราถูกอยู่เสมอ และทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม การพบกับความเชื่อใหญ่ ก็เหมือนกับการพบว่าเราหลอกตัวเองมานานแสนนาน และจุดนี้เองจึงจะเปิดโอกาสให้เราได้ปลูกความคิดลงไปใหม่ เพื่อปรับความเชื่อใหญ่ให้ตรงกับความจริงของโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว และโลกก็ไม่ได้หมุนรอบตัวเราอย่างที่เคยคิดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ภารกิจปลูกความคิดของดอมและทีม คือการเข้าไปปรับความเชื่อของฟิสเชอร์ที่เขามีต่อพ่อ ...ในโลกความจริง พ่อเรียกให้ฟิสเชอร์เข้าพบก่อนสิ้นใจเพื่อพูดเพียงคำเดียวว่า “ผิดหวัง” และคำพูดนั้นทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดใจอย่างมาก และทำให้ความสัมพันธ์ทางใจระหว่างเขาและพ่อร้าวฉานลง แม้ว่าพ่อจะจากไปแล้ว ...ในโลกความฝันชั้นที่สาม ฟิสเชอร์ได้พบกับพ่ออีกครั้ง ดอมและทีมงานจัดฉากให้ฟิสเชอร์รับรู้ว่า ที่ผ่านมาพ่อยังคงมีเยื่อใยกับเขามาก ทำให้เขาเปิดใจกับพ่ออีกครั้ง เมื่อฟิสเชอร์เข้าไปใกล้พ่อ บทสนทนาก็เกิดขึ้น
พ่อ: (พยายามพูดด้วยความยากลำบาก) “ฉันผะ ผะ ผิดหวะ...”
ฟิสเชอร์: “ผมรู้ครับพ่อ ว่าพ่อผิดหวังที่ผมไม่สามารถเป็นได้อย่างที่พ่อเป็น”
พ่อ: “ไม่ ไม่ ไม่ พ่อผิดหวังที่เธอพยายาม (จะเป็นเหมือนพ่อ)”
และน้ำตาของฟิสเชอร์ก็ร่วงหล่นลงจากเบ้าตา
แม้เหตุผลของการปลูกความคิดในภาพยนตร์จะแตกต่างอย่างมากกับการทำงานวิวัฒน์จิต กล่าวคือ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของผู้บงการ และพ่อตัวจริงอาจจะไม่ได้พูดเช่นนี้ แต่ “กระบวนการ” ทำงานกับจิตใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีความคล้ายกันมาก ตรงที่เมื่อเราเอกซ์เรย์จิตจนพบกับความเชื่อใหญ่แล้ว เราจะทำงานกับความเชื่อใหญ่ เพื่อปรับความเชื่อใหญ่นี้ให้ตรงกับความจริง
ความเชื่อใหญ่ของฟิสเชอร์ในเรื่องนี้คือ “ฉันไม่เป็นที่รัก” (พ่อผิดหวังในตัวลูก) และ “ฉันไม่สามารถ” (ไม่สามารถเป็นอย่างพ่อได้) และประโยคสั้นๆ ที่ทีมปลูกความคิดใส่เข้าไป เป็นการทำงานกับจิตใต้สำนึกเพื่อไปปรับความเชื่อใหญ่ให้กลายเป็น “ฉันเป็นที่รัก” (พ่อไม่ได้ผิดหวังในตัวลูก) และ “ฉันสามารถ” (ลูกประสบความสำเร็จได้อย่างที่ลูกเป็น) เมื่อได้ปลูกความคิดลงไปในความฝันชั้นที่สามแล้ว ทีมปลูกความคิดก็ค่อยๆ พาฟิสเชอร์กลับขึ้นมาทีละชั้นๆ และตรวจสอบให้แน่ใจว่า เมื่อตื่นขึ้นมาจากความฝันในแต่ละชั้น เขาได้ปรับเปลี่ยนความคิดในการสร้างธุรกิจใหม่ โดยหันมาเชื่อมั่นในวิถีทางของตนเอง ไม่ได้เดิมตามรอยพ่อที่จะครอบครองตลาดโลก และทำอยู่บนพื้นฐานของความรักที่มั่นคงระหว่างเขากับพ่อ
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นการไปปรับเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่น แต่การทำงานวิวัฒน์จิตกลับตรงข้ามกัน คือ เป็นการปรับเปลี่ยนความเชื่อของตัวเราเอง ให้ตรงกับความจริง ไม่มีใครจะปลูกความคิดให้กับใครได้ นอกจากตัวเราเอง และตัวเรานั้นเองคือผู้ที่รับผิดชอบ และเลือกว่าจะหยุดอยู่กับที่ หรือปรับเปลี่ยนถึงขั้นรากฐาน ตัวเราเองนั่นแหละที่จะเป็นผู้วิวัฒน์จิตตัวเอง…
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2553
หากเราไม่เกี่ยงงอนเรื่องที่มา หากมนุษย์คือมนุษย์ ศิลปศาสตร์ทั้งหมดย่อมสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ จิตตปัญญาศึกษาย่อมไม่ถูกตัดขาดเป็นห้วงๆ หากสามารถปะติดปะต่อเชื่อมโยง ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกตะวันตก จากห้องทดลองหรือห้องสมาธิ จากอารยธรรมที่เจริญแล้วหรือชุมชนบุพกาล ปัญญาปฏิบัติอาจร้อยเชื่อมเข้าหากันอย่างปราศจากการตีตรา ปราศจากพรมแดนกีดกั้น และเมื่อนั้นหัวใจของเราย่อมอาจเชื่อมถึงกันได้
