มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2554
ขอแสดงความรัก ความห่วงใยอย่างยิ่ง และขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบอุทกภัยทุกคนด้วยความจริงใจ
ขอแสดงความเคารพและนับถืออย่างสูง ต่ออาสาสมัคร หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทุกคนที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คลี่คลายความทุกข์ยากให้กับประชาชน
ขอแผ่เมตตาและความปรารถนาดีอย่างยิ่งยวด ต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และผู้ที่อาศัยภาวะวิกฤตฉกฉวยแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องบนความทุกข์ยากของผู้อื่น ขอให้มีความกล้าที่จะลด ละ เลิก ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่ไม่ดี ไม่งาม มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งส่วนตัวส่วนกลุ่ม ทุ่มเทความสามารถร่วมกันฝ่าวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ไปด้วยกัน ด้วยความรู้ ด้วยปัญญา อย่างมีสติ
วิกฤตมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบ และยังต้องรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจไปอีกนาน เป็นบทเรียนราคาแสนแพงที่ผู้รับผิดชอบต้องเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม จิตสำนึกที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก กล้าตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน เพื่อแก้หรือบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่
นักการเมืองไม่ควรชิงไหวชิงพริบทางการเมือง หรือใช้อำนาจหน้าที่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก
วิกฤตครั้งนี้หากมองในแง่ดี น่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า รุกล้ำลำคลอง แม่น้ำ และที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เกิดจิตสำนึกสาธารณะขึ้นมาบ้าง เมื่อเห็นความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่จมน้ำอยู่ค่อนประเทศ และหลายชีวิตสูญเสียไปกับภัยพิบัติครั้งนี้
นักการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติบางคนก็อาจจะได้คิด และน่าจะเลิกแข่งขันกันทำความชั่ว หันมารวมตัวกันสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมไทยบ้างไม่มากก็น้อย
ประเทศไทยประสบและผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตทางสังคมและการเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป เราก็มักจะไม่สะท้อนการเรียนรู้หรือสรุปถอดบทเรียน และเตรียมการสำหรับอนาคตอย่างจริงจัง
บทเรียนที่เราไม่ค่อยจะเรียนรู้ ระหว่างและหลังการเกิดวิกฤตก็คือ การที่แต่ละฝ่ายใช้ความคิด ความเก่งและความฉลาด (การใช้ “หัว”) ในการหาหนทางและการกระทำเพื่อให้ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง แบบไม่มีช่องว่างที่จะให้ “หัวใจ” แก่กันและกันในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ต้องการการยอมรับ ต้องการการมีพื้นที่ในสังคม และที่สำคัญ ไม่มีสติและปัญญาพอที่จะ “ให้ใจ” แก่กันและกันในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน
เมื่อไม่ “เปิดใจ” ให้กัน เพราะ “ไม่เชื่อใจ” กัน จึง “ไม่ไว้ใจ” และ “ไม่ให้ใจ” กัน การร่วมมือกันด้วยความจริงใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจึงไม่เกิดขึ้น
นักการเมืองและพวกพ้องจำนวนมาก ไม่เคยเรียนรู้อย่างมีสติสัมปชัญญะว่า การใช้พลังความคิด และพลังมวลชนเพื่อนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของคู่แข่งทางการเมือง โดยลืมคิดว่าการทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ได้โดยไม่คำนึงถึงความควร ไม่ควรทางคุณธรรมจริยธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อประชาชนโดยรวม จะส่งผลเสียระยะยาวต่อประเทศชาติ และเกิดการแบ่งแยกแตกพวกไปทั่วแผ่นดิน
