มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2554
โปรเชสกา และไดคลีเมนต์ (Prochaska & DiClemente) สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ศึกษาวิจัยขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของคนที่เลิกเหล้าได้เอง พบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น ๖ ขั้นตอนคือ
๑. ขั้นไม่เห็นปัญหา (Pre-contemplation)
๒. ขั้นใคร่ครวญ (Contemplation)
๓. ขั้นเตรียมตัว (Preparation)
๔. ขั้นลงมือทำ (Action)
๕. ขั้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง (Maintenance)
๖. ขั้นกลับไปติดซ้ำ (Relapse)
ผมพบว่าแนวคิดนี้เป็นประโยชน์มากในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงให้กับบุคคลและองค์กร เพราะช่วยให้ผมเข้าใจผู้เข้าร่วมการอบรมมากขึ้น และไม่คาดหวังให้เขาเปลี่ยนเกินกว่าขั้นตอนที่เขากำลังยืนอยู่ แม้ว่าแนวคิดนี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มคนติดเหล้า แต่ก็สามารถนำมาอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของจิตได้เป็นอย่างดี เหตุผลที่คนไม่ยอมเปลี่ยน เพราะจิตเสพติดอยู่กับอะไรบางอย่าง จึงทำให้จิตติดขัดไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ผมลองเอาคำฮิตในยุคนี้ "จัดเต็ม" มาใช้เป็นตัวอย่างของการเสพติดสักหน่อย "หมิว" (นามสมมติ) เป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จักว่า เธอจัดเต็มในเรื่องงานตลอด วันๆ เอาแต่ทำงาน ไม่ยอมคุยกับใคร และมักหงุดหงิดหรือด่าใส่เวลางานที่มอบหมายไม่เป็นไปอย่างที่เธอคิด
อยู่มาวันหนึ่งองค์กรที่เธอทำงานอยู่ได้จัดอบรมเรื่อง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น โดยมอบหมายว่า หมิวจะต้องเข้ารับการอบรมนี้ให้ได้
เราอาจเคยเห็นคนแบบนี้อยู่ในองค์กรกันมาบ้าง บางทีอาจเป็นคนใกล้ชิดในบ้าน หรือบางทีอาจเป็นตัวเราเองก็แล้วแต่ คำถามคือ ถ้าหมิวจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตให้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ดังที่แสดงไว้ข้างต้น เธอจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
ขั้นที่หนึ่ง คือขั้นไม่เห็นปัญหา หมิวจัดเต็มในเรื่องของงาน จะพยายามทุกวิถีทางไม่ให้งานที่ชุ่ยๆ หลุดออกจากมือไป ทำงานจนดึกจนดื่น ไม่สนใจใคร บางครั้งก็ส่งงานช้ากว่ากำหนด หรืออาจกลายเป็นไม่มีงานส่งไปเลย คือยอมไม่มีผลงานดีกว่าปล่อยให้มีผลงานชุ่ยๆ ออกไป หมิวได้รับคำขอร้องแกมสั่งมาว่าให้มาเข้ารับการอบรมเรื่องการเปลี่ยนแปลง หมิวไม่อยากมาเลย อบรมอะไรก็ไม่รู้ ฝ่ายบุคคลมาเอาเวลาอันมีค่าของเธอไปอีกแล้ว พอหมิวได้มาเข้ารับการอบรม ได้พบกระบวนการเรียนรู้ต่างไปจากเดิม ได้ยินคล้ายๆ
