เส้นสายกับทฤษฎีโลกใบเล็ก

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 24 กุมภาพันธ์ 2549

เมื่อคนไทยพูดถึงคำว่า “เส้นสาย” พวกเรามักจะนึกไปถึง “แง่ลบ” ของคำๆ นี้กันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกชายของคนข้างบ้านสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้เพราะมี “เส้นสาย” หรือ “เส้นใหญ่” ลูกสาวของเพื่อนได้งานในบริษัทใหญ่บริษัทนั้นเป็นเพราะคุณพ่อของเธอมี “เส้นสาย” ใหญ่โตหรืออะไรทำนองนั้น แต่ความจริงแล้วผมคิดว่า “Connection” ระหว่างบุคคลไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ยกเว้นว่าเราจะนำไปเพื่อใช้ในการ “เอาเปรียบ” ผู้อื่น โดยเฉพาะในความหมายของคำว่า “เส้นสาย”

ด้วยมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ทุกๆ คน “มีเส้นสาย” กันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่ายากดีมีจนข้นแค้นประการใด ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคน “มีเส้นสาย” ถึงกันและกันได้หมด แต่ “เส้นสาย” ในที่นี้ ผมอยากจะหมายถึงอีกความหมายหนึ่งของ Connection ที่หมายถึง “ความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันและกัน”

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ทุกเดือนที่เริ่มกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมานั้น พวกเราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกันถึงประเด็น “มิติแห่งความเชื่อมโยง” ระหว่างกันค่อนข้างมากในทุกๆ ด้าน ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจว่า มีงานวิจัยที่บอกว่า “พวกเราทุกคนในโลกใบนี้สามารถติดต่อถึงใครก็ได้ด้วยการติดต่อผ่านคนไม่เกิน ๖ ครั้งโดยเฉลี่ย” เช่น ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดต้องการจะติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ท่านก็จะสามารถติดต่อได้ด้วยการกดโทรศัพท์, ใช้จดหมายหรือพูดคุยโดยตรงผ่านคนไม่เกิน ๖ คนโดยเฉลี่ยเท่านั้น ท่านก็จะสามารถติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐได้ (แต่เขาจะคุยกับท่านด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) หรือแม้แต่ท่านผู้อ่านท่านใดต้องการจะติดต่อกับใครคนหนึ่งที่เป็นคนพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ก็จะสามารถติดต่อกับคนผู้นั้นได้โดยผ่านคนไม่เกิน ๖ คนเช่นกัน

ประเด็นที่คุณหมอโกมาตรพูดถึงนี้มีนัยสำคัญที่ผมอยากจะนำมาเขียนถึงในบทความชิ้นนี้ ก็คือ “โลกใบนี้เต็มไปด้วยเส้นสาย” หรือในอีกนัยหนึ่ง “โลกใบนี้เล็กเกินกว่าที่เราคาดคิด”

มีผู้วิจัยและตั้งเป็น “ทฤษฎีโลกใบเล็ก - Small Worlds” ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีเครือข่ายที่เริ่มจากช่วงปี ๑๙๒๙ Frigyes Karinthy นักเขียนเรื่องสั้นชาวฮังการีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งได้เขียนเรื่อง Lancszemek หรือในภาษาอังกฤษแปลว่า “Chains” Karinthy บอกว่า เขากล้าพนันกับใครก็ตามในโลกใบนี้ว่า เขาสามารถหาคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในโลกใบนี้ซึ่งมีประชากร ๕๐๐ ล้านคนในตอนนั้นได้ โดยผ่านการติดต่อระหว่างคนไม่เกิน ๕ คน ในตอนนั้นไม่มีใครสนใจความคิดของ Karinthy เพราะคิดว่าก็เป็นเพียงแค่การเขียนเรื่องสั้น หรือไม่ก็คิดไปว่าเขาก็เพียงแค่เพ้อฝันไปตามจินตนาการของนักเขียนเท่านั้นเอง

อีกสามสิบกว่าปีต่อมา ในช่วงปี ๑๙๖๗ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาชื่อ สแตนเลย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) ได้ศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ด้วยการทดลองส่งจดหมาย ๑๖๐ ฉบับแบบสุ่มที่อยู่ไปยังคนอเมริกันในรัฐเนบราสก้าและแคนซัส และขอให้คนเหล่านั้นช่วยจัดส่งจดหมายไปยังเพื่อนของเขาคนหนึ่งซึ่งเป็นโบรกเกอร์อยู่ในบอสตันโดยที่ไม่บอกที่อยู่ โดยขอให้ส่งเป็นทอดๆ ไปยังเฉพาะคนที่รู้จักเท่านั้น ผลปรากฏว่าจดหมายส่วนใหญ่สามารถเดินทางไปถึงเพื่อนของเขาที่อยู่ในบอสตันได้ แถมยังพบปรากฏการณ์ประหลาดก็คือ จดหมายที่ส่งไปถึงนั้น ถึงเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยที่โดยเฉลี่ยแล้วจดหมายนั้นส่งไปโดยผ่านคนเพียงไม่เกิน ๕.๕-๖ คนเท่านั้น ต่อมามีผู้เรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า Six degree of separation”

จากปรากฏการณ์นี้ ในปี ๑๙๙๘ นี้เองนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันสองคนคือ ดันแคน วัตต์ และ สตีฟ สโตรกาทซ์ สามารถนำการเชื่อมโยงตรงนี้มาเขียนเป็นกราฟทางคณิตศาสตร์และสามารถอธิบายเป็นภาษาหรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ได้โดยบังเอิญ และเรียกว่าเป็น “ทฤษฎีโลกใบเล็ก” (Small Worlds)

ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตบทความหรือแม้แต่สิ่งที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี และท่าน อ.หมอประสาน ต่างใจ ได้เขียนหรือพูดเสมอมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ เรื่องที่ท่านทั้งสองพูดถึงเขียนถึงเสมอมาก็คือ “มิติของความเชื่อมโยง” ซึ่งถ้ามองไม่เห็น “มิติ” นี้ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาและสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างเป็นเสมือนยิ่งกว่า “ร่างแห” ที่โยงใยเกี่ยวพันกันแบบแยกไม่ออก แก้จุดหนึ่งก็ไปปูดที่จุดหนึ่ง อีนุงตุงนังไปหมดแบบนั้นเป็นต้น โลกใบนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ที่ยุบยับเต็มไปหมด

ด้วยเหตุผลที่ว่ากรอบคิดแบบกลศาสตร์ที่มีความเป็นกลไกอย่างนิวตันนั้นได้ฝังลึกอยู่ในสังคมมนุษย์โดยเฉพาะสังคมตะวันตกมายาวนานกว่าสามถึงสี่ร้อยปี จึงทำให้พวกเราที่อยู่ในสังคมมองมิติของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันดังกล่าวนี้ไม่ค่อยออกหรือไม่เข้าใจ

ด้วยทฤษฎีโลกใบเล็กนี้ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนใดคนหนึ่งในโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ “ไกลตัว” อีกต่อไป เราทุกคนในโลกใบนี้อยู่ “ใกล้กัน” มากกว่าที่เราคิด ความยากลำบากและความทุกข์ยากของคนใดคนหนึ่งในโลกใบนี้ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ อย่างรวดเร็วและใกล้ชิดมากกว่าที่เราจะนึกถึง เพราะทฤษฎีนี้พิสูจน์ในทางคณิตศาสตร์ให้เห็นได้ว่า เราทุกๆ คนในโลกใบนี้ห่างกันไม่เกิน ๖ ครั้งเท่านั้นของการติดต่อกับคนที่เรารู้จัก

หากพวกเราคิดว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยและอยู่ห่างไกลจากตัวเราแล้ว พวกเราอาจจะกำลังคิดผิดก็ได้ เช่น หลายคนอาจจะคิดว่าปัญหาสหรัฐฯ รุกรานอิรักไม่เกี่ยวกับเรา ปัญหาปาเลสไตน์กับอิสราเอลไม่เกี่ยวกับเรา ปัญหาคนอดอาหารตายในเอธิโอเปียไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือแม้แต่ปัญหาที่ภาคใต้ก็ไม่เกี่ยวกับเราที่อยู่ที่กรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ

ด้วยแนวคิดของวิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์นั้นบอกชัดเจนเหลือเกินว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกและด้วยทฤษฎีโลกใบเล็กซึ่งถือว่าเป็นทฤษฎีหนึ่งที่มีฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ ก็ยิ่งจะย้ำเตือนให้เห็นถึง “ความใกล้ตัว” ของปัญหาต่างๆ เหล่านั้นที่พวกเราจะมองแบบ “แยกส่วน” ธุระไม่ใช่ไม่ได้ หรือแม้แต่กับผู้ที่ “ธุระใช่” ก็น่าที่จะต้องใช้แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการมองเห็น “เส้นสาย” ต่างๆ เหล่านี้ด้วย

บางทีสิ่งที่เราเห็นว่า “จริง” อาจจะ “ไม่จริง” ก็ได้ เช่น การที่เรามองเห็นดาวดวงหนึ่งอยู่บนท้องฟ้า ไม่ได้หมายความว่าดาวดวงนั้นยังมีอยู่จริง ดาวดวงนั้นอาจจะสูญสลายไปนานแล้วก็ได้ เพราะแสงจากดาวดวงนั้นกว่าจะเดินทางมาถึงตาของเราก็อาจจะใช้เวลาหลายพันปี หรือในทางตรงกันข้ามบางทีสิ่งที่เรามอง “ไม่เห็นว่าจริง” อาจจะ “มีอยู่จริง” ก็ได้ เช่นโยงใยของความสัมพันธ์ที่ซ่อนเร้นหรือ “เส้นสาย” ดังที่กล่าวถึงในข้างต้นนี้

ด้วยตัวอย่างของเรื่องนี้ พวกเราจะเห็นได้ว่าความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวิทยาศาสตร์ใหม่จึงมีความสำคัญมากต่อแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะเราไม่เข้าใจไปเชื่อสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เชื่อสิ่งที่มีอยู่จริง ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เราแก้ไขปัญหาผิดพลาดไปอย่างน่าเสียดาย

Back to Top