ความขัดแย้งทางสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่มาจากความคิด ความเชื่อ และการขัดกันทางผลประโยชน์ ไม่สามารถแก้ไขและ/หรือปรองดองได้ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังคนหรือกำลังอาวุธที่เหนือกว่า รวมไปถึงการใช้เหตุผล/ตรรกะ (การใช้หัว) และโดยเฉพาะการใช้กฎหมายบังคับ เพราะทั้งหมดเป็นการคิดแบบแยกส่วน แบ่งแยก แพ้-ชนะ ตัดสินถูก-ผิด และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รอเวลาและโอกาสที่จะปะทุขึ้นมาใหม่ ด้วยความรุนแรงที่กว้างและเข้มข้นกว่าเดิม วงจรอุบาทว์ก็กลับมาอีก
ควรเลิกคิด ทำ พูด ในลักษณะเดิม ที่อุปมาเหมือนไก่จิกตีกันในเข่ง เพียงเพื่อแย่งชิงเศษอาหารที่เจ้าของเขาให้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก จะได้ดูดีมีราคาเพิ่ม เพราะสุดท้ายก็ถูกขายยกเข่ง ถูกนำไปฆ่าทั้งหมด
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตที่มีผลเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองแยกข้าง ผมจะนึกถึงบทกลอนที่ผมเคยเขียนไว้เสมอ วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่น ปรากฏการณ์หน้าจอโทรทัศน์ และข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากเครือข่ายที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย สะท้อนระดับความคิด จิตอาสา จิตสำนึกสาธารณะ และคุณภาพทางจิตใจของบางคน บางกลุ่มได้เป็นอย่างดี
แต่ผมก็ยังเคารพและยอมรับในความแตกต่าง ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผมยังเชื่อและมีความหวังกับคนไทยทุกคน ว่าสักวัน อีกไม่นานเกินรอ เราจะร่วมกันรังสรรค์ความสุข สงบ สันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สร้างความเป็นหนึ่งบนความหลากหลาย ไม่ว่าจะมีเหตุร้ายหรือวิกฤตใดเกิดขึ้น เราจะร่วมกันฝ่าพิบัติภัย ไปด้วยกัน
ลองอ่านบทกลอน “สูงสุดยอด คือเท่าเทียม เป็นหนึ่งเดียว” แล้วลองใคร่ครวญ ทบทวนอย่างลึกซึ้งดู
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2554
ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันที่คนทั้งประเทศน่าจะรู้สึกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมาถึงบ้านเราแล้ว ไม่เพียงแต่มาเคาะประตูหน้าบ้าน แต่ลุยเข้ามาในบ้าน ล้นทะลักเข้าไปในห้องครัว ห้องนอน เอ่อขึ้นไปยังชั้นสอง บ้างก็ไปจนมิดหลังคา
หลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ แต่กรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนจะรอดหวุดหวิดมาเกือบทุกครั้งไป จนคนเมืองหลวงอาจจะวางใจ พูดปลอบใจตนเอง หรือปลอบใจกันและกันว่า "โอ๊ย กรุงเทพฯ น่ะสำคัญนะ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและทุกเรื่อง ถ้าท่วมจะเสียหายหนัก เขาไม่ปล่อยให้ท่วมง่ายๆ หรอก"
ซึ่งที่กล่าวมาก็ถูกต้องทั้งหมด ไม่มีส่วนใดผิด กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่รวมศูนย์แบบไทย ถ้าภัยพิบัติไม่ว่าจะทางธรรมชาติหรือทางไหนส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ย่อมเสียหายมาก และก็จริงอีกที่ "เขา" (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าหมายถึง ใคร รัฐบาล หรือองค์กรใด) ต้องพยายามป้องกันกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง น้ำท่วมก็ท่วมนิดเดียว ชั่วครู่ชั่วยามโดยมากก็เป็นชั่วโมงเท่านั้น
ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ สถานการณ์กรุงเทพฯ ยังไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วงที่น้ำทะเลยังไม่ขึ้นสูงสุด และมวลน้ำปริมาณมหาศาลจากตอนบนของประเทศก็ยังลงมาไม่ถึง แต่กระนั้นก็มีหลายเขตหลายชุมชนแล้วที่น้ำท่วม ส่วนเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์ก็จะเป็นช่วงที่สถานการณ์คับขันและยากลำบากที่สุด
ผู้เขียนและชาวจิตวิวัฒน์ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันนี้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหน
ได้แต่หวังว่าคงจะปลอดภัยทั้งสุขภาพ สุขภาพใจ และทรัพย์สิน ไม่เสียหายกันมากนัก
เพราะว่าเราคงจะต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อีกเกือบทุกปีแน่นอน
โดยเฉพาะจากข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่แย่เอามากๆ แค่เรื่องอุณหภูมิอย่างเดียว สถิติ ๑๐ อันดับของปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด ได้แก่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑, ๒๕๔๔, ๒๕๔๕, ๒๕๔๖, ๒๕๔๗, ๒๕๔๘, ๒๕๔๙, ๒๕๕๐, ๒๕๕๒, ๒๕๕๓ ล้วนอยู่ในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา โดยปีที่โลกร้อนที่สุดตั้งแต่เคยถูกจดบันทึกคือ ปี ๒๕๕๓ นี้เอง
อุณหภูมิของโลกร้อนกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ ๒๐ มาต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓๔ แล้ว
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับนายอัล กอร์ ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ในปี ๒๕๕๐ ประมาณการว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือนั้นจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยอาจจะละลายหมดในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. ๒๐๕๐-๒๑๐๐ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วหลังจากรายงานออกมา นักวิทยาศาสตร์ประมาณการกันใหม่แล้วว่า ขั้วโลกเหนืออาจจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมเลยภายในไม่ถึงห้าปีข้างหน้านี้
ไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้น พายุฝนฟ้าคะนองนั้นมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ตัวชี้วัดหนึ่งคือข้อมูลปริมาณน้ำฝนทั่วโลกพบว่าปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาเป็นปีที่ "เปียก" หรือมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการจดบันทึกกันมา ปีที่แล้วกราฟแสดงปริมาณที่มากสุดโต่งอยู่แถวเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก อเมริกากลาง ออสเตรเลีย โดยไทยเรารอดมาได้ แต่กราฟของปีนี้ต้องมีเอเชียอาคเนย์และประเทศไทยแน่นอน
ฝนที่เคยตกปรกติ ปริมาณกำลังดีแถวอาณาจักรลาดั๊ก (Ladakh) ทางตอนเหนือสุดของอินเดีย ที่ทำให้เจริญเป็นอารยธรรมที่งดงาม ก็เกิดปรากฏการณ์คลาวเบิร์สท (Cloudburst) คือ ฝนตกหนักอย่างกะทันหันปานฟ้ารั่ว ลองจินตนาการว่าธรรมดาฝนนั้นตกลงมาเหมือนเทวดารดน้ำจากฝักบัวครับ แต่ที่เกิดขึ้นคือเทวดาเทน้ำจากขันหรือกะละมังครับ ผลคือน้ำท่วมอย่างหนักและรวดเร็ว โคลนถล่มสูงเป็นเมตร ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตาย เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการตั้งถิ่นฐานกันมา
ฟังดูก็เหมือนหลายๆ เมืองที่เราได้ยินข่าวทั่วไป ไม่น่าตื่นเต้นตกใจอะไรใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราทราบว่าเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเละห์ Leh (บ้างอาจจะว่าเข้าใจตั้งชื่อเป็นลาง) ซึ่งอยู่สูง ๓,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล!
ไม่อยากจะนึกก็ต้องนึกถึงหนังเรื่อง 2012 ไม่น้อย
นี่ถ้าเมืองที่สูงถึง ๓.๕ กิโลเมตร ยังน้ำท่วมคนตายได้ขนาดนี้ กรุงเทพฯ ที่อยู่ที่ระดับ ๐ เมตร (และกลางเดือนตุลาคม น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดประมาณ ๒.๕ เมตร) คงไม่ต้องสงสัย