ว่าเป็น จิตตปัญญา จิตวิวัฒน์ อะไรทำนองนี้ในการอบรม อาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทุกคน รวมถึงหมิวฝึกการสังเกต รับฟัง และสะท้อนตัวเอง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ออกไปเดินในสวนบ้าง ทำงานศิลปะบ้าง แล้วก็มาคุยสะท้อนกัน ขอคำแนะนำกันและกันบ้าง
หมิวค่อยๆ รู้ตัวว่าที่ผ่านมาตัวเองจัดเต็มเกินไป เริ่มเห็นว่าตัวเองทุกข์กับงานที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จเสียที ยิ่งทำไป งานยิ่งเพิ่ม นึกถึงโต๊ะทำงานของตัวเองเต็มไปด้วยกองงานอันรกรุงรัง เริ่มได้ยินเสียงของเพื่อนร่วมงานว่า "เมื่อไหร่งานจะเสร็จสักที" แต่คราวนี้ไม่ใช่เสียงบ่นกลับเป็นเสียงเตือนด้วยความหวังดีอยากให้เธอพักบ้าง เริ่มเห็นว่านิสัยจัดเต็มที่เป็นอยู่ อาจเป็นปัญหาทำให้ชีวิตยุ่งยากและเสียสมดุล ภาวะนี้แสดงว่าจิตของหมิวกำลังเคลื่อนสู่ขั้นที่สอง คือขั้นใคร่ครวญ การอบรมคราวนี้มีชื่อกิจกรรมแปลกๆ ว่า “X-Ray จิต”
เธอลองพาตัวเองผ่านกระบวนการ หมิวค่อยๆ รู้จัก "จิตจัดเต็ม" ของตัวเองว่าเชื่อมโยงกับความเปราะบางอะไรในตนเอง
และเข้าใจกระบวนการทำงานอัตโนมัติของ "จิตจัดเต็ม" ว่าทำงานอย่างไร ตอนไหน ที่ไหน กับใคร
ในตอนนี้เองจิตของหมิวก็จะเริ่มก้าวขึ้นสู่ขั้นที่สาม คือขั้นเตรียมตัว พอเป็นเรื่องของจิต ผมจึงอยากเรียกชื่อขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนี้ใหม่ว่า "ขั้นเตรียมข้ามขอบ" “X-Ray จิต” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยว่า จิตหมิวติดอะไรอยู่ถึงไม่ยอมเปลี่ยนสักที เธอพบว่า
ที่เธอจัดเต็มในเรื่องงานมาโดยตลอด เพราะลึกๆ กลัวว่า ถ้าคนอื่นเห็นว่าเธอทำงานชุ่ยๆ แล้ว เขาจะไม่ยอมรับในตัวเธอ
หมิวจึงไม่ยอมปล่อยงานชุ่ยๆ ออกไปเลย เวลา "จิตจัดเต็ม" เริ่มเข้ามาครอบงำ กระบวนการทำงานอัตโนมัติของ "จิตจัดเต็ม"
ก็จะทำให้เธอต้องทำงานให้เนี๊ยบ ดูดี สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครตำหนิได้ แต่ถ้างานยังไม่ถึงจุดนั้น ก็จะไม่ทำงานออกมาเลย
ยอมปล่อยให้ส่งงานล่าช้า หรือไม่ส่งมันเสียเลย ที่ผ่านมาหมิวมักจะเลือกอยู่ภายในขอบ คือทำงานจัดเต็ม
เพราะถึงอย่างไรผลงานก็จะเป็นที่ยอมรับเหมือนที่ผ่านมา
การข้ามขอบคือ การทำงานแต่พอดี ทำงานให้ง่ายขึ้นลดขั้นตอนอันซับซ้อนลง เปิดรับให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมในงานมากขึ้น
แต่การทำอย่างนี้จิตจะกลัวว่า งานจะออกมาชุ่ยๆ อีกจึงทำให้ข้ามขอบนี้ได้ยาก การพิจารณาว่าเธอต้อง "จ่าย" ต้นทุนอะไรออกไปบ้าง
