มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2554
ในองค์กรหรือสังคม เมื่อได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เราควรจะคุยกันดีๆ ค่อยพูดค่อยจากัน ใช้เหตุใช้ผล อย่าใช้อารมณ์” หรือ “ผมอยากให้ทุกคนรักกันและยอมรับกันและกันนะครับ” ผมจะตั้งข้อสังเกตก่อนเลยว่ามุมมองนี้มาจากสถานภาพหรือชนชั้นไหนของสังคมนั้นๆ มีอำนาจเชิงเกื้อกูลหรือกดข่ม เพราะบางครั้งคำกล่าวนี้มาจากผู้ที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า หรือได้เปรียบกว่า ที่มักปรารถนาความสงบ สันติภาพ ความปรองดองหรือความสุขโดยปราศจากการรับรู้ถึงความทุกข์ร้อน หรือบาดเจ็บของผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าในสังคม และความรุนแรงมักเป็นผลมาจากการไม่ได้รับความใส่ใจรับรู้และการถูกละเลยนี้เอง อนิจจา…คนที่รักสันติภาพมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองและความรู้สึกนึกคิดและบ่อยครั้งก่อให้เกิดอุปสรรคของการสื่อสารในองค์กรหรือสังคมนั้น มักเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้ วุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ต่างกัน ทักษะในการสื่อสารไม่มากพอ ความแตกต่างของบุคลิกภาพ การไม่มีเวลาหรือขาดโอกาสในการสื่อสาร และที่สำคัญยิ่งคือความแตกต่างของสถานภาพในสังคม (Rank)
ในหนังสือ นั่งในไฟเพลิง (Sitting in the Fire) ของ อาร์โนลด์ มินเดล ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาเชิงกระบวนการ ให้คำจำกัดความว่า “ชนชั้น” คือผลรวมของอภิสิทธิ์หรือความได้เปรียบของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นอำนาจที่ได้มาจากวัฒนธรรมของสังคมหรือชุมชนหยิบยื่นให้ ไม่ว่าเราจะได้สถานภาพเหล่านี้มาด้วยหนทางใดก็ตาม มันส่งผลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของเราไม่มากก็น้อย
ความเหนือกว่า (Rank) ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างตายตัว หากแปรผันตามระบบคุณค่าของสังคม ประสบการณ์ส่วนตัว และการให้ความหมายหรือยอมรับของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งอาจมาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่
๑) ความได้เปรียบทางสังคม (Social Rank) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสีผิว ในบ้านเราการมีผิวพรรณขาวผ่องได้รับคุณค่ามากกว่าผิวคล้ำ เพศสภาพ ผู้ชายได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำมากกว่า (แม้ว่าสังคมกำลัง เปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ก็ตาม) ระดับการศึกษา สุขภาพ อายุ (สังคมเอเชียให้คุณค่าเรื่องอาวุโสมาก) สถานะทางเศรษฐกิจ ผู้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่ามักมีมุมมองต่างจากผู้มีความมั่นคงน้อยกว่า ศาสนา ตำแหน่งในองค์กร (เป็นปัจจัยหลักและส่งผลต่อการสื่อสารในองค์กรมากที่สุด)
๒) ความได้เปรียบทางจิตวิญญาณ (Spiritual Rank) องค์ประกอบนี้ไม่ได้มาจากสังคมหรือวัฒนธรรม แต่มาจากความมั่นคงภายในด้วยการเข้าถึงธรรมชาติและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต แม้โลกภายนอกจะปั่นป่วนโกลาหลเพียงใด เช่น บางคนแม้มีวุฒิการศึกษาไม่สูง และมีฐานะไม่ร่ำรวย แต่เข้าถึงธรรมะ ก็อาจรู้สึกมั่นใจภายในลึกๆ ได้
๓) ความได้เปรียบทางจิตวิทยา (Psychological Rank) เป็นความมั่นใจและความรู้สึกถึงการได้รับความเอาใจใส่ อาจมาจากการผ่านชีวิต ผ่านทุกข์มามากพอจนมีจิตเมตตากรุณา และความมั่นคงภายใน
๔) ความได้เปรียบตามบริบท (Contextual Rank) คนๆ หนึ่งอาจมีความได้เปรียบบางอย่าง แต่ก็เสียเปรียบในบางอย่างพร้อมๆ กันได้ เช่น หมออาจมีสถานภาพสูงในโรงพยาบาล แต่อาจใช้อะไรไม่ได้มากเมื่อกลับมาในครอบครัวตัวเอง เพราะมีสถานภาพเป็นน้องที่อ่อนอาวุโสกว่าก็ได้ หรือนักท่องเที่ยวฝรั่งที่เป็นชาวตะวันตกอาจได้รับการยอมรับในสังคมมากกว่าชาวไทยกันเอง แต่ก็เสียเปรียบทางภาษาในวงสนทนาที่ใช้ภาษาไทย
