มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2548
มิตรผู้หนึ่งได้เล่าว่า ระหว่างที่เธอไปอภิปรายที่สถาบันทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ฟังตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ขณะนี้กำลังมีการโหมโฆษณาหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ คนของเรากำลังถูกดึงเข้ารีตมากขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะทำอย่างไรดี ?” มิตรผู้นี้ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่ถามกลับไปว่า “เรา” นั้นหมายถึงใคร หมายถึงเฉพาะชาวพุทธเท่านั้นหรือ แล้วชาวคริสต์ ชาวมุสลิม หรือคนศาสนาอื่น ไม่ถือว่าเป็น “เรา” ด้วยหรือ ?
เธอยังเล่าอีกว่า ตอนที่มีการปะทะกันอย่างหนักที่สามจังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนนั้น เธอกำลังจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ มีเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งมารายงานข่าวการล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะว่า “ตอนนี้พวกเราตายไปแล้ว ๒ คน ส่วนพวกนั้นตายไปหลายคนแล้ว” เธอได้ยินเช่นนั้นจึงตอบไปว่า “ทั้งหมดที่ตายไปก็ “พวกเรา” ทั้งนั้นแหละ”
ใช่หรือไม่ว่า คนที่ตายในเหตุการณ์ ๒๘ เมษา รวมทั้งที่อำเภอตากใบ ๖ เดือนหลังจากนั้นก็ล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะมีอุดมการณ์อะไร สวมเครื่องแบบหรือไม่ ก็ล้วนเป็นเพื่อนร่วมแผ่นดินเดียวกับเรา ความตายไม่ใช่เป็นแค่ความสูญเสียของญาติพี่น้อง หากยังเป็นบาดแผลของชาติไทยที่อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะสมานได้
แม้นับถือศาสนาต่างกัน จะศรัทธาในหนังสือ “พลังแห่งชีวิต” หรือไม่ ก็เป็น “พวกเรา” ได้มิใช่หรือ เพราะเรายังมีอะไรเหมือนกันอีกมากมาย เช่น เป็นไทยเหมือนกัน ปรารถนาจะอยู่และตายบนผืนแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน
มนุษย์เราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ทุกคนล้วนมีพ่อแม่ มีคนรัก มีความใฝ่ฝัน และมีอะไรต่างๆ อีกมากมายที่เหมือนกัน แต่แทนที่จะมองเห็นความเหมือน ผู้คนส่วนใหญ่กลับไปจดจ่อใส่ใจกับความแตกต่างที่เป็นคุณสมบัติส่วนน้อย เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ความเชื่อ ภูมิลำเนา แล้วเอาความแตกต่างเพียงเล็กน้อยนั้นมาเป็นเครื่องแบ่งเขาแบ่งเรา จนถึงขั้นเป็นศัตรูกัน
การจดจ่อใส่ใจกับความแตกต่างนั้นทำให้โลกของเราหดแคบลงเรื่อยๆ เพราะถูกแบ่งซอยเป็นลำดับ จากเดิมที่เป็นคนไทยเหมือนกันก็แบ่งเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิมและชาวพุทธ ส่วนชาวพุทธก็แบ่งเป็นคนเหนือคนกรุงเทพ ฯ จากคนกรุงเทพฯก็แบ่งต่อไปเป็นพวกรักกับพวกรู้ทันทักษิณ จากพวกรักทักษิณก็แบ่งเป็นพวกนักธุรกิจกับพวกข้าราชการ ขณะที่ข้าราชการก็แบ่งเป็นพวกกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ แล้วก็แบ่งเป็นพวกกองนั้นกองนี้ สุดท้ายก็แบ่งเป็นตัวใครตัวมัน มีแต่ “ฉัน” เท่านั้นที่สำคัญ ที่เหลือเป็น “คนอื่น” หมดแม้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม
จิตที่นึกถึงแต่ “ฉัน” เป็นจิตที่เล็กและคับแคบอย่างยิ่ง และเป็นจิตที่ทุกข์ง่ายเพราะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง และไม่มั่นคงปลอดภัย เนื่องจากเห็นคนอื่นเป็นศัตรูหรือคู่แข่งที่จะมาแย่งชิงผลประโยชน์ของตน จิตเช่นนี้ย่อมง่ายที่จะเบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อประโยชน์ส่วนตนสถานเดียว สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตเล็กและคับแคบเช่นนี้ย่อมหาความสงบได้ยาก
มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณที่ชอบแบ่งเขาแบ่งเราโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่เอาเผ่าพันธุ์มาเป็นเส้นแบ่ง ก็เอาเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือภาษา มาแบ่งแทน หรือไม่ก็เอาความคิดความเชื่อ รสนิยม ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการศึกษามาเป็นเครื่องแบ่งเขาแบ่งเรา ทั้งหมดนี้ก็เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู ของกู” เป็นแรงขับสำคัญ “ตัวกูของกู” นั้นทำให้เราเอาตนเองเป็นตัวตั้ง อะไรที่แตกต่างไปจากตนก็ผลักออกไปให้เป็น “พวกมัน” และยิ่งผลักออกไปมากเท่าไหร่ ในที่สุดก็มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่หลงเหลืออยู่
