วิบัติภัยที่ไร้ชื่อ

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549

เมื่อกล่าวถึงวิบัติภัย ผู้คนต่างก็นึกถึงหายนภัยที่ปรากฏขึ้นในรูปแบบของภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ดินถล่ม ไฟไหม้ป่า และสึนามิหรือทะเลไหวดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติล่าสุดที่ทำให้หัวใจของมนุษย์ทั้งโลกต้องสั่นไหว

อันเนื่องจากการทำหน้าที่อันดียิ่งของสื่อยุคโลกาภิวัตน์ เราได้เห็นภาพผู้คน-สิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ ยิ้มได้ หัวเราะได้ เช่นเดียวกับเรา-ถูกกระแสน้ำพัดและซัด หลุดหายไปทีละคนสองคน ต่อหน้าต่อตาเรา ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ว่า – ไปแล้วไปแล้ว

เราได้เห็นภาพของความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเจ้า ไม่ว่าจะเป็นผิวขาวหรือผิวเหลือง เราได้เห็นภาพของความช่วยเหลือ ที่ข้ามผ่านเขตแดน ข้ามผ่านวรรณะศักดินา ข้ามผ่านความมีชีวิตและความไร้ชีวิต สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เราได้สัมผัสรับรู้ผ่านตาเนื้อของเรา

เมื่อมองที่ภาพคลื่นยักษ์ขณะกำลังโถมเข้ามาหาผู้คน กระแทกซัดและวับหาย หากมองด้วยความพินิจพิเคราะห์ เราอาจจะมองเห็นสิ่งที่อาจจะไม่เคยปรากฏต่อดวงตาของเราอย่างชัดเจนมาก่อนก็เป็นได้ เราได้มองเห็นผู้คนที่ไปตั้งบ้านเรือนร้านค้าอยู่แน่นหนาเต็มชายฝั่ง ได้มองเห็นนักท่องเที่ยวมาจากทุกมุมโลก ได้มองเห็นพี่น้องชาวอีสานที่ไปค้าขายตั้งรกรากอยู่ชายทะเล ได้มองเห็นแรงงานชาวกะเหรี่ยงและพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และความหวั่นกลัวได้ข่มขู่ไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นเรียกร้องขอรับความช่วยเหลือ ได้มองเห็นผู้คนที่ไม่อาจหาโฉนดที่ดินมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ตรงที่ดินผืนนั้นมาหลายชั่วคน ได้มองเห็นนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัยได้รับการปลอบขวัญอย่างดียิ่งในเต๊นท์ติดแอร์ในขณะที่ผู้ประสบภัยชาวไทยต้องนั่งรอความช่วยเหลืออยู่ในเพิงกลางแดด ฯลฯ

ในเวลาปรกติ เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมผู้คนถึงได้อพยพหลั่งไหลไปตั้งรกรากอยู่ติดชายทะเลกันมากมายปานนั้น? ทำไมที่ดินริมทะเลจึงเป็นของโรงแรม เกสต์เฮาส์ และร้านค้าขายของที่ระลึก แทนที่จะเป็นของชาวประมง? ทำไมฝรั่งในประเทศร่ำรวยจึงมาดินแดนที่ยากจนแห่งนี้กันมาก? ทำไมคนอิสานถึงได้ไปหากินในที่ไกลจากบ้านและความคุ้นชินของตนเอง? ทำไมกะเหรี่ยงและพม่าถึงต้องหนีออกจากบ้านเกิดตนเองมาเป็นแรงงานราคาถูกและไร้สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับผู้อื่น? ทำไมชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมาแต่ปู่ย่าตาทวดถึงได้ไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตน? ทำไมการช่วยเหลือจึงมุ่งเน้นไปที่ผิวขาวก่อนผิวเหลือง ด้วยเหตุผลเพียงว่าเพื่อรักษาต้นทุนการท่องเที่ยวไว้?

ปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถือครองที่ดิน การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนและทำลายความนับถือตนไปเป็นโสภิณีแห่งบริโภคนิยม ยังมิจฉาเศรษฐกิจที่สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของโรงแรมและบาร์เบียร์ไม่กี่คนอีกเล่า ที่เบียดเบียนให้เกิดคนยากคนจน ไร้สิทธิ ไร้โอกาส สิ่งเหล่านี้ ล้วนมองเห็นได้มากมายในแห่งหนอื่น แม้สึนามิยังไม่มาเยือนก็ตาม

นอกเหนือจากนี้ เราได้เห็นความช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบ แต่เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามว่า เป็นการให้ที่เคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้สูญเสียหรือไม่? การประเมินราคามรณกรรมหรือการสาบสูญของญาติสนิทมิตรสหายของผู้สูญเสียด้วยฐานความคิดว่า "เท่าไหร่พอ" ไม่ว่าจะในรูปของเงินบริจาค เงินชดเชย และที่ดินสังคมสงเคราะห์ ก็เพื่อจะทำให้ชุมชนที่ถูกทำลายในฟื้นตัวแต่ในทางกายภาพเท่านั้นล่ะหรือ บทบาทของรัฐในฐานะผู้สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างชาญฉลาดควรจะเป็นไปในทิศทางเช่นไร?