ความเหนือกว่าไม่ว่าจะทางใดก็ตามจะสื่อสารออกมาในลักษณะที่เป็นสัญญาณซ้อน (Double signals) ที่สอดแทรกอยู่ในสัญญาณหลักที่อาจส่งผลกดข่มผู้อื่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ สัญญาณของความเหนือกว่า ได้แก่ คนที่มีความเหนือกว่ามักเป็นฝ่ายกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในความสัมพันธ์ เช่น เป็นฝ่ายกำหนดเวลา สถานที่และระยะเวลาในการสื่อสาร เป็นฝ่ายกำหนดรูปแบบหรือภาษาและอารมณ์ในการสื่อสาร เช่น ไม่ต้องพูดสุภาพ สบายๆ เป็นกันเอง ในขณะที่ผู้น้อยไม่สามารถรู้สึกถึงอิสรภาพนี้ได้ หรือไม่ผู้ที่สูงศักดิ์กว่าก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การสื่อสารราบเรียบไร้ปัญหาตามต้องการ โดยคาดหวังให้ผู้น้อยสื่อสารอย่างไม่ใช้อารมณ์ หากต้องมีเหตุมีผล เหมือนเวลาเกิดปัญหาขึ้นในความสัมพันธ์ ผู้ได้เปรียบกว่ามักคิดว่าพวกด้อยโอกาสกว่ามักเป็นพวกที่ “มีปัญหา” ซึ่งตนเองไม่ค่อยเข้าใจ และคิดว่า “คนพวกนี้คงบ้าไปแล้ว” เป็นพวก “ก้าวร้าว หัวรุนแรง ต่อต้าน” เวลาสื่อสาร น้ำเสียงของคนที่สถานะเหนือว่าจะออกไปในทางไม่แสดงถึงเยื่อใยหรือความใส่ใจอย่างพื้นๆ และข่มๆ นิดๆ และอาจรู้สึกถึงความเหนือกว่า มั่นใจและทะนงในตัวเองมากกว่า
อย่างไรก็ตามคนที่มีสถานะสูงกว่าก็ถูกกระทำได้เช่นกัน เช่น เจ้านายหรือผู้บริหารบางคนต้องกินข้าวกลางวันคนเดียวจนรู้สึกโดดเดี่ยวและต้องการเพื่อนคุย เป็นต้น
ส่วนอาการกิริยาหรือสัญญาณของคนที่รู้สึกด้อยกว่า ได้แก่การไม่กล้าปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะโดนตำหนิ บอกรับคำหรือตกลงทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากจะทำ อาจพูดรับปากว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” แต่สายตามองไปทางอื่น มองต่ำ ร่างกายเกร็ง ไม่ผ่อนคลาย วิตกกังวลเป็นประจำและอาจคิดว่าตัวเองมีปัญหา มักเอาเรื่องราวต่างๆ มาคิดมากเอง รู้สึกถึงความไม่มั่นคงหรือความด้อยกว่า และมีแนวโน้มจะมีอารมณ์ลบ โกรธหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจ
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ การพยายามรับรู้เท่าทันสถานภาพที่มากับความได้เปรียบของตัวเอง ที่มักทำให้เรา “มืดบอด” ต่อความเป็นไปของผู้ที่ด้อยชั้นกว่า คนที่มีสถานะเหนือว่ามักไม่รับรู้ความทุกข์ยาก หรือความรู้สึกนึกคิดของคนที่มีสถานภาพด้อยกว่า ผู้นำส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพที่เหนือว่า ดังนั้นควรระลึกไว้เสมอว่า “เรายังเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาไม่มากพอ” และควรจะทอดสะพานความสัมพันธ์และสร้างโอกาสในการสื่อสารให้เกิดขึ้นในลักษณะที่ผู้น้อยกว่าจะรู้สึกปลอดภัยหรือปลอดโปร่งโล่งใจด้วย เพราะอย่าลืมว่าผู้ที่ีมีสถานภาพสูงกว่ามักเป็นฝ่ายกำหนดสิ่งเหล่านี้เสมอ จนกลายเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร
สังคมไทยไม่ชอบและบ่อยครั้งก็ปฏิเสธความขัดแย้ง พยายามกลบเกลื่อนความแตกต่างและความขัดแย้งด้วยความปรารถนาดี ด้วยความที่เราให้คุณค่าแก่ความสามัคคีปรองดอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราได้ทำความเข้าใจหรือยอมรับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็หมายความว่า การแก้ไขที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จนการปรองดองก็จะกลายเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่อาจดูดี แต่วางอยู่บนรากฐานง่อนแง่นและเปราะบางอย่างยิ่ง
ดังนั้น ผู้นำจึงจำต้องพัฒนาทักษะในการทำความเข้าใจกับความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกตัวเอง มิเช่นนั้น ความรุนแรงทางอารมณ์จะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพในที่สุด สังคมหรือองค์กรไหนที่ผู้มีสถานะเหนือกว่า หรือได้เปรียบมากกว่า ใช้ความได้เปรียบนี้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่เกื้อกูล และรับรู้สภาพร่วมทุกข์ และหาทางออกร่วมกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า สังคมหรือองค์กรนั้นย่อมเข้าถึงความเข้าใจหรือจิตร่วมที่นำมาซึ่งความร่วมไม้ร่วมมือและสันติภาพอย่างเป็นธรรมชาติ
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2554
โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรทอล์คโชว์ชื่อดัง ผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา อันดับหนึ่ง ปีค.ศ.๒๐๑๐ จัดโปรแกรมท้าให้คนหันมาพัฒนาจิตวิญญาณตนเอง ภายใต้โครงการชื่อ "The 2011 Feel Good Challenge" โดยมีบทเรียนต่างๆ มากมายที่ให้สมาชิกได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกันตลอดทั้งปี แบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ X-Ray จิต ของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน และลิซ่า ลาเฮ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวเปิดบทเรียนของโครงการนี้
ฉายภาพกลับมาประเทศไทย มีโครงการคล้ายๆ กันเกิดขึ้นคือ "Happiness at Workplace" ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปจัดอบรมให้กับองค์กรธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง โดยใช้แบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ X-Ray จิต เป็นตัวเปิดกระบวนการสร้างสุขในองค์กร ผมเชื่อว่า คงไม่มีอะไรบังเอิญ ที่ทั้งสองโครงการเริ่มต้นพร้อมกันในปีนี้ ปีที่หายนะเกิดขึ้นเต็มไปหมดทั่วโลก และผมก็เชื่อว่า คงมีโครงการในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ เกิดขึ้นอีกหลายโครงการทั่วโลก
เหตุใดจึงเลือกให้กระบวนการ X-Ray จิต เป็นตัวเปิดเรื่องการสร้างสุข? เพราะประโยชน์ที่คนจะได้รับในเบื้องต้นคือ การรู้โจทย์ที่แท้จริงที่ทำให้ตนเองไม่มีความสุข ประโยชน์เบื้องปลายคือ ได้แนวทางเฉพาะตัว ในการท้าทายตนเองให้มีความสุข ด้วยการสวนกระแสเดิมๆ ของตนเอง
แบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ ช่วยให้เราวิเคราะห์ตนเองอย่างมีหลักการ โดยเริ่มจากการค้นหาเจตนาดีที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองให้เจอก่อน จากนั้นเราจะยังไม่รีบหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ทำได้ แต่เราจะย้อนกลับมาดูตนเองก่อนว่า ปกติเรามักตก "ร่องเดิม" คือทำพฤติกรรมซ้ำซาก ที่ขัดขวางตัวเองไม่ให้เป็นไปตามเจตนาดีนั้น เพราะลึกๆ แล้ว เรามีเจตนาที่ซ่อนอยู่ ที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องตนเองอย่างแข็งขัน บ้างอาจเรียกว่าเป็นเจตนาร้ายที่เราเก็บซ่อนไว้ บ้างอาจเรียกว่าเป็นบุคลิกด้านมืดที่เรามองไม่เห็นในตัวเอง บ้างอาจเรียกว่าเป็นเจ้านายที่มีอำนาจเหนือเรา
จากเจตนาที่ซ่อนอยู่ แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมซ้ำซาก จนไปขัดขวางเจตนาดี นี่เองคือ "ร่องเดิม" ของจิตใจเรา ภาษาทางการที่คีแกนและลาเฮใช้คือ "ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง" (Immunity to Change)
เบื้องหลังที่ทำให้เราตก "ร่องเดิม" อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ ความเชื่อบ้าๆ เกี่ยวกับชีวิตและตนเอง (Big Assumption) ที่ใช้คำว่า "บ้า" เพราะเป็นความเชื่อที่บิดเบี้ยวไปจากความจริง หรือเป็นความเชื่อลดทอน ย่อส่วน ทำให้เราคับแคบ มองโลกด้านเดียว และเราก็หลงเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจ ยกให้ความเชื่อนี้เป็นความจริงสูงสุด (Absolute Truth) นอกจากนี้ "บ้า" ยังเป็นเสียงพ้องกับภาษาอังกฤษว่า BA ซึ่งย่อมาจาก Big Assumption อีกด้วย ที่ผ่านมาความเชื่อบ้าๆ นี้ เป็นผู้กำกับหรือเขียนบทให้กับชีวิตเรามาโดยตลอด เราจึงยังคงตกร่องเดิมๆ ของตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
โดยธรรมชาติของการทำแบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ คนทำจะค่อยๆ เปลี่ยนมุมมอง จากการตกเป็นทาสของความเชื่อบ้าๆ และร่องเดิมๆ จนกลายเป็นผู้อยู่เหนือการครอบงำ แปรเปลี่ยนสถานะภาพจากทาสผู้รับใช้ความเชื่อบ้าๆ มาเป็นนายเหนือตนเอง แนวทางการเรียนรู้หลังจากทำแบบฝึกหัดเสร็จ จึงเป็นการท้าทายตนเองให้ออกมาเรียนรู้ความจริง นอกกรอบความเชื่อบ้าๆ ท้าทายให้มองโลกอีกด้าน เรียนรู้ความจริงที่เป็นองค์รวมและเต็มสมบูรณ์มากขึ้น จนสามารถปลดปล่อยตนเองให้เป็นไท ออกจากร่องเดิมๆ สามารถ "เปลี่ยนร่อง" ให้กับชีวิตใหม่ได้
จริงๆ แล้วความเชื่อบ้าๆ มีที่มาที่ไป มีรากกำเนิด ไม่เกิดมาลอยๆ การทำงานกับภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง (immunity work) จึงมักให้คนมาเล่า "ประวัติความเชื่อใหญ่" (Biography of Big Assumption) เรื่องราวชีวิตของผู้เข้าร่วมการอบรมที่ยอมเปิดเผยตนเองในกลุ่ม ทำให้วงสนทนาประวัติความเชื่อใหญ่ เกิดพลังกลุ่มอย่างมหาศาล สามารถแปรเปลี่ยนให้คนที่รักษาระยะห่างทางใจ เปิดใจมาใกล้ชิดกันมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของเด็กกำพร้าที่ถูกญาติผู้ใหญ่พร่ำด่าว่า "เก็บมาจากถังขยะ" คำพูดนั้นฝังลึกจนทำให้เขาเชื่อ ไม่มีใครต้องการเขา เปรียบเสมือนกับขยะที่คนทิ้งแล้ว หรือเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่รถญาติเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำในวันที่เธอเกิด แม้จะบาดเจ็บไม่ถึงเสียชีวิต แต่ก็เป็นที่มาของความเชื่อว่า ฉันเป็นตัวซวย หรือเรื่องราวของเด็กพยายามหาคำอธิบายว่า ทำไมพ่อแม่จึงแยกทางกัน จนพบกับคำอธิบายที่ว่า ก็เพราะฉันมันเลว