หรือตัวอย่าง เดือนมีนาคมปีนี้ที่เมืองไทย มีสามฤดู วันหนึ่งร้อนจัด อีกวันต้องได้ค้นเสื้อกันหนาวมาใส่ ในขณะที่ภาคใต้ก็เกิดพายุน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็เกิดจากน้ำในมหาสมุทรอินเดียพื้นที่หนึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าปรกติเพียงเล็กน้อย ทำให้ลมที่พัดต้านมวลอากาศเย็นจากจีนไม่สามารถทานกำลังได้
ประเทศไทยที่ได้สภาพภูมิอากาศรับอิทธิพลของปรากฏการณ์ เอลนีโญ/ลานีญา-ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (El Niño/La niña-Southern Oscillation หรือ ENSO) ทำให้เรามีสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง โดยปรกติแล้วเกิดประมาณทุก ๕ ปี แต่ข้อมูลล่าสุดที่ได้จาก ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) วงจรนี้ไม่ปรกติแล้ว และคาดว่าจะเกิดเฉลี่ยทุก ๑๑ เดือน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผันแปรผิดปรกติของปรากฏการณ์ ENSO นี้เท่ากับว่าสภาพภูมิอากาศโลกได้เลยจุดพลิกผัน (tipping point) แล้ว
อันที่จริงเราอาจจะไม่ต้องอาศัยข้อมูลมากมายเท่านี้ก็ได้ ตัวอย่างจาก ดร.วังการี มาไท นักชีววิทยาสตรีสาวชาวเคนยา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๔๗ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกน่ะหรือ ฉันรู้แน่นอนว่ามันกำลังเกิดขึ้น ฉันแค่เดินออกไปนอกบ้าน ฉันก็รู้แล้ว"
ในปาฐกถารางวัลโนเบลของเธอที่กรุงออสโล เธอได้กล่าวว่า "เรากำลังจะเผชิญกันความท้าทายที่เรียกให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด เพื่อที่มนุษยชาติจะหยุดทำร้ายระบบที่เอื้อให้เรามีชีวิต เราต้องช่วยเหลือเยียวยาโลก และในกระบวนเดียวกันนี้เอง ช่วยเยียวยาตัวเราเองด้วย ซึ่งก็คือการโอบอุ้มสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความหลากหลาย ความงาม และความอัศจรรย์ใจ มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องฟื้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดียวกับสรรพชีวิต"
ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรุนแรงและส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลกเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ ขณะนี้ในประเทศไทยของเราก็ได้เกิดการเรียกร้องผลักดันให้การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ เช่น จาก คุณปรเมศวร์ มินศิริ thaiflood.com และ ดร. สมิทธ ธรรมสโรช มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกันเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนขณะนี้ให้ผ่านวิกฤตไปได้"
เรื่องวิกฤตนี้ กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยและสื่อสารให้เห็นความสำคัญมาร่วมเกือบสิบปี และหากรวมที่สมาชิกของกลุ่มหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อาจารย์ประสาน ต่างใจ และอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนเตือนไว้ก็สิบกว่าปีแล้ว ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับสิ่งที่ ดร.เจมส์ เลิฟล็อค ผู้คิดค้นทฤษฎีกายา (ที่ว่าโลกมีคุณสมบัติเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่สามารถมีสุขภาวะที่ดีหรือป่วยได้ อันเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ไว้เมื่อปี ๒๕๕๑ ว่าหายนะภัยของโลกนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่มุมมองของบุคคลเหล่านี้ต่อวิกฤตสภาพอากาศนั้นมีมากไปกว่าการป้องกันและกู้ภัยด้วยเทคโนโลยีและการจัดการ นั่นคือ โอกาสที่เราจะได้ตระหนักว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในวิกฤตนี้ เพราะหากต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมเรายังพอมี เราอาจเกิดสติและเห็นว่าทุกหายนภัย ทุกวิกฤต มาพร้อมกับโอกาสที่ดีได้เสมอ เป็นการเรียนรู้ที่หาได้ยากในสภาวะปรกติ
