มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2548
ข้อเขียนนี้มุ่งเน้นที่วิสัยทัศน์ หลักสูตร และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไทย ที่กำหนดทิศไปในทางสร้างองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานและการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ผู้บริหารและคณาจารย์ทำงานหนักเพื่อพัฒนาสมองคือเชาวน์ปัญญา และพัฒนาความสามารถ (สองมือ) เพื่อให้ปฏิบัติงานในวิชาชีพนั้นๆ ได้อย่างดีเลิศ
แน่นอน การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ คือวิสัยทัศน์ที่เก๋ที่สุดในวงการอุดมศึกษาไทย
มีที่ มีทิศ และมีทาง บ้างหรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยจะพัฒนาหัวใจของนิสิตนักศึกษาให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตอิสระ จิตอาสา ฝึกสติ พัฒนาปัญญาที่มีคุณธรรม และวัฒนธรรมเป็นฐาน
คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นมิได้เป็นพวกใฝ่ต่ำ เลื่อนลอย เหลวไหล อย่างที่พวกผู้ใหญ่ค่อนว่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขามีความดีงามอยู่ในใจอย่างมาก
แบบอย่างวิธีคิดของผู้ใหญ่และสื่อทั้งหลายต่างหากที่ชี้ทิศให้เขาเดินไปสู่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แข่งขันกันไขว่คว้าหาเงินและอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่ดีหรือเลว
นิสิตนักศึกษาหาหนทางที่จะสืบค้นเส้นทางชีวิตอันถูกต้องได้ยากเหลือเกิน จำนวนหน่วยกิตอันมากล้นไม่เหลือสำหรับการศึกษาให้รู้จักตนเองและรู้จักรักผู้อื่น คณาจารย์แต่ละวิชาพากันบ่นว่า เวลาและหน่วยกิตที่มีไม่พอที่ให้นิสิตรู้และเก่งได้ดังใจ
นิสิตนักศึกษาไม่มีทางเลือก กรอบหลักสูตรได้มัดเขาไว้อย่างเหนียวแน่น เธออยากจะไปเดินดูทุ่งนาป่าเขา อยากช่วยคนในสลัมข้างมหาวิทยาลัย เธอไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร (ซึ่งดีแล้ว) แต่กิจกรรมเหล่านั้น มหาวิทยาลัยจะแยกใบรับรองไว้ต่างหาก จะเอามาปนกับหลักสูตรปรกติได้อย่างไรเล่า
เรื่องของการพัฒนาจิตใจ เป็นงานเสริม ไม่ใช่งานหลักของมหาวิทยาลัย แม้แต่คณาจารย์เอง ก็ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาหัวใจของตน
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนวทางการพัฒนาจิตใจให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำธรรมะที่จะสอน ชื่อที่จะเรียก รูปที่จะสอน ความมุ่งหมาย วิธีสอน สถานที่สอน และครูผู้สอน ผู้เขียนจำได้ว่า พระคุณเจ้าเน้นวิธีสอน "ชนิดที่ให้เกิดความรู้สึก สามารถเปลี่ยนนิสัยสันดานของมนุษย์ได้จริง" ท่านเน้นบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ควรมียูนิเวอซิตี เต็มเปิล
ในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ.๒๕๐๔) หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เสด็จมาเป็น "เพื่อนคุย" กับนิสิตจุฬาฯ และใช้ธรรมะเป็นแนวทางให้คำปรึกษาแก่นิสิตที่มีความทุกข์
นิสิตสมัยนั้น จึงมีผู้ให้ "ทิศ" นำ "ทาง" และมี "ที่" สำหรับพัฒนาหัวใจ
การสร้างหัวใจให้แข็งแกร่งและอ่อนโยนนั้น ต้องไม่ใช้วิธีบังคับและไม่ใช้วิธีการเดียว กิจกรรมที่สร้างขึ้นในการฝึกอบรมจิตใจ ควรหลากหลายและเหมาะกับจริตของนิสิตนักศึกษา เริ่มซึมซับทีละน้อยตั้งแต่วันแรกเข้าจนวันสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
