กุมภาพันธ์ 2006

เส้นสายกับทฤษฎีโลกใบเล็ก

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 24 กุมภาพันธ์ 2549

เมื่อคนไทยพูดถึงคำว่า “เส้นสาย” พวกเรามักจะนึกไปถึง “แง่ลบ” ของคำๆ นี้กันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกชายของคนข้างบ้านสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้เพราะมี “เส้นสาย” หรือ “เส้นใหญ่” ลูกสาวของเพื่อนได้งานในบริษัทใหญ่บริษัทนั้นเป็นเพราะคุณพ่อของเธอมี “เส้นสาย” ใหญ่โตหรืออะไรทำนองนั้น แต่ความจริงแล้วผมคิดว่า “Connection” ระหว่างบุคคลไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ยกเว้นว่าเราจะนำไปเพื่อใช้ในการ “เอาเปรียบ” ผู้อื่น โดยเฉพาะในความหมายของคำว่า “เส้นสาย”

ด้วยมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ทุกๆ คน “มีเส้นสาย” กันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่ายากดีมีจนข้นแค้นประการใด ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคน “มีเส้นสาย” ถึงกันและกันได้หมด แต่ “เส้นสาย” ในที่นี้ ผมอยากจะหมายถึงอีกความหมายหนึ่งของ Connection ที่หมายถึง “ความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันและกัน”

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ทุกเดือนที่เริ่มกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมานั้น พวกเราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกันถึงประเด็น “มิติแห่งความเชื่อมโยง” ระหว่างกันค่อนข้างมากในทุกๆ ด้าน ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจว่า มีงานวิจัยที่บอกว่า “พวกเราทุกคนในโลกใบนี้สามารถติดต่อถึงใครก็ได้ด้วยการติดต่อผ่านคนไม่เกิน ๖ ครั้งโดยเฉลี่ย” เช่น ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดต้องการจะติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ท่านก็จะสามารถติดต่อได้ด้วยการกดโทรศัพท์, ใช้จดหมายหรือพูดคุยโดยตรงผ่านคนไม่เกิน ๖ คนโดยเฉลี่ยเท่านั้น ท่านก็จะสามารถติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐได้ (แต่เขาจะคุยกับท่านด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) หรือแม้แต่ท่านผู้อ่านท่านใดต้องการจะติดต่อกับใครคนหนึ่งที่เป็นคนพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ก็จะสามารถติดต่อกับคนผู้นั้นได้โดยผ่านคนไม่เกิน ๖ คนเช่นกัน

ประเด็นที่คุณหมอโกมาตรพูดถึงนี้มีนัยสำคัญที่ผมอยากจะนำมาเขียนถึงในบทความชิ้นนี้ ก็คือ “โลกใบนี้เต็มไปด้วยเส้นสาย” หรือในอีกนัยหนึ่ง “โลกใบนี้เล็กเกินกว่าที่เราคาดคิด”

มีผู้วิจัยและตั้งเป็น “ทฤษฎีโลกใบเล็ก - Small Worlds” ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีเครือข่ายที่เริ่มจากช่วงปี ๑๙๒๙ Frigyes Karinthy นักเขียนเรื่องสั้นชาวฮังการีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งได้เขียนเรื่อง Lancszemek หรือในภาษาอังกฤษแปลว่า “Chains” Karinthy บอกว่า เขากล้าพนันกับใครก็ตามในโลกใบนี้ว่า เขาสามารถหาคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในโลกใบนี้ซึ่งมีประชากร ๕๐๐ ล้านคนในตอนนั้นได้ โดยผ่านการติดต่อระหว่างคนไม่เกิน ๕ คน ในตอนนั้นไม่มีใครสนใจความคิดของ Karinthy เพราะคิดว่าก็เป็นเพียงแค่การเขียนเรื่องสั้น หรือไม่ก็คิดไปว่าเขาก็เพียงแค่เพ้อฝันไปตามจินตนาการของนักเขียนเท่านั้นเอง

อีกสามสิบกว่าปีต่อมา ในช่วงปี ๑๙๖๗ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาชื่อ สแตนเลย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) ได้ศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ด้วยการทดลองส่งจดหมาย ๑๖๐ ฉบับแบบสุ่มที่อยู่ไปยังคนอเมริกันในรัฐเนบราสก้าและแคนซัส และขอให้คนเหล่านั้นช่วยจัดส่งจดหมายไปยังเพื่อนของเขาคนหนึ่งซึ่งเป็นโบรกเกอร์อยู่ในบอสตันโดยที่ไม่บอกที่อยู่ โดยขอให้ส่งเป็นทอดๆ ไปยังเฉพาะคนที่รู้จักเท่านั้น ผลปรากฏว่าจดหมายส่วนใหญ่สามารถเดินทางไปถึงเพื่อนของเขาที่อยู่ในบอสตันได้ แถมยังพบปรากฏการณ์ประหลาดก็คือ จดหมายที่ส่งไปถึงนั้น ถึงเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยที่โดยเฉลี่ยแล้วจดหมายนั้นส่งไปโดยผ่านคนเพียงไม่เกิน ๕.๕-๖ คนเท่านั้น ต่อมามีผู้เรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า Six degree of separation”

จากปรากฏการณ์นี้ ในปี ๑๙๙๘ นี้เองนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันสองคนคือ ดันแคน วัตต์ และ สตีฟ สโตรกาทซ์ สามารถนำการเชื่อมโยงตรงนี้มาเขียนเป็นกราฟทางคณิตศาสตร์และสามารถอธิบายเป็นภาษาหรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ได้โดยบังเอิญ และเรียกว่าเป็น “ทฤษฎีโลกใบเล็ก” (Small Worlds)

ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตบทความหรือแม้แต่สิ่งที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี และท่าน อ.หมอประสาน ต่างใจ ได้เขียนหรือพูดเสมอมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ เรื่องที่ท่านทั้งสองพูดถึงเขียนถึงเสมอมาก็คือ “มิติของความเชื่อมโยง” ซึ่งถ้ามองไม่เห็น “มิติ” นี้ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาและสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างเป็นเสมือนยิ่งกว่า “ร่างแห” ที่โยงใยเกี่ยวพันกันแบบแยกไม่ออก แก้จุดหนึ่งก็ไปปูดที่จุดหนึ่ง อีนุงตุงนังไปหมดแบบนั้นเป็นต้น โลกใบนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ที่ยุบยับเต็มไปหมด

