เราจะฝ่า พิบัติภัย ไปด้วยกัน



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2554

ขอแสดงความรัก ความห่วงใยอย่างยิ่ง และขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบอุทกภัยทุกคนด้วยความจริงใจ

ขอแสดงความเคารพและนับถืออย่างสูง ต่ออาสาสมัคร หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทุกคนที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คลี่คลายความทุกข์ยากให้กับประชาชน

ขอแผ่เมตตาและความปรารถนาดีอย่างยิ่งยวด ต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และผู้ที่อาศัยภาวะวิกฤตฉกฉวยแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องบนความทุกข์ยากของผู้อื่น ขอให้มีความกล้าที่จะลด ละ เลิก ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่ไม่ดี ไม่งาม มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งส่วนตัวส่วนกลุ่ม ทุ่มเทความสามารถร่วมกันฝ่าวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ไปด้วยกัน ด้วยความรู้ ด้วยปัญญา อย่างมีสติ

วิกฤตมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบ และยังต้องรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจไปอีกนาน เป็นบทเรียนราคาแสนแพงที่ผู้รับผิดชอบต้องเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม จิตสำนึกที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก กล้าตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน เพื่อแก้หรือบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่

นักการเมืองไม่ควรชิงไหวชิงพริบทางการเมือง หรือใช้อำนาจหน้าที่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก

วิกฤตครั้งนี้หากมองในแง่ดี น่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า รุกล้ำลำคลอง แม่น้ำ และที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เกิดจิตสำนึกสาธารณะขึ้นมาบ้าง เมื่อเห็นความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่จมน้ำอยู่ค่อนประเทศ และหลายชีวิตสูญเสียไปกับภัยพิบัติครั้งนี้

นักการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติบางคนก็อาจจะได้คิด และน่าจะเลิกแข่งขันกันทำความชั่ว หันมารวมตัวกันสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมไทยบ้างไม่มากก็น้อย

ประเทศไทยประสบและผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตทางสังคมและการเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป เราก็มักจะไม่สะท้อนการเรียนรู้หรือสรุปถอดบทเรียน และเตรียมการสำหรับอนาคตอย่างจริงจัง

บทเรียนที่เราไม่ค่อยจะเรียนรู้ ระหว่างและหลังการเกิดวิกฤตก็คือ การที่แต่ละฝ่ายใช้ความคิด ความเก่งและความฉลาด (การใช้ “หัว”) ในการหาหนทางและการกระทำเพื่อให้ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง แบบไม่มีช่องว่างที่จะให้ “หัวใจ” แก่กันและกันในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ต้องการการยอมรับ ต้องการการมีพื้นที่ในสังคม และที่สำคัญ ไม่มีสติและปัญญาพอที่จะ “ให้ใจ” แก่กันและกันในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน

เมื่อไม่ “เปิดใจ” ให้กัน เพราะ “ไม่เชื่อใจ” กัน จึง “ไม่ไว้ใจ” และ “ไม่ให้ใจ” กัน การร่วมมือกันด้วยความจริงใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจึงไม่เกิดขึ้น

นักการเมืองและพวกพ้องจำนวนมาก ไม่เคยเรียนรู้อย่างมีสติสัมปชัญญะว่า การใช้พลังความคิด และพลังมวลชนเพื่อนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของคู่แข่งทางการเมือง โดยลืมคิดว่าการทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ได้โดยไม่คำนึงถึงความควร ไม่ควรทางคุณธรรมจริยธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อประชาชนโดยรวม จะส่งผลเสียระยะยาวต่อประเทศชาติ และเกิดการแบ่งแยกแตกพวกไปทั่วแผ่นดิน

