น้ำกับจิตสำนึกใหม่ของมนุษย์

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549

ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นระยะๆ ให้ไปพูดและบรรยายเกี่ยวกับเรื่องความมหัศจรรย์ของน้ำที่ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ศึกษาและทำวิจัยไว้ด้วยการถ่ายรูปผลึกของน้ำ ทำให้เราเห็น “สีหน้าท่าทาง” ของน้ำได้เป็นครั้งแรก กระตุ้นให้เกิดคำถามและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับน้ำเพิ่มมากขึ้น

คำถามหลักๆ ที่น่าสนใจเช่น น้ำรับรู้ได้หรือไม่ น้ำมีความจำจริงหรือ น้ำรับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลได้หรือเปล่า ไปจนถึงน้ำมีชีวิตหรือไม่

ผู้เขียนจะยังไม่ตอบคำถามเหล่านี้ แต่จะสรุปให้ผู้อ่านทราบความสำคัญและความมหัศจรรย์ชองน้ำที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้ามา ในลักษณะเล่าสู่กันฟังก่อน

มีผู้รู้สรุปให้ฟังว่า น้ำหรือที่เรารู้จักแบบท่องจำได้ว่า H2O ทั่วโลกมีแค่ ๓% และใน ๓% นี้พบว่ามี ๒% ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอ มีน้ำเพียง ๑ % เท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ได้ ข้อมูลเล็กๆ แต่สำคัญยิ่งยวดนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากมนุษย์ไม่รู้จักการบริหารและจัดการเรื่องน้ำให้ดีพอ ยังไม่เรียนรู้และดำเนินชีวิตตามปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย โลกของเราจะประสบภาวะวิกฤตน้ำอย่างแน่นอน สงครามน้ำก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากขึ้น

พื้นผิวโลกปกคลุมด้วยน้ำประมาณ ๗๐% และบังเอิญหรือไม่ที่ตัวเลขนี้สอดคล้องกับองค์ประกอบของคนเราที่มีน้ำประมาณ ๗๐% โดยในตอนแรกเริ่มที่สเปิร์มผสมกับไข่แล้วปฏิสนธิ ชีวิตแรกเริ่มนี้ประกอบด้วยน้ำประมาณ ๙๕% เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะมีน้ำประมาณ ๗๐% เมื่อแก่ตัวเพิ่มขึ้นจะมีน้ำลดลงเหลือประมาณ ๕๐% เมื่อไหร่ที่น้ำมีน้อยกว่า ๕๐% อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

การแพทย์สมัยใหม่ก็วินิจฉัยโรคจากน้ำในร่างกายของผู้ป่วย เช่นเลือด น้ำลาย น้ำคร่ำ ปัสสาวะ... แพทย์ทางเลือกไม่ว่าจะในสมัยโบราณหรือสมัยปัจจุบัน รวมทั้งพระ หมอผี ก็ใช้น้ำตลอด เช่น วารีบำบัด น้ำมนต์ น้ำมันพราย... หรือในพิธีสำคัญก็มีน้ำมาเกี่ยวข้อง เช่น การดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา โองการแช่งน้ำ การหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ พิธีรดน้ำสังข์ การทำบุญกรวดน้ำ... และที่สำคัญ เราดื่มน้ำและกินอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบทุกวัน

น้ำสำคัญจริงๆ ขาดน้ำเราก็ตาย ขาดน้ำพืชและสัตว์ก็ตาย ขาดน้ำสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ดำรงอยู่ไม่ได้

เราจึงควรรักน้ำ รักษาน้ำ เคารพน้ำ ไม่ทำร้ายและทำลายน้ำ เพราะนั่นเท่ากับว่า เรากำลังทำร้ายและทำลายตัวเราเองและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

คราวนี้ก็จะมาถึงคำถามที่ว่า น้ำรับรู้ได้หรือไม่ น้ำมีความจำจริงหรือ น้ำรับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลได้หรือเปล่า ในเรื่องนี้ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ มีคำตอบที่เป็นรูปธรรม และน่าทึ่ง เพราะท่านสามารถถ่ายภาพของน้ำที่มีลักษณะแตกต่างกันให้เห็นได้ด้วยตา เช่น น้ำที่สะอาดจะมีผลึกที่สวยงาม น้ำสกปรกหรือมีมลพิษจะไม่มีผลึก และดูน่าเกลียด บางครั้งก็น่ากลัว