ด้วยเหตุผลที่ว่ากรอบคิดแบบกลศาสตร์ที่มีความเป็นกลไกอย่างนิวตันนั้นได้ฝังลึกอยู่ในสังคมมนุษย์โดยเฉพาะสังคมตะวันตกมายาวนานกว่าสามถึงสี่ร้อยปี จึงทำให้พวกเราที่อยู่ในสังคมมองมิติของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันดังกล่าวนี้ไม่ค่อยออกหรือไม่เข้าใจ

ด้วยทฤษฎีโลกใบเล็กนี้ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนใดคนหนึ่งในโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ “ไกลตัว” อีกต่อไป เราทุกคนในโลกใบนี้อยู่ “ใกล้กัน” มากกว่าที่เราคิด ความยากลำบากและความทุกข์ยากของคนใดคนหนึ่งในโลกใบนี้ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ อย่างรวดเร็วและใกล้ชิดมากกว่าที่เราจะนึกถึง เพราะทฤษฎีนี้พิสูจน์ในทางคณิตศาสตร์ให้เห็นได้ว่า เราทุกๆ คนในโลกใบนี้ห่างกันไม่เกิน ๖ ครั้งเท่านั้นของการติดต่อกับคนที่เรารู้จัก

หากพวกเราคิดว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยและอยู่ห่างไกลจากตัวเราแล้ว พวกเราอาจจะกำลังคิดผิดก็ได้ เช่น หลายคนอาจจะคิดว่าปัญหาสหรัฐฯ รุกรานอิรักไม่เกี่ยวกับเรา ปัญหาปาเลสไตน์กับอิสราเอลไม่เกี่ยวกับเรา ปัญหาคนอดอาหารตายในเอธิโอเปียไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือแม้แต่ปัญหาที่ภาคใต้ก็ไม่เกี่ยวกับเราที่อยู่ที่กรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ

ด้วยแนวคิดของวิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์นั้นบอกชัดเจนเหลือเกินว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกและด้วยทฤษฎีโลกใบเล็กซึ่งถือว่าเป็นทฤษฎีหนึ่งที่มีฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ ก็ยิ่งจะย้ำเตือนให้เห็นถึง “ความใกล้ตัว” ของปัญหาต่างๆ เหล่านั้นที่พวกเราจะมองแบบ “แยกส่วน” ธุระไม่ใช่ไม่ได้ หรือแม้แต่กับผู้ที่ “ธุระใช่” ก็น่าที่จะต้องใช้แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการมองเห็น “เส้นสาย” ต่างๆ เหล่านี้ด้วย

บางทีสิ่งที่เราเห็นว่า “จริง” อาจจะ “ไม่จริง” ก็ได้ เช่น การที่เรามองเห็นดาวดวงหนึ่งอยู่บนท้องฟ้า ไม่ได้หมายความว่าดาวดวงนั้นยังมีอยู่จริง ดาวดวงนั้นอาจจะสูญสลายไปนานแล้วก็ได้ เพราะแสงจากดาวดวงนั้นกว่าจะเดินทางมาถึงตาของเราก็อาจจะใช้เวลาหลายพันปี หรือในทางตรงกันข้ามบางทีสิ่งที่เรามอง “ไม่เห็นว่าจริง” อาจจะ “มีอยู่จริง” ก็ได้ เช่นโยงใยของความสัมพันธ์ที่ซ่อนเร้นหรือ “เส้นสาย” ดังที่กล่าวถึงในข้างต้นนี้

ด้วยตัวอย่างของเรื่องนี้ พวกเราจะเห็นได้ว่าความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวิทยาศาสตร์ใหม่จึงมีความสำคัญมากต่อแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะเราไม่เข้าใจไปเชื่อสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เชื่อสิ่งที่มีอยู่จริง ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เราแก้ไขปัญหาผิดพลาดไปอย่างน่าเสียดาย

วิบัติภัยที่ไร้ชื่อ

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549

เมื่อกล่าวถึงวิบัติภัย ผู้คนต่างก็นึกถึงหายนภัยที่ปรากฏขึ้นในรูปแบบของภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ดินถล่ม ไฟไหม้ป่า และสึนามิหรือทะเลไหวดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติล่าสุดที่ทำให้หัวใจของมนุษย์ทั้งโลกต้องสั่นไหว

อันเนื่องจากการทำหน้าที่อันดียิ่งของสื่อยุคโลกาภิวัตน์ เราได้เห็นภาพผู้คน-สิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ ยิ้มได้ หัวเราะได้ เช่นเดียวกับเรา-ถูกกระแสน้ำพัดและซัด หลุดหายไปทีละคนสองคน ต่อหน้าต่อตาเรา ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ว่า – ไปแล้วไปแล้ว

เราได้เห็นภาพของความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเจ้า ไม่ว่าจะเป็นผิวขาวหรือผิวเหลือง เราได้เห็นภาพของความช่วยเหลือ ที่ข้ามผ่านเขตแดน ข้ามผ่านวรรณะศักดินา ข้ามผ่านความมีชีวิตและความไร้ชีวิต สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เราได้สัมผัสรับรู้ผ่านตาเนื้อของเรา

เมื่อมองที่ภาพคลื่นยักษ์ขณะกำลังโถมเข้ามาหาผู้คน กระแทกซัดและวับหาย หากมองด้วยความพินิจพิเคราะห์ เราอาจจะมองเห็นสิ่งที่อาจจะไม่เคยปรากฏต่อดวงตาของเราอย่างชัดเจนมาก่อนก็เป็นได้ เราได้มองเห็นผู้คนที่ไปตั้งบ้านเรือนร้านค้าอยู่แน่นหนาเต็มชายฝั่ง ได้มองเห็นนักท่องเที่ยวมาจากทุกมุมโลก ได้มองเห็นพี่น้องชาวอีสานที่ไปค้าขายตั้งรกรากอยู่ชายทะเล ได้มองเห็นแรงงานชาวกะเหรี่ยงและพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และความหวั่นกลัวได้ข่มขู่ไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นเรียกร้องขอรับความช่วยเหลือ ได้มองเห็นผู้คนที่ไม่อาจหาโฉนดที่ดินมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ตรงที่ดินผืนนั้นมาหลายชั่วคน ได้มองเห็นนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัยได้รับการปลอบขวัญอย่างดียิ่งในเต๊นท์ติดแอร์ในขณะที่ผู้ประสบภัยชาวไทยต้องนั่งรอความช่วยเหลืออยู่ในเพิงกลางแดด ฯลฯ