ความขัดแย้งทางสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่มาจากความคิด ความเชื่อ และการขัดกันทางผลประโยชน์ ไม่สามารถแก้ไขและ/หรือปรองดองได้ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังคนหรือกำลังอาวุธที่เหนือกว่า รวมไปถึงการใช้เหตุผล/ตรรกะ (การใช้หัว) และโดยเฉพาะการใช้กฎหมายบังคับ เพราะทั้งหมดเป็นการคิดแบบแยกส่วน แบ่งแยก แพ้-ชนะ ตัดสินถูก-ผิด และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รอเวลาและโอกาสที่จะปะทุขึ้นมาใหม่ ด้วยความรุนแรงที่กว้างและเข้มข้นกว่าเดิม วงจรอุบาทว์ก็กลับมาอีก

ควรเลิกคิด ทำ พูด ในลักษณะเดิม ที่อุปมาเหมือนไก่จิกตีกันในเข่ง เพียงเพื่อแย่งชิงเศษอาหารที่เจ้าของเขาให้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก จะได้ดูดีมีราคาเพิ่ม เพราะสุดท้ายก็ถูกขายยกเข่ง ถูกนำไปฆ่าทั้งหมด

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตที่มีผลเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองแยกข้าง ผมจะนึกถึงบทกลอนที่ผมเคยเขียนไว้เสมอ วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่น ปรากฏการณ์หน้าจอโทรทัศน์ และข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากเครือข่ายที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย สะท้อนระดับความคิด จิตอาสา จิตสำนึกสาธารณะ และคุณภาพทางจิตใจของบางคน บางกลุ่มได้เป็นอย่างดี

แต่ผมก็ยังเคารพและยอมรับในความแตกต่าง ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผมยังเชื่อและมีความหวังกับคนไทยทุกคน ว่าสักวัน อีกไม่นานเกินรอ เราจะร่วมกันรังสรรค์ความสุข สงบ สันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สร้างความเป็นหนึ่งบนความหลากหลาย ไม่ว่าจะมีเหตุร้ายหรือวิกฤตใดเกิดขึ้น เราจะร่วมกันฝ่าพิบัติภัย ไปด้วยกัน

ลองอ่านบทกลอน “สูงสุดยอด คือเท่าเทียม เป็นหนึ่งเดียว” แล้วลองใคร่ครวญ ทบทวนอย่างลึกซึ้งดู

จะชิงแย่ง แข่งขัน กันทำไม เพราะอย่างไร ท้ายสุด ก็หยุดแข่ง
มุ่งจะเด่น หวังจะดัง ดันสุดแรง จบยังแย่ง ขึ้นแท่นเผา เฝ้าตะกอน
ธนูพุ่ง มุ่งสู่ฟ้า ใช่คาฟ้า ต่อให้สูง สุดสายตา ถ้าไม่หลอน
มันจะต้อง ตกลงมา อย่างแน่นอน กระแทกก่อน แล้วนอนนิ่ง ติดอิงดิน
พลุที่พุ่ง มุ่งสู่ฟ้า ใช่คาฟ้า ถึงสวยจ้า เจิดแสงสี ก็มีสิ้น
สว่างวับ ดับทันที ที่โผบิน โรยลงดิน คือขี้เถ้า ไฟเผามอด
สติมา ปัญญาเกิด ประเสริฐสุด ถ้าไม่หยุด แย่ง แข่ง ชิง ยิ่งไม่รอด
สรรพสิ่ง พึ่งพิงพัน กันตลอด สูงสุดยอด คือเท่าเทียม เป็นหนึ่งเดียว


หากได้สติแล้ว ผมขอเชิญชวนให้ทุกฝ่าย มารวมหัว ร่วมหัวใจ ให้เวลา ใช้สติปัญญา ร่วมกันฝ่าวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งนี้ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสุนทรียะ พบปะแบบเพื่อนร่วมคิด มิตรร่วมใจ มีการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงความจริง ความดี ความงามด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ไม่รีบด่วนสรุปตัดสิน ไม่ดิ้นรนรีบทิ้งทางเลือกทุกทาง จุดประกายแสงสว่างทุกทางออก ช่วยกันบอกความสำเร็จที่มีโอกาส ความผิดพลาดที่อาจจะประสบ ค้นพบจุดแข็งจุดอ่อนที่เรามี แสวงหาวิถีและวิธีสู่อนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน เพื่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราทุกคน

Back to Top