คนหนุ่มสาวเมื่อถูกบังคับก็ยิ่งต่อต้าน มหาวิทยาลัยสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดโดยจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม จัดดุลยภาพของหลักสูตรให้ครบทั้งวิชาการ คุณธรรม และวิชาชีพ มีวิชาเลือกเสรีที่มากพอ
คนหนุ่มสาวมีพลังและอารมณ์แรง ลู่วิ่งในสนามแข่งขันไปสู่เส้นชัยแห่งเงินและอำนาจนั้นแคบยิ่งนัก ถ้าเขาถูกเสี้ยมสอนให้วิ่งเร็วที่สุด เพื่อเอาตัวรอด ผลักไสเหยียบย่ำเพื่อนให้ล้มถลาออกนอกทาง ใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อยกตนให้เด่น ผู้เขียนมีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงแรงผลักดันดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหาสังคมคุณธรรมได้อย่างไร
แม้คณาจารย์เองก็เช่นกัน ตั้งแต่ "จบ" การศึกษาปริญญาเอกแล้วก็จบกัน มีเวลาวิเคราะห์และพัฒนาจิตใจของตนเองบ้างหรือไม่ ถ้านิสิตนักศึกษาคือชีวิตของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ก็คือ "ขวัญ" ของสถาบันนั้น
มหาวิทยาลัยกำลังเสียขวัญหรือเปล่า?
มีเรื่องล้อเล่นที่เป็นจริงว่า ภาควิชาหนึ่งมีคณาจารย์ ๑๒ คน จบปริญญาเอกทุกคน แบ่งพวกกันเป็น ๔ กลุ่มกับอีก ๑ คนที่เข้ากับใครไม่ได้ บรรยากาศในภาควิชาอึมครึมและเงียบเหงา ไม่มีใครอาสาสอนแทนอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ หัวหน้าภาควิชานั้นปวดหัวมากเวลาประชุม
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ห้องทำงานของผู้เขียนอยู่ติดทางเดินและใกล้ลิฟต์ ใจจะขาดเมื่อได้ยินเสียงนิสิตนินทาอาจารย์ และเพิ่มชื่ออาจารย์ให้เพี้ยนไปอย่างสนุกสนาน
เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในทุกสถาบัน มหาวิทยาลับกำลังทำอะไรอยู่
อันที่จริง โครงการดีๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่มาก เรามีโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร มีวิชาบัณฑิตอุดมคติ มีศาลาธรรม ธรรมสถาน ฯลฯ ทุกมหาวิทยาลัย มีคณาจารย์และผู้บริหารที่ใฝ่ใจในโครงการเหล่านี้
เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ได้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ทางจิตใจของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นที่อาสาช่วยงานบรรเทาทุกข์พี่น้องร่วมชาติอย่างน่าชมเชย แต่เราจะเรียนรู้จากเหตุการณ์วิกฤตอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนควรมีโอกาสฝึกฝนพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างต่อเนื่องทุกเวลา
ความทุกข์และเพื่อนร่วมทุกข์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง บทเรียนของชีวิตไม่มีวันศึกษาได้จบ
ขอเวลาให้นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ได้ก้าวพ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ ไปสู่มิติทางสุนทรียภาพ สัมพันธภาพ และมีจิตอิสระ
ขณะที่การอุดมศึกษาไทยกำลังปฏิรูปกันยกใหญ่ เพื่อพัฒนาวิชาการและงานวิจัยไปสู่ระดับเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ผู้เขียนจะเพ้อฝันไปหรือเปล่าว่าใน พ.ศ.๒๕๕๓ หรือ ค.ศ.๒๐๑๐ มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างพากันกำหนดระดับเทียบเคียง (benchmarking) ตามมหาวิทยาลัยไทยในด้านการพัฒนาบัณฑิตให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง
ตัวอย่างดีๆ มีอยู่แล้วในการศึกษาวิถีไทย มีดวงแก้วอยู่แล้วในกำมือ เราจะขว้างทิ้งแล้วมัวก้มลงเก็บก้อนกรวดอยู่หรือ
แสดงความคิดเห็น