ในเวลาปรกติ เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมผู้คนถึงได้อพยพหลั่งไหลไปตั้งรกรากอยู่ติดชายทะเลกันมากมายปานนั้น? ทำไมที่ดินริมทะเลจึงเป็นของโรงแรม เกสต์เฮาส์ และร้านค้าขายของที่ระลึก แทนที่จะเป็นของชาวประมง? ทำไมฝรั่งในประเทศร่ำรวยจึงมาดินแดนที่ยากจนแห่งนี้กันมาก? ทำไมคนอิสานถึงได้ไปหากินในที่ไกลจากบ้านและความคุ้นชินของตนเอง? ทำไมกะเหรี่ยงและพม่าถึงต้องหนีออกจากบ้านเกิดตนเองมาเป็นแรงงานราคาถูกและไร้สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับผู้อื่น? ทำไมชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมาแต่ปู่ย่าตาทวดถึงได้ไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตน? ทำไมการช่วยเหลือจึงมุ่งเน้นไปที่ผิวขาวก่อนผิวเหลือง ด้วยเหตุผลเพียงว่าเพื่อรักษาต้นทุนการท่องเที่ยวไว้?

ปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถือครองที่ดิน การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนและทำลายความนับถือตนไปเป็นโสภิณีแห่งบริโภคนิยม ยังมิจฉาเศรษฐกิจที่สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของโรงแรมและบาร์เบียร์ไม่กี่คนอีกเล่า ที่เบียดเบียนให้เกิดคนยากคนจน ไร้สิทธิ ไร้โอกาส สิ่งเหล่านี้ ล้วนมองเห็นได้มากมายในแห่งหนอื่น แม้สึนามิยังไม่มาเยือนก็ตาม

นอกเหนือจากนี้ เราได้เห็นความช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบ แต่เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามว่า เป็นการให้ที่เคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้สูญเสียหรือไม่? การประเมินราคามรณกรรมหรือการสาบสูญของญาติสนิทมิตรสหายของผู้สูญเสียด้วยฐานความคิดว่า "เท่าไหร่พอ" ไม่ว่าจะในรูปของเงินบริจาค เงินชดเชย และที่ดินสังคมสงเคราะห์ ก็เพื่อจะทำให้ชุมชนที่ถูกทำลายในฟื้นตัวแต่ในทางกายภาพเท่านั้นล่ะหรือ บทบาทของรัฐในฐานะผู้สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างชาญฉลาดควรจะเป็นไปในทิศทางเช่นไร?

การมองเห็นในสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นนี้ถือว่าสำคัญนัก สึนามิมีคุณต่อเรา ในฐานะที่ช่วยทำให้เห็นโครงสร้างของความรุนแรงเหล่านี้ได้เด่นชัดขึ้น ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ต่อให้ไม่มีสึนามิ มนุษย์ก็กำลังประสบกับวิบัติภัยที่ยิ่งกว่าสึนามิอยู่ทุกวี่ทุกวัน นั่นคือวิบัติภัยทางปัญญา ที่นำไปสู่หายนภัยทางจิตวิญญาณ

วิบัติภัยดังกล่าว เป็นดังวิบัติภัยที่ไร้ชื่อ เป็นวิบัติภัยนิรนาม น่าสงสาร เพราะไม่มีคนรู้จัก ตำราฝรั่งว่าด้วยการจัดการวิบัติภัยเล่มหนาเตอะ ยังกล่าวถึงแต่วิบัติภัยที่จับต้องได้ และจัดการได้ด้วยเครื่องมือทางเทคนิค เทคโนโลยี ผู้ชำนาญการ และหรือเครื่องมือทางสังคม
ความรู้หรือเทคนิควิธีเหล่านั้น ไม่อาจป้องกันหรือนำพาผู้คนให้พ้นจากวิบัติภัยทางปัญญาได้ ตราบที่ไม่นำพาผู้คนบรรลุสู่ความตระหนักรู้หรือจิตสำนึกอย่างใหม่ ต้องใช้ตาพิเศษ ต้องใช้จักษุปัญญามองให้เห็นเหตุปัจจัยและความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในมิติต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ มิฉะนั้นแล้ว ความรู้หรือเทคนิควิธีประเภทเหล่านั้นก็จะแก้ไขปัญหาได้แต่เพียงส่วน ๆ เราอาจจะทำให้ผู้คนวิ่งหนีสึนามิได้ทันเวลา แต่ไม่อาจทำลายโครงสร้างความรุนแรงที่อยู่ริมทะเลนั้นได้ นักท่องเที่ยวก็ยังจะหลั่งไหลมาตามแรงโฆษณาแห่งการท่องเที่ยว ที่ดินยังคงเป็นของนายทุน พม่าและกะเหรี่ยงหลบหนีเข้าเมืองยังคงถูกจ้างด้วยค่าแรงต่ำช้า ชาวประมงยังคงเป็นบ๋อยโรงแรม ลูกหลานของบ๋อยโรงแรมจะได้เป็นอะไรก็ยังน่าสงสัย

จักษุปัญญายังช่วยให้มองเห็นปัญหาที่พ้นไปจากตน พ้นไปจากเขตแดนและกาลเวลา เราย่อมเห็นความทุกข์ของผู้คนเช่นเดียวกันนี้ในประเทศที่สื่อมวลชนเข้าไปไม่ถึง ดังเช่น พม่า อินโดนีเซีย ศรีลังกา เป็นต้น เราย่อมบังเกิดความกรุณาได้แม้ผู้ที่มิได้มีสัญชาติเดียวกับเรา และหากเราตระหนักถึงโครงสร้างความรุนแรงอย่างแท้จริง เราจะมองเห็นภัยในปัจจุบันขณะ ดังเช่น เศรษฐกิจแบบโลภ การท่องเที่ยวที่ทำลายธรรมชาติและวิถีชีวิต ซึ่งจะสืบต่อไปยังลูกหลาน ไปยังอีกหลายชั่วคน สายโซ่แห่งความเบียดเบียนจะถูกทำลายไปได้ก็ด้วยความเมตตาที่ไร้กาลเวลานี้