ภาวะพายุผิดฤดูกาล และน้ำท่วมน้ำหลากมากผิดวิสัย ไม่ได้เป็นเพียงโอกาสจะได้หาทางแก้ไขป้องกันด้วยการสร้างฝาย คันกั้นน้ำ หรือระบบอุโมงค์ระบายน้ำ แต่นี่ยังเป็นโอกาสอย่างมาก ที่สังคมไทยจะเรียนรู้ร่วมกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเพียงอาการ แท้จริงแล้วมีต้นเหตุ คือ วิกฤตทางด้านจิตวิญญาณ ดังเช่นที่ท่านทะไลลามะบอกว่า เรากำลังเป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (Spiritual deficiency syndrome)
ท่ามกลางภาวะของความเศร้าและทุกข์ทรมานกับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ หลายคนสิ้นหวังหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต หลายพื้นที่ลงไม้ลงมือวิวาททำร้ายร่างกายกันเพราะเห็นว่าถูกเอาเปรียบที่ชุมชนของตนต้องเป็นฝ่ายรับน้ำแทน คนจำนวนไม่น้อยก็ก่นด่าเพ่งโทษอีกฝ่าย และจำนวนมากมายเร่งรุดไปซื้อกักตุนข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภคจนขาดแคลน ไม่เพียงพอแม้แต่จะแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย ปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่กำลังบอกเราว่าลำพังเพียงความรู้ทางเทคโนโลยีและการจัดการ ไม่สามารถดูแลปัญหาวิกฤตการณ์ในจิตใจชาวไทยได้
หลังจากที่การแก้ไขภัยพิบัติเร่งด่วนเฉพาะหน้าเริ่มคลี่คลายลง การผลักดันวาระแห่งชาติก็คงจะสูงยิ่ง การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ออกจากวิกฤตนี้จำต้องมีวาระแห่งชาติที่มีพลังเพียงพอ ลำพังวาระเรื่องการรับมือภัยพิบัตินั้นสำคัญมาก แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญ่กว่าการหาหนทางอยู่รอด
หรืออาจใช้ชื่อ "วาระแห่งชาติว่าด้วยการรับมือภัยพิบัติ" นี้ก็ได้ แต่สาระภายใน สังคมไทยต้องการพื้นที่สำหรับความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติการ (platform) ที่ใหญ่กว่าเรื่องทางเทคนิคและเรื่องความอยู่รอด เป็นวาระที่ตระหนักรู้ว่าภัยพิบัตินั้นมีทั้งวิกฤตธรรมชาตินอกกาย และวิกฤตในใจที่บดบังให้เราไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกใบเดียวกัน
ภัยพิบัติอาจทำให้เราเห็นว่าต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวให้รอด แต่ความรู้จากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the fittest) ดังนั้น การที่เราจะอยู่รอด ไม่ใช่เพราะเหตุผลตื้นเขินว่าเราแข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด ไม่ใช่เพราะเรารวยหรือมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เราจึงต่อสู้เอาชนะได้ แต่รอดได้เป็นเพราะว่าเราเหมาะสมที่สุด
สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดโดยลำพัง แต่คือสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ทั้งกับสปีชีส์เดียวกัน และกับสปีชีส์อื่นๆ ในโลกใบนี้
องค์ความรู้ทางจิตวิวัฒน์ที่ได้สั่งสมมาหลายปี ชี้ให้เห็นว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะอ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เข้าถึงความสุขอันประณีต ชุดความรู้เรื่องการรู้จักตนเอง การรู้จักให้อภัย การรู้จักพอ รู้จักที่จะช้าลง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่รอดและการอยู่ร่วมของเรา