ด้านหนึ่งของการเทียบเคียงกับศาสตร์ตะวันตก คือการเปรียบเทียบกับงานวิจัยอันเกี่ยวเนื่องกับสมอง ซึ่งผมได้ติดตามมาโดยตลอด ผมคิดว่ามันให้อะไรใหม่ออกไปด้วย อย่างน้อยคือให้การอธิบายอีกมุมมองหนึ่ง มีคนอยู่ไม่น้อยที่จะบอกว่า พุทธศาสนาของเราดีอยู่แล้ว มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ผมไม่อยากเชื่อเช่นนั้นจะได้ไหม ผมสนใจอ่านงานของท่านพุทธทาส งานของเจ้าคุณประยุทธ (พระพรหมคุณาภรณ์) แต่ผมเห็นว่าตะวันตกเขามีอะไรให้เราเรียนจริงๆ ผมอาจจะแยกตะวันตกที่น่าเรียนรู้ออกเป็นสองสาย สายหนึ่งคือเรื่องของงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง อีกสายหนึ่งคือการค้นเข้าไปในจิตไร้สำนึก โดยเฉพาะในสาย คาร์ล จุง สโตนสามีภรรยา (ฮัล กับ ซิดรา สโตน) และมินเดลสามีภรรยา (อาร์โนลด์ กับ เอมี มินเดล) ซึ่งน่าสนใจมากๆ ผมอยากจะค่อยๆ เทียบเคียงพุทธกับจุงและงานวิจัยทางสมองดู โดยเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องตัวตนกับการภาวนา อยากจะเขียนเป็นเรื่องยาว ซึ่งไม่จบในตอนเดียว โดยเรื่องแรกที่อยากจะเอามาเทียบเคียงคือเรื่องอารมณ์
อารมณ์
เราจะทำความเข้าใจเรื่องของอารมณ์อย่างไร? ในยุคข้อมูลข่าวสาร จะมีหลากหลายวัฒนธรรมแห่งความรู้ไหลเข้ามาปะปนกันอย่างไม่อาจจะแยกออกจากกันชัดเจนได้ หรือเราจะผสมผสานความรู้ต่างๆ เข้ามา แล้วทำให้เป็นความรู้ของเราเอง
แจ็ค คอนฟิลด์ เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาโรคซึมเศร้าอย่างลุ่มลึก เขาสามารถนำพาตัวเองให้เป็นโรคซึมเศร้าแล้วนำพาตัวเองให้หายจากโรคซึมเศร้าได้ เขาจึงรู้จักมันเป็นอย่างดี เขากล่าวว่า เราไม่สามารถบังคับหรือกำกับอารมณ์ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ แต่เราสามารถกำกับพฤติกรรมได้ ในการรักษาโรคซึมเศร้า คอนฟิลด์จะกำกับพฤติกรรมของตัวเอง ทำสิ่งที่สวนทางกับอาการของโรคซึมเศร้า เช่น แทนที่จะเก็บตัว เขาก็ฝืนนำพาตัวเองไปในงานสังคมต่างๆ แทนที่จะปล่อยปละละเลยตัวเอง เขาก็บังคับตัวเองให้แต่งตัวสดใส เป็นต้น
แคนเดส เพิร์ต เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของอารมณ์ เธอบอกว่า ศูนย์กลางของชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ความคิด ความคิดเป็นส่วนหนึ่งของจิต และจิตนั้นกระจายตัวอยู่ทั่วร่างกายของเรา ที่จริงเมื่อเรามีอารมณ์ อารมณ์จะเป็นของเซลล์ทุกเซลล์ ที่ผนังเซลล์จะมีที่รองรับเปปไทด์ (peptide) หรือโมเลกุลอารมณ์อยู่ เหมือนแม่กุญแจ ส่วนเปปไทด์เป็นลูกกุญแจ โดยเปปไทด์จะก่อเกิดในสมองส่วนไฮโปไทลามัสแล้วถูกสูบฉีดไปทั่วร่างกาย เราจึงสามารถเสพติดอารมณ์ได้เช่นเดียวกับที่เราเสพติดยาเสพติด เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอารมณ์ เราจะกลายเป็นอารมณ์นั้นๆ หรือเราได้กลายมาเป็นตัวตนหนึ่งๆ บุคลิกหนึ่งๆ หรือคือการเสวยชาติภพในปฏิจจสมุปบาท ณ ขณะนั้นๆ
ความเป็นปกติ