เรื่องราวทั้งหมดที่ถูกเล่าในวง จะได้รับการทำความเข้าใจใหม่และวางลง อดีตที่ผ่านไปแล้ว ก็ให้จบไป มีแต่คนหลงทางชีวิตเท่านั้น ที่ยังคงเอาความเชื่อในอดีต มาขีดเขียนบทให้ชีวิตปัจจุบัน คนที่ตื่นรู้ จะเขียนชีวิตใหม่ ออกมาจากการปรับความเชื่อภายใน
การมีสติรู้เท่าทันความเชื่อบ้าๆ และการตกร่องเดิมๆ บวกกับการยันยันในความเชื่อด้านบวกเกี่ยวกับตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของการปรับความเชื่อ ซึ่งต้องอาศัยความกล้าท้าทายตัวเองในระดับการลงมือทำไปด้วยพร้อมกัน จึงจะมีกำลังแรงพอที่จะส่งผลให้เปลี่ยนออกจากร่องเดิม ผู้เข้าร่วมจะได้ลองพิจารณาว่า พฤติกรรมใดจะเป็นการท้าทายความเชื่อและร่องเดิมๆ ของตนเอง และรู้ด้วยว่าการลงมือทำทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อปรับความเชื่อเดิม
ในขณะเดียวกัน ความเชื่อด้านบวกอันเมล็ดพันธุ์ความสุขที่อยู่ภายในจิตใจ ก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นไปด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นเรื่องราวที่สร้างสุขไประหว่างทาง ว่ากันว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับความเชื่อแม้เพียงเล็กน้อย ก็ส่งผลมหาศาลกับชีวิต เพราะเราได้เริ่มต้นเขียนชีวิตใหม่จริงจากการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน
ด้วยเหตุนี้ผมจึงชอบคำที่โอปราห์ใช้ว่า "ท้าให้รู้สึกดี" (Feel Good Challenge) เพราะสอดคล้องไปกับธรรมชาติของจิตมนุษย์ ที่มักตกกลับไปยังร่องเดิมของกระแสความทุกข์ มนุษย์ที่ตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ จึงต้องกล้าสวนกระแส และออกไปจากร่องเดิม เข้าสู่กระแสแห่งสุขแท้และยั่งยืน ที่วางอยู่บนฐานความจริงที่กว้างขวาง รอบด้าน และสมบูรณ์มากขึ้น
คำถามทิ้งท้ายคือ วันนี้เราลงมือทำอะไรที่ท้าทายตัวเองให้ออกจากร่องเดิมๆ และเขียนชีวิตขึ้นมาจากความเชื่อใหม่ที่ตรงกับความจริงมากขึ้น ขอให้เราตระหนักด้วยว่า การลงมือทำในสิ่งที่ท้าทายความเชื่อ ออกจากกรอบเดิม มักจะมาพร้อมกับความรู้สึกเสี่ยง บางครั้งอาจรู้สึกว่า ถ้าเราก้าวต่อไปเราอาจตกเหว แต่แท้จริงแล้วมีพื้นที่มั่นคงรองรับอยู่ กล่าวคือ มีความจริงของโลกและชีวิตที่กว้างกว่าความเชื่อที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่อีกมาก เราเพียงแต่หลงมัวเมาอยู่กับความเชื่อบ้าๆ ที่บิดเบี้ยว ย่อส่วน และด้านเดียว มานานเกินไป จนเข้าใจเอาเองว่า เราปลอดภัยดีอยู่แล้ว และไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน แล้วหันกลับมาบอกกับตัวเองว่า “แค่ได้...[ท้าทายลงมือทำ]...ฉันก็...[คิดบวกกับตัวเอง]…แล้ว”
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2554
ครั้งหนึ่งเมื่อมีคนถามองค์ดาไลลามะว่า อะไรเป็นเรื่องที่ท่านรู้สึกแปลกใจมากที่สุด เกี่ยวกับมนุษยชาติ ท่านตอบว่า
“มนุษย์เรานึ้ ยอมสูญเสียสุขภาพเพื่อทำให้ได้เงินมา แล้วต้องยอมสูญเสียเงินตรา เพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพ แล้วก็เฝ้าเป็นกังวลกับอนาคต จนไม่มีความรื่นรมย์กับปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ เขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอยู่กับอนาคต เขาดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย และแล้วเขาก็ตายอย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง“
มนุษย์เรามักจะปล่อยให้การดำเนินชีวิตไหลไปตามกระแสอย่างไม่ยั้งหยุดคิด ไม่เคยให้เวลากับตนเองที่จะใคร่ครวญทบทวนความเชื่อ คำพูด การกระทำ และความคิด จึงดำเนินชีวิตเสมือนถูกล่ามโซ่ตรวนตามกระแส โดยเฉพาะกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ทุ่มถมความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเกินพอดี เสพติดกับโลกเสมือนจริงภายนอก เบียดบังพื้นที่และเวลาของการพัฒนาการมีสติ และปัญญา (โลกภายใน) เพื่อที่จะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกระแส (โลกภายนอก)
สัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ผนวกกับการเตือนสติของผู้รู้ที่ว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดการผันแปรของดินฟ้าอากาศ กระตุ้นให้มนุษย์ตระหนักรู้เป็นระยะๆ เช่นกัน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป มนุษย์ก็กลับไปดำเนินชีวิตภายใต้กรอบความคิดความเชื่อเดิมๆ ที่ถูกครอบอยู่
