มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย เดวิด สปินเลน
วนิสา สุรพิพิธ แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2548
ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ขอให้ผู้เขียนได้เล่าถึงพื้นเพของตนเองสักเล็กน้อย ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันอายุ ๖๖ ปี ลุงสองคนของผู้เขียนเคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อท่านกลับบ้าน เราทุกคนมองว่าท่านเป็นวีรบุรุษ ผู้เขียนมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งร่วมรบในสงครามเกาหลี พี่ชายของผู้เขียนเรียนที่โรงเรียนนายเรือสหรัฐและรับราชการทหารเรือนานกว่า ๒๐ ปี ผู้เขียนเองรับราชการอยู่ในกองทัพบกสหรัฐนานหกปี โดยใช้เวลาสองปีในเวียดนาม เมื่อยังเยาว์วัย ผู้เขียนเป็นเหมือนชายหนุ่มทั่วโลกส่วนใหญ่ที่เชื่อในสิ่งที่ครอบครัวและวัฒนธรรมของตนสั่งสอนมาว่า เรามีหน้าที่ที่จะต้องรับใช้ประเทศชาติของเรา และหากเราตายในสงคราม เราจะได้เป็นวีรบุรุษ
บัดนี้ ผู้เขียนไม่เชื่อสิ่งที่ผู้เขียนถูกสอนมาเมื่อครั้งเยาว์วัยอีกแล้ว ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามชอบด้วยศีลธรรม ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งชอบธรรม
ผู้อ่านบางท่านอาจคิดได้ทันทีถึงเหตุผลที่ว่าทำไมสงครามจึงเป็นสิ่งชอบธรรม ท่านคงได้รับการสั่งสอน กล่อมเกลา และเสริมสร้างให้เชื่อในสิ่งนี้เช่นกัน ที่จริงแล้วเราทั้งหมดก็เป็นเหมือนๆ กัน ในความเห็นของผู้เขียน เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนหรือด้วยเหตุใดก็ตาม มนุษยชาติต่างก็สูญเสียด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะในสภาพการณ์ใดๆ ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะว่าสงครามทั้งมวลล้วนเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก็เพราะพระพุทธองค์และพระเยซูเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า เราทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และก็เพราะเราแต่ละคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงอยู่ในตัว ดังนั้นเราจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ทุกประเทศและทุกวัฒนธรรมในโลกให้เกียรติยกย่องสงครามและทหารผู้สิ้นชีพในสงคราม มีอนุสรณ์สถาน สุสานทหาร วันชาติเพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษในสงคราม เมื่อผู้นำมาเยือนประเทศอย่างเป็นทางการก็มักจะต้องเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานแด่ผู้พลีชีพของประเทศนั้นๆ
ไม่เฉพาะแต่สงครามเท่านั้นที่ลดความเป็นมนุษย์ของเรา ภาพยนตร์ วิดีโอ และเกมคอมพิวเตอร์ล้วนบรรจุความรุนแรง ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน รายการข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยข่าวอาชญากรรมหรือความรุนแรงล่าสุด หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงสุดเต็มไปด้วยภาพถ่ายและบทความอันรุนแรง ซึ่งคนนับล้านก็กระหายใคร่ซื้อมาอ่าน
หากพิจารณาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราจะรู้ว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อสงคราม สงครามไม่ใช่บางสิ่งซึ่งเกิดขึ้นภายนอกตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่ขยายออกไปจากตัวเรา ฝังรากอยู่ในธรรมชาติของเรา และเกิดขึ้นภายในเราทุกคน สงครามเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคจิต-โรคประสาทหมู่ ที่นำแต่ละคนเข้าสู่สภาวะของจิตซึ่งสามารถก่ออาชญากรรมได้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นสภาวะของจิตใต้สำนึกของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดนี้ถูกหยั่งรากลงไปผ่านทางการปลูกฝังทางวัฒนธรรมและการกดขี่ ก่อนกลับขึ้นมาเป็นการฆาตกรรมหมู่ในสงคราม เมื่อสงครามสิ้นสุด ผู้แพ้บางคนถูกนำตัวขึ้นศาลและไต่สวนในข้อหาอาชญากรสงคราม สิ่งนี้ทำให้หมู่คณะหรือทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ และโยนภาระไว้ให้กับบางคน สิ่งนี้ช่วยปลดเปลื้องเราทุกคนที่เหลือออกจากภาพอันน่าสะพรึงกลัวของอาชญากรรมสงคราม “พวกนั้น” เป็นคนลงมือทำ ไม่ใช่ “พวกเรา” แล้วพวกเราส่วนใหญ่ก็หนีพ้นความรับผิดชอบส่วนตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรอง จะต้องมีสงครามต่อไป พร้อมทั้งอาจมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
