ท้าให้เปลี่ยน มาเขียนชีวิตใหม่



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2554

โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรทอล์คโชว์ชื่อดัง ผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา อันดับหนึ่ง ปีค.ศ.๒๐๑๐ จัดโปรแกรมท้าให้คนหันมาพัฒนาจิตวิญญาณตนเอง ภายใต้โครงการชื่อ "The 2011 Feel Good Challenge" โดยมีบทเรียนต่างๆ มากมายที่ให้สมาชิกได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกันตลอดทั้งปี แบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ X-Ray จิต ของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน และลิซ่า ลาเฮ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวเปิดบทเรียนของโครงการนี้

ฉายภาพกลับมาประเทศไทย มีโครงการคล้ายๆ กันเกิดขึ้นคือ "Happiness at Workplace" ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปจัดอบรมให้กับองค์กรธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง โดยใช้แบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ X-Ray จิต เป็นตัวเปิดกระบวนการสร้างสุขในองค์กร ผมเชื่อว่า คงไม่มีอะไรบังเอิญ ที่ทั้งสองโครงการเริ่มต้นพร้อมกันในปีนี้ ปีที่หายนะเกิดขึ้นเต็มไปหมดทั่วโลก และผมก็เชื่อว่า คงมีโครงการในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ เกิดขึ้นอีกหลายโครงการทั่วโลก

เหตุใดจึงเลือกให้กระบวนการ X-Ray จิต เป็นตัวเปิดเรื่องการสร้างสุข? เพราะประโยชน์ที่คนจะได้รับในเบื้องต้นคือ การรู้โจทย์ที่แท้จริงที่ทำให้ตนเองไม่มีความสุข ประโยชน์เบื้องปลายคือ ได้แนวทางเฉพาะตัว ในการท้าทายตนเองให้มีความสุข ด้วยการสวนกระแสเดิมๆ ของตนเอง

แบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ ช่วยให้เราวิเคราะห์ตนเองอย่างมีหลักการ โดยเริ่มจากการค้นหาเจตนาดีที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองให้เจอก่อน จากนั้นเราจะยังไม่รีบหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ทำได้ แต่เราจะย้อนกลับมาดูตนเองก่อนว่า ปกติเรามักตก "ร่องเดิม" คือทำพฤติกรรมซ้ำซาก ที่ขัดขวางตัวเองไม่ให้เป็นไปตามเจตนาดีนั้น เพราะลึกๆ แล้ว เรามีเจตนาที่ซ่อนอยู่ ที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องตนเองอย่างแข็งขัน บ้างอาจเรียกว่าเป็นเจตนาร้ายที่เราเก็บซ่อนไว้ บ้างอาจเรียกว่าเป็นบุคลิกด้านมืดที่เรามองไม่เห็นในตัวเอง บ้างอาจเรียกว่าเป็นเจ้านายที่มีอำนาจเหนือเรา

จากเจตนาที่ซ่อนอยู่ แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมซ้ำซาก จนไปขัดขวางเจตนาดี นี่เองคือ "ร่องเดิม" ของจิตใจเรา ภาษาทางการที่คีแกนและลาเฮใช้คือ "ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง" (Immunity to Change)

เบื้องหลังที่ทำให้เราตก "ร่องเดิม" อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ ความเชื่อบ้าๆ เกี่ยวกับชีวิตและตนเอง (Big Assumption) ที่ใช้คำว่า "บ้า" เพราะเป็นความเชื่อที่บิดเบี้ยวไปจากความจริง หรือเป็นความเชื่อลดทอน ย่อส่วน ทำให้เราคับแคบ มองโลกด้านเดียว และเราก็หลงเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจ ยกให้ความเชื่อนี้เป็นความจริงสูงสุด (Absolute Truth) นอกจากนี้ "บ้า" ยังเป็นเสียงพ้องกับภาษาอังกฤษว่า BA ซึ่งย่อมาจาก Big Assumption อีกด้วย ที่ผ่านมาความเชื่อบ้าๆ นี้ เป็นผู้กำกับหรือเขียนบทให้กับชีวิตเรามาโดยตลอด เราจึงยังคงตกร่องเดิมๆ ของตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

โดยธรรมชาติของการทำแบบฝึกหัดสี่คอลัมน์ คนทำจะค่อยๆ เปลี่ยนมุมมอง จากการตกเป็นทาสของความเชื่อบ้าๆ และร่องเดิมๆ จนกลายเป็นผู้อยู่เหนือการครอบงำ แปรเปลี่ยนสถานะภาพจากทาสผู้รับใช้ความเชื่อบ้าๆ มาเป็นนายเหนือตนเอง แนวทางการเรียนรู้หลังจากทำแบบฝึกหัดเสร็จ จึงเป็นการท้าทายตนเองให้ออกมาเรียนรู้ความจริง นอกกรอบความเชื่อบ้าๆ ท้าทายให้มองโลกอีกด้าน เรียนรู้ความจริงที่เป็นองค์รวมและเต็มสมบูรณ์มากขึ้น จนสามารถปลดปล่อยตนเองให้เป็นไท ออกจากร่องเดิมๆ สามารถ "เปลี่ยนร่อง" ให้กับชีวิตใหม่ได้