การมองเห็นในสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นนี้ถือว่าสำคัญนัก สึนามิมีคุณต่อเรา ในฐานะที่ช่วยทำให้เห็นโครงสร้างของความรุนแรงเหล่านี้ได้เด่นชัดขึ้น ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ต่อให้ไม่มีสึนามิ มนุษย์ก็กำลังประสบกับวิบัติภัยที่ยิ่งกว่าสึนามิอยู่ทุกวี่ทุกวัน นั่นคือวิบัติภัยทางปัญญา ที่นำไปสู่หายนภัยทางจิตวิญญาณ

วิบัติภัยดังกล่าว เป็นดังวิบัติภัยที่ไร้ชื่อ เป็นวิบัติภัยนิรนาม น่าสงสาร เพราะไม่มีคนรู้จัก ตำราฝรั่งว่าด้วยการจัดการวิบัติภัยเล่มหนาเตอะ ยังกล่าวถึงแต่วิบัติภัยที่จับต้องได้ และจัดการได้ด้วยเครื่องมือทางเทคนิค เทคโนโลยี ผู้ชำนาญการ และหรือเครื่องมือทางสังคม
ความรู้หรือเทคนิควิธีเหล่านั้น ไม่อาจป้องกันหรือนำพาผู้คนให้พ้นจากวิบัติภัยทางปัญญาได้ ตราบที่ไม่นำพาผู้คนบรรลุสู่ความตระหนักรู้หรือจิตสำนึกอย่างใหม่ ต้องใช้ตาพิเศษ ต้องใช้จักษุปัญญามองให้เห็นเหตุปัจจัยและความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในมิติต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ มิฉะนั้นแล้ว ความรู้หรือเทคนิควิธีประเภทเหล่านั้นก็จะแก้ไขปัญหาได้แต่เพียงส่วน ๆ เราอาจจะทำให้ผู้คนวิ่งหนีสึนามิได้ทันเวลา แต่ไม่อาจทำลายโครงสร้างความรุนแรงที่อยู่ริมทะเลนั้นได้ นักท่องเที่ยวก็ยังจะหลั่งไหลมาตามแรงโฆษณาแห่งการท่องเที่ยว ที่ดินยังคงเป็นของนายทุน พม่าและกะเหรี่ยงหลบหนีเข้าเมืองยังคงถูกจ้างด้วยค่าแรงต่ำช้า ชาวประมงยังคงเป็นบ๋อยโรงแรม ลูกหลานของบ๋อยโรงแรมจะได้เป็นอะไรก็ยังน่าสงสัย

จักษุปัญญายังช่วยให้มองเห็นปัญหาที่พ้นไปจากตน พ้นไปจากเขตแดนและกาลเวลา เราย่อมเห็นความทุกข์ของผู้คนเช่นเดียวกันนี้ในประเทศที่สื่อมวลชนเข้าไปไม่ถึง ดังเช่น พม่า อินโดนีเซีย ศรีลังกา เป็นต้น เราย่อมบังเกิดความกรุณาได้แม้ผู้ที่มิได้มีสัญชาติเดียวกับเรา และหากเราตระหนักถึงโครงสร้างความรุนแรงอย่างแท้จริง เราจะมองเห็นภัยในปัจจุบันขณะ ดังเช่น เศรษฐกิจแบบโลภ การท่องเที่ยวที่ทำลายธรรมชาติและวิถีชีวิต ซึ่งจะสืบต่อไปยังลูกหลาน ไปยังอีกหลายชั่วคน สายโซ่แห่งความเบียดเบียนจะถูกทำลายไปได้ก็ด้วยความเมตตาที่ไร้กาลเวลานี้

วิบัติภัยไร้ชื่อไร้ตัวตนนี้ เป็นวิบัติภัยที่พึงใส่ใจให้มาก การมองเห็นหรือเสแสร้งว่ามองไม่เห็น ถือได้ว่าเป็นความมืดบอดอย่างแท้จริง และความมืดบอดของจักษุปัญญาเป็นหายนภัยที่รุนแรงยิ่งกว่าภัยธรรมชาติใดในโลกนี้ จักแก้ได้ก็ด้วยการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ หรือปฏิวัติทางจิตสำนึกเท่านั้น หากใครใส่ใจเขียนตำราเผยแพร่ หรือจัดเวิร์กช็อปว่าด้วยเรื่องดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรแก่การอนุโมทนา

One Comment

จ.ตุลยาทิตย์ กล่าวว่า...