สงครามเป็นการแสดงออกร่วมกันของความทุกข์ของแต่ละคน ถ้าเราต้องการยุติสงครามเราจะต้องตื่นขึ้นและยอมรับความรับผิดชอบส่วนตัว ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เมื่อใดที่กลองแห่งสงครามถูกกระหน่ำ เราจะพบว่า ตัวเองร่วมออกเดินสวนสนามเข้าสู่สงครามท่ามกลางเสียงปลุกเร้าของฝูงชนและเสียงร่ำไห้ของครอบครัวเรา
เป็นเรื่องยากมากที่จะตื่นขึ้น ที่จะยอมรับว่าตัวเองเปี่ยมด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนรอบตัวกำลังใช้ความรุนแรงอยู่ แต่ถ้าเราไม่ทุ่มเทความพยายาม แน่ใจได้เลยว่าจะต้องมีสงครามและความรุนแรงมากขึ้นอีก
พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อนแล้ว
ใครไม่คิดอาฆาตว่า
"มันด่าเรา มันทำร้ายเรา"
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา
เวรของเขาย่อมระงับ
แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้
เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร
นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2548
ข้อเขียนนี้มุ่งเน้นที่วิสัยทัศน์ หลักสูตร และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไทย ที่กำหนดทิศไปในทางสร้างองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานและการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ผู้บริหารและคณาจารย์ทำงานหนักเพื่อพัฒนาสมองคือเชาวน์ปัญญา และพัฒนาความสามารถ (สองมือ) เพื่อให้ปฏิบัติงานในวิชาชีพนั้นๆ ได้อย่างดีเลิศ
แน่นอน การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ คือวิสัยทัศน์ที่เก๋ที่สุดในวงการอุดมศึกษาไทย
มีที่ มีทิศ และมีทาง บ้างหรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยจะพัฒนาหัวใจของนิสิตนักศึกษาให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตอิสระ จิตอาสา ฝึกสติ พัฒนาปัญญาที่มีคุณธรรม และวัฒนธรรมเป็นฐาน
คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นมิได้เป็นพวกใฝ่ต่ำ เลื่อนลอย เหลวไหล อย่างที่พวกผู้ใหญ่ค่อนว่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขามีความดีงามอยู่ในใจอย่างมาก
แบบอย่างวิธีคิดของผู้ใหญ่และสื่อทั้งหลายต่างหากที่ชี้ทิศให้เขาเดินไปสู่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แข่งขันกันไขว่คว้าหาเงินและอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่ดีหรือเลว
นิสิตนักศึกษาหาหนทางที่จะสืบค้นเส้นทางชีวิตอันถูกต้องได้ยากเหลือเกิน จำนวนหน่วยกิตอันมากล้นไม่เหลือสำหรับการศึกษาให้รู้จักตนเองและรู้จักรักผู้อื่น คณาจารย์แต่ละวิชาพากันบ่นว่า เวลาและหน่วยกิตที่มีไม่พอที่ให้นิสิตรู้และเก่งได้ดังใจ
นิสิตนักศึกษาไม่มีทางเลือก กรอบหลักสูตรได้มัดเขาไว้อย่างเหนียวแน่น เธออยากจะไปเดินดูทุ่งนาป่าเขา อยากช่วยคนในสลัมข้างมหาวิทยาลัย เธอไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร (ซึ่งดีแล้ว) แต่กิจกรรมเหล่านั้น มหาวิทยาลัยจะแยกใบรับรองไว้ต่างหาก จะเอามาปนกับหลักสูตรปรกติได้อย่างไรเล่า
เรื่องของการพัฒนาจิตใจ เป็นงานเสริม ไม่ใช่งานหลักของมหาวิทยาลัย แม้แต่คณาจารย์เอง ก็ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาหัวใจของตน
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนวทางการพัฒนาจิตใจให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำธรรมะที่จะสอน ชื่อที่จะเรียก รูปที่จะสอน ความมุ่งหมาย วิธีสอน สถานที่สอน และครูผู้สอน ผู้เขียนจำได้ว่า พระคุณเจ้าเน้นวิธีสอน "ชนิดที่ให้เกิดความรู้สึก สามารถเปลี่ยนนิสัยสันดานของมนุษย์ได้จริง" ท่านเน้นบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ควรมียูนิเวอซิตี เต็มเปิล
ในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ.๒๕๐๔) หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เสด็จมาเป็น "เพื่อนคุย" กับนิสิตจุฬาฯ และใช้ธรรมะเป็นแนวทางให้คำปรึกษาแก่นิสิตที่มีความทุกข์
นิสิตสมัยนั้น จึงมีผู้ให้ "ทิศ" นำ "ทาง" และมี "ที่" สำหรับพัฒนาหัวใจ
การสร้างหัวใจให้แข็งแกร่งและอ่อนโยนนั้น ต้องไม่ใช้วิธีบังคับและไม่ใช้วิธีการเดียว กิจกรรมที่สร้างขึ้นในการฝึกอบรมจิตใจ ควรหลากหลายและเหมาะกับจริตของนิสิตนักศึกษา เริ่มซึมซับทีละน้อยตั้งแต่วันแรกเข้าจนวันสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
คนหนุ่มสาวเมื่อถูกบังคับก็ยิ่งต่อต้าน มหาวิทยาลัยสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดโดยจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม จัดดุลยภาพของหลักสูตรให้ครบทั้งวิชาการ คุณธรรม และวิชาชีพ มีวิชาเลือกเสรีที่มากพอ
คนหนุ่มสาวมีพลังและอารมณ์แรง ลู่วิ่งในสนามแข่งขันไปสู่เส้นชัยแห่งเงินและอำนาจนั้นแคบยิ่งนัก ถ้าเขาถูกเสี้ยมสอนให้วิ่งเร็วที่สุด เพื่อเอาตัวรอด ผลักไสเหยียบย่ำเพื่อนให้ล้มถลาออกนอกทาง ใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อยกตนให้เด่น ผู้เขียนมีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงแรงผลักดันดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหาสังคมคุณธรรมได้อย่างไร
แม้คณาจารย์เองก็เช่นกัน ตั้งแต่ "จบ" การศึกษาปริญญาเอกแล้วก็จบกัน มีเวลาวิเคราะห์และพัฒนาจิตใจของตนเองบ้างหรือไม่ ถ้านิสิตนักศึกษาคือชีวิตของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ก็คือ "ขวัญ" ของสถาบันนั้น
มหาวิทยาลัยกำลังเสียขวัญหรือเปล่า?
มีเรื่องล้อเล่นที่เป็นจริงว่า ภาควิชาหนึ่งมีคณาจารย์ ๑๒ คน จบปริญญาเอกทุกคน แบ่งพวกกันเป็น ๔ กลุ่มกับอีก ๑ คนที่เข้ากับใครไม่ได้ บรรยากาศในภาควิชาอึมครึมและเงียบเหงา ไม่มีใครอาสาสอนแทนอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ หัวหน้าภาควิชานั้นปวดหัวมากเวลาประชุม
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ห้องทำงานของผู้เขียนอยู่ติดทางเดินและใกล้ลิฟต์ ใจจะขาดเมื่อได้ยินเสียงนิสิตนินทาอาจารย์ และเพิ่มชื่ออาจารย์ให้เพี้ยนไปอย่างสนุกสนาน
เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในทุกสถาบัน มหาวิทยาลับกำลังทำอะไรอยู่
อันที่จริง โครงการดีๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่มาก เรามีโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร มีวิชาบัณฑิตอุดมคติ มีศาลาธรรม ธรรมสถาน ฯลฯ ทุกมหาวิทยาลัย มีคณาจารย์และผู้บริหารที่ใฝ่ใจในโครงการเหล่านี้
เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ได้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ทางจิตใจของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นที่อาสาช่วยงานบรรเทาทุกข์พี่น้องร่วมชาติอย่างน่าชมเชย แต่เราจะเรียนรู้จากเหตุการณ์วิกฤตอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนควรมีโอกาสฝึกฝนพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างต่อเนื่องทุกเวลา
ความทุกข์และเพื่อนร่วมทุกข์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง บทเรียนของชีวิตไม่มีวันศึกษาได้จบ
ขอเวลาให้นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ได้ก้าวพ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ ไปสู่มิติทางสุนทรียภาพ สัมพันธภาพ และมีจิตอิสระ