น้ำท่วมที หนาวจัดที พายุถล่มที ก็จะมีผู้บริจาคช่วยเหลือเป็นคราวๆ ไป
ผู้ไม่มีอันจะกินก็ก้มหน้าก้มตา ดิ้นรนกระเสือกกระสนเข้าตัวเมืองเพื่อหางานทำ ผู้มีอันจะกิน เศรษฐี มหาเศรษฐี และอภิมหาเศรษฐี ยังคงดำรงชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย นั่งรถหรู คันใหญ่ ราคาแพงเกินความจำเป็น
บริษัทยักษ์ใหญ่ ยังคงดำเนินธุรกิจแบบยักษ์ คือกิน (ทรัพยากรธรรมชาติ) เยอะ ถ่ายของเสีย (สร้างมลภาวะ) เยอะ
ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ตามความหมายเดิม-Developed Countries) จึงเป็นประเทศที่สร้างมลภาวะมากที่สุด แต่มีจิตสำนึกที่ยังด้อยการพัฒนา (Less Developed Consciousness)
เราคงต้องให้ความหมายใหม่กับคำว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเพิ่มเกณท์ใหม่คือ ประชากรโดยรวมมีจิตสำนึกที่พัฒนาแล้ว (Developed Consciousness) ผนวกเข้าไปกับเกณท์เดิม เพราะไม่เช่นนั้น ยิ่งมีประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มมากขึ้น โลกก็จะยิ่งเผชิญกับหายนะเร็วขึ้น
เพราะประเทศที่เจริญแล้ว (มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตว์และเทคโนโลยี) มีความเชื่อและมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยความรู้และความก้าวหน้าทาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น ในขณะที่ประเทศที่มีการพัฒนาทางจิตสำนึก/จิตวิญญาณ เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสติ และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างมีปัญญา
ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เปลี่ยนฐานความคิดหรือมีจิตสำนึกใหม่ มนุษย์ก็จะยังคงดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย และตายอย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง ดังที่องค์ดาไลลามะกล่าวไว้
มนุษย์จะต้องเปลี่ยนฐานความคิด ด้วยการเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความเป็น “ตัวกู ของกู” สู่ การเป็นส่วนรวมที่ใหม่และใหญ่กว่า สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด
มนุษย์จะต้องตระหนักรู้และรู้เท่าทันระบบคิดของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่หล่อเลี้ยงความเป็น “ตัวกู ของกู” ขยายอาณาจักร “ตัวกู ของกู” ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้กรอบความคิดแบบนี้ การแข่งขันเพื่อให้ได้ชัยชนะ อยู่เหนือผู้อื่น จืงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการอยู่ร่วมกัน การช่วงชิงโอกาสจืงสำคัญกว่าการให้และการแบ่งปันโอกาส
ถ้าทุกคนคิดและทำในทำนองเดียวกันทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นบนโลกที่จำกัดใบนี้
ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements-FTA) ที่ยัดเยียดให้เกิดบนโลกใบเล็ก ที่แต่ละประเทศไม่มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไม่น่าจะเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์
ข้อตกลงความเมตตาเสรี (Free Compassion Agreements-FCA) ทำไมไม่สนับสนุนให้เกิดมีบนโลกใบนี้ เพราะมันถูกกาละเทศะ ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมในทุกๆ ด้านของแต่ละประเทศ
เรามีหลักของการบริหารจัดการที่ดี เรามีมาตรฐานต่างๆ มากมาย แต่ทำไมไม่มีหลักของความเอื้ออาทร หลักของการแบ่งปัน มาตรฐานของความเมตตากรุณา...ที่ช่วยให้เราก้าวพ้นความคับแคบของ “ตัวกู ของกู”
ในการประชุมสภาศาสนาโลกเมื่อปีคศ. ๑๙๙๓ ตัวแทนของกลุ่มศาสนาและกลุ่มความเชื่อต่างๆ กว่าสองร้อยคน ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาแห่งศรัทธาร่วม มีใจความสำคัญว่า
“เราขอเสนอมายังผู้อยู่อาศัยทั้งหมดบนโลกใบนี้ ได้โปรดพิจารณาว่า แต่ละท่านไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ถ้าจิตสำนืกของแต่ละท่านยังไม่เปลี่ยน เราจืงขอเรียกร้องให้ทุกท่านร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งในระดับจิตสำนืกส่วนบุคคลและจิตสำนึกสะสมร่วม เพื่อการตื่นรู้ของพลังทางจิตวิญญาณ ผ่านการสะท้อนคิด การทำสมาธิ การสวดภาวนา หรือการคิดเชิงบวก เพื่อให้เกิดการพลิกผันของหัวใจ ร่วมมือกัน เราสามารถเคลื่อนภูเขาได้ หากปราศจากความเต็มใจที่จะเสี่ยง และความพร้อมที่จะเสียสละ เราจะไม่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานได้...”