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราพูดดีๆ กับน้ำ ขอบคุณน้ำ แล้วเอามาถ่ายภาพด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ น้ำจะมีผลึกที่สวยงาม แต่ถ้าเราพูดไม่ดีกับน้ำหรือด่าน้ำ น้ำจะไม่มีผลึกและน่าเกลียดน่ากลัว ถ้าเอาน้ำที่เราพูดดีๆ ด้วยไปรดต้นพืช ต้นพืชก็จะเจริญเติบโตดีและเร็ว แต่ถ้าเราเอาน้ำที่เราด่าทุกวันไปรดต้นพืช ต้นพืชก็เติบโตไม่ดีและบางทีก็เฉาตาย ที่น่าทึ่งเพิ่มขึ้นก็คือ ถ้าเราให้น้ำดูภาพที่สวยงาม น้ำจะมีผลึกที่สวยงาม แต่ถ้าให้ดูภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว น้ำจะไม่มีผลึกที่สวยงาม ในทางตรงกันข้ามจะดูน่าเกลียดน่ากลัว

และในทำนองเดียวกัน ถ้าให้น้ำฟังเพลงคลาสสิกกับฟังเพลงร็อคกระแทกกระทั้น ภาพของน้ำก็จะออกมาแตกต่างกัน และยังมีการทดลองอีกหลายรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่าน้ำรับรู้ได้ น้ำมีความจำ น้ำรับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลได้ โดยแสดงออกมาให้เห็นเป็นภาพ เสียดายที่บทความนี้มีเนื้อที่จำกัด ไม่สามารถ นำภาพเหล่านี้มาให้ดูได้ทั้งหมด ถ้าสนใจผู้เขียนยินดีรับเชิญไปบรรยายและถ่ายทอดการทดลองของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ประกอบภาพของน้ำที่ท่านและทีมงานถ่ายไว้ หรือจะลองไปซื้อหนังสือ ที่ชื่อว่า สาส์นจากวารี ที่ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น และ คุณศศิธร-ศศิวิมล รัชนี แปลเป็นภาษาไทย มีภาพของน้ำตามที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังอยู่มาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าถ้าท่านได้อ่านและเห็นภาพของน้ำเหล่านี้แล้ว ท่านอาจจะมีจิตสำนึกใหม่ที่ดีต่อน้ำมากขึ้น ท่านจะเข้าใจชีวิต รักชีวิตของท่านและของผู้อื่นเพิ่มขึ้น หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา สนับสนุนการจัดพิมพ์โดยโครงการจิตวิวัฒน์

ในหนังสือ สาส์นจากวารี เล่มนี้ ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นผู้เขียนคำนำให้ และนี่คือส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือ

...“สีหน้า ท่าทาง” ของน้ำที่เห็นได้จากรูปภาพผลึกน้ำที่แตกต่างและหลากหลาย ที่ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ และทีมวิจัยน้ำของท่านถ่ายไว้ สะท้อนให้เห็น “อารมณ์ และความรู้สึก” ซึ่งเปรียบเสมือน “พฤติกรรมภายนอก” ของการแสดงออกของน้ำ ที่ถ่ายภาพไว้ได้ด้วยกระบวนการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ท้าทายให้เราตั้งสมมติฐานเพื่อตรวจสอบยืนยันต่อไปว่า น้ำอาจจะมีความสามารถในการรับรู้ จำ และสื่อสารได้ น้ำอาจจะมีความคิด หรือแม้กระทั่ง “น้ำมีชีวิต”

ภาพผลึกน้ำทั้งหมดที่ปรากฏในหนังสือนี้ บางภาพสวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ บางภาพน่ากลัวน่าขยะแขยง แต่ทุกภาพน่าทึ่ง น่าประทับใจ ดูแล้วได้อารมณ์ได้ความรู้สึก และที่สำคัญได้ความคิด

ข้อสังเกต คำถาม และประเด็นชี้นำประกอบภาพของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ยิ่งน่าคิด น่าสนใจ ชวนให้คิด ชวนให้ศึกษาเพิ่มเติม ทั้งในแง่การค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา การศึกษา ศาสนาและความเป็นธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งต่อไป

ผลการศึกษาวิจัยที่นำเสนอผ่านภาพผลึกน้ำประกอบคำบรรยายในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นตัวกระตุ้นที่ท้าทายให้นักวิชาการทุกสาขาและบุคคลที่สนใจได้มีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับน้ำ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ โลก จักรวาลและทุกสิ่ง โดยเฉพาะตัวเราและชีวิตของเราเอง

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า น้ำเป็นฐานสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต น้ำเป็นแหล่งกำเนิด โอบอุ้ม หล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อให้กำเนิด โอบอุ้ม หล่อเลี้ยงชีวิต... ไหลเลื่อน เชื่อมโยง หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงไป ไม่สิ้นสุด

ถ้าท่านผู้อ่าน อ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านไป คิดไป ดูภาพผลึกน้ำที่ตอบสนองกับคำพูด เพลง และรูปภาพที่แตกต่างกันไป ดูไป คิดไป ผมเชื่อว่าท่านจะรู้สึกเคารพน้ำ สำนึกในบุญคุณของน้ำ และจะปฏิบัติต่อน้ำอย่างมีความเคารพมากขึ้น และถ้าสิ่งนี้เป็นจริงตามสมมติฐานของ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ น้ำในแม่น้ำลำคลอง และทั่วๆ ไป โดยเฉพาะน้ำในตัวเรา น่าจะดีขึ้น ต้นไม้ สัตว์ ระบบนิเวศน์น่าจะดีขึ้น สุขภาวะของมนุษย์และสรรพสิ่งน่าจะดีขึ้น...

หรือลองคิดดู... ถ้าทุกคน ทุกอาชีพ ทุกบทบาทและทุกหน้าที่ คิดดี ทำดี พูดดี บ่อยๆ หรือสม่ำเสมอ น้ำในร่างกายของเราก็จะมีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีผลึกที่สวยงาม น้ำร่างกายของคนอื่นที่เราพูดคุยด้วยก็ดีขึ้น น้ำในธรรมชาติก็ดีขึ้น คุณภาพชีวิต และธรรมชาติก็ดีขึ้น

คำถามสุดท้ายที่พบค่อนข้างบ่อยคือ น้ำมีชีวิตหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และคงต้องใช้เวลามากพอควรในการพูดคุย เพราะประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินว่าสิ่งใดมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต

แต่ถ้าเราเชื่อหรือมีมุมมองว่าน้ำมีชีวิต แล้วปฏิบัติต่อน้ำในฐานะที่มีชีวิตอย่างเสมอภาค อย่างเท่าเทียมกับที่เรารักและห่วงใยในชีวิตของเราเอง น้ำก็คงจะดีขึ้น ชีวิตของเราก็คงจะดีขึ้น ชีวิตของสรรพสัตว์ และสรรพสิ่งก็คงจะดีขึ้น ไม่เห็นจะมีอะไรเสีย เพราะดีด้วยกันทุกฝ่าย

ในตอนท้ายของคำนำ ผู้เขียนได้สรุปเชิงเสนอแนะว่า

...เรามาอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างมีสติ และใช้ปัญญา หากพิจารณาว่าหนังสือเล่มนี้ดีมีประโยชน์ ก็ควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น เช่นสนับสนุนให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาหรือหนังสือประกอบการเรียนของนักเรียน นิสิตนักศึกษา นำผลการศึกษาวิจัยนี้เป็นฐานข้อมูล เพื่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสมมติฐานเพื่อการวิจัยค้นคว้าหาคำตอบสำหรับโครงการวิทยาศาสตร์ของนักเรียน หรือการออกแบบการวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย

ด้วยรัก (Love) และสำนึกในบุญคุณ (Gratitude) ต่อสรรพสิ่งและโดยเฉพาะน้ำ

Back to Top