วิบัติภัยไร้ชื่อไร้ตัวตนนี้ เป็นวิบัติภัยที่พึงใส่ใจให้มาก การมองเห็นหรือเสแสร้งว่ามองไม่เห็น ถือได้ว่าเป็นความมืดบอดอย่างแท้จริง และความมืดบอดของจักษุปัญญาเป็นหายนภัยที่รุนแรงยิ่งกว่าภัยธรรมชาติใดในโลกนี้ จักแก้ได้ก็ด้วยการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ หรือปฏิวัติทางจิตสำนึกเท่านั้น หากใครใส่ใจเขียนตำราเผยแพร่ หรือจัดเวิร์กช็อปว่าด้วยเรื่องดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรแก่การอนุโมทนา

ศิลปศาสตร์แห่งการเป็นกระบวนกร

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549

ที่เชียงรายนี้มีชุมชนกระบวนกร เหมือนที่อื่นถิ่นอื่นอาจจะมีการผลิตอะไรขายเป็นสินค้าประจำหมู่บ้านหรือตำบล ที่เชียงรายมีชุมชนจิตวิวัฒน์ ที่เรียนรู้เรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการวิวัฒน์ เราเรียกผู้ฝึกฝนศิลปะแขนงนี้ว่า “กระบวนกร” ภาษาฝรั่งอาจจะตรงกับคำว่า “Facilitator” กระมัง โดยมีลักษณะเด่นๆ สองประการคือ

หนึ่ง ทฤษฎีการเรียนรู้ที่อยู่เบื้องหลังอันเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา และเป็นความรู้ในด้านการวิจัยสมองล่าสุด ณ พรมแดนความรู้ ที่มีสมมติฐานว่ามนุษย์มีกระบวนการเรียนรู้เป็นเมล็ดพันธุ์ในตนอยู่แล้ว กระบวนการที่เราจัดทำเพียงสะกิดหรือเกาให้ถูกที่คันเพื่อให้การเรียนรู้นั้นๆ ได้ระเบิดตัวออกมาเป็นปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์อันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

สอง การเรียนรู้นั้นไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้ของปัจเจก เมื่อเรามีกติกาและท่าทีกับการพูดคุยที่เหมาะสม เราจะได้เข้าถึงการเรียนรู้แบบสมุหภาพ หรือ collective หรือการเรียนรู้ระดับกลุ่มชน ที่นำพามนุษย์ไปสู่ภูมิปัญญาอันสูงกว่าในระดับปัจเจก

ทั้งสองประเด็นแห่งการเรียนรู้จึงถูกแปลความออกมาเป็นทั้งเนื้อหาให้ได้เรียนรู้เข้าใจ และเป็นกระบวนการและกิจกรรมที่นำพาผู้คนได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่เนื้อหาเพียงเท่านั้น หากเข้าไปเกี่ยวพันกับสมองทั้งสามชั้น ปัญญาสามฐาน เราไม่ได้ดูแลเฉพาะแต่เรื่องของความคิด แต่เราได้ดูแลพลังชีวิตด้วย เจตจำนงด้วย อารมณ์ความรู้สึกด้วย และในเรื่องความคิดเราไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระนาบของพุทธิปัญญา แต่เรายังดำเนินไปในดินแดนของการบ่มเพาะญาณทัศนะ คือเราทำกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องกายผสมผสานไปกับเรื่องของหัวใจและหัวสมองไปในเวลาเดียวกัน จึงไม่ใช่ความรู้ที่แห้งแล้งปราศจากความรู้สึก หรือขาดพลังแห่งปฏิบัติการ การแบ่งแยกนั้นได้สลายตัวไปในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมที่เข้ากันได้กับธรรมชาติแท้จริงแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์

โหมดปกติ เจ้าตัวเล็ก คลื่นสมองอัลฟา ผสานปัญญาสามฐาน พื้นที่การเรียนรู้ผ่านมิติของจิตไร้สำนึก โยนิโสมนสิการและวิปัสสนาญาณ

เราจะนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาผสมผสานกัน แต่มุ่งชี้ไปยังสภาวะเดียวกัน ในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่คิดค้นกันขึ้นในกระบวนการเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนา เราจะเห็นได้ว่า ในโหมดปกป้องนั้น ชีวิตจะถดถอยจากสภาวะปกติ หรือโหมดปกติ กล่าวคือชีวิตจะหยุดและปิดการเรียนรู้ไปอย่างอัตโนมัติ ปัญญาสามฐาน หรือสมองสามชั้นจะทำงานอยู่ในฐานของความกลัว ร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่า โดยลำดับ

แต่ในโหมดปกติ ชีวิตจะเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา เราจะกล้า ไม่กลัว เราจะมีอารมณ์ดี ไม่ตกอยู่ในร่องอารมณ์ เราจะรู้สึกปลอดโปร่ง เราจะยืดหยุ่นสร้างสรรค์ในทางความคิด นี่เองคือการเปิดออกของพื้นที่แห่งการเรียนรู้

เราจะจดจำโหมดของชีวิตว่าปกติหรือไม่ ได้อย่างง่ายๆ โดยจดจำคุณลักษณะของคลื่นสมองสองคลื่น คือคลื่นเบต้า กับคลื่นอัลฟา เวลาเราอยู่ในโหมดปกติ สมองของเราจะเป็นคลื่นอัลฟา แต่ในโหมดปกป้องสมองของเราจะอยู่ในคลื่นเบต้า ที่มีความถี่ ๑๔-๒๑ รอบต่อวินาที ในขณะที่คลื่นอัลฟามีความถี่ ๗-๑๔ รอบต่อวินาที ในคลื่นเบต้า คุณลักษณะของมันคือ เราจะรู้สึกเร่งรีบบีบคั้น ดังนั้น เมื่อเรารู้สึกเร่งรีบบีบคั้นนั้น แสดงว่าเราอยู่ในคลื่นเบต้าแล้ว เราอยู่ในโหมดปกป้องแล้ว ในขณะที่ในคลื่นอัลฟานั้น เราจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ แบบตื่นตัว ไม่ใช่หลับใหล