นี่อาจจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชั่วชีวิตของเรา ที่เราจะละทิ้งอัตตาและความคับแคบของใจ โอกาสการก้าวข้ามความแบ่งแยกทางสี ทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ไปสู่การปลูกเพาะความรักความเมตตาและเอื้ออารีต่อกัน สู่การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของทุกคนและทุกชีวิต
ดังเช่นที่ ดร.วังการี มาไท ได้กล่าวไว้ว่า "ในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีเวลาที่มนุษยชาติถูกเรียกร้องให้ยกระดับจิตสำนึกใหม่ ไปสู่คุณธรรมที่สูงขึ้น เวลาที่พวกเราต้องขับไล่ความกลัวและมอบความหวังให้กันและกัน เวลานั้นก็คือตอนนี้"
ดังนี้ สิ่งที่เราควรชูเป็นวาระชาติ คือ วาระของการอยู่ร่วมกัน
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2554
โปรเชสกา และไดคลีเมนต์ (Prochaska & DiClemente) สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ศึกษาวิจัยขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของคนที่เลิกเหล้าได้เอง พบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น ๖ ขั้นตอนคือ
๑. ขั้นไม่เห็นปัญหา (Pre-contemplation)
๒. ขั้นใคร่ครวญ (Contemplation)
๓. ขั้นเตรียมตัว (Preparation)
๔. ขั้นลงมือทำ (Action)
๕. ขั้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง (Maintenance)
๖. ขั้นกลับไปติดซ้ำ (Relapse)
ผมพบว่าแนวคิดนี้เป็นประโยชน์มากในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงให้กับบุคคลและองค์กร เพราะช่วยให้ผมเข้าใจผู้เข้าร่วมการอบรมมากขึ้น และไม่คาดหวังให้เขาเปลี่ยนเกินกว่าขั้นตอนที่เขากำลังยืนอยู่ แม้ว่าแนวคิดนี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มคนติดเหล้า แต่ก็สามารถนำมาอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของจิตได้เป็นอย่างดี เหตุผลที่คนไม่ยอมเปลี่ยน เพราะจิตเสพติดอยู่กับอะไรบางอย่าง จึงทำให้จิตติดขัดไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ผมลองเอาคำฮิตในยุคนี้ "จัดเต็ม" มาใช้เป็นตัวอย่างของการเสพติดสักหน่อย "หมิว" (นามสมมติ) เป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จักว่า เธอจัดเต็มในเรื่องงานตลอด วันๆ เอาแต่ทำงาน ไม่ยอมคุยกับใคร และมักหงุดหงิดหรือด่าใส่เวลางานที่มอบหมายไม่เป็นไปอย่างที่เธอคิด
อยู่มาวันหนึ่งองค์กรที่เธอทำงานอยู่ได้จัดอบรมเรื่อง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น โดยมอบหมายว่า หมิวจะต้องเข้ารับการอบรมนี้ให้ได้
เราอาจเคยเห็นคนแบบนี้อยู่ในองค์กรกันมาบ้าง บางทีอาจเป็นคนใกล้ชิดในบ้าน หรือบางทีอาจเป็นตัวเราเองก็แล้วแต่ คำถามคือ ถ้าหมิวจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตให้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ดังที่แสดงไว้ข้างต้น เธอจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
ขั้นที่หนึ่ง คือขั้นไม่เห็นปัญหา หมิวจัดเต็มในเรื่องของงาน จะพยายามทุกวิถีทางไม่ให้งานที่ชุ่ยๆ หลุดออกจากมือไป ทำงานจนดึกจนดื่น ไม่สนใจใคร บางครั้งก็ส่งงานช้ากว่ากำหนด หรืออาจกลายเป็นไม่มีงานส่งไปเลย คือยอมไม่มีผลงานดีกว่าปล่อยให้มีผลงานชุ่ยๆ ออกไป หมิวได้รับคำขอร้องแกมสั่งมาว่าให้มาเข้ารับการอบรมเรื่องการเปลี่ยนแปลง หมิวไม่อยากมาเลย อบรมอะไรก็ไม่รู้ ฝ่ายบุคคลมาเอาเวลาอันมีค่าของเธอไปอีกแล้ว พอหมิวได้มาเข้ารับการอบรม ได้พบกระบวนการเรียนรู้ต่างไปจากเดิม ได้ยินคล้ายๆ
ว่าเป็น จิตตปัญญา จิตวิวัฒน์ อะไรทำนองนี้ในการอบรม อาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทุกคน รวมถึงหมิวฝึกการสังเกต รับฟัง และสะท้อนตัวเอง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ออกไปเดินในสวนบ้าง ทำงานศิลปะบ้าง แล้วก็มาคุยสะท้อนกัน ขอคำแนะนำกันและกันบ้าง