เพื่อให้เธออยู่ภายในขอบนี้ อาจพอช่วยจัดหนักให้เธอเข้าใจความจริงบ้างว่า ตอนที่จัดเต็มเธอต้องใช้พลังชีวิตทั้งหมดไปเพื่อให้งานออกมาไม่ชุ่ยพอทำงานจนหมดแรงแล้ว ก็กลายเป็นปล่อยปละละเลยชีวิตส่วนตัวไปเลย เพราะไม่มีพลังชีวิตเหลือไปทำอะไรอย่างอื่นอีก
เธอยกตัวอย่างที่ผ่านมาว่า ทำงานมาหนักแล้ว ก็ไปกินมาม่าสองห่อใหญ่ ปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไปตามความหนักของงาน
แทนที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอใช้พลังไปจนหมดแล้วเพื่อไม่ให้งานออกมาชุ่ย
แต่ชีวิตที่เหลือของเธอชุ่ยสุดๆ พอพิจารณาต้นทุนที่เธอต้องจ่ายได้อย่างนี้ หมิวเริ่มพบว่า ที่เธอกลัวชุ่ย จริงแล้วเธอเองก็ใช้ชีวิตชุ่ยๆ มาโดยตลอด เธอมองเห็น "จิตจัดเต็ม" ตามความเป็นจริงมากขึ้นว่า "จิตจัดเต็ม" จะเลือกทำงานเฉพาะในบริบทของงาน เพื่อทำให้คนอื่นยอมรับ แต่ในบริบทชีวิตส่วนตัว ซึ่งไม่มีผลกระทบว่าใครจะยอมรับหรือไม่ "จิตจัดเต็ม" จึงกลายเป็น "จิตชุ่ย" ไปเลย เพราะพลังชีวิตทั้งหมดเอาไปทุ่มให้ "จิตจัดเต็ม" ใช้จนหมดแล้ว ในแง่นี้ "จิตชุ่ย" จึงเป็นอีกด้านหนึ่งของ "จิตจัดเต็ม" เมื่อยามหมดพลัง
เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้กระบวนการอบรมพาหมิวและผู้เข้าร่วมคนอื่นมาได้เพียงเท่านี้ ที่เหลือเป็นการวางแผนว่า กลับจากการอบรมไปแล้ว จะสามารถลงมือทำอะไรในลักษณะข้ามขอบได้บ้าง และทุกคนก็ได้การบ้านกลับไป
แต่คนที่จะทำการบ้านตามที่ตั้งไว้ อาศัยเวลาและความสุกงอมของขั้นเตรียมข้ามขอบ การมีกระบวนการโค้ชตามต่อ หรือมีทีมงานช่วยจัดบรรยากาศ ทำสัญลักษณ์ หรือจัดกิจกรรมภายในองค์กรต่อ จะช่วยไม่ให้ผู้เข้าร่วมถอยกลับไปสู่ขั้นใคร่ครวญ หรืออาจหนักข้อไปถึงขั้นไม่เห็นปัญหาได้อีก การจัดอบรมเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่การอบรมครั้งเดียวแล้วจบ แต่มุ่งเน้นจังหวะและความต่อเนื่องที่เหมาะสมในการอบรม
สมมติว่า องค์กรนี้ไม่ได้จัดเพียงแค่ครั้งเดียวจบ แต่มีการอบรมอย่างต่อเนื่อง หมิวมีเหตุปัจจัยพร้อมทั้งภายนอกภายใน เกิดการสุกงอม จิตก็จะเคลื่อนสู่ขั้นที่สี่ คือขั้นลงมือทำ (เพื่อข้ามขอบ) หมิวเริ่มจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หันมาดูแลสุขภาพร่างกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ปฏิบัติธรรม และเริ่มเห็นว่างานที่ทำอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องจัดเต็มมากนัก เพราะอาจเกินกว่าสิ่งที่ผู้รับต้องการ จึงผ่อนการทำงานที่มากเกินให้ลงมาเหลือพอดีๆ เริ่มจัดสมดุลชีวิตใหม่อย่างเป็นรูปธรรม จากที่ใช้ชีวิตหย่อนเกินไปก็ใส่ใจดูแลมากขึ้น จากที่ทำงานตึงเกินไปก็ผ่อนลงมาบ้าง
โครงการอบรมเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมวางจิตวางใจว่า การลงมือทำเพื่อข้ามขอบเป็นเพียงการทดลองเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น หมิวทดลองลงมือจัดสมดุลชีวิตใหม่ เธอพบว่า เอาเข้าจริง เธอก็จัดสมดุลชีวิตได้บ้างไม่ได้บ้าง (ข้ามขอบได้บ้างไม่ได้บ้าง) แต่แม้ทำไม่ได้ ก็นำเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนให้เรียนรู้ ลงมือทำไปเรียนรู้ไป จิตก็จะเคลื่อนสู่ขั้นที่ห้า คือขั้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง บทเรียนใหญ่ในขั้นนี้ จะพบว่า เหตุผลที่ทำให้จัดสมดุลได้หรือไม่ไม่ได้อยู่ที่การจัดสรรเวลาหรือทรัพยากรภายนอกลงตัวหรือไม่ลงตัว แต่อยู่ที่การจัดสมดุลระหว่าง "จิตจัดเต็ม" กับ "จิตชุ่ย" ภายใน จากเดิมที่ "จิตจัดเต็ม" รับรู้ว่าการทำงานให้ง่าย และเสร็จก่อนเวลาเป็นความชุ่ย ก็จะเริ่มเห็นว่าความง่ายช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และในทางกลับกัน "จิตชุ่ย" ที่ปล่อยปละละเลยชีวิตส่วนตัว ก็จะเริ่มมีพื้นที่ให้กับความเอาใจใส่มากขึ้น ในเวลาทำงานก็เท่าทัน "จิตจัดเต็ม" สามารถดึงเอาพลังบวกของ "จิตชุ่ย" มาใช้ได้ และในเวลาส่วนตัวก็เท่าทัน "จิตชุ่ย" สามารถดึงเอาพลังบวกของ "จิตจัดเต็ม" มาใช้ได้ ด้วยความสามารถนี้พลังชีวิตของหมิวจึงหลั่งไหลไปมามากขึ้นระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน และพลังชีวิตที่ไม่ติดตันชนิดนี้เอง ที่จะกลายเป็นพลวัตปัจจัยขับเคลื่อนจิตหมิวต่อไป
เมื่อพลังชีวิตสั่งสมมากพอ จิตของหมิวก็เป็นกลางต่อ "จิตจัดเต็ม"กับ "จิตชุ่ย" สามารถบริหารชีวิตได้อย่างสมดุล ทำงานก็ได้ผลงาน ใช้ชีวิตส่วนตัวก็มีคุณค่า ขั้นตอนที่หก คือขั้นกลับไปติดซ้ำ แต่สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของจิต เป็นวงจรที่หมุนขึ้น แม้จะกลับมาที่เดิม แต่ก็ไม่ซ้ำรอยเดิม "จิตจัดเต็ม" กลายเป็น "จิตเต็มสมบูรณ์" หมิวบริหารชีวิตได้อย่างสมดุลออกมาจากภายใน เพราะเธอสามารถบริหารจิตได้สมดุลรู้ว่าจิตใดควรทำงาน จิตใดควรพัก เมื่อจิตได้พักก็จะมีแรงกลับมาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และเมื่อได้ทำงานแล้ว สมควรพักก็พัก งานที่ทำก็เรียบง่าย อยู่กับข้อเท็จจริงมากกว่าอยู่กับการพยายามตีความให้เข้ากับทฤษฎี ความเห็น หรือวิถีปฏิบัติของ "จิตจัดเต็ม" หรือ "จิตชุ่ย"
จิตของหมิวขยายใหญ่ขึ้น เต็มสมบูรณ์ในทุกแง่มุมของชีวิต พร้อมต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพราะใครๆ ก็เห็นว่าหมิวเปลี่ยนตัวเองได้จริง และอยากเปลี่ยนได้ตาม
แสดงความคิดเห็น