อีกประการหนึ่งในคลื่นอัลฟานั้น เราเปิดมิติการทำงานร่วมกันระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ในคลื่นเบต้า เนื่องจากเสียงดังของเจ้าตัวช่างพูด หรือ talking self ในศาสตร์แห่งแม่มด จะพร่ำบ่นและตัดสินคน ตัดสินความอยู่ตลอดเวลา มันจึงไม่อาจได้ยินเสียงของจิตไร้สำนึก แต่ในคลื่นอัลฟา ซึ่งเป็นคลื่นของเจ้าตัวเล็ก หรือ younger self ในศาสตร์แห่งแม่มดนั้น มีการพูดคุยกันระหว่างจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกอยู่ตลอดเวลา มีการฝากโจทย์จากจิตสำนึกไปยังจิตไร้สำนึก หรือจากหยดน้ำไปถึงมหาสมุทร เพราะเมื่อเทียบเคียงกัน หากจิตสำนึกเทียบได้กับหยดน้ำ จิตไร้สำนึกย่อมอาจเทียบได้กับมหาสมุทร จิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นองค์กรจัดการตัวเอง เป็นประดุจคอมพิวเตอร์ที่มีชีวิต ซึ่งจะทำงานตอบคำถามให้แก่เราได้ทุกๆ เรื่อง

พุทธธรรมกับสมองส่วนหน้า

ในเรื่องของสมอง สมองส่วนหน้านั้น เป็นวิวัฒนาการล่าสุดที่จะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุครบบวช ๒๐ ปี โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าผากหรือที่ตั้งของตาที่สาม อันเปรียบได้ว่าเป็นปัญญาที่ข้ามพ้นความเป็นทวิภาค หรือทวิภาวะออกไป ในคลื่นอัลฟานั้น สมองส่วนหน้าได้ถูกกระตุ้นให้ทำงาน โดยคุณลักษณะหลักในของทำงานในสมองส่วนหน้า คือการใคร่ครวญ ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของอุปจารสมาธิ หรือสมาธิในฌานชั้นต้นสองประการ ในภาษาบาลีคือ วิตก วิจาร ซึ่งไม่ได้หมายความว่า วิตกกังวล หรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่หมายถึงความคิดแบบใคร่ครวญ การเฝ้ามองอย่างเนิ่นนานโดยพลิกดูมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งไปตรงกับคำทางพุทธว่าโยนิโสมนสิการด้วยเช่นกัน

การทำงานของสมองส่วนหน้าแบบนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง คือ เดวิด เดวิดสัน หนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ไปสนทนากับสมเด็จองค์ทะไลลามะเนืองๆ ได้ศึกษาว่า เมื่อมีการใคร่ครวญเกิดขึ้น มันไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า และเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน ร่องอารมณ์ที่มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่อมิกดาลานี้จะทำงานน้อยลงหรือหยุดทำงาน และในทางกลับกัน เมื่อร่องอารมณ์ในอมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าจะทำงานน้อยลงหรือเฉื่อยลง กล่าวคือ เมื่อเกิดร่องอารมณ์ การใคร่ครวญของมนุษย์จะถูกลดทอนลง เหมือนกับคำพูดที่ว่า “เห็นช้างตัวเท่าหมู”

นี่คือการเชื่อมโยงงานวิจัยทางสมองเข้ากับองค์ความรู้ในพุทธธรรม

ถ้าเชื่อมอัลฟากับโหมดปกติเข้ากับพุทธธรรม จะเห็นได้ว่า สภาวะในคลื่นอัลฟาก็คือความผ่อนคลายแบบตื่นตัว ที่เชื่อมโยงกับเจ้าตัวเล็กในศาสตร์แห่งแม่มด เจ้าตัวเล็กจะมองชีวิตอย่างสนุกสนาน ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีระบบโรงเรียน ตรงนี้ ผลพวงที่ได้ทันที คือปีติ สุข อันเป็นองค์คุณอีกสองประการของฌานชั้นต้น

อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อจิตมีปิติ มีความสุข และใคร่ครวญ จิตก็จะเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ หรืออาจกล่าวได้ว่า จิตในโหมดปกติจะเป็นสมาธิของมัน หรือในคลื่นอัลฟา เมื่อเราหยุดและช้าลง ไปสู่คลื่นสมองที่ช้าลง ไปสู่การใคร่ครวญของสมองส่วนหน้า ไปสู่โยนิโสมนสิการ ไปสู่การเฝ้ามองอย่างเนิ่นนาน ไปสู่การฟังอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเรากับสิ่งที่เรารับรู้เป็นสิ่งเดียวกัน ผู้สังเกตกับผู้ถูกสังเกตเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อนั้น เราก็เข้าถึงองค์คุณประการที่ห้าของฌานชั้นต้น นั่นคือ เอกัคตา

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ แม้ว่าพระพุทธองค์จะดำดิ่งไปในฌานชั้นไหนๆ ได้ก็ตาม แต่กลับมาตรัสรู้ที่ฌานชั้นต้นนี้เอง

เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย

คนที่มีความเครียดและไม่ผ่อนคลาย มักจะไม่รู้ตัวและคิดว่าตัวเองไม่เครียด แต่ความเครียดมันค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนโดยเราไม่รู้ตัว จนกระทั่งกลายมาเป็นวิถีชีวิตของเรา เป็นส่วนหนึ่งของความชินชา จนกระทั่ง เราคิดว่านี่คือความเป็นปกติของเรา ที่มากับความเครียดก็คือการดำรงชีวิตอยู่ในคลื่นเบต้า ในความเร่งรีบบีบคั้น เราอยู่ในความเร่งรีบบีบคั้นจนจำเจ จนกระทั่งคิดว่าชีวิตและการทำงานแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงมีวิถีชีวิตอยู่กับความกลัว ความวิตกกังวล ร่องอารมณ์และความคิดที่วนเวียนอยู่ในเทปม้วนเก่ากันจนชินชา