ขณะที่การอุดมศึกษาไทยกำลังปฏิรูปกันยกใหญ่ เพื่อพัฒนาวิชาการและงานวิจัยไปสู่ระดับเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ผู้เขียนจะเพ้อฝันไปหรือเปล่าว่าใน พ.ศ.๒๕๕๓ หรือ ค.ศ.๒๐๑๐ มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างพากันกำหนดระดับเทียบเคียง (benchmarking) ตามมหาวิทยาลัยไทยในด้านการพัฒนาบัณฑิตให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง
ตัวอย่างดีๆ มีอยู่แล้วในการศึกษาวิถีไทย มีดวงแก้วอยู่แล้วในกำมือ เราจะขว้างทิ้งแล้วมัวก้มลงเก็บก้อนกรวดอยู่หรือ
โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2548
เมื่อคลื่นคลั่งถั่งโถมมหาศาล | ธรรมชาติส่งสัญญาณผ่านความหมาย |
ว่าความรักความสุขและความตาย | เป็นรอยร่วมเรียงรายใกล้ชิดกัน |
เสี้ยวนาทีที่พบก็พลัดพราก | แม้ยามยากมีมิตรจิตปลอบขวัญ |
เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ทั้งนั้น | รู้เท่าทันอย่าท้อก้าวต่อไป |
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มกราคม 2548
ในสมัยโบราณมนุษย์อยู่กันตามกระเปาะทางวัฒนธรรม (cultural pockets) ตามสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย เรียกว่า มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลายหลายทางวัฒนธรรมเป็นธรรมชาติ เพราะวัฒนธรรมสัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมซึ่งแตกต่างกัน เช่น คนที่ขั้วโลก คนในทะเลทราย คนในเขตหนาว คนในเขตร้อน คนบนเขา คนริมทะเล ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ๆ เรียกว่าอารยธรรม เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห เป็นต้น
เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์ แล้วนำวิทยาศาสตร์มาสร้างอาวุธที่มีอำนาจมาก เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล ทำให้เกิดอำนาจมหาศาลอย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ อารยธรรมใหญ่ๆ ที่มีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ปี อย่างอารยธรรมอินเดีย และอารยธรรมจีน ไม่สามารถต้านทานอำนาจการยิงอันมหึมาของชาวยุโรปได้ อำนาจอันรุนแรงของชาวยุโรปทำให้โลกมีโครงสร้างใหม่ แทนที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โลกทั้งโลกถูกบังคับให้มีอารยธรรมเดียว จะเรียกว่าโลกาภิวัตน์หรืออะไรก็ตามที แต่แก่นแกนของมันคืออารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยม
อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมได้เข้าครอบงำโลก ทั้งในด้านโลกทัศน์และวิธีคิด การศึกษา โครงสร้างทางสังคมต่างๆ ในอารยธรรมนี้ได้เกิดขนาดเงินอันมโหฬารอย่างที่แต่ก่อนไม่มี และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เงินจำนวนมหาศาลนี้วิ่งรอบโลกด้วยความเร็วของแสง เงินอันมหึมานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ แต่ไปดูดเงินที่มีน้อยกว่าของส่วนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และมีการจัดการไม่ดีเท่า เงินอันมหึมาได้เข้าทำลายคุณค่าต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม จิตวิญญาณ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
โลกที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดก่อให้เกิดระบบซับซ้อน (complex system) ที่ขับเคลื่อนด้วยโลภจริตขนาดใหญ่ สภาพโกลาหล (chaos) และวิกฤตการณ์จึงเป็นปรากฏการณ์ถาวร
คนทั้งโลกถูกโครงสร้างโลกครอบงำ กดทับ บีบคั้น จึงเกิดความเครียด ความทุกข์ ความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ติดยาเสพติด มีความรุนแรง ขาดอิสรภาพ ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีเพื่อสร้างสรรค์ได้อย่างที่ควรเป็น อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมกำลังพาโลกทั้งโลกไปสู่สภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง
นักปราชญ์ตะวันตกได้มองเห็นวิกฤตการณ์ของอารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมแล้วในขณะนี้ แต่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งเห็นมาก่อนใคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ โน่นแล้วที่ใครๆ ยังมองไม่เห็น ท่านได้พยายามตะโกนบอกเพื่อนมนุษย์เป็นอเนกปริยายว่า "วิกฤตแล้วโว้ย" ๆ ท่านผู้นี้เป็นมหาบุรุษร่วมสมัยกับเรา คือท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถร แห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งมรณภาพไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ และจะครบ ๑ รอบศตวรรษแห่งชาตกาลในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้
ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ฝากปณิธานไว้ ๓ ข้อ โดยความดังนี้
๑. ขอให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจของหลักธรรมของศาสนาของตนๆ
๒. ขอให้มีความร่วมมือระหว่างศาสนา
๓. ขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม
ในช่วงที่โลกก็วิกฤต ไทยก็วิกฤตไปตามโลกด้วยอย่างไม่มีทางออก และเรากำลังจะเข้าสู่ ๑ ศตวรรษแห่งชาตกาลของท่านมหาเถระ คนไทยน่าจะพากันศึกษาปณิธานทั้ง ๓ ประการกันอย่างจริงจัง อันจะทำให้พบทางออกจากวิกฤต
การคิดภายใต้ความครอบงำของสภาพที่ดำรงอยู่ไม่ทำให้พ้นวิกฤตได้ แต่มนุษย์สามารถหลุดจากมายาคติทั้งปวงไปสู่อิสรภาพและประสบความจริง ความงาม ความถูกต้องได้โดยการเข้าถึงศาสนธรรม
ปณิธาน ๓ ประการของอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ อาจถอดออกเป็นการปฏิบัติและการสนับสนุนกรปฏิบัติได้ ๔ ประการ ดังนี้
๑. ทุกคนควรพยายามศึกษาศาสนธรรมของศาสนาที่ตนนับถือให้มากเป็นกิจวัตร จะทำให้พบอิสรภาพ ปัญญา และสันติ
๒. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรส่งเสริมการเจริญสติเป็นวิถีชีวิต โดยส่งเสริมให้มีสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ดีให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย กับส่งเสริมให้ระบบการศึกษาทุกระดับมีหลักสูตรพัฒนาจิตภาคปฏิบัติ
๓. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตที่จะให้นิสิตนักศึกษามีการพัฒนาจิตด้วยวิธีที่แตกต่างหลากหลายอันถูกจริตของแต่ละบุคคล มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการสานเสวนา
(dialogue) ระหว่างศาสนาต่างๆ และมีการเผยแพร่การเสวนานั้นให้แพร่หลาย
๔. กรมการศาสนาควรจะทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมข้อ ๑-๓ ข้างต้น รวมทั้งให้มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ
มนุษย์สามารถประสบความสุขและอิสรภาพจากการเข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นความสุขอันประณีต ก็จะค่อยๆ ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางจิตใจ (mental transformation) จะไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมและพฤติกรรม อันจักเป็นไปเพื่อความสุขและศานติ
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2548
มิตรผู้หนึ่งได้เล่าว่า ระหว่างที่เธอไปอภิปรายที่สถาบันทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ฟังตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ขณะนี้กำลังมีการโหมโฆษณาหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ คนของเรากำลังถูกดึงเข้ารีตมากขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะทำอย่างไรดี ?” มิตรผู้นี้ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่ถามกลับไปว่า “เรา” นั้นหมายถึงใคร หมายถึงเฉพาะชาวพุทธเท่านั้นหรือ แล้วชาวคริสต์ ชาวมุสลิม หรือคนศาสนาอื่น ไม่ถือว่าเป็น “เรา” ด้วยหรือ ?
