มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2554
ในองค์กรหรือสังคม เมื่อได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เราควรจะคุยกันดีๆ ค่อยพูดค่อยจากัน ใช้เหตุใช้ผล อย่าใช้อารมณ์” หรือ “ผมอยากให้ทุกคนรักกันและยอมรับกันและกันนะครับ” ผมจะตั้งข้อสังเกตก่อนเลยว่ามุมมองนี้มาจากสถานภาพหรือชนชั้นไหนของสังคมนั้นๆ มีอำนาจเชิงเกื้อกูลหรือกดข่ม เพราะบางครั้งคำกล่าวนี้มาจากผู้ที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า หรือได้เปรียบกว่า ที่มักปรารถนาความสงบ สันติภาพ ความปรองดองหรือความสุขโดยปราศจากการรับรู้ถึงความทุกข์ร้อน หรือบาดเจ็บของผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าในสังคม และความรุนแรงมักเป็นผลมาจากการไม่ได้รับความใส่ใจรับรู้และการถูกละเลยนี้เอง อนิจจา…คนที่รักสันติภาพมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองและความรู้สึกนึกคิดและบ่อยครั้งก่อให้เกิดอุปสรรคของการสื่อสารในองค์กรหรือสังคมนั้น มักเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้ วุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ต่างกัน ทักษะในการสื่อสารไม่มากพอ ความแตกต่างของบุคลิกภาพ การไม่มีเวลาหรือขาดโอกาสในการสื่อสาร และที่สำคัญยิ่งคือความแตกต่างของสถานภาพในสังคม (Rank)
ในหนังสือ นั่งในไฟเพลิง (Sitting in the Fire) ของ อาร์โนลด์ มินเดล ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาเชิงกระบวนการ ให้คำจำกัดความว่า “ชนชั้น” คือผลรวมของอภิสิทธิ์หรือความได้เปรียบของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นอำนาจที่ได้มาจากวัฒนธรรมของสังคมหรือชุมชนหยิบยื่นให้ ไม่ว่าเราจะได้สถานภาพเหล่านี้มาด้วยหนทางใดก็ตาม มันส่งผลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของเราไม่มากก็น้อย
ความเหนือกว่า (Rank) ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างตายตัว หากแปรผันตามระบบคุณค่าของสังคม ประสบการณ์ส่วนตัว และการให้ความหมายหรือยอมรับของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งอาจมาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่
๑) ความได้เปรียบทางสังคม (Social Rank) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสีผิว ในบ้านเราการมีผิวพรรณขาวผ่องได้รับคุณค่ามากกว่าผิวคล้ำ เพศสภาพ ผู้ชายได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำมากกว่า (แม้ว่าสังคมกำลัง เปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ก็ตาม) ระดับการศึกษา สุขภาพ อายุ (สังคมเอเชียให้คุณค่าเรื่องอาวุโสมาก) สถานะทางเศรษฐกิจ ผู้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่ามักมีมุมมองต่างจากผู้มีความมั่นคงน้อยกว่า ศาสนา ตำแหน่งในองค์กร (เป็นปัจจัยหลักและส่งผลต่อการสื่อสารในองค์กรมากที่สุด)
๒) ความได้เปรียบทางจิตวิญญาณ (Spiritual Rank) องค์ประกอบนี้ไม่ได้มาจากสังคมหรือวัฒนธรรม แต่มาจากความมั่นคงภายในด้วยการเข้าถึงธรรมชาติและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต แม้โลกภายนอกจะปั่นป่วนโกลาหลเพียงใด เช่น บางคนแม้มีวุฒิการศึกษาไม่สูง และมีฐานะไม่ร่ำรวย แต่เข้าถึงธรรมะ ก็อาจรู้สึกมั่นใจภายในลึกๆ ได้
๓) ความได้เปรียบทางจิตวิทยา (Psychological Rank) เป็นความมั่นใจและความรู้สึกถึงการได้รับความเอาใจใส่ อาจมาจากการผ่านชีวิต ผ่านทุกข์มามากพอจนมีจิตเมตตากรุณา และความมั่นคงภายใน
๔) ความได้เปรียบตามบริบท (Contextual Rank) คนๆ หนึ่งอาจมีความได้เปรียบบางอย่าง แต่ก็เสียเปรียบในบางอย่างพร้อมๆ กันได้ เช่น หมออาจมีสถานภาพสูงในโรงพยาบาล แต่อาจใช้อะไรไม่ได้มากเมื่อกลับมาในครอบครัวตัวเอง เพราะมีสถานภาพเป็นน้องที่อ่อนอาวุโสกว่าก็ได้ หรือนักท่องเที่ยวฝรั่งที่เป็นชาวตะวันตกอาจได้รับการยอมรับในสังคมมากกว่าชาวไทยกันเอง แต่ก็เสียเปรียบทางภาษาในวงสนทนาที่ใช้ภาษาไทย