เราต้องกลับมาเรียนรู้เรื่องการผ่อนคลาย มาเรียนรู้การกลับมาใช้ชีวิตในความเป็นปกติจริงๆ ในความผ่อนคลาย โปร่งโล่ง สบายใจ สบายกาย ในสภาวะที่กายก็ผ่อนคลาย จิตใจก็ไม่เร่งรีบ หากรู้สึกว่ามีเวลา สามารถดำเนินชีวิต กระทำการงาน ในจังหวะและลีลาที่เป็นตัวของตัวเอง

การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ (Total Relaxation)

ดร. จอน คาบัต ซิน เปิดคลินิกคลายเครียดอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทย์แมสสาชูเซต สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บปวดเรื้อรัง ตั้งแต่คนเป็นโรคไมเกรน ไปจนกระทั่งคนไข้วาระสุดท้ายของโรคเอดส์หรือโรคมะเร็ง จอนจะให้คนไข้ได้เรียนรู้เรื่องความผ่อนคลาย โดยเริ่มจากกิจกรรมการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ

การผ่อนคลายแบบนี้ เริ่มโดยให้คนเข้าร่วมนอนหงายอย่างผ่อนคลาย แขนขากางออกเล็กน้อย ฝ่ามือหงายขึ้น ทางโยคะจะเรียกว่าศพอาสนะ หรือท่านอนตาย คือให้ปล่อยวางทุกอย่างลง คลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ซึ่งอาจจะทำให้ดีขึ้นด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนก่อน พร้อมกับการหายใจเข้า แล้วคลายออกอย่างฉับพลัน พร้อมกับการหายใจออก เราก็จะได้รับรู้ความรู้สึกผ่อนคลายไปทั่วร่างกาย

กิจกรรมนี้อาจจะเปิดเพลงบรรเลงที่มีท่วงทำนองผ่อนคลาย และช่วยให้จิตใจสงบรำงับ กระบวนกรอาจกล่าวคำเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมผ่อนคลายร่างกายทีละส่วน ใช้ท่วงทำนองของซุ่มเสียงที่ผ่อนคลาย ให้จังหวะลีลาเนินนาบ หยุดเป็นพักๆ อันเป็นเสียงในคลื่นอัลฟา ที่จะทำให้คนได้ยินรู้สึกผ่อนคลายอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง เสียงในคลื่นอัลฟานี้จะพูดตรงไปยังจิตไร้สำนึกของผู้เข้าร่วม ทำให้การชักนำให้ผ่อนคลายเป็นไปอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น

“วันนี้... พวกท่านได้เดินทางมาโดยไม่ได้หลับนอนอย่างเต็มที่... อยากให้ท่านได้ผ่อนคลาย... ได้กลับมามีโอกาส... สำรวจร่างกายของตัวเอง... ลองมาดูไล่เลียงแต่นิ้วเท้าของท่าน... เช็คดูว่ามันสบายดีหรือเปล่า... หัวแม่เท้า... นิ้วเท้าอื่นๆ ...”

แล้วไล่เลียงไปเรื่อยๆ ด้วย จังหวะและซุ่มเสียงที่ทำให้รู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย ไปทั่วทั้งร่างกาย บางทีผู้เข้าร่วมบางท่านอาจจะหลับไป ก็ไม่เป็นไร

สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้นอกจากจะได้ความผ่อนคลายแล้ว ยังได้ความสดหรือการมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งจะได้รับการให้ความสำคัญตลอดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ ดังนั้นในกิจกรรมต่างๆ จะมีการสอดแทรกการกระตุ้นให้กลับมาดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะเสมอๆ ดังเช่น การเชิญระฆังแห่งสติเป็นระยะๆ

การกลับดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะยังเข้ามาเสริมสร้างให้เกิดประสบการณ์ตรง ที่ไม่ผ่านการตีความที่คุ้นชินอีกด้วย ในกรณีนี้คือการรับรู้ตรงๆ ถึงความเป็นไปในร่างกายของเรา เราเริ่มรับรู้เป็นครั้งแรกซึ่งอาการเคร่งเครียดต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในร่างกาย และเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายการตึงตัวของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ หลายคนเมื่อได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ จะได้เรียนรู้เรื่องการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก หลายคนอาจกล่าวว่า เพิ่งจะรู้สึกว่าผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร แต่ก็อาจมีบางท่านที่ไม่ผ่อนคลายในกิจกรรมนี้เช่นกัน ซึ่งจะต้องหาวิธีแก้ไขกันไปตามปฏิภาณและญาณทัศนะของกระบวนกรนั้นเอง

สำหรับเรื่องของจังหวะเวลาที่จะนำกิจกรรมนี้เข้ามาใช้ ว่าจะเป็นเวลาไหนดีนั้น ให้ดูเรื่องความเหนื่อยล้าและความเคร่งเครียดเป็นสำคัญ ในช่วงเริ่มต้น ถ้าผู้เข้าร่วมเหนื่อยล้ามา มีหลายครั้งที่เราใช้การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นกิจกรรมเริ่มต้น แต่ในบางสถานที่ที่ไม่อาจจัดเตรียมผ้าสำหรับรองนอนได้ เราอาจจะทำกิจกรรมนี้ในท่านั่ง แต่นั่นหมายความว่า ผลความผ่อนคลายที่จะคาดหวังได้ ก็คงจะหย่อนยานไปไม่น้อย แต่ก็ดีกว่าจะไม่ทำอะไรเลย อีกช่วงเวลาหนึ่งที่น่าทำคือช่วงบ่าย ที่ร่างกายอ่อนล้า เมื่อได้ทำ ผู้เข้าร่วมจะสดชื่นขึ้นมามากเลยทีเดียว

บางท่านอาจจะถามว่าเราจะทำได้บ่อยแค่ไหน กรณีนี้ให้กระบวนกรดำเนินกิจกรรมไปได้เลยตามความรู้สึก บางงานเราจะทำกันบ่อยมาก ไม่ต้องกลัวว่าเวลาจะเสียไป เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่ามากกว่าเสมอ เพราะถ้าไม่ผ่อนคลายแล้ว กิจกรรมทั้งหลายที่จะทำตามมาก็ไม่มีค่าอะไรเลย เพราะมันจะไม่ได้ผล อย่างที่ควรจะเป็น