เธอยังเล่าอีกว่า ตอนที่มีการปะทะกันอย่างหนักที่สามจังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนนั้น เธอกำลังจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ มีเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งมารายงานข่าวการล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะว่า “ตอนนี้พวกเราตายไปแล้ว ๒ คน ส่วนพวกนั้นตายไปหลายคนแล้ว” เธอได้ยินเช่นนั้นจึงตอบไปว่า “ทั้งหมดที่ตายไปก็ “พวกเรา” ทั้งนั้นแหละ”
ใช่หรือไม่ว่า คนที่ตายในเหตุการณ์ ๒๘ เมษา รวมทั้งที่อำเภอตากใบ ๖ เดือนหลังจากนั้นก็ล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะมีอุดมการณ์อะไร สวมเครื่องแบบหรือไม่ ก็ล้วนเป็นเพื่อนร่วมแผ่นดินเดียวกับเรา ความตายไม่ใช่เป็นแค่ความสูญเสียของญาติพี่น้อง หากยังเป็นบาดแผลของชาติไทยที่อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะสมานได้
แม้นับถือศาสนาต่างกัน จะศรัทธาในหนังสือ “พลังแห่งชีวิต” หรือไม่ ก็เป็น “พวกเรา” ได้มิใช่หรือ เพราะเรายังมีอะไรเหมือนกันอีกมากมาย เช่น เป็นไทยเหมือนกัน ปรารถนาจะอยู่และตายบนผืนแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน
มนุษย์เราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ทุกคนล้วนมีพ่อแม่ มีคนรัก มีความใฝ่ฝัน และมีอะไรต่างๆ อีกมากมายที่เหมือนกัน แต่แทนที่จะมองเห็นความเหมือน ผู้คนส่วนใหญ่กลับไปจดจ่อใส่ใจกับความแตกต่างที่เป็นคุณสมบัติส่วนน้อย เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ความเชื่อ ภูมิลำเนา แล้วเอาความแตกต่างเพียงเล็กน้อยนั้นมาเป็นเครื่องแบ่งเขาแบ่งเรา จนถึงขั้นเป็นศัตรูกัน
การจดจ่อใส่ใจกับความแตกต่างนั้นทำให้โลกของเราหดแคบลงเรื่อยๆ เพราะถูกแบ่งซอยเป็นลำดับ จากเดิมที่เป็นคนไทยเหมือนกันก็แบ่งเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิมและชาวพุทธ ส่วนชาวพุทธก็แบ่งเป็นคนเหนือคนกรุงเทพ ฯ จากคนกรุงเทพฯก็แบ่งต่อไปเป็นพวกรักกับพวกรู้ทันทักษิณ จากพวกรักทักษิณก็แบ่งเป็นพวกนักธุรกิจกับพวกข้าราชการ ขณะที่ข้าราชการก็แบ่งเป็นพวกกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ แล้วก็แบ่งเป็นพวกกองนั้นกองนี้ สุดท้ายก็แบ่งเป็นตัวใครตัวมัน มีแต่ “ฉัน” เท่านั้นที่สำคัญ ที่เหลือเป็น “คนอื่น” หมดแม้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม
จิตที่นึกถึงแต่ “ฉัน” เป็นจิตที่เล็กและคับแคบอย่างยิ่ง และเป็นจิตที่ทุกข์ง่ายเพราะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง และไม่มั่นคงปลอดภัย เนื่องจากเห็นคนอื่นเป็นศัตรูหรือคู่แข่งที่จะมาแย่งชิงผลประโยชน์ของตน จิตเช่นนี้ย่อมง่ายที่จะเบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อประโยชน์ส่วนตนสถานเดียว สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตเล็กและคับแคบเช่นนี้ย่อมหาความสงบได้ยาก
มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณที่ชอบแบ่งเขาแบ่งเราโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่เอาเผ่าพันธุ์มาเป็นเส้นแบ่ง ก็เอาเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือภาษา มาแบ่งแทน หรือไม่ก็เอาความคิดความเชื่อ รสนิยม ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการศึกษามาเป็นเครื่องแบ่งเขาแบ่งเรา ทั้งหมดนี้ก็เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู ของกู” เป็นแรงขับสำคัญ “ตัวกูของกู” นั้นทำให้เราเอาตนเองเป็นตัวตั้ง อะไรที่แตกต่างไปจากตนก็ผลักออกไปให้เป็น “พวกมัน” และยิ่งผลักออกไปมากเท่าไหร่ ในที่สุดก็มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่หลงเหลืออยู่