หมิวค่อยๆ รู้ตัวว่าที่ผ่านมาตัวเองจัดเต็มเกินไป เริ่มเห็นว่าตัวเองทุกข์กับงานที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จเสียที ยิ่งทำไป งานยิ่งเพิ่ม นึกถึงโต๊ะทำงานของตัวเองเต็มไปด้วยกองงานอันรกรุงรัง เริ่มได้ยินเสียงของเพื่อนร่วมงานว่า "เมื่อไหร่งานจะเสร็จสักที" แต่คราวนี้ไม่ใช่เสียงบ่นกลับเป็นเสียงเตือนด้วยความหวังดีอยากให้เธอพักบ้าง เริ่มเห็นว่านิสัยจัดเต็มที่เป็นอยู่ อาจเป็นปัญหาทำให้ชีวิตยุ่งยากและเสียสมดุล ภาวะนี้แสดงว่าจิตของหมิวกำลังเคลื่อนสู่ขั้นที่สอง คือขั้นใคร่ครวญ การอบรมคราวนี้มีชื่อกิจกรรมแปลกๆ ว่า “X-Ray จิต”
เธอลองพาตัวเองผ่านกระบวนการ หมิวค่อยๆ รู้จัก "จิตจัดเต็ม" ของตัวเองว่าเชื่อมโยงกับความเปราะบางอะไรในตนเอง
และเข้าใจกระบวนการทำงานอัตโนมัติของ "จิตจัดเต็ม" ว่าทำงานอย่างไร ตอนไหน ที่ไหน กับใคร
ในตอนนี้เองจิตของหมิวก็จะเริ่มก้าวขึ้นสู่ขั้นที่สาม คือขั้นเตรียมตัว พอเป็นเรื่องของจิต ผมจึงอยากเรียกชื่อขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนี้ใหม่ว่า "ขั้นเตรียมข้ามขอบ" “X-Ray จิต” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยว่า จิตหมิวติดอะไรอยู่ถึงไม่ยอมเปลี่ยนสักที เธอพบว่า
ที่เธอจัดเต็มในเรื่องงานมาโดยตลอด เพราะลึกๆ กลัวว่า ถ้าคนอื่นเห็นว่าเธอทำงานชุ่ยๆ แล้ว เขาจะไม่ยอมรับในตัวเธอ
หมิวจึงไม่ยอมปล่อยงานชุ่ยๆ ออกไปเลย เวลา "จิตจัดเต็ม" เริ่มเข้ามาครอบงำ กระบวนการทำงานอัตโนมัติของ "จิตจัดเต็ม"
ก็จะทำให้เธอต้องทำงานให้เนี๊ยบ ดูดี สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครตำหนิได้ แต่ถ้างานยังไม่ถึงจุดนั้น ก็จะไม่ทำงานออกมาเลย
ยอมปล่อยให้ส่งงานล่าช้า หรือไม่ส่งมันเสียเลย ที่ผ่านมาหมิวมักจะเลือกอยู่ภายในขอบ คือทำงานจัดเต็ม
เพราะถึงอย่างไรผลงานก็จะเป็นที่ยอมรับเหมือนที่ผ่านมา
การข้ามขอบคือ การทำงานแต่พอดี ทำงานให้ง่ายขึ้นลดขั้นตอนอันซับซ้อนลง เปิดรับให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมในงานมากขึ้น
แต่การทำอย่างนี้จิตจะกลัวว่า งานจะออกมาชุ่ยๆ อีกจึงทำให้ข้ามขอบนี้ได้ยาก การพิจารณาว่าเธอต้อง "จ่าย" ต้นทุนอะไรออกไปบ้าง
เพื่อให้เธออยู่ภายในขอบนี้ อาจพอช่วยจัดหนักให้เธอเข้าใจความจริงบ้างว่า ตอนที่จัดเต็มเธอต้องใช้พลังชีวิตทั้งหมดไปเพื่อให้งานออกมาไม่ชุ่ยพอทำงานจนหมดแรงแล้ว ก็กลายเป็นปล่อยปละละเลยชีวิตส่วนตัวไปเลย เพราะไม่มีพลังชีวิตเหลือไปทำอะไรอย่างอื่นอีก
เธอยกตัวอย่างที่ผ่านมาว่า ทำงานมาหนักแล้ว ก็ไปกินมาม่าสองห่อใหญ่ ปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไปตามความหนักของงาน
แทนที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอใช้พลังไปจนหมดแล้วเพื่อไม่ให้งานออกมาชุ่ย
แต่ชีวิตที่เหลือของเธอชุ่ยสุดๆ พอพิจารณาต้นทุนที่เธอต้องจ่ายได้อย่างนี้ หมิวเริ่มพบว่า ที่เธอกลัวชุ่ย จริงแล้วเธอเองก็ใช้ชีวิตชุ่ยๆ มาโดยตลอด เธอมองเห็น "จิตจัดเต็ม" ตามความเป็นจริงมากขึ้นว่า "จิตจัดเต็ม" จะเลือกทำงานเฉพาะในบริบทของงาน เพื่อทำให้คนอื่นยอมรับ แต่ในบริบทชีวิตส่วนตัว ซึ่งไม่มีผลกระทบว่าใครจะยอมรับหรือไม่ "จิตจัดเต็ม" จึงกลายเป็น "จิตชุ่ย" ไปเลย เพราะพลังชีวิตทั้งหมดเอาไปทุ่มให้ "จิตจัดเต็ม" ใช้จนหมดแล้ว ในแง่นี้ "จิตชุ่ย" จึงเป็นอีกด้านหนึ่งของ "จิตจัดเต็ม" เมื่อยามหมดพลัง
เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้กระบวนการอบรมพาหมิวและผู้เข้าร่วมคนอื่นมาได้เพียงเท่านี้ ที่เหลือเป็นการวางแผนว่า กลับจากการอบรมไปแล้ว จะสามารถลงมือทำอะไรในลักษณะข้ามขอบได้บ้าง และทุกคนก็ได้การบ้านกลับไป