สิ่งที่น่าสนใจคือ "ความปกติ" ทางอารมณ์ หรือในทางปฏิบัติธรรม ที่ท่านพุทธทาสพูดถึงความเป็นปกติ แต่ผมจะขอกล่าวถึงความไม่เป็นปกติทางอารมณ์เสียก่อน เพื่อจะได้เข้าใจว่าความเป็นปกติคืออะไร ผมได้บอกเล่าไว้ในหนังสือ หันหน้าเข้าหากัน คู่มือกระบวนกร ว่าชีวิตมีอยู่สองโหมด คือโหมดปกติกับโหมดปกป้อง ในโหมดปกป้องนี้เองที่เราจะไม่ปกติ ในระดับของมนุษย์ เมื่อเข้าสู่โหมดปกป้อง สมองจะวิ่งไปหาความทรงจำทางอารมณ์อันไม่ปกติในอมิกดาลาที่อยู่ในสมองส่วนกลาง (สมองสามส่วนจะเชื่อมโยงเข้าหากัน คือ อมิกดาลา สมองสัตว์เลื้อยคลาน และสมองซีกซ้าย) โดยสมองเลื้อยคลานจะเป็นผู้นำ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ เรียกกระบวนการใช้สมองแบบนี้ว่า “de-evolution” หรือแปลไทยคือ “ความถดถอยทางวิวัฒนาการ” อันที่จริงมันเป็นกลไกของชีวิตที่ต้องการนำพาชีวิตให้รอดเมื่อเจอภัยอันตราย จึงไม่อาจชักช้าใคร่ครวญ จึงตัดวงจรของสมองส่วนหน้าแห่งการใคร่ครวญออกไป เข้าไปสู่สัญชาตญาณแห่งการอยู่รอด
แต่ในความพิเศษของมนุษย์อันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือเราสามารถจินตนาการ ดังนั้น แทนที่เราจะเข้าสู่โหมดปกป้องเฉพาะในยามที่เผชิญอันตรายจริงๆ การณ์กลับกลายเป็นว่า เราเข้าสู่โหมดปกป้องทุกครั้งที่จินตนาการเห็นเรื่องเลวร้าย โดยที่ยังไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นเลย
ในพุทธศาสนา ความเป็นปกติเป็นฐานแรกแห่งการเรียนรู้ เราจะตื่นรู้เรียนรู้การออกจากทุกข์ได้ด้วยการเข้าสู่ความเป็นปกติ โดยท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ศีลคือความเป็นปกติ
แบบแผนอันคุ้นชินแห่งจิตและจิตไร้สำนึก
ตรุงปะใช้คำว่า habituated pattern ในหนังสือของเขา ส่วนใน สู่ชีวิตอันอุดม หรือ Understanding Our Mind ของไถ่ นัท ฮันห์ กล่าวถึง store consciousness หรืออาลัยวิญญาณ ผมคงเทียบเคียงกับจิตไร้สำนึก และเทียบเคียงกับวงจรสมองในงานวิจัยสมอง โดยในอาลัยวิญญาณนี้มีเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล อกุศลและกลางๆ หากเรานำเมล็ดพันธุ์นั้นๆ มาปฏิบัติ เช่น หากเราโกรธ เมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธก็จะงอกงามขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ และอาจจะขยายพันธุ์ครอบคลุมสวนของเรา ซึ่งได้แก่อาลัยวิญญาณ เช่นเดียวกับที่เราก็อาจจะขยายพันธุ์เมตตากรุณาให้แพร่หลายและเติบใหญ่ได้เช่นกัน
เมื่อเทียบเคียงกับเรื่องของสมอง วงจรสมองนั้น หากเราทำซ้ำๆ จะเกิดวงจรสมองที่เข้มแข็ง กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา กลายมาเป็นตัวตนหนึ่งๆ นิสัยหนึ่งๆ บุคลิกภาพหนึ่งๆ ดังเช่นความเป็นคนขี้หงุดหงิด อาจจะกลายมาเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งของเรา ดังที่คนเป็นโรคเบาหวาน ความดัน มักจะเป็นคนดื้อ ไม่ยอมเปลี่ยนนิสัยอย่างง่ายๆ ได้เลย เป็นต้น
เราเอาเรื่องนี้กลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นปกติและความไม่เป็นปกติของเราได้หรือไม่ หากเราหวาดผวา กลัว สร้างจินตนาการแห่งความกลัวในชีวิตของเราไปเสียหมดทุกเรื่อง มันจะกลายมาเป็นแบบแผนแห่งความคุ้นชิน แบบแผนที่ฝังตัวเป็นวงจรสมองที่อุปไมยอุปมาจากทางเดินเล็กๆ ได้กลายมาเป็นทางเกวียน กลายมาเป็นถนนลูกรัง กลายมาเป็นถนนลาดยาง จนกระทั่งบัดนี้ได้กลายเป็นทางด่วน จึงสะดวกที่จะจินตนาการด้านลบ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเรา อย่างยากที่จะกลับกลายเปลี่ยนแปลง
หรือตรงกันข้าม เราจะตื่นรู้และไม่หลงไปในทางดังกล่าว จินตนาการดังกล่าว หากเรามีความตื่นรู้และการใคร่ครวญในทุกเรื่องราวแห่งชีวิต เทียบเคียงกับสมองแล้ว เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า นักวิทยาศาสตร์ชื่อ เดวิด เดวิดสัน ได้วิจัยว่าเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะออกมาจากวงจรลบๆ ของอมิกดาลา ที่เชื่อมโยงอยู่กับสมองสัตว์เลื้อยคลานกับสมองซีกซ้ายบางส่วน ดังที่กล่าวถึงไว้แล้วข้างต้น คือหากใคร่ครวญ มันจะไม่คิดลบ ไม่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ เป็นต้น