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็เคยกล่าวไว้ว่า “อำนาจทางวิทยาศาสตร์ของเราได้ก้าวล้ำอำนาจทางจิตวิญญาณของเราไปมาก เรามีจรวดนำวิถี และมีคนหลงวิถี ความหวังของเราที่จะอยู่อย่างสร้างสรรค์ ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราที่จะนำความต้องการทางจิตวิญญาณให้กลับมาเป็นคุณลักษณะสำคัญส่วนบุคคล และความยุติธรรมทางสังคม หากปราศจากการปลุกเร้าให้เกิดการตื่นรู้ทางด้านคุณธรรมและจิตวิญญาณแล้ว เราจะเป็นผู้ทำลายพวกเราเองด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่สร้างขึ้นไปในทางที่ผิดๆ”
ไอนสไตน์ ก็เคยให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า
“โลกที่เราสร้างขึ้นจากระดับความคิดของเรา ก่อให้เกิดปัญหาที่เราไม่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยระดับความคิด (หรือจิตสำนึก) เดิมที่เราสร้างมันขึ้นมา...เราจำเป็นจะต้องมีการคิดที่ใหม่มากพอ หากมนุษย์ต้องการที่จะอยู่รอด”
ลองใคร่ครวญทบทวนอย่างลึกซึ้งดูว่า เราอยากจะสร้างและอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ช่วงชิงกันอย่างเสรี หรือโลกที่เปี่ยมไปด้วยการแบ่งปัน สรรสร้างความรัก ความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2554
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร เป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ท่านเล่าว่าตอนมาบุกเบิกถ้ำยายปริกใหม่ ๆ นั้น ประสบความลำบากมาก เพราะนอกจากน้ำกินน้ำใช้จะหายากแล้ว ยังถูกรังควานจากนักเลงเจ้าถิ่นบนเกาะสีชัง ที่ต้องการครอบครองที่ดินของวัด ท่านเองโดนคนเหล่านั้นด่าว่าบ่อย ๆ แต่ท่านก็หาได้หวั่นไหวไม่
คราวหนึ่งท่านเดินผ่านหน้าบ้านของนักเลงคนหนึ่ง เขาเห็นเป็นโอกาส จึงออกมายืนด่าท่านด้วยถ้อยคำที่หยาบคายทันที แต่แทนที่ท่านจะโกรธหรือทำหูทวนลม ท่านกลับเดินเข้าไปหาแล้วจับแขนเขา ทำท่าขึงขังแล้วพูดว่า
"มึงด่าใคร มึงด่าใคร"
"ก็ด่ามึงน่ะสิ" เขาตอบกลับ
ท่านยิ้มรับแล้วพูดว่า "อ๋อ แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้ว อย่ามาด่ากูก็แล้วกัน"
ว่าแล้วท่านก็เดินออกมา ปล่อยให้นักเลงผู้นั้นยืนงงอยู่พักใหญ่
คำด่านั้นไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็ไม่ทำให้เราทุกข์ตราบใดที่มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา แต่หากคำด่านั้นมุ่งมาที่เรา (หรือเพื่อนพ้องของเรา) เราจะโมโหโกรธาขึ้นมาทันที ด่าใครก็ไม่สำคัญเท่ากับ "ด่ากู" เพราะ "ตัวกู" เป็นสิ่งที่ต้องพะเน้าพะนอ จะยอมให้อะไรมากระทบไม่ได้ ไม่ใช่แต่ "ตัวกู" เท่านั้น หากยังรวมถึง "พวกกู" และ "ของกู" ด้วยที่ต้องปกป้องมิให้อะไรมาแผ้วพานหรือกระทบกระทั่ง
คนที่รู้เท่าทันนิสัยของตัวกูและไม่ทุกข์ร้อนกับคำด่าอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์นั้นมีน้อยมาก แทนที่จะมองว่าเขา "ด่ามึง" ไม่ใช่ "ด่ากู" ส่วนใหญ่แล้วมักสมยอมรับเอาคำด่าเหล่านั้นมาเป็น "ของกู" เสร็จแล้วก็เป็นทุกข์เป็นร้อนเอง
อย่าว่าแต่คำด่าเลย แม้กระทั่งคำวิจารณ์หรือคำติติงที่มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเรา แต่มุ่งหมายไปที่สิ่งของของเรา (เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์ รถยนต์) ก็สามารถทำให้เราเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้ เพราะ "ของกู" ก็คือ "ตัวกู" นั่นเอง เป็นธรรมชาติของตัวกูที่มักยึดมั่นสำคัญหมายสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น "ของกู" และดังนั้นจึงเป็น "ตัวกู" ไปด้วย
ความยึดมั่นสำคัญหมายดังกล่าวเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ของผู้คน ทำให้ตกอยู่ในอำนาจแห่งถ้อยคำและการกระทำของผู้คน ทั้งมิตรและอมิตร อย่างมิอาจสลัดได้ อีกทั้งยังทำให้ไม่อาจยอมรับความจริงของโลกและชีวิตที่มีความผันผวนปรวนแปรเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อต้องสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งที่ถือว่าเป็น "ของกู" จึงทำใจไม่ได้ แทนที่จะเสียของอย่างเดียว ก็เสียใจซ้ำเข้าไปอีก ขณะเดียวกันเมื่อถูกวิจารณ์หรือมีคนชี้ให้เห็นความผิดพลาดของความคิดและการกระทำของตน ก็ไม่ยอมรับความจริงหรือเปิดใจยอมรับสิ่งที่ดีกว่า เพียงเพราะมันไม่ใช่ความคิด "ของกู" หรือตรงกับความคิด "ของกู"