น้ำกับจิตสำนึกใหม่ของมนุษย์

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549

ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นระยะๆ ให้ไปพูดและบรรยายเกี่ยวกับเรื่องความมหัศจรรย์ของน้ำที่ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ศึกษาและทำวิจัยไว้ด้วยการถ่ายรูปผลึกของน้ำ ทำให้เราเห็น “สีหน้าท่าทาง” ของน้ำได้เป็นครั้งแรก กระตุ้นให้เกิดคำถามและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับน้ำเพิ่มมากขึ้น

คำถามหลักๆ ที่น่าสนใจเช่น น้ำรับรู้ได้หรือไม่ น้ำมีความจำจริงหรือ น้ำรับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลได้หรือเปล่า ไปจนถึงน้ำมีชีวิตหรือไม่

ผู้เขียนจะยังไม่ตอบคำถามเหล่านี้ แต่จะสรุปให้ผู้อ่านทราบความสำคัญและความมหัศจรรย์ชองน้ำที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้ามา ในลักษณะเล่าสู่กันฟังก่อน

มีผู้รู้สรุปให้ฟังว่า น้ำหรือที่เรารู้จักแบบท่องจำได้ว่า H2O ทั่วโลกมีแค่ ๓% และใน ๓% นี้พบว่ามี ๒% ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอ มีน้ำเพียง ๑ % เท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ได้ ข้อมูลเล็กๆ แต่สำคัญยิ่งยวดนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากมนุษย์ไม่รู้จักการบริหารและจัดการเรื่องน้ำให้ดีพอ ยังไม่เรียนรู้และดำเนินชีวิตตามปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย โลกของเราจะประสบภาวะวิกฤตน้ำอย่างแน่นอน สงครามน้ำก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากขึ้น

พื้นผิวโลกปกคลุมด้วยน้ำประมาณ ๗๐% และบังเอิญหรือไม่ที่ตัวเลขนี้สอดคล้องกับองค์ประกอบของคนเราที่มีน้ำประมาณ ๗๐% โดยในตอนแรกเริ่มที่สเปิร์มผสมกับไข่แล้วปฏิสนธิ ชีวิตแรกเริ่มนี้ประกอบด้วยน้ำประมาณ ๙๕% เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะมีน้ำประมาณ ๗๐% เมื่อแก่ตัวเพิ่มขึ้นจะมีน้ำลดลงเหลือประมาณ ๕๐% เมื่อไหร่ที่น้ำมีน้อยกว่า ๕๐% อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

การแพทย์สมัยใหม่ก็วินิจฉัยโรคจากน้ำในร่างกายของผู้ป่วย เช่นเลือด น้ำลาย น้ำคร่ำ ปัสสาวะ... แพทย์ทางเลือกไม่ว่าจะในสมัยโบราณหรือสมัยปัจจุบัน รวมทั้งพระ หมอผี ก็ใช้น้ำตลอด เช่น วารีบำบัด น้ำมนต์ น้ำมันพราย... หรือในพิธีสำคัญก็มีน้ำมาเกี่ยวข้อง เช่น การดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา โองการแช่งน้ำ การหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ พิธีรดน้ำสังข์ การทำบุญกรวดน้ำ... และที่สำคัญ เราดื่มน้ำและกินอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบทุกวัน

น้ำสำคัญจริงๆ ขาดน้ำเราก็ตาย ขาดน้ำพืชและสัตว์ก็ตาย ขาดน้ำสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ดำรงอยู่ไม่ได้

เราจึงควรรักน้ำ รักษาน้ำ เคารพน้ำ ไม่ทำร้ายและทำลายน้ำ เพราะนั่นเท่ากับว่า เรากำลังทำร้ายและทำลายตัวเราเองและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

คราวนี้ก็จะมาถึงคำถามที่ว่า น้ำรับรู้ได้หรือไม่ น้ำมีความจำจริงหรือ น้ำรับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลได้หรือเปล่า ในเรื่องนี้ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ มีคำตอบที่เป็นรูปธรรม และน่าทึ่ง เพราะท่านสามารถถ่ายภาพของน้ำที่มีลักษณะแตกต่างกันให้เห็นได้ด้วยตา เช่น น้ำที่สะอาดจะมีผลึกที่สวยงาม น้ำสกปรกหรือมีมลพิษจะไม่มีผลึก และดูน่าเกลียด บางครั้งก็น่ากลัว

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราพูดดีๆ กับน้ำ ขอบคุณน้ำ แล้วเอามาถ่ายภาพด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ น้ำจะมีผลึกที่สวยงาม แต่ถ้าเราพูดไม่ดีกับน้ำหรือด่าน้ำ น้ำจะไม่มีผลึกและน่าเกลียดน่ากลัว ถ้าเอาน้ำที่เราพูดดีๆ ด้วยไปรดต้นพืช ต้นพืชก็จะเจริญเติบโตดีและเร็ว แต่ถ้าเราเอาน้ำที่เราด่าทุกวันไปรดต้นพืช ต้นพืชก็เติบโตไม่ดีและบางทีก็เฉาตาย ที่น่าทึ่งเพิ่มขึ้นก็คือ ถ้าเราให้น้ำดูภาพที่สวยงาม น้ำจะมีผลึกที่สวยงาม แต่ถ้าให้ดูภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว น้ำจะไม่มีผลึกที่สวยงาม ในทางตรงกันข้ามจะดูน่าเกลียดน่ากลัว