สวรรค์บนโลก หรืออเวจีบนดิน



โลกตามสภาพธรรมชาติ ไม่มีเส้นแบ่งพรมแดน ไม่มีแยกเป็นเมืองเป็นประเทศ คนตามสภาพธรรมชาติก็ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติสัญชาติ เส้นแบ่งพรมแดนที่กำหนดเขตเมืองเขตประเทศ เชื้อชาติสัญชาติที่กำหนดเป็นคนเผ่านั้นของบ้านเมืองของประเทศนั้น ล้วนคนเป็นผู้กำหนด คนเป็นผู้แบ่งแยก คนเป็นผู้ทำให้สภาพตามธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวไม่มีแบ่งแยก ต้องถูกแบ่งแยกไปตามความคิดความเข้าใจความรู้สึก ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนสมมติขึ้นมาเองทั้งสิ้น ผลลัพธ์ก็คือการสร้างความแตกแยกระหว่างคนกับคนด้วยกันเอง เห็นคนด้วยกันว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน เป็นคนละเชื้อชาติ เป็นคนสัญชาติ อยู่กันคนละเขตแดน อยู่กันคนละประเทศ แยกขาดจากกัน ต้องแก่งแย่งชิงดีกัน ต้องฆ่าฟันทำร้ายกันเพื่อป้องกันหรือช่วงชิงเขตแดนที่สมมติขึ้นนั้น มีใครสำนึกบ้างไหมว่า ต่างฆ่ากันทำร้ายกันแค่เพื่อสิ่งอันเป็นสมมติเท่านั้นเอง ฆ่ากันเท่าไร ทำร้ายกันแค่ไหน ถ้ายกเอาความสมมติออกจากใจออกจากความคิดได้ก็จะเห็นความจริงว่า โลกไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ถ้าเพียงแค่ต่างคนมองเห็นความจริงไม่อ้างอิงยึดถือในสิ่งสมมติ ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งโลกก็เป็นของทุกคนและของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายร่วมกัน ถ้าต่างเอื้อเฟื้อกัน ต่างดูแลกัน ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะเป็นคนเหมือนกัน เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ต่างช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำนุบำรุง ช่วยกันพัฒนาให้ธรรมชาติเติบโตสวยงามผลิดอกออกผล เจริญงอกงาม เพื่อนำมาแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่คิดฆ่าฟันทำลายล้างเพื่อหวงกันเอาทรัพยากรไว้เป็นของตัวของพวกตัวแต่ฝ่ายเดียวแล้ว โลกใบนี้จะมีสภาพเป็นสวรรค์อันแสนสุขสำหรับทุกชีวิต
สิ่งร้ายกาจที่กำลังทำร้ายคน ทำร้ายโลกอยู่ในขณะนี้ มีที่มาจากการสมมติ การยึดถือ การทำผิดต่อสภาพอันแท้จริงของธรรมชาติ เพราะความหลงผิด ความเข้าใจผิด การแบ่งแยกเราเขา การหวงกัน การแย่งชิง การมุ่งทำร้ายฆ่าฟันกัน เพราะแยกพวก แยกเผ่าพันธ์ แยกประเทศบ้านเมืองกัน โลกนี้เป็นสวรรค์มีสิ่งสรรพ์พรั่งพร้อมเพียงพอสำหรับทุกชีวิต แต่ความเข้าใจผิดในความเป็นจริงของโลก เปลี่ยนสวรรค์ให้เป็นนรกแทน ช่างน่าเศร้าใจจริง สงคราม การรบราฆ่าฟันประหัตประหารกัน ที่คนบันดาลให้เกิดขึ้นล้วนเป็นเพราะความโง่เขลาในใจคนที่ หลงยึดติดในสมมติ ฆ่ากันทำร้ายกันเพราะเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างสมมติสร้างเรื่องขึ้นจากจิตใจ จากความคิด ยึดถือเรื่องที่สร้างนั้นไว้ ไม่ยอมให้มันดับไปตามธรรมชาติ ยิ่งคิดยิ่งอยากได้ ยิ่งคิดยิ่งแค้น ยิ่งคิดยิ่งร้อนรุ่ม แต่ก็ไม่ยอมทิ้งไม่ยอมวางความคิด ความอยากได้ หรือความแค้นนั้น ยึดไว้ถือไว้ คิดซ้ำ สร้างเรื่องเพิ่ม เติมไฟใส่ความอยากโหมเพลิงใส่ความแค้น เสริมแรงอาฆาต สร้างแรงพยาบาท แล้วก็นำไปสู่การแย่งชิง การทำลายล้าง จบลงด้วยความตาย ความบาดเจ็บ ความเสียหาย และความโศกเศร้า แล้วก็เริ่มใหม่ในวงจรเดิม วนล้างผลาญกันไปกันมาไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้สวรรค์บนโลกกลายเป็นอเวจีบนดิน สิ้นความสงบสุข เพราะสิ่งเดียวโดยสรุป คือความโง่เขลาไร้อริยะปัญญาของคนที่บังเอิญเกิดมาบนโลกนี้นั่นเอง


*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*

Back to Top