คนเราถ้าไม่เอา "ตัวกู" หรือ "ของกู" เป็นตัวตั้ง จิตใจก็จะเปิดกว้างยอมรับความจริงที่ไม่น่าพิสมัยได้มากมาย รวมทั้งความพลัดพรากสูญเสียและคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ทุกข์ร้อน อีกทั้งยังสามารถทำสิ่งดีงามได้อีกมากมายอย่างแทบไม่มีขอบเขตเลยก็ว่าได้
ริชาร์ด ดอว์กินส์ นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง ได้เล่าถึงศาสตราจารย์อาวุโสผู้หนึ่งแห่งคณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมากในวงการชีววิทยา ท่านผู้นี้มีความมั่นใจและสอนลูกศิษย์มานานหลายปีว่า Golgi Apparatus (กลไกอย่างหนึ่งภายในเซลล์) ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดไปเอง แล้ววันหนึ่งนักชีววิทยาหนุ่มผู้หนึ่งจากอเมริกามาบรรยายที่อ็อกซฟอร์ด โดยมีอาจารย์จากคณะสัตววิทยาไปร่วมฟังทั้งคณะ นักชีววิทยาผู้นี้ได้นำเสนอหลักฐานอย่างหนักแน่นและน่าเชื่อถือเพื่อยืนยันว่า Golgi Apparatus นั้นมีอยู่จริง เมื่อเขาบรรยายจบ ศาสตราจารย์ท่านนี้เดินไปหาเขา เขย่ามือเขา และพูดด้วยความรู้สึกยินดีว่า "เพื่อนรัก ผมขอขอบคุณ ผมผิดมาถึง ๑๕ ปี" พูดจบทั้งห้องก็ตบมือดังสนั่น
ศาสตราจารย์ท่านนี้ไม่รู้สึกเสียหน้าที่พบว่าความคิดของตนนั้นผิดพลาด ท่านกลับยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เพราะท่านเอา "ความรู้" หรือ "ความจริง" เป็นใหญ่ "ตัวกู" จึงไม่มีโอกาสเผยอหน้าขึ้นมาอาละวาดหรือแก้ตัว แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักเอา "ตัวกู" เป็นตัวตั้ง หากพบว่าความคิด "ของกู" ถูกท้าทายหรือมีคนชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด ก็จะไม่พอใจ ไม่ยอมรับความจริง แม้จำนนด้วยเหตุผล ก็ไม่ยอมรับความผิดพลาด เพราะขัดกับความต้องการของ "ตัวกู" ที่ต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ และปรารถนาจะยืนยันร่ำร้องว่า "กูเก่ง" "กูถูก" "กูแน่"
เมื่อเอา ความรู้ ความจริง หรือความถูกต้องเป็นใหญ่ เราก็พร้อมแสวงหา เปิดรับและชื่นชมสิ่งนั้นจากทุกคน โดยไม่เลือกว่าเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ จบป.๔ หรือปริญญาเอก คนจนหรือคนรวย แต่เมื่อใดที่เอา "ตัวกู" เป็นใหญ่ หน้าตา ศักดิ์ศรี และสถานภาพก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็เกิดการถือ "เรา" ถือ "เขา" หรือ "พวกเรา" กับ "พวกเขา" ขึ้นมา จะฟังใครก็ต้องดูก่อนว่าเป็นพวกเราหรือพวกเขา หากเป็นพวกเรา พูดอะไรก็ถูกหมด แต่ถ้าเป็นพวกเขา พูดอะไรก็ผิดไปหมด
เมื่อยึดติดถือมั่นในตัวกูและมีการแบ่งเราแบ่งเขา หากได้ยินได้ฟังอะไร อย่างแรกที่เราสนใจก็คือ "คนพูดเป็นใคร เป็นพวกเราหรือไม่" แต่ไม่สนใจที่จะถามว่า "สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริงหรือไม่" เพราะหากเป็นพวกเราพูด ก็พร้อมจะเชื่อว่าเป็นความจริงตั้งแต่ต้น โดยไม่ต้องพินิจพิจารณา โดยเฉพาะหากเป็นการพูดที่ถูกใจเราหรือสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของเรา ในทางตรงข้าม หากเป็นคนละฝ่ายกับเรา ไม่ว่าจะพูดอะไร เราก็ตั้งท่าปฏิเสธไว้ก่อน ยิ่งสิ่งที่พูดนั้นขัดแย้งกับความเชื่อของเราด้วยแล้ว ก็ไม่สนใจแม้แต่จะฟังด้วยซ้ำ ทำให้ความจริงจากอีกฝ่ายยากที่จะเข้าถึงใจของเราได้
การแบ่งเราแบ่งเขาหากมีความโกรธเกลียดเป็นมูลฐานด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดกำแพงแห่งอคติอันแน่นหนา ซึ่งไม่เพียงปิดกั้นความคิดเห็นหรือแม้แต่ความจริงจากคนที่อยู่คนละฝ่ายกับเราเท่านั้น หากยังทำให้เราปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นของเขา ซึ่งรวมถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเขาด้วย นั่นคือมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้าย เชื่อถือไม่ได้ ไร้คุณธรรม ฉวยโอกาส มุ่งเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ มีการติดป้ายใส่ยี่ห้อเพื่อทำลายความเป็นมนุษย์ในตัวเขา