ตราบใดที่ยังปล่อยให้ความสำคัญมั่นหมายใน “ตัวกู ของกู” มีอิทธิพลสำคัญในชีวิต ก็ย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ ความไม่มั่นคงปลอดภัย และการเบียดเบียนทำร้ายกัน แม้ว่าเป็นการยากที่จะทำลายความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว แต่เราสามารถควบคุมหรือกำกับมันให้เป็นโทษน้อยลงได้ เช่น ขยายขอบเขตของ “ตัวกู ของกู” ให้กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมถึงคนอื่นๆ ให้มากเท่าที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่เอาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว ฯลฯ มาเป็นเครื่องกีดกั้น เพราะถึงที่สุดแล้วเราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง อีกทั้งความต่างก็มีคุณประโยชน์ไม่ใช่น้อย เสน่ห์ของสวนคือดอกไม้นานาพรรณมิใช่หรือ ใช่หรือไม่ว่าเครื่องปรุงที่หลากหลายย่อมเพิ่มรสชาติให้อาหารน่าลิ้มลอง
หากเราสามารถมองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็น “พวกเรา” อาทิเช่น เห็นเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ หรือพี่น้องร่วมบรรพบุรุษเดียวกัน จิตใจของเราจะใหญ่ขึ้น มีเมตตากรุณามากขึ้น และรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม
หากยังไม่สามารถมองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็นพวกเราได้ อย่างน้อยก็ควรมองคนทั้งหลายว่าไม่มีอะไรต่างจากเราเลย ล้วนมีความต้องการเช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา มีดีมีชั่วไม่ต่างจากเรา การมองเช่นนี้จะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจเขามากขึ้น และคลายความเป็นปฏิปักษ์ลง ในข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างยิ่งว่า จงทำกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายโดยมองว่า
“เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา
เขาเป็นเพื่อนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารด้วยกันกับเรา.....
เขามีราคะ โทสะ โมหะไม่น้อยไปกว่าเรา
เขาย่อมพลั้งเผลอบางคราวเหมือนเรา.....
เขาก็มักจะกอบโกยและเอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเหมือนเรา...
เขามีสิทธิที่จะได้รับอภัยจากเราตามควรแก่กรณี....
เขามีสิทธิที่จะเห็นแก่ตัวก่อนเห็นแก่ผู้อื่น
เขามีสิทธิแห่งมนุษยชนเท่ากันกับเรา สำหรับจะอยู่ในโลก....”
ในยามที่ไฟสงครามกำลังก่อตัวขึ้น สิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่งได้แก่ จิตที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีที่ว่างสำหรับคนทุกเชื้อชาติศาสนาและอุดมการณ์ โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา เห็นทุกคนไม่ต่างจากตน อีกทั้งรวมเอาทุกผู้คนไว้ในโอบกอดแห่งเมตตาและกรุณาอันไม่มีประมาณ ในท่ามกลางการทำร้ายฆ่าฟันกัน สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือจิตที่พร้อมจะให้อภัย เพราะไม่ปรารถนาให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนนั้นไปเกิดกับคนอื่นอีกต่อไป
แม่ของตำรวจผู้หนึ่งซึ่งถูกฆ่าในเหตุการณ์ ๒๘ เมษายน แม้จะเสียใจอย่างยิ่ง แต่แทนที่จะเรียกร้องการแก้แค้น เธอกลับกล่าวว่า “ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว เป็นความสูญเสียสำหรับทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน”
เป็นเพราะนึกถึงผู้อื่น เธอจึงอยากให้ความสูญเสียดังกล่าวเกิดกับตนเป็นคนสุดท้าย นี้คือรูปธรรมของจิตใหญ่ที่สังคมไทยกำลังต้องการ
ปีใหม่นี้มาร่วมกันสร้างสันติภาพให้แก่บ้านเมืองด้วยการทำจิตใจให้ใหญ่กว่าเดิมกันเถิด