ความตื่นรู้
ความตื่นรู้และความรู้เท่าทันจึงอาจกลายเป็นความคุ้นชินอย่างใหม่ให้แก่เราได้ หากเราฝึกฝืน อันนี้เป็นที่มาของการฝึกสติและสมาธิในพุทธศาสนา ใน ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของไถ่ นัท ฮันห์ ท่านให้เราฝึกการตื่นรู้ในทุกๆ กิจกรรม ทุกๆ อิริยาบถในชีวิต ไม่ว่าจะล้างหน้า แปรงฟัน พูดคุยกับคน แม้แต่ในขณะที่กำลังคิดโครงการในอนาคต เราก็สามารถฝึกการตื่นรู้ได้ หรือการตื่นรู้เป็นวงจรสมองอีกอันหนึ่ง ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงสมองหลายส่วนเข้าด้วยกันกับการทำงานแห่งการตื่นรู้นี้ เราอาจจะไม่ต้องลงไปลึกนักในเรื่องของสมอง แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่า เราสามารถทำการตื่นรู้นี้ ให้ชีวิตเข้มแข็ง แจ่มจำรัส ขึ้นได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2553
วิธีการอบรมในโครงการยกระดับคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระบบ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ที่ดำเนินการโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เครือข่าย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากวิธีการอบรมทั่วไปที่สำคัญประการหนึ่งคือ การใช้แนวคิดและกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาเป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เข้ารับการอบรม โดยเฉพาะในชุดการเรียนรู้ (Learning Module) ที่ ๑ เรื่อง “การวิเคราะห์บริบท: ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต” ที่ผู้เขียนเป็นผู้ออกแบบและอบรมวิทยากรแกนนำ ๑,๑๐๐ คน รวมถึงการเป็นวิทยากรกระบวนการตามที่ได้รับเชิญทั่วประเทศ โดยดำเนินการอบรมภายใต้กรอบความคิด “๔ – ๓ - ๓”
โดยที่ ๔ หมายถึง การอบรมตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐาน/หลักการ ๔ ประการ คือ
- เชื่อมั่นและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้
- ยอมรับและเคารพในความไม่เหมือน/ความแตกต่างของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง
- เชื่อในความเป็นองค์รวม (Holism) ไม่ใช่กองรวม (Heap) หรือแยกส่วน
- เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้
บนความเชื่อดังกล่าว การอบรมจึงไม่เน้นการบรรยาย แต่ใช้การจัดกระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายเช่น กิจกรรมสามเหลี่ยมด้านเท่า การเขียนอิสระจากใจ การสื่อสารแบบผึ้งหรือผึ้งสื่อสาร และสายธารชีวิต: กว่าจะมาเป็นผู้บริหาร โดยกิจกรรมทั้งหมดจะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน ๓ กระบวนหลัก และ ๓ ฐานการเรียนรู้
โดยที่ ๓ กระบวนการหลักตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ได้แก่
- สุนทรียสนทนา (Dialogue)
- การฟังอย่างลึกซึ้ง
- การสะท้อนการเรียนรู้ ทั้งส่วนบุคคล และ กลุ่ม
และ ๓ ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านฐานกาย ฐานหัว และ ฐาน (หัว) ใจ
กิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนว “๔ – ๓ - ๓” มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิด/พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่าปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นแนวทางที่พึงประสงค์ พอเพียง และเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสังคม/วัฒนธรรมไทย และโดยเฉพาะกับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในขณะเดียวกัน กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้เข้าใจสาระสำคัญและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมโนทัศน์หลัก ๖ เรื่องในโมดูลที่ ๑ คือ การวิเคราะห์บริบท การวินิจฉัยองค์การ SWOT Analysis การคิดเชิงระบบ แนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา และ การบริหารการศึกษาในอนาคต โดยไม่ใช้การบรรยายเนื้อหา แต่เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและกระบวนการทางจิตตปัญญาศึกษา ที่ผู้เข้ารับการอบรม (ผู้เรียนรู้) และวิทยากรกระบวนการร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันแบบสดๆ และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพห้อง ปริมาณของผู้เข้าร่วมและบริบทของการอบรมแต่ละรุ่นที่แตกต่างกัน
ในช่วงระยะเวลา ๒ - ๓ เดือนของการเตรียมการและการจัดอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เขียนได้รับประสบการณ์การเป็นวิทยากรกระบวนการในโครงการมากมาย การเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ไปกับความท้าทายที่แตกต่างตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมในแง่ของตำแหน่งและประสบการณ์ทางการบริหารการศึกษา อายุ ความคาดหวังและความคุ้นชินกับการอบรมในกระแสหลัก ความไม่พร้อมและความไม่เหมาะสมของสถานที่ เช่นคับแคบหรือมีเสาอยู่กลางห้อง กลิ่นอับชื้น พิธีการ/พิธีกรรมตามรูปแบบการอบรมเดิม การทำ pre-post tests เงื่อนไข/กติกาการอบรม จำนวนผู้เข้าอบรมในแต่ละรุ่นที่ใหญ่มากสำหรับการจัดกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา คือมีจำนวนร้อยกว่าจนถึงสองร้อยกว่าคน ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับตอนที่อบรมวิทยากรแกนนำ (รุ่นละประมาณ ๕๕๐ คน)
ผู้เขียนต้องเดินทางตลอดในช่วงของการอบรมในโครงการ ยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ดีที่งามให้กับวงการศึกษา และหายเหนื่อยทุกครั้งที่ผู้เข้ารับการอบรมแสดงความสนใจและชื่นชอบกับกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา หลังการอบรมแต่ละรุ่นจะมีผู้บริหารสถานศึกษาบางท่านที่สนใจและขอให้ผู้เขียนไปจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ให้กับครูทั้งโรงเรียน
ผู้เขียนอยากจะบันทึกประสบการณ์บางส่วนทั้งในแง่วิชาการ เบื้องหลังการถ่ายทำและการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในการอบรม เพื่อเป็นบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นวิทยากรกระบวนการ และมอบเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจเรียนรู้ที่จะเป็นวิทยากรกระบวนการในอนาคต
เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้บริหารสถานศึกษา มีความเป็นนักวิชาการอยู่ในตัว มีประสบการณ์ชีวิต และผ่านการอบรมมามาก ผู้เขียนจึงออกแบบการนำเสนอเพื่อเน้นให้เห็นจุดสำคัญที่แตกต่างจากการอบรมทั่วๆ ไป เพื่อดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ตามหลักจิตวิทยาการสอนผู้ใหญ่และจิตวิทยาการเรียนรู้ของมนุษย์
การจัดห้องและบรรยากาศในห้องอบรม ในกรณีที่ห้องเล็ก ไม่สามารถจัดเก้าอี้เป็นวงกลมวงเดียวได้สำหรับผู้เข้าอบรมประมาณ ๑๒๐ คน จะใช้วิธีจัดเป็นสองวงติดกัน โดยเว้นช่องระหว่างวงสำหรับวิทยากรกระบวนการเดินทะลุไปมาได้ ในกรณีที่มีจำนวนผู้เข้าอบรมใกล้ ๒๐๐ ถึง ๒๐๐ กว่าคนเล็กน้อยจะจัดเป็นสองวงดังกล่าวเช่นกัน ส่วนกิจกรรมและการดำเนินการทั้งหมดจะทำคู่ขนานไปพร้อมๆ กันทั้งสองวง จุดสำคัญคือทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมและกระบวนการ ยกเว้นช่วงฝึกกลุ่มวิทยากรกระบวนการแกนนำที่มีผู้เข้าร่วมรุ่นละประมาณ ๕๕๐ คน ผู้เขียนใช้วิธีจัดเป็นวงกลมตรงกลางหนึ่งวง (ประมาณร้อยว่าคน) สำหรับจัดกระบวนการสาธิต และมีผู้เข้าร่วมที่เหลือทั้งหมดแบ่งเป็นสี่กลุ่มตามภูมิภาค อยู่รอบวงกลมตรงกลาง สังเกตและร่วมกิจกรรมอยู่นอกวง แล้วใช้วิธีผลัดกันเข้ามาอยู่วงกลางเพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การจัดสภาพห้องดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกต่างตั้งแต่เริ่มต้น