ตราบใดที่ยังปล่อยให้ความสำคัญมั่นหมายใน “ตัวกู ของกู” มีอิทธิพลสำคัญในชีวิต ก็ย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ ความไม่มั่นคงปลอดภัย และการเบียดเบียนทำร้ายกัน แม้ว่าเป็นการยากที่จะทำลายความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว แต่เราสามารถควบคุมหรือกำกับมันให้เป็นโทษน้อยลงได้ เช่น ขยายขอบเขตของ “ตัวกู ของกู” ให้กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมถึงคนอื่นๆ ให้มากเท่าที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่เอาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว ฯลฯ มาเป็นเครื่องกีดกั้น เพราะถึงที่สุดแล้วเราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง อีกทั้งความต่างก็มีคุณประโยชน์ไม่ใช่น้อย เสน่ห์ของสวนคือดอกไม้นานาพรรณมิใช่หรือ ใช่หรือไม่ว่าเครื่องปรุงที่หลากหลายย่อมเพิ่มรสชาติให้อาหารน่าลิ้มลอง
หากเราสามารถมองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็น “พวกเรา” อาทิเช่น เห็นเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ หรือพี่น้องร่วมบรรพบุรุษเดียวกัน จิตใจของเราจะใหญ่ขึ้น มีเมตตากรุณามากขึ้น และรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม
หากยังไม่สามารถมองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็นพวกเราได้ อย่างน้อยก็ควรมองคนทั้งหลายว่าไม่มีอะไรต่างจากเราเลย ล้วนมีความต้องการเช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา มีดีมีชั่วไม่ต่างจากเรา การมองเช่นนี้จะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจเขามากขึ้น และคลายความเป็นปฏิปักษ์ลง ในข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างยิ่งว่า จงทำกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายโดยมองว่า
“เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา
เขาเป็นเพื่อนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารด้วยกันกับเรา.....
เขามีราคะ โทสะ โมหะไม่น้อยไปกว่าเรา
เขาย่อมพลั้งเผลอบางคราวเหมือนเรา.....
เขาก็มักจะกอบโกยและเอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเหมือนเรา...
เขามีสิทธิที่จะได้รับอภัยจากเราตามควรแก่กรณี....
เขามีสิทธิที่จะเห็นแก่ตัวก่อนเห็นแก่ผู้อื่น
เขามีสิทธิแห่งมนุษยชนเท่ากันกับเรา สำหรับจะอยู่ในโลก....”
ในยามที่ไฟสงครามกำลังก่อตัวขึ้น สิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่งได้แก่ จิตที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีที่ว่างสำหรับคนทุกเชื้อชาติศาสนาและอุดมการณ์ โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา เห็นทุกคนไม่ต่างจากตน อีกทั้งรวมเอาทุกผู้คนไว้ในโอบกอดแห่งเมตตาและกรุณาอันไม่มีประมาณ ในท่ามกลางการทำร้ายฆ่าฟันกัน สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือจิตที่พร้อมจะให้อภัย เพราะไม่ปรารถนาให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนนั้นไปเกิดกับคนอื่นอีกต่อไป
แม่ของตำรวจผู้หนึ่งซึ่งถูกฆ่าในเหตุการณ์ ๒๘ เมษายน แม้จะเสียใจอย่างยิ่ง แต่แทนที่จะเรียกร้องการแก้แค้น เธอกลับกล่าวว่า “ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว เป็นความสูญเสียสำหรับทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน”
เป็นเพราะนึกถึงผู้อื่น เธอจึงอยากให้ความสูญเสียดังกล่าวเกิดกับตนเป็นคนสุดท้าย นี้คือรูปธรรมของจิตใหญ่ที่สังคมไทยกำลังต้องการ
ปีใหม่นี้มาร่วมกันสร้างสันติภาพให้แก่บ้านเมืองด้วยการทำจิตใจให้ใหญ่กว่าเดิมกันเถิด
แสดงความคิดเห็น