ความเหนือกว่าไม่ว่าจะทางใดก็ตามจะสื่อสารออกมาในลักษณะที่เป็นสัญญาณซ้อน (Double signals) ที่สอดแทรกอยู่ในสัญญาณหลักที่อาจส่งผลกดข่มผู้อื่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ สัญญาณของความเหนือกว่า ได้แก่ คนที่มีความเหนือกว่ามักเป็นฝ่ายกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในความสัมพันธ์ เช่น เป็นฝ่ายกำหนดเวลา สถานที่และระยะเวลาในการสื่อสาร เป็นฝ่ายกำหนดรูปแบบหรือภาษาและอารมณ์ในการสื่อสาร เช่น ไม่ต้องพูดสุภาพ สบายๆ เป็นกันเอง ในขณะที่ผู้น้อยไม่สามารถรู้สึกถึงอิสรภาพนี้ได้ หรือไม่ผู้ที่สูงศักดิ์กว่าก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การสื่อสารราบเรียบไร้ปัญหาตามต้องการ โดยคาดหวังให้ผู้น้อยสื่อสารอย่างไม่ใช้อารมณ์ หากต้องมีเหตุมีผล เหมือนเวลาเกิดปัญหาขึ้นในความสัมพันธ์ ผู้ได้เปรียบกว่ามักคิดว่าพวกด้อยโอกาสกว่ามักเป็นพวกที่ “มีปัญหา” ซึ่งตนเองไม่ค่อยเข้าใจ และคิดว่า “คนพวกนี้คงบ้าไปแล้ว” เป็นพวก “ก้าวร้าว หัวรุนแรง ต่อต้าน” เวลาสื่อสาร น้ำเสียงของคนที่สถานะเหนือว่าจะออกไปในทางไม่แสดงถึงเยื่อใยหรือความใส่ใจอย่างพื้นๆ และข่มๆ นิดๆ และอาจรู้สึกถึงความเหนือกว่า มั่นใจและทะนงในตัวเองมากกว่า
อย่างไรก็ตามคนที่มีสถานะสูงกว่าก็ถูกกระทำได้เช่นกัน เช่น เจ้านายหรือผู้บริหารบางคนต้องกินข้าวกลางวันคนเดียวจนรู้สึกโดดเดี่ยวและต้องการเพื่อนคุย เป็นต้น
ส่วนอาการกิริยาหรือสัญญาณของคนที่รู้สึกด้อยกว่า ได้แก่การไม่กล้าปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะโดนตำหนิ บอกรับคำหรือตกลงทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากจะทำ อาจพูดรับปากว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” แต่สายตามองไปทางอื่น มองต่ำ ร่างกายเกร็ง ไม่ผ่อนคลาย วิตกกังวลเป็นประจำและอาจคิดว่าตัวเองมีปัญหา มักเอาเรื่องราวต่างๆ มาคิดมากเอง รู้สึกถึงความไม่มั่นคงหรือความด้อยกว่า และมีแนวโน้มจะมีอารมณ์ลบ โกรธหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจ
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ การพยายามรับรู้เท่าทันสถานภาพที่มากับความได้เปรียบของตัวเอง ที่มักทำให้เรา “มืดบอด” ต่อความเป็นไปของผู้ที่ด้อยชั้นกว่า คนที่มีสถานะเหนือว่ามักไม่รับรู้ความทุกข์ยาก หรือความรู้สึกนึกคิดของคนที่มีสถานภาพด้อยกว่า ผู้นำส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพที่เหนือว่า ดังนั้นควรระลึกไว้เสมอว่า “เรายังเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาไม่มากพอ” และควรจะทอดสะพานความสัมพันธ์และสร้างโอกาสในการสื่อสารให้เกิดขึ้นในลักษณะที่ผู้น้อยกว่าจะรู้สึกปลอดภัยหรือปลอดโปร่งโล่งใจด้วย เพราะอย่าลืมว่าผู้ที่ีมีสถานภาพสูงกว่ามักเป็นฝ่ายกำหนดสิ่งเหล่านี้เสมอ จนกลายเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร
สังคมไทยไม่ชอบและบ่อยครั้งก็ปฏิเสธความขัดแย้ง พยายามกลบเกลื่อนความแตกต่างและความขัดแย้งด้วยความปรารถนาดี ด้วยความที่เราให้คุณค่าแก่ความสามัคคีปรองดอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราได้ทำความเข้าใจหรือยอมรับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็หมายความว่า การแก้ไขที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จนการปรองดองก็จะกลายเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่อาจดูดี แต่วางอยู่บนรากฐานง่อนแง่นและเปราะบางอย่างยิ่ง
ดังนั้น ผู้นำจึงจำต้องพัฒนาทักษะในการทำความเข้าใจกับความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกตัวเอง มิเช่นนั้น ความรุนแรงทางอารมณ์จะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพในที่สุด สังคมหรือองค์กรไหนที่ผู้มีสถานะเหนือกว่า หรือได้เปรียบมากกว่า ใช้ความได้เปรียบนี้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่เกื้อกูล และรับรู้สภาพร่วมทุกข์ และหาทางออกร่วมกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า สังคมหรือองค์กรนั้นย่อมเข้าถึงความเข้าใจหรือจิตร่วมที่นำมาซึ่งความร่วมไม้ร่วมมือและสันติภาพอย่างเป็นธรรมชาติ
แสดงความคิดเห็น