การเกริ่นนำจุดเน้นที่แตกต่างของการอบรมครั้งนี้ โดยเฉพาะการใช้แนวคิด แนวปฏิบัติและกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ๔ – ๓ - ๓ รวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์เฉพาะ/ชุดภาษา ๖ ชุด ได้แก่
1) การเรียน – การรู้ – การเรียนรู้
2) วิทยากร – กระบวนกร – วิทยากรกระบวนการ
3) Systematic – Systems – Systemic
4) การอภิปราย (กลุ่มย่อย-กลุ่มใหญ่) – สุนทรียสนทนา
5) มิติภายนอก - มิติภายใน - มิติภายในที่สัมพันธ์กับมิติภายนอก
6) การเปลี่ยนแปลง – การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนฐานคิด/จิตสำนึก
การเริ่มต้นด้วยการอุ่นเครื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา ผ่านฐานกาย (กิจกรรมสามเหลี่ยมด้านเท่า) การสะท้อนการเรียนรู้ส่วนบุคคลและกลุ่ม หลังการทำกิจกรรม ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง (การเรียนรู้ผ่านฐานหัวและฐาน (หัว) ใจ
การดำเนินการการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่ออกแบบไว้จนครบถ้วน
จัดสรรเวลาประมาณ ๒๐ - ๓๐ นาที เพื่อทำการสะท้อนการเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่
ในตอนที่หนึ่งของบทความนี้ที่ลงในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ วันเสาร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้บันทึกไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ในทำนองว่าความร่วมมือระหว่างสามฝ่ายได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ) เป็นความร่วมทางวิชาการและการบริหารจัดการโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ และควรมีความร่วมมือกันต่อไป
ในระหว่างการดำเนินงานโครงการ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในเรื่องของการบริหารจัดการโครงการ ที่ต้องดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จในเวลาสั้น ปัญหาการสื่อสารระหว่างทีมทำงาน ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่หน่วยงาน งบประมาณและการเบิกจ่าย แต่สุดท้ายก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ด้วยการที่คนทำงานในพื้นที่ทุกฝ่ายคิดเอางานและผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นตัวตั้ง อดทน ทุ่มเท ด้วยจิตอาสา ด้วยจิตสำนึกที่ใหญ่กว่าความวุ่นวายและความยากลำบากส่วนตัว ผู้เขียนขอชื่นชมและแสดงความเคารพทุกท่านด้วยความจริงใจ เรายังมีงานท้าทายร่วมกันในอีกสองปีข้างหน้าคือการอบรมครูทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนตัวของผู้เขียนรู้สึกเสียดายที่กลุ่มครูเน้นเนื้อหาสาระไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาเช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริหาร เพราะครูสามารถนำกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนได้จริง เป็นการพัฒนาครูและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน ก็ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย