ศิลปศาสตร์แห่งการเป็นกระบวนกร

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549

ที่เชียงรายนี้มีชุมชนกระบวนกร เหมือนที่อื่นถิ่นอื่นอาจจะมีการผลิตอะไรขายเป็นสินค้าประจำหมู่บ้านหรือตำบล ที่เชียงรายมีชุมชนจิตวิวัฒน์ ที่เรียนรู้เรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการวิวัฒน์ เราเรียกผู้ฝึกฝนศิลปะแขนงนี้ว่า “กระบวนกร” ภาษาฝรั่งอาจจะตรงกับคำว่า “Facilitator” กระมัง โดยมีลักษณะเด่นๆ สองประการคือ

หนึ่ง ทฤษฎีการเรียนรู้ที่อยู่เบื้องหลังอันเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา และเป็นความรู้ในด้านการวิจัยสมองล่าสุด ณ พรมแดนความรู้ ที่มีสมมติฐานว่ามนุษย์มีกระบวนการเรียนรู้เป็นเมล็ดพันธุ์ในตนอยู่แล้ว กระบวนการที่เราจัดทำเพียงสะกิดหรือเกาให้ถูกที่คันเพื่อให้การเรียนรู้นั้นๆ ได้ระเบิดตัวออกมาเป็นปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์อันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

สอง การเรียนรู้นั้นไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้ของปัจเจก เมื่อเรามีกติกาและท่าทีกับการพูดคุยที่เหมาะสม เราจะได้เข้าถึงการเรียนรู้แบบสมุหภาพ หรือ collective หรือการเรียนรู้ระดับกลุ่มชน ที่นำพามนุษย์ไปสู่ภูมิปัญญาอันสูงกว่าในระดับปัจเจก

ทั้งสองประเด็นแห่งการเรียนรู้จึงถูกแปลความออกมาเป็นทั้งเนื้อหาให้ได้เรียนรู้เข้าใจ และเป็นกระบวนการและกิจกรรมที่นำพาผู้คนได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่เนื้อหาเพียงเท่านั้น หากเข้าไปเกี่ยวพันกับสมองทั้งสามชั้น ปัญญาสามฐาน เราไม่ได้ดูแลเฉพาะแต่เรื่องของความคิด แต่เราได้ดูแลพลังชีวิตด้วย เจตจำนงด้วย อารมณ์ความรู้สึกด้วย และในเรื่องความคิดเราไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระนาบของพุทธิปัญญา แต่เรายังดำเนินไปในดินแดนของการบ่มเพาะญาณทัศนะ คือเราทำกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องกายผสมผสานไปกับเรื่องของหัวใจและหัวสมองไปในเวลาเดียวกัน จึงไม่ใช่ความรู้ที่แห้งแล้งปราศจากความรู้สึก หรือขาดพลังแห่งปฏิบัติการ การแบ่งแยกนั้นได้สลายตัวไปในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมที่เข้ากันได้กับธรรมชาติแท้จริงแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์

โหมดปกติ เจ้าตัวเล็ก คลื่นสมองอัลฟา ผสานปัญญาสามฐาน พื้นที่การเรียนรู้ผ่านมิติของจิตไร้สำนึก โยนิโสมนสิการและวิปัสสนาญาณ

เราจะนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาผสมผสานกัน แต่มุ่งชี้ไปยังสภาวะเดียวกัน ในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่คิดค้นกันขึ้นในกระบวนการเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนา เราจะเห็นได้ว่า ในโหมดปกป้องนั้น ชีวิตจะถดถอยจากสภาวะปกติ หรือโหมดปกติ กล่าวคือชีวิตจะหยุดและปิดการเรียนรู้ไปอย่างอัตโนมัติ ปัญญาสามฐาน หรือสมองสามชั้นจะทำงานอยู่ในฐานของความกลัว ร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่า โดยลำดับ

แต่ในโหมดปกติ ชีวิตจะเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา เราจะกล้า ไม่กลัว เราจะมีอารมณ์ดี ไม่ตกอยู่ในร่องอารมณ์ เราจะรู้สึกปลอดโปร่ง เราจะยืดหยุ่นสร้างสรรค์ในทางความคิด นี่เองคือการเปิดออกของพื้นที่แห่งการเรียนรู้

เราจะจดจำโหมดของชีวิตว่าปกติหรือไม่ ได้อย่างง่ายๆ โดยจดจำคุณลักษณะของคลื่นสมองสองคลื่น คือคลื่นเบต้า กับคลื่นอัลฟา เวลาเราอยู่ในโหมดปกติ สมองของเราจะเป็นคลื่นอัลฟา แต่ในโหมดปกป้องสมองของเราจะอยู่ในคลื่นเบต้า ที่มีความถี่ ๑๔-๒๑ รอบต่อวินาที ในขณะที่คลื่นอัลฟามีความถี่ ๗-๑๔ รอบต่อวินาที ในคลื่นเบต้า คุณลักษณะของมันคือ เราจะรู้สึกเร่งรีบบีบคั้น ดังนั้น เมื่อเรารู้สึกเร่งรีบบีบคั้นนั้น แสดงว่าเราอยู่ในคลื่นเบต้าแล้ว เราอยู่ในโหมดปกป้องแล้ว ในขณะที่ในคลื่นอัลฟานั้น เราจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ แบบตื่นตัว ไม่ใช่หลับใหล

อีกประการหนึ่งในคลื่นอัลฟานั้น เราเปิดมิติการทำงานร่วมกันระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ในคลื่นเบต้า เนื่องจากเสียงดังของเจ้าตัวช่างพูด หรือ talking self ในศาสตร์แห่งแม่มด จะพร่ำบ่นและตัดสินคน ตัดสินความอยู่ตลอดเวลา มันจึงไม่อาจได้ยินเสียงของจิตไร้สำนึก แต่ในคลื่นอัลฟา ซึ่งเป็นคลื่นของเจ้าตัวเล็ก หรือ younger self ในศาสตร์แห่งแม่มดนั้น มีการพูดคุยกันระหว่างจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกอยู่ตลอดเวลา มีการฝากโจทย์จากจิตสำนึกไปยังจิตไร้สำนึก หรือจากหยดน้ำไปถึงมหาสมุทร เพราะเมื่อเทียบเคียงกัน หากจิตสำนึกเทียบได้กับหยดน้ำ จิตไร้สำนึกย่อมอาจเทียบได้กับมหาสมุทร จิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นองค์กรจัดการตัวเอง เป็นประดุจคอมพิวเตอร์ที่มีชีวิต ซึ่งจะทำงานตอบคำถามให้แก่เราได้ทุกๆ เรื่อง

พุทธธรรมกับสมองส่วนหน้า

ในเรื่องของสมอง สมองส่วนหน้านั้น เป็นวิวัฒนาการล่าสุดที่จะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุครบบวช ๒๐ ปี โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าผากหรือที่ตั้งของตาที่สาม อันเปรียบได้ว่าเป็นปัญญาที่ข้ามพ้นความเป็นทวิภาค หรือทวิภาวะออกไป ในคลื่นอัลฟานั้น สมองส่วนหน้าได้ถูกกระตุ้นให้ทำงาน โดยคุณลักษณะหลักในของทำงานในสมองส่วนหน้า คือการใคร่ครวญ ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของอุปจารสมาธิ หรือสมาธิในฌานชั้นต้นสองประการ ในภาษาบาลีคือ วิตก วิจาร ซึ่งไม่ได้หมายความว่า วิตกกังวล หรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่หมายถึงความคิดแบบใคร่ครวญ การเฝ้ามองอย่างเนิ่นนานโดยพลิกดูมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งไปตรงกับคำทางพุทธว่าโยนิโสมนสิการด้วยเช่นกัน

การทำงานของสมองส่วนหน้าแบบนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง คือ เดวิด เดวิดสัน หนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ไปสนทนากับสมเด็จองค์ทะไลลามะเนืองๆ ได้ศึกษาว่า เมื่อมีการใคร่ครวญเกิดขึ้น มันไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า และเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน ร่องอารมณ์ที่มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่อมิกดาลานี้จะทำงานน้อยลงหรือหยุดทำงาน และในทางกลับกัน เมื่อร่องอารมณ์ในอมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าจะทำงานน้อยลงหรือเฉื่อยลง กล่าวคือ เมื่อเกิดร่องอารมณ์ การใคร่ครวญของมนุษย์จะถูกลดทอนลง เหมือนกับคำพูดที่ว่า “เห็นช้างตัวเท่าหมู”

นี่คือการเชื่อมโยงงานวิจัยทางสมองเข้ากับองค์ความรู้ในพุทธธรรม

ถ้าเชื่อมอัลฟากับโหมดปกติเข้ากับพุทธธรรม จะเห็นได้ว่า สภาวะในคลื่นอัลฟาก็คือความผ่อนคลายแบบตื่นตัว ที่เชื่อมโยงกับเจ้าตัวเล็กในศาสตร์แห่งแม่มด เจ้าตัวเล็กจะมองชีวิตอย่างสนุกสนาน ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีระบบโรงเรียน ตรงนี้ ผลพวงที่ได้ทันที คือปีติ สุข อันเป็นองค์คุณอีกสองประการของฌานชั้นต้น

อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อจิตมีปิติ มีความสุข และใคร่ครวญ จิตก็จะเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ หรืออาจกล่าวได้ว่า จิตในโหมดปกติจะเป็นสมาธิของมัน หรือในคลื่นอัลฟา เมื่อเราหยุดและช้าลง ไปสู่คลื่นสมองที่ช้าลง ไปสู่การใคร่ครวญของสมองส่วนหน้า ไปสู่โยนิโสมนสิการ ไปสู่การเฝ้ามองอย่างเนิ่นนาน ไปสู่การฟังอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเรากับสิ่งที่เรารับรู้เป็นสิ่งเดียวกัน ผู้สังเกตกับผู้ถูกสังเกตเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อนั้น เราก็เข้าถึงองค์คุณประการที่ห้าของฌานชั้นต้น นั่นคือ เอกัคตา

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ แม้ว่าพระพุทธองค์จะดำดิ่งไปในฌานชั้นไหนๆ ได้ก็ตาม แต่กลับมาตรัสรู้ที่ฌานชั้นต้นนี้เอง

เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย

คนที่มีความเครียดและไม่ผ่อนคลาย มักจะไม่รู้ตัวและคิดว่าตัวเองไม่เครียด แต่ความเครียดมันค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนโดยเราไม่รู้ตัว จนกระทั่งกลายมาเป็นวิถีชีวิตของเรา เป็นส่วนหนึ่งของความชินชา จนกระทั่ง เราคิดว่านี่คือความเป็นปกติของเรา ที่มากับความเครียดก็คือการดำรงชีวิตอยู่ในคลื่นเบต้า ในความเร่งรีบบีบคั้น เราอยู่ในความเร่งรีบบีบคั้นจนจำเจ จนกระทั่งคิดว่าชีวิตและการทำงานแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงมีวิถีชีวิตอยู่กับความกลัว ความวิตกกังวล ร่องอารมณ์และความคิดที่วนเวียนอยู่ในเทปม้วนเก่ากันจนชินชา

เราต้องกลับมาเรียนรู้เรื่องการผ่อนคลาย มาเรียนรู้การกลับมาใช้ชีวิตในความเป็นปกติจริงๆ ในความผ่อนคลาย โปร่งโล่ง สบายใจ สบายกาย ในสภาวะที่กายก็ผ่อนคลาย จิตใจก็ไม่เร่งรีบ หากรู้สึกว่ามีเวลา สามารถดำเนินชีวิต กระทำการงาน ในจังหวะและลีลาที่เป็นตัวของตัวเอง

การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ (Total Relaxation)

ดร. จอน คาบัต ซิน เปิดคลินิกคลายเครียดอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทย์แมสสาชูเซต สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บปวดเรื้อรัง ตั้งแต่คนเป็นโรคไมเกรน ไปจนกระทั่งคนไข้วาระสุดท้ายของโรคเอดส์หรือโรคมะเร็ง จอนจะให้คนไข้ได้เรียนรู้เรื่องความผ่อนคลาย โดยเริ่มจากกิจกรรมการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ

การผ่อนคลายแบบนี้ เริ่มโดยให้คนเข้าร่วมนอนหงายอย่างผ่อนคลาย แขนขากางออกเล็กน้อย ฝ่ามือหงายขึ้น ทางโยคะจะเรียกว่าศพอาสนะ หรือท่านอนตาย คือให้ปล่อยวางทุกอย่างลง คลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ซึ่งอาจจะทำให้ดีขึ้นด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนก่อน พร้อมกับการหายใจเข้า แล้วคลายออกอย่างฉับพลัน พร้อมกับการหายใจออก เราก็จะได้รับรู้ความรู้สึกผ่อนคลายไปทั่วร่างกาย

กิจกรรมนี้อาจจะเปิดเพลงบรรเลงที่มีท่วงทำนองผ่อนคลาย และช่วยให้จิตใจสงบรำงับ กระบวนกรอาจกล่าวคำเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมผ่อนคลายร่างกายทีละส่วน ใช้ท่วงทำนองของซุ่มเสียงที่ผ่อนคลาย ให้จังหวะลีลาเนินนาบ หยุดเป็นพักๆ อันเป็นเสียงในคลื่นอัลฟา ที่จะทำให้คนได้ยินรู้สึกผ่อนคลายอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง เสียงในคลื่นอัลฟานี้จะพูดตรงไปยังจิตไร้สำนึกของผู้เข้าร่วม ทำให้การชักนำให้ผ่อนคลายเป็นไปอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น

“วันนี้... พวกท่านได้เดินทางมาโดยไม่ได้หลับนอนอย่างเต็มที่... อยากให้ท่านได้ผ่อนคลาย... ได้กลับมามีโอกาส... สำรวจร่างกายของตัวเอง... ลองมาดูไล่เลียงแต่นิ้วเท้าของท่าน... เช็คดูว่ามันสบายดีหรือเปล่า... หัวแม่เท้า... นิ้วเท้าอื่นๆ ...”

แล้วไล่เลียงไปเรื่อยๆ ด้วย จังหวะและซุ่มเสียงที่ทำให้รู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย ไปทั่วทั้งร่างกาย บางทีผู้เข้าร่วมบางท่านอาจจะหลับไป ก็ไม่เป็นไร

สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้นอกจากจะได้ความผ่อนคลายแล้ว ยังได้ความสดหรือการมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งจะได้รับการให้ความสำคัญตลอดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ ดังนั้นในกิจกรรมต่างๆ จะมีการสอดแทรกการกระตุ้นให้กลับมาดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะเสมอๆ ดังเช่น การเชิญระฆังแห่งสติเป็นระยะๆ

การกลับดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะยังเข้ามาเสริมสร้างให้เกิดประสบการณ์ตรง ที่ไม่ผ่านการตีความที่คุ้นชินอีกด้วย ในกรณีนี้คือการรับรู้ตรงๆ ถึงความเป็นไปในร่างกายของเรา เราเริ่มรับรู้เป็นครั้งแรกซึ่งอาการเคร่งเครียดต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในร่างกาย และเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายการตึงตัวของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ หลายคนเมื่อได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ จะได้เรียนรู้เรื่องการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก หลายคนอาจกล่าวว่า เพิ่งจะรู้สึกว่าผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร แต่ก็อาจมีบางท่านที่ไม่ผ่อนคลายในกิจกรรมนี้เช่นกัน ซึ่งจะต้องหาวิธีแก้ไขกันไปตามปฏิภาณและญาณทัศนะของกระบวนกรนั้นเอง

สำหรับเรื่องของจังหวะเวลาที่จะนำกิจกรรมนี้เข้ามาใช้ ว่าจะเป็นเวลาไหนดีนั้น ให้ดูเรื่องความเหนื่อยล้าและความเคร่งเครียดเป็นสำคัญ ในช่วงเริ่มต้น ถ้าผู้เข้าร่วมเหนื่อยล้ามา มีหลายครั้งที่เราใช้การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นกิจกรรมเริ่มต้น แต่ในบางสถานที่ที่ไม่อาจจัดเตรียมผ้าสำหรับรองนอนได้ เราอาจจะทำกิจกรรมนี้ในท่านั่ง แต่นั่นหมายความว่า ผลความผ่อนคลายที่จะคาดหวังได้ ก็คงจะหย่อนยานไปไม่น้อย แต่ก็ดีกว่าจะไม่ทำอะไรเลย อีกช่วงเวลาหนึ่งที่น่าทำคือช่วงบ่าย ที่ร่างกายอ่อนล้า เมื่อได้ทำ ผู้เข้าร่วมจะสดชื่นขึ้นมามากเลยทีเดียว

บางท่านอาจจะถามว่าเราจะทำได้บ่อยแค่ไหน กรณีนี้ให้กระบวนกรดำเนินกิจกรรมไปได้เลยตามความรู้สึก บางงานเราจะทำกันบ่อยมาก ไม่ต้องกลัวว่าเวลาจะเสียไป เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่ามากกว่าเสมอ เพราะถ้าไม่ผ่อนคลายแล้ว กิจกรรมทั้งหลายที่จะทำตามมาก็ไม่มีค่าอะไรเลย เพราะมันจะไม่ได้ผล อย่างที่ควรจะเป็น

Back to Top