และในทำนองเดียวกัน ถ้าให้น้ำฟังเพลงคลาสสิกกับฟังเพลงร็อคกระแทกกระทั้น ภาพของน้ำก็จะออกมาแตกต่างกัน และยังมีการทดลองอีกหลายรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่าน้ำรับรู้ได้ น้ำมีความจำ น้ำรับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลได้ โดยแสดงออกมาให้เห็นเป็นภาพ เสียดายที่บทความนี้มีเนื้อที่จำกัด ไม่สามารถ นำภาพเหล่านี้มาให้ดูได้ทั้งหมด ถ้าสนใจผู้เขียนยินดีรับเชิญไปบรรยายและถ่ายทอดการทดลองของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ประกอบภาพของน้ำที่ท่านและทีมงานถ่ายไว้ หรือจะลองไปซื้อหนังสือ ที่ชื่อว่า สาส์นจากวารี ที่ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น และ คุณศศิธร-ศศิวิมล รัชนี แปลเป็นภาษาไทย มีภาพของน้ำตามที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังอยู่มาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าถ้าท่านได้อ่านและเห็นภาพของน้ำเหล่านี้แล้ว ท่านอาจจะมีจิตสำนึกใหม่ที่ดีต่อน้ำมากขึ้น ท่านจะเข้าใจชีวิต รักชีวิตของท่านและของผู้อื่นเพิ่มขึ้น หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา สนับสนุนการจัดพิมพ์โดยโครงการจิตวิวัฒน์

ในหนังสือ สาส์นจากวารี เล่มนี้ ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นผู้เขียนคำนำให้ และนี่คือส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือ

...“สีหน้า ท่าทาง” ของน้ำที่เห็นได้จากรูปภาพผลึกน้ำที่แตกต่างและหลากหลาย ที่ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ และทีมวิจัยน้ำของท่านถ่ายไว้ สะท้อนให้เห็น “อารมณ์ และความรู้สึก” ซึ่งเปรียบเสมือน “พฤติกรรมภายนอก” ของการแสดงออกของน้ำ ที่ถ่ายภาพไว้ได้ด้วยกระบวนการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ท้าทายให้เราตั้งสมมติฐานเพื่อตรวจสอบยืนยันต่อไปว่า น้ำอาจจะมีความสามารถในการรับรู้ จำ และสื่อสารได้ น้ำอาจจะมีความคิด หรือแม้กระทั่ง “น้ำมีชีวิต”

ภาพผลึกน้ำทั้งหมดที่ปรากฏในหนังสือนี้ บางภาพสวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ บางภาพน่ากลัวน่าขยะแขยง แต่ทุกภาพน่าทึ่ง น่าประทับใจ ดูแล้วได้อารมณ์ได้ความรู้สึก และที่สำคัญได้ความคิด

ข้อสังเกต คำถาม และประเด็นชี้นำประกอบภาพของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ยิ่งน่าคิด น่าสนใจ ชวนให้คิด ชวนให้ศึกษาเพิ่มเติม ทั้งในแง่การค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา การศึกษา ศาสนาและความเป็นธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งต่อไป

ผลการศึกษาวิจัยที่นำเสนอผ่านภาพผลึกน้ำประกอบคำบรรยายในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นตัวกระตุ้นที่ท้าทายให้นักวิชาการทุกสาขาและบุคคลที่สนใจได้มีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับน้ำ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ โลก จักรวาลและทุกสิ่ง โดยเฉพาะตัวเราและชีวิตของเราเอง

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า น้ำเป็นฐานสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต น้ำเป็นแหล่งกำเนิด โอบอุ้ม หล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อให้กำเนิด โอบอุ้ม หล่อเลี้ยงชีวิต... ไหลเลื่อน เชื่อมโยง หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงไป ไม่สิ้นสุด

ถ้าท่านผู้อ่าน อ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านไป คิดไป ดูภาพผลึกน้ำที่ตอบสนองกับคำพูด เพลง และรูปภาพที่แตกต่างกันไป ดูไป คิดไป ผมเชื่อว่าท่านจะรู้สึกเคารพน้ำ สำนึกในบุญคุณของน้ำ และจะปฏิบัติต่อน้ำอย่างมีความเคารพมากขึ้น และถ้าสิ่งนี้เป็นจริงตามสมมติฐานของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ น้ำในแม่น้ำลำคลอง และทั่วๆ ไป โดยเฉพาะน้ำในตัวเรา น่าจะดีขึ้น ต้นไม้ สัตว์ ระบบนิเวศน์น่าจะดีขึ้น สุขภาวะของมนุษย์และสรรพสิ่งน่าจะดีขึ้น...

หรือลองคิดดู... ถ้าทุกคน ทุกอาชีพ ทุกบทบาทและทุกหน้าที่ คิดดี ทำดี พูดดี บ่อยๆ หรือสม่ำเสมอ น้ำในร่างกายของเราก็จะมีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีผลึกที่สวยงาม น้ำร่างกายของคนอื่นที่เราพูดคุยด้วยก็ดีขึ้น น้ำในธรรมชาติก็ดีขึ้น คุณภาพชีวิต และธรรมชาติก็ดีขึ้น

คำถามสุดท้ายที่พบค่อนข้างบ่อยคือ น้ำมีชีวิตหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และคงต้องใช้เวลามากพอควรในการพูดคุย เพราะประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินว่าสิ่งใดมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต

แต่ถ้าเราเชื่อหรือมีมุมมองว่าน้ำมีชีวิต แล้วปฏิบัติต่อน้ำในฐานะที่มีชีวิตอย่างเสมอภาค อย่างเท่าเทียมกับที่เรารักและห่วงใยในชีวิตของเราเอง น้ำก็คงจะดีขึ้น ชีวิตของเราก็คงจะดีขึ้น ชีวิตของสรรพสัตว์ และสรรพสิ่งก็คงจะดีขึ้น ไม่เห็นจะมีอะไรเสีย เพราะดีด้วยกันทุกฝ่าย

ในตอนท้ายของคำนำ ผู้เขียนได้สรุปเชิงเสนอแนะว่า

...เรามาอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างมีสติ และใช้ปัญญา หากพิจารณาว่าหนังสือเล่มนี้ดีมีประโยชน์ ก็ควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น เช่นสนับสนุนให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาหรือหนังสือประกอบการเรียนของนักเรียน นิสิตนักศึกษา นำผลการศึกษาวิจัยนี้เป็นฐานข้อมูล เพื่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสมมติฐานเพื่อการวิจัยค้นคว้าหาคำตอบสำหรับโครงการวิทยาศาสตร์ของนักเรียน หรือการออกแบบการวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย

ด้วยรัก (Love) และสำนึกในบุญคุณ (Gratitude) ต่อสรรพสิ่งและโดยเฉพาะน้ำ

Back to Top