ด้วยการแสดงความดูหมิ่นดูแคลนหรือประนามหยามเหยียด การกระทำดังกล่าวได้ตอกย้ำทำให้อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเขากลายเป็นสิ่งเลวร้ายไปหมดในสายตาของเรา ไม่เว้นแม้แต่คุณค่าที่เขาเชิดชูหรือยึดถือ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเป็นเหลืองและแดงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก อีกฝ่ายต้องการการเมืองที่มีคุณธรรม ไร้การคอร์รัปชั่น ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวได้มีการกล่าวประนามหยามเหยียดจนเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดระหว่างการล้อมปราบของฝ่ายรัฐ มีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝ่ายของคนเสื้อแดง
นอกจากการโจมตีต่อต้านจุดยืนทางการเมืองของกันและกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือด้วย คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกรังเกียจกับคำว่าประชาธิปไตย ความยุติธรรม (และแสลงหูกับคำว่าสองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ) ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็รังเกียจกับคำว่า คุณธรรม ความดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริต (และแสลงหูกับคำว่า คอร์รัปชั่น) ทั้งนี้ก็เพราะถ้อยคำและคุณค่าเหล่านี้ถูกมองว่าผูกโยงอยู่กับฝ่ายตรงข้ามกับตน จึงมีความรู้สึกในทางลบจนเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้ายไปเลย
นั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะทั้งประชาธิปไตย ความยุติธรรม รวมทั้งคุณธรรมความดี ความซื่อสัตย์สุจริต ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนและจำเป็นต่อสังคมไทยในยุคนี้ ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นคุณค่าที่ฟูมฟักอยู่แล้วในใจของทุกคนไม่ว่าเหลืองหรือแดง การปฏิเสธคุณค่าเหล่านี้ไม่ว่าอันใดอันหนึ่ง หมายถึงการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง รวมทั้งปิดโอกาสที่คุณค่าเหล่านี้จะเจริญงอกงามในใจตนเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า
เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์ที่ติดตามการเมืองไทยมานาน พูดไว้อย่างน่าฟังว่า "ชีวิตคนเราซับซ้อนเกินกว่าจะมีเพียงสีเดียว ถ้าตีความสีว่า เหลืองเป็นการต่อสู้คอร์รัปชั่น ไม่ยอมรับอำนาจผูกขาดโดยการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมซึ่งเราก็อาจมีตรงนั้นอยู่ในตัว ขณะเดียวกันเราก็มีสีแดง (คือ) การเมืองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงส่วนมาก สิ่งที่น่าเศร้าคือความขัดแย้งทางการเมืองบังคับให้เราเป็นสีเดียว บางทีเราชอบส่วนหนึ่งของเหลืองและส่วนหนึ่งแดงด้วย"
เกษียร ได้ชี้ว่าการเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู จนมุ่งร้ายต่อเขาและปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นตัวเขานั้น ได้ส่งผลร้ายย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง “ความรุนแรงอย่างแรกที่กระทำคือกระทำกับตัวเอง เพราะในท่ามกลางความขัดแย้งเราทำลายสีอื่นที่อยู่ในตัวเอง เราอยากเป็นเหลืองเราทำลายความเป็นแดง คุณอยากเป็นแดงคุณทำลายความเป็นเหลือง ก่อนที่คุณจะทำลายคนอื่นคุณทำร้ายตัวเอง คุณก็เป็นมนุษย์น้อยลง เหลือมิติเดียว ถ้าไม่รู้จักหยุดตรงนั้น คุณจะเกลียดส่วนนั้นของชีวิตและทำร้ายคนอื่น ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น”
การยึดติดถือมั่นกับการแบ่งเราแบ่งเขานั้น ในที่สุดย่อมบั่นทอนชีวิตจิตใจของเราเอง ยิ่งเราเห็นอีกฝ่ายมีความเป็นมนุษย์น้อยเพียงใด ความเป็นมนุษย์ของเราก็ยิ่งน้อยลงเพียงนั้น โดยที่กำแพงแห่งอคติจะยิ่งปิดกั้นมิให้เราได้สัมผัสกับความจริงและความดีงามที่พึงปรารถนาเลย หรืออาจถึงกับกัดกร่อนคุณค่าที่เคยยึดถือแต่เดิมก็ได้ การแบ่งเราแบ่งเขาและกำแพงแห่งอคตินั้นไม่ได้มาจากไหน หากมาจากการยึดถือ "ตัวกู" เป็นใหญ่นั่นเอง ต่อเมื่อรู้เท่าทันมัน และพยายามเอาความจริง ความดีงามเป็นตัวตั้ง มันจึงจะอยู่เป็นที่เป็นทางและยากที่จะก่อผลร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น