จริงๆ แล้วความเชื่อบ้าๆ มีที่มาที่ไป มีรากกำเนิด ไม่เกิดมาลอยๆ การทำงานกับภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง (immunity work) จึงมักให้คนมาเล่า "ประวัติความเชื่อใหญ่" (Biography of Big Assumption) เรื่องราวชีวิตของผู้เข้าร่วมการอบรมที่ยอมเปิดเผยตนเองในกลุ่ม ทำให้วงสนทนาประวัติความเชื่อใหญ่ เกิดพลังกลุ่มอย่างมหาศาล สามารถแปรเปลี่ยนให้คนที่รักษาระยะห่างทางใจ เปิดใจมาใกล้ชิดกันมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของเด็กกำพร้าที่ถูกญาติผู้ใหญ่พร่ำด่าว่า "เก็บมาจากถังขยะ" คำพูดนั้นฝังลึกจนทำให้เขาเชื่อ ไม่มีใครต้องการเขา เปรียบเสมือนกับขยะที่คนทิ้งแล้ว หรือเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่รถญาติเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำในวันที่เธอเกิด แม้จะบาดเจ็บไม่ถึงเสียชีวิต แต่ก็เป็นที่มาของความเชื่อว่า ฉันเป็นตัวซวย หรือเรื่องราวของเด็กพยายามหาคำอธิบายว่า ทำไมพ่อแม่จึงแยกทางกัน จนพบกับคำอธิบายที่ว่า ก็เพราะฉันมันเลว

เรื่องราวทั้งหมดที่ถูกเล่าในวง จะได้รับการทำความเข้าใจใหม่และวางลง อดีตที่ผ่านไปแล้ว ก็ให้จบไป มีแต่คนหลงทางชีวิตเท่านั้น ที่ยังคงเอาความเชื่อในอดีต มาขีดเขียนบทให้ชีวิตปัจจุบัน คนที่ตื่นรู้ จะเขียนชีวิตใหม่ ออกมาจากการปรับความเชื่อภายใน

การมีสติรู้เท่าทันความเชื่อบ้าๆ และการตกร่องเดิมๆ บวกกับการยันยันในความเชื่อด้านบวกเกี่ยวกับตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของการปรับความเชื่อ ซึ่งต้องอาศัยความกล้าท้าทายตัวเองในระดับการลงมือทำไปด้วยพร้อมกัน จึงจะมีกำลังแรงพอที่จะส่งผลให้เปลี่ยนออกจากร่องเดิม ผู้เข้าร่วมจะได้ลองพิจารณาว่า พฤติกรรมใดจะเป็นการท้าทายความเชื่อและร่องเดิมๆ ของตนเอง และรู้ด้วยว่าการลงมือทำทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อปรับความเชื่อเดิม

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อด้านบวกอันเมล็ดพันธุ์ความสุขที่อยู่ภายในจิตใจ ก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นไปด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นเรื่องราวที่สร้างสุขไประหว่างทาง ว่ากันว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับความเชื่อแม้เพียงเล็กน้อย ก็ส่งผลมหาศาลกับชีวิต เพราะเราได้เริ่มต้นเขียนชีวิตใหม่จริงจากการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

ด้วยเหตุนี้ผมจึงชอบคำที่โอปราห์ใช้ว่า "ท้าให้รู้สึกดี" (Feel Good Challenge) เพราะสอดคล้องไปกับธรรมชาติของจิตมนุษย์ ที่มักตกกลับไปยังร่องเดิมของกระแสความทุกข์ มนุษย์ที่ตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ จึงต้องกล้าสวนกระแส และออกไปจากร่องเดิม เข้าสู่กระแสแห่งสุขแท้และยั่งยืน ที่วางอยู่บนฐานความจริงที่กว้างขวาง รอบด้าน และสมบูรณ์มากขึ้น

คำถามทิ้งท้ายคือ วันนี้เราลงมือทำอะไรที่ท้าทายตัวเองให้ออกจากร่องเดิมๆ และเขียนชีวิตขึ้นมาจากความเชื่อใหม่ที่ตรงกับความจริงมากขึ้น ขอให้เราตระหนักด้วยว่า การลงมือทำในสิ่งที่ท้าทายความเชื่อ ออกจากกรอบเดิม มักจะมาพร้อมกับความรู้สึกเสี่ยง บางครั้งอาจรู้สึกว่า ถ้าเราก้าวต่อไปเราอาจตกเหว แต่แท้จริงแล้วมีพื้นที่มั่นคงรองรับอยู่ กล่าวคือ มีความจริงของโลกและชีวิตที่กว้างกว่าความเชื่อที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่อีกมาก เราเพียงแต่หลงมัวเมาอยู่กับความเชื่อบ้าๆ ที่บิดเบี้ยว ย่อส่วน และด้านเดียว มานานเกินไป จนเข้าใจเอาเองว่า เราปลอดภัยดีอยู่แล้ว และไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน แล้วหันกลับมาบอกกับตัวเองว่า “แค่ได้...[ท้าทายลงมือทำ]...ฉันก็...[คิดบวกกับตัวเอง]…แล้ว”

Back to Top