แต่คนที่จะทำการบ้านตามที่ตั้งไว้ อาศัยเวลาและความสุกงอมของขั้นเตรียมข้ามขอบ การมีกระบวนการโค้ชตามต่อ หรือมีทีมงานช่วยจัดบรรยากาศ ทำสัญลักษณ์ หรือจัดกิจกรรมภายในองค์กรต่อ จะช่วยไม่ให้ผู้เข้าร่วมถอยกลับไปสู่ขั้นใคร่ครวญ หรืออาจหนักข้อไปถึงขั้นไม่เห็นปัญหาได้อีก การจัดอบรมเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่การอบรมครั้งเดียวแล้วจบ แต่มุ่งเน้นจังหวะและความต่อเนื่องที่เหมาะสมในการอบรม
สมมติว่า องค์กรนี้ไม่ได้จัดเพียงแค่ครั้งเดียวจบ แต่มีการอบรมอย่างต่อเนื่อง หมิวมีเหตุปัจจัยพร้อมทั้งภายนอกภายใน เกิดการสุกงอม จิตก็จะเคลื่อนสู่ขั้นที่สี่ คือขั้นลงมือทำ (เพื่อข้ามขอบ) หมิวเริ่มจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หันมาดูแลสุขภาพร่างกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ปฏิบัติธรรม และเริ่มเห็นว่างานที่ทำอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องจัดเต็มมากนัก เพราะอาจเกินกว่าสิ่งที่ผู้รับต้องการ จึงผ่อนการทำงานที่มากเกินให้ลงมาเหลือพอดีๆ เริ่มจัดสมดุลชีวิตใหม่อย่างเป็นรูปธรรม จากที่ใช้ชีวิตหย่อนเกินไปก็ใส่ใจดูแลมากขึ้น จากที่ทำงานตึงเกินไปก็ผ่อนลงมาบ้าง
โครงการอบรมเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมวางจิตวางใจว่า การลงมือทำเพื่อข้ามขอบเป็นเพียงการทดลองเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น หมิวทดลองลงมือจัดสมดุลชีวิตใหม่ เธอพบว่า เอาเข้าจริง เธอก็จัดสมดุลชีวิตได้บ้างไม่ได้บ้าง (ข้ามขอบได้บ้างไม่ได้บ้าง) แต่แม้ทำไม่ได้ ก็นำเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนให้เรียนรู้ ลงมือทำไปเรียนรู้ไป จิตก็จะเคลื่อนสู่ขั้นที่ห้า คือขั้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง บทเรียนใหญ่ในขั้นนี้ จะพบว่า เหตุผลที่ทำให้จัดสมดุลได้หรือไม่ไม่ได้อยู่ที่การจัดสรรเวลาหรือทรัพยากรภายนอกลงตัวหรือไม่ลงตัว แต่อยู่ที่การจัดสมดุลระหว่าง "จิตจัดเต็ม" กับ "จิตชุ่ย" ภายใน จากเดิมที่ "จิตจัดเต็ม" รับรู้ว่าการทำงานให้ง่าย และเสร็จก่อนเวลาเป็นความชุ่ย ก็จะเริ่มเห็นว่าความง่ายช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และในทางกลับกัน "จิตชุ่ย" ที่ปล่อยปละละเลยชีวิตส่วนตัว ก็จะเริ่มมีพื้นที่ให้กับความเอาใจใส่มากขึ้น ในเวลาทำงานก็เท่าทัน "จิตจัดเต็ม" สามารถดึงเอาพลังบวกของ "จิตชุ่ย" มาใช้ได้ และในเวลาส่วนตัวก็เท่าทัน "จิตชุ่ย" สามารถดึงเอาพลังบวกของ "จิตจัดเต็ม" มาใช้ได้ ด้วยความสามารถนี้พลังชีวิตของหมิวจึงหลั่งไหลไปมามากขึ้นระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน และพลังชีวิตที่ไม่ติดตันชนิดนี้เอง ที่จะกลายเป็นพลวัตปัจจัยขับเคลื่อนจิตหมิวต่อไป
เมื่อพลังชีวิตสั่งสมมากพอ จิตของหมิวก็เป็นกลางต่อ "จิตจัดเต็ม"กับ "จิตชุ่ย" สามารถบริหารชีวิตได้อย่างสมดุล ทำงานก็ได้ผลงาน ใช้ชีวิตส่วนตัวก็มีคุณค่า ขั้นตอนที่หก คือขั้นกลับไปติดซ้ำ แต่สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของจิต เป็นวงจรที่หมุนขึ้น แม้จะกลับมาที่เดิม แต่ก็ไม่ซ้ำรอยเดิม "จิตจัดเต็ม" กลายเป็น "จิตเต็มสมบูรณ์" หมิวบริหารชีวิตได้อย่างสมดุลออกมาจากภายใน เพราะเธอสามารถบริหารจิตได้สมดุลรู้ว่าจิตใดควรทำงาน จิตใดควรพัก เมื่อจิตได้พักก็จะมีแรงกลับมาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และเมื่อได้ทำงานแล้ว สมควรพักก็พัก งานที่ทำก็เรียบง่าย อยู่กับข้อเท็จจริงมากกว่าอยู่กับการพยายามตีความให้เข้ากับทฤษฎี ความเห็น หรือวิถีปฏิบัติของ "จิตจัดเต็ม" หรือ "จิตชุ่ย"
จิตของหมิวขยายใหญ่ขึ้น เต็มสมบูรณ์ในทุกแง่มุมของชีวิต พร้อมต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพราะใครๆ ก็เห็นว่าหมิวเปลี่ยนตัวเองได้จริง และอยากเปลี่ยนได้ตาม